[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 12:28:01 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระองค์ทรงตรัสรู้ “อริยสัจ ๔” พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จ.ชลบุรี  (อ่าน 977 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 79.0.3945.130 Chrome 79.0.3945.130


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 28 มกราคม 2563 15:02:17 »



พระองค์ทรงตรัสรู้ “อริยสัจ ๔”

คนเราเวลามีความทุกข์ก็แก้กันไปตามวิธีที่ตนรู้จักแก้ความทุกข์ของตนไป ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ถูกหรือไม่ถูก แต่มันก็ช่วยดับทุกข์ได้เป็นพักๆ ไป ถ้าเขายังแก้ความทุกข์ของเขาได้อยู่ เขาก็ยังอาจจะไม่สนใจที่จะไปหาวิธีแก้ความทุกข์จากผู้อื่น จากศาสนา แต่การแก้ความทุกข์ของเขาอาจจะเป็นการแก้ความทุกข์แบบชั่วคราว ไม่ได้เป็นการแก้แบบถาวร และอาจจะเป็นการสร้างความทุกข์ให้มีเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาต่อไปก็ได้ จึงอยู่ที่ผู้ที่แก้ปัญหาแก้ความทุกข์ของตนว่ารู้หรือไม่ว่าเป็นวิธีแก้ที่ถูกต้อง คือ สามารถที่จะกำจัดความทุกข์ต่างๆ ให้หมดไปอย่างถาวรได้

คนเราทุกคนนี้มีความทุกข์กันทั้งนั้น แต่วิธีแก้ก็มักจะแก้แบบปัดมันไปหรือว่ากลบมันไป เวลามีความไม่สบายใจมีความทุกข์ใจนี้ ถ้ามีเงินทองก็มักจะใช้เงินทองแก้ บางคนก็ไปเที่ยวต่างประเทศ เที่ยวต่างจังหวัด บางคนก็ไปซื้อข้าวของไปช้อปปิ้งเดินตามศูนย์การค้า บางคนก็ไปดูมหรสพบันเทิงอะไรต่างๆ มันก็เป็นการเบนจิตใจให้ออกจากเรื่องที่ทำให้ตนเองทุกข์อยู่ได้ชั่วคราว เช่น กำลังมีปัญหากับเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้ พอไปเที่ยวไปทำอะไรอย่างอื่น มันก็ไม่ได้คิดถึงปัญหานั้น ความทุกข์หรือความไม่สบายใจก็หายไปชั่วคราว แต่พอทำงานกลับมาอยู่ที่เดิม มาเจอปัญหาเดิมอยู่ ความไม่สบายใจมันก็เกิดขึ้นได้อีก หรือว่ามันอาจจะเหตุการณ์เปลี่ยนไป ทำให้เรื่องเดิมที่เคยทำให้มีปัญหามันไม่มีต่อไป

ทางศาสนาพระพุทธเจ้า เวลาแสดงธรรมครั้งแรกพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่าในโลกนี้มีวิธีแก้ปัญหาอยู่ ๒ ทางด้วยกัน วิธีแก้ปัญหาเวลามีความทุกข์ก็คือ ให้ไปหาความสุขเพื่อที่จะได้หนีความทุกข์ได้ นี่เขาเรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” ภาษาบาลี อันนี้คือวิธีแก้ของคนทั่วไปในโลกนี้ เวลามีความทุกข์ใจไม่สบายใจ ถ้าไปหาความสุขได้ก็ไปกัน เมื่อไปหาความสุขมันก็ลืมเรื่องความทุกข์ไปได้ แล้วทุกครั้งที่มีความทุกข์ก็ไปหาความสุขกัน แต่มันจะไปเจอความทุกข์แบบที่การไปหาความสุขไม่สามารถที่จะดับมันได้ ตอนนั้นก็ต้องทุกข์กับมันไปเพราะไม่รู้จักวิธีแก้ความทุกข์นั้นๆ เช่น ถ้ายังมีเงินทองไปเที่ยวก็ยังหนีความทุกข์ได้ แต่ถ้าเงินทองไม่มีแล้ว ทีนี้หนีไม่ได้ ต้องอยู่กับความทุกข์ไป ตอนนั้นบางคนก็หนีความทุกข์ด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะว่าไม่ต้องการเจอความทุกข์ ต้องการที่จะหนีความทุกข์คิดว่าถ้าไม่ได้เจอมันแล้ว ความทุกข์ก็จะหายไป อันนี้เป็นวิธีของคนทั่วไปทางโลก

อีกวิธีหนึ่งก็เป็นวิธีของนักบวชลัทธิต่างๆ การแก้ความทุกข์ก็ด้วยการวิ่งเข้าหาความทุกข์ที่หนักกว่าเดิม มันก็เลยจะทำให้ความทุกข์ที่มีอยู่นี้มันพอที่จะทนได้ พวกที่เขาไปทรมานร่างกายต่างๆ อันนี้ทำให้ไปเจอความทุกข์ที่หนักกว่าความทุกข์ที่มีอยู่ แต่มันก็ไม่ได้ไปแก้ความทุกข์อย่างถาวร เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงทดลองทั้งสองทางนี้แล้ว คือความทุกข์ที่คนเราหนีกันอยู่ก็มีอยู่สี่ห้าอย่างด้วยกัน หนีจากความแก่ หนีจากความเจ็บไข้ได้ป่วย หนีจากความตาย หนีจากการพลัดพรากจากกัน และหนีจากการที่จะต้องเจอสิ่งหรือบุคคลที่เราไม่ต้องการจะเจอ เราก็จะใช้วิธีหนีกัน หนีด้วยการทำอะไรต่างๆ ไป แต่จะหนียังไงมันก็หนีไม่พ้น เหตุการณ์เหล่านี้มันเป็นส่วนประกอบของชีวิต เป็นสัจธรรมของชีวิต ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อมาเกิดแล้ว ต้องเจอความแก่กันทุกคน ต้องเจอความเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องเจอความตาย ต้องเจอการพลัดพรากจากกัน ต้องเจอกับการที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่อยากจะเจอหรือคนที่เราไม่อยากจะพบ

พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้วิธีแรกคือการหาความสุข พ่อพระพุทธเจ้านี้ทรงให้พระพุทธเจ้าอยู่ในวัง ไม่ให้ไปเห็นความแก่ความเจ็บความตาย เพราะกลัวลูกจะทุกข์เวลาเห็น เห็นแล้วกลัวจะออกบวชเพื่อไปแก้ความทุกข์ด้วยการออกบวช แบบที่พวกนักบวชเขาแก้กัน เพราะเมื่อไม่สามารถแก้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในวังได้ ก็มีอีกทางหนึ่งที่จะแก้ก็คือไปบวช พ่อของพระพุทธเจ้าพระราชบิดาก็เลยห้ามไม่ให้คนแก่คนเจ็บคนตายเข้าไปในวัง ที่เจ้าชายสิทธัตถะประทับอยู่ แล้วก็ห้ามไม่ให้เจ้าชายสิทธัตถะออกไปนอกวัง แต่ความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของคนเราทุกคน ห้ามยังไงก็ห้ามไม่อยู่ พระองค์ก็เลยหนีออกไปเที่ยวข้างนอกวัง พอออกไปนอกวังก็เห็นคนแก่เห็นคนเจ็บเห็นคนตายขึ้นมา ก็ทรงรู้ว่าความสุขต่างๆ ที่พระองค์มีอยู่นั้นจะไม่สามารถช่วยพระองค์ได้ เพราะเวลาแก่ก็ไม่สามารถหาความสุขจากสิ่งต่างๆ ได้เหมือนตอนที่เป็นหนุ่มเป็นสาว เวลาแก่เวลาเจ็บเวลาตายนี่ไม่สามารถหาความสุขอะไรได้แล้ว ก็เลยเห็นนักบวช ก็ได้ยินว่าเขาเป็นพวกที่จะไปแก้ความทุกข์ต่างๆ ด้วยการออกบวชด้วยการไปทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ พระองค์ก็เลยทรงเก็บเอาข้อมูลเหล่านี้มาใคร่ครวญ

แล้ววันหนึ่งพอได้ทราบว่าพระมเหสีจะคลอดราชโอรสออกมา พระองค์ก็ทรงอุทานว่า “ราหุล” ราหุลแปลว่าบ่วง คือการมีลูกนี้เป็นบ่วงคล้องคอพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูกรับผิดชอบรักลูกห่วงลูกหวงลูก พระพุทธเจ้าก็ทรงพิจารณาอยู่นานพอสมควร หลังจากที่เห็นคนแก่คนเจ็บคนตายแล้วเห็นนักบวชแล้ว ก็มีความปรารถนาลึกๆ ว่าอยากจะไปบวชเพื่อที่จะไปลองวิธีแก้ความทุกข์อีกวิธีหนึ่ง ก็เลยต้องตัดสินพระทัยในคืนนั้นว่า ถ้าจะไปก็ต้องไปคืนนั้น ถ้าไม่ไปก็ถูกบ่วงรัดคอไปไม่ได้ ก็เลยตัดสินพระทัยหนีออกจากวังไปในคืนนั้นเลย โดยที่ไม่บอกใครเพราะถ้าบอกก็จะถูกห้าม ไปไม่ได้

นี่คือประวัติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยไปบวช แล้วก็ไปอยู่อย่างทุกข์ยากลำบากด้วยวิธีต่างๆ แล้วก็ฝึกสมาธิรักษาศีลของนักบวชไป ก็ได้เห็นวิธีดับความทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง คือเวลาที่นั่งสมาธิจิตสงบ ความทุกข์เกี่ยวกับเรื่องแก่เจ็บตาย เรื่องการพลัดพรากจากกัน เรื่องการที่จะต้องพบกับคนนั้นคนนี้ มันก็หายไปชั่วคราว มันก็เป็นเหมือนกับการหนีความจริง เข้าไปในสมาธิ เหมือนกับสมัยที่อยู่ในวังก็ทรงหนีความทุกข์ด้วยการไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไปกินไปดื่มไปดูไปฟังอะไรให้มันเพลิดเพลินสบายใจ แต่พอมานึกถึงความแก่ความเจ็บความตาย มันก็ไม่สบายใจอีก หรือเวลามาเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่อยากจะเจอ มันก็ทำให้ทุกข์ขึ้นมาอีก อันนี้ก็เหมือนกันพวกฤษีชีไพรต่างๆ ก็ไปทดลองวิธีที่จะดับความทุกข์ด้วยวิธีต่างๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงลองอดข้าวถึง ๔๙ วัน คิดว่าถ้าเราสู้กับความทุกข์ของทางร่างกายได้แล้วเราจะไม่ทุกข์กับมัน มันก็ยังทุกข์อยู่ ถึงแม้อดข้าวมาได้ ๔๙ วัน แล้วรู้ว่าถ้าอดต่อไปก็จะต้องตาย แต่ภายในใจลึกๆ ก็ยังกลัวตายกลัวเจ็บกลัวความแก่อยู่เหมือนเดิม

ในที่สุดพระองค์ก็เลยทรงมาทบทวนค้นคว้าหาทางใหม่ ก็ทรงค้นพบว่าทางที่น่าจะไปก็คือทางสู่การทำใจให้สงบ แล้วหลังจากทำใจให้สงบแล้ว ให้ใช้ปัญญาพิจารณาความจริงเกี่ยวกับเรื่องความแก่ความเจ็บความตาย ว่ามันเป็นอะไรที่น่ากลัวนักหนา ในที่สุดพระองค์ก็ได้ทรงค้นพบความจริงว่าการที่ไปทุกข์กับร่างกาย ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย ก็เพราะความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตายนั่นเอง และความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย ก็เกิดจากความหลงที่ไปคิดว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาดูความเป็นไปเป็นมาของร่างกาย ก็ทรงเห็นว่ามันเป็นร่างกายที่ทำมาจากดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง ได้มาจากพ่อแม่ พ่อแม่ให้ธาตุดินธาตุน้ำธาตุลมธาตุไฟมาก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ร่างกายเจริญเติบโตในครรภ์ของแม่ด้วยอาหารคือดินน้ำลมไฟที่แม่เอาเข้าไปในร่างกาย และธาตุดินก็คืออาหาร ข้าวนี้เป็นพวกธาตุดิน พวกธาตุดินคือข้าวผักเนื้ออะไรต่างๆ เหล่านี้ ธาตุลมก็คือลมหายใจที่หายใจเข้าไปในร่างกาย ธาตุน้ำก็คือน้ำต่างๆ ที่เราดื่มเข้าไปในร่างกาย ธาตุไฟก็คือความร้อนที่ได้จากแสงแดด มันก็เลยทำให้ธาตุทั้ง ๔ นี้สามารถที่จะผสมปรุงแต่งให้เกิดเป็นอวัยวะต่างๆ ของร่างกายขึ้นมา ทำให้มีผมมีขนมีเล็บมีฟันมีหนังมีเนื้อมีเอ็นมีกระดูกมีอะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงค้นหาดูว่าการที่เราไปเรียกร่างกายนี้ว่าเป็นเรานั้น เราอยู่ตรงไหนในส่วนไหนของร่างกาย ก็ดูที่ผมก็ไม่มีเราอยู่ที่ผม ดูที่ขนก็ไม่มีเรา ดูที่เล็บดูที่ฟันดูที่หนังดูที่อาการอะไรต่างๆ ก็มีแต่อาการอย่างนั้นอย่างเดียว ไม่มีเราอยู่ในส่วนไหนของร่างกายเลย พระองค์ก็ทรงเห็นว่า คำว่า “เรา” นี้มันมาจากความคิดของเรานี้เอง เราไปตู่ว่าร่างกายนี้เป็นเรา แล้วเราก็ไปเชื่อว่าเป็นเราขึ้นมา แล้วเราก็รักหวงร่างกายเพราะว่าเราต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุขให้กับเรานั่นเอง พวกเราทุกคนที่มาเกิดนี้เพราะเราอยากได้ร่างกาย อยากได้หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ แล้วการจะหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ได้ ก็ต้องมีตาหูจมูกลิ้นกาย เราก็เลยมาครอบครองร่างกายเวลาที่พ่อแม่สร้างร่างกายขึ้นมา เรานี้ก็คือดวงวิญญาณนี่เอง ตอนที่ไม่มีร่างกายเราก็เป็นดวงวิญญาณ ดวงวิญญาณนี้มีผู้รู้ผู้คิดอยู่ในดวงวิญญาณนี้ มีความอยากที่อยากจะหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ในดวงวิญญาณนี้

ความอยากนี้มันเลยเป็นตัวผลักดันให้ดวงวิญญาณนี้ไปหาตาหูจมูกลิ้นกาย ก็คือไปหาร่างกาย พอที่ไหนมีการสร้างร่างกายขึ้นมาปั๊บ ก็จะมีดวงวิญญาณนี้ไปเกาะติดทันที พอมีการเกาะติดก็มีการปฏิสนธิ มีการเจริญเติบโตของร่างกายขึ้นมา แล้วดวงวิญญาณที่เป็นผู้รู้ผู้คิดนี้ก็คลอดออกมาพร้อมๆ กับร่างกาย แล้วก็ไปคิดว่าร่างกายนี้เป็นดวงวิญญาณเป็นผู้รู้ผู้คิด อันนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงพบ หลังจากทำใจให้สงบแล้ว ใจนิ่งสงบปราศจากกิเลสตัณหาปราศจากโมหะอวิชชาแล้ว ไม่มีความคิดเดิมที่คิดว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา แล้วก็เอาใจที่เป็นกลางนี้มาศึกษาธรรมชาติของร่างกาย ว่าร่างกายนี้เป็นอะไรกันแน่ เมื่อศึกษาจริงๆ ก็เห็นว่าร่างกายมันทำมาจากธาตุทั้ง ๔ คือดินน้ำลมไฟ พอเวลาตายไปสมัยก่อนเขาก็เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้านะ ไม่ได้เผาไม่ได้ฝัง ร่างกายมันก็จะเน่าเปื่อย น้ำที่มีอยู่ในร่างกายมันก็จะแยกออกจากร่างกายไป เหลืออยู่แต่ส่วนที่แข็งก็คือดิน ส่วนที่เป็นไฟก็ออกไปตั้งแต่ร่างกายหยุดหายใจ ร่างกายคนตายนี้จะเย็นกว่าร่างกายคนเป็น เพราะธาตุไฟไม่มีอยู่ในร่างกาย ลมก็ระเหยออกมาเป็นกลิ่นนะ กลิ่นที่ระเหยออกมามาทางร่างกายก็เป็นธาตุลม ต่อไปธาตุลมก็หายไปหมดกลิ่นก็หายไปหมด น้ำก็หายไปหมดเหลืออยู่ก็เป็นร่างที่มีหนังมีอะไรที่แห้งกรอบ หุ้มห่อกระดูกหรืออาจจะผุไปเหลือแต่โครงกระดูก เหลือโครงกระดูก ต่อไปก็ผุเปื่อยกลายเป็นดินไป

นี่คือการพิจารณาธรรมะของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับว่าทำไมจึงต้องมาทุกข์กับร่างกายกันนักหนา ก็เลยทรงเห็นว่าเพราะว่าเกิดจากอวิชชาความหลง ความเห็นผิดเป็นชอบ ความไปเห็นว่าจิตผู้มาครอบครองร่างกายนี้เป็นร่างกาย แล้วก็ความอยากที่จะใช้ร่างกายนี้หาความสุขต่างๆ จึงทำให้อยากให้ร่างกายนี้อยู่ไปแบบไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายนั้นเอง แต่พอไม่สามารถทำตามความอยากได้ก็ทุกข์เท่านั้นเอง เพราะร่างกายเป็นธรรมชาติที่มีการเกิด แล้วก็ต้องมีการแก่มีการเจ็บมีการตายไป ที่ทุกข์เพราะว่าอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เท่านั้นเอง ที่ทุกข์นี่ไม่ใช่ร่างกายทุกข์นะ ที่ทุกข์คือใจ ใจผู้มาครอบครองร่างกาย ผู้อยากให้ร่างกายนี้ไม่มีวันแก่ไม่มีวันเจ็บไม่มีวันตาย แต่ความจริงมันเป็นไปไม่ได้ พอเจอความแก่ความเจ็บความตายก็เลยทุกข์กัน แต่ถ้ามองเห็นความจริงว่าผู้ที่แก่ผู้ที่เจ็บผู้ที่ตายนี้ไม่ใช่ผู้ที่ทุกข์ ผู้ที่ทุกข์คือใจ ทุกข์เพราะอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย และวิธีที่จะทำให้ไม่อยากกับร่างกายก็คือ ต้องอย่าไปใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็ต้องมาละ “กามตัณหา” ด้วย ความอยากที่จะหาความสุข เมื่อมีความสงบที่เกิดจากสมาธิก็จะมีความสุขที่ดีกว่า ความสุขที่ได้จากการเสพกาม ก็สามารถเลิกได้เพราะว่าเห็นว่าการเสพกามนี้มันเป็นทุกข์ เพราะต้องมีร่างกาย พอร่างกายแก่ร่างกายเจ็บร่างกายตายก็จะเสพกามไม่ได้ก็จะทุกข์ ก็เลยมาเสพความสงบดีกว่า มาเสพความสงบที่ได้จากสมาธิดีกว่า ก็เลิกเสพกามได้ ตัดกามตัณหา ตัดภวตัณหา วิภวตัณหาได้ เพราะรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เหมือนกับร่างกายของคนอื่นนี้เรามักจะไม่ทุกข์ คนที่เราไม่รู้จักนี้เขาจะแก่จะเจ็บจะตายนี่เรารู้สึกเฉยๆ เห็นคนแก่ที่เราไม่รู้จักเราก็เฉยๆ เห็นคนเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆ เราก็เฉยๆ เห็นคนตายเราก็เฉยๆ เพราะเราไม่ได้ถือว่าเขาเป็นเรานั่นเอง แต่ถ้าเราไปถือว่าเขาเป็นของเรา เราก็ทุกข์ขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าไม่ใช่เป็นเราแต่เป็นของเรา เช่น ร่างกายของพ่อเราแม่เราของลูกเราสามีเราภรรยาเรา พอเราไปถือว่าอะไรเป็นของเราขึ้นมา มันก็จะทำให้เราทุกข์ทันที พออะไรเป็นของเรา เราก็ไม่อยากให้เขาจากเราไปนั่นเอง เราไม่อยากให้เขาเจ็บไม่อยากให้เขาตาย

ดังนั้น พระองค์ก็เลยสรุปเห็นว่าความทุกข์ของใจนี้เกิดจากความหลง คือความไม่รู้ความจริงว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่รู้ความจริงว่าร่างกายนี้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา หรือไม่ยอมรับความจริงอันนี้ แล้วก็ไม่รู้ว่าความทุกข์ของใจนี้เกิดจากความอยาก พระองค์ทรงตรัสรู้ “อริยสัจ ๔” รู้ว่าความทุกข์ของใจนี้เกิดจากความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย เกิดจากความอยากที่จะใช้ร่างกายหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เกิดจากความอยากให้ใช้ร่างกายนี้ไปหาสิ่งต่างๆ ในโลกนี้มาเป็นสมบัติ หาลาภหายศหาสรรเสริญมาให้ความสุขกับใจ นี่คือการค้นพบความจริงของพระพุทธเจ้า พอทรงเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่พระองค์ พระองค์ก็เลยไม่ทุกข์กับมัน ทรงเห็นว่ามันต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ห้ามไม่ได้ ทรงเห็นว่าถ้าอยู่ในโลกนี้ก็ต้องเจอกับสิ่งที่เราชอบ และเจอกับสิ่งที่เราไม่ชอบ แล้วก็ต้องพลัดพรากจากกัน เจอสิ่งที่ชอบแล้วเดี๋ยวไม่ช้าก็เร็วก็ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบไป เจอสิ่งที่ไม่ชอบก็ต้องมีการพลัดพรากเหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” นี่คือการใช้ปัญญาของพระพุทธเจ้า ค้นคว้าหาสาเหตุว่าทำไมใจจึงต้องทุกข์กับร่างกาย ทำไมต้องทุกข์กับเหตุการณ์ต่างๆ ก็เพราะความหลง ความหลงที่คิดว่าเป็นร่างกาย และความหลงที่อยากจะให้สิ่งต่างๆ ที่พบนี้ให้แต่ความสุขกับตน แต่ความจริงไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะให้ความสุขกับใจได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนไป มีทั้งดีมีทั้งไม่ดีปะปนกันไป พระองค์ก็เลยทรงทำใจเฉยๆ ไม่หวังอะไรจากสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ต้องการอะไรจากสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ต้องการให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย พอพระองค์ทำใจเฉยได้ ละความอยากความโลภความโกรธความหลงได้ ใจก็ไม่ทุกข์กับอะไรอีกต่อไป


ธรรมะบนเขา
วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.507 วินาที กับ 30 คำสั่ง

Google visited last this page 31 ตุลาคม 2567 16:27:25