อิเหนา : ภาพโดย ครูเหม เวชกร
อิเหนาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงแปลจากต้นฉบับภาษามะลายูภาคปฐม ๑ผู้เจ้าของเรื่องนี้กล่าวว่า นิทานนี้เป็นเรื่องในกะยาหงัน๒ โลกสวรรค์ชั้นฟ้า ใคร่จะทำเป็นบทละคอน๓ เพื่อให้กลายเป็นตำนานนิยายด้วย เหตุว่าในกาลนั้นในโลกเรานี้ ยังไม่ครึกครื้นแน่นหนาฝาคั่งและมนุษย์ก็ยังไม่มีมากนัก จึงชาวกะยาหงันปรึกษาพร้อมใจกันจะลงสู่ยังโลกพิภพ เพื่อจะได้เกิดเป็นเรื่องละคอนและตำนานยืดเยื้อสืบไปช้านาน
ครั้นพร้อมใจกันดังนั้นแล้ว ต่างก็จุติลงยังมนุษย์โลก ในจำนวนนี้เข้าสู่รูปมนุษย์เป็นระตู๔ สี่องค์ คือ ระตูกุรีปัน๕ ระตูดาหา และระตูกากะหลัง๖ กับพระนางบุตรี๗ นีกู๘ คันฑะส้าหรี๙ ณเขากูหนุงวิลิส๑๐ ซึ่งประตาปา๑๑ผนวชอยู่ ณ ที่นั้น
ก็และระตูทั้งสี่นี้เป็นพี่น้องกันสิ้น และต่อมาภายหลังก็กลายเป็นเรื่องนิทานที่สนุก อันพวกดาหลัง๑๒ นำมาใช้เป็นเนื้อเรื่องใหม่สำหรับเล่นละคอน
เรื่องเทพาวตารจากโลกสวรรค์ลงสู่โลกพิภพ ที่เล่าแถลงนี้ก็มิได้มีความมุ่งมาทอย่างอื่นใดนอกจากจะให้เป็นอุบายและแบบอย่างที่จะให้เกิดเป็นนิทานเรื่องหนึ่ง ซึ่งไพเราะสนุกสนานเท่านั้น
อันระตูที่มีชนมายุยิ่งกว่าองค์อื่นๆ นั้นประทับครองบัลลังก์ราชย์ ณ นครกุรีปั่น มีเกียรติเลื่องชื่อฦๅชาขจรไปทุกประเทศเขตต์นิคมชนบท และทั่วทุกซอกตรอกทาง ร้านตลาด ด้วยอาณาเขตต์ของพระองค์กว้างใหญ่มาก และเป็นที่นิยมรักใคร่ของบรรดาพ่อค้าวานิช เหตุด้วยมีพระราชอัธยาศรัยบริบูรณ์ด้วยขันตีธรรมสุจริตเลิศโดยพระชาติวุฒิ และวิจักขณญาณ๑๓ และเข้มแข็งในเชิงยุทธ เป็นที่รักใคร่ยิ่งนักของประชาชน และเหล่าตำมะหงง๑๔ มนตรีมุข ด้วยพระจรรยาเที่ยงธรรม ไม่โปรดฟังถ้อยคำอันไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเรื่องใด ย่อมทรงใคร่ครวญชั่งน้ำหนักผิดชอบก่อนทั้งสิ้น พระราชจรรยาของพระเจ้ากรุงกุรีปั่นมีปกติเป็นประการฉนี้แล
ระตูองค์ที่สองรองลงมานั้นครองราชบัลลังก์นครดาหา.
ก็และระตูดาหานั้นมีอัครชายาเป็นประไหมสุหรีหนึ่ง มีชายารอง๑๕ สองประไหมสุหรีนั้นมีนามว่าพระนางบุตรีบุษบา หนึ่งหรัด๑๖ ส่วนชายารองนั้น นางหนึ่งมีนามว่ามหาเดหวี๑๗ และอีกนางหนึ่งซึ่งสาวกว่าเพื่อน และโปรดมากนั้น มีนามว่าท่านลิกู๑๘ และพระราชอัธยาศรัยของระตูดาหานั้นมักปล่อยพระองค์น้อมไปตามตัณหากามารมย์ หมกมุ่นลุ่มหลงด้วยสตรีเพศ พระชายาสนมนางห้ามคนใดเป็นที่ทรงถวิลจินดา๑๙ สิเนหาตองพระหทัยแล้ว จะมีใจปรารถนาสิ่งอันใดก็ทรงอนุวัตตามเป็นนิตย์ อนึ่ง พระอุปนิสัยมีขันตีธรรมแรงกล้า พระชายาสนมกำนัลในจะเจรจาว่ากล่าวประการใดก็ไม่ทรงถือโทษเอาผิดเสียเลย พระราชจรรยาของเจ้ากรุงดาหามีปกติเป็นประการฉนี้แล.
ฝ่ายว่าองค์ที่สามรองลงมานั้นก็เป็นชาย และได้เป็นราชาครองเมืองกากะหลัง ก็และนครของพระองค์นั้นสงบราบคาบดีด้วยสันติภาพ มีพ่อค้าพานิชน้อยใหญ่ตั้งห้างร้านซื้อขายเป็นอันมาก ทั้งคนที่สมบูรณ์มั่งคั่งก็มีอยู่มากในนครนั้น พระราชวังก็ใหญ่โตสร้างขึ้นอย่างวิจิตรงดงาม ทั้งบรรดาเครื่องตั้งเครื่องแต่งก็ล้วนแต่งามประณีตรุ่งโรจน์ สระน้ำ และกำแพงบรรดามีอยู่ขวาซ้าย ถนนหนทางใหญ่น้อย ก็ล้วนแต่ทำด้วยศิลา ถนนหลวงสายใหญ่ก็ร่มรื่นตลอดไปด้วยต้นไม้ใหญ่อย่างงามๆ กับต้นไม้ผลอันโอชารส
อนึ่งเล่าพระราชอัธยาศรัยของพระองค์นั้น มักทรงคล้อยตามคำพูดและความประสงค์ของคนทั้งหลาย ไม่โปรดที่จะทรงถือโทษเอาผิดผู้หนึ่งผู้ใดเลย ไม่แต่คำของบัณฑิต ซึ่งสโมสรพร้อมใจกันเพื่อจะทำกิจการอันดีอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น แม้แต่คำของพระชายา มนตรี เสนา นักรบ และดะหมัง๒๐ ตำมะหงุงทั้งปวงก็ทรงเชื่อฟังด้วยสิ้น เหตุฉะนั้นนครกากะหลังนั้นจึงแน่นหนาฝาคั่งไปด้วย บัณฑิตและชีพ่อพราหมณ และอาจารย์นักพรตซึ่งลงมาจากภูเขาแล้วเลยตั้งอาศรัยอยู่ในนครนั้น เพื่อจะสั่งสอนกุลบุตรซึ่งเปนชาวนาครกากะหลัง เรื่องดังมีมาเป็นประการฉนี้แล.
ฝ่ายว่าองค์ที่สี่ในจำนวนระตูนั้นเป็นองค์หญิง มีโฉมพระพักตรงามยิ่งนัก ทรงนามว่า บีกู คันฑะส้าหรี มีที่ประทับอยู่บนเขากุหนุงวิสิส เพราะพระอัธยาศรัยของบีกูคันฑส้าหรี นั้น โปรดบำเพ็ญประตาปา และในเวลากลางวันก็ดี กลางคืนก็ดี โปรดแต่ไปประทับอยู่ในป่าชัฎบนเขานั้นเท่านั้น พระองค์ทรงศักดิ์สิทธิ๒๑ยิ่งนัก และมีฤทธิสามารถเล็งเห็นเหตุการณใกล้ไกลทั้งปวง ไม่แต่ว่าในบรรดาคนทั้งหลายที่อยู่ในเมืองกากะหลัง และดาหาเท่านั้น แม้แต่เรื่องราวและความประพฤติของคนที่อยู่ในเมืองห่างไกลยิ่งกว่านั้นก็สามารถเล็งเห็นทราบตระหนักได้
เพราะฉะนั้น บีกูคันฑะส้าหรี จึงประทับอยู่แต่บนกุหนุง ไม่โปรดที่จะประทับอยู่ในบ้านในเมือง และตามข่าวที่คนเล่าแถลงกันนั้น นัยว่าเป็นด้วยเธอเป็นสตรีซึ่งไม่มีความประสงค์จะมีสวามี พระราชามหากษัตริย์ได้มีมาสู่ขอหลายองค์แล้ว เพื่อที่จะหาไปเป็นประไหมสุหรี เธอก็มิได้ทรงรับ กลับรู้สึกเบื่อหน่ายพระหฤทัย เหตุฉะนั้น จึ่งเสด็จออกประตาปา ประทับอยู่แต่ที่อาศรมสถาน ถเ กุหนุงวิลิสนั้นแล.
เมื่อออกบำเพ็ญประตาปาแล้วมิช้านาน ระตูเธอก็ปรีชาสามารถในวิทยาคมต่าง ๆ รอบรู้ในสรรพสิ่งอันน่าพิศวงอัศจรรย์ และกลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์มาก ครั้นแล้วก็ทรงสั่งสอนนักพรต พราหมณาจารย์และบัณฑิตเป็นอันมาก จึงมีนามกรฦๅชาปรากฏไปโดยรอบบรรพตนั้น เป็นที่เคารพนับถือของบรรดานักพรตนักบวชซึ่งอยู่ในปกครองของเธอ ด้วยว่าจะตรัสคำใดก็ดี จะประสงค์จำนงหมายสิ่งใดก็ดี ย่อมได้รับเทวานุมัติขององค์ สัง หยัง ชคตนาถ๒๒ ทั้งสิ้น จะขอร้องอันใดมหาเทวาธิราชเจ้าก็โปรดให้สำเร็จตามประสงค์ ทั้งเป็นที่รักของบรรดาเทวาและบะตาระ๒๓ ทั่วไป ไม่แต่พราหมณาจารย์และบัณฑิตเท่านั้น แม้แต่สัตว์ และภูตปิศาจอันดุร้าย บรรดาอยู่ป่าชัฎนั้น ก็ย่อมยำเยงเกรงกลัวก้มศีรษะนบนอบต่อบีกู คันฑะส้าหรีนั้นสิ้น แม้กระทั่งยมบาล ผีคนอง หลอนหลอก และเสือสมิง๒๔ ก็เคารพยำเกรงบีกู คันฑส้าหรีนั้นหมด ก็และที่เธอเสด็จไปประทับอยู่บนกุหนุงวิลิสนั้นได้นำไปด้วยซึ่งพี่เลี้ยงสาวสรรกำนัลใน อันพลอยเป็นนักพรตประตาปาไปด้วย และวิมุติแล้วสิ้นจากตัณหา และความใคร่ ในอันหาสุขหาทรัพย์แห่งโลกนี้ เพราะเหตุเขาทั้งหลายประพฤติเจริญรอยตามพระนางบุตรีนั้น ในจำนวนนางพี่เลี้ยงสาวสรรกำนัลในนั้น มีคนหนึ่งซึ่งมีนามว่า อุบุน อุบุน อินหนัง๒๕ เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระนางบุตรีอย่างยิ่ง ไม่ว่าเวลากลางวันกลางคืนเช้าหรือค่ำ และนอบน้อมบูชาสรรเสริญคุณสังหยัง เทวดา ปะตาระชคัต มหาเทวราชอยู่เป็นนิตย์ เรื่องราวความเป็นไปของบีกู คันฑะส้าหรีมีประการดังกล่าวนี้แล
บัดนี้จะย้อนกล่าวถึงองค์ระตูกุรีปั่น เมื่อได้ครองบัลลังกราชย์นั้นมาแล้วมิช้านาน วันหนึ่งก็ถึงกษณฤกษงามยามดี ก็ได้พระราชโอรสองค์หนึ่ง ซึ่งมีโฉมพระพักตรงามศิริวิลาศ พระฉวีวรรณนวลละอองผ่องใสไพโรจน์ลักษณ๒๖ บะตาระ อินทร๒๗ ในกะยาหงันชั้นฟ้าฉนั้น แล้วจึงได้พระนามว่า ระเด่น อินู กรตะปาตี๒๘ ฝ่ายทวยประชาชาวนาครถวายพระนามเรียกว่า ระเด่น อัสมาหรา หนึ่งหรัด๒๙ พระกุมารนี้มีพระพักตรงามยิ่งนัก และเป็นที่สิเนหาของทวยเทพบะตาระและเทวาทั้งหลาย ทั้งมีพระจริยานุวัตรน้อมไปในทางทำบุญให้ทาน ตรัสแต่ปิยวาจาไพเราะเสนาะโสตรอ่อนหวานลมุนลม่อม ประพฤติพระองค์งดงามน่ารักใคร่ อย่าว่าแต่สตรีเพศเลย แม้แต่ผู้ที่เป็นชายยังมีใจพิศวาสดิ์รักใคร่อย่างไม่สมฤดีในองค์ระเด่น อินู กรตะปาตี นั้น ฝ่ายพระราชา สัง ระตู กุรีปั่น ก็ทรงพระสิเนหาอาลัย๓๐เป็นอันมาก ตรัสสั่งกำชับให้พี่เลี้ยงนางนมข้าไทยคอยเฝ้าบริหาร ระแวดระวังเป็นอย่างดี ครั้นพระราชกุมารมีพระชนมายุสมควรจะศึกษา จึงจัดให้เล่าเรียนวิทยาคมบางประการ อันเป็นคุณประโยชน์แก่บุรุษชาติ และได้มีผู้เป็นสหายผู้ตามเสด็จของระเด่น อินู กรตะปาตี นั้นขึ้นสี่คน แต่ล้วนเป็นบุตรขุนนางตำมะหงุงสิ้น คนที่หนึ่งมีนามว่า ยะรุเดะ คนที่สองมีนามว่า ปูนตา คนที่สามมีนามว่า การะตาหลา และคนที่สี่มีนามว่า ประสันตา๓๑ ทั้งสี่คนนี้ได้เป็นผู้บรรเลงตลกคนองและเป็นผู้ตามเสด็จองค์ระเด่น อินู กรตะปาตี จะเสด็จไปไหนก็ตามไปด้วย มิได้พรากจากกันแต่สักวันเดียว อนึ่งเล่าทั้งสี่คนนี้เข้าใจในการที่จะปลอบโยนพระหทัยเจ้านายของตน และฉลาดในอันพูดจาเอาพระหทัยและรับใช้เจ้านาย ด้วยว่าทั้งสี่นายนี้คล่องแคล่วนักในการเล่นหัวฟ้อนรำและทำตลกคนอง จนกระทั่งใครๆ ก็ได้เห็นกิริยาอาการของผู้ตามเสด็จทั้งสี่คนนี้แล้วจะต้องหัวเราะก๊าก ๆ๓๒และถ้าเห็นเขากำลังเล่นตลกคนองแล้ว อย่าว่าแต่คนที่กำลังมีใจเศร้าโศกเลย แม้แต่คนกำลังร้องไห้อยู่ น้ำตาก็เหือดหายไป แล้วก็หัวเราะก๊ากๆ ฝ่ายระเด่น อินู กรตะปาตี ก็โปรดปรานคนตามเสด็จทั้งสี่นี้ยิ่งนัก และฝ่ายข้างทั้งสี่คนนั้นก็มีความจงรักภักดีในเจ้านายของตนเป็นอันมาก ไม่มีเลยแต่สักวันเดียวที่จะห่างจากพระองค์ไปพฤติการณ์เป็นอยู่ดังนี้แล
บัดนี้ จะกล่าวถึง สัง ระตู กากะหลัง เมื่อได้ประทับเหนือบัลลังก์ครองราชย์ ณ นครกากะหลังมาแล้ว มิช้านาน ก็ได้โอรสองค์หนึ่งได้นามว่า ระเด่นสิงหะมนตรี๓๓ สังระตูนั้นจึงตรัสให้มีพี่เลี้ยงนางนมบำรุงเลี้ยงพระกุมารนั้นสืบไป ท้าวเธอทรงสิเนหาอาลัยยิ่งนักในพระราชบุตรนั้น ด้วยว่าพระองค์มีพระราชโอรสแต่องค์เดียวนี้ หามีสองสามรองไปอีกไม่ ครั้นระเด่นสิงหะมนตรีนั้นทรงเจริญเติบใหญ่ขึ้นมีพระอุปนิสัยเลื่อนลอยไม่ดีเลย โปรดแต่คำเยินยอ บางเวลามีพระอัธยาศรัยประดุจวิกลจริต ฝ่ายพระราชาก็ทรงไร้อุบาย และพระหฤทัยไม่แข็งพอในอันจะห้ามปรามป้องกันความประพฤติและการกระทำผิดของพระราชโอรสได้แต่จะคล้อยตามความประสงค์ของเธอ จะขอประทานสิ่งใดก็มีแต่ทรงอนุญาติสิ้น ด้วยทรงสิเนหาอาลัยในพระราชบุตรนี้มากนัก เพราะมีอยู่แต่องค์เดียวเท่านั้น ถึงเวลาพลบค่ำทุกๆ วัน สิงหะมนตรีนั้นก็แต่งภูษาภรณ์อันมีราคาแพงๆ ไม่ยอมแพเจ้านายลูกหลวงอื่นใด ด้วยว่าพระชนกเป็นกษัตริย์มหาศาลครองเมืองใหญ่ ก็และเครื่องภูษิตาภรณ์ที่ทรงนั้นใช้อยู่มินาน พลันก็ผลัดเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เดี๋ยวก็ทรงทองกรรูปนาคประดับพลอยมรกฏและทรงคาดผ้าไหมพันสามรอบขึ้นไปจนจรดพาหา จะทรงทำการสิ่งใดก็ชอบแต่โอ้อวดออกหน้าอยากให้คนสรรเสริญเยินยอ บรรดาชาวนาครใครไม่ชมโฉมหรือไม่ยอมรับว่าเธอเป็นเจ้านายรูปงามแล้วก็ต้องถูกลงพระอาชญาตบเตะ หากใครเยินยอ ดังอุปมา๓๔ ว่า ระเด่น สิงหะมนตรี งามเฉิดฉายว่องไวนักฉนี้ไซร้ ก็ได้ประทานพระอนุเคราะห์๓๕ ด้วยส้าโบะ๓๖ ผ้าคาด และธำมรงค์ซึ่งกำลังทรงอยู่นั้น เพราะเป็นที่พอพระหฤทัยในอันกล่าวชมพระรูปพระโฉมว่าดีงามนั้น อนึ่งเล่า จะตรัสอันใดก็มีแต่พระวาจาก้าวร้าวและหยาบคาย ไม่มีเสียเลยที่จะใช้ถ้อยคำอันสุภาพและโสภณ๓๗หรือเรียบร้อย พระประพฤติของเธอเป็นดังกล่าวนี้แล
บัดนี้จะกล่าวถึงระตูดาหา ท้าวเธอมีราชธิดาสององค์ ๆ หัวปีมีนามว่า พระบุตรี ก้าหลุ จันตะหนา กิระหนา๓๘ เป็นธิดาขององค์ประไหมสุหรี นางมีศิริรูปฉวีวรรณนวลลอองผ่องใสงามสุดที่จะหาคำพรรณาได้ นาสิกประดุจกลีบกระเทียม นัยเนตรดุจดวงดาราทิศบุรพา ขนเนตรงอนพริ้ง นิ้วหัตถ์เรียวประดุจขนเหม้น เพลาน่องดังท้อง (อุ้ง) เมล็ดข้าวเปลือก ส้นบาทดังฟองไข่นก ปรางดังมะม่วงป่าห้อยอยู่ ขนงโค้งดังงากุญชร ริมโอษฐ์ดังโค้งมะนาวตัด เป็นอันยากที่จะเล่าแถลงให้พิศดารยิ่งกว่านี้ ด้วยจะหาที่ตำหนิตรงไหนแต่สักนิดหนึ่งก็หามีไม่เลย เป็นที่สนิธสิเนหาอย่างยิ่งแห่งประไหมสุหรี และพี่เลี้ยงนางนมทั่วไป อนึ่ง มีสาวสรรกำนัลในอยู่สองนางที่เป็นคนโปรดยิ่งนัก นางหนึ่งชื่อว่า เกน บาหยัน และอีกนางหนึ่งชื่อ เกน ส้าหงิด๓๙ นางกำนัลทั้งสองนี้มีความซื่อสัตย์ภักดี๔๐ ต่อองค์ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา นั้น มีลักษณะประดุจว่าเป็นชีวิตอันเดียวกัน อันพระบุตรีและนางกำนัลทั้งสองต่างมีความสิเนหาอาลัยซึ่งกันและกันดังนี้ ก็ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจเทวประสงค์ของเทพเจ้าทั้งหลายนั้นแล
ฝ่ายราชธิดาท้าวดาหาองค์เยาวนั้นเป็นของชายารองผู้มีนามว่าท่านลิกู ส่วนมหาเดหวีไม่มีบุตร ก็แต่กิระดังสดับมานั้นว่าเธอก็มีธิดาองค์หนึ่งนามกรว่า ประบาตะส้าหรี แต่ในหนังสือเรื่องนี้หากล่าวถึงไม่ กล่าวแต่ท่านลิกูเท่านั้นว่า ได้บุตรีมีนามว่า ก้าหลุ อาหยัง๔๑ เป็นธิดาชายารองของระตูดาหา ก็แลอัธยาศรัยของ ก้าหลุอาหยัง นั้น ไม่ซื่อตรงต่อ ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา แม้มีเรื่องอะไรแต่เล็กน้อยก็คอยแต่เก็บทูลฟ้องท้าวดาหา เพราะจะมีเหตุอะไรแต่สักนิดหนึ่ง เธอก็มักจะกรรแสงกลิ้งไปกลิ้งมาที่พื้นต่อหน้าท่านลิกูนั้น และไม่เคยยอมแพ้ใคร ชอบแต่จะให้คนพะนอ ส่วน ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา นั้น มีความประพฤติอ่อนโยน มีนิสัยอดทนและสุจริต คอยแต่ยอมแพ้เสียเสมอ และไม่เคยเอาความไปทูลร้องฟ้องแก่ประไหมสุหรีหรือสังระตูเลย ถึงยังเยาว์และยังไม่เดียงสา ก็รู้รักษาองค์ได้ดีแล้ว แม้กระนั้นก็ดี สังระตูก็ยังสิเนหาอาลัยยิ่งในก้าหลุ อาหยัง นั้น ด้วยก้าหลุ อาหยัง เป็นบุตรีท่านลิกู คือชายารองของสังระตู เหตุว่าท่านลิกูนั้นเป็นชายาสาว สังระตูทรงสิเนหาอาลัยมาก ไม่ว่าจะมีข้อพิพาทประการใดเป็นเอาชนะได้หมด หากว่ามีเรื่องอะไรแม้แต่เล็กน้อย ท่านลิกูนั้นก็มักจะเจรจาประชดกระทบกระแทก เช่นว่า
“เลิกกันเท่านั้นที, จริงสิ ข้าเจ้าเป็นเพียงหญิงชาวตลาด ไม่มีเชื้อวงศ์เทือกเถาเหล่ากอ ไม่มีใครรู้ว่าสืบพันธุ์มาแต่ไหน”
เหตุฉะนั้น สังระตู จึ่งลอายพระหฤทัย และทรงรู้สึกว่าไป ๆ ก็ถูกใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม แต่นั้นมาท่านลิกูจะพูดจาว่ากระไรก็ทรงคล้อยตามและตามใจทุกสิ่งทุกอย่าง ตามการณ์ที่เป็นดังนี้ไม่ช้าก็เป็นเรื่องเลื่องฦๅแพร่หลายไปจนกระทั่งถึงกรุงกุรีปั่นและกากะหลัง ซ้ำเมื่อท่านลิกูรู้สึกตนว่า สังระตู ทรงสิเนหาอาลัยในตนมาก ก็เกิดมีใจโหดร้ายขึ้นต่อองค์ประไหมสุหรี ผู้ชนนีของก้าหลุ จันตะหรา กิระหนานั้น ด้วยความเกลียดชังอย่างสาหัส ใคร่จะหาอุบายให้สังระตูทรงสละละทิ้งประไหมสุหรีเสียทีเดียว
มาวันหนึ่งประไหมสุหรีทรงแต่งองค์พระบุตรี ก้าหลุ จันตะหรานั้นด้วยเครื่องแต่งบางอย่าง ซึ่งทวีความงามของเธอขึ้นเป็นอันมาก ฝ่ายก้ากลุ อาหยัง ก็มีจิตรฤษยา จึงกลับไปขอให้พระมารดาของเธอคือท่านลิกูนั้นแต่งให้บ้าง ด้วยเธอจะไปประพาศตาหมัน๔๒บันยาส้าหรี กับจันตะหรา กิระหนา ฝ่ายจันตะหรา กิระหนา ใช้ผ้าคลุมเศียรสีชมภู ก้าหลุ อาหยังใช้ผ้าคลุมเศียรสีน้ำเงิน ครั้นก้าหลุ อาหยัง เห็นเครื่องแต่งองค์ของพระพี่นางไม่เหมือนกับของเธอ ซ้ำเห็นผ้าคลุมเศียรงามดียิ่งกว่าด้วย ก้าหลุ อาหยังก็เลยไม่อยากไป ด้วยเกิดทุกข์๔๓ขึ้นในหทัยของนาง ระแวงว่าสังระตูจะโปรดก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา ยิ่งกว่าตน และสงกา๔๔ ว่า ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา นั้นจะงามดียิ่งไปกว่าตน ด้วยที่มีทุกข์ระแวงกลัวว่าพระพี่นางจะยิ่งไปกว่าดังนี้ เธอจึงกรรแสงและตรัสว่า
“จริงสิ ข้าเจ้านี้เป็นลูกทิ้งขว้างและเป็นลูกเมียน้อย ไม่ใช่อาหนะ๔๕ ประไหมสุหรีจึงได้เป็นดังนี้ เสื้อผ้าของข้าเจ้านี้สังระตูประทานให้ผิดกัน ไม่ให้เหมือนกันกับองค์พระพี่นาง ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา”
สังระตูได้ทรงฟังถ้อยคำและทอดพระเนตร์เห็นอาการของ ก้าหลุ อาหยัง ดังนั้น ก็ทรงทุกขะจิตต์๔๖ โทมนัศและเจ็บพระหทัยยิ่งนัก แล้วจึงตรัสปลอบด้วยพระวาจาอันลมุนลม่อมว่า
“อุวะ๔๗ ลูกผู้ดวงใจของพ่อ เลิกที อย่าร้องไห้ไปเลย ใช่ว่าพ่อจะแต่งเธอให้ผิดแผกไปจากพี่สาว หรือจะยกย่องให้ต่างกันเมื่อไรมี เดี๋ยวเถอะ พ่อจะสั่งให้เปลี่ยนผ้าคลุมเศียรให้เธอเป็นอย่างอื่นให้งามยิ่งกว่านี้”
จึงก้าหลุอาหยัง สอื้นทูลว่า
“หม่อมฉันไม่รับประทาน จะขอแต่ให้ผ้าคลุมของหม่อมฉันนี้เหมือนกับของพระพี่นางก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา นั้น เท่านั้น”
กาลนั้น สังระตู ก็ตรัสสั่งให้เปลี่ยนผ้าคลุมเศียรเสียใหม่ให้เหมือนกันกับของ จันตะหรา กิระหนา ก็และอันที่จริงนั้นผ้าคลุมทั้งสองผืนนั้นก็มีราคาเท่ากัน หากแต่ต่างรูปต่างสีเท่านั้น อนึ่งเล่าเมื่อจะประทานผ้าทรงเครื่องแต่งแก่สององค์นี้ครั้งใด ก็โปรดให้ก้าหลุ อาหยังได้เลือกก่อนเสมอ แลวจึงประทานเศษ๔๘เหลือจากเลือกนั้นแก่ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา เพราะ สังระตู ทรงสิเนหาอาลัยโปรดก้าหลุ อาหยังมากกว่า และทรงเห็นแก่ท่านลิกู พระมารดาของเธอนั้นด้วยซึ่งโปรดยิ่งกว่าประไหมสุหรีชนนีของก้าหลุ จันตะหรา กิระหนานั้น อีกประการหนึ่งด้วยเหตุที่สังระตูโปรด ท่านลิกูก็ทูลยุยงส่อเสียดอยู่ทุกวันมิได้ขาด จนกระทั่งประไหมสุหา และธิดานั้นหาชีวิตอันสงบสุขมิได้เลย ท่านลิกูผู้มีใจทุจริตเอาชนะได้อย่างนี้ จึงนับวันยิ่งกำเริบถือตัวยิ่งขึ้นโดยอันดับ
ฝ่ายก้าหลุ อาหยัง เล่า ก็ร้องฟ้องต่อมารดาอยู่แทบทุกวันเช่นว่า “ในพวกพี่เลี้ยงสาวสรรกำนัลในข้าหลวงบริวาร๔๙นั้น แต่พอหม่อมฉันไปเล่นกับพระพี่นางจันตะหรา กิระหนาแล้ว เขาสมาคมชวนเล่นชวนคุยแต่กับพระพี่นางเท่านั้น ส่วนหม่อนฉันจะหาคนคบค้าสักคนเดียวก็ไม่มี อย่าว่าแต่จะชวนเล่นเลย แม้แต่จะพูดจาปราสัยเท่านั้นก็ไม่มี
ครั้นท่านลิกูได้ฟังดังนั้น ก็คาดว่าเป็นความจริง จึงลงอาชญาทุบตีตำหนิติโทษแก่บรรดาพี่เลี้ยงนางนมข้าหลวงสาวใช้ทั่วทั้งหมดด้วยกัน ซ้ำด่าว่าตั้งแต่สูงลงไปหาต่ำ ตั้งแต่ปู่ย่าตายายลงไปหาหลาน และติเตียนปรามาทตลอดเจ็ดชั้นชั่วคน นับแต่ปู่ย่าตาทวดลงไปเทียว
มาวันหนึ่ง ต่างองค์ต่างอยากจะไปประพาศเล่น ที่ในสวนบันยารันส้าหรีและเด็ดเก็บดอกไม้ ต่างองค์ก็ทรงเครื่องถึงขนาด และก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา ก็ดี ก้าหลุ อาหยัง ก็ดี สาวสรรกำนัลในก็แต่งองค์ถวายเป็นอย่างดี งามพักตรงามรูปราวกับกินรในอินทรโล ๕๐ลงมาสู่พื้นพิภพ ครั้งแต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จแล้วจึงจรลีเข้ายังตาหมันบันยารันส้าหรีนั้น มีเกน บาหยัน และเกนส้าหงิดตามเสด็จกับท่านมหาเดหวี ประไหมสุหรี และท่านลิกู ก็ตามเสด็จ สังระตูไปด้วย กำลังบทจรจะเข้าตาหมัน บันยารันส้าหรีนั้น ครั้นเข้าถึงในสวน จึงมหาเดหวีตรัสประพาศว่า “เออแนะ ลูกแม่ จงไปเล่นเก็บดอกไม้กับพี่ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนาสิ ฝ่ายแม่นี้จะเล่นกับลิกู มารดาของลูกและกับประไหมสุหรี”-----------------------------------
๑ ต้นฉะบับว่า “บาหาลิยัน ปรตามะ”
๒ ต้นฉบับว่า “กายังงัน” แปลว่าสวรรค์ ในพระราชนิพนธ์อิเหนาใช้คำกะยาหงัน
๓ คำมะลายู “ลาคอน” หรือ “ละลาคอน” แปลว่าเรื่องที่เล่นละคอน ไม่ใช่ตัวละคอน
๔ ในพระราชนิพนธ์อิเหนา ระตูเป็นเจ้าครองเมืองชั้นต่ำๆ เท่านั้น แต่ในฉบับนี้ เรียกสี่กษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาว่าระตู
๕ พ.ร.น. อิเหนา กูเรปั่น
๖ พ.ร.น. อิเหนา กาหลัง
๗ ต้นฉบับใช้คำ “ปุตรี”
๘ คำ “บีกู” นี้มาจากคำภิกขุ หรือ ภิกษุ ใน พ.ร.น. อิเหนาใช้นำชื่อพราหมณ์ เช่น “บีกูปะระมาหนา” (คำปะระมาหนา มาจากมะลายู “บราหมานะ” คือ พราหมณ)
๙ พ.ร.น. อเหนา สิงหัศส้าหรี
๑๐ พ.ร.น. อิเหนา เรียกเทวิลิสมาหรา
๑๑ พ.ร.น. อิเหนา ใช้คำปะตาปา, คำมะลายู “บูรตาปา” หรือ “ปรตาปา” ผูกมาจากคำสันสกฤต ตะปะ คือ บำเพ็ญตะบะ
๑๒ คำ “ดาลัง” แปลว่าผู้พากย์ละคอน. โขน. กับทั้งพากย์ทั้งเชิด หุ่น. หนัง พ.ร.น. อิเหนา “ดาหลัง”
๑๓ ต้นฉบับใช้คำ “มิจักซานะ” – พิจักษณ
๑๔ ต้นฉบับ “ตะมังงุง” แปลว่าขุนนางชั้นหนึ่ง พ.ร.น. อิเหนาใช้ว่า ตำมะหง และใช้ฉะเพาะเสนาผู้ใหญ่
๑๕ ต้นฉบับใช้คำ “คุนดิ๊ก” ซึ่งแปลโดยนัยสามัญว่าอนุภรรยา ใน พ.ร.น. อิเหนามีระเบียบมเหษี ๕ คือประไหมสุหรี, มะดีหวี, มะโต, ลิกู และเหมาล่าหงี, คำคุนดิ๊กไม่มีใช้ใน พ.ร.น. อิเหนา.
๑๖ ต้นฉบับว่า “ตอน ปุตรี ปุสปะ นิงรัต”
๑๗ ต้นฉบับว่า “มาหาเดวี” คือมหาทวี ใน พ.ร.น. อิเหนากลายไปเป็นมดีหวี, ในคำแปลนี้เขียนมหาเดหวีเพื่อจะรักษาสำเนียง พ.ร.น. อิเหนาไว้บ้าง
๑๗ ต้นฉบับว่า “ปาดุกะ ลิกู” คำปาดุกะ เป็นคำยกย่องใช้ได้แต่เจ้าแผ่นดินลงไปจนถึงขุนนาง ตรงกับพระบาท, ฝ่าบาท, ใต้ท้าว ฯลฯ ในคำแปลน่าใช้ “ท้าว” แต่เกรงจะกลายเป็นเฒ่าแก่ท้าวนางไป จึงใช้ “ท่าน” ซึ่งเป็นคำกลาง ๆ
๑๘ ต้นฉบับว่า “ปาดุกะ ลิกู” คำปาดุกะ เป็นคำยกย่องใช้ได้แต่เจ้าแผ่นดินลงไปจนถึงขุนนาง ตรงกับพระบาท, ฝ่าบาท, ใต้ท้าว ฯลฯ ในคำแปลน่าใช้ “ท้าว” แต่เกรงจะกลายเป็นเฒ่าแก่ท้าวนางไป จึงใช้ “ท่าน” ซึ่งเป็นคำกลาง ๆ
๑๙ ต้นฉบับใช้คำ “จินตะ”
๒๐ กะหมังเป็นขุนนางหรือเสนาชั้นรองตรงกับใน พ.ร.น. อิเหนา
๒๑ ต้นฉบับใช้คำ “สักติ”
๒๒ “สัง” ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อเทวดา หรือคำยกย่องอย่างสูง “หิยัง” หรืออ่านรวบเป็น “หยัง” เป็นคำเรียกทำนอง “โอม” ของเรา. คำนี้มีใน พ.ร.น. อิเหนา เช่น ชื่อเต็มของอิเหนาขึ้นต้นว่า “หยังๆ” ฯลฯ คำชคตนาถนั้นในภาษามะลายูว่า “ชะคัตนาตะ” คงมาแต่ภาษาสันสกฤตในปทานุกรม มอเนียร วิลเลียมส์ ค้นพบ “ชคตปติ” แปลว่าเจ้าโลก
๒๓ “บะตะระ” หรือบางที “ปะตาระ” แปลว่าเทวดา, พ.ร.น. อิเหนา “ปะตาระกาหรา” สันนิษฐานว่าจะมาแต่คำสันสกฤต ภัตตารกะ ซึ่งแปลว่าผู้ซึ่งพึงเคารพนับถือ ใช้แก่เทวดาก็ได้ มนุษย์ก็ได้ (ดูมอเนียร วิลเลียมส์)
๒๔ ต้นฉบับ ใช้คำมลายูว่า “ปชะชารัน” แปลโดยอรรถาธิบายว่า คนกลายเป็นเสือ แต่เสือสมิงของไทยเราดูเหมือนว่า เสือซึ่งกลายเป็นคนได้และกลับเป็นเสืออีกก็ได้
๒๕ นางยุบล ในพ.ร.น. อิเหนาอาจมาจากชื่อนี้ แต่ในต้นฉบับนี้ไม่ปรากฎว่าเป็นนางค่อม คำ “อินหนัง” นั้นที่ถูกอินดัง แต่ออกเสียง น.ด. กล้ำเสียง ด หายไป ตามความเข้าใจในปัจจุบันนี้แปลว่าหญิงขอทาน หรือหญิงต่ำ คำ “แอหนัง” ที่ใช้ใน พ.ร.น. อิเหนา หมายความว่าชีนั้นคงมาจากคำนี้ ซึ่งตามความเข้าใจในหนังสือนี้ก็เข้าเค้าเป็นชี
๒๖ ต้นฉบับใช้คำ “ลักซานะ”
๒๗ ต้นฉบับใช้คำ “บะตาระ อินดระ” คำอินดระในภาษามลายูแปลว่า พระอินทร์ก็ได้ แปลว่าเทวดาเท่านั้นก็ได้ เหมือนกับคำ “เดวะ” “เดวาตะ”
๒๘ “อินู” ตรงกับ อิเหนา “กรตปาตี” ไพล่ไปตรงกับ กะรัตปาตี แต่ในสร้อยอิเหนา ใน พ.ร.น. ก็มีทั้งคำ กรตะทั้งปาตี – คำกรตะ แปลว่า ความสงบก็ได้ แปลว่าเมืองก็ได้ ส่วนปาตีนั้นก็คือ บดี
๒๙ “ระเด่น อัสมารา นิงรัต”
๓๐ ต้นฉบับใช้คำ “กาซิห์ ดัน ซายัง” กาซิห์แปลว่ารัก ซายัง แปลว่าเสียดาย
๓๑ พี่เลี้ยงสี่ ตรงกับ พ.ร.น. อิเหนา จะเพี้ยนก็แต่ด้วยสำเนียงเล็กน้อยเท่านั้น
๓๒ ต้นฉบับว่า “คะลัก คะลัก” จึงแปลว่า ก๊ากๆ
๓๓ ต้นฉบับว่า “สิงคะมันตรี” ใน พ.ร.น. อิเหนา เรียกอิเหนาว่าระเด่นมนตรี
๓๔ ต้นฉบับใช้คำ “อุปามะ”
๓๕ ต้นฉะบับใช้คำ “อนฺคราหะ”
๓๖ “ซาบุก” แปลว่าผ้าคาดเอว, รัตปคต ฯลฯ ใน พ.ร.น. อิเหนา “ส้าโบะ สะใบ”
๓๗ ต้นฉบับ ใช้คำ “โสปัน”
๓๘ ก้าลุห์” ในหนังสือนี้ดูเป็นคำนำนามพระบุตรี ใน พ.ร.น. อิเหนาไม่มีใช้ แต่ในอิเหนาใหญ่มี “บุษบา ก้าโหละ” จึงได้ใช้ตามไปว่า ก้าหลุ-“จันดระ” คือจันทร ในหนังสือเรื่องอื่นพบบ่อยๆ มีชื่อนาง “จันดระวาดี” คือ จันทรวดี สันนิษฐานว่าตรงกับ “จินตะหราวาตี” ใน พ.ร.น. อิเหนา แต่ในเรื่องนี้ไปได้แก่ตัวนางบุษบา, ส่วนบุษบากลายเป็นชื่อชนนีไป
๓๙ ชื่อพี่เลี้ยงพอลงรอยกับ พ.ร.น. อิเหนา แต่หากมีเพียงสองนาง คำ “เกน” ชรอยเป็นคำนำเรียกชื่อนางชั้นต่ำ ใน พ.ร.น. อิเหนามีที่เทียบ “คือ เกนหลงกับชื่อนางพี่เลี้ยงแปลงมี “เกน ปะจินดา” “เกนปะระหงัน” เป็นต้น ชื่อส้าเหง็ด ในหนังสือนี้เป็น “ซังงิด” จึงแปลงลงไว้เป็นส้าหงิด
๔๐ ต้นฉบับใช้คำ “สัตยะ” ในภาษามะลายูชอบใช้ในที่หมายความว่าจงรักภักดี เช่นไทยเราก็ชอบใช้ แต่คำ “บั๊กติภักดี”เขาก็ใช้เหมือนกัน
๔๑ ที่ถูกแท้ตามต้นฉบับ “อาเช็อง” อักษร ช อ่านเป็นเสียง j อังกฤษจึงแปลงเสียงไปให้เข้าทำนองหนังสืออิเหนาของเราทุกวันนี้ บุตรีของระเด่นถ้ายังไม่สมรสก็ใช้ยศระเด่น อาเช็อง ทุกคน ตลอดจนเจ้านาย
๔๒ “ตาหมัน” แปลว่าสวน ใน พ.ร.น. อิเหนา ใช้คำสะตาหมัน ซึ่งแปลว่า สวนหนึ่ง
๔๓ ต้นฉบับใช้คำ “ดุกะ”
๔๔ ต้นฉบับใช้คำ “สังกา”
๔๕ “อานัก” แปลว่าลูก ใน พ.ร.น. อิเหนาใช้ อาหนะ
๔๖ ต้นฉบับใช้คำ “ดุกะจีตะ”
๔๗ ต้นฉบับว่า “วะห์”
๔๘ ต้นฉบับใช้คำ “ซีซา”
๔๙ ต้นฉบับใช้คำ “บีติ บีดิ ปรวระ” แปลว่าสาวบริวาร
๕๐ ต้นฉบับใช้คำ “กะอินดราอัน” แปลว่าที่อยู่ของเทวดา คือสวรรค์