[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 09:08:00 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พิธีพุทธาภิเษก พิธีเทวาภิเษก และพิธีมังคลาภิเษก  (อ่าน 2409 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 09 มิถุนายน 2562 18:28:01 »




พุทธาภิเษก เทวาภิเษก และมังคลาภิเษก
บทความโดย พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
นิตยสารกรมศิลปากร กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์/เผยแพร่
ภาพประกอบ : พิธีพุทธาภิเษกพระพุทธชินราชจำลอง ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒  


พิธีพุทธาภิเษก พิธีเทวาภิเษก และพิธีมังคลาภิเษก มีที่ใช้อย่างไร และมีความแตกต่างกันอย่างไร ใช้ร่วมกันได้หรือไม่

เบื้องต้น เมื่อพิจารณาจากรูปศัพท์ทั้ง ๓ คำ ก็จะพบว่าศัพท์ทั้ง ๓ คำ มีคำร่วมคือคำว่า อภิเษก ซึ่งพจนานุกรมนิยามความหมายว่าเป็น กริยา แปลว่า แต่งตั้งโดยทำพิธีรดน้ำ เช่น พิธีเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน : การได้บรรลุ เช่น ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ  ส่วนคำแยก คือ พุทธา เทวา และมังคลา มีความหมายดังนี้

พุทธ เป็น คำนาม แปลว่า ผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธเจ้า

เทวา เป็น คำนาม แปลว่า เทพเจ้า, เทวดา

มังคละ เป็น คำนาม มาจากคำว่า มงคล แปลว่า เหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ หรือเรียกเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญมาให้หรือป้องกันอันตรายต่างๆ ว่า วัตถุมงคล

กล่าวโดยสรุป เมื่อพิจารณาเฉพาะรูปศัพท์สามารถเข้าใจได้ว่า พุทธาภิเษก ควรจะเกี่ยวข้องกับพิธีทางพุทธศาสนา เทวาภิเษกก็น่าจะเป็นพิธีเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ส่วนมังคลาภิเษก ปรากฏใช้ในพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งหมายถึง พระราชพิธีสมโภชเมื่อพระมหากษัตริย์ครองสิริราชสมบัติได้ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่เคยมีมา

อย่างไรก็ดียังมีหนังสือบางเล่ม เช่น พจนะภาษาของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ได้นิยามความหมายของคำว่า อภิเษก ในความหมายที่ ๒ ว่า ได้บรรลุ ได้เป็น แล้วยกตัวอย่างว่า พุทธาภิเษก คือ การได้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้นการประกอบพิธีพุทธาภิเษกขณะสร้างพระพุทธรูป พระประธาน พระบูชา ตลอดจนพระพิมพ์ ก็เพื่อทำให้พระพุทธปฏิมาเหล่านั้นมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะประกอบพิธีพุทธาภิเษก มักมีการลงเลขยันต์ ตลอดจนลงคาถาอาคมต่างๆ ด้วย ทำให้พระปฏิมากรเหล่านั้นมีความขลังในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นจากพระเถราจารย์ที่มีพุทธคุณมาร่วมประกอบพิธีนั่งปรก* เพื่อใช้กระแสจิตน้อมนำพระคาถาที่สวดอยู่ไปสู่องค์พระปฏิมานั้น
 






ตำราว่าด้วยพิธีพุทธาภิเษก  

การประกอบพิธีพุทธาภิเษกในสังคมไทยอาจกล่าวได้ว่า เป็นพิธีกรรมเพื่อสร้างความเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์ให้แก่วัตถุมงคลต่างๆ ทั้งพระพิมพ์ พระผง ตะกรุด ผ้ายันต์ และอื่นๆ อีกหลายอย่างตามความเชื่อของแต่ละสังคม แต่ไม่พบหลักฐานการบันทึกเป็นตำราอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่าเป็นภูมิปัญญาแบบจับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ที่ซ่อนอยู่ในตัวครูบาอาจารย์หรือพระเถระที่ได้ฝึกฝนเล่าเรียนสืบต่อมาจากอุปัชฌาย์อาจารย์ตามลำดับ เท่าที่สืบค้นได้มีตำราชื่อ พุทธาภิเษกพิธี พิธีกรรมปลุกเสกพระเครื่องรางของขลัง ค้นคว้าเรียบเรียงโดยเทพย์ สาริกบุตร จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ โดยตำราเล่มนี้มิได้กล่าวถึงเฉพาะกระบวนการอันเนื่องด้วยพิธีกรรมปลุกเสกพระเครื่องรางของขลังแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เริ่มต้นกล่าวถึงที่มาของการสร้างพระพุทธรูป ตำราสร้างพระพุทธรูป และวิธีประสมเนื้อโลหะ นวโลหะ สัตตโลหะ ปัญจโลหะ นายช่างหล่อพระสมัยโบราณ  ตำนานการสร้างพระพิมพ์หรือพระเครื่องราง และลักษณะของพระพิมพ์ที่ขุดค้นพบในประเทศไทย ตำนานการสร้างพระชัยวัฒน์ทั้งขนาดใหญ่สำหรับบรรจุดวงชาตา พระชัยวัฒน์ขนาดเล็กชนิดพระเครื่อง ตำราการจัดสร้างพระชัยวัฒน์ฉบับของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว สมัยกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตำนานการสร้างพระกริ่ง พุทธานุภาพพระกริ่ง พุทธลักษณะของพระกริ่ง และพระกริ่งมีชื่อเสียงต่างๆ ตำนานการสร้างพระโพธิ์ปางห้ามสมุทร หรือพระพิชัยสงคราม ตำราการสร้าง วิธีจัดสร้างบรรจุดวงชาตาใส่ฐานพระโพธิ์ อันเป็นตำนานที่สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา วิธีบูชาและคาถาบูชา ตำราการสร้างพระโพธิ์ปางสมาธิ หรือพระชัยลาภ วิธีการจัดสร้างและวิธีบูชาพร้อมด้วยคาถากำกับ ตำนานการสร้างพระประจำวัน การบูชาและคาถาสำหรับสวดบูชา โดยบรรยายถึงการจัดพิธีหล่อพระโดยละเอียด ตลอดจนการจัดสถานที่ การตระเตรียมสิ่งของสำหรับใช้ในพิธี การประกอบพิธีกรรม โดยจำแนกหน้าที่เป็นของพระภิกษุ โหร บัณฑิต และพราหมณ์ รวมถึงพระราชพิธีหล่อพระชัยวัฒน์ และพิธีหล่อพระของทางราชการ แล้วจึงกล่าวถึงพระคาถาพุทธาภิเษกสำหรับใช้สวดในพิธีหล่อพระและสมโภชพระพุทธรูป รวมถึงพระคาถาเมตตาพรหมวิหาร สำหรับใช้สวดต่อจากพระคาถาพุทธาภิเษก จบด้วยการบรรจุพระซึ่งบรรยายถึงพิธีการบรรจุดวงชาตาใส่ในองค์พระพุทธรูป ตลอดจนเลขยันต์ต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการบรรจุพระ

อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร นี้เป็นปราชญ์ที่สนใจในเรื่องคาถาอาคมและคัมภีร์พระเวทเป็นอย่างยิ่ง ท่านใช้ความวิริยอุตสาหะค้นคว้ารวบรวมและเรียบเรียงพระคัมภีร์พระเวทไว้ถึง ๗ เล่มใหญ่ โดยเก็บรวมสาระอันเนื่องด้วยไสยศาสตร์และวิทยาอาคมต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก โดยในมุขบทอันเป็นคำนำของหนังสือ พุทธาภิเษกพิธี พิธีกรรมปลุกเสกพระเครื่องรางของขลัง ของอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร กล่าวถึงที่มาของแหล่งความรู้ ดังนี้  “...การสร้างพระพุทธรูปนั้น แต่โบราณกาลมาได้กำหนดวิธีจัดสร้างไว้เป็นหลายประการ จัดเป็นพิธีกรรมที่สำคัญยิ่งอันหนึ่ง ปัจจุบันนี้พิธีกรรมเหล่านี้ได้ค่อยๆ คลี่คลายสลายตัวลงเป็นลำดับ เนื่องจากไม่ใคร่มีผู้สนใจจะรวบรวมไว้ ผู้รวบรวมได้มีโอกาสไปศึกษาพิธีกรรมเหล่านี้กับเจ้าพระคุณพระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร) สำนักวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งท่านได้เล่าเรียนต่อมาจากสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) สมเด็จพระอุปัชฌาย์ของท่าน อันทรงเป็นปฐมบูรพาจารย์ในการจัดพิธีกรรมหล่อพระ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว อาจารย์เทพจึงได้รวบรวมพิธีกรรมหล่อพระและการสร้างพระทุกๆ ประการ ตลอดจนเลขยันต์ คาถา ที่ใช้เนื่องในพิธีกรรมสร้างพระนี้รวมขึ้นเป็นตำราพิเศษเล่มหนึ่งเพื่อความสะดวกและเพื่อความสมบูรณ์ของพิธีกรรมสำหรับผู้มีจิตศรัทธาจะจัดสร้างพระจะได้จัดทำได้โดยง่ายและถูกต้องตามพิธีการต่อไป

จากตำราเล่มนี้แสดงให้เห็นว่าพิธีพุทธาภิเษกเป็นพิธีกรรมที่มักจะทำขึ้นพร้อมกับการหล่อหรือจัดสร้างพระ มากกว่านำมาทำพิธีปลุกเสกหรือพุทธาภิเษกเพิ่มความขลังและศักดิ์สิทธิ์ในภายหลังเหมือนปัจจุบัน
 






การศึกษาวิจัยเรื่องพิธีกรรมพุทธาเทวาภิเษก    

งานวิจัยเรื่องพิธีกรรมพุทธาเทวาภิเษกในทัศนะทางสังคม เป็นวิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๕๖ ของพระศราวุทธ ปญฺญาวุฑโฒ (เลขานุกิจ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพิธีกรรมพุทธาภิเษก พิธีกรรมเทวาภิเษก ศึกษาทัศนะทางสังคมที่มีต่อพิธีกรรมพุทธาภิเษก และศึกษาทัศนะทางสังคมที่มีต่อพิธีกรรมพุทธาเทวาภิเษก โดยศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ได้แก่ พระไตรปิฎกอรรถกถา คัมภีร์ต่างๆ และงานวิจัยที่ว่าด้วยการประกอบพิธีพุทธาเทวาภิเษก ประกอบการสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์

ผลการวิจัยสรุปความหมายของพิธีกรรมพุทธาภิเษกไว้ดังนี้

“๑.พิธีกรรมพุทธาภิเษก คือ การเจริญพระพุทธมนต์พระคาถาพุทธาภิเษก สำหรับสวดในพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป และสมโภชพระพุทธรูป รูปเหมือนของเกจิอาจารย์ วัตถุมงคล ปลุกเสก เครื่องรางของขลังให้มีความขลังศักดิ์สิทธิ์ด้วยพลังพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ตลอดจนพระราชพิธีหลวง หล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมมหาราชวังทุกๆ รัชกาล ในปัจจุบันนิยมประกอบพิธีกรรมพุทธาภิเษกก่อนถึงวันงานยกช่อฟ้า ปิดทองฝังลูกนิมิต หรือสร้างวัตถุมงคลเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างวัด

จากนิยมความหมายที่ยกมา แสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมพุทธาภิเษกมีการใช้เพื่อสร้างความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ให้แก่วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง และรูปเหมือนของเกจิอาจารย์ต่างๆ ซึ่งมากกว่าเดิมที่ใช้เฉพาะหล่อพระพุทธปฏิมา พระพิมพ์และพระกริ่งเท่านั้น นอกจากนี้การประกอบพิธีพุทธาภิเษกในปัจจุบันยังนำไปผูกกับกิจกรรมอื่นๆ ของแต่ละวัด เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่วัด ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงจูงใจให้พุทธศาสนิกชนอยากมาร่วมกิจกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ที่สำคัญยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัตถุมงคลตามกระแสสังคมแม้จะขัดกับหลักธรรมของพุทธศาสนาก็ตาม

นอกจากนั้นยังนิยามความหมายของพิธีกรรมเทวาภิเษกไว้ดังนี้

“๒.พิธีกรรมเทวาภิเษก คือ การอ่านโองการบวงสรวงอัญเชิญเทวดาทั้ง ๑๖ ชั้นฟ้า ๑๕ ชั้นดิน ตลอดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งสากลโลกให้เสด็จมารับเครื่องบวงสรวงสังเวยและพักผ่อนที่ศาลเพียงตา เพื่อร่วมพิธีกรรมพุทธาเทวาภิเษก เททองหล่อพระพุทธรูปและสมโภชพระพุทธรูป รูปเหมือนของเกจิอาจารย์ วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ให้มีความขลังศักดิ์สิทธิ์ด้วยพลังเทวดานุภาพ อิทธานุภาพ บุญญานุภาพ”

จากนิยามดังกล่าว แสดงว่าพิธีกรรมเทวาภิเษกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพิธีพุทธาภิเษก ซึ่งเป็นการอัญเชิญปวงเทพเทวดามาร่วมในพิธีพุทธาภิเษก โดยให้เสด็จมาพักผ่อนอยู่ที่ศาลเพียงตาที่สร้างขึ้นเพื่อร่วมเป็นสักขีพยานและอำนวยพรให้เกิดพลังเทวดานุภาพ อิทธานุภาพ และบุญญานุภาพ แก่พระพุทธปฏิมา รูปเหมือนเกจิอาจารย์ วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังต่างๆ ที่นำมาทำพิธีพุทธาภิเษกนั้น ซึ่งตำราพุทธาภิเษกพิธีโบราณเรียกว่า เป็นการบวงสรวงสังเวยเทวดาเท่านั้นมิได้เรียกว่า พิธีเทวาภิเษก ดังความว่า “...เมื่อใกล้จะถึงเวลาได้ฤกษ์กระทำการ ก็ให้จัดเครื่องสังเวยบูชาเทพยดาและเทวดาที่รักษาฤกษ์เสียก่อน โดยให้เจ้าภาพเป็นผู้จุดธูปเทียนบูชา กล่าวคำอธิษฐานเสียก่อน ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของโหรจะต้องกล่าวโศลกบูชาเทวดา และกล่าวคำดุษฎีสังเวยบวงสรวงเทวดา จากนั้นเมื่อได้เวลาปฐมฤกษ์ก็เป็นหน้าที่ของช่างหล่อ พึงปฏิบัติการสืบไป... ระยะเวลาหาฤกษ์จุเทียนชัยกับฤกษ์เทพระนี้ ต้องไว้ระยะห่างกันอย่างน้อยก็คะเนให้พระสวดมนต์และพิธีสวดพุทธาภิเษกจบ หรือเว้นระยะพอให้ช่างสุมหุ่นได้ที่...”

นอกจากนั้นตำราพุทธาภิเษกพิธียังกล่าวว่าการจัดทำพิธีหล่อพระ ควรจัดทำในพระอุโบสถ มีการสวดคาถาพุทธาภิเษก ซึ่งเป็นคาถาที่สำคัญใช้เฉพาะในการหล่อพระพุทธรูปและสมโภชพระพุทธรูปที่สำคัญๆ เท่านั้น การสวดก็ควรสวดแต่เพียงในบริเวณพระอุโบสถ เพราะชื่อของคาถาย่อมบ่งบอกความหมายของพิธีกรรมอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ดังนั้น พิธีกรรมก็ควรทำภายในพระอุโบสถ จึงจะเป็นการสมควร  
 



หลักฐานเรื่องพิธีเทวาภิเษก    

ดังได้กล่าวแล้วว่า พิธีเทวาภิเษกเป็นพิธีกรรมอันเนื่องด้วยศาสนาพราหมณ์ (ศาสนาฮินดู) ซึ่งมีความเชื่อและเคารพนับถือเหล่าทวยเทพ เทวา และเทวี ตลอดจนอวตารของพระผู้เป็นเจ้า เช่น อวตารของพระศิวะ ๑๑ ปาง และอวตารของพระนารายณ์ ๑๐ ปาง เป็นต้น  ดังนั้น เมื่อเทวสถานสำหรับพระนครจัดสร้างพระพิมพ์โบสถ์พราหมณ์เพื่อหาทุนในการบูรณะเทวสถานสำหรับพระนคร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๕ โดยนำกระเบื้องมุงหลังคาที่ชำรุดมาบดแล้วกดเป็นพระพิมพ์เทวรูป พระอิศวร พระพิฆเนศ และพระนารายณ์ เพื่ออภินันทนาการแก่ผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนสมทบทุนค่าใช้จ่ายในการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน สำหรับพระนคร จึงมีกระบวนการจัดสร้างพระพิมพ์โบสถ์พราหมณ์ให้มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับพิธีพุทธาภิเษกของศาสนาพุทธ โดยเชิญทั้งพราหมณ์จากอินเดียและนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทั้งพระธรรมยุติกนาย พระมหานิกาย และพระรามัญนิกาย มาร่วมทำพิธีเทวาภิเษกด้วย แต่เรียกชื่อขั้นตอนที่มีพระภิกษุสงฆ์ทำพิธีว่า พิธีมังคลาเทวาภิเษก ดังมีรายละเอียดในกระบวนการจัดสร้างพระพิมพ์โบสถ์พราหมณ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๕ ตามลำดับคือ

๑.นำกระเบื้องเก่ามาบดและกดพิมพ์เป็นรูปพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเนศวร
๒.วันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๕ พระราชครูวามเทพมุนี ประกอบพิธีบูชาฤกษ์ขึ้นแบบพิมพ์เทวรูป และได้อาราธนาพระอาจารย์ ดร.สิงห์ทน นราสโภ เจริญพระพุทธมนต์และแผ่เมตตาจิต
 











Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 มิถุนายน 2562 18:38:17 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.703 วินาที กับ 30 คำสั่ง

Google visited last this page 19 ธันวาคม 2567 19:06:59