.อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยามตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ดำเนินกิจการโดยเอกชน จัดตั้งขึ้นเพื่อนำเสนอแง่มุมด้านศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีความเป็นอยู่ของสังคมไทยพุทธ เพื่อสืบทอดสิ่งดีงามแบบไทย ๆ ให้คงอยู่สืบต่อถึงชนรุ่นหลัง มีพื้นที่อุทยานทั้งหมด ๔๒ ไร่ แบ่งเป็นจุดเที่ยวชม ๖ จุด คือ
• จุดชมที่ ๑ อาคารเชิดชูเกียรติ นำเสนอเรื่องราวรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสของบุคคลสำคัญ พร้อมเกียรติประวัติ คุณความดี ที่สมควรยึดถือเป็นแบบอย่างทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์ พันตรี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ครูมนตรี ตราโมท สืบ นาคะเสถียร แม่ชีเทเรซา ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ เติ้งเสี่ยวผิง ฯลฯ
• จุดชมที่ ๒ ลานพระ ๓ สมัย แสดงผลงานประติมากรรมพระพุทธรูป ๓ สมัย ที่มีรูปลักษณะแตกต่างกันอันสืบเนื่องมาจากอิทธิพลทางศาสนา สังคมและวัฒนธรรม
• จุดชมที่ ๓ ถ้ำชาดก นำเสนอรูปปั้นจำลอง แสง และสี เรื่องราวของทศชาติชาดก (มหาพระเวสสันดรชาดก) ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการจำลองชูชกทูลขอสองพระกุมาร ทุบตีสองพระกุมารเฉพาะพระพักตร์พระเวสสันดรแล้วพาออกเดินทางมุ่งสู่แคว้นสีวีราษฎร์ ต่อมาพระเจ้ากรุงสญชัยทรงไถ่สองพระกุมารจากชูชกและพระราชทานเลี้ยงอาหารชั้นดีแก่ชูชก ชูชกบริโภคมากเกินไป เป็นเหตุให้ไฟธาตุพิการอาหารไม่ย่อยจนถึงแก่ความตาย
• จุดชุมที่ ๔ กุฏิพระสงฆ์ ๔ ภาค จำลองหมู่กุฏิพระสงฆ์ ตามแบบสถาปัตยกรรมที่มีเสน่ห์เฉพาะแต่ละภาคของประเทศและประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งของพระอริยสงฆ์ไทย ดังนี้
๑. เรือนไทยภาคกลาง ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ
๒. เรือนไทยภาคอีสาน ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้ง หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร และ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
๓. เรือนไทยภาคเหนือ ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
๔. เรือนไทยภาคใต้ ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ (หลวงปู่ทวด) วัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี และพ ระครูวิสัยโสภณ (พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร) วัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี
• จุดชมที่ ๕ บ้านไทย ๔ ภาค จำลอง “เรือนไทย ๔ ภาค“ ในรูปแบบเรือนที่พักอาศัยของคนไทยมาแต่ครั้งโบราณ ประกอบด้วยบ้านไทยภาคกลาง บ้านไทยภาคเหนือ บ้านไทยภาคใต้ และบ้านไทยภาคอีสาน เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งด้านภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ อาชีพ ฐานะความเป็นอยู่ ประโยชน์ใช้สอยเฉพาะอย่าง ตลอดจนคติความเชื่อของชุมชนของแต่ละท้องถิ่น
• จุดชมที่ ๖ ลานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จำลองพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางมหาราชลีลา (ลักษณะท่านั่ง) ตามความศรัทธาขององค์จักรพรรดิ์ราชวงศ์ซ้อง ประเทศจีน