โก้วเล้ง ราชานวนิยายกำลังภายใน ยกความนัยของโศลก 2 บทนี้มาใช้บรรยายฉากการปะทะกันระหว่าง เซี่ยงกัวกิมฮ้ง และ ลี้คิมฮวง ใน ฤทธิ์มีดสั้น ผ่านปากผู้เฒ่า เทียนกีเล่านั้ง เจ้าของกระบองสมปรารถนา เจ้าของศาสตราวุธอันดับ 1 ของแผ่นดิน ตัวละครอีกตัวในเรื่องดังกล่าวอย่างสุดพิสดาร
เทียนกีเล่านั้งระบุว่า โศลกของพระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 นั้น จึงนับว่าเป็นแก่นธรรมอันเลอเลิศ แก่นแท้ของวิชาการต่อสู้และสรรพเรื่องราวนั้น "เมื่อถึงขั้นสุดยอด หลักเหตุผลความเป็นจริงไม่แตกต่าง ดังนั้นไม่ว่าการกระทำเรื่องราวใด ต้องดำเนินถึงขั้นไร้คนไร้เรา ลืมวัตถุลืมเรา ค่อยบรรลุถึงจุดสุดยอด สู่ความสำเร็จขั้นล้ำลึก"
ลำพังขั้น "ในมือไร้ห่วง ในใจมีห่วง" นั้น เป็นเพียงขั้นแรกเริ่ม
เพิ่งก้าวข้ามประตู
หากคิดเข้าสู่ห้องหับรโหฐานยังไกลอีกมากนัก
ว่ากันว่า เว่ยหลางบรรลุตั้งแต่อายุ 24 ปี ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่ชายคาสำนักปฏิบัติธรรมของท่านฮ่งยิ่ม ตั้งแต่เดินกลับจากตัดฟืนแล้ว ได้ยินเสียงคนสาธยายสูตรเก่าว่าด้วยการตัดราวกับเพชรสำหรับตัด หรือวัชรเฉจทิกสูตรว่า
"คนเราควรใช้จิตไปในทางอิสระทุกเมื่อ"
(เส้นทางสาย ZEN
จากปรมาจารย์ตั๊กม้อ ถึง เว่ยหลาง : เสถียร จันทิมาธร สำนักพิมพ์มติชน)
คนมีปัญญาฟังโศลกของท่านเว่ยหลางแล้ว อาจบรรลุอย่างฉับพลันทันที เหมือนสารีบุตรมานพ พบประทับใจในกิริยาพระอัสสชิ จึงถามถึงคำสอนของผู้เป็นอาจารย์ พระอัสสชิตอบว่า พระพุทธองค์สอนว่า
"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น"
เพียงเท่านั้นสารีบุตรมานพ ก็ล่วงธรณีประตูธรรม
แม้จะพบความนัยที่ซ่อนอยู่ในโศลกของท่านเหว่ยหลาง แต่ฝุ่นก็จะจับกระจกอยู่ดี เหตุเพราะถึงเข้าใจแต่ก็ยังมีกระจกอยู่ เพียงแค่เข้าใจ มันไม่ได้ทำให้กระจกหายไป เข้าใจไม่ได้ทำให้ถึงจิตเดิมแท้ เพราะยังไม่ถึงจิตเดิมแท้จึงยังมีกระจกเงาให้ฝุ่นเกาะจับอยู่
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล อ่านพระสูตรของเว่ยหลางแล้ว ท่านเรียบเรียง จิต คือ พุทธะ ขึ้น โดยมีความตอนหนึ่งว่า
"...จิตของเรานั้น ถ้าทำความสงบเงียบอยู่จริงๆ เว้นจากการนึกซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิตแม้แต่น้อยที่สุดเสียให้ได้จริงๆ ตัวแท้ของมันจะปรากฏออกมาเป็นความว่าง แล้วเราจะได้พบว่า มันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป มันไม่ได้กินเนื้อที่อะไรๆ ที่ไหน แม้แต่จุดเดียว มันไม่ได้ตกลงสู่การบัญญัติว่า เป็นพวกที่มีความเป็นอยู่ แม้แต่ประการใดเลย เพราะเหตุสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้ โดยทางอายตนะ ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้น และไม่อาจถูกทำลายลงได้เลย..."
ผู้รู้ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ให้ทางไว้ว่า ให้มีสติรู้ทันอารมณ์ จะรู้ทันก็ต้องรู้อารมณ์เดียวก่อน เพราะเมื่อรู้ว่าจิตเคลื่อนจากอารมณ์ที่คอยรู้อยู่ก็จะ 'รู้ทัน' เมื่อรู้ทันมันก็จะไม่แส่ส่าย รู้อย่าไปอยากเพราะยิ่งแสวงหายิ่งไม่เจอ รู้อารมณ์ก็ไม่ใช่ไปนึกเอา ให้รู้เหมือนเข้าใกล้ไฟแล้วกายรู้สึกร้อน ไม่ใช่นึกเอาจากคำบัญญัติว่าร้อน หรือคิดถึงความร้อนนั้น การรู้ตรงตามสภาวะที่มันกำลังเป็นอยู่ ไม่เข้าไปแทรกแซงสภาวะนั้นด้วยตัณหาและทิฏฐิใดๆ ทั้งสิ้น
นั่นเอง คือ การรู้สภาวะธรรม รู้ตามความเป็นจริง นั่นเอง ทำให้รู้ว่าธรรมใดเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ ธรรมนั้นก็ดับ รู้แล้ว สติสมบูรณ์แล้วไม่ต้องละกิเลสเพราะขณะสติสมบูรณ์ ไม่มีกิเลสให้ละ
รู้แล้ว สมบูรณ์แล้ว ก็ไม่มีตัวตน (วิถีแห่งการรู้แจ้ง : พระปราโมทย์ ปาโมชโช)
" ไม่มีตัวตนก็ไม่มีกระจกให้ฝุ่นลงจับอีกต่อไป " Credit by : http://wirayuth.exteen.com/20040916/entry
ufoatkaokala11.com
Pics by : Google
ขอบพระคุณที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ