10 วิธี เพิ่มความจำแบบฮาร์วาร์ดวารสารชีพจรสุขภาพ(เฮลธ์บีท)ออนไลน์จากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ มีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีเพิ่มความจำดีๆ 10 วิธี มาฝาก
(1). เชื่อมั่น: การศึกษาทำในคนวัยกลางคนและสูงอายุพบว่า ความจำของคนเราแปรตามความเชื่อมั่น คนเราจะจำอะไรๆ ได้ดีถ้าเชื่อมั่นว่า "เราทำได้" คนที่มองโลกในแง่ดีและเชื่อว่า ความจำของคนเราไม่ลดน้อยถอยลงไปตามอายุจะมีความจำดีกว่าคนที่คิดว่า "โอ... เราแก่แล้ว จำสู้เด็กๆ ไม่ได้"
(2). ประหยัด: ทุกวันนี้หน่วยงานดีๆ จะมีกิจกรรม "5ส" เพื่อให้หน่วยงานเป็นระเบียบ ข่าวดีคือ การจัดเรื่องต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่ช่วยป้องกันการลืม เครื่องมือป้องกันการลืมที่สำคัญได้แก่ ปฏิทิน แผนที่ สมุดวางแผน แผ่นจดรายการของต้องซื้อก่อนไปชอปปิ้ง สมุดจดที่อยู่-เบอร์โทรศัพท์
(3). แบ่งเป็นชุดเล็กๆ: สมองคนเราจำเรื่องเล็กๆ ได้ดีกว่าเรื่องใหญ่ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าจะจำตัวเลข 8 หลัก "27984689″ ควรแบ่งเป็น 2 ชุดแบบที่เราใช้จำเบอร์โทรศัพท์ "2798-4789″ เวลาจะจำอะไรก็ควรฝึกจำทีละชุดเล็ก เช่น อ่านหนังสือวันละน้อย ฯลฯ ดีกว่าฝึกจำชุดใหญ่ เช่น อ่านหนังสือรวดเดียวก่อนสอบ ฯลฯ
(4). ใช้ประสาททั้งห้า: ใช้ประสาททั้งตา หู จมูก ลิ้น และกายที่ประทับใจมากที่สุด เพื่อจดจำเรื่องราว ประทับใจอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องขอ"เชื่อมโยง" กับประสบการณ์ในอดีตด้วยว่า สัมผัสหรือเรื่องนั้นคล้ายกับอะไรด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากจำรายละเอียดในร้านอาหารให้ ลองสูดหายใจเข้าแรงๆ ได้กลิ่นอะไรให้รีบจำกลิ่น และเชื่อมโยงว่า กลิ่นนี้คล้ายกลิ่นอะไร เช่น คล้ายกลิ่นขนมที่คุณยายทำให้ตอนอายุ 2 ขวบ ฯลฯ
(5). ขยายขอบเขต: การท่องออกเสียงดังๆ วาดภาพประกอบ บันทึก หรือทำภาพไดอะแกรมเชื่อมโยงกระบวนการเข้าด้วยกัน เช่น แผนภูมิก้างปลา ฯลฯ ช่วยให้จำได้ง่ายกว่าการอ่านในใจเพียงอย่างเดียว
(6). เรียกชื่อ: คนเราจะจำชื่อคนได้ดีขึ้นถ้าเรียกชื่อคนที่เราเห็นทุกครั้ง หรือถ้านึกถึงใครในใจก็ให้รีบทบทวนชื่อคนนั้นทันที
(7). เว้นช่วง: คนเราจะจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดีถ้าทบทวนซ้ำ (repeat) ในช่วงที่ห่างกัน เช่น 2-3 วัน ฯลฯ หลายๆ ครั้งได้ดีกว่าการท่องรวดเดียว
(8). คำย่อ: คำย่อมีส่วนช่วยให้จำอะไรได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างที่อาจารย์ท่านยกมาเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ถ้าจะจำตัวอักษรตัวแรกของคำต่างๆ 5 คำ(E, G, B, D, F) ให้ลองนำอักษรตัวแรกมาแต่งเป็นประโยค เช่น Every good boys does fine. ฯลฯ
(9). ท้าทาย: สมองคนเราเป็นเรื่องที่ต้อง "ท้า(ทาย)" หรือฝึกบ่อยๆ จึงจะใช้การได้ดี การฝึกสมอง เช่น การเล่นคำต่อ (crossword) หมากรุก การฝึกใช้มือข้างที่ไม่ถนัดทำงาน ฯลฯ มีส่วนช่วยฝึกสมองให้ตื่นตัว และใช้การได้ดีขึ้นในระยะยาว
(10). นอนให้พอ: คนที่พักผ่อนนอนหลับเพียงพอมักจะจดจำอะไรๆ ได้ดีกว่าคนที่อดนอน ถ้าจะถนอมสมองให้ใช้ได้ดีไปนานๆ ก็ควรนอนให้พอ และอาจเสริมด้วยกิจกรรมฝึกสมาธิ เช่น ไทเกก-ไทชิ(ชี่กง) สมาธิกำหนดลมหายใจ ฯลฯ และออกกำลังเป็นประจำ