[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 18:25:04 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สู่ถ้ำพระโพธิสัตว์ ‘ตั๊กม้อ’ ปฏิสันถารกับพระจีน  (อ่าน 8692 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:07:19 »



สู่ถ้ำโพธิสัตว์ตั๊กม้อปฏิสันถารกับพระจีน (ตอน๑)  

ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

วิสัชนา : ขอเจริญพรสาธุชนผู้สนใจในการปฏิบัติ และมีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา... จริงๆ แล้วอาตมาควรเล่าเรื่องตั้งแต่กลับมาใหม่ๆ เมื่อ ๔ พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังหาโอกาสไม่ได้ เพราะมีวิสัชนาธรรมเรื่อง “เทศกาลวิสาขบูชา” เข้ามาคั่นไว้ และมีจดหมายอีกหลายฉบับที่กำลังทยอยตอบไปเรื่อยๆ ที่เขียนถามหรือแสดงความเห็นเข้ามา จึงขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งกับผู้มีศรัทธาติดตามอ่าน “ธรรมส่องโลก” มาโดยตลอดในห้วงเวลา ๔-๕ ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่การอ่านธรรมส่องโลกมีอุปสรรคหลายประการ ที่ผู้อ่านต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ติดตามอ่านจนครบตอน ซึ่งถ้าเป็นโดยปกติ คงจะน่าเบื่อที่จะติดตามอ่าน โดยเฉพาะบางครั้งจะต้องลดตัดทอนเนื้อหาลง เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ซึ่งคงเหลือจากการจัดวางหน้า เมื่อมีรายการพิเศษหรือโฆษณาเข้ามา แต่ก็ได้ทราบว่า สาธุชนผู้สนใจและเห็นคุณค่าธรรมะที่อาตมาตอบ ก็ไม่ย่อท้อในการติดตามโดยใช้ลักษณะรอรวมเรื่องอ่านทีเดียว จะตัดต่อลงกี่ตอนก็จะรออ่าน เมื่อตัดเก็บครบทุกตอน

มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง ชื่อ ดร.วิรไท สันติประภพ วิพากษ์ว่า “คอลัมน์ธรรมส่องโลก” มีผู้สนใจอ่านกันมาก แต่อุปสรรคคือ การนำเสนอที่มีตอนเล็กๆ ย่อยๆ มากเกินไป จนอ่านไม่ติดต่อในเนื้อหาสาระ จะไปค้นคว้าในอินเทอร์เน็ต เพื่อย้อนหลังกลับไปดูตอนต้นๆ ของเรื่อง ก็ไม่ Update ในการนำเสนอ จึงเสียดายต่อเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์ ซึ่งควรแผ่กว้างไปมากกว่านี้... และมีอีกหลายๆ ท่าน ซึ่งเป็นศรัทธาธรรมส่องโลก วิพากษ์มาด้วยความเคารพ ถึงการนำเสนอที่บกพร่อง ซึ่งหากเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ ก็คงจะไม่มีใครแสดงฉันทะ ติดตามอ่านกันอย่างนี้ โดยเฉพาะภาระการตัดเก็บทุกๆ ตอน ที่เป็นหน้าที่ของเลขาฯ ซึ่งมีงานเพิ่มขึ้น คือการติดตามตัดเก็บให้ครบตอนจนจบเรื่อง แล้วนำเสนอเจ้านายผู้มีศรัทธา จนลูกน้อง หรือเลขาฯ ผู้รับงาน ได้มีโอกาสอ่านธรรมส่องโลกไปด้วย กลายเป็นโอกาสที่ดีของชีวิตไป เป็นอย่างนั้นจริงๆ...

กลับมาพิจารณาธรรม “ปุจฉา” ของโยมอารีย์ ที่ประสงค์ให้อาตมาเล่าเรื่องจากการจาริกไปเจริญจิตภาวนาที่ประเทศจีน เพื่อเป็นกรณีศึกษาเชิงปฏิบัติ... ซึ่งมีหลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการได้มีโอกาสเพิ่มความรู้จากประสบการณ์ตรง ณ ถ้ำโพธิสัตว์ “ตั๊กม้อ” บนภูเขาซงซาน ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของวัดเส้าหลิน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องกำลังภายใน หรือกังฟู ซึ่งจริงๆ แล้ว วัดเส้าหลินมีจุดเด่นดั้งเดิมอยู่ในเรื่องการปฏิบัติกรรมฐานแบบฌาน ที่เป็นที่มาของนิกายธญาน หรือ เซี้ยงจง ของพุทธศาสนามหายาน โดยมุ่งเน้นการฝึกอบรมจิต สู่ความเป็นหนึ่งซึ่งสืบต่อมาจากนิกายศูนยตา หรือ มัธยะมิก ของนาคารชุน ซึ่งในส่วนที่ไปเจริญเติบโตในทิเบต จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม เรียกว่า นิกายเซน อยู่ในสังกัดของพุทธศาสนามหายาน... โดยเฉพาะในประเทศจีน นิกายเซี้ยงจง หรือ ธญาน ได้แตกย่อยต่อไปอีกมากมาย และเมื่อนิกายวิญญาณวาท หรือนิกายโยคาจารของ อสังคะ และนิกายวัชรญาณ หรือ พุทธตันตระ เข้าไปผสมผสาน รวมกับความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น บวกกับลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ จึงมีนิกายสุขาวดีเกิดขึ้น สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีการบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิม อย่างแพร่หลายเป็นสัญลักษณ์...

จากวิถีแห่งความสืบเนื่อง และผันแปรของพระพุทธศาสนาในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นปัญหาต่อการเรียนรู้ตามพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/90128/สู่ถ้ำโพธิสัตว์ตั๊กม้อปฏิสันถารกับพระจีน-ตอน๑

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:10:36 »



สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ ปฏิสันถารกับพระจีน (ตอน ๒)

 ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย..พระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่าหลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

วิสัชนา : โดยเฉพาะอุปสรรคเรื่องภาษา เมื่อคัมภีร์คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาถูกแปลไปเป็นภาษาท้องถิ่น และละทิ้งภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาหลักของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเลือกใช้ในการเผยแพร่คำสั่งสอนของพระองค์ไปยังหมู่มหาชนในชมพูทวีป

แม้ว่าจะมีพุทธศาสนาแบบหีนยาน หรือเถรวาท เข้าไปดำรงอยู่บ้างในบางตอน แต่ก็ออกจะไปไม่ได้กับความเชื่อในท้องถิ่น ที่ปลูกฝังความคิดมายาวนาน จนในที่สุดพุทธศาสนาแบบหีนยาน (เถรวาท) ก็ได้สูญหายไป เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของมหาชน โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแข่งขันกันเองระหว่างนิกายในพระพุทธศาสนา...

หากศึกษาในรายละเอียด ก็จะพบความจริงที่น่าสนใจว่า พุทธศาสนาในประเทศจีนได้มีวิวัฒนาการไปตามสภาพความสัมพันธ์กับสภาพสังคมที่เป็นลักษณะองค์กรใหญ่ มีอิทธิพลสูงมากบ่อยครั้ง จนมีลักษณะประเพณีนิยม หรือวัฒนธรรมชุมชนที่แข็งแกร่ง และเมื่อท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ หรือพระโพธิธรรม จากพุทธศาสนามหายาน แคว้นคันธาระ ของชมพูทวีป จาริกไปเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ จึงเห็นวิธีการและอุบายในการนำเสนอหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่แยบคายของท่าน

เพื่อนำไปสู่การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องโดยการมุ่งเน้นการปฏิบัติเป็นหัวใจสำคัญ ที่เรียกว่า “การเจริญภาวนา” ทั้งนี้ได้วางรากฐานแห่งข้อวัตรปฏิบัติไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการปลีกวิเวก ความมักน้อย และสันโดษของนักบวช หรือสมณะในพระพุทธศาสนา การประกอบความเพียรอย่างแก่กล้า โดยอุบายการถ่ายถอนอุปาทานในด้านต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิตให้สู่ความเป็นหนึ่ง โดยท่านพระโพธิธรรม ที่ชาวจีนรู้จักในนาม “ตั๊กม้อ” ได้ถ่ายทอดการสอนผ่านการปฏิบัติ อันเป็นไปตามหลัก ทำให้ดู บอกให้รู้ และชี้ให้เห็น ซึ่งเป็นยอดยุทธวิธีแห่งการสั่งสอนในพระพุทธศาสนา

เราจึงเห็นร่องรอยเรื่องราว ๙ ปี ของการเจริญภาวนาในถ้ำเล็กๆ บนภูเขาซงซาน ของปรมาจารย์ตั๊กม้อ ซึ่งต่อมามีการถ่ายทอดการปฏิบัติ สู่สานุศิษย์ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า มีความพร้อมในการปฏิบัติตามวัตร ซึ่งชาวพุทธจีนเรียกวิธีการปฏิบัติดังกล่าวว่า การทำฌาน หรือการเจริญสมาธิชั้นสูงในพระพุทธศาสนา เป็นการรวมจิตโดยการเพ่งรู้ในอารมณ์อย่างไม่พิจารณา จนจิตรวมเป็นหนึ่ง และเพ่งรู้ในจิต จนเข้าถึงพุทธภาวะ หรือญาณวิสุทธิ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติที่ไม่ยึดถือคัมภีร์ ตำรับตำรา จนกลายเป็นคนช่างคิด ปราชญ์กำมะลอ “ไม่พึ่งพาถ้อยคำ และตัวอักษร ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์ ให้เห็นแจ้งธรรมชาติของตน และบรรลุถึงความเป็นพุทธะ คือ รู้ ตื่น เบิกบาน โดยการกลับคืนสู่ตัวรู้แท้ดั้งเดิมที่มีอยู่เป็นปกติในสัตว์ทั้งหลาย แต่ถูกบดบังด้วยกิเลสที่จรมาเยือน...”

หากพิจารณาให้เข้าถึงวิธีการและอุบายแห่งการปฏิบัติของปรมาจารย์ตั๊กม้อ ก็คงจะเป็นลักษณะปฏิบัติในสายอรัญวาสีของพุทธศาสนาดั้งเดิม แต่อาจจะมีอุบายวิธีต่างๆ นานา เพื่อแก้ปัญหาทิฏฐิของชนพื้นเมืองที่บ่มเพาะมายาวนาน จนกลายเป็นทิฏฐุปาทาน ในอัตวานุปาทาน ที่ยากจะแก้ไข... ด้วยวิธีการปกติได้

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/90315/สู่ถ้ำโพธิสัตว์ตั๊กม้อ-ปฏิสันถารกับพระจีน-ตอน-๒
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:18:15 »



สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน(ตอน ๓)

 ปุจฉา : กราบนมัสการ หลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย..พระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

วิสัชนา : นอกเหนือจากการมุ่งเน้นการเจริญภาวนา หรือเรียกว่า การทำฌาน ของชาวจีนแล้ว ท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อยังมีอุบายวิธีในการบริหารธาตุขันธ์ให้มีอายุยืน เรียกว่า การต่ออายุธาตุขันธ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นตำรับของวิชากำลังภายใน หรือกังฟูในปัจจุบัน จนผู้คนทั่วโลกเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากความจริง เมื่อนึกถึงวัดเส้าหลิน หรือเมื่อนึกถึงพระสงฆ์จีน แทนที่จะมองเห็นบทบาทของพระนักปฏิบัติแบบพระป่า หรืออรัญญวาสี ก็กลายเป็นนึกถึงจอมยุทธ์กำลังภายใน ด้วยอิทธิพลการเผยแพร่ของภาพยนตร์หนังจีนกำลังภายในที่โด่งดังไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่พระผู้ใหญ่ในประเทศจีน โดยเฉพาะเจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญที่สุดของประเทศจีน ได้พยายามรณรงค์โดยการวางแนวปฏิบัติให้พระสงฆ์ในสังกัด มุ่งเน้นการทำฌาน (จิตตภาวนา) มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งกังฟู (กำลังภายใน) แต่ขอให้เป็นลักษณะฌาน นำหน้ากังฟู หรือการเจริญจิตตภาวนา (ฌาน) นำกำลังภายใน...

ในวัดเส้าหลิน จึงมีห้องทำฌานที่พระสงฆ์จะต้องเข้าพร้อมกัน มีการฉันน้ำชาในห้องฌาน มีวิธีการปฏิบัติที่น่าสนใจ ซึ่งอาตมาได้ไปทดลองเข้าห้องฌาน พร้อมพระจีนเกือบทุกวัน ในภาคกลางวัน เพื่อศึกษาถึงแบบแผนปฏิบัติของพุทธศาสนามหายาน ตามแบบฉบับของท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ และในภาคค่ำ อาตมาต้องเดินขึ้นยอดเขาซงซาน เพื่อไปเจริญภาวนาให้ครบ ๙ คืน ณ ถ้ำตั๊กม้อ (โพธิสัตว์) ซึ่งกล่าวเล่ากันมาว่า ปรมาจารย์ตั๊กม้อ เจริญภาวนาอยู่ในถ้ำดังกล่าว โดยพำนักอยู่บนยอดเขาซงซานถึง ๙ ปี มุ่งเน้นการเพียรภาวนา จนมีเงารูปของท่านฉายปรากฏอยู่บนแผ่นหินผนังถ้ำ ซึ่งปัจจุบันได้แกะแผ่นหินดังกล่าวไปเก็บไว้ในวิหารของวัดเส้าหลิน สามารถไปขอชมแผ่นหินดังกล่าวได้...

จากการใช้ชีวิตเจริญภาวนาอยู่ในหุบเขาซงซานกลางคืนอยู่ในถ้ำ กลางวันอยู่ในวัดเส้าหลินอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่สนใจของพระสงฆ์จีน โดยเฉพาะ ๙ คืน โดยลำพัง ในถ้ำตั๊กม้อ ซึ่งบนยอดเขาซงซานอากาศหนาวเย็นมาก โดยปกติฤดูหนาวมีหิมะปกคลุมหนาเป็นคืบ ก็คงเหมือนกับในภาพยนตร์ทุกประการ

อาตมาขบฉัน และใช้ชีวิตอย่างปกติตามวิสัยพระป่า เพื่อเรียนรู้ถึงวิธีการปฏิบัติของปรมาจารย์ตั๊กม้อ ก็ให้นึกถึงแนววิธีการปฏิบัติของพระมหากัสสปะเถรเจ้า ในพุทธกาล หรือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ต้นฉบับพระป่ากรรมฐานของประเทศไทย ซึ่งคงเป็นวัตรอันเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก จึงให้มีความรู้สึกขอบคุณแทนพระสงฆ์จีน และพุทธศาสนิกชนในประเทศจีนในยุคนั้น ที่ได้มีโอกาสศึกษาปฏิบัติตามแนวธรรมปฏิบัติที่เป็นไปตามแบบแผนในพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม การที่จะดำรงการสืบสายธรรมแบบดั้งเดิมนั้นออกจะเป็นเรื่องที่ยาก ด้วยกฎเกณฑ์ทางสภาพธรรมชาติ ที่วิถีแห่งความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามปกติ เราจึงเห็นความสับสนพอสมควรกับพุทธศาสนาในทุกประเทศ เมื่อต้องผสมผสานกับความเชื่อหลากหลายของมนุษย์ ผู้พกพาความคิดมาตั้งแต่เกิด... ดังนั้นปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามแบบแผนพุทธศาสนาดั้งเดิมจึงเกิดขึ้น ในทุกถิ่นฐานของศาสนจักร ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย... การขวนขวายแสวงหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริง จึงเป็นเรื่องสำคัญดังที่เกิดขึ้นในประเทศจีนขณะนี้ เมื่อพุทธศาสนาในประเทศจีนต้องการฟื้นฟูแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง และได้ผลสัมฤทธิ์จริงๆ ตามเป้าหมาย จึงไม่แปลกที่เพียงแค่วันที่ ๒ ของการใช้ชีวิตเจริญภาวนาอยู่ในหุบเขาซงซาน จึงเป็นที่สนใจของคณะสงฆ์เส้าหลิน โดยอาตมาได้รับนิมนต์มาปุจฉาวิสัชนา กับพระสงฆ์จีน ซึ่งมีเจ้าอาวาสวัดเส้าหลินในฐานะรองจากสังฆนายกคณะสงฆ์ ประเทศจีน มานั่งร่วมอยู่ด้วย เพื่อปุจฉาวิสัชนา อันเป็นแบบฉบับที่พุทธมหายานถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน

อาตมาจึงขอนำเสนอ ปุจฉาวิสัชนา ส่วนหนึ่ง เพื่อประกอบการศึกษาของสาธุชนทั้งหลาย อันจะได้ถึงประโยชน์แห่งความรู้ในธรรม และหากมีโอกาสและเวลาก็จะทำปุจฉาวิสัชนา ในส่วนอื่นๆ พร้อมมุมมองข้อคิด ที่น่าสนใจ มานำเสนอตีพิมพ์ลงใน “ธรรมส่องโลก” นี้ สำหรับในตอนนี้ขอนำเสนอปุจฉาวิสัชนา ระหว่างพระอาจารย์อารยะวังโส กับคณะพระสงฆ์จีนในวัดเส้าหลินประมาณ ๒๐ รูป เมื่อ ๒๒ ก.พ. ๒๕๕๔ ณ ห้องฌาน วัดเส้าหลิน ขอเชิญติดตาม...

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/90576/สู่ถ้ำโพธิสัตว์ตั๊กม้อปฏิสันถารกับพระจีน-ตอน-๓
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:19:54 »

สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน (ตอน ๔)  

 ปุจฉา : กราบนมัสการ หลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย..พระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

ปุจฉา–วิสัชนา โดยพระอาจารย์อารยะวังโส กับคณะพระสงฆ์วัดเส้าหลิน

เริ่มต้นด้วยพระอาจารย์อารยะวังโส หรือที่พระสงฆ์จีนเรียกขานว่า “จั๋งเหล่า” ได้สวดมนต์ถวายเจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน เพื่อความเป็นมงคล และขอให้เจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ที่นี่ (วัดเส้าหลิน) มีความสุขความเจริญ หลังจากนั้นจึงได้บรรยายธรรมโดยสรุปในเรื่องพระพุทธศาสนา เพื่อปูพื้นฐานก่อนนำสู่ปุจฉาวิสัชนา โดยพระอาจารย์อารยะวังโส ได้กล่าวสรุปดังนี้ ในพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมปกติ แบ่งคณะสงฆ์เป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียก ฝ่ายคามวาสี หรือฝ่ายศึกษาเล่าเรียนท่องบ่นจดจำ จึงเรียกว่า ปริยัติ บาลีเรียก คามวาสี (พระบ้าน) และในสายปฏิบัติ อรัญญวาสี (พระป่า) ทั้งสองคณะมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนามากๆ เพราะคามวาสี จะท่องบ่นจดจำพระสูตร พระวินัยทั้งหลาย เป็นไปเพื่อเทศนาสั่งสอนผู้คน ส่วนอรัญญวาสี จะมุ่งปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ และผลที่สัมฤทธิผล ก็มาเพื่อช่วยคนต่อไป ทั้งสองฝ่ายมีภาระ คือ รักษาพระพุทธศาสนา โดยการจดจำคำสั่งสอน และการปฏิบัติที่ถูกต้อง พระพุทธศาสนาจึงยั่งยืนมาได้ ๒,๕๐๐ กว่าปี เรานับปีนี้เป็นปี ๒,๖๐๐ Enlightenment Day หรือ ๒,๖๐๐ ปีที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อมาพูดเรื่องการปฏิบัติ ก็จะพูดว่าการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา คือ การทำปัญญาให้รู้แจ้ง จึงเกิดญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณรู้เห็นที่วิสุทธิ หรือเข้าถึงพุทธภาวะ ตัวรู้ที่ตื่นเบิกบาน จะพูดว่าเกิดญาณรู้ที่วิสุทธิ ที่บริสุทธิ์ หรือเกิดความรู้ตื่นเบิกบาน พุทธภาวะ ก็คืออันเดียวกัน วิธีปฏิบัติในพระไตรปิฎกในแบบแผนมีอยู่ ๔ เส้นทาง สมถะวิปัสสนา สมถะ คือ ความสงบ วิปัสสนา คือ ทำให้รู้แจ้ง คือให้รู้ถึงพุทธภาวะ ทำสมถะให้เป็นพื้นฐานก่อน เช่น เราทำฌาน ทำฌานเพื่อให้จิตมีความตั้งมั่น สงบก่อน จนเกิดญาณรู้ในองค์ฌานนั้น และญาณรู้นั้น รู้ไปตามวิถีธรรม ฅจนรู้แจ้งธรรม รู้ไปหาความจริงขั้นสูงสุดในพระศาสนา คือ พระไตรลักษณญาณ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่มันมีเส้นทางที่จะเดินทางไปเพื่อรู้นั้น เป็นเส้นทางของจิต ที่ต้องรู้ธรรมแต่ละข้อๆ จนไปถึงข้อที่สูงสุดเป็นที่สุดของการรู้ เหมือนเราจะเดินทางมาเส้าหลิน ก็ต้องมีเส้นทางมา ก็ต้องรู้ในความพร้อมที่เดินทาง และต้องทำตัวเองให้มีความพร้อมนั้น เพื่อจะเดินทางมาให้ถึงที่นี่ เมื่อถึง ถึงเมื่อไหร่ ก็รู้เมื่อนั้น เมื่อยังไม่ถึง ก็ยังไม่รู้ ตรงนี้ บาลีเรียกว่า ปัจจัตตัง (รู้เฉพาะตน) หัวใจของพระศาสนาเป็นการรู้เฉพาะตน ผู้รู้ย่อมรู้ว่าตัวเองรู้ ผู้ถึงย่อมรู้ว่าตัวเองถึง แม้ผู้ไม่รู้ไม่ถึง ก็รู้ตัวเองว่ายังไม่รู้ยังไม่ถึง นี่เป็นความอัศจรรย์ของธรรมะในพระศาสนา วิธีการในข้อที่ ๑ ก็คือ มีสมถะเป็นพื้นฐาน และต่อเนื่องด้วยวิปัสสนาญาณ เหมือนการสร้างตึก ต้องทำฐานให้เข้มแข็งก่อน ก่อนจะต่อแต่ละชั้นๆ ขึ้นไปตามลำดับ เหมือนการฝึกกำลังภายในของเส้าหลิน พื้นฐานการยืน แขนขาต้องแข็งแรงก่อน ถ้าพื้นฐานการยืนแขนขายังไม่แข็งแรง ยังฝึกไม่ได้ ถึงรู้ทั้งหมด แต่ก็ทำไม่ได้ แสดงว่ารู้นั้น ยังรู้ไม่จริง การรู้จริงในพระศาสนา จะต้องเป็นผลมาจากการปฏิบัติส่วนเดียว พระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติแท้ๆ แต่ต้องอิงคำสั่งสอน ถ้าไม่อิงตำรา ก็ต้องอิงผู้สอน คำพูด สรุปคือ ต้องมีครู เพราะฉะนั้นในพระศาสนา ครูก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ แสดงว่าผู้ปฏิบัติ ผู้เข้ามาเรียนรู้ ต้องถึงซึ่งคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เหมือนทุกคนที่เข้ามาวัดเส้าหลิน ก็ต้องเข้ามาถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ซึ่งต้องมาด้วยความศรัทธา บาลีว่าความศรัทธา ความศรัทธาเป็นพลังธรรม อุปมาว่าเราสามารถผลักภูเขาให้เขยื้อนได้ ด้วยพลังแห่งความศรัทธาหรือความเชื่อ ผู้ที่จะเดินวิถีทางนี้ จะต้องมีความศรัทธา มีความเข้มแข็ง และต้องตั้งใจจริง

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/90809/สู่ถ้ำโพธิสัตว์ตั๊กม้อปฏิสันถารกับพระจีน-ตอน-๔
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:21:18 »

สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน (ตอน ๕)


 ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

 
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

วิสัชนา : ในวิธีการที่ ๒ เป็น สมถะกับวิปัสสนาไปพร้อมกัน เช่น หลักในอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้น ทั้งมหายานและเถรวาทจะรู้จักพระสูตรดังกล่าว เรียกว่า อานาปานสติสูตร อานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้น เป็นหลักวิปัสสนาและสมถะไปพร้อมกัน เราจะเห็นความละเอียดประณีตในทั้ง ๑๖ ขั้นที่อัศจรรย์มาก จึงกล่าวไว้ในพระสูตร หรือคำสั่งสอนนี้ว่า การอบรมอานาปานสติ คือลมหายใจเข้า-ออกอย่างละเอียด ทำให้สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ หรือสติสมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ ทำให้โพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์ (โพชฌงค์ ๗ คือ องค์ธรรมที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ๗ ข้อ)

โพชฌงค์ ๗ หรือ ๗ องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้ เป็นไปเพื่อให้ถึงวิชชา และวิมุตติ คือ ความสิ้นทุกข์ หรือถึงพุทธภาวะ อันเป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง นี่คือกระบวนการของอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้น ในวิธีการที่ ๒ ที่สมถะกับวิปัสสนาไปพร้อมกัน

วิธีการที่ ๓ วิปัสสนานำสมถะ เอาปัญญาอบรมจิต จนจิตสงบแล้วจึงจะพบความรู้แจ้ง เช่น พิจารณานั่งมองดูธรรมชาติ จนเกิดเข้าใจความจริง จนจิตสงบ และรู้แจ้งในความจริงนั้น แบบศาสนาเซน

วิธีการที่ ๔ เป็นวิปัสสนาล้วนๆ เป็นการเข้าไปสู่ความรู้แจ้ง เข้าไปสู่พุทธภาวะโดยตรง ไม่ติดตำรา ไม่ติดตัวหนังสือ เข้าไปรู้แจ้งในภาวะแห่งตัวรู้ รู้แจ้งในธรรมชาติทั้งหลาย

ทั้ง ๔ วิธีการนี้ เป็นไปเพื่อที่สุดคือ ความรู้แจ้งในพระธรรมคำสอนทั้งหมด ส่วนการจะไปเส้นทางไหนนั้น ต้องกลับมาดูจริต (สภาพการปรุงแต่งของจิตของแต่ละบุคคล) สภาพจิตของแต่ละบุคคล มีจริต คือสภาพของการปรุงแต่งไม่เหมือนกัน หนักเบาแตกต่างกันไปตามจริต หรือความชอบของจิตนั้นๆ ที่อุปาทานยึดถือในสิ่งต่างๆ ตามวิสัยของปุถุชนที่เกี่ยวข้องกับโลก

บางคนราคะจริต ชอบกำหนัดยินดี ชอบไปทางราคะ มีความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียก ราคะจริต ชอบของสวยของงาม บางคนโทสะจริต ชอบขี้โกรธ จิตหุนหันพลันแล่น บางคนโมหะจริต เชื่อหรือเชื่ออะไรอย่างขาดหลัก ขาดเหตุ ขาดผล หรือยังเป็นโมหะ มีความลุ่มหลงอยู่ บางคนศรัทธาจริต เป็นจริตของความศรัทธา ความเชื่อถือในสิ่งนั้นๆ บางคนวิตกจริต ชอบคิดชอบนึกต่างๆนานา ชอบระแวงสงสัย บางคนพุทธิจริต เป็นจริตของความศรัทธา เป็นจริตของผู้ที่ชอบพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจ เช่น นักวิชาการทั้งหลาย

แต่จะจริตอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็คือ ด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นพื้นฐานของทุกคน เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติต้องเข้าใจว่าตนเองมีฐานอันหนึ่งคือ ฐานของอกุศลกิเลสอยู่ที่จิต จิตถูกปกคลุมด้วยราคะ โทสะ โมหะ ที่เรียกว่า กิเลส หรือความปรุงแต่ง ทำให้จิตเกิดความปรุงแต่งตามโลกวิสัย รัก โกรธ หลง

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/91060/สู่ถ้ำโพธิสัตว์ตั๊กม้อปฏิสันถารกับพระจีน-ตอน-๕
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:22:19 »

สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน (ตอน๖)
 
 ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์เพื่อเป็นแนวทางศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

วิสัชนา : เป็นไปตามวิสัยของชาวโลก อำนาจตรงนี้เรียกว่า อำนาจของอวิชชา คือ ความไม่รู้ ที่ปกคลุมเกิดขึ้น อำนาจของความไม่รู้ โคจรเข้ามาปกคลุมจิต ให้จิตเศร้าหมองและมืดมัว ความสำคัญในการสอนในพระศาสนา ทำอย่างไรที่จะเปลื้องอารมณ์ เปลื้องความเศร้าหมองนี้ออกไปจากจิต จนจิตนั้นเข้าสู่ความเป็นพุทธภาวะ เป็นตัวรู้ที่แท้จริง เพราะฉะนั้นไม่ว่ามหายานหรือเถรวาท ต้องกลับไปหาพุทธองค์เดิม ก็คือ การสอนให้เข้าสู่ตัว รู้ ตื่น เบิกบาน เข้าสู่ “พุทธภาวะ” แต่การจะเข้าไปรู้ ตื่น เบิกบาน หรือพุทธภาวะดังกล่าวได้ มันไม่ใช่เดินทางทีเดียวถึง มันไม่ใช่สำเร็จด้วยความนึกคิด มันต้องปฏิบัติ การปฏิบัติจึงมี ๒ ส่วน สำหรับบุคคลในโลก ณ ปัจจุบัน คือ ๑.ทำให้สงบก่อน ๒.ค้นคว้าจนรู้ความจริงในความสงบนั้นของจิต

กลับมาขอพูดเรื่อง สมถะและวิปัสสนา อันเป็นวิธีการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม วิธีการการปฏิบัติที่ให้จิตทุกๆ องค์ขณะนี้มีสมถะ คือ มีความสงบ ให้นิ่งเหมือนกับน้ำที่ไม่กระเพื่อมแล้ว เพื่อค้นคว้ามองให้เห็นความจริงในความนิ่งนั้น จนพบความจริงในความนิ่งนั้น ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก ต้องทำจิตให้นิ่งก่อน วิธีการตรงนี้จึงกล่าวว่า เราจึงอาศัยวิธีการทำฌาน ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมในชมพูทวีป ฌานที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อนำมาสอน เป็นวิธีการดั้งเดิมในชมพูทวีป เป็นวิชาก่อนพระพุทธศาสนา

ถ้าจำกันได้ตรงนี้ ตามประวัติของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะบรรลุธรรมที่พระศรีมหาโพธิ์ วันวิสาขบูชา ขณะนั้นยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า ทรงศึกษาจากฤาษี ๒ ตน ในรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ต่อมาพระพุทธเจ้ามาบำเพ็ญเพียรอีก ๖ ปี ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า ดงคสิริ อยู่ใกล้กับพุทธคยา จาก ๖ ปีดังกล่าว สุดท้ายจึงตรัสรู้ธรรมด้วยตนเอง เมื่อค้นคว้าไปทั้งหมดแล้ว ปรากฏว่าวิธีการที่ทำให้ตรัสรู้ได้คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ ทางสายกลาง ประกาศทางสายกลาง คือ องค์ธรรม ๘ ประการ บนเส้นทางปฏิบัติธรรมนี้ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (๘ องค์ธรรม) รวมแล้วย่อลงมา คือ ศีลสมาธิปัญญา ที่เรารู้จักกัน

วันนี้จะมาพูดสั้นๆ เรื่องการทำฌาน ฌานเป็นมรรคของจิต คือเส้นทางของจิตไปสู่ความสงบ โดยให้จิตเพ่งรู้ในอารมณ์เดียว การเพ่งรู้ของจิตในอารมณ์เดียว จนที่สุดจิตรวมตัวสู่ความเป็นหนึ่ง แน่วแน่ เข้มแข็ง สู่ความเป็นหนึ่งได้ อำนาจฌานจึงเกิดขึ้น เพ่งรู้อย่างไม่พิจารณา เช่น เพ่งวัตถุใดวัตถุหนึ่งอยู่เบื้องหน้า ให้จิตรวมอยู่ในวัตถุนั้น แน่วแน่นิ่งอยู่ในอารมณ์นั้น อำนาจฌานก็จะเกิดขึ้น องค์ธรรมของฌานมี ๕ องค์ ตัวที่หนึ่ง บาลีเรียกว่า วิตก คือ จิตยกขึ้นสู่อารมณ์ ยกขึ้นสู่กรรมฐานแล้ว ตัวที่สอง บาลีเรียกว่า วิจาร เสวยในอารมณ์นี้ ตัวที่สาม ปีติ จิตเกิดอิ่มเอิบ ซาบซ่าน แผ่ออกมา ตัวที่สี่ ความสุข สุขเกิดขึ้นหลังจากปีติ อิ่มแล้ว ตัวที่ห้า หลังจากสุขแล้วเป็น อุเบกขา ที่เป็นจิตหนึ่งเดียว จิตเป็นหนึ่งเดียวและอารมณ์เดียว เอกัคคตาจิต จิตเป็นกลาง เหนือรักชัง ทั้ง ๕ องค์นี้ คือ องค์ธรรมของรูปฌาน

คำถามจากการปฏิบัติ

พระสงฆ์จีน ในเรื่องฌาน ๔ ถามจั๋งเหล่าว่า ใจกับจิตที่จั๋งเหล่าบำเพ็ญมาแล้ว จะรู้สึกว่ามีความก้าวหน้า จะเป็นอย่างไร ความง่วง หรืออะไรต่างๆ จิตกับใจจะเป็นอย่างไร

หลวงพ่อ ถามเรื่องสมาธิ เรื่องฌานใช่ไหม จากการที่ปฏิบัติมา สภาพแห่งความหลับอะไรต่างๆ หรือความง่วง เมื่อเราอยู่ในสมาธิ หรือปกติจะไม่มี ปัจจุบันยังไม่ได้นอนเลย ตั้งแต่มาถึงที่นี่ เรื่องฌาน หรือเรื่องสมาธิ ต้องรู้จักนิวรณ์ ๕ รู้ไหม! สิ่งที่ทำให้จิตเราไม่สามารถเข้าสู่ความตั้งมั่นได้

พระสงฆ์จีน อยากจะถามว่า นิวรณ์ ๕ ตัวนี้จะจัดการได้อย่างไร

หลวงพ่อ นิวรณ์ ๕ – กามฉันทะ (ความรัก) ปฏิฆะ (ความชัง) ความสงสัยในธรรม ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่เบื่อหน่าย ความหลับ ตรงกันหรือไม่ ๕ ตัวนี้

พระสงฆ์จีน ตรงกัน

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/91443/สู่ถ้ำโพธิสัตว์ตั๊กม้อปฏิสันถารกับพระจีน-ตอน๖
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:23:40 »

สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน(ตอน๗)


 ปุจฉา : กราบนมัสการ หลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบนมัสการ หลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

วิสัชนา : หลวงพ่อ นิวรณ์ ๕ นี้ อยู่ที่การเจริญสติอยู่ตลอดเวลา มีการระลึกรู้อยู่ตลอด และด้วยอำนาจแห่งวินัย การปฏิบัติ คือ ฉันมื้อเดียวก่อนเที่ยง พิจารณาการใช้สอย ผ้าจีวรมี ๓ ผืน อยู่ในที่สงัด คือ อยู่ในความสังวร ความระวัง มีสติ และมีศีลเป็นเครื่องกั้นอยู่ตลอดเวลา เฉพาะที่ปฏิบัติอยู่ ฉันไม่มากในหนึ่งวัน ฉันมื้อเดียวก่อนเที่ยง หลังเที่ยงไปแล้ว จะไม่มีนมเนยทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการที่ขบฉันน้อย ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของนิวรณ์ ๕ ตัวนี้น้อยแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะอยู่วิเวกมากกว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคลมากนัก ยกเว้นให้ธรรมะ พูดคุยธรรมะกับลูกศิษย์ต่างๆ จะไม่เกี่ยวข้องกับทางโลก คือ การใช้ชีวิต ก็ดำรงตนเบาบางจากสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว

พระสงฆ์จีน ถ้าอาหารหนัก ๒ กิโล จั๋งเหล่าจะฉันเสร็จไหม

หลวงพ่อ ฉันเล็กน้อยมาก ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันพืชผักผลไม้ อยู่ที่การขบฉัน การใช้สอย เป็นศีลของความเป็นพระ ศีล ๒๒๗ เป็นปาฏิโมกข์ศีล มัตตัญญุตา ฉันพอประมาณ

พระสงฆ์จีน คือ ในวิธีการฝึกนานๆ เข้า จะมีอาการอย่างนี้ บางทีเดิน ๕ ปี ตะปูโดนเท้าก็จะไม่รู้สึกเจ็บ จะมีลักษณะแบบนี้ คือ จะรู้สึกว่าไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของอาหารนั้นก็ได้ ถ้าอย่างการฝึกตรงนี้ ทางมหายาน จะต้องฉันหลายมื้อ เพราะตื่นตั้งแต่ตี ๓ และปฏิบัติทั้งวัน ก็จะมีความแตกต่างกัน ในจีนมีพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งได้ฉันข้าว ๕ กิโล และอาทิตย์หนึ่งไม่ฉันข้าวเลย ก็เข้าถึงขั้นนี้

หลวงพ่อ การปฏิบัติ มันเป็นทางสายกลาง จะฉันมากฉันน้อย ในทางพระวินัยของพระพุทธศาสนา เรียก วิกาลโภชนา หลังเที่ยงไปแล้วไม่ขบฉัน แต่ก็มีพวกคิลานเภสัช ที่เป็นพุทธานุญาต เป็นน้ำหวาน น้ำตาล น้ำอ้อย สมอ มะขามป้อมได้ จะเล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ประเทศไทย มีศูนย์อยู่ ๓๔ แห่ง และต้องเขียนหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ธรรมะ ตอบธรรมะประชาชนไปทั่วประเทศ ๒ ฉบับใหญ่ ๖ วันต่อสัปดาห์ และต้องพูดธรรมะออกวิทยุของรัฐสภาแห่งประเทศไทย

ไปทั่วประเทศ ทุกวันพุธตอนเช้า และมีกิจนิมนต์เกือบทั้งเดือน และเช้าต้องออกบิณฑบาต เหมือนพระพุทธเจ้าที่ออกบิณฑบาต กลับมาฉันอาหารเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป นั่งร่วมกันเป็นแถว เสร็จแล้วพระในวัดก็ต้องมีหน้าที่ดูแลเสนาสนะต่างๆ ทุกวัน มีประชาชนมาฟังธรรมทุกวัน พระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็จะฉัน ๒ มื้อในหนึ่งวัน ก่อนเที่ยง แต่พระปฏิบัติจะฉันมื้อเดียวเป็นปกติ ประมาณ ๙ โมงเช้า และพิเศษอีกคือ ไม่ฉันเนื้อสัตว์เหมือนกับพระโดยทั่วไป ฉันพืชผักมาตลอด ไม่ว่าจะอยู่เนปาล อินเดีย ฉันของคนยากคนจน มื้อเดียวเท่านั้น ที่อยู่ได้ เพราะสมาธิ เป็นอาหารจิต ถ้ามีสมาธิจริง ๓ วัน ฉันครั้งก็ได้ เพราะจิตมันมีอาหารของจิต คือ ปีติเป็นอาหารของจิต ฉันแต่น้ำก็ได้ ไม่เหนื่อยด้วย ปีติ เป็นอาหารจิตอยู่แล้ว

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/91615/สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน-ตอน๗-
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:25:04 »

สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน(ตอน๘)

 ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

วิสัชนา : พระสงฆ์จีน ถ้าเป็นธรรมะ ก็จะถือว่าเป็นธรรมะขั้นสูงสุดแล้ว คือถ้ามีแล้วถือว่าเป็นกฎแห่งธรรมชาติแล้ว ถ้าจะมีต้องมีอยู่ตลอดแล้ว ถ้าเราไปฝึกบำเพ็ญแล้วจะได้อะไร ถ้ามีก็มีอยู่แล้ว ถ้าเราไม่บำเพ็ญ ก็อยู่เหมือนเดิม

หลวงพ่อ : ถามว่าวันนี้ฉันข้าวอิ่มไหม !!

พระสงฆ์จีน : ตามอัธยาศัย ไม่มีอิ่มหรือไม่อิ่ม !!

หลวงพ่อ : ถามต่อว่า พรุ่งนี้จะต้องฉันข้าวต่อไหม !!

พระสงฆ์จีน : พรุ่งนี้ยังไม่มา เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน !!

หลวงพ่อ : เรื่องนี้ต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ เพราะพรุ่งนี้กับวันนี้ คือวันเดียวกัน ต้องตอบว่าฉันไหม พรุ่งนี้ !!

พระสงฆ์จีน : พรุ่งนี้ เมื่อก่อน วันนี้ ก็ไม่มีแตกต่าง !!

หลวงพ่อ : เพราะฉะนั้น พรุ่งนี้ วันนี้ ไม่แตกต่างกัน ก็ต้องทำเป็นปกติ เมื่อวันนี้ทำดี พรุ่งนี้ก็ต้องทำดี นั่นเป็นคำตอบอยู่แล้ว ตอบถูกแล้ว !!

พระสงฆ์จีน : ถามว่าแบบจั๋งเหล่า เข้ากรรมฐานนานที่สุดกี่ชั่วโมง

หลวงพ่อ : จากที่เคยปฏิบัติในอดีต เมื่อไม่มีภาระมากนัก วันหนึ่งออกจากสมาธิหนึ่งครั้ง ออกมาล้างหน้าล้างตา แล้วเจริญภาวนาต่อไปจนถึงเย็น (สมัยอาศัยอยู่กับหลวงปู่ขานฯ ณ วัดป่าบ้านเหล่าฯ) เมื่อปฏิบัติหนักๆ เช้าต่อเย็น เย็นออกมา เช้าต่อค่ำยาว ดูข้างในมากกว่าว่าพอเหมาะแค่ไหน และเปลี่ยนอิริยาบถให้พอเหมาะกับการเดินจงกรม เดินสมาธิ หรือผ่อนคลายด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ แล้วแต่เวลาหรือการเดินทาง ตามความเหมาะสม ถ้าอยู่แบบนี้ ก็ทำแบบนี้ตลอด แต่ในวันหนึ่งต้องมีการเจริญธรรม ช่วงบ่ายไม่ต้องเจอกันเลย ไปออกตอนเย็น ทำวัตร เมื่อทำวัตรเสร็จตอนค่ำก็อีกรอบ แต่ปกติอยู่กับการเจริญธรรม ต้องเขียนหนังสือ ค้นคว้า ต้องตอบปัญหา หรือถ้าอยู่กับคน ก็ต้องตอบปัญหาธรรมะอยู่แล้ว เป็นการอยู่ตลอดเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งหลับตาและลืมตา

พระสงฆ์จีน : มีพระเกจิ ซึ่งปัจจุบันไม่อยู่แล้ว นั่ง ๖ วัน ๖ คืน ยังสบายอยู่ ยังอยู่กับใจ ไม่หลับ และเคยมีเพื่อนคนที่ฝึกด้วยกันและไปเข้ากรรมฐานที่เมืองไทย เพื่อนสามารถนั่งบนหัวกำแพง ๑ วัน ๑ คืน มีลมฝน ก็ไม่มีปัญหา

หลวงพ่อ : เป็นไปได้ มีผู้ปฏิบัติ ก็แล้วแต่การฝึกฝน เจตนาการนั่ง ผู้นั่งตั้งเจตนา ตั้งสัจจะไว้ เขาก็ทำได้ เหมือนหลวงพ่อ ตั้งจิตจนถึงครบ ๙ คืน ก็ทำตามสัจจะ แล้วแต่การตั้งจิต จิตมีพลังอำนาจ ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน ๗ วัน ตามที่ว่า ร่างกายจะผ่อนให้แค่ ๗ วัน

พระสงฆ์จีน : มีความตั้งมั่นอยากจะฝึกปฏิบัติ ถ้ามีใครฝึกแบบนี้ ก็จะออกจากเส้าหลิน คือ ไปตามฝึก ๒๓ ปี เพื่อให้ได้

หลวงพ่อ : อยู่เส้าหลินดีแล้ว ที่ประเทศไทยขณะนี้กำลังทำศูนย์พัฒนาการปฏิบัติของพระนานาชาติ ซึ่งจะเป็นพระจากอินเดีย จากชมพูทวีปมา และก็เป็นการปฏิบัติแบบเต็มรูปแบบ แบบพระป่า ถ้ามีโอกาสจะเชิญไปร่วม ให้ไปร่วมได้ เป็นศูนย์การปฏิบัติ กำลังจะเตรียมการอยู่ เป็นอาจารย์ใหญ่ให้ มีแบบปฏิบัติตามที่ว่า เป็นผู้อำนวยการสถาบัน ไปได้ ไปเรียนรู้

พระสงฆ์จีน : จริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้ถึงขั้นนี้ แต่มีที่มณฑลอันเฟ่ย มีเพื่อนนั่ง ๘ ชั่วโมง ไม่ขยับสักนิด แต่ไปในระดับหนึ่งแล้ว ไปไหนไม่ได้ตอนนี้ คือมีปัญหาว่า อยู่ระดับหนึ่งไปต่อไม่ได้

หลวงพ่อ : คือเมื่อกี้ที่อธิบายว่า การนั่งสมาธิมี ๒ ส่วน คือ กรรมฐานสมาธิที่เกิดจากความสงบ กับสมาธิที่ไปสู่ปัญญา ตามเบื้องต้นที่คุยตรงนี้ จะนั่งกี่ชั่วโมงกี่วัน ถ้าติดที่ความสงบ จะไปไม่ได้ มันไม่สามารถไปสู่ปัญญาได้ มันติด

พระสงฆ์จีน : อยากจะได้เคล็ดลับพิเศษที่ให้เข้าฌานได้เร็วๆ

หลวงพ่อ : หลวงพ่อได้สาธิตให้ดู และอธิบายถึงการทำฌานที่เข้าได้เร็ว หนึ่งตาเพ่งอยู่ข้างหน้า รวมอยู่ที่จุดจุดหนึ่งที่หลังมือ อยู่ในระดับสายตา สองมือวางลงและยังมองอยู่ที่จุดนั้นอยู่ และหลับตาลง ขณะนี้จิตเขารวมเพ่งอยู่ที่จุดนี้ จุดหลังมือ จะไม่ไกลและไม่ใกล้เกินไป และวิตก วิจาร ปีติ จิตจะเลื่อน เร่งคำบริกรรมข้างในจิต แรงๆ เต็มที่ หยุด ดึงขึ้น ๓ จาก ๒ ไป ๓ จิตมี ๔ ขั้น จาก๒ ไป ๓ เพ่งอยู่ข้างหน้า ปรับหน้าตรง ขอความนิ่ง ทุกคนอยู่ในความสงบ มันสั้นและเร็วมาก ถ้าทำเป็น ที่ถามว่า ๒๓ วัน ไม่ยาก

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/91818/สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน-ตอน๘-
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:26:19 »

สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน(ตอน ๙)


 ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย..พระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

วิสัชนา : หลวงพ่อ ถ้าทำเป็น กี่ชั่วโมงก็ได้ ตัวเขาจะเหมือนหิน ผลักไม่เขยื้อน แข็ง ถ้าจิตเขานิ่งตัวแข็งเร็วมาก รวมจิตให้แข็งดึงให้แข็ง แข็งกายขึ้นทั้งตัว ๓๔ ชั่วโมง ได้หมด ถ้าไม่ถอยจิตออก จิตแยกจากกายแล้ว มันอยู่ที่จุดๆ นี้ ข้างหน้ารวมเป็นหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลก ที่ท่านตั๊กม้อนั่งได้นานๆ ด้วยจิตใจที่เป็นหนึ่ง เมื่อกี้ที่ถามว่า เร็วมาก จิตเลื่อนไปขั้น ๔ คิดว่าจะสอนให้พรุ่งนี้เป็นส่วนตัว ทำได้เร็วมาก และจะรู้ว่านั่งได้กี่ชั่วโมงก็ได้ เมื่อกี้ที่ถามว่าถ้ามีอำนาจฌานอยู่ มันไม่หิวเลย จิตอิ่ม ปีติ ไม่หิว มีกำลังตลอด ที่ถามว่าหลับ ตัวนี้ แก้ตัวหลับ มันจ้า ภาษาบาลีเรียก ชาคระ จิตสว่างตลอดเวลา ถ้าเข้าไปแล้วต้องออก ถ้าไม่ออกแข็งติดอยู่อย่างนี้ จะต้องถอนออกด้วย บอกให้เข้า ถ้าไม่ออกก็อยู่อย่างนี้ เดี๋ยวจะบอกให้ออกต้องถอนออกเป็น

ต่อไปเวลาออกจากสมาธิ (รูปฌาน) จะต้องรู้จักวิธีการออกจากสมาธิด้วย โดยใช้หลักเข้าฌานอย่างไร ต้องถอยออกเป็นลำดับอย่างนั้น เช่น เพ่งรู้จิตอยู่ข้างหน้า ค่อยๆ ผ่อนคลายจิตให้ลงมาที่ฌานสุข บริกรรมเร็วขึ้นๆ แรงขึ้นเต็มที่ จนลดระดับจิตลงมาที่ปีติ และออกจากปีติมาสู่ภาวะปกติ เวลาออกจากสมาธิต้องออกให้หมด ไม่หมดมึนหัวเหมือนถูกบีบขมับ เดี๋ยวพรุ่งนี้จดเป็นขั้นๆ ให้ และจะพูดกันเข้าใจมากกว่านี้อีก

พระสงฆ์จีน อันนี้เป็นพลังหรือไม่ อย่างเขาเข้าไปช้า เวลาช้า คือ ค่อยๆ ไป

หลวงพ่อ จิตเวลามันเข้าที่แล้ว ถ้าเดินเป็น ชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็เข้าแล้ว อยู่ที่ว่าเรารู้วิธีการเข้าไหม กับที่เราอยู่ทั่วไปคือ เจริญสติธรรมดาๆ ตามวิธีการที่จะเข้าเพื่อให้เกิดสมาธิขั้นสูง เข้าเร็วนี้มันคนละเรื่องกัน เดี๋ยวพรุ่งนี้ลองทำแล้วค่อยถาม ทำแล้วค่อยถาม ถ้าทำแล้วมาถาม จะคุยกันรู้เรื่อง (ต้องกลับลงมาจากภูเขาก่อนตอน ๘ โมง) เช้าดีกว่า อย่ากินอะไรมาก ถ้ากินมากจิตจะไม่รวม

พระสงฆ์จีน ขอเรียนช่วงเช้า

หลวงพ่อ เป็นวิธีการเข้าที่เร็ว อยู่ได้ ตั้งไว้ ๑๒ ชั่วโมง รักษาจิตไว้ ๑๒ ชั่วโมง ไม่ต้องดูนาฬิกา พอถึง ๒ ชั่วโมง จิตถอนเอง ไม่ต้องมีนาฬิกา ถึงเวลามันถอนเอง ตรงเวลาเป๊ะ ส่วนเรื่องวิปัสสนาญาณหลังจากตรงนี้เดี๋ยวมาพูดว่า วิปัสสนาญาณคืออะไร การทำปัญญารู้แจ้งก็อีกอันหนึ่ง ตรงนี้เป็นพื้นฐานของตรงนั้น

พระสงฆ์จีน ความรู้สึกทางร่างกาย การเจ็บ เมื่อยอะไรต่างๆ จะจัดการได้อย่างไร

หลวงพ่อ ถ้าจิตเข้าแล้ว มันหยุดอารมณ์นี้หมดเลย มันหยุดเวทนาทั้งหมด เรียกว่า เวทนาหยุด ณ ขณะนี้หยุดหมดเลย จนกว่าจิตจะถอนกลับมา จิตมันยกขึ้นสูงไปแล้ว มันพ้นไปแล้ว ทำให้นั่งได้นาน และเมื่อเราไปเจริญวิปัสสนาญาณ ทำได้นาน เพราะว่ามันไม่แพ้เวทนา ถ้าเราทำสมาธิได้เข้มแข็งแบบเมื่อกี้แล้ว มันอยู่ได้นาน จิตมันไม่ลงมา ถ้าจิตมันมีเวทนาอยู่ มันวิปัสสนาไม่ออก ถ้ามันแพ้อารมณ์ มันไปไม่ได้ จิตมันปรุงแต่ง ปฏิบัตินี้ให้ได้ แล้วจะได้ผล

พระสงฆ์จีน เคยฝึกฌาน ครั้งหนึ่งออกจากฌาน ดูแก้ว หรืออะไรก็ตาม มันช้ามาก เหมือนช้ามาก

หลวงพ่อ ถูกต้อง คำว่าช้าจริงๆ จิตมันละเอียด จิตมันอยู่ในอารมณ์อันหนึ่งที่เสวยอยู่ เหมือนอยู่ในอารมณ์หนึ่ง อารมณ์นี้ยังไม่ได้คลายออกทั้งหมด แสดงว่าไม่ได้ถอนออก ออกจากสมาธิ ออกเฉยๆ ไม่ได้คลายจิตออกเป็นธรรมชาติ ยังติดในอารมณ์นั้นอยู่ ทำให้มันช้า บางทีมันซึมไปเลยก็มี ไม่ได้ออก เข้าอย่างเดียว ออกก็ลืมตาออกอย่างเดียว

พระสงฆ์จีน ที่ช้านี้ เวลาค่อนข้างนานเลย

หลวงพ่อ ใช่ เพราะจิตอยู่ในอารมณ์ของความเป็นสมาธิอยู่

พระสงฆ์จีน ถ้าเจอปัญหาแบบนี้อยู่อีก มีวิธีอย่างไร จะต้องทำอย่างไรจึงจะถอนได้เร็ว

หลวงพ่อ วิธีการถอนให้เร็ว ให้ใช้ลมหายใจเข้าออก หลายๆครั้ง ให้ผ่อนกาย ผ่อนจิต ให้มีความสัมพันธ์กันก่อน จิตกับกายมันไม่สัมพันธ์กัน แล้วอีกอันหนึ่ง คือ ทำความสะอาดให้เร็วที่สุด อย่าไปติดอยู่ในอารมณ์นั้น มันจะติดอยู่ตลอด มีอุบายวิธี ส่วนใหญ่ก็จะเช็ดถูห้อง เพื่อให้มันคลายออกมา จิตก็มีสติมากขึ้นกว่าเดิม แล้วเมื่อนั่งต่อไปจะดีกว่าเดิมด้วย

พระสงฆ์จีน ถามแทนเพื่อน สนใจในลมหายใจเข้าออก ฝึกมา ๖ ปีแล้ว ถึงขั้นกลางคืน ไม่ต้องนอน แต่รู้สึกว่ามันไม่เห็นก้าวหน้าเลย

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/92065/สู่ถ้ำโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน-ตอน-๙-
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2554 09:27:53 »

สู่ถ้ำพระโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน(ตอนจบ)
 
 ปุจฉา : กราบนมัสการ หลวงพ่อพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย..พระอาจารย์อารยะวังโส

ตามที่ทราบว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปเจริญสมณธรรมที่ถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ วัดเส้าหลิน ประเทศจีน จึงใคร่ขออาราธนาให้เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาปฏิบัติของสาธุชน และจะได้ร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ด้วย

เคารพอย่างสูง

อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์กลาง

วิสัชนา : หลวงพ่อ คือเขารู้อยู่ที่ลมเข้าออกอย่างเดียว แต่เขายังไม่ได้เดินสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ พิจารณาในกาย เวทนา จิต ธรรม ยังไม่เป็น มันเป็นแค่ขั้นแรกของอานาปานสติ ๔ ขั้น ซึ่งมีทั้งหมด ๑๖ ขั้นตอน ยังไม่ได้เข้าสู่ขั้นที่ ๕๑๖ เขาจึงหยุดอยู่ที่แค่นี้ จึงไม่ก้าวหน้า เป็นขั้นการเตรียมจิตอยู่กับลมหายใจเท่านั้นเอง ยังไม่ได้ไปพิจารณาธรรม เหมือนคนกินอิ่ม แต่ไม่ได้ไปทำงาน ทุกวันกินอิ่มทุกวัน แต่ไม่ไปทำงาน ก็ไม่ได้ผลอะไร

อานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก มันมาปรับแต่งให้จิต ให้กำลังสติมีความแก่กล้า สามารถที่จะควบคุมความปรุงแต่งกาย ควบคุมความปรุงแต่งจิตได้ จนที่สุดมันระงับกายจิต พอระงับกายจิต สติยิ่งกล้าเท่าไร ปัญญาก็มากเท่านั้น มันก็นำไปพิจารณาในกาย ในจิต หรือในรูปนามขันธ์ ๕ มันมีลำดับขั้นเข้าไปอีกหลายๆ ขั้นตอน เขารู้จักแต่ขั้นตอนแรกๆ แต่เขาขยันทำ

พระสงฆ์จีน คือเขาก็จะไม่สามารถ หรือจะมีวิธีไหนที่ช่วย

หลวงพ่อ ที่เขาปฏิบัติ ตามที่เล่า สติเขากล้าดีมาก กล้าขนาดที่เขาอยู่สว่าง แต่เขายังไม่รู้จักการพิจารณาธรรมต่อไป ตรงนี้เขาต้องฟังกระบวนการพิจารณาธรรม ค้นคว้าไปจนกว่าจะพบคำว่า ความรู้ที่แท้จริง ญาณเกิดรู้แจ้งธรรมทั้งหลาย ตรงนี้มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ต้องค้นเป็น ต้องฟังครู ต้องมีผู้สอนเป็นตรงนี้ วิปัสสนาเป็น เพื่อนคนนี้วิปัสสนาได้แล้ว พร้อมวิปัสสนาแล้ว แต่พิจารณาธรรมยังไม่เป็นเท่านั้นเอง เขาพร้อม ถ้าได้รับการแนะนำนิดหน่อย เพื่อนคนนี้จะไปได้ไกล จะไปได้ดี เพระความพร้อม พร้อมแล้ว ที่พูดเมื่อกี้และมีความขยันด้วย ปฏิบัติต่อเนื่องเป็น ๑๐ ปี

พระสงฆ์จีน ท่านที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในประเทศไทย ยังมีอีกเยอะไหม

หลวงพ่อ ผู้ที่ท่านสำเร็จ ท่านก็จะไม่มาบอก เป็นเรื่องเฉพาะตน “ของจริงนิ่งเป็นใบ้ ของพูดได้ล้วนไม่จริง!!”

พระสงฆ์จีน เคยอ่านประวัติหลวงปู่มั่น

หลวงพ่อ หลวงปู่มั่น เป็นพระอาจารย์ใหญ่ในสายปฏิบัติของอาตมา อาตมาเป็นลูกศิษย์สืบต่อจากพระอุปัชฌาย์ (หลวงปู่จันทร์ฯ หลวงปู่ขาน)

พระสงฆ์จีน หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ จริงๆ แล้วก็มีเยอะ แต่อยู่ในเขาในป่า

หลวงพ่อ ถ้าพูดเรื่องจำนวนพระ ประเทศไทยมีพระมาก ส่วนใหญ่จะเป็นสายหลวงปู่มั่น ที่ปฏิบัติจริงๆ จังๆ และน้อยลง เพราะละสังขารกันไป

พระสงฆ์จีน เขาบอกว่า ทางสายมหายาน ฝึกบำเพ็ญแล้วจึงจะสำเร็จ ต้องมีพระรัตนตรัยช่วยคุ้มครอง มีท่านอมิตผ่อช่วย ถ้าไปฝึกกับจั๋งเหล่าตรงนี้ จะมีความขัดแย้งกันไหม

หลวงพ่อ จริงๆ แล้วถ้าเข้าใจมหายานจริงๆ หรือเถรวาทจริงๆ ไม่ได้มีความแตกต่าง พระพุทธศาสนามี ๒ สาย คือ คามวาสี กับอรัญญวาสี พูดเมื่อกี้ตั้งแต่ต้น คือ สายปฏิบัติ กับสายปริยัติ ทั้งปฏิบัติกับปริยัติ สุดท้ายก็ต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด ปริยัติ ปฏิบัติ เพื่อปฏิเวธ แม้มหายานก็ต้องปฏิบัติ ต้องทำตัวเราให้รู้ ให้เข้าใจก่อนที่จะสอนผู้อื่นได้ การสอนมหายานจะเน้นเมื่อมีบารมีแล้ว จะมาช่วยคนมากมาย ในขณะเดียวกัน จริงๆ พระสงฆ์ทุกรูป ไม่ว่าเถรวาท มหายาน ไม่ได้ต่างกันหรอก ก็ต้องช่วยคนเหมือนกัน ท่านช่วยตามกำลัง แต่ว่าผู้ที่บำเพ็ญเพียรทางพระโพธิสัตว์ เราจะเห็นทางสายมหายาน มักจะมุ่งไปทางโพธิสัตว์ญาณ มีมาก อาจจะแตกต่างตรงเรื่องของความประสงค์ที่จะไปพุทธภูมิ แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีว่าจะเป็นมหายาน หรือเถรวาท เหมือนกัน เพียงแต่ว่า ปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนได้ผลไหม ถ้าได้ผลเมื่อไร ตัวเองรู้แล้ว บอกผู้อื่นรู้ด้วย นี่คือพระศาสนา จะไม่ได้ไปอยู่หลังเขา ไม่ใช่

พระสงฆ์จีน อยากถวายหลวงพ่อ พัดของวัดเส้าหลิน พัดเย็นๆ คือ สิ่งต่างๆ ที่ไม่ชอบ ก็พัดออกไป

หลวงพ่อ ดี

พระสงฆ์จีน หลวงปู่มั่นเหมือนที่อ่าน คือ ตั้งจิตมั่นไว้ว่าจะเป็นพุทธภูมิ แต่ตอนหลังท่านถอน เป็นพระอรหันต์ เป็นแบบนี้ใช่ไหม

หลวงพ่อ ใช่

พระสงฆ์จีน จริงๆ แล้วคือ หลวงปู่มั่น ฝึกมหายาน ทางตรงนี้จะไปพุทธภูมิ

หลวงพ่อ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแต่ละท่าน ตรงนี้เราตอบแทนกันไม่ได้ ก็เป็นไปได้ ถ้ามาทางมหายาน ขึ้นอยู่กับจุดจูงใจว่าจะไปทางนั้น ส่วนใหญ่มหายาน เดิมเรียกว่า โพธิสัตว์ญาณ ก็จะมีจุดมุ่งหมายอันหนึ่ง เพื่อต้องการปรารถนาพุทธภูมิ ความเป็นพระพุทธเจ้า แต่ในขณะเดียวกัน การเป็นพระสาวกทั้งหลาย เมื่อท่านเกิดมาเป็นพระสาวกแล้วในพระพุทธศาสนา

พระสงฆ์จีน คัมภีร์ต่างๆ ในประเทศไทย ครบไหม มหายานโพธิสัตว์

หลวงพ่อ ยังมีครบ เพราะในประเทศไทยมีทั้งมหายาน และเถรวาท

http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/ธรรมส่องโลก/92295/สู่ถ้ำพระโพธิสัตว์‘ตั๊กม้อ’ปฏิสันถารกับพระจีน-ตอนจบ-
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.259 วินาที กับ 30 คำสั่ง

Google visited last this page 19 ธันวาคม 2567 23:20:28