พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์
พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) วัดมงกุฎกษัตริยาราม (ปัจจุบันเขียนเป็น มกุฏกษัตริยาราม) กรุงเทพมหานคร
พระราชาคณะชั้นธรรมในราชทินนาม “พระธรรมปาโมกข์” รูปแรก
พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑(แฟง กิตฺติสาโร) พระพรหมมุนี (แฟง) วัดมงกุฎกษัตริยาราม (ปัจจุบันเขียนเป็น มกุฏกษัตริยาราม) นามฉายาว่า กิตฺติสาโร เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๙ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๘๐ ตรงกับวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ บิดาชื่อ คง มารดาชื่อ ปาน บ้านเดิมอยู่คลองสามเสนฝั่งเหนือ ตรงข้ามกับวัดอภัยทายาราม (วัดมะกอก) อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เมื่อจวนจะอุปสมบท ได้มาเป็นศิษย์อยู่ในสำนักพระจันทรโคจรคุณ (จนฺทรํสี ยิ้ม) ครั้งยังเป็นพระครูอยู่วัดโสมนัศวิหาร และอุปสมบทที่วัดโสมนัศวิหาร เมื่อปีมะแม พ.ศ.๒๔๐๒ สมเด็จพระวันรัตน์ (พุทฺธสิริ ทับ) แต่ครั้งยังเป็นพระพรหมมุนี เป็นอุปัชฌายะ พระจันทรโคจรคุณ (จนฺทรํสี ยิ้ม) ครั้งยังเป็นพระครูชื่อนั้น เป็นกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระพรหมมุนี (เหมือน) แต่เมื่อยังเป็นพระอริยมุนีบ้าง ในสำนักอาจารย์ทองบ้าง เมื่อทรงสร้างวัดมงกุฎกษัตริย์ ท่านรับตำแหน่งเป็นพระสมุห์ในถานานุกรมไปอยู่วัดมงกุฎกษัตริย์ด้วย เมื่อปีมะโรง พศ. ๒๔๑๑
ถึงรัชกาลที่ ๕ เข้าแปลพระปริยัติธรรมครั้งแรกที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ต่อมาถึงปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์อีกครั้ง ๑ แปลได้อีก ๔ ประโยค รวมเป็น ๗ ประโยค ถึงปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๒๔ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระกิตติสารมุนีตามนามฉายาของท่าน ครองวัดมงกุฎกษัตริย์ ต่อมาถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงเลื่อนเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่พระเทพโมลี มีสำเนาที่ทรงตั้งดังนี้
คำประกาศ
ศุภมัสดุ ฯลฯ (ลงวันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ ที่ ๑๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ พร้อมกับทรงตั้งหม่อมเจ้าพิมลธรรม)
อนึ่งพระราชาคณะที่มีความรู้พระปริยัติธรรมปรากฏในสงฆมณฑลสมควรที่จะเลื่อนอิศริยยศมีอิกหลายรูป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระกิตติสารมุนี เปนพระเทพโมลีตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆาราม ความวาสี สถิต ณ วัดมงกุฎกษัตริยารามวรวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๔ ตำลึง ๒ บาท มีถานานุศักดิควรตั้งถานานุกรมได้ ๔ รูป คือ พระครูปลัด ๑ พระครูสังฆวิชิต ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๔ รูป ขอพระคุณทั้งปวงซึ่งรับราชทินนามเพิ่มอิศริยยศและนิตยภัตรในครั้งนี้ จงจิรฐิติกาลเจริญอายุวรรณ ศุขพลปฏิภาณ คุณสารศิริสวัสดิ ในพระพุทธสาสนาทุกประการเทอญฯ
ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ ทรงเลื่อนสมณศักดิเป็นพระธรรมปาโมกข์ ชั้นธรรมในคณะธรรมยุติกา เป็นตำแหน่งทรงตั้งขึ้นใหม่ มีสำเนาทรงตั้งดังนี้
คำประกาศ
ศุภมัสดุ ฯลฯ (ลงวันพฤหัศบดี เดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่ ๒๐ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๓ พร้อมกับทรงตั้งหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์)
อนึ่งพระราชาคณะที่มีความรอบรู้พระปริยัติธรรมปรากฏในสงฆมณฑล สมควรที่จะเลื่อนอิศริยยศในสมณศักดิแลพระสงฆ์ซึ่งทรงสมณคุณ สมควรจะเปนพระราชาคณะแลพระครูมีอิกหลายรูป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระเทพโมลี เป็นพระธรรมปาโมกข์ยุตโยคยตินายก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาทีคณฤศร บวรสังฆาราม ความวาสี สถิต ณ วัด มงกุฎกษัตริยารามวรวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๕ ตำลึง มีถานานุศักดิควรตั้งถานานุกรมได้ ๕ รูป คือ พระครูปลัด ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๕ รูป ขอพระคุณทั้งปวงซึ่งรับพระราชทินนามเพิ่มอิศริยยศ แลนิตยภัตรในครั้งนี้ จงจิรฐิติกาล เจริญอายุวรรณ ศุขพลปฏิภาณ คุณสารศิริสวัสดิในพระพุทธสาสนาทุกประการเทอญฯ
พระพรหมมุนี (แฟง) เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมในราชทินนาม “พระธรรมปาโมกข์” เป็นรูปแรก ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงเลื่อนสมณศักดิเป็นพระพรหมมุนี เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๘ มีสำเนาประกาศที่ทรงตั้งดังนี้
คำประกาศ
ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาล เปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๒ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม วราหะสังวัจฉระกติกมาศ สุกรปักษ์ อัฐมีดิถี ศุกรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร ศก ๑๑๘ พฤศจิกายนมาศ ทะสะมะมาสาหะคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระธรรมปาโมกข์ ประกอบไปด้วยวิริยานุภาพอันไพศาล ทรงคุณวุฒิโดยอเนกประการ เปนผู้รอบรู้พระปริยัติธรรมแตกฉานด้วยดี ได้เปนพระอาจารย์แนะนำพระปริยัติธรรมถวาย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส จนถึงได้เสด็จเข้าแปลในที่ประชุมพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ เฉพาะน่าพระที่นั่ง กับได้เปนอุปัธยาจารย์อุปสมบทกุลบุตรผู้มีเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา ให้สำเร็จกิจบรรพชาอุปสมบทตามพระบรมพุทธานุญาต ทั้งเปนผู้ตรวจชำระพระไตรปิฎกหลวง ลงพิมพ์สำเร็จทันการพระราชพิธีรัชฎาภิเศก สมพระราชประสงค์ด้วยรูป ๑ แลเปนกรรมการของมหามกุฏราชวิทยาลัย ช่วยจัดการเล่าเรียนอักษรสมัยภาษาไทยแลภาษามคธ บำรุงพุทธสาสนาให้เจริญปรากฏทั่วไปในสยามรัฐมณฑล สั่งสอนพุทธสาสนิกชนให้ประพฤติชอบตามพระธรรมวินัย ทั้งพร้อมไปด้วยศีลสมาจารวัตร มีความปฏิบัติสมควรแก่ธรรมทายาทเรียบร้อยตลอดมา ควรเปนที่คารวะนับถือของพุทธมามะกะ บริษัททั้งคฤหัสถ์แลบรรพชิต บัดนี้ก็มีพรรษายุกาลเจริญยิ่งขึ้น สมควรจะเปนพระราชาคณะผู้ใหญ่ได้
จึงมีพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระธรรมปาโมกข์ เป็นพระพรหมมุนี มีราชทินนามในหิรัญบัตรว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายกตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ มัชฌิมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดมงกุฎกษัตริยารามวรวิหาร พระอารามหลวง ตำแหน่งเจ้าคณะรองในคณะกลาง มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๖ ตำลึง มีถานานุศักดิควรตั้งถานานุกรมได้ ๘ รูป คือ
พระครูปลัดพิพัฒน์พรหมจริยคุณ สมบุรณ์คณาธิปัติ มัชฌิมสังฆานุนายก ปิฎกธรรมรักขิต มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูวินัยธรรม ๑
พระครูพุทธพากย์ประกาศ ๑
พระครูธรรมสาสน์อุโฆษ ๑
พระครูสังฆบริหาร ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๘ รูป
ขอให้พระคุณทั้งปวงซึ่งรับราชทินนามแลเพิ่มอิศริยยศในครั้งนี้ จงจิรฐิติกาล เจริญอายุวรรณ ศุขพลปฏิภาณคุณสารศิริสวัสดิ ในพระพุทธสาสนาทุกประการเทอญฯ
พระพรหมมุนี (แฟง) ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ตรงกับเดือน ๑๒ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ อายุ ๖๔ ปี
กิมเล้ง :
http://www.sookjai.com.