เทพีคู่หาบเงิน–หาบทอง ดอกไม้งามในวันพืชมงคล
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 9 พฤษภาคม 2553 19:03 น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000063853 การทำเกษตรกรรมถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ฐานรากของประเทศก็เติบโตอยู่บนดินและน้ำอันอุดมอยู่นั่นเอง
ดังนั้น ประเทศไทยของเรา จึงมีวันสำคัญวันหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสิริมงคลแด่พืชพันธ์ธัญญาหาร บำรุงขวัญเกษตรกรซึ่งสืบทอดมาแต่ครั้งโบราณ ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง 'วันพืชมงคล'
วันพืชมงคลนั้น ประกอบด้วย 2 พระราชพิธีคือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งในแต่ละปี พิธีนี้จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ส่วนวันนั้น สำนักพระราชวังจะเป็นผู้กำหนดและประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ซึ่งในปีนี้วันพืชมงคลตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคมที่กำลังจะมาถึง
และเมื่อพูดถึงวันพืชมงคลแล้ว นอกจากการทำพิธีที่ท้องสนามหลวง, พระยาแรกนา และพระโคแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นที่สนอกสนใจของประชาชนในแต่ละปีก็คือ เทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทองนั่นเอง
จากท่านท้าวฝ่ายใน ถึงสาวกระทรวงเกษตรฯ
“เท่าที่ผมเคยศึกษาค้นคว้ามา พอจะจำได้ว่า เมื่อก่อนนี้ เทพีแบกคานหาบในพิธีพืชมงคลไม่ใช่สาวๆ แต่เป็นคุณท้าว เป็นนางในของราชสำนักที่อายุก็คงจะไม่ใช่อยู่ในวัยที่เรียกว่า 'สาวๆ' แล้ว แต่ไม่ว่าเมื่อก่อนหรือทุกวันนี้ ผมก็มีความเห็นว่า เทพีในพิธีพืชมงคลคงไม่ได้เน้นถึงความสวยงามนัก สิ่งที่ให้ความสำคัญมากกว่าก็คงเป็นตำแหน่งหน้าที่หรือระดับขั้นในกระทรวงเกษตรฯ ของผู้ที่จะมาเป็นเทพี ซึ่งคงจะคัดเลือกกันโดยเน้นที่ข้าราชการระดับสูงขึ้นมาหน่อย เป็นข้าราชการซีสูงๆ”
เป็นคำบอกเล่าจาก สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย นักเขียนผู้ฝากผลงานแนวสารคดี ตำนาน นิทาน และสารานุกรมที่ทรงคุณค่ามากมาย
“พิธีพืชมงคลนี้ ตามประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่ามีมานานแล้ว สืบย้อนไปตั้งแต่สุโขทัยหรือสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็มีพิธีนี้อยู่ สืบมากระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีพระยาพลเทพเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งขอบข่ายหน้าที่ของพระยาพลเทพก็เปรียบได้กับเสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ คอยดูแลระบบการงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรือกสวนไร่นา รวมถึงการชลประทาน”
ส.พลายน้อย สะท้อนว่า หัวใจสำคัญของการก่อกำเนิดพระราชพิธีนี้ ย่อมไม่พ้นความเป็นสังคมเกษตรกรรม สังคมกสิกรรม ที่ประชากรส่วนใหญ่ของทั้งประเทศมีอาชีพทำนาทำไร่
“พิธีพืชมงคลมีขึ้นเพื่อเป็นขวัญเป็นกำลังใจของชาวนา ให้มีผลผลิตดี ฝนตกตามต้องการ เป็นเหมือนพิธีสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวไร่ชาวนา เพราะก่อนนี้บ้านเมืองเราทำการเกษตรเป็นหลัก”
แล้วทำไมพิธีพืชมงคลในครั้งเก่าก่อน จึงมีคุณท้าวนางในทั้งหลายมารับหน้าที่เป็น 'เทพี' แบกคานหาม ส.พลายน้อย ตอบว่า
“เมื่อก่อนนั้นพระมหากษัตริย์ทรงประกอบพิธีเป็นพระยาแรกนา ทรงเป็นผู้ไถหว่านด้วยพระองค์เอง ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ไถหว่าน การจะให้ผู้หญิงอื่นมาเป็นเทพีก็คงไม่เหมาะไม่ควร หน้าที่ดังกล่าวจึงตกอยู่แก่บรรดาคุณท้าวนางใน เพื่อให้สมพระเกียรติ เป็นการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ในยุคต่อๆ มา เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงประกอบพิธีนี้ด้วยพระองค์เองแล้ว ผู้ที่มาเป็นพระยาแรกนาก็คือปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพราะฉะนั้น ตำแหน่งเทพีก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคุณท้าวเหมือนเมื่อก่อน แต่ตกเป็นหน้าที่ของข้าราชการผู้หญิงในกระทรวงเกษตรฯ”
ครั้นถามว่า เทพีผู้แบกคานหามมีความสำคัญมากน้อยเพียงใดในพระราชพิธีพืชมงคล คำตอบของ ส.พลายน้อย คือ
“ผมคิดว่าไม่สำคัญนัก เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในพิธีนี้คือเมล็ดข้าว ผมทราบมาว่ามีการสำรวจเรื่อยมาทุกๆ ปี พบว่าทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นพิธีพืชมงคล หลังจากพระยาแรกนาหว่านเมล็ดข้าว ซึ่งเป็นเมล็ดที่ผ่านการทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว เมล็ดข้าวเหล่านั้นหมดเกลี้ยงไม่มีเหลืออยู่บนพื้นแม้แต่เมล็ดเดียว เพราะประชาชนที่เขาไปชมพิธีพืชมงคล เขาไปเก็บเมล็ดพันธุ์ศักดิ์สิทธิ์นี้ เพื่อเป็นขวัญ เป็นกำลังใจ เป็นสิริมงคลในชีวิต”
เส้นทางของเทพี
แต่ถึงแม้ตำแหน่งเทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทอง จะไม่ได้มีความสำคัญไปกว่าเมล็ดข้าวมงคลดังที่ ส.พลายน้อยกล่าว แต่การที่ใครสักคนจะก้าวขึ้นมาเป็นเทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทองนั้น ถือได้ว่าเป็นการได้รับเกียรติอย่างสูงในการร่วมในราชพิธีที่สำคัญของชนชาวไทย และการที่จะมารับตำแหน่งนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คิด
นางสาวรุ่งรัชนีย์ อภิศักดิ์มนตรี นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ สังกัดกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าถึงขั้นตอนในการคัดเลือกเทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทองว่า เริ่มจากการทำหนังสือคัดเลือกเทพีฯ ไปที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะมีรายละเอียดการคัดเลือก รวมทั้งรายชื่อของประธานการคัดเลือก 1 คนและคณะกรรมการการคัดเลือก 8 คน ส่วนใหญ่คณะกรรมการการคัดเลือกคือ ผู้ที่เคยทำหน้าที่เทพีคู่หาบและเจ้าหน้าที่ของกองกลาง คือเลขาฯและผู้ช่วยเลขาฯ
ต่อมาจะแจ้งให้เจ้าตัวทราบว่าได้รับคัดเลือกเป็นคณะกรรมการฯ จากนั้นส่งหนังสือไปยังอธิบดีกรมประมงซึ่งทำหน้าที่ประธานการคัดเลือก เพื่อหาวันในการคัดเลือก
ต่อมาหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะคัดเลือกข้าราชการหญิงจำนวน 14 คน แล้วส่งรายชื่อและประวัติของข้าราชการเหล่านั้น เพื่อเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งเทพีคู่หาบเงิน โดยข้าราชการหญิงที่เข้ารับการคัดเลือกต้องถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติคือ เป็นข้าราชการระดับ 3 ขึ้นไป เป็นผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว เป็นโสด เป็นกุลสตรี และมีสุขภาพแข็งแรง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้าราชการหญิงที่ได้รับการคัดเลือกจะเริ่มจากการเป็นเทพีคู่หาบเงินก่อน พอปีถัดมาเทพีคู่หาบเงินทั้งสองคนก็จะเลื่อนไปเป็นเทพีคู่หาบทอง ทำให้แต่ละปีมีการคัดเลือกเทพีคู่หาบเงินเท่านั้น
“ก่อนอื่นก็จะดูประวัติของผู้เข้ารับการคัดเลือก ดูความสูง ดูน้ำหนัก จากนั้นก็พูดคุยคร่าวๆ ว่าจะทำหน้าที่นี้ได้ไหม กระบุงข้าวที่แบกหนักข้างละเกือบ 5 กิโลกรัมเชียวนะ ไหวเหรอ เสร็จจากนั้นก็ให้ข้าราชการหญิงทั้ง 14 คนเข้าแถวเรียงตามลำดับ ให้จับคู่เปรียบเทียบกันทีละคู่ และ 2 คู่ 4 คน โดยจะเปรียบเทียบกับขนาดตัว น้ำหนัก และความสูงของปลัดกระทรวงฯ ซึ่งเป็นพระยาแรกนาในพิธี และเปรียบเทียบกับเทพีคู่หาบทองทั้งสองคน ดูว่าเมื่อมายืนด้วยกันหมด 5 คนดูกลมกลืนกันหรือไม่” นางสาวรุ่งรัชนีย์เล่า
ด่านแรกผ่านไป ด่านต่อมาเป็นการทดสอบพละกำลังในการเดินหาบกระบุงข้าว และความสวยงามอ่อนช้อยในการถอนสายบัว ซึ่งจะมีประธานและคณะกรรมการคัดเลือกคอยให้คะแนนเพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุด ผู้คัดเลือกคนไหนเห็นท่าจะไม่ไหวก็ขอถอนตัวไปได้
“ใช้เวลาคัดเลือกประมาณ 2-3 ชั่วโมง พิจารณาจากสุขภาพด้วยว่าต้องแข็งแรง ร่างกายสมส่วน หน้าตาดูดี ลักษณะการเดินและท่าทางที่ดูเป็นกุลสตรี อายุไม่สำคัญจะอายุน้อยหรืออายุมากก็ให้โอกาสเท่ากันหมด หากทำหน้าที่ตรงนี้ได้นะ”
หลังคณะกรรมการมีมติคคัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่เทพีคู่หาบเงิน พวกเธอและเทพีคู่หาบทอง 2 คน ก็จะต้องฝึกซ้อมทุกวันตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ในเวลาประมาณ 13.30 น.-16.00 น. ซึ่งจะมีรุ่นพี่ที่เคยทำหน้าที่นี้มาแล้วเป็นครูผู้ฝึกซ้อม คอยควบคุมดูแล
สาวที่เคยทำหน้าที่คู่หาบในพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะมาเป็นซ้ำอีกไม่ได้ ส่วนหลังจากพ้นหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว สาวนางใดจะร่วมหอลงโรงกับใครก็สามารถทำได้ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด
หญิงสาวที่ทำหน้าที่เทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทองจะได้รับชุดแต่งกายที่สวมใส่ในวันพิธีฯ และโล่เป็นสิ่งตอบแทนในการทำหน้าที่อันทรงเกียรติ
งามนอก งามใน งามที่ใจ งามที่คุณสมบัติ
จริงอยู่ ที่การคัดเลือกเทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทองนั้น ไม่ใช่การประกวดนางงาม แต่เป็นการคัดสรรคนที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมมาร่วมในพระราชพิธีสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทพีคู่หาบเงินและเทพีคู่หาบทองทั้ง 4 คนนั้น จะมีเรื่องของความสวยความงามเข้ามาเกี่ยวข้อง
“เท่าที่ผมรู้ในปีหนึ่งๆ เขาจะคัดกันแค่ 2 คนเท่านั้น คือจะหาเฉพาะเทพีหาบเงิน ส่วนเทพีหาบทองนั้น เขาจะให้เทพีหาบเงินของปีที่แล้วเลื่อนขึ้นไปเป็นเทพีหาบทองแทน และเนื่องจากเป็นพระราชพิธี ก็เลยต้องเน้นเรื่องประวัติของคนที่จะมาเป็นเทพีหาบเงินหาบทอง มากกว่าเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก คัดจากคุณสมบัติมากกว่ารูปสมบัติ”
หนุ่ม-ประเสริฐ เจิมจุติธรรม ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านความสวยความงาม และคลุกคลีอยู่ในวงการนางงามจนได้รับฉายาว่ากูรูนางงาม กล่าวถึงการคัดเลือกเทพีที่จะเข้ามาหาบกระบุงเงินและกระบุงทอง
“คือนอกจากเขาจะต้องเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความประพฤติดีแล้ว คุณสมบัติสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือต้องเป็นสาวโสด และที่สำคัญเลย จะต้องเป็นคนที่ทุกคนเห็นชอบและยอมรับ แต่เนื่องจากการคัดเลือกเทพีคู่หาบ ไม่ใช่การประกวดนางงาม คนที่จะทำหน้าที่นั้นก็ต้องมีลักษณะแตกต่างออกไป ซึ่งทั้งสี่คนนี้มีความสง่าและน่าเชื่อถือ พอสี่คนนี้มายืนเรียงกัน คนที่เห็นก็จะนึกถึงคุณครูปกครองของโรงเรียนมัธยม มันอาจจะมองเห็นความน่านับถือมากกว่า คือความงามนั้นมันตีความได้หลากหลาย ทั้งสี่ท่านนี้ก็เป็นคนที่สวยด้วยคุณสมบัติและเพียบพร้อมเพียงพอที่จะเข้าร่วมพิธีอันทรงเกียรตินี้”
..............
และในวันที่ 13 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ชาวไทยทั้งประเทศ ก็จะได้มีโอกาสได้เห็นเทพีทั้งสี่ท่าน หาบกระบุงข้าวมงคลที่มีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ท่ามกลางเปลวแดดอันร้อนแรง ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญพร้อมๆ กันทั้งประเทศ
สำหรับในปีนี้ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่เทพีคู่หาบเงิน–หาบทอง ได้แก่
เทพีคู่หาบทอง
1.นางสาวณุทนาถ โคตรพรหม
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย
2.นางสาวสุนีลา รู้สุกิจกุล
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นักวิชาการปฏิรูปที่ดินปฏิบัติการ สำนักบริหารกองทุน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย
เทพีคู่หาบเงิน
1.นางสาวเดือนเพ็ญ ใจคง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กองแผนงานและวิชาการ กรมวิชาการเกษตร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย
2.นางสาวสรชนก วงศ์พรม
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายช่างโยธาชำนาญงาน ฝ่ายโยธา ส่วนวิศวกรรมประมง สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง กรมประมง ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย
************
เรื่อง-ทีมข่าว Click