เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้มาก ทั้งในด้านร้อยแก้วและร้อยกรอง พระนิพนธ์ร้อยแก้ว
มีรายการเท่าที่รวบรวมได้ขณะนี้ ดังนี้
๑. คำสวดมนต์แบบมคธ เป็นคำบรรยายประวัติความเป็นมาพร้อมทั้งเนื้อหาธรรมที่ปรากฏในพระสูตรนั้น ทรงบรรยายไว้กว่า ๕๐ เรื่อง
๒. บันทึกของศุภาสินี เป็นพระนิพนธ์แสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างง่ายๆ สำหรับให้คนทั่วไปอ่านเพลิดเพลิน พร้อมทั้งได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ตลอดถึงได้รู้เรื่องขนบประเพณีไทยที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาและกิริยามารยาทในสังคมไทยที่น่ารู้ ทรงนิพนธ์ไว้เป็นตอนๆ รวม ๖๕ เรื่อง
๓. รวมพระนิพนธ์ร้อยแก้ว ซึ่งเป็นศาสนคดีที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและธรรมในด้านต่างๆ ทั้งสำหรับภิกษุสามเณรและสำหรับชาวบ้านทั่วไป รวม ๔๑ เรื่อง เช่น เรื่อง ความดีของพระวินัย การเข้าวัตร เทศกาลเข้าพรรษา การทำหน้าที่พระอุปัชฌายะ การสาธารณูปการ การเข้าถึงพระรัตนตรัย การฝึกตน ความสามัคคี พระคุณของแม่ เป็นต้น
ส่วน พระนิพนธ์ร้อยกรอง ซึ่งเป็นรูปแบบการประพันธ์ที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงโปรดมากเช่นกัน ได้ทรงนิพนธ์ร้อยกรองแบบต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก เท่าที่รวบรวมได้และจัดเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
๑. โคลงกระทู้ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ จำนวน ๑๑๒ บท
๒. โคลงกระทู้ปฏิทิน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ จำนวน ๕๘ บท
๓. โคลงกระทู้ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ จำนวน ๑๓๗ บท
๔. บทสักวา “วันทำบุญ” ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ รวม ๙๒ บท
๕. สักวาปฏิทิน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ รวม ๙๓ บท
๖. มงคลดอกสร้อย ไม่ปรากฏปีที่ทรงนิพนธ์ รวม ๑๑ บท
๗. ดอกสร้อยปฏิทิน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ รวม ๖๑ บท
๘. สวนดอกสร้อย ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ รวม ๓๙ บท
๙. สวนดอกสร้อย ไม่ปรากฏปีที่ทรงนิพนธ์ รวม ๕๔ บท
๑๐. ภาษิตคำกลอน ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ รวม ๓๒ บท
๑๑. คำกลอนคาถาแห่งปราภวสูตร คาถาที่ ๘ ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖
๑๒. คำโคลงเรื่องทิศ ๖ ไม่ปรากฏปีที่ทรงนิพนธ์ รวม ๑๐๔ บท
๑๓. กวีนิพนธ์เบ็ดเตล็ด ซึ่งเป็นบทกวีธรรมและบทสอนใจในลักษณะต่างๆ อีกมาก
พระนิพนธ์เหล่านี้ นอกจากจะเป็นสิ่งแสดงพระอัธยาศัยทางการประพันธ์ให้เป็นที่ปรากฏแล้ว ยังเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัธยาศัยและพระจริยาวัตรในด้านต่างๆ ของพระองค์อีกด้วย ในทำนองรู้จักคนจากผลงาน ฉะนั้น พระนิพนธ์ต่างๆ เหล่านี้จึงมีคุณค่าน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
สมณศักดิ์และหน้าที่การงาน
การที่ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ถวายงาน และถวายการอุปัฏฐากใกล้ชิดแด่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มาแต่พรรษายุกาลยังน้อยนั้น นับว่าเป็นคุณประโยชน์แก่พระองค์เองอย่างมหาศาล เพราะเท่ากับได้เข้าโรงเรียนการปกครองมาตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย เป็นการเตรียมพระองค์เพื่ออนาคตโดยมิได้ทรงคาดคิด การถวายปฏิบัติรับใช้สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้น เป็นโอกาสให้พระองค์ได้ทรงเรียนรู้การคณะ การพระศาสนา และการปกครอง มาเป็นเวลายาวนานเกือบ ๒๐ ปี กอปรกับพระองค์เองก็ทรงมีพระอัธยาศัยช่างคิดช่างสังเกต จึงได้ทรงเรียนรู้และซึมซับเอาแนวพระดำริและแบบแผนต่างๆจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้นไว้ได้เป็นอันมากนับเป็นทุนและเป็นฐานที่สำคัญแห่งความเจริญก้าวหน้าในพระสมณศักดิ์ และพระภาระหน้าที่ของพระองค์ในเวลาต่อมา แม้โดยพระอัธยาศัยจะทรงถ่อมพระองค์ว่ามีความรู้น้อย เพราะทรงเป็นเปรียญเพียง ๔ ประโยค แต่เพราะพระองค์เป็นผู้ที่เรียกว่า “เจริญในสำนักของอาจารย์” คือได้รับการฝึกอบรมมาดี มีความรู้ความสามารถในหน้าที่การงานและพร้อมด้วยพระจริยามรรยาทอันงาม จึงเป็นเหตุให้ทรงเป็นที่ยอมรับและเจริญก้าวหน้าในพระเกียรติยศและหน้าที่การงานมาโดยลำดับ
- พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูโฆสิตสุทธสร
- พ. ศ. ๒๔๖๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูธรรมธร และในศกเดียวกันนี้ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิจิตรธรรมคุณ ตำแหน่งฐานานุกรมของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ปลัดซ้ายของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ที่ พระจุลคณิศร เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗
- พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นกรรมการคณะธรรมยุต
- พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และในศกเดียวกันนี้ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์เอกทางรจนาพระคัมภีร์ และจากตำแหน่งนี้เป็นเหตุให้ทรงมีคุณสมบัติได้เป็นสมาชิกสังฆสภา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ (ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ดังกล่าว ผู้จะดำรงตำแหน่งสมาชิกสังฆสภา ต้องเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมขึ้นไป หรือเปรียญธรรม ๙ ประโยคหรือพระคณาจารย์เอก)
- พ.ศ. ๒๔๘๖ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาคกลาง เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาค ๒ รูปที่ ๑ เป็นเจ้าคณะอำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร และเป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย (ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งในที่สุดก็ล้มเลิกไป)
- พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และในศกเดียวกัน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สืบต่อจาก พระสาสนโสภณ (ภา ภาณโก) ซึ่งมรณภาพในศกนั้น
- พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรี ในสมัยที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
วัดเทพศิรินทราวาส เป็นสังฆนายก และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นถึงเดือนมิถุนายน ศกนั้น
ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐
- พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ ในสมัย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการภาค ๑
- พ.ศ. ๒๔๙๒ มีการเปลี่ยนแปลงเขตภาคทางการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ คงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการภาค ๑ เช่นเดิม ครั้นถึงเดือนธันวาคม ศกนั้น ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒
- พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ สมัย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก
- พ.ศ. ๒๔๙๔ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ดำรงตำแหน่งสังฆนายก ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการเช่นเดิม ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยภาค ๑-๒-๖ และเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต) ภายหลังเพิ่มจังหวัดนครสวรรค์อีก ๑ จังหวัด
- พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ สมัย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต เป็นสังฆนายก
- พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
- พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ สมัยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระมหาวีรวงค์ เป็นสังฆนายก
- พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการตำแหน่งเจ้าคณะธรรมยุตภาค ๑-๒-๖ และได้รับแต่งตั้งเป็นอุปนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
ในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ คือได้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ และประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แทน ซึ่งมีรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์คล้ายสมัยใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ คือ บริหารการคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรก ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งขณะนั้นว่างเว้นจากสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ ซึ่งมีอายุพรรษาสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามพระราชบัญญัติฯ กรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกนี้ ประกอบด้วยพระมหาเถระ ๘ รูป คือ
๑. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ เป็นประธาน (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘)
๒. สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ (สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔)
๓. สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖)
๔. พระธรรมปัญญาบดี (วน ฐิติญาโณ) วัดอรุณราชวราราม (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐)
๕. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) พระองค์ที่ ๑๘
๖. พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ ๑๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒)
๗. พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สาลี อินฺทปชฺโชโต) วัดอนงคาราม (มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐)
๘. พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) วัดสัมพันธวงศ์ (มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐)
ครั้นถึงเดือนพฤษาคม ศกเดียวกัน (พ.ศ. ๒๕๐๖) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
อนึ่ง กรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกนี้ ได้ประชุมกันครั้งแรก ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖
- พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับเลือกเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สืบต่อจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ในศกเดียวกัน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต สืบต่อจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) เช่นเดียวกัน
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุณฺณสิริมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สิ้นพระชนม์ ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะมีพระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้
ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช ปร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกได้ว่างลงเป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพื่อจักได้บริหารการพระศาสนาให้สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ และตามระเบียบราชประเพณีสืบไป และโดยที่ได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาลและสังฆทัศนะในมหาเถรสมาคมโดยเอกฉันท์มติ จึงทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระมหาเถระเจริญในสมณคุณเนกขัมมปฏิบัติ สมบูรณ์ด้วยศีลสมาจารวัตร รัตตัญญู มหาเถรกรณธรรม ดำรงสภาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล ดังมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภาร ตามความพิสดารในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะมหาสังฆนายก เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ นั้นแล้ว
ครั้นต่อมา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวิริยาธิคุณ สามารถรับภาระธุระพระพุทธศาสนา เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย ยังการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับตลอดมา ในการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ก็ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมมาแต่เริ่มแรกเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ในการปริยัติศึกษาเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ส่วนในการพระอารามก็ได้เอาใจใส่ควบคุมดูแลระวังรักษา จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุสิ่งก่อสร้างในพระอาราม ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเสียหาย ให้กลับคืนดีมีสภาพงดงามมั่นคงถาวรดีขึ้นตลอดมา ดั่งเป็นที่ปรากฏแล้ว ได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นไว้เป็นทุนถาวรสำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม ชื่อว่าทุนพระจุลจอมเกล้าฯ เริ่มแต่พุทธศักราช ๒๕๑๓ เป็นต้นมา อนึ่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิเสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชอุฏฐายีมหาเถระเป็นประจำตลอดมา
บัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษายุกาล รัตตัญญู มหาสถาวีรธรรม มั่นคงในพระพุทธศาสนา เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตสงเคราะห์พุทธบริษัท ปกครองคณะสงฆ์ ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ได้เป็นครูและอุปัธยาจารย์ของมหาชนเป็นอันมาก มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาลเป็นที่เคารพสักการแห่งมวลพุทธศาสนิกบริษัททั่วสังฆมณฑล ตลอดจนอาณาประชาราษฏร์ทั่วไป สมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณวาสนภิธารสังฆวิสุตปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปกร ชินวรวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลศีลสมาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราชเสด็จสถิต ณ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง เป็นประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ จงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฆฐิติรุฬห์ไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป คือ พระมหาคณิศร พุทธศาสนิกนิกรปสาทาภิบาล สกลสังฆประธานมหาสถาวีรกิจการี นายกบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระจุลคณิศร สัทธรรมนิติธรมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑ พระครูวินยาภิวุฒิ ๑ พระครูสุตตาภิรม ๑ พระครูธรรมาธิการ พระครูพระปริต ๑ พระครูวิจารณ์ภารกิจ พระครูพระปริต ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูโฆสิตสุทธสร พระครูคู่สวด ๑ พระครูอมรสารนาท พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิสาลบรรณวัตร ๑ พระครูพิพัฒบรรณกร ๑ พระครูสังฆวิธาน ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้ มีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพร ในพระบวรพุทธศาสนา เทอญ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นปีที่ ๒๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
สัญญา ธรรมศักดิ์
นายกรัฐมนตรี
พระอวสานกาล
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเจริญพระชนมายุยืนยาวมากพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ คือ ๙๑ พรรษา โดยปี และทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงมาโดยตลอด ถึง พ.ศ. ๒๕๓๑ ทรงพระประชวรด้วยพระปัปผาสะอักเสบเมื่อเดือนมิถุนายน จึงได้เข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ต่อมาทรงมีพระอาการพระหทัยวายเนื่องจากเส้นโลหิตตีบและกล้ามเนื้อพระทัยบางส่วนไม่ทำงาน เป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒ เวลา ๑๖.๕๐ น.
สิริพระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา ๕ เดือน ๒๕ วัน ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑๔ ปี ๒ เดือน ๕ วัน
กิมเล้ง :
http://www.sookjai.comข้อมูล
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕-
http://www.dhammajak.net.