หนังเรื่อง Empire of the Sun สร้างและออกฉายเมื่อปี 1987 เป็นผลงานกำกับของสตีเวน สปิลเบิร์ก ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของเจ. จี. บัลลาร์ด (เจมส์ แกรม บัลลาร์ด) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน “คลื่นลูกใหม่” ของแวดวงนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ และโดดเด่นเป็นพิเศษกับการสะท้อนเนื้อหา ว่าด้วยจินตนาการด้านลบน่าสะพรึงกลัวที่ตรงข้ามกับสังคมในอุดมคติจนสุดขั้ว (มีศัพท์เรียกขานว่า dystopian)
นอกจาก Empire of the Sun แล้ว นิยายอีกเรื่องของเขาที่ได้รับการนำมาสร้างหนัง และประสบความสำเร็จ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างคึกคักแพร่หลายก็คือ Crash หนังปี 1996จากการกำกับของเดวิด โครเนนเบิร์ก)
เจ. จี. บัลลาร์ด เกิดและเติบโตที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1930 ประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กของเขามีหลายเหตุการณ์ใกล้เคียงกับตัวเอกในเรื่อง Empire of the Sun โดยเฉพาะการต้องตกระกำลำบากอยู่ในค่ายกักกันเชลยศึกของญี่ปุ่นอยู่หลายปี จนถือกันว่า งานเขียนชิ้นนี้มีลักษณะกึ่ง ๆ นิยายเชิงอัตชีวประวัติ
เรื่องราวโดยย่นย่อของ Empire of the Sun กล่าวถึงเด็กชายวัยประมาณ 10 ปีชื่อเจมส์ แกรม หรือเจมี ลูกชายเจ้าของโรงงานทอผ้าชาวอังกฤษ ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่หรูหราสุขสบายในเซี่ยงไฮ้ จนกระทั่งถึงปี 1941 กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าสู่มหานครดังกล่าว ทุกสิ่งทุกอย่างก็พลันเปลี่ยนไป
แง่มุมนี้ ได้รับการขยายย้ำ ผ่านภาพคัทเอาท์ขนาดใหญ่บนท้องถนน เป็นภาพโปสเตอร์หนังเรื่อง “วิมานลอย” หรือ Gone With the Wind ซึ่งสะท้อนเนื้อหาคล้ายกัน คือ กล่าวถึงอารยธรรม ความศิวิไลซ์ ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูในชีวิตชนชั้นสูงของเหล่าผู้ดีทางตอนใต้ของอเมริกา ซึ่งผ่านเลยลับไปแบบไม่มีวันหวนคืนย้อนกลับได้อีก เนื่องจากสงครามกลางเมือง
ชีวิตของเด็กชายเจมีก็เช่นกัน ระหว่างการอพยพหลบหนี ท่ามกลางความสับสนอลหม่านตื่นเตลิดของฝูงชน เจ้าหนูพลัดหลงกับพ่อแม่ ดิ้นรนต่อสู้เอาตัวรอดตามยถากรรมโดยลำพัง และโดนส่งตัวไปเข้าค่ายกักกันเชลยศึกที่ซูโจวในเวลาต่อมา
จากเด็กชายที่เคยได้รับการเลี้ยงดูแบบพะเน้าพะนอตามใจในทุกเรื่อง มีคนรับใช้คอยสนองตอบความต้องการตลอดเวลา เจมีซึ่งได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นจิมมี (เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตใหม่ โดยชายชาวอเมริกันที่เขาพบเจอระหว่างเร่ร่อนจรจัด) ต้องกระเสือกกระสนทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด ตั้งแต่การฉกฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบเล็ก ๆ น้อย ๆ (เช่น ขโมยสิ่งของจากศพคนตาย) ไปจนถึงการละทิ้งคุณธรรมความดีงาม ใช้เล่ห์เหลี่ยมรวมถึงจิตใจเย็นชาแข็งกระด้าง มองข้ามทุกข์ร้อนของผู้อื่น เพื่อแสวงหาความมั่นคงทางวัตถุ
จากเด็กชายผู้อ่อนแอ มีคนคอยปรนนิบัติ จิมมีกลายเป็นเด็กที่กร้าน กร้าว และแกร่ง สามารถดูแลตนเองและฉลาดคล่องแคล่วในการ “เอาตัดรอด” ชีวิตในค่ายกักกักของจิมมี ตกอยู่ท่ามกลางอิทธิพลของผู้ใหญ่สองคน รายแรกคือ หมอชาวอังกฤษชื่อดร. รอว์ลินส์ ซึ่งพยายามสั่งสอนให้การศึกษา ชักนำเด็กชายไปสู่หนทางอันถูกควรรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี ขณะที่อีกรายคือ ชายชาวอเมริกันชื่อเบซี มีบทบาทโน้มน้าวให้เจ้าหนูรู้จักปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อความอยู่รอด โดยไม่ต้องพะวงถึงคุณธรรมใด ๆ
อาจกล่าวได้ว่า นอกจากจะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์สงครามแล้ว จิมมียังตกอยู่ในระหว่างการปะทะทางความคิด 2 ฝ่าย คือ ความดีงามกับความเลวร้าย
ผลสุดท้าย สภาพห้อมล้อมที่เต็มไปด้วยความตาย ความเจ็บไข้ ความอดอยากขาดแคลน และความโหดร้ายรุนแรง ซึ่งปรากฎให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็ชักนำเด็กชายโน้มเอียงเลือกข้าง “ความอยู่รอด” หันหลังให้แก่ศรัทธาในพระเจ้าและความถูกต้องทางด้านศีลธรรม ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ มันสอดคล้องตรงกับความเป็นจริงรอบ ๆ ตัวมากกว่า (และเหตุการณ์ถัดมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า คนอย่างดร. รอว์ลินส์กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไม่สามารถหยัดยืนเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์สงคราม ตรงข้ามกับนักฉวยโอกาสที่เห็นแก่ตัว เหลี่ยมจัด และไร้น้ำใจอย่างเบซี ซึ่งผ่านคลื่นลมภัยร้ายต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี)
เรื่องราวจบลง เมื่อสงครามยุติ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จิมมีหวนคืนกลับมาพบพ่อแม่อีกครั้ง
ทว่าสิ่งที่แปรเปลี่ยนก็คือ ไม่มีเจมีคนเดิมอีกต่อไป ที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้าของพ่อและแม่ มีเพียงเด็กชายชื่อจิมมี ซึ่งผิดแผกแตกต่างจนเกือบเป็นคนละคน ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและความคิดจิตใจเบื้องลึก
ในทางเนื้อหา Empire of the Sun สะท้อนประเด็นละม้ายใกล้เคียงกับ Pan’s Labyrinth นั่นคือ เป็นเรื่องของเด็กที่ถูกผลักไสให้เข้าไปข้องแวะพัวพันกับความโหดร้ายในโลกของผู้ใหญ่
ขณะที่ Pan’s Labyrinth ใช้โลกของนิทานและการผจญภัยในจินตนาการ มาสะท้อนให้เห็นถึงด้านงดงามของวัยเยาว์ที่โดนสั่นคลอน Empire of the Sun ก็สะท้อนแง่มุมเดียวกัน ผ่านบทเพลงบทหนึ่ง
เพลงดังกล่าวมีชื่อว่า Suo Gân Suo Gân (อ่านออกเสียงว่า ซีกาน) เป็นเพลงกล่อมเด็กพื้นบ้านเก่าแก่ของเวลส์ ความหมายเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษคือ Soothing Song หรือ Lullaby แต่บ่อยครั้งก็นิยมเรียกเพลงนี้ในชื่อว่า Sleep My Baby
บทเพลงดังกล่าว ไม่ทราบชื่อผู้เขียนเนื้อร้องและทำนอง แต่สันนิษฐานกันว่า แต่งขึ้นราว ๆ ช่วงต้นศตวรรษ 1800 (บางแหล่งข้อมูลระบุว่า แต่งขึ้นในปี 1794)
เนื้อร้องภาษาเวลส์ที่ได้รับความนิยมมากสุด และยึดถือกันว่าเป็น “ต้นแบบดั้งเดิม” (และเป็นเนื้อร้องเดียวกับที่ปรากฎในหนัง) ได้รับการค้นพบที่แลนเบอริส ทางตอนเหนือของเวลส์ และมีการนำตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1904
ในเวลาต่อมา ความไพเราะซาบซึ้งตรึงใจของเพลง Suo Gân ส่งผลให้เป็นที่นิยมในวงกว้าง และมีการแตกแขนงเนื้อร้องออกไปอีกมากมายหลายสำนวน (โดยใช้ท่วงทำนองเดียวกัน) มีทั้งที่เป็นภาษาเวลส์ และนำมาแปลและแปลงใหม่เป็นภาษาอังกฤษอีกมากมาย ส่วนใหญ่มักสะท้อนใจความคล้าย ๆ กัน คือ กล่าวถึงบทเห่กล่อมของแม่ที่แสดงความรักต่อลูกอย่างอบอุ่นอ่อนโยน
ความโดดเด่นของเพลง Suo Gân นั้นอยู่ที่ท่วงทำนองอ่อนหวาน ไพเราะ ติดหูจดจำง่าย รวมทั้งคำร้องที่เต็มไปด้วยชั้นเชิงโวหารลีลากวีอันสละสลวย
นี่คือตัวอย่างของคำแปลเนื้อร้องบางส่วนในช่วงท่อนต้นเพลง
Sleep my baby, at my breast,
’Tis a mother’s arms round you.
Make yourself a snug, warm nest.
Feel my love forever new.
Harm will not meet you in sleep,
Hurt will always pass you by. เพลง Suo Gân เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ในหมู่ผู้สนใจเพลงพื้นบ้านและเพลงกล่อมเด็ก มาเป็นเวลาเนิ่นนาน แต่การปรากฎในหนัง Empire of the Sun (โดยการร้องของเจมส์ เรนเบิร์ด และมีคริสเตียน เบลผู้รับบทเจมี ร้องลิปซิงค์ในหนัง) ยิ่งทำให้บทเพลงดังกล่าว ได้รับความนิยมในวงกว้างไปทั่วโลก มีศิลปินต่าง ๆ นำมาร้องใหม่อีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ที่โด่งดังและหาฟังได้ไม่ยากนักคือ เสียงร้องของชาร์ล็อตต์ เชิร์ชในอัลบั้มชุด Voice of an Angel
สตีเวน สปิลเบิร์กใส่เพลง Suo Gân เอาไว้ในหนังเรื่อง Empire of the Sun สองครั้ง คือ ฉากเปิดเรื่องและปิดเรื่อง
ในตอนต้น ผู้ชมจะได้ยินเสียงเพลงดังกล่าว ประกอบกับภาพผืนน้ำชายฝั่งเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีโลงศพจำนวนหนึ่งลอยมา จากนั้นก็มีเรือติดธงชาติญี่ปุ่น ปรากฎขึ้นชนโลงศพ ขณะที่เสียงร้องยังคงต่อเนื่อง เชื่อมโยงไปสู่ฉากต่อมา เป็นโบสถ์ในโรงเรียนคริสต์ ซึ่งบรรดาเศรษฐีชาวตะวันตก ส่งลูกหลานมารับการอบรมศึกษา และเปิดตัวให้เห็นเจมีกำลังร้องเพลงดังกล่าว ร่วมกับคณะประสานเสียง
ส่วนฉากท้ายเรื่อง เพลง Suo Gân ดังขึ้น โดยไม่แสดงภาพคนร้อง เมื่อบรรดาเด็ก ๆ ที่พลัดพรากจากพ่อแม่ในสงคราม มีโอกาสได้หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง รวมทั้งเจมี และยังคงได้ยินเสียงร้องต่อเนื่องไปถึงภาพทิ้งท้าย ซึ่งย้อนกลับมายังผืนน้ำชายฝั่งเมืองเซี่ยงไฮ้
ครั้งนี้ไม่มีโลงศพลอยน้ำ แต่มีกระเป๋าหนังใบหนึ่ง (ซึ่งเป็นใบเดียวกับกระเป๋าที่จิมมีเก็บสมบัติส่วนตัว เช่น หนังสือการ์ตูน เครื่องบินจำลองขนาดเล็ก ฯ และปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง) เข้ามาแทนที่
โดยความเกี่ยวโยงกับเนื้อเรื่องแบบตรงไปตรงมา เพลง Suo Gân ในช่วงต้นเรื่อง บอกเล่าถึงฐานะความเป็นอยู่หรูหราสุขสบายของเจมี (คือ การได้เรียนในโรงเรียนคริสต์ และร่วมวงเป็นสมาชิกในคณะประสานเสียง) ส่วนช่วงท้ายเรื่อง เพลงดังกล่าว มีบทบาทในการโน้มน้าวอารมณ์สะเทือนใจ คือ ใช้ประกอบภาพการสวมกอดระหว่างเจมีกับแม่
อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของเพลง Suo Gân อาจตีความได้อีกแบบ นั่นคือ มันเชื่อมร้อยเข้ากับภาพโลงศพและกระเป๋าลอยน้ำ ตอนต้น-ตอนท้ายเรื่อง
ลักษณะของภาพในมุมเดียวกัน เพียงแค่เปลี่ยนวัตถุจากโลงศพมาเป็นกระเป๋าหนังของเจมี แสดงออกเด่นชัดถึงเจตนาในเชิงเปรียบเปรย
พูดง่าย ๆ คือ กระเป๋าหนังดังกล่าว ดูเหมือนโลงศพขนาดเล็ก เมื่อประกอบกับข้าวของที่บรรจุอยู่ภายใน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเด็ก
บวกรวมกับการที่ผู้ชมได้เห็นเจมีขับขานบทเพลง Suo Gân ในตอนต้น และได้ยินเฉพาะเสียงโดยไม่เห็นตัวคนร้องในตอนท้าย (ความหมายในแง่นี้ก็คือ เจมีร้องเพลงดังกล่าวไม่ได้อีกแล้ว)
บวกรวมกับความหมายในเนื้อร้องที่สะท้อนถึงความรักของแม่ลูกและการเห่กล่อม
อาจสรุปรวมความได้ว่า ทั้งหมดนี้เปรียบเปรยสะท้อนถึง “ความตายของช่วงวัยเยาว์” ก่อนเวลาอันควร จากต้นตอสาเหตุที่เขียนขึ้นด้วยถ้อยคำสั้นๆ แค่ว่า “สงคราม”http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000101075