พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปญฺโญ) วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร
พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๑๔
เจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปญฺโญ) พระธรรมเทศนา
ในการทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน
พระราชทานศพ
พระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปัญฺโญ)
ณ หอประชุม ทอง – เหรียญ วงศ์ทองศรี
วันพุธ ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.
แสดงโดย
พระเทพรัชมงคลเวที (จำนง ธมฺมจารี)
วัดสัมพันธวงศ์
ขอถวายพระพร เจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล พระชนมสุข ทุกประการ จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ สมเด็จพระปรมินทรธรรมมิก มหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ บัดนี้จะรับพระราชทานถวาย วิสัชนา พระธรรมเทศนา ในสุสมณกถา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี ถ้ารับพระราชทานถวาย วิสัชนา พระธรรมเทศนาไป มิได้ต้องตามโวหารและอรรถาธิบาย ในพระธรรมเทศนา ณ บทใดบทหนึ่งก็ดี ขอเดชะพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณ พระขันติคุณ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอภัย แก่อาตมะผู้มีสติปัญญาน้อย ขอถวายพระพร
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
สมโณ อสฺส สุสมโณ
บัดนี้ จะรับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนา ในสุสมณกถา พรรณนาเรื่อง สมณะที่ดีงามในพระพุทธศาสนา ประดับพระปัญญาบารมี เพิ่มพูนกุศล บุญราศี ทักษิณานุประทาน ปัจโจปการกิจ ที่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ บำเพ็ญอุทิศใน สัตตมวาร ที่หนึ่ง นับแต่วันถึงแก่มรณภาพ แห่งท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปัญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุทอง เป็นส่วนบูชา ธรรมพลีปัจโจปการกิจ ด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม คารวธรรม และอปจายนธรรม อนุวัตร ตามพระพุทธโอวาทที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน
ติโรกุฑฑกัณฑสูตร ว่า
อทาสิ เม อกาสิ เม ญาติมิตฺตา สขา จ เม
เปตานํ ทกฺขิณํ ทชฺชา ปุพฺเพ กตมนุสฺสรํ
เมื่อบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ ตามระลึกถึงความดี อันท่านผู้ล่วงลับไป ได้กระทำแก่ตนว่าท่านผู้นั้นเป็นญาติเป็นมิตร เป็นสหายของเรา ได้ให้ ได้ทำ สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่เราแล้ว พึงบำเพ็ญทักขิณา คือบุญกุศล เพื่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น
พระเดชพระคุณ
พระธรรมปาโมกข์ นามเดิมว่า นพ องฺกุรปญฺโญ อุบัติในสกุล ผลพิบูลย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๕ ตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โยมบิดาชื่อ นายหลิว แซ่จิ๋ว โยมมารดาชื่อ ปี้ ผลพิบูลย์ เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้อง ๒ คน คือ
๑.นางเลื่อน ผลพิบูลย์ ถึงแก่กรรม
๒.พระธรรมปาโมกข์ (นพ ผลพิบูลย์)
บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบางสะแกหลักเมตร หรือวัดบัวขวัญ จังหวัดปทุมธานี บรรพชาแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัยและบาลี เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร ได้รับฉายาว่า
องฺกุรปญฺโญ ศึกษาพระธรรมวินัย จบเถระภูมิ ได้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยค มีหน้าที่การงานในวัด ๙ ข้อ สรุปได้ คือ
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุต ทรงมีพระบัญชาให้พระมหานพ องฺกุรปญฺโญ เปรียญธรรม ๗ ประโยค วัดปทุมวนาราม มารักษาการเจ้าอาวาส ควบคุมดูแลการก่อสร้าง ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธาตุทอง และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้
- พุทธศักราช ๒๔๙๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระญาณดิลก
- พุทธศักราช ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชญาณดิลก
- พุทธศักราช ๒๕๐๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพญาณกวี
พุทธศักราช ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่
พระธรรมปาโมกข์ ซึ่งขณะที่ท่านได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ได้มีผลงานโดยสังเขป สรุปได้คือ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๐ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อุโบสถ เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตอุโบสถวัดธาตุทอง มีพระเดชพระคุณเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างส่วนต่าง ๆ ในวัดมาโดยตลอด เริ่มใหม่ทุกสิ่งทุกอย่าง อุโบสถใช้เวลาสร้างอยู่ ๑๕ ปี สภาพวัดและการก่อสร้างเสนาสนะในยุคนั้น ต้องต่อสู้อุปสรรคนานัปการ ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นที่ยาวนาน อุโบสถจึงสำเร็จสมบูรณ์ การก่อสร้างเสนาสนะอื่น ๆ ได้กระทำต่อเนื่องกันมาโดยลำดับ พระเดชพระคุณเป็นพระนักพัฒนา มีทัศนวิสัยที่ยาวไกล สร้างสรรค์สิ่งสำคัญที่ให้มีเกิดขึ้นในอารามเป็นอเนกประการ ทั้งส่วนวัดและส่วนสาธารณะ ให้วัดเป็นศูนย์กลาง อำนวยความผาสุก เป็นที่พึ่งทางกายและใจ แก่ประชาชนทั่วไป มิใช่ให้วัดเป็นศาสนสถานสำหรับผู้ทรงศีลอย่างเดียว พระเดชพระคุณยังจัดแบ่งปันเขตที่วัดให้มีส่วนที่สร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชน โดยจัดสร้างและอำนวยการให้มีหอประชุมสำหรับประชาชนท้องถิ่น มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีโรงเรียนอนุบาลวัดธาตุทอง มีสถานที่รับเลี้ยงเด็ก พีระยา – นาวิน ศูนย์วัดธาตุทอง มีโรงเรียนประชาบาล วัดธาตุทอง (เรือนเขียวสะอาด) สอนตั้งแต่ชั้น ป. ๑ ถึง ป. ๖ มีนักเรียน ๒,๐๐๐ เศษ มีครู ๑๓๗ คน สังกัดกรมสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร มีศูนย์เยาวชนวัดธาตุทอง มีศูนย์สาธารณสุข ๒๑ เปิดให้บริการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพอนามัย มีคลินิกบำบัดยาเสพติด สังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มีศูนย์วิจัยอนามัยประชาชน มีศูนย์กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย โดยทางวัดมอบให้กรมแรงงานใช้เป็นที่ทำการของกรมแรงงาน ฝึกช่างฝีมือ และงานช่างต่าง ๆ เป็นเขตตรวจแรงงาน มีหอสมุดอนุสรณ์ อาคารคุณแม่จาด รักวิทยาศาสตร์ มีเสนาสนะที่อยู่ของอุบาสิกา มีฌาปนสถานและศาลาบำเพ็ญกุศล สำหรับบำเพ็ญกุศลก่อนทำการฌาปนกิจในด้านของสังคม ทางวัดได้ให้เอกชนและทางราชการใช้สนามด้านหน้าวัดจัดงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีได้โดยอิสระเสรี ดังนี้เป็นต้น สรรพสรรกรณียวัตถุสถาน ทั้งส่วนวัดและส่วนสาธารณะต่าง ๆ ที่เป็นผลงานอันสำคัญที่พระเดชพระคุณพระธรรมปาโมกข์ ได้จัดดำเนินการให้เกิดมีและดำเนินการให้เป็นไป ที่มีรูปธรรมตามที่ได้พรรณนามาโดยสังเขปนั้น เป็นผลงานที่พระเดชพระคุณ ได้ใช้ชีวิตแห่งการเป็นสมณะที่ดีงาม อุทิศตน สละความสุขส่วนตน สร้างสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่มวลชนและสังคม มาจวบก
าลอวสานแห่งชีวิต ครั้นเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปญฺโญ) ได้ถึงมรณภาพด้วยโรคชราด้วยอาการอันสงบ สิริรวมอายุได้ ๙๐ ปีเศษ พระเดชพระคุณพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระสงฆ์สุปฏิบัติ มีปฏิปทาและศีลาจารวัตร เป็นที่น่ายกย่องและเคารพรักของสาธุชนทุกชั้น ทั้งพระภิกษุสามเณร ศิษยานุศิษย์ ญาติโยมทั้งหลาย มี่อัธยาศัยนุ่มนวล สุภาพ อ่อนโยน เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว อยู่ในตำแหน่งฐานะใด ก็เหมาะสมกับฐานะนั้น ๆ กล่าวคือมี อัตตสัมมาปณิธิธรรม เป็นวัตรปฏิบัติ เป็นบุตรที่ดีของวงศ์ตระกูล เป็นศิษย์ที่ดีของครู – อาจารย์ เป็นอาจารย์ที่ดีของสานุศิษย์ สงเคราะห์ญาติอยู่เป็นนิจ เป็นกัลยาณมิตร สหธรรมิก ทั้งปวง เป็นผู้สอน เป็นนักปฏิบัติ ที่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เป็นผู้ประพฤติตนสันโดษ มีความมั่นคงในหลัก กตัญญูกตเวทิตาธรรม ดำรงมั่นคงอยู่ในพรหมวิหารธรรม มีปฏิปทาในสังคหวัตถุธรรม กล่าวคือท่านเป็นผู้ให้ ผู้บริจาคอย่างสม่ำเสมอ จนตลอดอวสานของชีวิต เป็นผู้สงบเสงี่ยม เจรจาอ่อนหวานไพเราะ ไม่ทำลายน้ำใจผู้ฟัง มีจิตกุศลช่วยเหลือการงาน ร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เป็นประจำ ได้ปฏิบัติตนต่อผู้อาวุโส และศิษย์ทั้งที่อยู่ไกล และใกล้ชิดอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ในด้านสีลาจารวัตรนั้น พระเดชพระคุณ พระธรรมปาโมกข์ถือแนวปฏิบัติตามเนติ แบบแผนธรรมวินัย ตามจารีตประเพณีนิยมของอุปัชฌาย์อาจารย์ ด้วยเหตุนี้แล พระเดชพระคุณ พระธรรมปาโมกข์ จึงเจริญงอกงามไพบูลย์ในศาสนา ทั้งในทางสมมติ โลกิยวิสัย ทั้งในทางคุณธรรม สมมติตามโลกนิยม พระเดชพระคุณเป็นพระเถระที่มีน้ำใจสูงส่ง มีคุณธรรมสูงยิ่งอยู่ในจิตใจ มีสภาพใจที่สะอาดบริสุทธิ์ พระเดชพระคุณจึงเป็นสมณะ ที่กล่าวได้ว่าเป็นพระเถระที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม อยู่ด้วยเมตตาธรรม หนักแน่นในเมตตาธรรม และแผ่เมตตาธรรมไปยังบุคคลทั้งหลาย ด้วยกิริยาที่งดงาม วาจาที่ไพเราะเพราะโสต จิตที่ประกอบไปด้วยเมตตาธรรม มีคุณงามความดีเป็นอเนกประการ เป็นนิทัศนัยส่วนเล็กน้อยที่น้อมใจ ที่เห็นได้ว่า พระเดชพระคุณพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระเถระที่เหมาะสมในพระพุทธศาสนา เป็นพระภิกษุสมณะที่ดีงาม ด้วยประการดังนี้ สมณะที่ดีงามในพระพุทธศาสนาโบราณบัณฑิตท่านพรรณนาไว้ โดยประการต่าง ๆ โดยนัยหนึ่ง แห่งบทสังฆคุณกล่าวได้ว่ามีองคคุณ ข้อปฏิบัติเป็น ๔ ประการ คือ สุปฏิบัติ อุชุปฏิบัติ ญายปฏิบัติ และสามีจิปฏิบัติ หรืออย่างที่ท่านสาธุชนนิยมกล่าวกันในปัจจุบันว่า
พระสุปฏิปันโน ดังนี้
สุปฏิบัติ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า มี
ข้อปฏิบัติให้เป็นสุข คือที่ดี ที่งามและว่าง่าย ข้อปฏิบัติที่ดีนั้น มีกายกรรมดี มีวจีกรรมดี ที่ว่างามนั้น คือเมื่อแสดงกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมในการใด ก็แลดูงดงามไม่มีแง่ไม่มีงอน ที่จะทำให้เกิดความกังวลใจว่าจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ แต่มีความงาม ทางกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม เป็นต้น ทำให้เกิดความรู้สึกในใจได้ว่า สมณะในพระศาสนานี้ งามอย่างนี้นี่เอง เหมือนกับที่นางจูฬสุภัททาได้กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาว่า สมณะในพระพุทธศาสนาของข้าพเจ้านี้ เป็นที่เจริญกาย เป็นที่เจริญใจ ดังคำบาลีว่า ภทฺท หมายถึงการเจริญกาย เจริญใจ ในครั้งพุทธกาล มีพระสงฆ์สาวกเป็นที่ปรากฏ และมีผู้กล่าวสรรเสริญไว้ดังนี้ แม้ในบัดนี้ก็ยังมีพระสงฆ์สาวกในลักษณะนั้นเช่นกัน จึงทำให้เห็นได้ว่า พระสงฆ์สาวกแม้จะไม่บรรลุมรรคผลในขั้นสูง แต่มีข้อปฏิบัติที่ดีงาม ทำให้เกิดความงามใจขึ้น ใจงามเพราะเห็นสมณะผู้เป็นที่งดงามถูกใจ ใจก็เกิดเป็นบุญเป็นกุศล แช่มชื่น เบิกบาน อาจหาญร่าเริง พยายามที่เข้าไปอยู่ใกล้กับท่านผู้งดงามเช่นนั้น
ประการที่ ๒
อุชุปฏิบัติ คือปฏิบัติตรงไปตรงมา ได้แก่ไม่คดโกง ไม่หน้าไว้หลังหลอก และตรงตามพระธรรมวินัย ทำความดีละความชั่ว ได้ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ปฏิบัติมุ่งต่อความดีอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นเป็นที่ตั้ง ดังนั้น พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตชนทั้งหลาย ยกย่องว่า อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว มีปฏิปทาที่ตรง ไม่คดไม่งอ ไม่โค้ง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นผู้ปฏิบัติที่สุจริต ทั้งกาย วาจา ใจ ได้แก่เป็นผู้ปฏิบัติไม่ลวงโลก ไม่มีมารยาสาไถย ปฏิบัติซื่อตรงต่อพระศาสดาและหมู่พระสาวกด้วยกัน ไม่มีความลี้ลับอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องปิดบังอำพราง และปฏิบัติโดยไม่มีแง่ไม่มีงอนต่อพระศาสดาและพระสงฆ์อื่นทั่วไป
ประการที่ ๓
ญายปฏิบัติ คือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น เพราะคำว่า
ญายะ หรือ เญยยธรรม คำนี้ แปลว่าธรรมที่ควรรู้หมายถึงพระนิพพานอันเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นจุดหมายของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น คำว่า ญายปฏิปันโน จึงแปลว่าผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น คือหลุดพ้นจากกิเลสหรือนามรูป เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ คือเข้าถึงปฏิปทา เพื่อความรู้ในธรรม มุ่งให้เกิดความเข้าใจในสรรพสิ่งตามสภาพที่เป็นจริง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ในปัจจุบันจนถึงสังสารทุกข์และเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสอาสวะให้ออกไปจากจิต
ประการที่ ๔
สามีจิปฏิบัติคือ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติสมควร เป็นผู้ปฏิบัติชอบ คือเป็นผู้ปฏิบัติตามปฏิปทาอันชอบยิ่ง ปฏิปทาอันไม่ผิด ปฏิปทาสายกลางที่ไม่เข้าไปใกล้ที่สุด ๒ อย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค ได้แก่ เป็นผู้ปฏิบัติที่น่านับถือสมควรได้รับสามีจิกรรม คือการกระทำที่สมควรยิ่งจากผู้อื่น เป็นต้นว่า ความเคารพนับถือและสักการบูชา ข้อพรรณนาตามที่ได้รับพระราชทานถวายวิสัชนามาโดยลำดับแล้วนั้นพอสรุปได้ว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเมื่อมีจริยาข้อปฏิบัติตามนัยดังพรรณนาแล้วนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นพระสงฆ์สาวกที่งดงาม และเมื่อเป็นพระสงฆ์สาวกที่งดงาม ย่อมก่อให้เกิดเป็นผล ๔ ประการ คือ เป็น อาหุเนยยะ ควรแก่ของคำนับ ปาหุเนยยะ ควรแก่การต้อนรับ ทักขิเณยยะ ควรแก่การทักขิณา (ของทำบุญ) เป็นอัญชลีกรณียะ ควรแก่การนอบน้อมกราบไหว้ เมื่อรวม ๔ ประการนี้แล้วกล่าวได้ว่า เป็นบุญเขตอันประเสริฐสูงสุดของชาวโลกด้วยประการดังนี้ พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์เป็นพระเถระในสังฆมณฑลในพระพุทธศาสนาปรากฏชัดเจนแก่คนทั้งหลายทั้งปวง แก่สมณชีพราหมณ์ แก่ทายกทายิกาสานุศิษย์ ว่าเป็นพระภิกษุสมณะ คือเป็นสมณะที่ดีงาม ทั้งภายในและภายนอก เป็นเหตุให้คนทั้งหลายกล่าวได้ว่า ในพระศาสนานี้มีพระสงฆ์สาวกที่ดี ที่งดงามอย่างเช่นพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ ปรากฏอยู่ในสังฆมณฑล เป็นพระเถระที่ควรยกย่องเชิดชูพระศาสนาให้เด่นชัดเจนในโลก แม้ในปัจจุบันความดีงามทั้งปวงที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ได้ปฏิบัติบำเพ็ญแล้วนั้น ยังเป็นมรดกที่ตกอยู่กับวัดธาตุทอง ให้พระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ศิษยานุศิษย์ ได้อนุสรณ์ถึงตลอดไป อิมินา กตปุญฺเญน ด้วยอำนาจราชกุศลที่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ บำเพ็ญอุทิศ สัตตมวาร นี้ ขอให้ดวงวิญญาณของท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ องฺกุรปญฺโญ) ทราบด้วยญาณวิถีแล้วชื่นชมอนุโมทนาในพระราชกุศลให้สำเร็จเป็นวิบากสมบัติ สุภอภิบูล มนูญผล เป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกุลเพื่อความสุขในสัมปรายภพ สมตามพระราชเจตนาปรารภที่ทรงพระราชทานบรมราชานุเคราะห์ทุกประการ
รับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนา ในสุสมณกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี ยุติด้วยเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
ขอถวายพระพร
กิมเล้ง :
http://www.sookjai.comข้อมูลคัดลอกจาก
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด,๒๕๔๕ .