ข้อสังเกต ยักษ์ที่ปรากฏธรรมบทเรื่องนี้ มีลักษณะกึ่งเทพ กึ่งมนุษย์ เพราะบางสถานะต้องคอยรับใช้ท้าวเวสสวรรณบนสวรรค์ปีหนึ่งประมาณ ๔-๕ เดือนต่อครั้ง
เมื่อพ้นจากวาระในรับใช้ท้าวเวสสวรรณบนสวรรค์แล้ว ก็มีอิสระในการใช้ชีวิตตามอัตภาพของตน ข้อนี้เองก็
เป็นเหตุให้นางมีโอกาสสำหรับการแก้แค้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูสถานะตามข้อความใน (๒) และ (๓) นางเองก็มีสถานะไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป สังเกตได้จากอาหารที่นางกุลธิดานำไปให้แต่ละมื้อที่ระบุว่ามี “ข้าวต้มและข้าวสวย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นางรับประทานอาหารชนิดเดียวกับที่มนุษย์รับประทาน แต่ประเด็นนี้ก็อาจจะมีข้อโต้แย้งได้ เพราะในประโยคนี้
อรรถกถาจารย์ใช้ศัพท์ที่ชวนให้วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า อาหารที่นางกุลธิดานำมานั้น เป็นการนำมาให้เพื่อให้นางยักษิณีรับประทานตามปกติ หรือว่ามีนัยเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เพราะบาลีใช้คำว่า “
ปฏิบัติ” (
ปฏิชคฺคิ) อันอาจมีความหมายได้ว่า นางแต่งสำรับกับข้าวมา
เซ่นไหว้ ถ้าตีความอย่างนี้ นางยักษิณีในความหมายนี้ก็อาจจะเป็นเหมือน “ผีเรือน” หรือ “พระภูมิเจ้าที่/ภูมเทวดา” ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนมีความเห็นว่า เป็นไปได้สูง อย่างน้อยก็มีเหตุผล ๓ ข้อสนับสนุน
๑. นางยักษิณีไม่อาจตามนางกุลธิดาเข้าไปยังวัดพระเชตวันได้ เพราะวัดพระเชตวันมีเทวดารักษา
๒. นางกุลธิดาพานางยักษิณีไปอยู่ที่บ้าน ครั้งแรกให้พักที่โรงกระเดื่อง เวลาซ้อมข้าวเปลือกเกิดเสียงดัง ทำให้จึงขอย้ายไปอยู่ที่อื่น นางกุลธิดาก็ย้ายที่อยู่ให้หลายแห่ง นับตั้งแต่โรงสาก ข้างตุ่มน้ำ ริมเตาไฟ ริมชายคา ริมกองหยากเยื่อ ริมประตูบ้าน สุดท้ายจึงย้ายไปอยู่ที่เงียบสงัดนอกบ้าน ซึ่งสถานที่เหล่านี้ ไม่น่าจะเป็นสถานที่ที่จะสามารถสร้างบ้าน หรือกระท่อมให้นางยักษิณีอยู่ได้ หรือถ้าจะสร้างได้ ก็อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการย้ายแต่ละครั้ง ความเป็นไปได้จึงน่าจะเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนที่ตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ประจำบ้าน
ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับคติความเชื่อของคนอินเดียในสมัยโบราณ ที่มีลักษณะเป็นวิญญาณนิยม คือเชื่อว่า มีภูมิ ผี ปิศาจที่สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์สถิตอยู่ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนี้ สามารถพบได้ในสังคมชนบททั่วไป หรือแม้แต่ในสังคมเมือง บางคนก็เชื่อถือเรื่องทำนองนี้มาก
๓. นางรู้ความเป็นไปของฝนฟ้าในแต่ละปี กระทั่งสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า ปีไหนฝนดี ปีไหนฝนแล้ง ทำให้นางได้รับความเคารพเชื่อถือของชาวบ้านในละแวกนั้น ซึ่งต่างก็นำอาหารไปบำรุงเลี้ยงดูยักษิณีนั้น กระทั่งกลายเป็นประเพณี
หากเปรียบเทียบเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท กับประเพณีการเซ่นไหว้ในช่วงฤดูลงไร่ลงนาของชาวบ้านในชนบท ซึ่งจะมีกันแทบทุกหมู่บ้าน เฉพาะในชุมชนที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ ชาวบ้านจะกระทำพิธีกันในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ถือเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านเริ่มลงไร่ลงนากัน ในวันดังกล่าวจะมีพิธีเซ่นพระภูมิเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน โดยใช้เครื่องเซ่นเป็นไก่ และไข่ไก่ จากนั้นก็พยากรณ์สภาพฝนฟ้าจากเครื่องเซ่นดังกล่าว
ภาคที่ ๒ ในภาคที่ ๒ มีเรื่องราวที่กล่าวถึงยักษ์เพียงเรื่องเดียว ได้แก่เรื่อง ท้าวสักกะ อยู่ในลำดับที่ ๗ ของภาคนี้ ข้อความที่ระบุถึงยักษ์ มีดังนี้
ก็จำเดิมแต่นั้นมา เมื่อ
ดอกจิตตปาตลิบาน พวกอสูรประสงค์จะรบกะท้าวสักกะ ขึ้นมาเพื่อหมายจะต่อยุทธ์ ด้วยสำคัญว่า "
เป็นเวลาที่ดอกปาริฉัตตกทิพย์ของพวกเราบาน" ท้าวสักกะได้ประทานอารักขาแก่พวกนาคในภายใต้สมุทร. ถัดนั้น พวกครุฑ, ถัดนั้นพวกกุมภัณฑ์, ถัดนั้น พวกยักษ์, ถัดนั้น ท้าวจตุมหาราช, ส่วนชั้นบนกว่าทุก ๆ ชั้น ประดิษฐานรูปจำลองพระอินทร์ ซึ่งมีวชิราวุธในพระหัตถ์ไว้ที่ทวารแห่งเทพนคร. พวกอสูรแม้ชำนะพวกนาคเป็นต้นมาแล้ว เห็นรูปจำลองพระอินทร์มาแต่ไกล ก็ย่อมหนีไป ด้วยเข้าใจว่า "ท้าวสักกะเสด็จออกมาแล้ว."
ข้อสังเกต ยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ มีฐานะเป็น
ผู้อารักขาท้าวสักกะในยามมีภัย ข้อความอ้างถึงข้างต้นแสดงถึงสงครามระหว่าง
อสูรกับท้าวสักกะ เพื่อแย่งชิงดอกปาริฉัตตกะ ท้าวสักกะได้วางกำลังในการอารักขาเป็นชั้น ๆ เพื่อต่อกรกับพวกอสูร ไล่ตั้งแต่ภายใต้สุดคือนาค ถัดมาก็เป็นครุฑ กุมภัณฑ์ ยักษ์ ท้าวจตุมหาราช
ภาคที่ ๓ ในภาคที่ ๓ ปรากฏคำว่า ยักษ์ ๒ เรื่องดังนี้
๑. ปรากฏข้อความที่ระบุถึงยักษ์ในเรื่อง
สุปปพุทธกุฏฐิว่า ยักษ์แปลงตนเป็นโคแม่ลูกอ่อนขวิดนายสุปปพุทธกุฏฐิถึงแก่ความตาย
ได้ยินว่า โคแม่ลูกอ่อนนั้น เป็นยักษิณีตนหนึ่ง เป็นแม่โคปลงชนทั้ง ๔ นี้ คือกุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ๑ พาหิยทารุจีริยะ ๑ นายโจรฆาตกะชื่อตัมพาทาฐิกะ ๑ สุปปพุทธกุฏฐิ ๑ จากชีวิตคนละร้อยอัตภาพ. ได้ยินว่า ในอดีตกาล ชนเหล่านั้น เป็นบุตรเศรษฐีทั้ง ๔ คน นำหญิงแพศยาผู้เป็นนครโสเภณีคนหนึ่งไปสู่สวนอุทยาน เสวยสมบัติตลอดวันแล้ว ในเวลาเย็น ปรึกษากันอย่างนี้ว่า "
ในที่นี้ไม่มีคนอื่น, เราทั้งหลาย จักถือเอากหาปณะพันหนึ่ง และเครื่องประดับทั้งหมดที่พวกเราให้แก่หญิงนี้แล้ว ฆ่าหญิงนี้เสียไปกันเถิด." หญิงนั้นฟังถ้อยคำของเศรษฐีบุตรเหล่านั้นแล้ว คิดว่า "
ชนพวกนี้ ไม่มียางอายอภิรมย์กับเราแล้ว บัดนี้ ปรารถนาจะฆ่าเรา,
เราจักรู้กิจที่ควรกระทำแก่ชนเหล่านั้น" เมื่อถูกชนเหล่านั้นฆ่าอยู่ ได้กระทำความปรารถนาว่า "ขอเราพึงเป็น
ยักษิณี ผู้สามารถเพื่อฆ่าชนเหล่านั้นเหมือนอย่างพวกนี้ฆ่าเราฉะนั้นเหมือนกัน ฯ"
ข้อสังเกต ยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ มีลักษณะเดียวกันกับยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องยักษิณี คือเกิดจากความ
อาฆาตแค้นที่ตนเองถูกทำร้ายแล้ว
ตั้งจิตอาฆาต ปรารถนาเป็นยักษ์เพื่อสามารถฆ่าคนที่ทำร้ายตน ในเรื่องระบุว่า ยักษ์อยู่ในรูปของแม่โคอ่อน แล้วขวิดนายสุปปพุทธกุฐิตาย ขณะที่เรื่องนางยักษิณีในภาคที่ ๑ มาในรูปของเพื่อนบ้าน
๒. ปรากฏอยู่ในเรื่องการปรินิพพานของ
พระโคธิกเถระ เนื้อความเป็นพระคาถาร้อยกรอง มีใจความว่า
พิณได้พลัดตกจากรักแร้ของมารนั้น ผู้อัน
ความโศกครอบงำ ลำดับนั้น ยักษ์นั้นเสียใจ
ได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง ด้วยประการฉะนี้ ฯ
ข้อสังเกต ยักษ์ตามบริบทของเรื่องนี้ ท่านอธิบายว่าเป็นเทวดาจำพวกหนึ่งที่คอยขัดขวางการทำความดีของมนุษย์ บางครั้งจึงเรียกว่า
เทวบุตรมาร ซึ่งในพระคาถานี้ท่านก็ใช้คำว่า
มาร และ
ยักษ์ ควบคู่กันไป
ยักษ์ หรือมารตนนี้ได้แสวงหาวิญญาณของพระโคธิกเถระที่ปรินิพพานไปแล้ว เมื่อค้นหาทั่วทุกสารทิศแล้วไม่พบ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อสอบถามความเป็นไปของวิญญาณพระโคธิกเถระ เมื่อทราบว่า ท่านปรินิพพานแล้วก็เกิดความเศร้าใจและหายตัวไปในที่สุด