สัจธรรมของทรัพยากรมีอยู่ว่า ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด และดังนั้น
เราจึงต้องแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ทรัพยากรจะได้กระจายกันอย่างทั่วถึง
หากเราผู้เป็นมนุษย์ไม่รู้จักธรรมชาติของความอยากว่าไร้ขีดจำกัด
ทั้งที่ๆ ที่เรามีเวลาอยู่ในโลกกันอย่างแสนจำกัด แต่ถึงกระนั้น
ก็ยังเอาเวลาที่แสนน้อยนิดยิ่งนี้ ไป “วิ่งตามความอยาก” กันอย่างไม่รู้จบสิ้น
ก็น่าเสียดายว่า ชีวิตอันแสนสั้น
คงแทบจะไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นใดอันเป็นประโยชน์ นอกไปจากการ
วิ่งหาเงิน เงิน และเงิน กันอย่างหน้ามืดตามัว
เพื่อที่จะค้นพบในท้ายที่สุดว่า เงินกับความสุขนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกันเลยแม้แต่น้อย
หากเราผู้เป็นมนุษย์ไม่รู้จักธรรมชาติของทรัพยากรว่ามีอยู่อย่างจำกัด
ก็จะพยายามรวบรวมทรัพยากรเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
แล้วผูกขาดทรัพยากรนั้นว่าเป็นของตน ของพวกตน ของพรรคตน
และโดยเหตุที่ทรัพยากรถูกรวบรวมมาเป็นสมบัติของคนเพียงไม่กี่คน
คนอื่นที่ถูกแย่งชิงทรัพยากร ก็ต้องลุกขึ้นมาทำสงครามแย่งชิงทรัพยากร
คนที่ครอบครองทรัพยากรได้มากที่สุด จึงแทนที่จะเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุด
กลับเป็นคนที่มีความทุกข์มากที่สุด (ดูนักการเมืองไทยหลายคนเป็นตัวอย่าง)
ในชั่วชีวิตอันแสนสั้นกระจิดริดของคนเรานั้น
หากเราไม่รู้จักสัจธรรมทั้งสามอย่างที่กล่าวมา ก็น่าเป็นห่วงเหลือเกินว่า
ทั้งชีวิต คงสูญเสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะเวลาทั้งหมดคงถูกใช้ไป
เพื่อการตักน้ำไปเติมทะเลแห่งความอยาก ซึ่งเติมอย่างไรก็ไม่มีวันเต็ม
นอกจากนั้นแล้ว ก็คงหมดเวลาไปกับการแย่งชิงทรัพยากรสมบัติบ้า
ซึ่งแม้จะพยายามครอบครองสมบัติให้ได้มากที่สุด
แต่ก็กลับมีความทุกข์เป็นของแถมติดมาอย่างมโหฬาร
แก่นสารของการเกิดมาเป็นมนุษย์ก็คือ การมีชีวิตที่เป็นอิสระจากความทุกข์
และมีความสุขอันสงบเย็น
ไม่ใช่มีชีวิตเพื่อที่จะวิ่งตามความอยากไปอย่างไม่รู้จบ
ไม่ใช่มีชีวิตเพื่อที่จะคิดแต่การแย่งชิงทรัพย์สมบัติ อันว่างเปล่า
และไม่ใช่มีชีวิตที่คอยแต่จะสะสม ไว้มากมายเป็นอเนกอนันต์
แต่กลับมีวันเวลาได้กินได้ใช้เพียงแค่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี
ว.วชิรเมธีhttp://www.romphosai.com