[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 13:12:49 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อัฟกานิสถานแหล่งผลิต “พระพุทธรูป” องค์แรกในโลก  (อ่าน 468 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2497


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 23 สิงหาคม 2565 20:44:40 »


ภาพสลักศิลา พระพุทธรูปประทับนั่ง ศิลปะคันธาระ ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรีกและโรมัน
จึงมีพระพักตร์คล้ายเทพอพอลโลของกรีก มีพระเกศาหยิกสลวย และทําจีวรเป็นริ้วผ้าธรรมชาติ
ตามแบบประติมากรรมโรมันในสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส
(ภาพจากหนังสือ "อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธองค์แรกของโลก" สนพ.มติชน)



อัฟกานิสถานแหล่งผลิต “พระพุทธรูป” องค์แรกในโลก
ที่มา -   อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธรูปองค์แรกในโลก สนพ.มติชน 2545
ผู้เขียน - ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2565


ประเทศอัฟกานิสถานตั้งอยู่ระหว่างประเทศอินเดีย อิหร่าน และเอเชียกลาง มีสภาพภูมิประเทศอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน พื้นที่ทางตอนใต้ คือบริเวณหุบเขาและลุ่มแม่น้ำคาบูล (Kabul Valley) นั้น เป็นพื้นที่ผืนเดียวกันกับอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือ คือตั้งแต่ภูเขาฮินดูกูษ (Hindu Kush) ขึ้นไปถึงแม่น้ำอ๊อกซุส (Oxus) หรือบริเวณแคว้นแบคเตรีย (Bactria) นั้นเป็นพื้นที่ผืนเดียวกันกับเอเชียกลาง

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อนักภูมิศาสตร์ชาวยุโรปเข้าไปสำรวจสภาพภูมิประเทศในอัฟกานิสถาน และมีการค้นพบโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางโบราณคดีจํานวนมากบริเวณหุบเขา และลุ่มแม่น้ำคาบูล (Kabul Valley) โดยได้พบเหรียญแบบกรีกและประติมากรรมเนื่องในพุทธศาสนา อันเป็นผลงานของสกุลคันธาระ (ค.ศ.100-700) ซึ่งเป็นสกุลแรกที่สร้างพระพุทธรูปภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะของประเทศอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับการเปิดเผยเรื่องราวในอดีตอันรุ่งเรืองของอัฟกานิสถาน เนื่องจากชาวอัฟกานิสถานเองไม่ชอบเสวนากับชาวต่างชาติมากนัก มีนโยบายปิดประเทศไม่ยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสผู้มีความสามารถคือ นายอัลเฟรด ฟูเช (Alfred Foucher ) และคณะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอัฟกานิสถานให้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีได้ในปี ค.ศ.1922 จึงทำให้ชาวโลกได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณในอัฟกานิสถาน

จากตำแหน่งที่ตั้งของอัฟกานิสถานคือ ด้านตะวันออกอยู่ติดชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ส่วนด้านตะวันตกอยู่ติดประเทศอิหร่านและเอเชียกลาง ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นปากประตูของอารยธรรมตะวันออกที่เปิดสู่โลกตะวันตก เป็นอู่อารยธรรมที่หล่อหลอมอารยธรรมอิหร่าน (เปอร์เซีย) และอารยธรรมอินเดียเข้าด้วยกัน และยังได้รับอารยธรรมกรีก-โรมัน มาผสมผสานอีกด้วย

ที่สำคัญคือ อัฟกานิสถานเคยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่ส่งอิทธิพลไปยังเอเชียกลาง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตผลงานทางพุทธศิลป์ของสกุลคันธาระ (ค.ศ.100-700) ซึ่งเป็นสกุลแรกที่เริ่มสร้างพระพุทธรูป

ในราว 516 ปีก่อน ค.ศ. อัฟกานิสถานและพื้นที่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียคือบริเวณแคว้นคันธาระ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) ได้ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในอาณาจักรเปอร์เซีย (อิหร่าน) ภายใต้การปกครองของพระเจ้าดาริอุสที่ 1 (Darius I) แห่งราชวงค์อาคีเมนิด (Achaemenid)

ต่อมาราว 330 ปีก่อน ค.ศ. เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) กษัตริย์กรีก แห่งมาเซโดเนีย (Macedonia) ได้ยกกองทัพมายึดครองอาณาจักรเปอร์เซียในสมัยพระเจ้าดาริอุสที่ 3 และตั้งกองทัพกรีกไว้ที่แคว้นแบคเตรีย ริมฝั่งแม่น้ำอ๊อกซุส

ในปี 326 ปีก่อน ค.ศ. กองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จากแบคเตรียได้ข้ามภูเขาฮินดูกูษมายึดครองพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำคาบูล แล้วข้ามแม่น้ำสินธุมายึดครองเมืองตักศิลา และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียถึงแคว้นปัญจาบ แต่กองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่ยอมเดินทางต่อเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงส่งกองทัพบางส่วนกลับโดยผ่านทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน บริเวณแคว้นอราโชเชีย (Arachosia) ซึ่งปัจจุบันนี้คือ เมืองกันดาฮาร์ (Kandahan) ส่วนกองทัพที่เหลือแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเดินทางกลับทางทะเลจากปากแม่น้ำสินธุ (Sindhu) ไปยังแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) อีกส่วนหนึ่งกลับทางบกโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงนำกลับด้วยพระองค์เอง

เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ในช่วง 323 ปีก่อน ค.ศ. ก็เป็นการสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองของกรีกในอินเดียภาคเหนือ แต่ได้มีการก่อตั้งอาณานิคมของกรีกในแคว้นแบคเตรีย และบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย (บริเวณแคว้นคันธาระ) ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของแม่ทัพกรีกที่แบคเตรีย

อย่างไรก็ตาม ซิเลอซุส นิคาเตอร์(Seleucus Nicator) แม่ทัพชาวกรีกที่คอยควบคุมอาณานิคมของกรีก ในแบคเตรีย และในแคว้นคันธาระ สืบต่อจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ถูกกษัตริย์อินเดียคือพระเจ้าจันทรคุปต์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะขับไล่ให้ถอยร่นไปอยู่บริเวณเทือกเขาฮินดูกูษ แต่การถอยร่นของกองทัพกรีกไม่ได้ทำให้อิทธิพลวัฒนธรรมกรีกในเมืองแบคเตรีย ซึ่งปัจจุบันคือเมืองบอลข์  (Balkh) ในอัฟกานิสถานนั้น ลดน้อยลงแต่อย่างใด แต่ได้ส่งอิทธิพลให้งานด้านพุทธศิลป์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองคันธาระอย่างเด่นชัด (จะกล่าวถึงในตอนต่อไป)

ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (274-232 ปีก่อน ค.ศ. หรือราว พ.ศ.269-311) พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะที่ยิ่งใหญ่ ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาทั่วประเทศอินเดียและอาณาจักรที่ใกล้เคียง รวมทั้งอัฟกานิสถานด้วย ดังได้พบชิ้นส่วนศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกที่เมืองกันดาฮาร์ (ปัจจุบันนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์กรุงคาบูล) ซึ่งเป็นจารึกที่เขียนเป็นภาษากรีก มีเนื้อความเช่นเดียวกับจารึกหลักอื่นๆ ของพระเจ้าอโศกที่ประสงค์จะเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนในพุทธศาสนา สรุปได้ว่า พุทธศาสนาได้แผ่ไปยังอาณานิคมของกรีกตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก

ราว 135 ปีก่อน ค.ศ. พวกซิเถียน (Scythian) กลุ่มหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียเรียกว่า พวกศกะ (Sakas) ได้ขับไล่พวกกรีกออกจากแคว้นแบคเตรีย และได้ผูกมิตรกับพวกปาเกียน (Pathian) ที่เข้ามายึดครองอาณาจักรเปอร์เซียอยู่ในขณะนั้น และตั้งราชวงศ์ศกะ-ปาเกียน (Saka-Pathain) แล้วเข้ายึดครองพื้นที่ที่เคยเป็นอาณานิคมของกรีกในลุ่มน้ำคาบูล และในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย (แคว้นคันธาระ) ไว้ได้ทั้งหมด

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ (ราวพุทธศตวรรษที่ 6) พวกศกะในแบคเตรียก็ถูกชาวซิเถียนอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากมณฑลกันสู (Kansu) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน คือ พวกยูห์ชิห์ (Yueh chih) ได้มาขับไล่พวกศกะออกจากแบคเตรีย ยึดครองลุ่มน้ำคาบูล แคว้นคันธาระ และเมืองตักศิลา และยึดครองอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งราชวงศ์กุษาณะใน ค.ศ.64

กุจุลา กัดฟิส (Kujula Kadphises) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะนั้น นอกจากจะยึดครองเมืองตักศิลา คันธาระ และแคว้นปัญจาบของอินเดียแล้วยังได้ติดต่อค้าขายและมีสัมพันธภาพกับอาณาจักรโรมัน ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของพระจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) ราชวงศ์กุษาณะได้สร้างความเจริญทางวัฒนธรรมให้แก่อัฟกานิสถาน และอินเดียภาคเหนือเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสมัยของพระเจ้ากนิษกะ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 3 ในราชวงศ์กุษาณะ พระเจ้ากนิษกะได้ขยายอาณาเขตการปกครองของพระองค์ออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมบริเวณเอเชียกลาง อัฟกานิสถานและอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคเหนือทั้งหมดไปจนถึงแคว้นเบงกอล (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย)

พระเจ้ากนิษกะได้สร้างเมืองหลวงไว้ในอัฟกานิสถาน 1 แห่ง และในอินเดียอีก 1 แห่ง ในอัฟกานิสถานได้สร้างเมืองกปิศะ (Kapisa) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองเบคราม (Begram) บนฝั่งแม่น้ำคอร์แบน (Ghorband River) เป็นเมืองหลวงทางตอนเหนือของอาณาจักร และได้สร้างเมืองมถุรา (Mathura) บนฝั่งแม่น้ำยมุนา (Yamuna River) ตอนกลางของประเทศอินเดียภาคเหนือ เพื่อให้เป็นเมืองหลวงทางตอนใต้ ของอาณาจักรของพระองค์

ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ อัฟกานิสถานได้กลายเป็นศูนย์กลางและเป็นแหล่งรวมสินค้านานาชาติจากภูมิภาคต่างๆ ของโลกทีเดียว หลวงจีน ฮวนซัง (Hsuan Tsang) ซึ่งได้เข้าไปเยือนเมืองกปิศะ (เบคราม) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ได้บรรยายไว้ว่า ในบริเวณพระราชวังของพระเจ้ากนิษกะ ได้พบประติมากรรมโลหะขนาดเล็ก ในรูปแบบศิลปะแบบกรีก-โรมันเป็นจำนวนมาก เครื่องแก้วของซีเรีย รวมทั้งกล่องลงยาของจีนในสมัยราชวงศ์ฮัน



หลวงจีน ฮวนซัง

นอกจากเมืองเบครามแล้ว ยังได้พบร่องรอยการผสมผสานทางอารยธรรมของชาวอินเดีย ชาวอิหร่าน และชาวยุโรป ในบริเวณเมืองอื่นๆ ในอัฟกานิสถาน เช่น เมือง แบคเตรีย (Bactria) เมืองฮัดดา (Hadda) เมืองเปษวาร์ (Peshwar) เป็นต้นว่า ได้พบเศียรรูปปั้นรูปเทวดา ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะแบบกรีกโรมันที่เมืองเปษวาร์ ได้พบแผ่นงาช้างสลักแบบอินเดียที่เมืองเบคราม พบเศียรปูนปั้นฤาษีชาวอินเดีย และประติมากรรมนูนสูงเป็นภาพเหมือนของพระเจ้าแอนติโนอุสที่เมืองฮัดดา เหรียญกษัตริย์กรีกและเหรียญพระเจ้ากนิษกะที่เมืองแบคเตรีย

พระเจ้ากนิษกะนอกจากจะสร้างความร่ำรวยให้ราชอาณาจักรของพระองค์ด้วยการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่างๆ ทั้งทางซีกโลกด้านตะวันตกและซีกโลกด้านตะวันออกแล้ว พระองค์ยังได้รับยกย่องให้มีสถานภาพเทียบเท่ากับพระเจ้าอโศกที่ 2 เนื่องจากพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสูงสุด โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 ที่แคว้นแคชมีร์ (พระเจ้าอโศกทรงโปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ที่เมืองปาฏลีบุตร) และส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายมหายานในเอเชียกลาง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น

ส่วนพระองค์เองทรงศรัทธาในนิกายสรวาสติวาท (นิกายหินยานที่ใช้พระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต) พร้อมทั้งได้อุปถัมภ์สกุลช่างทางพุทธศิลป์สำคัญ 2 สกุล คือ สกุลมถุรา (มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมถุรา) และสกุลคันธาระซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำคาบูลตอนใต้ (ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน) และตอนบนของลุ่มแม่น้ำสินธุ บริเวณเมืองเปษวาร์ (Peshwar) (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1-7

ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ สกุลคันธาระได้ผลิตผลงานด้านพุทธศิลป์ ซึ่งประกอบด้วยผลงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม จัดว่าเป็นสกุลแรกที่เริ่มสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ (ในสมัยพระเจ้าอโศกยังนิยมสร้างแต่รูปสัญลักษณ์เช่นรอยพระบาท)

เนื่องจากสกุลช่างนี้ตั้งอยู่ในแคว้นคันธาระ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรีกและโรมัน (ดังได้กล่าวมาแล้ว) ดังนั้นพระพุทธรูปสกุลช่างคันธาระจึงมีลักษณะเหมือนประติมากรรมแบบกรีก-โรมัน แต่คติการสร้างยังเป็นคติความเชื่อของชาวอินเดียที่สัมพันธ์กับลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการของพระพุทธเจ้า (ตามคติความเชื่อของนิกายมหายานที่ให้อิทธิพลต่อนิกายหินยานในยุคต่อมา) พระพุทธรูปคันธาระจึงมีพระพักตร์คล้ายเทพอพอลโลของกรีก มีพระเกศาหยิกสลวย (ยังไม่เป็นขมวดก้นหอย) และมีอิทธิพลโรมันในการทำริ้วจีวรเป็นริ้วผ้าธรรมชาติ ตามแบบประติมากรรมโรมันในสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส

อย่างไรก็ตาม ยังมีลักษณะมหาบุรุษบางประการปรากฏอยู่ด้วย คือ มีอุณาโลม (ขนระหว่างคิ้ว) มีอุษณีษะศีรษะ (กะโหลกศีรษะโป่งตอนบน) และมีพระกรรณยาว (หูยาว)

นอกจากจะริเริ่มสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์แล้ว สกุลคันธาระยังริเริ่มสร้างรูปโพธิสัตว์อีกด้วย คือรูปเจ้าชายสิทธัตถะก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดยทำเป็นรูปเจ้าชายชาวอินเดียมีเครื่องประดับตกแต่งแบบชนชั้นสูงในสมัยนั้น ผลงานของสกุลคันธาระยังแสดงเห็นถึงอิทธิพลของศาสนานิกายหินยาน (นิกายสรวาสติวาทซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์) โดยนิยมสร้างเพียงพระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา และสร้างรูปพระอนาคตพุทธเจ้าคือ พระศรีอาริยเมไตรยะ




พระโพธิสัตว์ (เจ้าชายสิทธัตถะ) ศิลาสูง 109 ซ.ม. ศิลปะแบบคันธาระ (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ กรุงบอสตัน)
ภาพจากหนังสือ “อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธองค์แรกของโลก” สนพ.มติชน)


แม้ว่าจะสร้างรูปพระโพธิสัตว์แต่ก็เป็นเพียงรูปเจ้าชายสิทธัตถะก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ตาม เมื่อนิกายมหายานเจริญรุ่งเรืองในอินเดียภาคเหนือ สกุลคันธาระยังได้เริ่มสร้างรูปพระโพธิสัตว์ตามคติมหายานอีกหลายองค์ เป็นต้นว่า รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นอกจากนี้สกุลคันธาระยังได้เริ่มสร้างภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติแบ่งเป็นตอนๆ (ตามแบบศิลปะโรมัน)

ผลงานด้านพุทธศิลป์ของสกุลคันธาระ นอกจากจะมีศูนย์กลางอยู่ในแคว้นคันธาระแล้ว ยังมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานอีกหลายแห่ง ที่สำคัญคือที่เมืองกปิศะ (Kapisa) ซึ่งเป็นเมืองหลวงทางภาค เหนือของพระเจ้ากนิษกะ และในปัจจุบันคือเมืองเบคราม (Begram) ที่เมืองฮัดดา (Iladda) ซึ่งอยู่ใกล้เมืองเชลาลาบัด (Jelalabad) ในปัจจุบัน และที่เมืองบามิยาน (Bamiyan) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เทือกเขาฮินดูกูษ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 แคว้นคันธาระถูกพวกฮั่น (Huns) โจมตีและยึดครอง อย่างไรก็ตาม ผลงานของสกุลนี้ยังปรากฏต่อมาในอัฟกานิสถาน และในแคว้นแคชมีร์จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7

ประติมากรรมของสกุลคันธาระจะมีทั้งประติมากรรมขนาดใหญ่ที่แกะสลักจากหิน (blue schist and green phyllite) และขนาดเล็กที่ทำด้วยปูนปั้น ประติมากรรมสลักหินรูปพระพุทธรูปที่งดงามที่เหลือให้เห็นในปัจจุบันคือ ประติมากรรมแสดงภาพมหาปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าที่เมืองเบคราม (Begram) และประติมากรรมรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งที่เมืองตักห์ติบาไฮ (Takht-i-Bahi) และเมื่อพุทธศาสนา นิกายมหายานจากอัฟกานิสถานแพร่ไปยังจีนและญี่ปุ่น อิทธิพลการทำริ้วผ้าแบบโรมันก็ได้ไปปรากฏที่จีนและญี่ปุ่นด้วย

พุทธศาสนานิกายมหายานเจริญรุ่งเรืองมากในอัฟกานิสถาน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกปิศะ หลวงจีนฮวนซัง (Hsuan-tsang) ซึ่งเดินทางเข้าไปในอัฟกานิสถานในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ได้บรรยายไว้ว่า เมืองกปิศะเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนานิกายมหายาน มีสถูปขนาดใหญ่ และสังฆารามจำนวนมาก นอกจากเมืองกปิศะก็มีผลงานด้านพุทธศิลป์จำนวนมากที่เมืองฮัดดาและเมืองบามิยาน ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 3-5

งานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาที่โดดเด่นที่แสดงถึงความผสมผสานระหว่างศิลปะอินเดีย อิหร่าน และเอเชียกลาง ปรากฏเด่นชัดที่เมืองบามิยาน หลวงจีนฮวนซังได้บรรยายไว้ว่า เป็นเมืองสำคัญทางพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่มีความงดงามโรแมนติกมาก วัดวาอารามที่เมืองบามิยานทุกวัดจะสร้างโดยการเจาะเข้าไปในหน้าผาหินทราย ที่มีความยาวเป็นไมล์โดยทำเป็นคูหาเรียงรายกันเป็นแถวดูเหมือนรังผึ้ง ภายในคูหานอกจากภาพสลักรูปพระพุทธเจ้าแล้ว ที่ผนังคูหาเหล่านี้ยังมีภาพจิตรกรรมแบบเดียวกับจิตรกรรมในถ้ำอชันตา (ภาคตะวันตกของประเทศอินเดีย) โดยแสดงเป็นภาพพระโพธิสัตว์ในคติมหายาน ภาพเทวดาและนางฟ้า ในบรรดาคูหาที่เป็นโบสถ์วิหารและกุฏิเหล่านี้มีอยู่ 2 คูหาที่มีขนาดใหญ่มาก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินสลักขนาดสูง 120 ฟุต และ 175 ฟุต ตามลำดับ พระพุทธรูปหินสลัก 2 องค์นี้ มีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 (พุทธศตวรรษที่ 8-9)



พระพุทธรูปในคูหาที่เมืองบามิยาน (ภาพจากหนังสือ “อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธองค์แรกของโลก” สนพ.มติชน)

อย่างไรก็ตาม ประติมากรรมหินสลักขนาดใหญ่ที่เมืองบามิยาน ไม่ได้สลักเป็นองค์พระพุทธรูปที่สมบูรณ์ทั้งหมด เพียงแต่สลักส่วนลำตัวและส่วนพระพักตร์ให้เป็นรูปทรงคร่าวๆ เท่านั้น ส่วนรายละเอียดต่างๆ ตลอดจนการทำจีวรเป็นริ้วนั้นทำโดยการใช้ดินผสมฟางพอกให้ได้รูปทรง ปิดทับด้วยปูนแล้วจึงทาสี และปิดทองคำเปลวประทับลงไป

นับว่าการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 2 องค์ ที่เมืองบามิยาน เป็นการริเริ่มที่จะแสดงภาพพระพุทธเจ้าให้มีขนาดใหญ่เหนือมนุษย์ธรรมดา ซึ่งเป็นการแสดงถึงสถานภาพของพระองค์ว่าอยู่เหนือมนุษย์ทั่วไป ทรงเป็นมหาบุรุษและอยู่เหนือโลก (โลกุตตร) ซึ่งเป็นคติความเชื่อในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

จากเมืองบามิยาน แนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปให้มีขนาดใหญ่กว่ามนุษย์ธรรมดาก็ได้แพร่ไปยังประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้นับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน และได้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่แบบเมืองบามิยาน ในประเทศจีนจะพบภาพสลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ถ้ำย่งกัง และถ้ำหลงเหมิน ส่วนในประเทศญี่ปุ่นนั้นเราก็ได้เห็นประติมากรรมสำริดรูปพระธยานิพุทธไวโรจนะขนาดใหญ่ที่เมืองนารา ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8

สรุปได้ว่าอัฟกานิสถานไม่เพียงแต่จะเป็นอู่อารยธรรมที่หล่อหลอมอารยธรรมตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน หากแต่ยังเป็นแหล่งผลิตผลงานด้านพุทธศิลป์ของสกุลคันธาระซึ่งเป็นสกุลแรกที่เริ่มสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ นอกจากนี้อัฟกานิสถานยังเคยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนานิกายมหายานที่ส่งอิทธิพลไปยังเอเชียกลาง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 สิงหาคม 2565 20:47:08 โดย ใบบุญ » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.543 วินาที กับ 30 คำสั่ง

Google visited last this page 24 พฤศจิกายน 2567 16:01:11