23 พฤศจิกายน 2567 23:13:06
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
เวบบอร์ด
ช่วยเหลือ
ห้องเกม
ปฏิทิน
Tags
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ห้องสนทนา
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!
[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
นั่งเล่นหลังสวน
สุขใจ ไปเที่ยว
.:::
วัดปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง - ชมวิหารไม้อันทรงคุณค่าแห่งลานนาสมัยพระนางจามเทวี
:::.
หน้า: [
1
]
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: วัดปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง - ชมวิหารไม้อันทรงคุณค่าแห่งลานนาสมัยพระนางจามเทวี (อ่าน 667 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5767
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 107.0.0.0
วัดปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง - ชมวิหารไม้อันทรงคุณค่าแห่งลานนาสมัยพระนางจามเทวี
«
เมื่อ:
03 พฤศจิกายน 2565 16:51:18 »
Tweet
วิหารวัดปงยางคาก เป็นวิหารที่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชยเป็นผู้ดำริสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๑๒๔๓
วัดปงยางคก
ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
วัดปงยางคก
เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในพืั้นที่หมู่ ๙ ถนนห้างฉัตร-เกาะคา ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
ประวัติวัดปางยางคก
มีต้นฉบับอยู่ที่วัดปงยางคก ความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “...ประมาณ พ.ศ.๑๒๐๖ พระแม่เจ้าจามเทวี ราชธิดากรุงละโว้ (ลพบุรี) ได้ยกกองทัพขึ้นมาครองเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) และราว พ.ศ.๑๒๒๔ ได้ให้มหัตยศ ราชบุตรองค์ที่หนึ่ง ครองเมืองหริภุญไชยแทน และให้ราชบุตรองค์ที่สอง คือ อนันตยศ มาสร้างและครองเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง)”
ราว พ.ศ.๑๒๔๓ พระแม่เจ้าจามเทวี เสด็จออกจากลำพูนเพื่อมาเยี่ยมเยียนอนันตยศ ผู้ราชบุตรในนครลำปาง ได้มาถึง ณ ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง เป็นที่รื่นรมย์ จึงสร้างเมือง ณ ที่แห่งนั้น เมืองนั้นต่อมามีชื่อว่า “เวียงรมณีย์” หรือ “เมืองตาล” (ปัจจุบันนี้เป็นเมืองร้าง มีแต่คูดิน ตั้งอยู่ระหว่างดอยขุนตาลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร ประมาณ ๒ กิโลเมตร) ขณะที่พักอยู่ที่เวียงรมณีย์นั้น ได้สร้างฉัตรทองคำสำหรับจะไปบูชาพระธาตุลำปางหลวง ณ ที่ให้ช่างสร้างฉัตรในเวลาต่อมารียกว่าบ้านห้างฉัตร อันเป็นนามของอำเภอห้างฉัตรในปัจจุบันนี้
เมื่อสร้างฉัตรทองคำเสร็จแล้ว ก็ทรงช้างพระที่นั่ง เดินไปตามเส้นทาง พอไปถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง ปรากฏอัศจรรย์ ช้างพระที่นั่งทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงในท่าคารวะ จึงให้ปลูกวิหารจามเทวี รอบจอมปลวกไว้ด้วยมณฑปปราสาท ตลอดจนสร้างรูปจ๊างนบไว้หน้าวิหาร เป็นรูปช้างทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงขึ้นเหนือหัวในท่าคารวะ และปลูกต้นไม้สะหลีศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้พันธุ์มาจากลังกาทวีปพร้อมสรรพ ต่อมา ณ ที่แห่งนี้จึงเรียกว่า “บ้านปงจ๊างนบ” ต่อมาหลายร้อยปีนามนี้ก็ได้เพี้ยนไปเป็น “
ปงยางคก
” คำว่า “ปง” แปลว่า ที่ลุ่มกำบ่ะเก่า กล่าวกันติดปากว่า “เป๋นเปอะก่อจะลง เป๋นปงก่อจะลัด” (มีโคลนก็จะลง มีที่ลุ่ม ก็จะไป)
วัดปงยางคกนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านปงยางคก รอบวัดมีเรือนของชาวบ้านอยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน เพราะเป็นถิ่นที่หาน้ำกินน้ำใช้ยาก กล่าวคือ ขุดบ่อใช้น้ำใต้ดินไม่มีทางน้ำ ท้องนาที่เห็นอยู่ทั่วไป ถึงเวลาทำนาต้องอาศัยน้ำฝน ปกติในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมแทบทุกปี วัดปงยางคกนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพราะเป็น
ถิ่นกำเนิดของเจ้าหนานติ๊บจ๊าง (เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม) วีระบุรุษแห่งเขลางค์นคร
ผู้กู้อิสรภาพจากพม่าข้าศึก อันเป็นต้นตระกูลของเจ้าผู้ครองนครภาคเหนือมาแต่อดีต อีกประการหนึ่ง ก่อนที่เจ้าหนานติ๊บจ๊างจะได้ปราบดาภิเษกเป็นเจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม ขึ้นปกครองเขลางนครลำปาง พระองค์ก็เคยได้
ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และบวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัดปงยางคก
นี้มาก่อน จึงถือว่าเป็นวัดประวัติศาสตร์ของลานนาไทยเราที่มีความสำคัญยิ่งทีเดียว
วิหารเจ้าแม่จามเทวี
วิหารวัดปงยางคกนี้มีชื่อว่า “วิหารพระแม่เจ้าจามเทวี” ซึ่งได้ชื่อตามนามในพระองค์ท่าน เพราะพระแม่เจ้าเป็นผู้ดำริสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๑๒๔๓ เนื่องจากพระแม่เจ้าเสด็จจากลำพูนเพื่อมาเยี่ยมเยียนอนันตยศ ราชบุตรที่มาครองเมืองเขลางค์นคร พร้อมกับให้สร้างฉัตรทองคำ สำหรับนำไปบูชาพระธาตุลำปางหลวง ช้างพระที่นั่งทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงในท่าคารวะ พระแม่เจ้าเห็นเป็นอัศจรรย์จึงทรงพักพล ณ ที่นั่นคืนหนึ่ง ตกกลางคืนจึงอธิษฐานว่า ณ ที่นี้มีถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ขอให้ปรากฏปาฏิหาริย์ขึ้น ขาดคำดำรัสของพระแม่เจ้า ก็ปรากฏฉัพพรรณรังสีแห่งพระบรมสารีริกธาตุพวยพุ่งออกมาจากที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง พระแม่เจ้าเห็นความสำคัญ ณ ที่แห่งนั้น จึงมีบัญชาให้พวกพลโยธาหาญปลูกวิหารขึ้น ณ ที่จอมปลวกนั้นด้วยมณฑปปราสาท วิหารของพระแม่เจ้าหลังนี้มีขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๕ เมตร หลังคาเดิมเป็นแป้นไม้เกล็ดแต่ได้ผุกร่อนไปจึงได้เปลี่ยนมามุงด้วยดินขอเกล็ด ไม่มีฝ้าเพดาน โครงสร้างของวิหารทั้งขื่อคาเสาเขียนลายทอง ต่างจากวิหารทั่วๆ ไปซึ่งเป็นภาพเขียนลายน้ำแต้ม
วิหารนี้เป็นวิหารขนาดเล็ก แสดงว่าในสมัยโบราณวัดปงยางคกคงจะมีจำนวนศรัทธาของวัดน้อย คงจะมีจำนวนไม่เกิน ๓๐ หลังคาเรือน ลักษณะทั่วไปของวิหารหลังนี้ไม่เหมือนกับวิหารในสมัยปัจจุบัน เป็นวิหารโถงทำด้วยไม้ ตอนล่างเปิดโล่งตลอดไม่มีประตูและหน้าต่างตอนสุดท้ายของวิหารมีผนังก่ออิฐฉาบปูนทึบสามด้านล้อมกู่พระเจ้าหรือโขงพระเจ้า (คือ ซุ้มปราสาทเรือนยอด ก่ออิฐก๋วมพระประธานเอาไว้) ลักษณะของการก่อสร้างเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมแบบลานนายุคหริภุญไชย สกุลช่างเขลางค์นคร (ซึ่งต่างกับสถาปัตยกรรมภาคกลาง) หลังคาสามชั้นเป็นวิหารไม้ที่มีความสวยงามมาก เป็นแบบฉบับของลักษณะสถาปัตยกรรมภาคเหนือ มีฐานพระวิหารสูงจากพื้นดินหนึ่งฟุต เดิมสูงประมาณสามศอกเศษ แต่เนื่องจากมีน้ำหลากพาดินจากที่อื่นมาท่วมทับถมทุกปี เป็นเวลาพันกว่าปีมาแล้ว อีกประการหนึ่ง จากการขนทรายเข้าวัดตามประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย จึงทำให้ฐานพระวิหารสูงเหลือเพียงหนึ่งฟุต โครงสร้างภายในทั้งหมดทุกชิ้นที่เห็นแต่งลายรูปต่างๆ ตามรูปพื้นที่ไม้รองรับด้วยลายเขียน น้ำรักปิดทองบนพื้นสีแดง เช่น รูปลายกระถางดอกไม้บูชาพระลายกระหนก เครือเถาเทพยดา ลายดาว ลายเรขาคณิต และรูปอื่นๆ อีกมาก ผู้ที่มีความสนใจในด้านประวัติศาสตร์ลานนาไทย ควรจะไปดูชมวิหารพระแม่เจ้าจามเทวีหลังนี้ เพราะเป็นพระวิหารที่ก่อสร้างพันกว่าปีมาแล้ว เสาพระวิหาร ประกอบด้วยลายเขียนศิลปะพื้นเมืองที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเขียนด้วยรักปิดทอง (ซึ่งต่างจากวิหารทั่วไปซึ่งเป็นภาพเขียนสีที่เรียกว่า ลายน้ำแต้ม) ถือว่าเป็นจิตรกรรมเสาวิหารที่สวยงาม ลวดลายละเอียดประณีตวิจิตรบรรจงด้วยฝีมือศิลปกรรมชั้นยอด เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าประจำท้องถิ่นภาคเหนือของเราอย่างแท้จริง นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของอารยธรรมลานนาไทยในอดีตกาล เมื่อกาลเวลาได้ผ่านไปหลายยุคหลายสมัยนับเป็นพันๆ ปี ผ่านการบูรณะและปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งหลายคราว ความอลังการณ์ทั้งหลายก็ย่อมจะผันแปรและเสื่อมโทรมไปตามกฎของธรรมชาติและสภาวะแวดล้อม ภาพจิตรกรรมลวดลายบนเสาพระวิหารก็เลือนไปจนเกือบหมด
อนึ่ง ราชบัณฑิตยสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้สำรวจขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่และล้ำค่าที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย อันเนื่องจากเจ้าหนานติ๊บจ๊าง คือบรรพบุรุษ เจ้าผู้ครองนครในแคว้นลานนาไทยสมัยก่อน เป็นผู้ที่ร่วมมือกับทางกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ รวบรวมดินแดนที่เคยเป็นแคว้นลานนาไทยในอดีต ผนวกเข้ากับดินแดนของเมืองหลวงไทยสมัยนั้นอย่างถาวร ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การที่ประเทศไทยมีขอบเขตการปกครองกว้างขวางเช่นในปัจจุบันก็เนื่องจากเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของเจ้าหนานติ๊บจ๊างผู้นี้ด้วย
วิหารพระแม่เจ้าจามเทวี
เป็นวิหารไม้ที่สวยงาม เป็นแบบฉบับของลักษณะสถาปัตยกรรมสกุลช่างลำปาง ลักษณะ
หลังคาสามชั้น ตอนล่างเปิดโล่งตลอด ไม่มีประตูและหน้าต่าง ตอนสุดท้ายของวิหารเป็น
ผนังก่ออิฐฉาบปูนทึบสามด้านล้อมกู่พระเจ้าหรือโขงพระเจ้า
กู่พระเจ้า (โขงพระเจ้า)
กู่พระเจ้า (โขงพระเจ้า)
ภายในวิหารมีซุ้มมณฑปพระประธานซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า "โขงพระประธาน"กู่พระเจ้า (โขงพระเจ้า)
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๒๔๓ ในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป (พระพุทธรูปองค์เดิมในกู่ เจ้าผู้ครองนครลำปาง
ให้คนมาเอาไป และเอาเก็บไว้ที่ใดไม่มีใครทราบ และจำปี พ.ศ.ที่ถูกยกเอาไปไม่ได้)
*
ชาวลานนาโบราณนิยมตั้งพระประธานไว้ในซุ้มโขงที่มีหลังคาเรือนยอด มีช่องแคบๆ ด้านหน้าไว้
พอเห็นองค์พระ เรียกว่า “กู่พระเจ้า” (ซุ้มมณฑปก๋วมพระประธาน)
ผนังด้านหลังพระประธานเป็นภาพต้นศรีมหาโพธิ์สามต้น มีเทวดาถือฉัตรและช่อดอกไม้ประดับทั้งสองข้างของพระประธาน
ธรรมาสน์โบราณ
ธรรมาสน์โบราณ
ธรรมาสน์นี้เป็นโบราณวัตถุที่สำคัญอันทรงคุณค่าแห่งลานนาไทย มีอายุหลายร้อยปี ประดิษฐานอยู่ใน
วิหารพระแม่เจ้าจามเทวี เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม (เจ้าหนานติ๊บจ้าง) เมื่อครั้งเป็นพระภิกษุได้ขึ้น
ไปแสดงธรรมเทศนาหลายครั้งหลายคราว ธรรมาสน์นี้แปลกกว่าธรรมาสน์ทั่วไปในลานนาไทย เพราะ
ฐานล่างเป็นลายปูนปั้นดิบ เรียกว่า “สะตาย” ลักษณะรูปสี่เหลียมด้านเท่า สูง ๑.๕ เมตร กว้าง - ยาว
ด้านละ ๑.๕ เมตร คล้ายฐานชุกชี (แท่นแก้ว) ฝังกระจกสีต่างๆ แต่หลุดหายไปจำนวนมาก ส่วนด้าน
บนฐานทำฝาจากไม้สัก เป็นรูปคล้ายกระทงหรือรูปปีกนกทั้งสี่ด้าน สูงประมาณด้านละ ๑ เมตร สำหรับ
พระภิกษุเข้าไปนั่งแสดงพระธรรมเทศนา หรือนั่งยองๆ เทศน์ เพื่อให้เสียงดี ข้างบนมีไม้ตั้งธรรม หรือ
แท่นตั้งคัมภีร์ใบลาน ด้านหนึ่งทำเป็นช่องสำหรับบันไดพาดขึ้นลง บันไดทำด้วยไม้สักแกะสลักลวดลาย
จิตรกรรมแบบลานนาไทย ปิดทองอย่างสวยงาม พร้อมทั้งฝังกระจกสีสันต่างๆ ธรรมาสน์นี้ทำอย่างถาวร
ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนได้เพราะฐานล่างเป็นปูน
( ภาพ ๑)
( ภาพ ๒)
( ภาพ ๓)
(ภาพ ๑-๓) โครงสร้างของวิหารทั้ง ขื่อคา เสา เขียนลายทอง ต่างจากวิหารทั่วไปซึ่งเป็นภาพเขียนลายน้ำแต้ม
จิตรกรรมฝาหยาบ เป็นรูปพระพุทธรูปและกระถางดอกไม้
ตามผนัง เสา ขื่อ คานของวิหาร เขียนภาพลายดอกไม้หรือลายหม้อดอกหรือภาพแจกันดอกไม้
ตามคติพุทธเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปูรณฆฎะหรือปูรณกลศ หมายถึงหม้อน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยม
ด้านล่างของเสาวิหารฉาบปูนล้อมรอบ
รูปแบบศิลปกรรมลานนา ในสมัยพระนางจามเทวี
รูปแบบโครงสร้างตัวอาคารลานนา ในสมัยพระนางจามเทวี
พระธาตุ ด้านหลังพระวิหารวัดปงยางคก
กู่จ๊างนบ (ศาลจ๊างนบ)
พระแม่เจ้าจามเทวี ได้ทรงสร้างกู่จ๊างนบไว้หน้าพระวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๑๒๔๓
โดยทำเป็นรูปช้างไม้ขนาดใหญ่นั่งทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงที่มีดอกบัวขึ้นเหนือหัวในท่าคารวะอยู่บนฐาน
กู่จ๊างนบนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หันหน้าไปทางวิหารพระแม่เจ้าจามเทวี นับถึงปัจจุบันเป็น
เวลาพันกว่าปีมาแล้ว ซึ่งก็ได้ทรุดโทรม ผุพังไป ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงได้บูรณะกู่จ๊างนบขึ้นมาใหม่
อนุสาวรีย์เจ้าหนานทิพย์ช้าง หรือ พ่อเจ้าทิพย์ช้าง
ภาพจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หนานทิปะวเนจร (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง)
ผู้กอบกู้นครลำปาง (เขลางค์นคร) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๗๕ และได้ครองนครเป็นปฐมวงศ์ของเจ้าเจ็ดตน ซึ่งมีบทบาทในการรวบรวมผืนแผ่นดินลานนาเป็นปึกแผ่นเจริญรุ่งเรืองพ้นจากการย่ำยีและการรบราฆ่าฟันกับพม่า ทำให้ปรากฏเกียรติขจรไปทั่วสารทิศ
หนานทิปะวเนจร เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๘ ที่บ้านปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นผู้มีอาคมขลัง มีกำลังและสติปัญญากล้าหาญ สามารถวิ่งแล่นไล่ตัดหางช้างเถื่อนได้ จนเป็นที่หวาดกลัวของช้างยิ่งนัก จนได้นามฉายาจากคนทั้งหลายว่า “หนานติ๊บจ๊าง” หนานติ๊บจ๊างได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้ากู้อิสระภาพนครลำปางได้สำเร็จ และได้รับสถาปนาเป็น เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง) เป็นปฐมวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งเจ้าเจ็ดตนเป็นหลานของเจ้าติ๊บจ๊าง และเป็นพี่น้องกัน มีความสำคัญเกี่ยวกับการกู้อิสรภาพของลานนาไทย
เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง) ครองนครลำปางได้นานถึง ๒๗ ปี ก็ถึงแก่ทิวงคต ในปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๒๑ (พ.ศ.๒๓๐๒) เอกศก และได้นำพระศพไปเผาและบรรจุอิฐิธาตุไว้ ณ วัดปงยางคก
เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง) จึงนับเป็นบรรพชนผู้เป็นต้นตระกูลของเจ้าเจ็ดตน ราชวงศ์ฝ่ายเหนือที่ช่วยกันขับไล่อิทธิพลผู้ยึดครองแผ่นดินไปจากลานนาไทย แล้วแยกย้ายกันไปครองเมืองนครลำปาง นครเชียงใหม่ นครลำพูน เชียงราย เชียงแสน พะเยา เมืองพาน เมืองงาว เมืองฝาง เป็นต้นกำเนิดของสกุล ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน” (สายเชียงแสน เชียงราย ส่วนใหญ่ใช้ “เชื้อเจ็ดตน” ซึ่งเป็นเชื้อสายสืบทอดมาจาก “เจ้าหนานติ๊บจ๊าง”
ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครภาคเหนือทั้งหมด
.
850-24
ที่มาข้อมูล :-
- หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ - กรมศิลปากร
- สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง
- วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 พฤศจิกายน 2565 17:00:39 โดย Kimleng
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5767
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 107.0.0.0
Re: วัดปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง - ชมวิหารไม้อันทรงคุณค่าแห่งลานนาสมัยพระนางจามเทวี
«
ตอบ #1 เมื่อ:
05 พฤศจิกายน 2565 21:29:33 »
รอยดาบการรบ เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๓ ระหว่างหนานทิพย์ช้าง กับท้าวมหายศ แม่ทัพพม่า
ในวิหารแม่เจ้าจามเทวี วัดปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
ป้าย "วัดปงยางคก ทิพย์ช้างอนุสรณ์" ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
เพื่อรำลึกถึง
หนานทิพย์ช้าง หรือหนานทิปะวเนจร (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง)
ผู้กอบกู้นครลำปาง คืนจากพม่า
หนานทิพย์ช้าง (หนานติ๊บจ๊าง) วีระบุรุแห่งเขลางคนคร
หนานทิปะวเนจร (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง)
ผู้กอบกู้นครลำปาง (เขลางค์นคร) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๗๕ และได้ครองนครเป็นปฐมวงศ์ของเจ้าเจ็ดตน ซึ่งมีบทบาทในการรวบรวมผืนแผ่นดินลานนาเป็นปึกแผ่นเจริญรุ่งเรืองพ้นจากการย่ำยีและการฆ่าฟัน ทำให้ปรากฏเกียรติขจรไปทั่วสารทิศ
หนานทิปะวเนจร เป็นพรานปืนชาวบ้านปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นผู้มีอาคมขลัง เป็นคนมีกำลังและสติปัญญากล้าหาญ สามารถวิ่งไล่ตัดหางช้างเถื่อนได้ จนเป็นที่หวาดกลัวของช้างยิ่งนัก จนได้นามฉายาจากคนทั้งหลายว่า “หนานติ๊บจ๊าง” ผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมกว่าผู้อื่น จึงได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้ากู้อิสรภาพนครลำปางได้สำเร็จ และได้รับสถาปนาเป็น เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม (เจ้าติ๊บจ๊าง) เป็นปฐมวงศ์เจ้าเจ็ดตน ซึ่งเจ้าเจ็ดตนเป็นหลานของเจ้าติ๊บจ๊างและเป็นพี่น้องกัน มีความสำคัญเกี่ยวกับการกู้อิสรภาพของลานนาไทยมาก
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๒๗๒-๒๒๗๕ บ้านเมืองในลานนาไทยมิได้เป็นปกติสุข เกิดการจราจลไปทุกหนแห่ง เนื่องจากสูญสิ้นราชวงศ์มังรายลง บ้านเมืองในลานนาไทย เช่น เชียงแสน เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ ต่างเมืองก็ตั้งตัวเป็นอิสระไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเช่นกาลก่อน เมืองเชียงแสน เชียงราย ตกอยู่ในอำนาจของพม่า พม่าได้ส่งเชื้อพระวงศ์บุเรงนองมาครอบครองเชียงใหม่ มีเจ้าองค์ดำเป็นเจ้าผู้ครองนคร และกำลังรบพุ่งติดพันกับพม่าอยู่ เมืองลำพูนมีท้าวมหายศ ครองนคร (ซึ่งขณะนั้นขึ้นอยู่กับพม่า) เมืองแพร่ เมืองน่าน ต่างก็มีผู้ครองนครเป็นอิสระ ต่างเมืองต่างก็รบราฆ่ากัน ไพร่บ้านพลเมืองเดือดร้อน จลาจลกระจัดกระจายระส่ำระสาย หาความผาสุกมิได้ จึงได้เกิดมีบุคคลสำคัญของลานนาไทยขึ้น ในยุคที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในยุคเข็ญ บุคคลผู้นี้ก็คือ เจ้าเจ็ดตน หลานของเจ้าหนานติ๊บจ๊าง ที่ได้ช่วยกันขจัดความเดือดร้อนของไพร่บ้านพลเมืองอันมีบทบาทสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ลานนาไทย โดยพลีชีวิตและเลือดเนื้อต่อสู้เพื่อปลดแยกออกจากพม่าข้าศึก จนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้งหลายหน และในที่สุดก็ได้ช่วยกันกอบกู้อิสระภาพของลานนาไว้ได้ โดยทำการขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินลานนาไทยได้สำเร็จและได้รวบรวมกับไทยกลางตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ และเป็นต้นตระกูลของเจ้าผู้ครองนครทั้งหลายในภาคเหนือ มีลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน ฯลฯ มีเชื้อสายสืบเนื่องกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อปีระกา เอกศกจุลศักราช ๒๐๙๑ (พ.ศ.๒๒๗๒) ท้าวสิ้นก่านเป็นพ่อเมืองนครไชย (นครลำปาง) แต่ผู้เป็นอ่อนแอบังคับบัญชาราชการงานเมืองไม่สิทธิขาด ข้าราชการแก่งแย่งอำนาจกัน ในขณะนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนายาง (อยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ) มีความรู้เชี่ยวชาญในวิทยาคมไสยศาสตร์ เลี้ยงภูติพรายสำแดงฤทธิ์เดชต่างๆ ชนทั้งหลายในจังหวัดนั้นก็พากันนิยมนับถือว่าเป็นผู้มีบุญ จึงพากันมาสมัครเป็นลูกศิษย์และบริวารมากมาย สมภารวัดสามขากับสมภารวัดบ้านฟ่อน ก็ได้ลาสิกขาออกมาเป็นเสนาซ้ายขวาของสมภารวัดนายางนั้น จนเลยเถิดตั้งเป็นก๊กขึ้นอีกก๊กหนึ่ง ท้าวสิ้นก่านผู้พ่อเมืองนั้นหาอาจปราบปรามได้ไม่
กิติศัพท์ผู้มีบุญของเจ้าอาวาสวัดนายางนั้น ทราบไปถึงหูของท้าวมหายศ พ่อเมืองลำพูน จึงคุมกำลังมาเพื่อจะปราบปราม สมภารวัดนายางก็คุมสมัครพรรคพวกออกต่อสู้รบกับกองทัพเมืองลำพูนที่ตำบลป่าต้นเป็นสามารถ สมัครพรรคพวกของสมภารวัดนายางต้านทานกำลังกองทัพเมืองลำพูนมิได้ก็แตกกระจัดกระจายหนีไป สมภารวัดนายางกับเสนาซ้ายขวา พาพวกที่ยังเหลืออยู่เล็กน้อยล่าหนีไปอยู่ยังวิหารหลวงในวัดพระธาตุลำปางหลวง กองทัพเมืองลำพูนยกไปล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงไว้ ครั้นถึงเวลากลางคืนจะค่อนแจ้ง สมภารวัดนายางกับพวกหลบหนีออกจากที่ล้อมได้ ก็พากันหนีล่องลงไปทางใต้ กองทัพเมืองลำพูนไล่ติดตามไปทันกลางทาง จึงเกิดการสู้รบกันขึ้นอีก สมภารวัดนายางกับพรรคพวกมีแต่ไม้ค้อน ไม้กระทู้รั้วเป็นอาวุธ เข้าตีต่อสู้กับกองทัพเมืองลำพูนเป็นสามารถ กองทัพเมืองลำพูนแตกกระจัดกระจายจวนจะแพ้ บังเอิญเคราะห์กรรมจำถึง สมภารวัดนายางต้องกระสุนปืนของกองทัพเมืองลำพูนยิงมาถูกตรงระหว่างคิ้ว ก็ล้มลง เสนาซ้ายขวาเข้าประคองก็ซ้ำถูกปืนถึงแก่มรณกรรมทั้งสามคน ส่วนพรรคพวกนั้นเมื่อเห็นประมุขเป็นอันตรายก็พากันหลบหนีไป หนีไม่ทันก็ถูกพวกลำพูนฆ่าตายสิ้น
เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว กองทัพลำพูนก็ยกกลับเข้าไปตั้งอยู่ในวัดพระธาตุลำปางหลวง แล้วแต่งคนออกไปเรียกเก็บเงินภาษีและบังคับไพร่บ้านพลเมืองลำปางเกณฑ์เอาสิ่งของทรัพย์สินค่าหลังค่าคอข้าวปลาอาหารไปบำรุงกองทัพ เมื่อผู้ใดขัดขืนไม่ยอมให้หรือไม่มีก็ให้จับตัวมาลงทัณฑกรรมทำโทษทารุณกรรมต่างๆ เป็นที่ทนทุกขเวทนา บ้างก็ถึงแก่ชีวิต ครั้งนั้น ชาวเมืองลำปางได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ผู้หญิงคนใดสวยงามก็ถูกบังคับให้เป็นนางบำเรอ
ครั้นแล้วท้าวมหายศ แม่ทัพเมืองลำพูนก็คิดอุบายแต่งตั้งให้หาญฟ้าแมบ ๑ หาญฟ้าง้ำ ๑ หาญฟ้าฟื้น ๑ สามนายทหาญเอกให้เหน็บอาวุธซ่อนไปในตัว เข้าไปเจรจาความเมืองต่อท้าวสิ้นก่านผู้เป็นพ่อเมือง พร้อมทั้งขุนเมืองทั้งสี่คือ แสนหนังสือ แสนเทพ นายเอือน จเรน้อย และท้าวขุนทั้งหลาย ณ ที่สนามว่าการเมืองนครลำปาง ขณะที่ประชุมพร้อมกันอยู่พอได้ท่วงทีตามกติกาสัญญากันก็ลุกขึ้นพร้อมกันฟังแทงขุนเมืองนครลำปางล้มตายลงหลายคน แล้วกองทัพเมืองลำพูนก็ยกหนุนเข้าไป ปล้นเอาเมืองนครลำปางและไล่ฆ่าฟันผู้คนพร้อมทั้งจุดเพลิงเผาผลาญบ้านเรือนราษฎรไหม้เสียหายเป็นอันมาก ท้าวสิ้นก่านพ่อเมืองและพวกเมืองที่รอดตาย คือ จเรน้อย และชาวบ้านชาวเมืองพากันหลบหนีไปอาศัยอยู่ตามตำบลต่างๆ เช่น ประตูผา เมืองต้า เมืองสอง เมืองตึบ เมืองเมาะ เมืองจาง เป็นต้น เมืองนครลำปางในครั้งนั้นก็เลยรกร้างไป หาผู้คนมาอยู่อาศัยมิได้ เพราะต่างก็กลัวข้าศึกเมืองลำพูน
ในขณะนั้น มีพระมหาเถระรูปหนึ่ง เป็นเจ้าอธิการวัดพระแก้วดอนเต้า เป็นที่นับถือของประชาชนชาวเมืองลำปางเป็นอันมาก พร้อมทั้งมหาเถระวัดพระแก้วชมภู (วัดเก่า ไม่ใช่วัดชมภูปัจจุบันนี้) อีกองค์หนึ่ง ท่านได้ดำริปรึกษากันคิดการที่จะกู้เมืองนครลำปางให้พ้นจากอำนาจของทัพท้าวมหายศเมืองลำพูนซึ่งมายึดครองอยู่นั้น จึงได้ซ่องสุมผู้คนและลูกศิษย์ลูกหาไว้ ครั้นได้กำลังพอสมควร จึงได้เจรจากล่าวกับท้าวสิ้นก่านกับจเรน้อย ซึ่งหนีไปอยู่ที่ตำบลประตูผา (เหนือลำปาง) ขอให้กลับมาคิดกู้เอาเมืองนครลำปางคืน แต่พ่อเมืองและขุนเมืองทั้งสองเป็นผู้มีความเพียรอันย่อหย่อนเสียแล้ว ไม่มีมานะและความสามารถที่จะกลับมาสู้รบกับข้าศึกเมืองลำพูนได้อีก จึงยอมปลงภาระอนุญาตโดยแจ้งแก่พระมหาเถระเจ้าว่า สุดแล้วแต่พระมหาเถรเจ้าจะเลือกทำเสาะแสวงหาผู้ที่มีความสามารถ มาจัดการสู้รบกับข้าศึกเพื่อกู้บ้านกู้เมืองเถิด ถ้าหากเห็นว่าผู้ใดมีความสามารถขับไล่ข้าศึกถอยไปและกู้เอาเมืองนครลำปางคืนได้สำเร็จก็จะยอมยกเอาเมืองนครลำปางให้แก่ผู้นั้นครอบครองสืบลูกหลานตลอดไป
พระมหาเถรเจ้าวัดพระแก้วดอนเต้าและวัดพระแก้วชมภูทั้งสองได้ทราบดังนั้นก็กลับมาวัดแล้วได้ประกาศเรียกญาติโยมและบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมาประชุมแล้วปรึกษากันว่า “ดูรา อุบาสกทั้งหลายบัดนี้บ้านเมืองเราหาผู้จักกล้าบ่ได้สักคน อันจะควรฤๅตายแต่ผู้เดียว และต่างก็พากันผันพ่ายหนี ส่วนชาวเมืองพากันเป็นทุกข์อยู่ในป่าดอไพรสณฑอย่างนี้ ถ้าว่าไม่มีผู้กล้าคนใดจักไปคิดแก้เอาเมืองคืน เราทั้งสองก็จะสึกออกไปแก้กู้เมืองแก้ไพร่ให้คืน บรรดาพวกญาติโยมและศิษย์ทั้งมวลต่างก็พากันตกใจ เพราะพระมหาเถรทั้งสองเป็นที่เคารพบูชายิ่งนัก ต่างขอนิมนต์ไว้ก่อน โดยพากันตอบว่า “ผู้ข้าทั้งหลายขอก่อนครูบาเจ้าจงกึดกอย เรื่องโหราศาสตร์ ครูบาเจ้าก่อแกว่นนัก ขอครูบาเจ้าลงเลขตวายกอยว่าบ้านเมืองแลผู้คนดูว่า จะมีผู้กล้าคนใดที่สามารถจะนำรี้พลออกทัพเมืองคืนได้” พระมหาเถรได้ฟังดังนั้นก็ทำตามตำราที่เรียนมา โดยลงหูราชตาของบ้านเมืองดู ในที่สุดก็เห็นว่ามีชายผู้กล้าหาญยิ่งอยู่ผู้หนึ่ง ชื่อ หนานทิปะวเนจร เดิมเป็นช่างตีเหล็ก ชาวเมืองปงยางคก (บ้านหนึ่งใกล้ๆ กับบ้านยางแล อยู่ในท้องที่อำเภอห้างฉัตร ห่างจากสถานีห้างฉัตร ๕ กิโลเมตร ห่างจากสถานีลำปางที่สบตุ๋ยราว ๑๒ กิโลเมตร) ต่อมาเปลี่ยนอาชีพเป็นหมอควาญช้าง หนานทิปะวเนจรเป็นพรานปืน มีอาคมขลัง เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม กล้าหาญ มีกำลังฝีมือเข้มแข็ง ทั้งชำนาญในการใช้ปืนและธนูเป็นอันมาก และเคยเป็นหมอคล้องช้างป่าได้ สามารถวิ่งแล่นไล่ตัดหางช้างเถื่อนได้ จนได้รับนามฉายาจากคนทั้งหลายว่า “หนานติ๊บจ๊าง” จากการที่มีความสามารถยอดเยี่ยมกว่าผู้อื่น สมควรที่จะยกให้เป็นหัวหน้าคุมไพร่นำทัพออกไปสู้รบกับกองทัพเมืองลำพูนได้ พระมหาเถรทั้งสองจึงใช้ให้คนไปตามหนานทิปะวเนจรมากู้นครลำปาง ขณะที่ไปตามนั้นเป็นเวลาที่หนานทิปะวเนจรกำลังคล้องช้างอยู่ ณ บ้านนาค ตำบลบ้านเอื้อม (ห่างจากอำเภอเมืองลำปางไปทางวัดกู่ขาวกู่แดงราว ๘ กิโลเมตร)
เมื่อหนานทิปะวเนจรถึง พระมหาเถรเจ้าทั้งสองจึงปรึกษาพูดจาไต่ถามดูว่า “ดูราอุบาสกผู้มีชื่อว่า วเนจร บัดนี้เราทั้งสองลงหูราชะตาดูว่า จะมีผู้ใดแก้กู้เอาเมืองคืนได้ ก็บังเอิญมาได้ตัวท่านซึ่งอาจจักเป็นเจ้านำเอารี้พลไปตีเอาเมืองคืนได้ ตัวท่านจะรับไปหรือไม่” หนานทิปะวเนจรจึงตอบว่า “ข้าศึกเมืองลำพูนก็เตียวดิน กินผักปลาอย่างเราเหมือนกันหาใช่วิเศษวิโสกินเหล็กกินไหลอะไร เราหาหวั่นเกรงไม่ แต่ว่าข้าแต่ครูบาเจ้าปราณีท้าวขุนเมืองทั้งมวลที่ว่า จักให้เป็นบ้านเมืองตูข้า ข้าก็จักอาสาได้ ถ้าหาไม่ก็บ่จักอาสา”
พระมหาเถรทั้งสองจึงปรึกษาท่านขุนเมือง ท่านขุนเมืองทุกคนก็บอกว่า “เมื่อหนานทิปะวเนจรแก้เอาเมืองคืนได้ ก็จงเอาเป็นเมืองเถิด ข้าทั้งหลายบ่เกี่ยวข้อง”
เมื่อหนานทิปะวเนจรได้ยินดังนั้น ก็เอาดาบฟันต้นขจาวนอกวัด เพื่อเป็นสักขีพยานสามที (สักขีพยานนี้ไม่มีแล้ว ยังอยู่แต่ต้นขจาวต้นนี้ โตประมาณ ๓-๔ อ้อมแขน เพราะเป็นเวลาสองร้อยกว่าปีมาแล้ว)
บรรดาไพร่ขุนเมืองทั้งปวงพร้อมทั้งมหาเถรทั้งสอง จึงพร้อมใจกัน
ตั้งให้หนานทิปะวเนจรเป็นที่
“
เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรือง
”
เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรือง เลือกได้คนกล้าหาญสามคนคือ หนานนันต๊ะสาร หนานไชยพล น้อยไชยจิตร ชาวบ้านผู้กล้าหาญและมีฝีมือเข้มแข็งเป็นแม่กองคุมไพร่พลเป็นสามกองๆ ละ ๑๐๐ คน รวมไพร่พลอาสาทั้งหมด ๓๐๐ คน เมื่อได้ฤกษ์ เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองแม่ทัพ ก็ยกกองไปแต่มืดมุ่งตรงไปยังวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งท้าวมหายศตั้งพักไพร่พลอยู่ เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองยกทัพไปถึงนั้นเป็นเวลากลางคืนค่อนข้างดึก เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองจึงสั่งให้นายทัพรองทั้งสามซุ่มพลไว้ที่ประตูและล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงไว้อย่างแข็งแรงทุกด้าน เมื่อจัดวางกำลังเรียงรายไว้โดยรอบแล้ว ส่วนตนก็ลอบคลานเข้าไปทางท่อระบายน้ำ กว้างประมาณ ๑ ศอก อยู่ทางทิศตะวันตกของวัด (ท่อน้ำที่ใช้ลอดเข้าไปทำการใหญ่ในวัดพระธาตุลำปางหลวงนั้นค่อนข้างเล็ก แสดงว่าร่างกายของวีระบุรุษผู้เรืองนามแห่งเขลางค์นครผู้นี้ไม่ค่อยใหญ่โต เดี๋ยวนี้ก็ยังปรากฏรูปร่างดีอยู่ เพราะเป็นบริเวณชั้นในของวัดพระธาตุลำปางหลวง)
ขณะนั้นท้าวมหายศ เจ้าเมืองลำพูนกำลังเล่นหมากรุกและสกากับนายทหารและเสนาอยู่ เมื่อเจ้าติ๊บปะเทพบุญเรือง ลอดเข้าไปถึงวัดชั้นในแล้ว ก็เข้าไปถามพวกยามที่รักษาประตูว่า “ท้าวมหายศเจ้าเมืองลำพูนอยู่ที่ไหน?” ยามรักษาประตูตอบว่า “ท้าวมหายศอยู่ข้างในกลางหมู่พล มีธุระสิ่งใดฤๅ” เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองก็ตอบว่า “ข้ามาจากลำพูน เจ้าแม่เทวี (หมายถึง ชายาท้าวมหายศ) ใช้ให้ข้ามาส่งหนังสือด่วน” ยามรักษาประตูได้ยินดังนั้นก็หลงเชื่อ นึกว่าเป็นความจริง จึงอนุญาตให้เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองเข้าไปหาท้าวมหายศ ซึ่งกำลังเล่นหมากรุกเพลินอยู่กับทหารคนสนิทและนางบำเรอในวิหารหลวงมุมตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อเจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองเห็นก็นึกแน่ใจว่าบุคคลผู้ที่อยู่ตรงหน้านั้น คือท้าวมหายศ จึงคลานเข้าไปส่งหนังสือที่ปลอมมานั้นให้แก่ท้าวมหายศ เมื่อท้าวมหายศรับหนังสือนั้นแล้วเจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองก็ถอยออกมา ได้ที่พอสมควรจึงยกปืนที่ถือติดมือมานั้นยิงท้าวมหายศทันที ท้าวมหายศถูกกระสุนล้มลงขาดใจตายกลางวงหมากรุก (ลูกปืนนั้นยังทะลุออกไปฝังติดอยู่ที่รั้วทองเหลืองที่กั้นพระบรมธาตุตามที่เห็นอยู่ทุกวันนี้) ลูกปืนที่ใช้ยิงท้าวมหายศ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น หัวกระสุนทำด้วยทองคำ เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองทำเองจึงแรงมาก ยิงถูกท้าวมหายศแล้วยังไปเจาะรั้วทองเหลืองที่กั้นพระบรมธาตุอีก ทราบข่าวว่าต่อมามีการเจาะเอาไปบูชา แต่รอยของกระสุนยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันนี้นอกจากรอยกระสุนทองคำที่กั้นรั้วพระบรมธาตุในวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว ยังมีบ่อน้ำแห่งหนึ่งเรียกว่า บ่อน้ำ “ติ๊บจ๊าง” อยู่หลังโรงเรียนเทศบาล ๑ ตำบลปงยางคก)
พอท้าวมหายศสิ้นชีพ บรรดาทหารและเสนาก็พากันตกตะลึง เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองได้โอกาศจึงชักดาบออกตรงเข้าฟันนายทหารเหล่านั้น ดวงไต้ที่จุดอยู่ก็ดับลง ทหารเหล่านั้นจึงเกิดฟันแทงกันโกลาหล เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองจึงรีบเล็ดลอดออกไปตามทางระบายน้ำที่เข้า ปล่อยให้พวกลำพูนฆ่ากันเองวุ่นวาย พอเจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองออกมาได้ก็นำทหารลำปางเข้าโจมตีทันที พวกทหารลำพูนเบียดเสียดยัดเยียดกันออกมาทางประตูวัด ก็ถูกพวกทหารของเจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองที่ซุ่มคอยทีอยู่ฆ่าเสียเกือบหมด ที่เหลือตายก็แตกหนีพ่ายไป เป็นอันว่ากองทัพของท้าวมหายศแตกพ่ายไปในคืนนั้น เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองเมื่อมีชัยก็ยกทัพออกติดตามขับไล่ข้าศึกของลำพูนแตกกระเจิงไปจนถึงดอยดินแดง (ดอยผีปั้นน้ำ) แล้วจึงเลิกทัพกลับคืนมาแวะนมัสการพระที่วัดปงยางคก อันเป็นวัดที่ตนเคยบวชเรียนและเป็นอุบาสกอยู่ ณ วัดนี้ ครั้นแล้วเจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองก็ได้เลิกทัพ ยกมาพักนอนที่ตำบลป่าติ้ว (เลยตำบลหนองกระทิงเวลานี้) รุ่งขึ้นก็กลับมาขอขมาเทพารักษ์และพระธาตุลำปางหลวง (ต่อมาจึงมีประเพณีเมื่อถึงเทศกาล กิ๋นก๋วยสลากประจำก็ต้องมีที่วัดปงยางคกก่อนวัดอื่นๆ ในนครลำปาง)
เจ้าติ๊บปะเทพบุญเรืองก็กลับมายังวัดพระแก้วชมภู นำเอาความมีชัยชนะมาประกาศแก่พลเมืองทั้งปวง และให้พลเมืองทั้งปวงกลับคืนมาอยู่ยังถิ่นเดิม พระมหาเถรเจ้าทั้งสองมีความโสมนัส จึงพร้อมใจกันกับไพร่ฟ้าประชาชนชาวเมืองทั้งหลาย ตั้งพิธีสถาปนาราชาภิเษกสรงน้ำมุรธาภิเษกให้หนานติ๊บปะวเนจร หรือเจ้าติ๊บปะเทพบุญเรือง สถาปนาให้เป็น “เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม” ครองเมืองเขลางค์นคร เป็นเอกราชปกครองตัวเอง เป็นอิสระไม่ขึ้นแก่พม่า ไม่ขึ้นต่อนครเชียงใหม่หรือกรุงศรีอยุธยา
เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง) ครองนครลำปางได้นานถึง ๒๗ ก็ถึงแก่ทิวงคต ในปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๒๑ (พ.ศ.๒๓๐๒) เอกศก และได้นำพระศพไปเผาและบรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ วัดปงยางคก
เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม มีโอรสธิดากับแม่เจ้าป๊มปาเทวี รวม ๖ คน เป็นชาย ๔ คน หญิง ๒ คน คือ
๑. เจ้าชายอ้าย (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์)
๒. เจ้าชายแก้ว (ได้ครองเมืองแทนบิดา เป็นบิดาของเจ้าเจ็ดตน)
๓. เจ้านางคำ
๔. เจ้าชายคำปา (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์)
๕. เจ้าชายพ่อเอือน (ถึงแก่กรรมในการรบกับท้าวลิ้นก่าน บุตรพ่อเมืองคนเก่า)
๖. เจ้านางกลม
หลังจากที่เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง) ถึงแก่ทิวงคตไปแล้ว และยังไม่ทันที่ราชบุตรจะได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน ท้าวลิ้นก่านพ่อเมืองคนเก่าซึ่งหนีไปครั้งแพ้แก่กองทัพท้าวมหายศนั้น ได้ไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่ประตูผา (เหนือเมืองลำปาง) ได้ทราบว่าเจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงครามถึงแก่ทิวงคต ก็ยกกำลังไพร่พลมาแย่งชิงเอาเมืองนครลำปางคืนจากเจ้าชายแก้วและเจ้าชายพ่อเอือนสองพี่น้อง เจ้าชายทั้งสองคนคุมไพร่พลออกต่อสู้ แต่กำลังพลของท้าวลิ้นก่านมีมากกว่า เจ้าชายทั้งสองเห็นว่าจะต่อสู้ไม่ไหว จึงอพยพถอยไปอยู่ยังเมืองลอง จังหวัดแพร่ ซ่องสุมชุมนุมพลได้มีกำลังพลพอประมาณ แล้วก็ยกทัพกลับมารบชิงเอาเมืองคืนจากท้าวลิ้นก่านอีก แต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่ท้าวลิ้นก่านอีกเป็นครั้งที่สอง ในการรบกันครั้งนี้ เจ้าชายพ่อเอือน น้องชายแก้วได้ถูกกระสุนปืนตายในที่รบ เจ้าชายแก้วต้องแตกหนีไปเข้าหาโป่อภัยคามินี แม่ทัพพม่าซึ่งมายึดครองเมืองเชียงใหม่-ลำพูนอยู่ในขณะนั้น โป่อภัยคามินี จึงนำตัวเจ้าชายแก้วไปเฝ้าพระเจ้าฉินพะยูชิน (มังระ) ณ กรุงอังวะ เพื่อเจรจาเรื่องขอกองทัพพม่ามาช่วย
ทางฝ่ายเมืองลำพูนคิดกบฏยกทัพมารบเมืองเชียงใหม่ โป่อภัยคามินีครองเมืองเชียงใหม่อยู่นั้นสู้มิได้ก็แตกหนีกลับไปยังเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะจึงเกณฑ์หัวเมืองฝ่ายเหนือเข้ากองทัพ ตั้งให้โป่ชุกเป็นแม่ทัพใหญ่ยกมา และนำตัวเจ้าชายแก้วและบุตรทั้งเจ็ดคนเป็นนายกองร่วมมาในกองทัพนั้นด้วย คุมพลมาตีเมืองเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง เมื่อกองทัพที่ยกมาตีเมืองเชียงใหม่-ลำพูน แตกแล้ว พม่าจับตัวท้าวลิ้นก่านตัดศีรษะเสีย (ศาลของท้าวลิ้นก่านยังอยู่ที่ประตูวัดปงสนุก ลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก) เมื่อคืนเมืองให้เจ้าชายแก้วแล้ว พระเจ้าอังวะมังระ ก็โปรดให้สถาปนาเจ้าชายแก้วเป็นที่ “เจ้าฟ้าชายแก้ว” ปกครองเมืองลำปางต่อไป ในปีวอก ฉอศก จุลศักราช ๑๑๒๖ (พ.ศ.๒๓๐๗)
ในระหว่างที่พม่าปกครองทั่วเมืองในแว่นแคว้นลานนาไทยนี้ พม่าได้ทำการกดขี่บังคับ ทำการทารุณกรรมพวกไพร่บ้านพลเมืองเป็นอันมาก พวกราษฎรก็พากันอพยพครอบครัวไปอยู่ตามป่าดง จนบ้านเมืองรกร้างปราศจากผู้คนอยู่อาศัย นอกจากพวกที่ยอมเป็นพรรคพวกของพม่ากับพวกพม่าเท่านั้นที่อยู่อาศัยภายในเมือง พวกที่ไม่ยอมเป็นทาสพม่าก็คุมสมัครพรรคพวกออกตั้งเป็นกองโจร อยู่เป็นก๊กเป็นเหล่า คอยทำการรังควาญพม่าและรบกับพวกกันเองจนหาเวลาปกติสุขไม่ได้ บ้านเมืองเกิดจลาจลทั่วไป ไม่เป็นอันทำมาหากิน ในสมัยนั้นพวกพม่าได้มีตราประกาศให้บรรดาหัวเมืองในลานนาทั้งปวงที่ตกอยู่ในอำนาจของพม่า ให้ผู้ชายสักขาดำแบบพม่า คือ สักเลยเข่าลงมา และผู้หญิงให้ขวากรูหู ใส่ม้วนลาน ซึ่งราษฎรก็เกรงกลัวอำนาจของพม่า ก็เลยสักและขวากรูหูอันเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาและเพิ่งเลือนหายไปเมื่อไม่นานมานี้เอง ที่พม่าให้สักขาและขวากรูหูผู้หญิงนี้ก็เพื่อจะให้เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าพวกไหนเป็นพวกพม่าหรือมิใช่ คนไหนที่ไม่ยอมสักขาและขวากรูหูก็ถูกพม่าทารุณกรรมและฆ่าตายเสียเป็นอันมาก เพราะถือว่าแว่นแคว้นลานนาไทยนี้เป็นเมืองขึ้นและเหล่าประชาชนพลเมืองก็เสมือนเป็นขี้ข้า ก่อให้เกิดความเจ็บแค้นขึ้นในหมู่ประชาชนทุกหย่อมหญ้า
แว่นแคว้นลานนาไทยตกเป็นเมืองขึ้นอยู่ในอำนาจของพม่าปกครองเป็นระยะเวลาร้อยๆ ปีอย่างนี้ จึงทำให้ต้องรับเอาวัฒนธรรมและศิลปกรรมของพม่าเข้าไว้โดยไม่รู้ตัว และที่ได้รับไว้สืบเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เช่น การสร้างวัดวาอาราม ซึ่งจะเห็นมีการสร้างรูปสิงห์ไว้ที่ประตู (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพวกพม่า) และสร้างรูปหงส์ไว้ที่ประตู (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพวกมอญ หงสาวดี) เครื่องหมายดังกล่าวนี้จะเห็นว่ามีตามบริเวณหัวเมืองที่ถูกพม่ายึดครองไว้เป็นเวลานาน เช่น เชียงแสน เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ เป็นต้น เครื่องหมายดังกล่าวนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความปราชัยที่พม่ามอบไว้ให้แก่เราเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ในกาลครั้งหนึ่ง พม่าได้ครองอำนาจเป็นเจ้าเป็นใหญ่อยู่ในภาคพื้นแว่นแคว้นลานนาไทยนี้
เจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง) เป็นปฐมวงศ์ของเจ้าเจ็ดตน ซึ่งเจ้าทั้งเจ็ดเป็นพี่น้องกัน มีความสำคัญเกี่ยวกับการกู้อิสรภาพของลานนาไทย และต่อมาเมื่อได้ทำการขับไล่พม่าออกจากลานนาไทยได้สำเร็จก็ได้เข้ารวมกับไทยกลาง และได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน มีเชื้อสายสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน
เชื้อสายของเจ้าพระยาสุรวฤๅชัยสงคราม (เจ้าหนานติ๊บจ๊าง) ที่ได้ครองเมืองเขลางค์นครลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงแสน เชียงราย ในเวลาต่อมาก็คือ โอรสธิดาของเจ้าฟ้าชายแก้ว อันเกิดแต่แม่เจ้าจันตาเทวี คือ
๑. เจ้ากาวิละ เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางได้ ๗ ปี แล้วย้ายมาครองเวียงป่าซาง ๑๓ ปี แล้วย้ายมาเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ ๑๗ ถึงแก่พิราลัยเมื่อพระชนมายุได้ ๗๑ พรรษา
๒. เจ้าคำโสม เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางได้ ๑๓ ปี ถึงแก่พิราลัยเมื่อพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา
๓. เจ้าน้อยธรรมลังกา เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ ๖ ปี ถึงแก่พิราลัยเมื่อพระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา
๔. เจ้าดวงทิพย์ เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางได้ ๓๑ ปี ถึงแก่พิราลัยเมื่อพระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา
๕. เจ้านางศรีอโนชา เป็นอัครชายากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีพระธิดาองค์หนึ่ง ชื่อ เจ้าหญิงพิกุลทอง
๖. เจ้านางศรีวรรณา สิ้นชีพเมื่อเยาว์
๗. เจ้าหมูหล้า เป็นอุปราชเมืองนครลำปาง ถึงแก่กรรมที่กรุงศรีอยุธยา มีพระชนมายุได้ ๓๙ พรรษา
๘. เจ้าคำฝั้น เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ ๑๑ ปี แล้วย้ายมาเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ ๒ ปี ถึงแก่พิราลัยเมื่อพระชนมายุได้ ๖๙ พรรษา พระองค์มีพระเทวี ๒ องค์ และหม่อม ๑๔ องค์ มีโอรส ๒๐ องค์ ธิดา ๒๔ องค์ รวม ๔๔ องค์
๙. เจ้านางศรีบุญตัน สิ้นชีพเมื่อเยาว์
๑๐. เจ้าบุญมา เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ ๑๒ ปี ถึงแก่พิราลัยเมื่อพระชนมายุได้ ๖๗ พรรษา
รวมโอรสและธิดาของเจ้าฟ้าชายแก้ว มีชาย ๗ คน หญิง ๓ คน ที่เรียกว่าเจ้าเจ็ดตนนั้น นับแต่เฉพาะที่เป็นชายเท่านั้น เป็นอันว่านครลำปาง (เขลางค์นคร) เป็นปิติภูมิและมาตุภูมิของราชวงศ์ฝ่ายเหนือ บรรพชนผู้เป็นต้นตระกูลของเจ้าเจ็ดตน อุบัติขึ้น ณ บ้านปงยางคก อำเภอห้างฉัตร นครลำปาง เมื่อช่วยกันขับไล่อิทธิพลผู้ยึดครองไปจากลานนาไทยแล้ว จึงแยกย้ายกันไปครองเมืองนครลำปาง นครเชียงใหม่ นครลำพูน เชียงราย เชียงแสน พะเยา เมืองพาน เมืองงาว เมืองฝาง เป็นต้นกำเนิดของสกุล ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน (สายเขียงแสน เชียงราย ส่วนใหญ่ใช้ “เชื้อเจ็ดตน”) ซึ่งเป็นเชื้อสายสืบทอดมาจาก “เจ้าหนานติ๊บจ๊าง” วีระบุรุษแห่งเขลางค์นครเช่นเดียวกัน
ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ก็มีพระบรมราชโองการ โปรดเล้าฯ ให้เลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครภาคเหนือทั้งหมด
บริเวณด้านหน้าวัดปงยางคก
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 พฤศจิกายน 2565 21:36:57 โดย Kimleng
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [
1
]
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
จากใจถึงใจ
-----------------------------
=> หน้าบ้าน สุขใจ
===> สุขใจ ป่าวประกาศ (ข้อความจากทีมงาน)
===> สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก)
===> สุขใจ ให้ละเลง (มุมทดสอบบอร์ด)
-----------------------------
สุขใจในธรรม
-----------------------------
=> พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
===> พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
===> ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
===> ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
===> นิทาน - ชาดก
=====> ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
=> ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
===> ธรรมะจากพระอาจารย์
===> เกร็ดครูบาอาจารย์
=> ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
=> สมถภาวนา - อภิญญาจิต
=> จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
=> เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
===> เอกสารธรรม
===> เสียงธรรมเทศนา
=====> ธรรมะจาก สมเด็จโต
=====> ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น
=====> เสียงบทสวดมนต์
=====> เพลงสวดมนต์
=====> เพลงเพื่อจิตสำนึก แด่บุพการี
=====> ธรรมะ มิวสิค (เพลงธรรมทั่วไป)
===> ห้อง วีดีโอ
=> เกร็ดศาสนา
=> กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
=> ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
=> บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
=> พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
===> พุทธวัจนะ ในธรรมบท
===> พุทธศาสนสุภาษิต
===> คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด
===> รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
===> รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ)
=> ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
===> ฐานข้อมูล มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย (Donation Exchange Center)
-----------------------------
วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
-----------------------------
=> วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
===> เรื่องราว จากนอกโลก
=====> ประสบการณ์เกี่ยวกับ UFO
=====> หลักฐาน และ การพิสูจน์ยูเอฟโอ
=====> คลิปวีดีโอ ยูเอฟโอ
=> ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
=> เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
===> ร้อยภูติ พันวิญญาณ
=====> ประสบการณ์ ผี ๆ
=======> เรื่องเล่าในรั้วมหาลัย
=====> ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
===> ดูดวง ทำนายทายทัก
===> ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
===> กระบวนการ NEW AGE
=> เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
-----------------------------
นั่งเล่นหลังสวน
-----------------------------
=> สุขใจ จิบกาแฟ
=> สุขใจ ร้านน้ำชา
=> สุขใจ ห้องสมุด
===> สุขใจ หนังสือแนะนำ
===> สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
===> สยาม ในอดีต
=> สุขใจ ใต้เงาไม้
=> สุขใจ ตลาดสด
=> สุขใจ อนามัย
=> สุขใจ ไปเที่ยว
=> สุขใจ ในครัว
===> เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว
=> สุขใจ ไปรษณีย์
=> สุขใจ สวนสนุก
===> ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
===> เวที จำอวด (จำอวดหน้าม่าน)
===> หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
===> หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
=====> เพลงไทยเดิม
===> แผงลอยริมทาง (รวมคลิปโฆษณาโดน ๆ)
คุณ
ไม่สามารถ
ตั้งกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
ตอบกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความได้
BBCode
เปิดใช้งาน
Smilies
เปิดใช้งาน
[img]
เปิดใช้งาน
HTML
เปิดใช้งาน
หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ
เริ่มโดย
ตอบ
อ่าน
กระทู้ล่าสุด
มหัศจรรย์แห่งศรัทธา.! วัดพระบาทปู่ผาแดง ลำปาง สวย unseen สุด ๆ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
มดเอ๊ก
0
1443
12 มกราคม 2560 09:41:21
โดย
มดเอ๊ก
หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ
0
1359
05 ตุลาคม 2561 12:58:16
โดย
ใบบุญ
วัดศรีชุม อ.เมือง จ.ลำปาง วัดพม่าที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng
0
1020
07 มีนาคม 2565 14:59:16
โดย
Kimleng
พลแบก (ยักษ์แบกและเทวดาแบก) วัดดอนไชย ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng
0
387
27 มีนาคม 2566 17:22:06
โดย
Kimleng
[ข่าวมาแรง] - ลำปาง : ตั้งโต๊ะล่าชื่อ-ล้อมวงถกทำไมต้องนิรโทษกรรมประชาชน ชี้คืนความยุติธรรม-ท
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด
0
119
12 กุมภาพันธ์ 2567 14:11:24
โดย
สุขใจ ข่าวสด
กำลังโหลด...