'คำโกหกที่รู้สึกดี' กับ 'ความจริงที่ปวดใจ' ใน ซีรีส์ 'Analog Squad ทีมรักนักหลอก'
Analog Squad ทีมรักนักหลอกโกหกเพื่อความสุข…สนุกกับความปลอม90s จัดเต็ม …. โคตร “คลาสสิก”
สำหรับ Analog Squad ทีมรักนักหลอก เป็นซีรี่ส์ความยาว 8 ตอน เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 บนแพลตฟอร์ม Netflix น่าจะเป็นคอนเทนต์ของไทยชุดสุดท้ายก่อนปิดปี 2566 ที่ใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียวก็ไต่ขึ้นไปเป็นซีรีส์คนดูมากสุดอันดับ 1 ใน Netflix ประเทศไทย
เพจหนัง, เพจรีวิวซีรี่ส์ ต่างๆ พร้อมใจกันอวยยศอย่างพร้อมเพรียงโดยมิได้นัดหมาย ให้คะแนนตั้งแต่ 10/10 ไปยัน 2000/10 เชียร์กันแบบไม่พัก ตกหลุมรักเรื่องราวของ “ทีมรักนักหลอก” กันแบบถอนตัวไม่ขึ้น และผู้เขียนก็เป็นอีก 1 ที่มิอาจต่อต้าน ได้แต่เข้าร่วมขบวนอวย ช่วยกันเชียร์แต่โดยดี
ต้องยอมรับว่า ซีรี่ส์ชุดนี้จากฝีมือการกำกับของ ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร (คิดถึงวิทยา, หนีตามกาลิเลโอ และ Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย) ทำออกมาได้กลมกล่อม ลงตัวครบองค์ประกอบในแทบทุกด้านจริงๆ
เมนคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรง ว่าด้วยเรื่องทีมเฉพาะกิจที่รับจ้างไปแสดงตัวเป็นครอบครัวปลอมๆ ของ “ปอนด์” เพื่อกลับไปเยี่ยม “ปู่เขียว”, “ย่าสดใส” บนความคาดหมายว่า ทำเพื่อวาระสุดท้ายให้ “ปู่เขียว” ชื่นใจก่อนจะลาโลก แล้วทุกคนก็แยกย้าย ได้เงินกันไปตามที่ตกลง (แบบที่เราเคยได้ยินข่าวว่า ในจีน, ญี่ปุ่น มีบริการรับจ้างเป็นญาติ รับจ้างเป็นแฟนเพื่อกลับไปให้คนในครอบครัวสบายใจ)
นั่นกลายเป็น Messege หลักที่ชวนคิดว่า มันก็ไม่น่าจะผิดบาปอะไรกับการ “โกหกเพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจ”
แต่เรื่องราวก็ค่อยๆ ขยายออกไปไม่จบสิ้นกันง่ายๆ เพราะครอบครัวตัวปลอมที่ดันอินจัดเกินค่าจ้าง แถมยังค่อยๆ สานต่อความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปอย่างน่าสนใจสำหรับคนแปลกหน้ากลุ่มนี้ ขณะเดียวกันก็เริ่มคลี่ขยายปมของตัวละครแต่ละคน แต่ละคู่ ที่ต่างก็มีบาดแผล และเรื่องราวที่ชวนให้ผู้ชมเข้าไปสำรวจกันทีละจุดๆ
ขอชื่นชมทีมเขียนบทที่ต้องทำการบ้าน, รีเสิร์ช อย่างหนักทั้งในแง่การเล่าเรื่องของตัวละครอย่างน้อย 3-4 ครอบครัววางประเด็นเชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผลและความเป็นไปได้ที่น่าเชื่อถือ ยังไม่นับการทำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตของคนในช่วงเวลาดังกล่าว (พ.ศ.2542หรือ ค.ศ.1999) อันเป็นรอยต่อของยุค 90s ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคมิลเลเนียม (ค.ศ.2000)
ความคลั่งไคล้ในยุค 90-2000 ถูกหยิบใส่มาแบบจัดเต็ม และจังหวะดีมาก ทั้งเรื่องข่าว เหตุการณ์ระดับโลก (Y2K) เพลง, ดนตรี, กีฬา (แมนฯยู-ลิเวอร์พูล), ร้านเช่าวิดีโอเทป , สื่อสารผ่านเพจเจอร์, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ , ทามาก๊อตจิ, เกมบอย, การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ฯลฯ (วัยรุ่นและคนยุค 90s ย่อมฟิน ถวิลหาอดีตอันดีงามในห้วงเวลานั้น)
ในซีรี่ส์ยังมีมีลายเซ็นของความเป็นคนรักหนัง ดูหนังอย่างเนิร์ด จำประโยคที่ตัวละครสนทนากันได้ขึ้นใจ แอบเสียบเข้าไปในหลายฉาก และแน่นอนว่าในซีนที่ให้ปู่เขียวเลือกกินยาเม็ดสีฟ้า, สีแดง นั้น แฟนานุแฟน Matrix ต้องมีแอบยิ้มกันบ้างละ
มีความประดิษฐ์ประดอยอย่างเนี๊ยบ ให้ทุกซีน ทุกฉาก มีความลงตัวขององค์ประกอบ โทนสี การจัดแสง สไตล์คล้ายๆ งานของผู้กำกับญี่ปุ่น (ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ) หรืออารมณ์ประมาณที่ พี่เก้ง-จิระ มะลิกุล ปั้นงาน “เหมืองแร่” ได้เป๊ะทุกสิ่งอัน (ผมชอบทั้งฉากในร้านถ่ายรูป, ห้องของ ลิลลี่ และเกสต์เฮ้าส์บ้านของ เก๊ก)
ที่สำคัญ เท่าที่ผานมานั้น มีหนัง-ซีรี่ส์ไทยมีน้อยเรื่องมาก ที่เล่นกับยุค 90 อันยึดโยงกับจุดเปลี่ยนสำคัญของสังคม นั่นคือ วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540(1997) ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตคนทุกระดับชั้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาวะ ตกงาน, ขาดทุนจากการทำธุรกิจ กลายเป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องเปลี่ยนตัวเอง ตั้งต้นชีวิตใหม่ ฯลฯ (ทุกครอบครัวในเรื่องต่างก็โดนชะตากรรมนี้)
งานเขียนบทพาร์ทโรแมนติก ก็ทำออกมาได้พอดีๆ ไม่เวิ่นเว้อ ทั้งคู่ของ ปอนด์-ลิลลี่ (สาวเฟี๊ยวกับหนุ่มใหญ่แบดบอย), เก๊ก-บุ้ง (วัยรุ่นสร้างตัว กับสาวทอมที่สับสนว้าวุ่น) , ป๋ารัก-ปูเป้ (รักรุ่นใหญ่ที่ผ่านชีวิตมาโชกโชนและอยากแก้ไขอะไรบางอย่าง)
ทีเด็ดแบบเหนือความคาดหมายคือการแคสติ้งแบบฟ้าประทาน และ นักแสดงปล่อยของกันแบบโคตรเทพ เหล่าศิลปินดารา-นักร้อง ที่เราต่างคุ้นตาในยุค 90s มารวมตัวกันรับบทต่างๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งการได้เห็นคนที่ไม่คิดว่าจะกลับมารับงานแสดงอย่าง น้ำฝน-กุลณัฐ กุลปรียาวัฒน์, ตุ๊ก-วิยะดา โกมารกุล ณ นคร, โยโกะ ทาคาโน่, กษาปณ์ จำปาดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่อ้อง-สุรสีห์ อิทธิกุล (ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าแกรับงานแสดง) มาโลดแล่นถ่ายทอดเรื่องราวพร้อมกันแบบนี้
ขออนุญาตอุทานแบบในซีรี่ส์เลยว่า
“เชี่ย!… แม่งโคตร คลาสสิก”
แล้วไม่ใช่แค่กลับมาปรากฎตัวตามบทธรรมดา แต่ทุกคนทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม จนต้องยอมรับว่า พลังฝีมือในการแสดงของนักแสดงเหล่านั้น มีส่วนสำคัญที่พาให้ผู้ชมรู้สึกผูกพัน เห็นอกเห็นใจ อินไปกับเรื่องราวของแต่ละคนที่ต่างก็มีปมแตกต่างกันไป
พี่อ้อง-สุรสีห์ ในบทปู่เขียว เล่นน้อยๆ แต่อิมแพ็คดีมาก ถือว่าเหนือความคาดหมายจริงๆ (อารมณ์เดียวกับที่พี่มาด-สามารถ พยัคฆ์อรุณ โดดเด่นเหลือเกินใน “มนต์รักนักพากย์”) น้ำฝน ไม่ได้แค่มาโชว์หุ่นเซี๊ยะเกินวัย แต่ถ่ายทอดอารมณ์ของคนเหงาได้อย่างมีมิติ(ผมชอบฉากกินเหล้าข้างโลงศพมาก)
ขณะที่นักแสดงหลักทั้งหมดก็ไม่มีใครเป็นจุดด้อย ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ ชนิดที่ ผู้กำกับฯ ก็น่าจะขออะไรได้ไม่มากไปกว่านี้
ส่งท้ายกลับไปที่เมนไอเดียเริ่มต้น ซีรี่ส์พาผู้ชมไปสำรวจการให้คุณค่ากับชีวิต ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว คนในครอบครัวซึ่งที่สุดแล้ว มันก็ไม่ง่ายที่จะไปพิพากษาใครต่อใคร จากมุมที่เรามองเข้าไป แล้วอาจยังเห็นไม่ครบถ้วน
แทนที่จะสั่งสอนว่า ต้องเป็นคนดี มีจริยธรรม ไม่โกหก … แต่หนังกล้าตั้งคำถามชวนให้ถกกันว่าแล้วถ้า โกหกมันช่วยให้คนสบายใจล่ะ…??
เช่นเดียวกับคำว่า “ยอมรับ” หรือ “ให้อภัย” จริงๆ แล้วเป็นคำใหญ่ เป็นความรู้สึกที่ต้องผ่านความเจ็บปวด อดทน จนตกผลึกมาพอสมควร กว่าที่จะเลือกตัดสินใจได้
และมุมหนึ่งที่ซี่ส์ พยายามส่งสารออกมายังผู้ชมโดยเฉพาะในช่วงกลาง-ท้ายเรื่องนั่นคือ ที่สุดแล้ว ก็ต้องกลับไปเผชิญหน้ากับความจริง และผลักดันให้ชีวิตเดินหน้าต่อไป กล้าที่จะสู้ กล้าที่จะลองผิดลองถูก กับทุกๆ เรื่อง เหมือนที่ ย่าสดใสสอนม่อนเอาไว้ให้ตะโกนใส่มัน….
“กูไม่กลัวมึงหรอกโว้ยยยย”
แค่มองย้อนอย่างเข้าใจ เชิดหน้าเดินต่อ มูฟออน กับชีวิต… เพราะโลกก็ยังไม่แตกง่ายๆ หรอกนะ วัยรุ่น Y2K
จาก
https://feedforfuture.co/feed-ent/46686/จาก
http://www.tairomdham.net/index.php?topic=16185.msg47302#msg47302https://www.youtube.com/v//m6KAeB8Or10https://youtu.be/m6KAeB8Or10?si=ladpBFoCqnsgI2wg