ฤกษ์ หมายถึง คราวหรือเวลา ความปลอดภัยหรือความสำเร็จสมประสงค์ อำนวยความเป็นศิริมงคลแก่ผู้ประกอบการนั้น ๆ ฤกษ์ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ฤกษ์บนและฤกษ์ล่าง
ฤกษ์บน เป็นชัยมงคลเบื้องสูง โดยถือตำแหน่งของพระจันทร์และดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ เป็นหลัก คือ กำหนดโดยจันทร์ พระจันทร์ต้องดีไม่เป็นอริ มรณะ และวินาศแก่ผู้ประกอบการ พระจันทร์โคจรให้คุณเช่นจันทร์ครุสุริยา ทางโหราศาสตร์ใด้กำหนดฤกษ์ไว้ 9 ฤกษ์ ได้แก่
ทลิทโทฤกษ์ มหัทธโณฤกษ์ โจโรฤกษ์
ภูมิปาโลฤกษ์ เทศาตรีฤกษ์ เทวีฤกษ์
เพชฌฆาตฤกษ์ ราชาฤกษ์ สมโณฤกษ์
ข้อยกเว้นสำหรับผู้เกิดวันทั้ง 7 ห้ามใช้ฤกษ์สำหรับคนเกิดวันต่าง ๆ ถึงจะมีในรายการฤกษ์ข้างบนก็ห้ามใช้เด็ดขาด เพราะเป็นวันศัตรูและกาลิณีกับวันเกิด
1. ผู้เกิดวันอาทิตย์ ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันศุกร์และวันอังคาร
2. ผู้เกิดวันจันทร์ ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันอาทิตย์และวันพฤหัสบดี
3. ผู้เกิดวันอังคาร ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันจันทร์และวันอาทิตย์
4. ผู้เกิดวันพุธ (กลางวัน) ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันอังคารและพุธ (กลางคืน)
5. ผู้เกิดวันพฤหัสบดี ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันเสาร์
6. ผู้เกิดวันศุกร์ ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันพุธ (กลางคืน) และวันเสาร์
7. ผู้เกิดวันเสาร์ ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันพุธ (กลางวัน) และวันศุกร์
8. ผู้เกิดวันพุธ (กลางคืน) ห้ามใช้ฤกษ์ที่เป็นวันพฤหัสบดีและวันพุธกลางวัน
ส่วนจะเอาฤกษ์ไปใช้นั้นควรมีความรู้เกี่ยวกับฤกษ์ด้านล่าง จะได้เอาฤกษ์ไปใช้ถูกงาน การใช้แต่ละฤกษ์ มีการนำไปใช้เฉพาะเรื่อง เช่น การขอแต่งงาน หมั้นสาว ทวงหนี้ กู้ยืม ร้องทุกข์ ฯลฯ ให้ใช้ ทลิทโทฤกษ์
ฤกษ์ล่าง ซึ่งเหมาะเป็นชัยมงคลทางเบื้องใต้ฟ้า หรือเบื้องต่ำบนพื้นดิน โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น โดยให้วันทั้ง 7 ประกอบด้วยดิถี ขึ้น แรม และเดือน ปี เป็นหลักในการคำนวณนับ เช่น วันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ และมีดิถี คือ ขึ้น แรม ดิถีธงชัย ดิถีพิฆาต อีกทั้งวันจม วันฟู วันลอย กทิงวัน อัคนิโรธ ทักทิน ยมขันธ์ จัดเป็นฤกษ์ย่อยต่าง ๆ รวมเรียกว่า “ฤกษ์ล่าง” หรือ (ภูมิดล) ฉะนั้นฤกษ์ที่นำไปใช้เฉพาะเรื่อง เช่น การขอแต่งงาน หมั้นสาว ทวงหนี้ กู้ยืม ร้องทุกข์ ฯลฯ นั้นคำนวณจากหลักฤกษ์บนและฤกษ์ล่างประกอบกัน
บทความ อ .สุริยะเทพ มนตราทิพย์