อย่าไปหลงอยู่กับอามิสบูชาจนลืมปฏิบัติบูชา พวกเราต้องพยายามน้อมให้เข้าสู่ใจให้ได้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เรารู้จักกันนี้ ยังเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ภายนอกใจของพวกเรา เหมือนกับยารักษาโรคที่เป็นยาวิเศษ ถ้ารับประทานแล้ว จะสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บของร่างกายให้หายไปหมดได้ แต่ถ้ายังไม่ได้รับประทานยานั้น ยานั้นจะให้วิเศษขนาดไหนก็ยังไม่สามารถที่จะมารักษาโรคภัย ไข้เจ็บของร่างกายให้หายไปได้ ฉันใดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่อยู่ภายนอกใจก็เป็นอย่างนั้น เป็นเหมือนยาที่ยังไม่ได้รับประทาน พระพุทธ ที่อยู่นอกใจก็คือใครก็คือพระพุทธเจ้าของพวกเรานี่เอง ก็ยังถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าอยู่นอกใจของพวกเราอยู่ เรายังต้องคิดถึงท่านอยู่ ท่านถึงจะเข้ามาสู่ใจของเรา หรือพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้กัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นพระพุทธรัตนตรัยที่ยืนอยู่ข้างนอก ยังไม่ได้อยู่ในใจ เช่นเดียวกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พวกเราได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านในหนังสือนี้ ก็ยังถือว่าเป็นธรรมภายนอกอยู่ ยังไม่ใช่เป็นธรรมภายใน พระอริยสงฆ์สาวกที่เราไปกราบไหว้กัน ก็เป็นพระอริยสงฆ์สาวกภายนอก คือยังไม่เข้ามาในใจเรา เรายังไม่ได้เป็นพระอริยสงฆ์สาวก
นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องทำกัน ต้องปฏิบัติบูชาแล้วเราจะได้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้ามาประดิษฐานในใจของเรา การปฏิบัติบูชานี่แหละ คือการน้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้ามาตั้งอยู่ในใจของเรา พอตั้งอยู่ในใจของเราแล้วก็จะพาใจของเราให้ได้หลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังนั้นสิ่งที่พวกเราควรที่จะตั้งเป้าก็คือการปฏิบัติบูชาเป็นหลัก ส่วนอามิสบูชาถ้ามีเหตุมีความเหมาะสม ที่จะต้องทำก็ทำไป แต่อย่าไปหลงอยู่กับอามิสบูชาจนลืมการปฏิบัติบูชา เช่นไปสร้างพระพุทธรูป ไปสร้างวัด ไปสร้างเจดีย์กัน จนลืมถึงการปฏิบัติบูชา เพราะการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ นี้ก็เป็นเพียงอามิสบูชาเท่านั้น ถ้าอยากจะให้เป็นปฏิบัติบูชาเราต้องภาวนา เราต้องปฏิบัติธรรม เราต้องปลีกวิเวก เราต้องกำจัดข้าศึกศัตรูที่จะมาขัดขวางการปฏิบัติธรรมของเรา ข้าศึกศัตรูก็คือการติดอยู่ในลาภยศ สรรเสริญสุขนี่เอง ถ้าเรายังติดอยู่ในลาภยศ สรรเสริญสุข ยังติดอยู่กับความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เราจะไม่สามารถที่จะไปปฏิบัติธรรมได้ แล้วเมื่อเราไม่ปฏิบัติธรรม เราก็จะไม่สามารถน้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้ามาสู่ภายในใจของเราได้
ดังนั้นผู้ที่ต้องการปฏิบัติบูชา ผู้ที่ต้องการน้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้ามาสู่ใจจะเป็นจะต้องสละลาภยศ สรรเสริญสุขไป ถ้ายังมีความผูกพันธ์ยังมีความเกี่ยวข้อง อยู่กับลาภยศสรรเสริญสุข ก็จะไม่สามารถที่จะบำเพ็ญให้เกิดผลได้อย่างเต็มที่ อาจจะได้บ้าง ช่วงเวลาที่ปลีกออกมาปฏิบัติ แต่พอกลับไปสู่ลาภยศ สรรเสริญสุข ธรรมที่ได้จากการปฏิบัติก็ต้องชะงักไป ไม่เจริญงอกงาม แต่ถ้าได้ปลีกวิเวกออกและไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับลาภยศ สรรเสริญสุขเลย ธรรมที่ได้นี้ก็จะเจริญเติบโตขึ้นไปตามลำดับ จนออกเป็นดอกเป็นผล ออกเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา เป็นโสดาปฏิมรรค เป็นโสดาปฏิผล เป็นสกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหันมรรค อรหันตผล ผลเหล่านี้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เกิดจากการกลับไปหาลาภยศ สรรเสริญสุข ถ้ายังอยู่ในช่วงที่ยังต้องกลับไปกลับมาก็ต้องยอมรับไปว่า เป็นกรรมของตน หรือเป็นวิบากที่ยังไม่สามารถที่จะฟันฝ่าไปได้ แต่ต้องพยายามตั้งเป้าไว้ว่า ถ้าอยากจะได้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้มีพระคุณอันประเสริฐ ผู้ที่จะพาให้เราได้หลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราต้องพยายามตัดการเกี่ยวข้องกับลาภยศ สรรเสริญสุขให้ได้ ทำไปตามลำดับ ทำไปตามขั้นตามตอน ตอนนี้ทำได้เท่าไรก็ทำไป แต่อย่าให้มันมากขึ้น พยายามให้มันน้อยลงไปเรื่อยๆ ถ้ามันน้อยไปลงเรื่อยๆ ก็แสดงว่าเป็นการเดินก้าวหน้าไป เป็นความก้าวหน้า ถ้ามันเพิ่มมากขึ้น มีความไปเกี่ยวข้องกับลาภยศ สรรเสริญสุขมากขึ้น ก็แสดงว่าเป็นการเดินถอยหลังไม่ก้าวหน้าในทางธรรม แต่ก้าวหน้าในทางลาภยศ สรรเสริญสุข ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราต้องการ เพราะลาภยศ สรรเสริญสุขนี้ไม่สามารถที่จะยุติการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้นั่นเอง นอกจากไม่ยุติแล้วยังเป็นตัวเสริมให้ภพชาตินี้มีการเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ผู้ที่มีปฏิบัติผู้ที่สนใจต่อการหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องเห็นว่าลาภยศ สรรเสริญสุขนี้เป็นข้าศึกศัตรู เป็นสิ่งที่ต้องคอยทำลายไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะคอยส่งเสริม ถ้าไม่เห็นอย่างนี้แล้วปฏิบัติไปอย่างไรก็จะไม่มีวันได้ผล เพราะถ้ายังมีความคิดว่าลาภยศ สรรเสริญสุขนี้เป็นส่ิงที่สำคัญแก่จิตใจ ต้องเห็นว่าเป็นโทษเป็นศัตรู ไม่ใช่เป็นคุณเป็นมิตร เวลามีอะไรมาชวนให้ไปหาลาภยศ สรรเสริญสุขนี้ ต้องตัดให้ได้ ไม่ใช่ตามไปใครชวนให้ไปหาลาภยศ สรรเสริญสุขก็ตามเขาไป ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่าหลงทาง ไปไม่ถูกทาง ทางที่จะไปต้องไปสู่การบำเพ็ญจิตตภาวนา ไปสู่การปลีกวิเวก ไปสู่การสำรวมอินทรีย์ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือไปสู่การบวช การบวชนี้ก็คือเป็นการออกจากลาภยศ สรรเสริญสุขนี่เอง ผู้ที่บวชนี้จะไม่มีลาภติดตัวไป ไม่มียศติดตัวไป ไม่มีสรรเสริญติดตัวไป ไม่มีความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กายติดตัวไป มีสิ่งที่ติดตัวไปก็ศรัทธาความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีฉันทะติดตัวไป คือความยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีวิริยะคือความอุตสาหะพากเพียรที่จะปฏิบัติ
นี่แหละคือสิ่งที่เป็นมิตรกับพวกเรา มิตรกับผู้ปฏิบัติ มิตรต่อผู้ที่ปรารถนาการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดก็คือศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาต่อการปฏิบัติธรรม ฉันทะแปลว่าความยินดี พอใจที่จะปฏิบัติธรรม วิริยะคือความเพียร ความพากเพียรในการปฏิบัติธรรม จิตตะคือการจดจ่ออยู่กับการปฏิบัติธรรม ไม่ปล่อยให้ใจไปสนใจในเรื่องอื่นให้สนใจอยู่กับเรื่องปฏิบัติธรรมเพียงเรื่องเดียว ถ้ามีอะไรมาฉุดมาลากไป ถ้าสุดวิสัยต้องไปก็ไป ไปเพื่อกลับไม่ใช่ไปแล้วลืม ไปแล้วหายไปเลย ไปทำกิจที่จำเป็นต้องทำ เสร็จแล้วก็รีบกลับมา ถ้าจิตตะใจจะเป็นอย่างนั้น ใจจะจดจ่ออยู่กับการปฏิบัติ วิมังสาคือความคิดใคร่ครวญ คิดอยู่กับเรื่องของการปฏิบัติ คิดว่าปฏิบัติถึงตรงนี้แล้วเป็นอย่างไรดีไม่ดีอย่างไร ขาดอะไร ควรจะเพิ่มอะไร นี่เรียกว่าวิมังสา จิตใจใคร่ครวญอยู่เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติธรรมเพียงอย่างเดียว ไม่ไปสนใจกับเรื่องลาภยศ สรรเสริญสุข ถ้าเรามีมิตรอย่างนี้รับรองได้ว่าเราจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างแน่นอน พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลายท่านก็มีมิตรเหล่านี้ ท่านมีศรัทธาในธรรมะปฏิบัติ ท่านมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ต่อธรรมปฏิบัติ ผลจึงปรากฏขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านได้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะศรัทธาในการปฏิบัติธรรม มีฉันทะ วิมังสา ต่อการปฏิบัติธรรม พระองค์จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกก็เป็นผู้ที่มีศรัทธาในธรรมะปฏิบัติมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ต่อธรรมะปฏิบัติจิตใจนี้พุ่งไปสู่การปฏิบัติเพียงอย่างเดียว ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็ภาวนา เดินจงกรมนั่งสมาธิ จนกว่าจะถึงเวลาออกบิณฑบาต บิณฑบาตเสร็จแล้วกลับมาฉันเสร็จ ล้างบาตรทำธุระ ทำความสะอาดอะไรเรียบร้อยแล้วกลับมาที่พักก็กลับมาเดินจงกรมนั่งสมาธิ นี่ก็เป็นธรรมะปฏิบัติ ถ้าเหนื่อยหรือเพลียอยากจะพักก็อาจจะพักช่วงกลางวันสักชั่วโมง พอตื่นขึ้นมาก็บำเพ็ญต่อทันที เดินจงกรมนั่งสมาธิ เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาสลับกันไปแล้วแต่ความสมควร แล้วแต่ภาวะจิตของแต่ละท่านว่าอยู่ในระดับไหน อยู่ในระดับสติก็เจริญสติ อยู่ในสมาธิก็เจริญสมาธิ อยู่ในระดับปัญญาก็เจริญปัญญา ปฏิบัติอยู่กับธรรม ๓ ชนิดนี้ คือสติ สมาธิ ปัญญา จนกว่าจะถึงเวลาปัดกวาดก็ออกไปปัดกวาด เสร็จแล้วก็ดื่มน้ำปานะ หลังจากนั้นก็สรงน้ำอาบน้ำอาบท่าซักผ้าเสร็จแล้วก็กลับมาบำเพ็ญเดินจงกรมนั่งสมาธิ จนถึงเวลาประมาณ ๔ -๕ ทุ่มก็พักผ่อนหลับนอน พักผ่อนหลับนอนประมาณ ๔ -๕ ชั่วโมง พอตีสองตีสามก็ลกตื่นขึ้นมามาเดินจงกรม นั่งสมาธิไป จนถึงเวลาสว่างออกบิณฑบาต นี่แหละคือศรัทธา ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ในช่วงที่ท่านบำเพ็ญปฏิบัติ
ท่านปฏิบัติแบบนี้ผลจึงปรากฏเป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา ผู้ใดก็ตามที่สามารถบำเพ็ญปฏิบัติแบบที่ท่านปฏิบัติก็จะได้รับผลเช่นเดียวกันอย่างแน่นอน เพราะเหตุนี้จะไม่เปลี่ยนไปตามเวลา ไม่เปลี่ยนไปตามบุคคลนั้นบุคคลนี้ เหตุนี้สามารถที่จะยังประโยชน์ ยังผลได้ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใด ในยุคสมัยพระพุทธกาลถ้ามีเหตุนี้ก็มีผลนี้ตามมา ในยุคปัจจุบันถ้ามีเหตุนี้ ก็จะมีผลนี้ตามมา ดังที่ได้ทรงตรัสไว้ว่าเป็นอลากิโก ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก ไม่เสื่อมไปตามกาลตามเวลา การปฏิบัติในสมัยพระพุทธกาลที่ทำให้เกิดมรรผล นิพพานขึ้นมาอย่างไร ถ้ามีการปฏิบัตินั้นในสมัยปัจจุบันก็จะมีมรรคผล นิพพานปรากฏขึ้นมาเหมือนกันและก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคล ด้วยว่าเป็นใคร เป็นหญิงเป็นชาย เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นนักบวชหรือเป็นฆราวาส สถานภาพเหล่านี้ไม่เป็นตัวชี้บ่งบอกว่า จะได้มรรคได้ผลหรือไม่ แต่อยู่ที่ธรรมะปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้บำเพ็ญได้ปฏิบัติมาธรรมะบนเขา
วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ (วันวิสาขบูชา)
“วันของบุคคลสำคัญ”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน