เรื่องพระวนวาสีติสสเถระพระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระติสสเถระ
ผู้มีปกติอยู่ในป่า ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อยฺญา หิ ลาภูปนิสา เป็นต้น
พระติสสเถระ เป็นบุตรของเศรษฐีในกรุงสาวัตถี บิดาของท่านเคยถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสารีบุตรเถระในบ้านของท่าน พระติสสเถระขณะเป็นเด็กตัวเล็กๆก็ได้มีโอกาสพบกับพระสารีบุตรอยู่หลายครั้ง เมื่อตอนที่ท่านอายุได้ 7 ขวบ ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรโดยมีพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ หลังจากที่ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พวกญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงได้มาหาท่านและได้นำสิ่งของมาถวายท่านเป็นจำนวนมาก สามเณรติสสะเบื่อหน่ายแขกที่มาหาท่านเหล่านี้มาก จึงได้ไปรับพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้วออกไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ที่วัดป่าแห่งหนึ่ง เวลาที่มีชาวบ้านมาถวายสิ่งของใดๆ สามเณรติสสะก็จะกล่าวแต่เพียงว่า “ขอท่านทั้งหลาย จงถึงซึ่งความสุข จงพ้นจากทุกข์” (สุขิตา โหถ, ทุกขา มุจฺจถ) แล้วเดินเลี่ยงไป ขณะที่มาพำนักอยู่ในวัดป่าแห่งนี้ ติสสะสามเณรมีความมุ่งมั่นพยายามปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ในช่วงเข้าพรรษาท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
หลังจากออกพรรษาปวารณาแล้ว พระสารีบุตรเถระพร้อมด้วยพระมหาโมคคัลลานะและภิกษุอาวุโสอื่นๆได้ไปเยี่ยมติสสสามเณร โดยได้รับพุทธานุญาตแล้ว พวกชาวบ้านทั้งหลายได้ออกมาต้อนรับพระสารีบุตรและคณะภิกษุประมาณ 4 หมื่นรูป และได้อาราธนาพระสารีบุตรแสดงธรรมให้ฟัง แต่พระสารีบุตรปฏิเสธที่จะแสดงเอง ได้มอบหมายให้ติสสสามเณรซึ่งเป็นอันเตวาสิกของท่านแสดงแทน พวกชาวบ้านเรียนพระสารีบุตรว่า สามเณรติสสะนี้ได้แต่พูดคำสองประโยคนี้ว่า “ขอท่านทั้งหลาย
จงถึงซึ่งความสุข จงพ้นจากทุกข์” เท่านั้น และได้ขอให้พระเถระได้มอบหมายภิกษุอื่นแสดงธรรมแทน แต่พระเถระยังยืนกรานให้สามเณรเป็นผู้แสดงธรรม และได้บอกกับติสสสามเณรว่า “สามเณร
คนทั้งหลายจะมีความสุขได้อย่างไร ? และจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ? เธอจงกล่าวเนื้อความแห่งบททั้ง 2 นี้แก่เราทั้งหลาย”
จากนั้นติสสสามเณรก็ได้ขึ้นธรรมาสน์ตามคำบัญชาของพระอุปัชฌาย์ แล้วแสดงธรรม โดยท่านได้อธิบายให้ผู้ฟัง
ได้รู้จักความหมายของขันธ์ ธาตุ อายตนะ และโพธิปักขิยธรรม ทางนำไปสู่พระอรหัตตผลและพระนิพพาน ในที่สุดท่านได้กล่าวสรุปว่า “ท่านผู้เจริญ ความสุขย่อมมีแก่บุคคลผู้บรรลุพระอรหัตอย่างนี้ ผู้บรรลุพระอรหัตแล้วนั่นแล ย่อมพ้นจากทุกข์
คนที่เหลือไม่พ้นจากชาติเป็นต้น และจากทุกข์ในนรกเป็นต้นได้”
พระสารีบุตรเถระ ได้กล่าวยกย่องติสสสามเณรว่าแสดงธรรมได้ดี เมื่อพระเถระแสดงธรรมจบลงก็ถึงเวลารุ่งอรุณพอดี ในหมู่ชาวบ้าน บางคนก็เกิดความประหลาดใจเมื่อพบว่าติสสสามเณรแสดงธรรมได้ดี แต่กลับไม่ยอมแสดงธรรมให้พวกเขาฟังได้แต่กล่าวประโยคสั้นๆว่า
ขอท่านทั้งหลายจงถึงซึ่งความสุข จงพ้นจากทุกข์ แต่ชาวบ้านอีกพวกหนึ่งก็มีความชื่นชมในตัวสามเณรมาก ที่ได้พบว่าสามเณรเป็นผู้คงแก่เรียนซึ่งพวกเขามีความโชคคีที่มีสามเณรมาอยู่ด้วยเช่นนี้
พระศาสดาประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน แต่ทรงทอดพระเนตรเห็นพวกชาวบ้านที่แยกกันออกเป็น 2 กลุ่มนั้นด้วยจักษุทิพย์ ทรงต้องการขจัดความเข้าใจผิดของพวกชาวบ้านในกลุ่มแรก จึงได้เสด็จไป ณ ที่นั้นด้วยอิทธิฤทธ์ไปปรากฏพระองค์ในขณะที่พวกชาวบ้านกำลังตระเตรียมอาหารสำหรับพระภิกษุทั้งหลาย พวกชาวบ้านมีความยินดีที่ได้มีโอกาสถวายภัตตาหารแด่พระศาสดา หลังจากสร็จภัตตกิจแล้วพระศาสดาเมื่อจะทรงทำอนุโมทนาจงตรัสว่า “อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย
เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ซึ่งได้เห็นอสีติมหาสาวก คือ สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ เป็นต้น
เพราะอาศัยสามเณรผู้เข้าถึงสกุลของตนๆ แม้เราก็มาแล้ว เพราะอาศัยสามเณรผู้เข้าถึงสกุลท่านทั้งหลายเหมือนกัน แม้การเห็นพระพุทธเจ้า อันท่านทั้งหลายได้แล้ว เพราะอาศัยสามเณรนั่นเอง เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายดีแล้ว” จากพระดำรัสว่าทำให้ชาวบ้านทั้งหลายได้ตระหนักว่าเป็นความโชคดีที่พวกเขามีติสสสามเณรมาอยู่ด้วยเช่นนี้ พวกที่เคยโกรธสามเณรก็ได้หายโกรธ พวกที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็ยิ่งเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น เมื่อเทศนาจบลง ชนเป็นอันมากทั้งภิกษุและชาวบ้านได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
หลังจากแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว พระศาสดาได้เสด็จกลับไปที่วัดพระเชตวัน ในตอนเย็นภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันในโรงธรรม กล่าวยกย่องติสสสามเณรว่า “ติสสสามเณร
ทำกรรมที่บุคคลทำได้ยาก จำเดิมแต่ถือปฏิสนธิ พวกญาติของเธอ ได้ถวายข้าวปายาสมีน้ำน้อยแก่ภิกษุประมาณ 500 ในมงคล 7 ครั้ง ในเวลาบวชแล้ว ก็ได้ถวายข้าวปายาสมีน้ำน้อยเหมือนกัน แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในวิหารสิ้น 7 วัน ครั้นบวชแล้ว ในวันที่ 8 เข้าไปสู่บ้าน ได้บิณฑบาตพันหนึ่งกับผ่าสาฎกพันหนึ่ง โดย 2 วันเท่านั้น วันรุ่งขึ้น ได้ผ้ากัมพลพันผืน ในเวลาอยู่ในที่นี้ ลาภและสักการะมากมาย
ก็เกิดขึ้นแล้วเหมือนกัน บัดนี้เธอทิ้งลาภและสักการะมากมายเช่นนี้ แล้วเข้าไปสู่ป่า ดำเนินชีวิตด้วยอาหารที่เจือกัน”
พระศาสดาเมื่อทราบหัวข้อสนทนาของภิกษุเหล่านั้นแล้วได้ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในหมู่บ้าน
ไม่พึงอยู่เพราะต้องการลาภและสักการะ หากภิกษุสละลาภและสักการะแล้ว มีความมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมในที่สงัดในป่า ก็จะบรรลุพระอรหัตตผลได้อย่างแน่นอน”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส
พระธรรมบท พระคาถาที่ 75 ว่าอญฺญา หิ ลาภูปนิสา
อญฺญา นิพฺพานคามินี
เอวเมตํ อภิญฺญาย
ภิกฺขุ พุทฺธสฺส สาวโก
สกฺการํ นาภินนฺเทยฺย
วิเวกมนุพฺรูหเยฯ
(อ่านว่า)
อันยา หิ ลาพูปะนิสา
อันยา นิบพานะคามินี
เอวะเมตัง อะพินยายะ
พิกขุ พุดทัสสะ สาวะโก
สักการัง นาพินันเทยยะ
วิเวกะมะนุพรูหะเย.
(แปลว่า)
ข้อปฏิบัติอันจะนำไปสู่ลาภเป็นอย่างหนึ่ง
ทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่พระนิพพานเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ทราบเนื้อความนั้นอย่างนี้แล้ว
ไม่พึงเพลิดเพลินลาภสักการะ
แต่พึงตามเจริญวิเวก.เมื่อพระสัทธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุพระอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผลเป็นต้น.
one mind :
http://agaligohome.com/index.php?topic=4612.0