การจับผิดผู้อื่น เรียกอีกอย่างว่า “การเพ่งโทษ”“เพ่ง” ตามพจนานุกรม (เปลื้อง ณ นคร) ให้ความหมายไว้ว่า
จ้องดู, มองดู, ตั้งใจจ้องดู; เจาะจง, หมายเอา.
ดังนั้นเพ่งโทษจึงมีความหมายว่า ตั้งใจมองดูโทษ,
หมายเอาโทษ ก็คือตั้งใจดูเพื่อจะจับผิดนั่นเอง !
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสถึง
การเพ่งโทษไว้ในพลสูตรที่ ๑ ซึ่งกล่าวถึง "
กำลัง ๘ ประการ” ดังนี้
“…ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ทารกทั้งหลายมีการร้องไห้เป็นกำลัง ๑
มาตุคามทั้งหลายมีความโกรธเป็นกำลัง ๑
โจรทั้งหลายมีอาวุธเป็นกำลัง ๑
พระราชาทั้งหลายมีอิสริยะยศเป็นกำลัง ๑
คนพาลทั้งหลายมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ๑
บัณฑิตทั้งหลายการเพ่งโทษตนเป็นกำลัง ๑
พหุสุตบุคคลทั้งหลายมีการพิจารณาเป็นกำลัง ๑
สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีขันติเป็นกำลัง ๑
(พระสุตตันตปิฎก
เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
สมเด็จพระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ผู้ที่เพ่งโทษผู้อื่น
ห่างไกลจาก
ความสิ้นอาสวะดังนี้
"คนที่เห็นแต่โทษผู้อื่น คอยแต่เพ่งโทษนั้น
อาสวะก็เพิ่มพูน เขายังไกลจากความสิ้นอาสวะ"
ขุ. ธ. ๒๕/๔๙ทรงตรัสอุปมาอุปไมยโทษของการ เป็นผู้เพ่งโทษไว้ ดังนี้ ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ พระยสทัตตเถระได้เกิด อยู่ในตระกูลพราหมณ์ออกบวช เป็นฤาษี อยู่ในป่าบำเพ็ญเพียร
วันหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งบุญเก่า ฤาษีนี้ก็ได้พบกับพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ผู้ซึ่งสูงสุด กว่าสัตว์โลกทั้งปวง ได้บังเกิดจิตเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ถึงกับวางสิ่งของในมือ ทำผ้าเฉวียงบ่าแสดงความ-เคารพ แล้วน้อมประคองอัญชลี กล่าวสรรเสริญ ชมเชยพระพุทธเจ้า… ด้วยอำนาจแห่งการ เคารพในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จึงได้ท่องเที่ยวไป ในเทวโลก (โลกของผู้มีจิตใจสูง) และมนุษยโลก (โลกของผู้มีจิตใจประเสริฐ) อยู่นาน
ต่อมา ไปเกิดในยุคสมัยพระพุทธเจ้าสมณโคดม เกิดอยู่ในตระกูลมัลลกษัตริย์ ชอบสัญจรเที่ยวไปเป็นเพื่อนกับปริชาพกผู้หนึ่งชื่อ “สภิยะ”
วันหนึ่ง ได้มีโอกาสพบกับพระผู้มีพระภาคเจ้าในเมืองสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแก้ปัญหา ที่สภิยปริพาชกถาม ขณะนั้นเอง ยสทัตตะก็นั่งฟังไป เพ่งโทษไป อดคิดในใจไม่ได้ว่า
"
เราจะแสดงโทษในวาทะของพระสมณโคดม"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้สภาวะจิตของเขา ครั้นได้ประทานโอวาท แก้ปัญหาให้ สภิยปริพาชก สิ้นสงสัยแล้ว จึงได้หันไปตรัสกับ ยสทัตตะว่า
***"คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดเพ่งโทษ ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมเป็นผู้ห่างไกล จากสัทธรรม (ธรรมะที่ดีแท้ของผู้มีสัมมาทิฐิ) เสมือนฟ้ากับดิน ฉะนั้น
*** คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดเพ่งโทษ ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมเสื่อม จากสัทธรรม เสมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น
*** คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดเพ่งโทษ ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมเหี่ยวแห้ง ในสัทธรรม เสมือนปลาในน้ำน้อย ฉะนั้น
*** คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดเพ่งโทษ ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมไม่งอกงาม ในสัทธรรม เสมือนพืชเน่าในไร่นา ฉะนั้น
*** ส่วนผู้ใดมีจิตอันคุ้มครองดีแล้ว ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมทำอาสวะทั้งปวง ให้สิ้นไปได้ โดยรู้แจ้งธรรมอันทำให้กิเลสไม่กลับกำเริบได้อีก สามารถบรรลุความสงบ อันยอดเยี่ยม เป็นผู้ทำกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้วปรินิพพานจบโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยสทัตตะได้สติรู้ตัว บังเกิดความสังเวช ในความคิดของตน และเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งขึ้น จึงขอบวชเป็นภิกษุ อยู่ในพระพุทธศาสนา แล้วกระทำความเพียรยิ่ง เจริญวิปัสสนา ไม่นานนักก็ได้บรรลุเป็น พระอรหันต์องค์หนึ่ง