[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
23 พฤศจิกายน 2567 17:28:38 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ความเชื่อเรื่อง เวทมนตร์คาถา ในสมัยอยุธยา นิยมทั้งราษฎรไปจนถึงราชสำนัก  (อ่าน 858 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7871


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 92.0.4515.131 Chrome 92.0.4515.131


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 07 สิงหาคม 2564 10:46:05 »


     ความเชื่อเรื่อง “เวทมนตร์คาถา” ในสมัยอยุธยา
          นิยมทั้งราษฎรไปจนถึงราชสำนัก


    
         ภาพวาดอยุธยา โดย Johann Christoph Haffner ราว ค.ศ. 1700


นอกจากความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลัง และโชคลางแล้ว “เวทมนตร์คาถา” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งในแขนงแห่ง “ไสยศาสตร์”
โดยเวทมนตร์คาถาเป็นถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกขึ้นสำหรับบริกรรมเสกเป่าตามวิธีที่กำหนด อาจใช้เพื่อป้องกันตัว ใช้ทำร้ายผู้อื่น
ใช้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ใช้รักษาโรคภัย ใช้ป้องกันภูติผี หรือใช้ทำเสน่ห์ ฯลฯ

ในราชสำนักอยุธยา เวทมนตร์คาถาเป็นสิ่งสำคัญในพิธีกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับฟ้าฝน ดังในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา เกิดภาวะฝนแล้ง
ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผล เชื่อกันว่าเทวดาเบื้องบนเป็นต้นเหตุให้เกิดฝนแล้ง สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงทรงแก้ไขด้วยการรับสั่ง
ให้พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ 2 องค์ ประกอบพิธีกรรมแก้ไข ดังปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า


อ้างถึง


    “บัดนี้เกิดภัยคือฝนแล้ง ราษฎรพากันอดอยาก ท่านอาจารย์ทั้ง 2 จะคิดประการใด จึงจะให้ฝนตกได้
          พระอาจารย์ทั้ง 2 ก็อาสาว่า ถึงวันนั้นคืนนั้นจะทำให้ฝนตกให้ได้ แล้วพระอาจารย์ทั้ง 2 ก็ไม่กลับไปยังพระอาราม
               อาศัยอยู่ในพระราชวังตั้งบริกรรมทางอาโปกสิณ และเจริญพระพุทธมนต์ขอฝนด้วยอำนาจสมาธิและพระพุทธมนต์
     ของพระผู้เป็นเจ้าทั้ง 2 นั้น พอถึงกำหนดวันสัญญา ก็เกิดมหาเมฆตั้งขึ้นทั้ง 8 ทิศ ฝนตกลงมาเป็นอันมาก”





    
         ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพวาดทิวทัศน์บริเวณ วัดพนัญเชิง อยุธยา จากรูปถ่าย วาดโดย M.Therond


เวทมนตร์คาถายังถูกนำมาใช้แก้หรือรักษาโรคร้ายต่าง ๆ เช่น เมื่อถูกผีเข้า หรือถูกคุณไสย ก็จำเป็นต้องแก้ไขด้วยเวทมนตร์ ด้วยการใช้หวายหวด
โดยหวายนั้นต้องเสกเวทมนตร์คาถากำกับจึงจะได้ผล ดังที่ ลา ลูแบร์ บันทึกไว้ ความว่า

“ชาวสยามเป็นโรคคลั่งเพ้อบางอย่างเรียกผีเข้า อาการโรคที่เป็นนั้น บางทีก็พิลึกมาก เชื่อกันว่าเป็นด้วยถูกเวทมนตร์คุณไสย…เป็นอำนาจปีศาจแผลงฤทธิ์คือผีเข้า
จำต้องแก้ทางขับผี จึงรักษาคนไข้ด้วยใช้หวดด้วยหวายอาคมลงคุณพระ หรือไปหาคนดีมีวิชา…”

เมื่อเวทมนตร์คาถาถูกนำมาใช้ในด้านดี เพื่อช่วยเหลือ แก้ไข หรืออำนวยสิ่งต่าง ๆ ให้เจริญขึ้นได้ฉันใด เวทมนตร์คาถาย่อมต้องถูกนำมาใช้ในด้านร้ายฉันนั้น
หรือที่มักจะเรียกกันว่า “มนตร์ดำ” หรือ “คาถาดำ” นั่นเอง ซึ่งปรากฏให้เห็นว่ามีการนำเวทมนตร์คาถามาใช้ในด้านร้าย พบเห็นตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป
ไปจนถึงในราชสำนัก

ดังในสมัยของสมเด็จพระยอดฟ้า ปรากฏมีการใช้เวทมนตร์คาถาโดย “หมอผี” ในแผนการลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
ดังปรากฏในพงศาวดาร ฉบับ วัน วลิต ความว่า “…พระสนมได้สมรู้ร่วมคิดกับหมอผี ใช้เวทมนตร์สะกดพระเจ้าแผ่นดินและลอบปลงพระชนม์
ทุกวันพระสนมจะนำหมอผีไปยังห้องพระบรรทมและขออยู่ลำพังกับพระเจ้าแผ่นดิน…และเมื่อหมอผีได้ใช้เวทมนตร์คาถาสะกดพระเจ้าแผ่นดินได้แล้ว
พระสนมก็นำยาพิษมาถวาย…”

ซึ่งหมอผีในที่นี้ก็คือ ขุนวรวงศาธิราช โดย เยเรเมียส วัน วลิต อธิบายว่า “หมอผีก็อาศัยอยู่ในวังนั่นเอง และด้วยความช่วยเหลือของพระสนม
ก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระขุนชินราช ซึ่งขัดกับความประสงค์ของขุนนางและประชาชนทั้งปวง…”


    
         ซากโบราณสถานวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภายในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา


ด้านนอกวังนั้นเล่า มนตร์ดำก็ถูกนำมาใช้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากพระไอยการลักษณะเบ็ดเสร็จ ก็มีการใช้เวทมนตร์คาถาอย่างแพร่หลาย จึงต้องมีกฎหมายควบคุม
และกำหนดบทลงโทษผู้นำมนตร์ดำมาใช้ทำลายชีวิตหรือทรัพย์สินของคนในสมัยนั้นด้วยวิธีที่รุนแรง ดังเช่น

มาตรา 163 “ผู้ใดใส่ง้วนยาให้ท่านกิน ท่านเหงาเงื่องจะตายแล แก้รอดก็ดี อนึ่งผู้รู้กระทำให้ท่านปวดหัวมัวตาลำบากด้วยประการใด ๆ ก็ดี ท่านจับได้
ให้เอาตัวมันผู้นั้นมาง้วนยามาให้ท่านกินแลผู้กระทำท่านั้น ขึ้นขาหย่างประจารแล้วปลงลงทวนด้วยลวดหนัง 60 ที แล้วให้ไหมปลูกตัว
เปนสินไหม พิไนย กึ่งแล้วส่งตัวจำไว้ ณ คุก โดยยถากำม ถ้าทำท่านตายให้ฆ่ามันเสีย”

มารตรา 165 “ผู้ใดให้ยาแก่ลูกท่านกินเปนบ้า ให้มันรักษาลูกท่าน ถ้ามันรักษาหายให้ทวนมันนั้น 30 ที ถ้ามันรักษามิหาย ให้ไหมปลูกตัวแล้วทวน 60 ที
เอาขึ้นขาหย่างประจารแล้วจำไว ณ คุก”

มาตรา 168 “หญิงก็ดีชายก็ดีเปนชู้เมียกัน หญิงจะใคร่ให้ชายนั้นรัก ให้แม่มดพ่อหมอกระทำมนตร์ดนมกรูด ส้มป่อย สรรพการ เสน่ห์ ดั่งนั้น ท่านว่า
หญิงทำแต่จะให้ชายรัก ชายทำแต่จะให้หญิงรัก หวังจะให้เปนประโยชน์ จำเริญแก่ตัวสืบไป แม้น ชาย หญิง ก็ดี เคราะห์ร้ายหากไข้เจ็บตาย
จะใส่โทษแม่มดพ่อหมอนั้น มิได้เลย เปนกำมแก่ผู้ตายนั้น เทวดายังรู้จุติมนุษหฤๅจะอยู่ได้”

มาตรา 169 “ผู้ใดจะให้ผู้อื่นพิศวงงงงวยในตนแลปรกอบ กฤตยาคุณเปนยาแฝดด้วยสิ่งใด ๆ ให้ท่านกินก็ดี แลปั้นรูปฝังด้วยวิทยาคุณประการใด ๆ ก็ดี
พิจารณาเปนสัจ ให้ทวน 60 ที เอาขึ้นขาหย่างประจารแล้วทะเวนบก 3 เรือ 3 วัน แล้วฆ่ามันเสีย ถ้าทำให้ชู้ผัวมันกิน รู้ด้วยประการใด ๆ พิจารณาเปนสัต
ให้ลงโทษดุจเดียวแล้วส่งตัวให้ชายผัวตามแต่ใจมัน”

นอกจากนี้ ในกฎมณเฑียรบาล ก็มีการกล่าวถึงเวทมนตร์คาถา ในมาตรา 69 ความว่า “อนึ่งผู้ใดทำลูกกุญแจเรียนมนตร์คุณวุธิวิทยาคมเสดาะประตูวัง
แลเปิดโขลนทวารเข้าไปในพระราชมณเฑียรสถาน ลักภาสาวใช้กำนัลแลลักพระราชทรัพย ให้ลงโทษโดยมหันตโทษแล้วให้ฆ่าเสีย ถ้าทรงพระกรรุณาบให้ฆ่าเสียไซ้
ให้ลงโทษ 5 สถาน โดยพระราชอาชาท่านกล่าวไว้”

ดังนั้น มนตร์ดำเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำเสน่ห์ และการทำให้ผู้ที่เป็นศัตรูของตนล้มป่วยเจ็บไข หรือถึงขั้นมีอันเป็นไปเสียชีวิต

ในเรื่องการนำเวทมนตร์คาถามาใช้เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารนั้น กระทำไปเพื่อเป็นการข่มขวัญข้าศึกศัตรู หรือเพื่อแสดงบุญบารมีของกษัตริย์ เช่น

ในคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อยุธยาตีเมืองเชียงใหม่ พระยาสีหราชเดโชแม่ทัพฝ่ายอยุธยาใช้เวทมนตร์คาถา
ล่องหนหายตัวได้ ความว่า “พระยาสีหราชเดโชเห็นลาว [แต่ก่อนเรียกคนในภาคเหนือว่าลาว] นิ่งอยู่ไม่ออกมาสู้รบดังนั้น จึงถือดาบขึ้นหลังม้ากลั้นใจหายตัว
ควบไปควบมาให้ลาวแลเห็นแต่ดาบ กับได้ยินแต่เสียงมิได้เห็นตัว พวกลาวเห็นดังนั้นก็สะดุ้งตกใจกลัวพากันแตกหนีไปเป็นขบวน”

ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงศึกษาศาสตร์เหล่านี้เช่นกัน ในสำนักของพระอาจารย์พรหม ดังในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า “เป็นผู้ชำนาญในทางเวทมนตร์
มีอานุภาพเหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะฉะนั้นพระนารายณ์จึงมีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์มาก วันหนึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยในเวลาน้ำขึ้น
รับสั่งว่าให้น้ำลดแล้วทรงเอาพระแสงฟันลง น้ำก็ลดลงตามพระราชประสงค์ ครั้นน้ำลดลงแล้ว จึงรับสั่งให้น้ำขึ้นแล้วทรงพระแสงฟันลงอีก
น้ำก็ขึ้นตามพระราชประสงค์ พระนารายณ์มีพระราชประสงค์อย่างไรก็เป็นไปตามทั้งสิ้น”



    
         ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พิธีกรรมทางน้ำที่พระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยา
          ต้องเสด็จฯ มาประกอบพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๒๖๒
          (ภาพจาก “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช, ๒๕๔๙)




กษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องมีอิทธิฤทธิ์ด้วยเวทมนตร์คาถา คือ สมเด็จพระเจ้าเสือ ดังในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า “มีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์
ชำนาญในทางเวทมนตร์กายสิทธิ์มาก เวลากลางคืนก็ทรงกำบังกายเสด็จประพาส ฟังกิจสุขทุกข์ของราษฎร และทรงตรวจตราโจรผู้ร้ายมิได้ขาด
ทรงชุบเลี้ยงคนที่มีเวทมนตร์ ให้เป็นมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์ รับสั่งใช้ให้กำบังกายออกตรวจโจรผู้ร้ายในราตรี ถ้าทรงทราบว่าใครมีเวทมนตร์ดีแล้ว
ให้มหาดเล็กลอบไปทำร้ายในเวลาหลับ ผู้ใดไม่เป็นอันตรายก็พามาเลี้ยงไว้เป็นข้าราชการ ผู้ใดที่โอ้อวดทดลองไม่ได้จริงก็ให้ลงพระราชอาญา”

นอกจากนี้ ในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) กล่าวถึงเวทมนตร์คาถาของสมเด็จพระเจ้าเสือ ขณะยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ ไปลักพาตัวบุตรสาว
ของเจ้าพระยาราชวังสรรค์ ความว่า “ครั้นเวลาสักสองยามเศษ จึงเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์นั้นกับบ่าวที่รักใคร่สนิทกัน จึงเข้าไปดูแยบคาย ครั้นได้ทีแล้ว
จึงเสกกรวดแล้วก็ปรายเข้าไปอันผู้คนทั้งนั้นก็หลับไปทั้งสิ้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์จึงเข้าไปดับไฟแล้วก็เข้าไปอุ้มเอาลูกสาวมา”

เหล่านี้เป็นเรื่องราวของเวทมนตร์คาถาเพียงบางส่วนที่ปรากฎในพงศาวดารหรือบันทึกสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังมีเรื่องผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลัง
และโชคลาง ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนมีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น เพราะต่างก็เป็น “ศาสตร์” แห่ง “ไสย” เช่นเดียวกัน










ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
เว็บไซท์ศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2564

อ้างอิง :
จิตใส อยู่สุขี. (2539). การศึกษาความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ของคนไทยจากเอกสารสมัยอยุธยา, ปริญญานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ความเชื่อเรื่อง "โชคลาง"
สุขใจ ตลาดสด
Kimleng 1 2625 กระทู้ล่าสุด 14 กันยายน 2555 23:57:38
โดย หมีงงในพงหญ้า
ความเชื่อเรื่อง “ลั่นทม”
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 3234 กระทู้ล่าสุด 12 มิถุนายน 2558 16:34:36
โดย Kimleng
ความเชื่อเรื่อง “เสามงคล” ของชาวล้านนา
เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
ใบบุญ 0 357 กระทู้ล่าสุด 18 พฤษภาคม 2566 14:20:16
โดย ใบบุญ
[ข่าวเด่น] - รู้จัก วัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดิน-เชื้อพระวงศ์ ในสมัยอยุธยา
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 222 กระทู้ล่าสุด 06 พฤศจิกายน 2566 22:49:16
โดย สุขใจ ข่าวสด
ความเชื่อเรื่อง “เวทมนตร์คาถา” สมัยอยุธยา? นิยมทั้งราษฎรไปจนถึงราชสำนัก
เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
ใบบุญ 0 307 กระทู้ล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2567 15:45:28
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.369 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 11 พฤศจิกายน 2567 06:26:01