ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)
ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) คือ ถุงน้ำในรังไข่ประเภทหนึ่งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เมื่อถึงเวลาเป็นประจำเดือนจะทำให้มีเลือดสะสมและตกค้างก่อตัวเป็นซีสต์ โดยมีของเหลวลักษณะเหนียวข้นคล้ายช็อคโกแลตอยู่ภายใน ทางการแพทย์จึงเรียกอีกชื่อว่า ถุงน้ำช็อกโกแลต และยังจัดเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ (Endometriosis) เช่นกัน
อาการของช็อกโกแลตซีสต์ช็อกโกแลตซีสต์ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและไม่ค่อยเป็นอันตราย ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการมากน้อยไม่เท่ากัน เริ่มตั้งแต่ไม่มีความผิดปกติใด ๆ แสดงอาการเพียงเล็กน้อย หรือรุนแรง ซึ่งอาการที่พบบ่อย เช่น
(:LOVE:)ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง โดยจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงมีรอบเดือน
(:LOVE:)ปวดประจำเดือนมาก ซึ่งมักจะเริ่มปวดก่อนประจำเดือนมา 2-3 วันไปจนหมดรอบเดือน ซึ่งจะต่างกับการปวดประจำเดือนปกติที่มักปวดในช่วงวันแรก ๆ และไม่รุนแรง
(:LOVE:)มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด หรืออาการอื่น ๆ คล้ายกับช่วงมีประจำเดือน
(:LOVE:)รู้สึกเจ็บและปวดบริเวณช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการอาจคงอยู่หลังมีเพศสัมพันธ์ไปอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง
(:LOVE:)มีบุตรยาก
(:LOVE:)บางรายอาจมีอาการปวดขณะถ่ายอุจจาระหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานมากขณะปัสสาวะ
สาเหตุของช็อกโกแลตซีสต์ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจาก ประจำเดือนไหลย้อนกลับไปในรังไข่ (Retrograde Menstruation) เพราะในสภาวะปกติของแต่ละเดือนจะมีการสร้างเยื่อบุขึ้นในมดลูก เพื่อรองรับไข่ที่จะมาฝังตัว แต่เมื่อไม่มีการฝังตัวก็จะทำให้เยื่อบุที่ถูกสร้างขึ้นหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนทางช่องคลอด แต่ในกรณีของการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ การบีบตัวของมดลูกบางจังหวะทำให้ประจำเดือนไหลย้อนไปทางปลายท่อนำไข่แทนที่จะไหลลงข้างล่างทางช่องคลอดเพียงทางเดียว จึงทำให้เซลล์เยื่อบุมดลูกไปฝังตัวและเจริญเติบโตในรังไข่จนเกิดเป็นถุงน้ำขึ้น เมื่อเป็นประจำเดือน ถุงน้ำดังกล่าวก็จะมีเลือดออกในถุงเหมือนเยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัว ถุงน้ำจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีลักษณะเป็นเลือดเก่า ๆ อยู่ภายใน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายข้อสันนิษฐานที่พยายามอธิบายสาเหตุการเกิดของช็อกโกแลตซีสต์ เช่น เยื่อบุช่องท้องเกิดการระคายเคือง (Transformation Of Peritoneal Cells) จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือระบบภูมิคุ้มกัน การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน (Embryonic Cell Transformation) จากอิทธิพลของฮอร์โมน แผลหลังผ่าตัด (Surgical Scar Implantation) หรือ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System Disorder)
ทั้งนี้ ยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่พัฒนาให้เกิดช็อกโกแลตซีสต์ขึ้นในบุคคลบางกลุ่มได้ง่าย โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 25-40 ปี มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ ไม่เคยมีบุตรมาก่อน หรือมีรอบเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมามากและมีระยะเวลานานกว่าปกติ รอบเดือนสั้น เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย
การวินิจฉัยช็อกโกแลตซีสต์ แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับตัวโรค อาการของผู้ป่วยตั้งแต่ปวดในลักษณะไหน บริเวณที่มีอาการปวด เกิดขึ้นเมื่อไร หรือประวัติการปวดประจำเดือนและการมีเพศสัมพันธ์ จากนั้นจะมีการตรวจสุขภาพทั่วไป ซึ่งการตรวจหลัก ๆ ที่ใช้ประกอบการวินิจฉัยควบคู่กับข้อมูลที่สอบถามผู้ป่วยจะแบ่งออกเป็น
การตรวจภายใน เป็นการตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกราน อวัยวะเพศ และทวารหนัก ทำให้แพทย์สามารถตรวจดูว่ามีเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่หรือไม่ หรือมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มีก้อนบริเวณมดลูกและรังไข่เกิดขึ้นไม่ แต่ในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดเล็กมากก็อาจมีโอกาสตรวจไม่พบได้เช่นกัน
การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจวิเคราะห์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปภายในช่องท้องหรือสอดอุปกรณ์สำหรับการตรวจอัลตราซาวด์เข้าไปทางช่องคลอด เพื่อตรวจดูอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งสามารถตรวจพบก้อนขนาดเล็ก แต่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างละเอียด เช่น การเกิดพังผืด
การส่องกล้อง (Laparoscopic) เมื่อการตรวจในข้างต้นให้ข้อมูลไม่เพียงที่จะสรุป แพทย์อาจมีการส่องกล้องตรวจดูความผิดปกติภายในช่องท้อง ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยวินิจฉัยได้แม่นยำมากที่สุด โดยเริ่มจาก
การให้ยาชาเฉพาะที่ จากนั้นจึงเปิดแผลขนาดเล็กใต้สะดือและสอดกล้องพิเศษลงไปตรวจดูภายใน ทำให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน สามารถระบุตำแหน่งและขนาดของถุงน้ำที่ตรวจพบ เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
การรักษาช็อกโกแลตซีสต์แนวทางในการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาและการผ่าตัด โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและความประสงค์ในการมีบุตรของผู้ป่วย
การรักษาโดยการใช้ยา จะแบ่งตัวยาออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่
ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) หรือเรียกแบบย่อว่า ยาเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องน้อยหรือปวดระหว่างมีรอบเดือนที่ไม่รุนแรง ตัวอย่างยาที่นิยมใช้ เช่น ยาไอบรูโปรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)
ยาฮอร์โมนเพศหญิง (Hormone Therapy) ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดมากและไม่ได้วางแผนตั้งครรภ์ในระยะอันใกล้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิง เพราะการเพิ่มหรือลดของฮอร์โมนในช่วงรอบเดือนอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเยื่อบุมดลูก โดยตัวยาจะช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ให้ช้าลงและป้องกันการฝังตัวใหม่ของเซลล์เยื่อบุมดลูก ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือนตามแต่ละบุคคล แต่ในบางรายอาจพบอาการได้ใหม่หลังหยุดใช้ยา ตัวอย่างยาที่ใช้บ่อย เช่น ยาคุมกำเนิดรูปแบบต่าง ๆ ยากลุ่มฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง (Gonadotropin Releasing Hormone: GnRH) ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progestin Therapy) ยาดานาซอล (Danazol)
การผ่าตัด เมื่อการรักษาด้วยยาไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น ผู้ป่วยยังคงมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เนื่องจากถุงน้ำมีขนาดใหญ่จนอาจกระทบกับอวัยวะอื่น แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัด เพื่อนำเซลล์เยื่อบุออกจากรังไข่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องมากกว่าการผ่าตัดทางหน้าท้อง เนื่องจากรอยแผลมีขนาดเล็ก ใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อย และยังสามารถมีบุตรได้ในอนาคต ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ออกทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะหมดระดูหรือหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ และต้องมีการใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) เข้ามาช่วยเสริม
ภาวะแทรกซ้อนของช็อกโกแลตซีสต์ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องเรื้อรัง บางรายอาจเกิดถุงน้ำแตกหรือฉีกขาด จึงต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน รวมไปถึงมีบุตรยาก เนื่องจากถุงน้ำอาจไปขวางไข่ไม่ให้ไปฝังตัวที่โพรงมดลูกได้อย่างสมบูรณ์
การป้องกันช็อกโกแลตซีสต์ ช็อกโกแลตซีสต์ไม่สามารป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน เช่น ห่วงคุมกำเนิด ยาเม็ดหรือแผ่นแปะคุมกำเนิด อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ให้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อพบความผิดปกติใด ๆ ควรไปพบแพทย์
ที่มา
https://www.pobpad.com