แก้มุสาวาท กายประโยคหรือวจีประโยคที่หักรานประโยชน์ (ผู้อื่น) ของผู้มุ่งจะพูดให้ผิด ชื่อว่ามุสา. เจตนาของผู้พูดให้ผิดต่อผู้อื่นด้วยประสงค์จะให้เข้าใจผิด มีกายประโยคและวจีประโยคเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่ามุสาวาท.
อีกนัยหนึ่ง เรื่องไม่จริง ไม่แท้ ชื่อว่ามุสา (เรื่องเท็จ). การให้ (ผู้อื่น) เข้าใจเรื่องเท็จนั้นว่าเป็นเรื่องจริง เรื่องแท้ ชื่อว่าวาทะ (การพูด) แต่โดยลักษณะ เจตนาของผู้ประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องที่ไม่จริงว่าเป็นเรื่องจริง อันเป็นสมุฏฐานแห่งวิญญัติ (การเคลื่อนไหว) อย่างนั้น ชื่อว่ามุสาวาท (การพูดเท็จ).
มุสาวาทนั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะประโยชน์ที่ตนหักรานมีจำนวนน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะประโยชน์ที่ตนหักรานมีจำนวนมาก.
อีกอย่างหนึ่ง สำหรับคฤหัสถ์ มุสาวาทที่เป็นไปแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ไม่มีเพราะไม่ประสงค์จะให้ของๆ ตน (แก่คนอื่น) มีโทษน้อย ที่กล่าวเบิกพยานเพื่อหักล้างประโยชน์ (ของคู่ความ) มีโทษมาก.
สำหรับบรรพชิต มุสาวาทที่เป็นไปแล้วโดยนัยแห่งบูรณากถา (พูดให้เต็มความหรือเล่นสำนวน) ว่า วันนี้น้ำมันในบ้านเห็นจะไหลเป็นแม่น้ำนะด้วยความประสงค์จะให้หัวเราะ เพราะได้น้ำมันหรือเนยใสน้อยไป มีโทษน้อย. แต่ของผู้พูดโดยนัยมีอาทิว่า สิ่งที่ไม่ได้เห็นเลยว่าได้เห็น มีโทษมาก.
มุสาวาทนั้นมีองค์ประกอบ ๔ อย่าง คือ
เรื่องไม่จริง ๑
ตั้งใจพูดให้ผิด ๑
พยายามพูด ๑
ผู้อื่นเข้าใจเนื้อความนั้น ๑.
ประโยคมีประโยคเดียว คือสาหัตถิกประโยคเท่านั้น. ประโยคนั้นพึงเห็นว่า ได้แก่การแสดงกิริยาของผู้จะพูดให้ผิดต่อผู้อื่นด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกายหรือด้วยวาจา. ถ้าหากผู้อื่นเข้าใจเนื้อความนั้นด้วยกิริยานั้น กิริยานี้ชื่อว่าเนื่องด้วยมุสาวาทกรรม ในขณะแห่งเจตนาที่มีกิริยาเป็นสมุฏฐานนั้นเอง.
แก้ปิสุณาวาจา
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปิสุณาวาจา เป็นต้น.
วาจาที่เป็นเหตุให้หัวใจของบุคคลผู้ที่ตนพูดด้วย เกิดความรักตนและเกลียดชังคนอื่น ชื่อว่าปิสุณาวาจา.
ส่วนวาจาที่เป็นเหตุทำให้ตนเองบ้าง ผู้อื่นบ้าง หยาบคายและวาจาที่หยาบคายเอง คือไม่ไพเราะโสต หรือไม่ชื่นใจ (ผู้ฟัง) นี้ชื่อว่าผรุสวาจา.
วาทะที่เป็นเหตุให้เจรจาเพ้อเจ้อ คือไร้ประโยชน์ ชื่อว่าสัมผัปปลาป. ถึงเจตนาที่เป็นมูลฐานของการกล่าวคำหยาบและคำเพ้อเจ้อเหล่านั้น ก็ได้นามว่าปิสุณาวาจาเป็นต้นอยู่นั่นเอง. และในที่นี้ก็ประสงค์เอาเจตนานั้นแล.
เจตนาของผู้มีจิตเศร้าหมองที่เป็นสมุฏฐานแห่งกายประโยคและวจีประโยค เพื่อทำลายชนเหล่าอื่นหรือเพื่อประสงค์จะทำตนให้เป็นที่รักของผู้อื่น ชื่อว่าปิสุณาวาจาในวจีกรรมนั้น.
ปิสุณาวาจานั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะผู้ถูกทำให้แตกกันนั้น มีคุณธรรมน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะมีคุณธรรมมาก.
ปิสุณาวาจานั้นมีองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ
ผู้ต้องถูกทำลายเป็นคนอื่น ๑
ความมุ่งหน้าจะทำลายด้วยประสงค์ว่า คนเหล่านี้จักเป็นผู้แตกแยกจากกัน ด้วยอุบายอย่างนี้ หรือความประสงค์ว่าเราจักเป็นที่รักเป็นที่คุ้นเคย (ของเขา) ด้วยอุบายอย่างนี้ (รวมเป็นองค์) ๑
ความพยายามที่เกิดจากความตั้งใจนั้น ๑
การที่เขาเข้าใจเนื้อความนั้น ๑.
แก้ผรุสวาจา
เจตนาที่หยาบคายโดยส่วนเดียว ที่เป็นสมุฏฐานแห่งกายประโยคและวจีประโยค อันเป็นเหตุตัดรอนความรักของคนอื่น ชื่อว่าผรุสวาจา.
เพื่อความแจ่มชัดแห่งผรุสวาจานั้น ต้องสาธกเรื่องนี้.
ได้ทราบว่า เด็กคนหนึ่งไม่เชื่อถ้อยคำของมารดา (ขืน) เข้าป่าไป. มารดาเมื่อไม่สามารถจะให้เขากลับได้ จึงด่าว่า ขอให้แม่กระบือดุร้ายจงไล่ขวิดมึง. ภายหลังแม่กระบือได้ปรากฏแก่เขาเหมือนอย่างที่แม่ว่านั่นแหละ. เด็กจึงทำสัจจกิริยาว่า คุณแม่ของข้าพเจ้ากล่าวอย่างใดด้วยปาก ขออย่าเป็นอย่างนั้น แต่คิดอย่างใดด้วยใจ ขอให้เป็นอย่างนั้น. แม่กระบือได้หยุดชะงักอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเองเหมือนถูกผูกไว้.
วจีประโยคแม้เป็นเหตุตัดเสียซึ่งคำรัก (คำที่พาดถึงสิ่งที่รัก) ดังที่พรรณนามานี้
ก็ไม่เป็นผรุสวาท เพราะผู้พูดมีจิตอ่อนโยน.
จริงอยู่ บางครั้งพ่อแม่ว่าลูกๆ อย่างนี้ว่า ขอให้พวกโจรฟันพวกเองให้ขาดเป็นท่อนๆ ไปเถิด ถึงอย่างนั้น แม้แต่เพียงกลีบดอกอุบลก็ไม่ประสงค์จะให้ตกลงบนเบื้องบนของพวกเขาเลย. และบางครั้งอาจารย์และอุปัชฌาย์ต่อว่า อันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกผู้อยู่อาศัยทั้งหลายว่า พวกนี้จะพูดอะไรกันก็ไม่มียางอาย ไม่มีความเกรงกลัว สูเจ้าทั้งหลายจงไล่เขาไปเสีย. แต่ถึงกระนั้น อาจารย์และอุปัชฌาย์เหล่านั้นก็ยังปรารถนาสมบัติคืออาคม (ปริยัติ) และอธิคม (ปฏิเวธ) แก่อันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกเหล่านั้นอยู่.
อนึ่ง วจีประโยคไม่เป็นผรุสวาจา เพราะผู้พูดมีจิตอ่อนโยนฉันใด จะไม่เป็นผรุสวาจาเพราะผู้พูดมีคำพูดอ่อนหวานฉันนั้นก็หามิได้ เพราะว่า คำพูดของผู้ประสงค์จะให้เขาตายว่า แกจงให้คนคนนี้นอนสบายเถิด ดังนี้ ไม่ใช่ไม่เป็นผรุสวาจา แต่วาจานี้เป็นผรุสวาจาทีเดียว เพราะผู้พูดมีจิตหยาบคาย.
ผรุสวาจานี้ ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะผู้ที่ผรุสวาทีบุคคลพูดหมายถึงเป็นผู้มีคุณน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะมีคุณมาก.
ผรุสวาจานั้นมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ
ผู้ที่จะต้องถูกด่าเป็นคนอื่น ๑
จิตขุ่นเคือง ๑
การด่า ๑.
แก้สัมผัปปลาปะ
ความจงใจที่เป็นอกุศล ที่เป็นสมุฏฐานแห่งกายประโยคและวจีประโยค ที่ยังผู้อื่นให้เข้าใจคำพูดที่ไร้ประโยชน์ ชื่อว่าสัมผัปปลาปะ.
สัมผัปปลาปะนั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะผู้พูดมีอาเสวนะอ่อน (ความเคยชินน้อย) ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะผู้พูดมีอาเสวนะมาก (ความเคยชินมาก).
สัมผัปปลาปะนั้นมีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ
ความมุ่งหน้าที่จะพูดถ้อยคำไร้ประโยชน์ มีเรื่องสงครามภารตะและเรื่องการลักพานางสีดา (เรื่องรามเกียรติ์) เป็นต้น ๑
การกล่าวถ้อยคำชนิดนั้น ๑.
แก้อภิชฌา
เจตนาชื่อว่าอภิชฌา เพราะเพ่งเล็ง. อธิบายว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มุ่งหน้าเพ่งเล็งเฉพาะภัณฑะของผู้อื่นแล้วน้อมภัณฑะนั้นมา. อภิชฌานั้นมีลักษณะเพ่งเล็งภัณฑะของผู้อื่นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ของสิ่งนี้จะพึงเป็นของเรา. อภิชฌานั้น ชื่อว่ามีโทษน้อยและมีโทษมาก เหมือนกับอทินนาทาน.
อภิชฌานั้นมีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ
ของของผู้อื่น ๑
น้อมสิ่งนั้นมาเพื่อตน ๑.
อธิบายว่า ถึงจะเกิดความโลภที่มีภัณฑะของผู้อื่นเป็นที่ตั้งขึ้น กรรมบถก็ยังไม่ขาดจนกว่าจะน้อมมาเพื่อตนว่า ไฉนหนอ ของสิ่งนี้จะพึงเป็นของเรา.
แก้พยาบาท
บาปธรรมชื่อว่าพยาบาท เพราะยังประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้ถึงความพินาศ. พยาบาทนั้นมีลักษณะประทุษร้าย เพื่อความพินาศของผู้อื่น. พยาบาทนั้น ชื่อว่ามีโทษน้อยและมีโทษมาก เหมือนกับผรุสวาจา.
พยาบาทนั้นมีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ
สัตว์อื่น ๑
ความคิดที่จะให้สัตว์นั้นพินาศ ๑.
อธิบายว่า ถึงจะเกิดความโกรธที่มีสัตว์อื่นเป็นที่ตั้งขึ้น กรรมบถก็ยังไม่ขาด ตลอดเวลาที่ผู้โกรธยังไม่คิดให้สัตว์นั้นพินาศว่า ไฉนหนอ สัตว์นี้จะพึงขาดสูญพินาศไป.
แก้มิจฉาทิฏฐิ
เจตนาชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะเห็นผิด โดยไม่มีการถือเอาตามความเป็นจริง. มิจฉาทิฏฐินั้นมีลักษณะเห็นผิด โดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล. มิจฉาทิฏฐินั้นชื่อว่ามีโทษน้อยและมีโทษมาก เหมือนสัมผัปปลาปะ. อีกอย่างหนึ่ง มิจฉาทิฏฐิที่ไม่แน่นอน (ยังไม่ดิ่ง) ชื่อว่ามีโทษน้อย. ที่แน่นอน (ดิ่ง) ชื่อว่ามีโทษมาก.
มิจฉาทิฏฐินั้นมีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ
การที่เรื่องผิดไปจากอาการที่ยึดถือ ๑
การปรากฏขึ้นแห่งเรื่องนั้น โดยไม่เป็นอย่างที่มิจฉาทิฏฐิกบุคคลยึดถือ ๑.
วินิจฉัยโดยอาการ ๕ อย่าง
อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ เหล่านี้ โดยอาการ ๕ อย่าง คือ
โดยธรรมะ (ธมฺมโต) ๑ โดยโกฏฐาสะ (โกฏฺฐาสโต) ๑ โดยอารมณ์ (อารมฺมณโต) ๑ โดยเวทนา (เวทนาโต) ๑ โดยเค้ามูล (มูลโต) ๑.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมโต มีเนื้อความว่า ความจริงในจำนวนกรรมบถ ๑๐ อย่างเหล่านี้ กรรมบถ ๗ ข้อตามลำดับ (กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔) เป็นเจตนาธรรมตรงตัว ส่วนกรรมบถ ๓ อย่างมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นตัวประกอบเจตนา.
บทว่า โกฏฺฐาสโต ความว่า กรรมบถ ๗ ข้อตามลำดับ และมิจฉาทิฏฐิอีก ๑ รวมเป็น ๘ ข้อนี้เป็นกรรมบถอย่างเดียว ไม่เป็นมูล (รากเหง้าของอกุศล). ส่วนอภิชฌากับพยาบาท (๒ ข้อนี้) เป็นทั้งกรรมบถ เป็นทั้งมูล (รากเหง้าของอกุศล). อธิบายว่า เพราะเป็นรากเหง้า อภิชฌาจึงเป็นโลภอกุศลมูล พยาบาทเป็นโทสอกุศลมูล.
บทว่า อารมฺมณโต ความว่า ปาณาติบาตมีสังขารเป็นอารมณ์ เพราะมีชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์. อทินนาทานมีสัตว์เป็นอารมณ์บ้าง มีสังขารเป็นอารมณ์บ้าง. มิจฉาจารมีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งโผฏฐัพพะ. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มีสัตว์เป็นอารมณ์ก็มี. มุสาวาทมีสัตว์เป็นอารมณ์บ้าง มีสังขารเป็นอารมณ์บ้าง. ปิสุณาวาจาก็เหมือนกัน ผรุสวาจามีสัตว์เป็นอารมณ์อย่างเดียว สัมผัปปลาปะมีสัตว์เป็นอารมณ์บ้าง ด้วยอำนาจแห่งรูปที่ได้เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส และโผฏฐัพพะที่ได้ทราบแล้ว และธรรมารมณ์ที่ได้รู้แล้ว อภิชฌาก็เหมือนกัน (แต่) พยาบาทมีสัตว์เป็นอารมณ์อย่างเดียว (ส่วน) มิจฉาทิฏฐิมีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓.
บทว่า เวทนาโต ความว่า ปาณาติบาตมีเวทนาเป็นทุกข์. เพราะว่า พระราชาทั้งหลายทรงเห็นโจรแล้ว ถึงจะทรงกระหยิ่มอยู่พลางรับสั่งว่า ไป เอามันไปสังหาร ดังนี้ก็จริง แต่ถึงกระนั้น เจตนาที่เป็นตัวการให้ตกลงปลงพระทัยของพระราชาเหล่านั้น เป็นเจตนาที่ประกอบด้วยทุกข์อยู่นั้น.
อทินนาทานมีเวทนา ๓. มิจฉาจารมีเวทนา ๒ ด้วยอำนาจแห่งสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา. แต่ไม่ใช่มีเวทนาเป็นอุเบกขา ในเพราะจิตเป็นตัวการให้ตกลงปลงใจ. มุสาวาทมีเวทนา ๓. ปิสุณาวาจาก็เหมือนกัน. ผรุสวาจามีเวทนาเป็นทุกข์อย่างเดียว. สัมผัปปลาปะมีเวทนา ๓. อภิชฌามีเวทนา ๒ ด้วยอำนาจแห่งสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา. มิจฉาทิฏฐิก็เหมือนกัน. (แต่) พยาบาทมีเวทนาเป็นทุกข์.
แก้อกุศลมูล
บทว่า มูลโต ความว่า ปาณาติบาตมีอกุศล ๒ อย่างเป็นมูลด้วยอำนาจแห่งโทสะและโมหะ.
อทินนาทาน (มีอกุศล ๒ อย่างเป็นมูล) ด้วยอำนาจแห่งโทสะและโมหะ หรือด้วยอำนาจแห่งโลภะและโมหะ. มิจฉาจาร (มีอกุศล ๒ อย่างเป็นมูล) ด้วยอำนาจแห่งโลภะและโมหะ. มุสาวาทด้วยอำนาจแห่งโทสะและโมหะหรือโลภะและโมหะ. ปิสุณาวาจาและสัมผัปปลาปะก็เหมือนกัน (กับมุสาวาท).
ผรุสวาจาด้วยอำนาจแห่งโทสะและโมหะ. อภิชฌามีอกุศลอย่างเดียวเป็นมูล ด้วยอำนาจแห่งโมหะ (น่าจะเป็นโลภะ -ผู้แปล-)
พยาบาทก็เหมือนกัน (กับอภิชฌา). (แต่) มิจฉาทิฏฐิมีอกุศล ๒ อย่างเป็นมูลด้วยอำนาจแห่งโลภะและโมหะ ดังนี้แล.
พึงทราบวินิจฉัย ในคำว่า โลโภ อกุสลมูลํ เป็นต้น (ดังต่อไปนี้)
อกุศลธรรมชื่อว่าโลภะ เพราะอยากได้. ชื่อว่าโทสะ เพราะประทุษร้าย. ชื่อว่าโมหะ เพราะหลง.
ในจำนวนอกุศลธรรมทั้ง ๓ อย่างเหล่านั้น โลภะชื่อว่าเป็นอกุศลมูล เพราะตัวมันเองเป็นทั้งอกุศล เพราะอรรถว่ามีโทษและมีทุกข์เป็นวิบาก เป็นทั้งรากเหง้าของอกุศลธรรมเหล่านี้มีปาณาติบาตเป็นต้น เพราะอรรถว่าเป็นสภาพแห่งสัมปยุตธรรมของอกุศลบางเหล่า และเพราะอรรถว่าเป็นอุปนิสสยปัจจัยของอกุศลธรรมบางอย่าง.
สมจริงตามคำที่ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุ ผู้กำหนัดมากแล้ว ถูกราคะครอบงำแล้ว มีจิตถูกราคะรึงรัดแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์มีชีวิตได้ ดังนี้เป็นต้น
แม้ในการที่โทสะและโมหะเป็นอกุศลมูล ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
แก้กุศลกรรมบถ
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปาณาติปาตา เวรมณี กุสลํ (เจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นกุศล) เป็นต้นดังต่อไปนี้.
อกุศลกรรมบถทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น มีอรรถาธิบายดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้นแหละ.
เจตนาชื่อว่า เวรมณี เพราะย่ำยีเวร อธิบายว่า ละเวรได้.
อีกอย่างหนึ่ง บุคคลเว้นจากเวรได้เพราะเจตนานี้เป็นเหตุ เพราะเหตุนั้น เจตนานั้นจึงชื่อว่า เวรมณี โดยเปลี่ยน วิ อักษร ให้เป็น เว อักษร ไป.
นี้เป็นการขยายความในคำว่า เวรมณี นี้ โดยพยัญชนะก่อน.
ส่วนการขยายความโดยอรรถ (ความหมาย) พึงทราบว่า วิรัติที่สัมปยุตด้วยกุศลจิต ชื่อว่าเวรมณี. วิรัติของผู้เว้นจากปาณาติบาตที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า การงดการเว้นจากปาณาติบาต ในสมัยนั้น ดังนี้ ชื่อว่าเป็นวิรัติที่สัมปยุตด้วยกุศลจิต.
.
.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สัมมาทิฏฐิสูตร ว่าด้วยความเห็นชอบ
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1518&Z=1753.
��ö��� �Ѫ����ԡ�� ��Żѳ��ʡ� ��Ż�������ä ����ҷԯ���ٵ� ��Ҵ��¤�����繪ͺ ˹�ҵ�ҧ��� � �� �
.