เรื่องเล่าจากฝรั่งเศส...ลุยทุ่งลาเวนเดอร์
ทุ่งลาเวนเดอร์
“ลาเวนเดอร์” - Lavender ชื่อหอมหวาน โรแมนติก
ด้วยกลิ่นหอมชื่นใจหอมนานเป็นเอกลักษณ์ทำให้ "ลาเวนเดอร์" ดอกไม้ตัวเอกสำคัญของอุตสาหกรรมน้ำหอมฝรั่งเศส อันทำรายได้ให้แก่ประเทศฝรั่งเศสปีหนึ่งๆ มากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และยังไม่มีประเทศใดในโลกมีความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมน้ำหอมเทียบเท่าฝรั่งเศส
น้ำมันหอมจากดอกลาเวนเดอร์ เป็นน้ำมันหอมระเหยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก เนื่องจากมีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น ช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์ ช่วยฆ่าเชื้อโรค ต้านเชื้อแบคทีเรีย บรรเทาอาการปวด รักษาสมดุลยของระบบประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย อาจนำไปกระจายกลิ่นให้น้ำมันหอมระเหยไปในอากาศด้วยเตาน้ำมันหอมระเหยก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ อีกทั้งยังสามารถนำไปเจือจางเพื่อนวดเบาๆ บริเวณขมับช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้อีกด้วย ด้วยคุณสมบัติทางการบำบัดรักษาที่หลายหลาย น้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์จึงได้รับความนิยมอย่างมากในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องหอมต่างๆ ตลอดจนใช้ในอุตสาหกรรมยา
เมื่อราวเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ มีโอกาสไปที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส เรามีโปรแกรมเดินทางจากนครปารีสมุ่งสู่ทางตอนใต้ของประเทศโดยรถไฟด่วน
TGV ซึ่งมีความเร็วมากกว่า ๓๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง มุ่งสู่
เมืองมาร์แซยย์ (Marseille) เมืองใหญ่อันดับ ๒ และเป็นเมืองท่าอันดับ ๑ ของฝรั่งเศส พวกเราได้แวะเมืองวาลองโซล (
Valansole) ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลาเวนเดอร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศฝรั่งเศส
ตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งลาเวนเดอร์สีม่วงกว้างใหญ่สวยงามสุดลูกหูลูกตา แต่เมื่อได้ลงไปสัมผัสอย่างใกล้ชิดถึงแปลงปลูกในไร่แล้ว ต้นลาเวนเดอร์ไม่ได้สวยงามอย่างที่มองเห็นเป็นทิวแถวไกลตามากนัก นอกเสียจากกลิ่นที่หอมเย็นชื่นใจจริงๆ
ลาเวนเดอร์เป็นพืชพื้นเมืองแถบบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบันนิยมปลูกแพร่หลายในประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา บัลแกเรีย และอังกฤษ ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ลำต้นและกิ่งใบสีฟ้าอมเทาอ่อนจางๆ ใบสากมือ ดอกเล็กๆ เป็นช่อสีม่วงอ่อน หากเข้าใกล้มาก อาจระคายเคืองหรือคันผิวหนัง ปลูกอยู่บนแปลงซึ่งทำเป็นเนินดิน ลาเวนเดอร์จะให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่แถบบริเวณฝรั่งเศสตอนใต้ และจะให้ผลผลิต(ดอก) ได้ดีในช่วงราวเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม สำหรับประเทศไทย เท่าที่ทราบขณะนี้เริ่มมีการปลูกทดลองกันบ้างแล้วแถวจังหวัดราชบุรี แต่ไม่ทราบว่าได้ผลเป็นอย่างไร และถ้าจะว่าไปอากาศแถวฝรั่งเศสตอนใต้เห็นว่าค่อนข้างร้อนพอสมควรเทียบกับหลายๆ ประเทศในทวีปยุโรป จึงเห็นว่าประเทศไทยน่าจะประสบผลสำเร็จจากการปลูกทดลอง
ลาเวนเดอร์ นอกจากหากเข้าใกล้อาจทำให้ระคายเคืองคันผิวหนังแล้ว สิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่งคือฝูงผึ้งที่บินหาเกสรดอกไม้ซึ่งมีมหาศาลพอๆ กับความกว้างใหญ่ของท้องทุ่งลาเวนเดอร์
รู้จักลาเวนเดอร์กันแล้วพอหอมปากหอมคอ ต่อไปจะพาไปรู้จัก
เมืองกราซ (Grasse) ที่รู้จักกันดีว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งโลกน้ำหอม” คณะเราได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตน้ำหอม
Fragonard Perfumery ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ ๑๖ (ตรงกับ พ.ศ. ๑๕๐๑ – ๑๖๐๐) ได้ชมกระบวนการผลิตน้ำหอมด้วยการสกัดและกลั่นน้ำมันหอมระเหยออกมาจากพืชนานาชนิด แต่ส่วนใหญ่จะมาจากดอกลาเวนเดอร์ ซึ่งกว่าจะผลิตจนได้น้ำมันหอมสัก ๑ ลิตร ต้องใช้ดอกลาเวนเดอร์ไม่น้อยกว่า ๑๓๐ กิโลกรัม โดยนำดอกไปต้มในถังอัดความดันด้วยความร้อนสูงจนกลั่นตัวกลายเป็นไอน้ำลอยไปตามท่อส่งลงสู่ถังเก็บ เจ้าหน้าที่โรงงานเล่าว่าดอกไม้ที่นำเข้าจากเมืองไทยก็มีด้วย เช่น ดอกมะลิ ดอกกุหลาบฯลฯ และดอกไม้ที่ส่งไปต้องปราศจากสารฆ่าศัตรูพืช จึงเป็นอันว่าพรรณไม้หอมจากเมืองไทยก็มีโอกาสไปชูคอถึงฝรั่งเศสกะเขาด้วยเหมือนกัน และไอ้เจ้าหัวน้ำหอมที่สกัดออกมาได้นั้นจะนำไปใช้สำหรับผลิตเครื่องสำอาง สบู่ สเปรย์ปรับอากาศ อุตสาหกรรมยา และอื่นๆ อีกมากมาย
และถ้าเอ่ยถึงน้ำหอมแล้วผู้คนมักนึกไพล่ไปถึงประเทศฝรั่งเศสด้วยบ่อยๆ ก็น่าจะเป็นอย่างที่เขาว่ากันว่า
คนฝรั่งเศสไม่ชอบอาบน้ำ เป็นคนที่สกปรกที่สุดเมื่อเทียบกับคนอิตาลี คนอังกฤษ และคนเยอรมัน ดังนั้น สิ่งที่พอบรรเทากลิ่นกายได้คงหนีไม่พ้นเอาน้ำหอมเข้าช่วยนั่นเอง
พระราชินีมารี อองตัวแนต (
Marie Antoinette)
ในราชสำนักฝรั่งเศส ช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๕ หรือราวหนึ่งพันปีเศษล่วงมาแล้ว
พระราชินีแคธรีน เดอ เนดิซิ พระอัครมเหสีในพระเจ้าอองรีที่ ๒ แห่งฝรั่งเศส ได้เสด็จประพาสตำบลกราซ ขณะขบวนเสด็จหยุดพักชาวบ้านได้นำน้ำเย็นที่อบด้วยดอกไม้มาถวาย พระนางติดใจในความหอมกรุ่นของน้ำ จึงทรงไล่เลียงถึงกรรมวิธีในการทำน้ำให้มีกลิ่นหอม เมื่อเสด็จกลับถึงนครปารีส พระนางได้ให้นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งทำการทดลองนำดอกไม้ชนิดต่าง ๆ มาสกัดทำน้ำหอมใช้สำหรับประพรมพระวรกายของพระนางและหมู่นางพระสนมกำนัลไม่เว้นแต่ละวัน
พระราชินีมารี อองตัวแนต (Marie Antoinette) เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีพระราชนิยมในเรื่องเครื่องหอมด้วยเช่นกัน ในยุคนั้น นายฌอง หลุยส์ ฟาร์จียอง นักสุคนธศาสตร์หรือนักปรุงน้ำหอมประจำพระองค์ ได้คิดค้นและปรุงน้ำหอมให้มีกลิ่นพิเศษสำหรับพระนางโดยเฉพาะ นั่นคือการปรุงน้ำหอมให้มีกลิ่นที่สดชื่นคล้ายเด็กสาว อ่อนโยน และเย้ายวนเกินห้ามใจ
สำหรับหนุ่มฝรั่งเศส ว่ากันว่ารู้จักใช้น้ำหอมในสมัยจักรพรรดินโปเลียนบุกเข้ายึดเมืองโคโลญน์ (
Cologne) ในเยอรมัน ในปี ๑๗๙๒ ทหารฝรั่งเศสที่ไปในการศึกครั้งนั้นเกิดไปติดอกติดใจน้ำหอมดอกส้มของเมืองนี้เข้า จึงพากันไปซื้อบ้านเลขที่ 4711 ซึ่งเป็นบ้านของผู้ผลิตน้ำหอมแล้วนำกลับไปเผยแพร่ที่ฝรั่งเศสนับแต่นั้นมา
น้ำหอมยี่ห้อ 4711 โอเดอ โคโลญจน์ (eau de cologne 4711) จึงรู้จักกันแพร่หลายสืบต่อมาจนทุกวันนี้
สังคมไทยกับน้ำหอมหรือน้ำปรุง
สังคมไทยสมัยโบราณ นอกจากนิยมใช้เครื่องหอมประเภทน้ำอบหรือเรียกว่าน้ำปรุงมาชโลมผิวกายให้สดชื่น หอมกรุ่น และบำรุงผิวพรรณแล้ว ยังนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมในทางศาสนาอีกด้วย ได้เคยอ่านพบว่าในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีการใช้น้ำอบหรือน้ำปรุงสำหรับตั้งเครื่องพระสุคนธ์ในการพระราชพิธีด้วย แต่ยังหาหลักฐานมาแสดงไม่พบจึงขอกล่าวสั้น ๆ เพียงเท่านี้ จึงเห็นว่าพระราชนิยมดังกล่าวคงมีสืบเนื่องต่อมาจนถึงรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ อย่างไม่ต้องสงสัย ดังปรากฎในวรรณกรรมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เรื่อง
ศกุนตลา นางโคตรมีพราหมณี สั่งให้นางอนุสูยาแต่งกายให้กับนางศกุนตลา เพื่อนำนางเข้าเผ้าถวายตัวเป็นข้าบาทบริจาแก่ท้าวทุษยันต์ ดังนี้
ชำระสระสนานสำราญองค์ โฉมยงผ่องฉวี
สุคนธ์ทาลูบไล้อินทรีย์ หอมกลิ่นมาลีที่ปรุงปน
น้ำอบหรือน้ำปรุงของไทย ได้จากกระบวนการนำน้ำไปผ่านกรรมวิธีการปรุงด้วยของหอม ไม่ว่าจะเป็น ใบเตยหอม แก่นจันทน์เทศ พิมเสน ผิวมะกรูด ดอกมะลิ ดอกพิกุล กุหลาบมอญ ดอกโมก ดอกนมแมว ดอกชมนาด ฯลฯ จนน้ำนั้นกลายเป็นน้ำหอมที่หอมเย็นเป็นธรรมชาติ เท่าที่เคยเห็นมาด้วยตนเองเขามักนำเครื่องหอมดังกล่าวมาแช่น้ำทิ้งไว้ในตอนเย็นหรือหัวค่ำลอยทิ้งค้างไว้ 1 คืน รุ่งเช้าตักเอาเครื่องหอมนั้นทิ้งไป ในบางกรณีถ้าอยากจะให้น้ำนั้นหอมยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ก็เคยเห็นว่ามีการใช้เทียนอบปักลงไปในภาชนะใส่น้ำ (ต้องหาวิธีให้เปลวไฟอยู่เหนือระดับผิวน้ำและเครื่องหอมที่ลอยไว้) จึงจุดไฟนำฝาครอบมาปิดทิ้งค้างคืนไว้ 1 คืนได้อีกเช่นกัน ซึ่งการทำน้ำหอมแบบนี้จะทำใช้กันวันต่อวันเท่านั้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เริ่มมีการนำเข้าหัวน้ำหอมจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับเครื่องหอมโบราณของไทย ทำให้เกิดมีน้ำหอม ๒ ประเภท คือ น้ำอบไทย กับน้ำอบฝรั่ง ทำให้ค่านิยมของการใช้น้ำอบไทยลดลงไป ในปัจจุบันเท่าที่พอเห็นจะใช้กันอยู่ ก็คงจะประเพณีสงกรานต์ โดยนำน้ำอบน้ำปรุงมาผสมน้ำสะอาดสำหรับสรงพระเพื่อขอขมาโทษและเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือรดขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างอื่นนอกจากนี้ไม่ค่อยได้พบเห็น สาเหตุคงมาจากยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้