และในที่สุดเราก็เข้ามาในบริเวณรั้ว(รอบนอก) ขององค์พระธาตุครับ
ผมใช้คำว่ารอบนอก เพราะรั้วขององค์พระธาตุคือรั้วที่อยู่ติดองค์พระธาตุ
ซึ่งเป็นรั้วหอก มีฉัตรสี่มุมครับ
ที่เห็นซ้ายมือหลังเล็ก ๆ นั่นคืออุโบสถเดิมครับ แต่ก่อนพระทางเหนือมีไม่มากเท่าไหร่
อุโบสถจึงไม่ได้ใหญ่โตเหมือนดั่งในปัจจุบัน ถัดจากอุโบสถจะเห็นอาคารหลังเล็ก ๆ
(ไม่ใช่ที่กำลังปรับปรุงนะครับ) อาคารหลังเล็กนั้นคือหอพระพุทธ ซึ่งเป็นสถานที่
ที่เราจะเข้าไปดูเงาพระธาตุกลับหัวกัน (อ่านต่อครับ) ส่วนอาคารที่กำลังบูรณะนั่นคือ
วิหารพระพุทธครับ
ข้างวิหารหลวงครับ ไม่ทราบว่าเป็นอะไรทีแรกคิดว่าหอระฆังแต่ไม่น่าใช่เพราะดูใหม่
แต่ก็อาจเป็นหอระฆังใหม่หรือเปล่า ? เพราะหอระฆังที่ผมเจอสร้างไว้เมื่อเกือบร้อยปีก่อน
หอระฆังครับ ไม่เก่ามาก สร้างเมื่อปี 2470 อายุแค่เกือบ ๆ ร้อยปีเองเนาะ
วิหารพระพุทธ ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี
เดิมเป็นวิหารเปิดโล่งหน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสีวิจิตรงดงาม ภายในประดิษฐานพระประธาน
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ก่ออิฐ ถือปูน ศิลปะเชียงแสน
และเป็นอีกที่หนึ่งนอกจากหอพระพุทธที่มีเงาพระธาตุปรากฏ ผู้หญิงที่ไม่ได้ดูเงาจากหอพระพุทธ
ให้เข้ามาดูที่นี่ได้แทนครับ
ด้านหน้าวิหารมีรูปปั้นวัวครับ เป็นสัญลักษณ์ของพระธาตุประจำปีเกิดปีฉลูครับ
อาคารหลังใหญ่นี่คือ
วิหารหลวง ครับ สมบูรณ์มาก และเป็นรูปแบบการวางผังที่ถูกเอาไปยกตัวอย่าง
ในโบราณสถานหลายๆ ที่
รั้วรอบองค์พระธาตุจุดนี้ไม่ขออธิบายเพิ่มนะครับในส่วนของรายละเอียด เพราะผมเคยลงไว้แล้ว
ในตอน "น้าแม๊คพาเที่ยว ขึ้นเหนือแอ่วเมืองเชียงใหม่ พาไหว้พระธาตุดอยสุเทพ"
ชมด้านหน้าแล้วก็ลักษณะรอบ ๆ กันมาแล้ว และแล้วก็มาถึงส่วนที่สำคัญที่สุด คือองค์พระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน
ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอก บุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ
มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่างๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลให้พระธาตุหริภุญไชย
และพระบรมธาตุจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศา และพระ อัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา
พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้าง
ยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่
ผมจำได้ว่าบทความอันนี้ผมเขียนถึงคำว่า
ทองจังโก มาสองครั้งแล้ว และผมก็เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัย
ว่าทองจังโกคืออะไร ? และผมก็เชื่อว่าหลายคนอยากได้คำตอบเลยเพราะขี้เกียจเปิดพจนานุกรม
ทองจังโก ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง (ถิ่น-พายัพ) น.
ทองเหลืองที่ตีแผ่เป็นแผ่นบาง นิยมใช้หุ้มองค์พระเจดีย์ป้องกันการผุกร่อน, ทองสักโก ก็ว่า.