. พระพุทธบาท มีความกว้าง ๒๑ นิ้ว ยาว ๕ ฟุต ลึก ๑๑ นิ้ว ประดิษฐานภายในพระมณฑป
วัดพระพุทธบาท ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
พระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๕๓ – ๒๑๖๗ เจ้าเมืองสระบุรี ได้รับแจ้งจากนายพรานบุญว่า ตนได้ออกไปล่าเนื้อ (มีลักษณะคล้ายกวาง) ในป่าใกล้เชิงเขา ได้ยิงเนื้อตัวหนึ่งได้รับบาดเจ็บ เนื้อตัวนั้นวิ่งหลบหนีขึ้นไปบนไหล่เขาแล้วหายเข้าไปในพงป่าไม้ เพียงครู่เดียวเนื้อตัวนั้นวิ่งออกมาจากพงไม้ และมีสภาพร่างกายเป็นปกติไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผลจากการถูกยิง พรานบุญเห็นดังนั้นก็เกิดความประหลาดใจ จึงตามขึ้นไปดูยังที่ที่กวางตัวนั้นวิ่งหลบหนีหายเข้าไป ก็พบร่องรอยปรากฏในศิลามีลักษณะคล้ายเท้าคนขนาดใหญ่ ยาวประมาณสักศอกเศษ และในรอยคล้ายเท้าคนนั้นมีน้ำขังอยู่ด้วย นายพรานบุญเข้าใจว่าเนื้อตัวที่ถูกตนยิงหายจากอาการบาดเจ็บ คงเพราะได้ดื่มน้ำที่ขังอยู่ในรอยเท้านั้น จึงวักน้ำลองเอามาทาผิวของตนดู บรรดาโรคผิวหนังคือกลาก เกลื้อน ที่พรานบุญเป็นเรื้อรังมานานนั้นก็พลันหายไปหมดสิ้น
เจ้าเมืองสระบุรี ได้สอบสวนความจริง และออกสำรวจยังไหล่เขาแห่งนั้น ได้พบร่องรอยคล้ายเท้าคนตามคำบอกเล่าของพรานบุญมีอยู่จริง จึงส่งข่าวมายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยัง ณ ที่แห่งนั้น เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงพระราชวิจารณ์ว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาท เพราะปรากฏลายลักษณะกงจักร ประกอบด้วยอัฏฐตตรุสตมหามงคล ๑๐๘ ประการ ตรงกับเรื่องที่ชาวลังกาทวีปแจ้งข่าวมาด้วย จึงทรงเกิดพระราชศรัทธาโสมนัสเป็นที่ยิ่ง ทรงมีพระราชดำริว่า รอยพระพุทธบาทจัดเป็นบริโภคเจดีย์ เพราะเป็นพุทธบทวลัญช์อันเนื่องมาแต่พระพุทธองค์ ย่อมประเสริฐยิ่งกว่าอุทเทสิกะเจดีย์ เช่น พระสถูปเจดีย์ สมควรยกย่องบูชาเป็นพระมหาเจดียสถาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเรือนคฤหหลังน้อยครอบรอยพระพุทธบาท ณ บนแผ่นหินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี ไว้เป็นการชั่วคราวก่อน
หลังจากเสด็จกลับราชธานีกรุงศรีอยุธยา จึงได้สถาปนาสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเป็นมหาเจดียสถาน และโปรดให้สร้างพระมหามณฑปครอบรอยพระพุทธบาท ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วยเครื่องยอดรูปปราสาท ๗ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว มีเสาย่อมุมไม้สิบสอง ปิดทองประดับกระจกสีโดยรอบ ฝาผนังด้านนอกปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเทพพนม มีพุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูพระมณฑปเป็นงานศิลปกรรมชั้นเยี่ยมของเมืองไทย พื้นภายในปูด้วยเสื่อสานด้วยเงิน ทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดสามสาย ซึ่งหมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงมาจากสรวงสวรรค์ หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริด ลักษณะเป็นนาค ๕ เศียร บริเวณโดยรอบพระมณฑปมีระฆังแขวนไว้เรียงราย สำหรับให้ผู้มานมัสการได้ตีเพื่อเป็นการแผ่ส่วนกุศลไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานสร้างพระอารามสำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่อาศัย เพื่อการดูแลรักษาและบำเพ็ญธรรมสืบไป ตำนานเมืองสระบุรี สระบุรี เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๐๙๒ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือพระเจ้าช้างเผือก พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงศรีอยุธยา การตั้งเมืองนี้ สันนิษฐานว่าพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพื้นที่เขตเมืองลพบุรีกับเมืองนครนายก บางส่วนมารวมกันตั้งขึ้นเป็นเมือง “สระบุรี” เพื่อต้องการให้เป็นเมืองศูนย์กลางของการระดมไพร่พลไว้สู้รบกับข้าศึกในยามศึกสงคราม
สำหรับที่มาของคำว่า “สระบุรี” สันนิษฐานว่าตั้งอยู่ใกล้ “บึงหนองโง้ง” ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ บึงหนองโง้งเป็นแอ่งน้ำรูปเกือกม้า เกิดจากการขุดดินมาทำอิฐเพื่อสร้างเมืองสระบุรีในอดีต เมื่อก่อตั้งเมืองขึ้นจึงได้นำเอาคำว่า “สระ” (แอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือด้วยฝีมือมนุษย์ขุดขึ้นมา) มารวมเข้ากับคำว่า “บุรี” มาเป็นชื่อเมือง “สระบุรี
ครั้นต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุการณ์ทางด้านการเมืองผันผวน สืบเนื่องมาจากนโยบายขยายอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส แผ่มาครอบคลุมบริเวณแหลมอินโดจีน พระองค์ท่านทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การปกครอง ตรวจตราป้องกันการรุกรานประเทศ และจะเป็นเส้นทางการคมนาคมไปมาถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเส้นทาง สำหรับสร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสระบุรี ซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ มาตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอเมืองสระบุรีในปัจจุบัน เพื่อก่อสร้างทางรถไฟอีกสายหนึ่ง จากทางแยกตั้งแต่เมืองสระบุรี - เมืองนครราชสีมา วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร นิกายเถรวาท (มหานิกาย) วัดพระพุทธบาท มีปูชนียสถานที่สำคัญคือรอยพระพุทธบาท ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบนไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี พระมณฑปปิดทองประดับกระจกสวยงามมาก มีบานประตูประดับมุขเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยม ทางขึ้นเป็นบันไดนาคสามสาย มีพระอุโบสถและวิหารรายรอบ ศิลปแบบอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า มีพระภิกษุไทยคณะหนึ่ง เดินทางไปยังลังกาทวีป เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท พระสงฆ์ลังกากล่าวว่า ประเทศไทยก็มีรอยพระพุทธบาทอยู่แล้วที่เขาสุวรรณบรรพต จึงได้นำความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงทราบ และได้สืบหาจนพบรอยพระพุทธบาท เพื่อเป็นที่สักการะบูชา เป็นศูนย์รวมแห่งพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ พระพุทธบาทสระบุรีเป็นพระอารามหลวง ที่พระมหากษัตริย์แทบทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงและเสด็จไปนมัสการตลอดมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ไฟตะเกียงเรียงรอบพระมณฑป กระจ่างจบจันทร์แจ่มแอร่มผา
ดอกไม้พุ่มจุดงามอร่ามตา จับศิลาแลเลื่อมเป็นลายลาย
พระจันทร์ส่องต้องยอดมณฑปสุก ในหน้ามุขเงางามอร่ามฉาย
นกบินกรวดพรวดพราดประกายพราย พลุกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน
นิราศพระบาท....สุนทรภู่มณฑปน้อยสวมรอยพระบาทนั้น ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสงอร่าม
เพดานดาดลาดล้วนกระจกงาม พระเพลิงพลามพร่างพร่างสว่างพราย
ตาข่ายแก้วปักกรองเป็นกรวยห้อย ระย้าย้อยแวววามอร่ามฉาย
หอมควันธูปเทียนตลบอยู่อบอาย ฟุ้งกระจายรื่นรื่นทั้งห้องทอง
นิราศพระบาท....สุนทรภู่บันไดนาคนาคในบันไดนั้น ดูผกผันเพียงจะเลื้อยออกโลดเล่น
ขย้ำเขี้ยวขบปากเหมือนนาคเป็น ตาเขม้นมองมุ่งสะดุ้งกาย
นิราศพระบาท....สุนทรภู่ใบระกาหน้าบันบนชั้นมุข สุวรรณสุกเลื่อมแก้วประภัสสร
ดูยอดเยี่ยมเทียมยอดยุคนธร กระจังซ้อนแซมใบระกาบัง
นิราศพระบาท....สุนทรภู่สงัดเสียงคนดังระฆังเงียบ เย็นยะเยียบยามนอนริมเนินผา
เมื่อยามแกนแสนทุเรศเวทนา ต้องไสยาอยู่กลางน้ำค้างพราว
นิราศพระบาท....สุนทรภู่ทิศประจิมริมฐานมณฑปนั้น มีดาบสรูปปั้นยิงฟันขาว*
นุ่งหนังพยัคฆาชฎายาว ครังเคราคราวหนวดแซมสองแก้มคาง
ขั้นบันไดจะขึ้นไปมณฑปนั้น สิงโตตันสองตัวกระหนาบข้าง
ดูผาดเผ่นเหมือนจะเต้นไปตามทาง พี่ชมพลางขึ้นบนบันได้พลัน**
นิราศพระบาท....สุนทรภู่บทกลอน "นิราศพระบาท" โคลงนิราศนี้ท่านสุนทรภู่พรรณาการเดินทางขณะตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์
พระโอรสพระองค์น้อยของกรมพระราชวังหลัง ไปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๕๐
หากลำดับเส้นทางจากท่าเรือมาพระพุทธบาทตามเส้นทางเสด็จประพาสแต่ก่อน จะผ่านระยะทางดังนี้
๑. บ่อโศก
๒. ศาลาเจ้าสามเณร
๓. หนองคนที
๔. ศาลเจ้าพ่อเขาตก
๕. พระตำหนักและสระยอ
ในกลอนนิราศของสุนทรภู่นี้ ท่านพรรณาการเดินทางถึง
๑. บ่อโศก
๒. หนองคนที
๓. ศาลาเจ้าสามเณร
๔. เขาตก และ
๕. สระยออ้างอิง: “ประวัติสุนทรภู่” พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ : กรมศิลปากร, ๒๕๐๖
* รูปพระสัจพันธดาบส อยู่ในช่องกุฏิด้านเหนือ เดี๋ยวนี้ปิดทองทั้งตัว ฟันก็เป็นทองไม่ขาว
** สิงโตหิน ๒ ตัวเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่