พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์
พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร
พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๑๓
พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน ปีจอ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๙ ณ บ้านคลองคราม ในคลองบางกอกน้อย เป็นบุตรชายคนแรกของนายพันโท พระบริคุตวรภัณฑ์ (คง สรวิสูตร์) ยกกระบัตรทหารบก ท่านรอด เป็นมารดา ท่านมีพี่สาวร่วมมารดาคนหนึ่ง คือคุณชุมแสง เทพหัศดินทร์ ซึ่งถึงแก่กรรมไปนานแล้ว และมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับท่านอีก ๒ คน คือ นางพิมลเสนี (ประพันธ์ หงสกุล) คนหนึ่ง กับนายเพชร์ สรวิสูต อีกคนหนึ่ง ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วเช่นกัน
เมื่อเยาว์วัย ท่านได้มีโอกาสติดตามคุณโยมบิดาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ และได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นรุ่นแรก รุ่นเดียวกับมหาอำมาตย์ตรีพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) เรียนจบประโยคหนึ่งแตกฉานในภาษาไทยเป็นอย่างดี และภาษาอังกฤษพอสมควร
เมื่อท่านมีอายุได้ ๑๗ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้มีโอกาสถวายการปฏิบัติต่อ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จนเป็นที่โปรดปรานเพราะความขยัน อดทน และอยู่จนดึกเป็นนิจ ด้วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงงานอยู่จนเลยสองยามแล้วจึงจะเสด็จเข้าที่พระบรรทม ท่านเฝ้ารับใช้รวดเร็วทันพระทัยและรู้พระทัยเป็นอย่างดี โดยมิได้คำนึงถึงเวลาพักผ่อนของท่านเอง
ท่านเป็นสามเณรอยู่ได้ปีเศษ ก็ลาสิกขาออกไปรับราชการของประเทศชาติในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นเวลาประมาณ ๓ ปีเศษ ก็ลาออก เพื่อไปหาความสงบและพักผ่อนเพื่อสุขภาพ ในที่สุด ท่านก็ได้ตัดสินใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนรนาถสุนทริการาม วัดเดียวกับที่คุณโยมบิดาของท่านเคยบรรพชา โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ พระวินัยมุนี เป็นพระกรรมวาจา เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๐
พรรษาแรกที่อุปสมบท ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ในวัดเล็ก ๆ ในป่าจังหวัดนครสวรรค์ หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านก็โดยสารรถไฟกลับกรุงเทพฯ พักอยู่ที่วัดนรนาถฯ บ่ายวันหนึ่ง ท่านนั่งรถรางมาลงที่สะพานยศเส (สะพานกษัตริย์ศึก ปัจจุบัน) แล้วเดินต่อไปจนถึงชานเมืองได้พบวัดปทุมวนาราม ก็รู้สึกสนใจในความสงบร่มเย็นของวัดนี้ ท่านจึงเดินเข้าไปดูในลานวัด และพบกับพระวิสุทธสารเถระ (ผิว) ผู้เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ ท่านจึงเข้าไปทำความเคารพและสนทนาอยู่พักหนึ่ง จนเกิดความประทับใจในการต้อนรับของเจ้าอาวาส ท่านจึงกราบขอมาอยู่วัดปทุมวนารามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระวิสุทธสารเถระ เดิมเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดพระบาทตากผ้า จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผู้คนเคารพนับถือมาก เดิมเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามองค์ที่ ๓ มรณภาพลง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดให้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามสืบแทนต่อไป และอยู่มาไม่นานก็มรณภาพลง กรมพระสวัสดิ์ จึงนิมนต์พระอาจารย์หนู จิตปัญโญ ซึ่งเป็นเพื่อสหธรรมมิก เดินธุดงค์กับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ จากวัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี มาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ของวัดปทุมวนารามต่อไป เพราะฉะนั้น พระอาจารย์มั่นฯ จึงได้ลงมาพักอยู่ด้วยเป็นเวลาถึง ๓ ปี
พระธรรมปาโมกข์ (มนฺตาสโย บุญมั่น สรวิสูตร์) มีความสนใจในทางธรรมปฏิบัติมาก จึงเข้ารับการอบรมกรรมฐานจากท่านอาจารย์มั่นฯ และได้ติดตามธุดงค์ไปกับพระอาจารย์ในภาคเหนือ แล้วเลยเข้าไปอยู่เมืองมะระแหม่ง ๒ ปี กับที่เมืองเมาะตะมะอีก ๒ ปี การอยู่ในประเทศพม่าต้องแอบพูดภาษาไทยกันอย่างเบา ๆ เพราะพม่ามีชาตินิยม จึงไม่พอใจที่จะได้ยินภาษาอื่นนอกจากภาษาพม่า เมื่อกลับประเทศไทยท่านอาจารย์มั่นฯ เข้ามาทางเชียงรายและเชียงใหม่ ส่วนพระธรรมปาโมกข์ลงเรือที่เมืองเมาะตะมะ มาขึ้นที่นครศรีธรรมราช แล้วเดินทางกลับวัดปทุมวนาราม เช่นเดียวกับพระอาจารย์มั่นฯ ซึ่งมาถึงกรุงเทพฯ ภายหลัง และคงพักอยู่วัดปทุมวนารามชั่วระยะหนึ่ง จึงมีการเดินทางไปธุดงค์ด้วยกันอีก โดยมุ่งไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลยไปถึงประเทศลาว เลาะมาตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ข้ามฟากเข้าประเทศไทยที่ปากเซ ขึ้นที่วัดธาตุพนม แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดสกลนคร อุดรธานี แล้วขึ้นรถไฟมาลงที่นครราชสีมา เดินธุดงค์ต่อไปยังเพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ จนมาถึงปากน้ำโพ จึงขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการธุดงค์เที่ยวสุดท้าย ครั้นเมื่อเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ถึงแก่มรณภาพลง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ก็ทรงแต่งตั้งให้ท่านรักษาการเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ ในกาลต่อมา ท่านได้รับสมณศักดิ์มาตามลำดับ คือ
- ๖ พ.ย. ๒๔๗๖ พระครูประทุมธรรมธาดา
- ๕ ธ.ค. ๒๔๙๑ พระปัญญาพิสารเถร
- ๕ ธ.ค. ๒๕๐๐ พระปัญญาพิสารเถร (ชั้นราชในนามเดิม)
- ๕ ธ.ค. ๒๕๐๕ พระเทพมงคลปัญญาจารย์
- ๕ ธ.ค. ๒๕๒๐ พระธรรมปาโมกข์
พระธรรมปาโมกข์ทำอะไรก็ทำจริง ๆ เช่นการเดินธุดงค์ก็เดินจริง ๆ เป็นระยะทางทั้งหมดมากมายน่าพิศวง ส่วนการแสดงธรรมเทศนานั้น เมื่อได้กลับจากธุดงค์อยู่วัดปทุมวนารามแล้ว ท่านก็แสดงได้ดีเป็นที่สบอารมณ์แก่ผู้ฟัง เมื่อสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้า เสด็จมาทรงสดับพระธรรมเทศนาในวันธรรมสวณะ ที่สำคัญก็ทรงรับสั่งให้ท่านมั่นเทศน์ เจ้านายและคหบดีก็นิมนต์ให้ท่านไปเทศน์อยู่เสมอ จนเกือบจะไม่มีเวลาพักผ่อน แต่ท่านก็ต้องรับนิมนต์เพราะไม่อยากจะขัดศรัทธา
พระธรรมปาโมกข์มีจริยาวัตรเรียบร้อยนิ่มนวล เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่บรรดาผู้ที่ได้มีโอกาสวิสาสะโดยทั่วไป ซึ่งรวมทั้งคหบดีและเจ้านายหลายพระองค์ ท่านได้รับนิมนต์ไปในงานพระราชพิธีอยู่เสมอ จึงมีโอกาสได้เฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ อย่างใกล้ชิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จมาที่วัดปทุมวนารามอยู่เนือง ๆ ครั้งสุดท้ายได้เข้าเฝ้าเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๐ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมายกช่อฟ้าในพระอุโบสถที่ซ่อมใหม่ เมื่อเสร็จพิธีแล้วล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ก็เสด็จไปถวายความเคารพแด่พระบรมอัฐิของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งบรรจุไว้ในเจดีย์ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม และเมื่อเสด็จออกจากโรงเรียนก็ทรงพระราชดำเนินผ่านกุฏิของพระธรรมปาโมกข์ ซึ่งคอยเฝ้าอยู่ที่กุฏิ ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ก็ได้หยุดรับสั่งกับท่านอยู่เป็นเวลานานพอสมควรจึงเสด็จกลับ
พระธรรมปาโมกข์มีสุขภาพดีมาตลอด มีความแข็งแรง อดทน สามารถเดินธุดงค์อยู่เป็นเวลานานปีโดยปราศจากโรคภัยอันตราย เมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนารามท่านออกบิณฑบาตเป็นประจำและบางครั้งไปตามถนนสุขุมวิทจนเกือบถึงพระโขนง ท่านรับนิมนต์เจ้านายและคหบดีที่มีวังและคฤหาสน์ในย่านสุขุมวิทอยู่เป็นนิจ ทำให้เกิดความใกล้ชิดและเกิดศรัทธาแก่เจ้านายและคหบดีเหล่านั้น เป็นเหตุให้มีผู้ติดตามมาทำบุญที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวัยชราท่านไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ และท่านได้หกล้มหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญครั้งแรกท่านต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นเวลาสองเดือนเศษ ประมาณ ๒ ปีต่อมา ท่านก็ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจนานถึงสองเดือน ในปลาย พ.ศ. ๒๕๒๒ ท่านเป็นลมล้มในกุฏิ ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกเป็นแรมเดือน แล้วย้ายมาอยู่โรงพยาบาลสงฆ์เพื่อความสะดวกบางประการ ทุกครั้งที่ท่านป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์เป็นประจำหลายประการ การป่วยของท่านครั้งสุดท้ายท่านมีพระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถตั้งไว้ที่โต๊ะหัวนอนเตียง และทุกเวลาเพลท่านจะสวดมนต์ถวายพระราชกุศลแด่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ในระยะหลัง ๆ นี้ ท่านฉันได้น้อยและมีอาการอ่อนเพลีย
ครั้นมาถึงวันอังคารที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๒ เวลา ๘.๔๕ น. ท่านจำวัดแล้วก็ถึงแก่มรณภาพด้วยความสงบ นับอายุได้ ๙๓ ปี ๗ เดือน ๒๐ วัน และพรรษา ๗๓
กิมเล้ง :
http://www.sookjai.comข้อมูลคัดลอกจาก
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๔๕