เตรียมตัวตาย...พุทธวิธีทิเบต (๒) Death & Dying...Tibetan Wisdom (2)การยึดติดบุคคลที่รัก ความกลัวที่จะต้องจากไปอย่างโดดเดี่ยว ความเจ็บปวด ทำให้ความตายเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว เป็นสิ่งที่เราอยากหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด แม้ว่าเราจะรู้ว่าความตายอาจเกิดขึ้นวินาทีใดก็ได้ แม้แต่ในขณะที่เรานอนหลับในแต่ละคืน เราก็ยังไม่อยากนึกถึงความตาย
เรายังคงใช้ชีวิตไปวันๆอย่างประมาท ปล่อยให้จิตหวงแหน ผูกพัน สร้างทั้งมิตรและศัตรู ซึ่งเป็นการเพิ่มเชื้อไฟแห่งกิเลสที่เราได้สะสมมานับภพชาติไม่ถ้วน หากเราตายไปด้วยเชื้อไฟนี้
แน่นอนว่าเราจะต้องไปเกิดใหม่และเผชิญความทุกข์ของสังสารวัฏ แต่ไม่มีสิ่งใดจะประกันได้ว่า เราจะไปเกิดใหม่เป็นอะไร โอกาสที่จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์มีเพียงน้อยนิดโดยเฉพาะเป็นมนุษย์ที่มีอวัยวะครบบริบูรณ์ ได้เกิดในดินแดนแห่งสันติภาพ ปราศจากสงครามและความอดอยาก ได้ฟังพระธรรม และไม่เพียงแต่ได้ฟัง ยังมีศรัทธาในพระธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะได้กลับมาเกิดเป็นลูกของแม่คนเดิม เป็นสามีของภรรยาที่เรารักที่สุด และเป็นไปได้ว่าดวงจิตของเราอาจเร่ร่อน รอนแรม นับเดือน นับปี
หาที่เกิดใหม่ไม่ได้ อยู่กับความอ้างว้าง ว้าเหว่ ไร้ทิศทาง อยู่กับความปรารถนาอย่างเดียวคือ ขอให้ได้ไปเกิดใหม่ เป็นอะไรก็ได้ ทั้งหมดนี้อยู่ที่บุญกรรมที่เราทำเองทั้งสิ้น
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะรับการอุปสมบท ท่านมีครอบครัว ก่อนภรรยาท่านจะสิ้นใจ นางป่วยหนัก ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก แต่ไม่ว่าจะเจ็บปวดเพียงไรและอาการของนางจะทรุดหนักเพียงไร นางก็ไม่สามารถจากไปได้ วันหนึ่ง สามีก็ถามนางว่า มีอะไรที่นางเป็นห่วงจึงไม่ยอมจากไปทั้งๆที่ดูแล้วนางไม่สามารถจะรอดชีวิตได้ นางตอบว่า มีเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้นางกังวลใจ นั่นคือ สามีจะไปมีภรรยาใหม่หลังจากนางเสียชีวิตไปแล้ว เขาจึงสัญญาว่าจะออกบวชทันทีหลังจากนางจากไป เมื่อนางได้ยินคำสัญญานั้น ก็ตายจากไปได้
ตั้งแต่เกิดสัญญาณแห่งความตาย
ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแตกสลายของธาตุไปจนถึงขณะที่ลมหายใจเฮือกสุดท้ายหมดไปและเกิดการตายอย่างสมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน มีความจำเป็นมากที่เราจะต้องประคับประคองจิตใจของเราให้ไม่ตระหนกตกใจ ไม่หวาดโกรธ ไม่เศร้าเสียใจ
จากการยึดติดผูกพัน ไม่น้อยใจหากไม่ได้รับการดูแล ไม่โกรธหรือเคืองแค้นผู้ใด จิตใจภายในนี้ละเอียดอ่อนมาก และในยามที่กายค่อยๆหมดพละกำลัง
จิตที่ไม่ได้รับการฝึกก็จะยิ่งเสื่อมถอย ดิ่งลึกไปในความมืดมน ดุจดังลงไปสู่ก้นบึ้งของทะเลในยามค่ำคืน
เราจึงต้องฝึกจิตให้ตื่นรู้ เบิกบาน อยู่ตลอดเวลา การฝึกต้องทำอย่างสม่ำเสมอในขณะที่เรายังแข็งแรง เมื่อวันที่เราป่วยหนักมาถึง ถ้าเรายัง
ไม่เคยฝึกจิตให้คิดแต่สิ่งดีๆ ให้รู้จักให้อภัย หรือปล่อยวาง เราอาจโกรธเกลียดความเจ็บป่วย
ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพกายและใจของเราเลย
แล้วเมื่อวาระแห่งลมหายใจสุดท้ายมาถึง เราจะจากไปอย่างทุรนทุราย ชาวทิเบตเชื่อว่าเวลาสุดท้ายนั้นมีผลต่อการเดินทางต่อของจิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงพยายามทำอย่างดีที่สุดที่จะให้ผู้ที่กำลังจะล่วงลับจากไปอย่างสงบสันติและมีสติ ไปพร้อมกับจิตที่มั่นคงในพระรัตนตรัยและในครูอาจารย์ของเขา แต่ละสัมผัสที่ให้ในขณะนั้นจะละมุนละม่อม เปี่ยมไปด้วยความกรุณา เพราะในขณะนั้นผู้กำลังจะล่วงลับไม่สามารถช่วยตัวเองได้อีกแล้ว มือที่เราไปสัมผัสเขาจึงต้องเต็มไปด้วยความรัก วาจาที่เราคุยกับเขาจึงต้องเต็มไปด้วยความอ่อนโยน ไม่ว่าดูภายนอกเขาจะรับรู้หรือไม่ แต่ดวงจิตเขายังอยู่ ดวงจิตเขาต้องการความรักของเรา ต้องการคำเตือนให้นึกถึงครูอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเคารพบูชา เพื่อให้ดวงจิตของเขาไม่ว้าเหว่ ให้มีกำลังใจ และพร้อมที่จะไปเผชิญกับสภาวะใหม่ที่เรียกว่า "
บาร์โด"...
กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์
21 กรกฎาคม 2555 :ขทิรวัน