ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก
ผู้เรียบเรียง - ถ่ายภาพ : Kimleng
เมืองพิษณุโลก
จังหวัดพิษณุโลก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๓๗๗ กิโลเมตร ภูมิประเทศมีทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบหุบเขา ที่สูง เป็นที่เกิดของแม่น้ำ ๓ สายได้แก่ แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำวังทองแม่น้ำเทือง และยังมีแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมไหลผ่านอีกด้วย จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวและพืชไร่ที่สำคัญ มีการทำประมงน้ำจืด
พิษณุโลกเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ เรียกกันว่าเมืองสองแคว ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นวัดจุฬามณีปัจจุบัน
เมื่อพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้เสด็จมาประทับที่เมืองสองแควเมื่อราวปี พ.ศ.๑๙๐๐ โปรดฯ ให้หล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาขึ้น
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาครองเมืองสองแควในฐานะเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๘๑ หลังจากที่ได้เสด็จไปครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.๑๙๙๑ ถึง พ.ศ.๒๐๐๖ แล้ว จึงได้เสด็จไปประทับที่เมืองสองแควอีก จนกระทั่งสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๑ ขณะประทับอยู่ที่เมืองสองแคว พระองค์โปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองพิษณุโลก ทรงสร้างวัดจุฬามณีขึ้น ณ บริเวณที่เคยเป็นเทวสถานมาก่อน และทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๐๐๘
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประสูติที่เมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๘ เมื่อครั้งพระราชบิดา คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก
ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ เมื่ออะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) และเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้ต่อสู้รักษาเมืองเป็นสามารถ จนอะแซหวุ่นกี้ไม่อาจตีเมืองได้ ถึงกับพักรบขอดูตัวแม่ทัพฝ่ายไทย
พิษณุโลกในปัจจุบัน ได้พัฒนาเจริญรุ่งเรือง จนเมืองเมืองศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งและการท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนล่างพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า “วัดใหญ่” เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิด "วรมหาวิหาร" ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่สง่างามทรงคุณอันประเสริฐสุด ทั้งสวยทั้งศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย และได้รับการขนานนามว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในโลกองค์หนึ่ง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย พื้นที่ตั้งวัดมีลักษณะเป็นที่ราบอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก โดยมีถนนพุทธบูชากั้นเขต ด้านอื่นๆ ก็มีถนนเป็นเขตกั้นทั้งหมด อาคารเสนาสนะมีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และประติมากรรมที่งดงามยิ่ง ถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองพิษณุโลก
เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๘๓ ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ดำริให้มีการออกแบบทำตราประจำจังหวัดต่าง ๆ ขึ้น เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์และนำเสนอปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่สำคัญของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น จึงได้นำรูปพระพุทธชินราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ “วัดใหญ่” ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก มาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ประวัติการสร้างพระพุทธชินราช
ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าพระพุทธชินราชสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เพราะได้พบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยมีความว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์ ส่วนในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า “ในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร ๔ ทิศ มีพระระเบียง ๒ ชั้น และทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง ๓ หลัง” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารพระพุทธชินราชประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด (หรือเขียนอีกอย่างว่า สัมฤทธิ์) ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยตอนปลาย หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ราว พ.ศ. ๑๙๐๐ ทรงโปรดให้ช่างสวรรคโลก ช่างเชียงแสน และช่างหริภุญไชย สมทบกับช่างกรุงศรีสัชนาลัย ช่วยกันหล่อพระพุทธชินราช พร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ฐานชุกชีปั๊มเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย จึงเป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่ทราบนามของผู้ประดิษฐ์พระพุทธรูปอันงดงามนี้ขึ้น เราได้เห็นแต่ศิลปกรรมของท่าน แต่ท่านศิลปินโบราณของเรามิได้สร้างศิลปกรรมขึ้นเพื่อแสวงหาชื่อเสียงหรือทรัพย์สินเงินทอง ท่านประดิษฐ์ขึ้นเพราะความเลื่อมใสนับถือพระพุทธองค์ด้วยใจอันบริสุทธิ์
พระพุทธชินราชแต่เดิมไม่ได้ลงรักปิดทอง ได้มีการปิดทองครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ คราวเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๖ พุทธลักษณะ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง มีลักษณะพิเศษเรียกว่าทีฆงคุลี คือที่ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่นิ้วยาวเสมอกัน ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลัก สร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกรแต่มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้มและมีตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม มีเทพอสุราปกป้องพระองค์อยู่สองตน คือ ท้าวเวสสุวัณ และอารวกยักษ์ ในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชกล่าวว่า พระพุทธชินราชสร้างในสมัยพระศรีธรรมไตรปิฎก (พระยาลิไท) ได้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โดยใช้ช่างจากเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองหริภุญชัย ในการเททองปรากฏว่าหล่อได้สำเร็จเพียงสององค์ ส่วนพระพุทธชินราชทองแล่นไม่ตลอด ต้องทำพิมพ์หล่อใหม่ถึงสามครั้ง ครั้งสุดท้ายพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก (พญาลิไท) จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง พระอินทร์เจ้าจึงนฤมิตเป็นตาชีปะขาวลงมาช่วยเททองหล่อ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้นสองค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๓๑๙ จึงหล่อได้สำเร็จบริบูรณ์หาที่ติมิได้ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏกทรงปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสให้หา "ตาปะขาว" ผู้นั้น แต่ชีปะขาวได้หายตัวไปแล้ว หมู่บ้านและวัดที่ชีปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า บ้านตาปะขาวหายและวัดตาปะขาวหายต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จำลองพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ส่วนพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จึงได้หล่อองค์จำลองขึ้นแทน
แม้เมืองไทยจะได้ผ่านภัยสงครามมามากมายหลายครั้ง เรายังมีบุญและโชคดีที่มีพระพุทธรูปสมัยโบราณเหลืออยู่ให้เราบูชาหลายองค์ เช่น พระพุทธชินราช อันงามยิ่งที่เมืองพิษณุโลก ซึ่งต่อมาได้สร้างจำลองกันเป็นอันมาก
มีผู้สงสัยกันมากว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ เหล่านี้ บรรพบุรุษของไทยเราหล่อได้อย่างไร ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ออกความเห็นว่า “ของที่ใช้ทำหุ่นที่จะหล่อนั้น เราทราบไม่ได้แน่ว่าใช้อะไร เห็นจะใช้แกลบ มูลโค และดินผสมกัน เพราะจะไม่ยืดตัวหรือหดเมื่อถูกความร้อนอันรุนแรงยิ่งในขณะเมื่อเททองสัมฤทธิ์เหลว ๆ ลงไปในหุ่นเพื่อจะทำการหล่อ”อ้างอิง ๑. คู่มือการท่องเที่ยวพิษณุโลก จัดทำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก
๒. หนังสือ “เจ้าชีวิต” พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
๓ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การหล่อพระพุทธชินราชจำลอง
พระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานนคร
พระพุทธชินราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุด ในบรรดาพระพุทธรูปของประเทศไทย ยากที่จะหาพระพุทธรูปอื่นใดงดงามเสมอเหมือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปรารภเรื่อง พระพุทธชินราช ไว้ในพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า "...แลคนเป็นอันมากก็ลงใจเห็นว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ๒ องค์นี้งดงามนัก ไม่มีพระพุทธรูปน้อยใหญ่ที่ไหนๆ ใหม่เก่างดงามดีไปกว่านี้ได้ เห็นจะเปนของที่เทพยดาเข้าสิงช่างฤๅนฤมิตเป็นมนุษย์มาช่วยสร้างเป็นแน่..."
จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธปฏิมาที่เทพคือเทวดา และสมมติเทพคือพระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาตั้งแต่โบราณกาลมา และพระมหากษัตริย์แทบจะทุกพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ให้ความสำคัญในพระพุทธชินราช ทรงเคารพนับถือทำการสักการบูชามาโดยตลอด และถือเป็นพระราชประเพณีว่า เมื่อขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จะต้องเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ประพาสเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ นั้น ในวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ ได้เสด็จไปประทับในพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทรงถวายต้นไม้ทองเงินหนึ่งคู่ สมเด็จพระบรมราชินีถวายต้นไม้ทองเงินหนึ่งคู่ เป็นพุทธบูชา แล้วทรงถวายตรานพรัตนราชวราภรณ์ อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด แด่พระพุทธชินราช นับว่าไม่เคยมีพระพุทธรูปองค์ใดได้รับเครื่องราชสักการะจากพระมหากษัตริย์มากพระองค์และเป็นชั้นสูงสุดถึงเพียงนี้
มูลเหตุการสร้างพระพุทธชินราชจำลอง
พ.ศ.๒๔๔๒ ได้มีการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงประจำพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) มีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ดังข้อความในพระราชปรารภ "เห็นพระพุทธลักษณะแห่งพระพุทธชินราชว่างาม หาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเป็นพระประธาน ทั้งในกรุงแลหัวเมือง...ก็ไม่เป็นที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้สวยงามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว..."
แต่ด้วยเหตุที่ทรงเกรงว่าเมื่อราษฎรชาวพิษณุโลกทราบข่าวการอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครจะพากันเศร้าโศก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ขึ้นแทน ดังความในพระราชปรารภที่ว่า "ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเป็นหลักเป็นศิริของเมืองพิศณุโลก...จึงได้ปรารภที่จะคิดหล่อขึ้นใหม่ให้เหมือนพระพุทธชินราช..." จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระประสิทธิปฏิมา (เหมาะ ดวงจักร) จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดี ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิมที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
ปี พ.ศ.๒๔๔๔ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า จะเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพื่อจะได้ทรงนมัสการพระพุทธชินราช และหล่อพระพุทธชินราชจำลองที่เมืองพิษณุโลก อีกประการคือเพื่อทอดพระเนตรภูมิประเทศและตรวจราชการประกอบพระราชดำริที่จะทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นสืบไป ในระหว่างเวลาเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งนั้น อำนาจในราชกิจทั้งปวงที่จะรักษาพระนครได้พระราชทานไว้แก่พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศวโรปการ
ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) กระบวนเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือได้เดินทางมาถึงเมืองพิษณุโลก เสร็จจากการเสด็จทอดพระเนตรสุขทุกข์ของประชาราษฎร์ จึงขึ้นนมัสการพระพุทธชินราชที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับ
เวลาย่ำรุ่ง วันที่ ๒๐ ตุลาคม เสด็จลงเรือข้ามฟากมาขึ้นที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในการเททองหล่อพระพุทธชินราชจำลองเพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร งานหล่อองค์พระพุทธชินราชจำลองครั้งนี้ใช้คนจำนวนมาก นอกจากช่างหล่อแล้ว ยังมีผู้ช่วยสูบทองอีก ๒ ผลัดๆ ละ ๑๒๐ คน รวมผู้ช่วยสูบทอง ๒๔๐ คน และยังต้องทำการแก้ไข เก็บรายละเอียดขององค์พระกันหลายครั้งหลายคราว ความยุ่งยากดังกล่าวมีปรากฏในพระราชหัตถเลขา ในรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ (ฉบับที่ ๑๔, ๑๖ และ ๒๐ ลงวันที่ ๒๐, ๒๒ และ ๒๘ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๐ ) ความว่า
“...วันนี้เวลาย่ำรุ่งไปที่วัดมหาธาตุ ทองยังไม่ได้ที่จึงได้เลี้ยงพระเสียก่อน จนเวลาเช้า ๒ โมงจึงได้เททอง ทองที่ตั้งสูบหลอม ๖๐ เบ้า พอแต่เพียงพระเศียรแลพระองค์พระรัศมีกับพระหัตถ์ แต่พระเพลาแลพระกรอิกข้างหนึ่งทองไม่พอ จึงต้องรอไว้หล่อต่อพรุ่งนี้ต่อไป หลวงประสิทธิ๑ว่าพระเศียรนั้นทองเกินที่กะมาก เพราะเหตุที่ต้องแก้ไขมาก แต่ฉันว่าเปนด้วยคเนทองผิด เพราะคนอายุนี้ไม่มีผู้ใดได้เห็นหล่อของใหญ่ ด้วยไม่ได้หลอมมาถึง ๕๐ ปีกว่าแล้ว จำนวนทองที่กะผิดนั้นดังนี้ พระเศียรกะ ๑๕ เบ้า กลายเปน ๒๕ เบ้า พระองค์กะ ๑๒ เบ้า กลายเปน ๒๐ เบ้า ผิดมากเหลือเกินนัก แลพระนั้นปั้นอยู่ข้างจะหนาเพราะช่างก็ไม่สู้ไว้ใจ ตามพระองค์หนาถึงนิ้วหนึ่งตลอด หนากว่าพระชินราชเดิม แต่การที่จะเสียหายอะไรนั้นเห็นจะไม่เสีย เนื้อทองก็มีขึ้นมาพอจะต้องใช้อิกถึง ๓๐ เบ้า และได้หล่อพระองค์เล็กๆ อิก ๓ องค์ การที่ทำอยู่ข้างจะช้ามากจนเช้า ๔ โมงจึงสำเร็จ ได้แจกเงินผู้ใหญ่บ้านซึ่งมาช่วยสูบทองคนละ ๖ บาท ใช้สูบละ ๒ คน เปนร้อยยี่สิบคน สองผลัดเปนคนสองร้อยสี่สิบคน…” (พระราชหัตเลขา ฉบับที่ ๑๔ ลง ๒๐ ต.ค. ร.ศ.๑๒๐)
“...จำนวนทองซึ่งหล่อพระพุทธชินราชที่ได้บอกมาแต่ก่อนนั้นยังไม่ถูกต้อง บัดนี้ได้รายการโดยโทรเลขว่า พระรัศมีทองเบ้าครึ่ง ๖๐ ชั่งไทย พระหัตถ์ขวาเบ้าหนึ่ง พระหัตถ์ซ้ายเบ้าหนึ่ง เปนทอง ๘๐ ชั่ง พระเศียร ๒๘ เบ้า ทอง ๑๑๒๐ ชั่ง พระองค์ ๒๕ เบ้า ทอง ๑๐๐๐ ชั่ง น่าตัก ๓๖ เบ้า ทอง ๑๔๔๐ ชั่ง ยังจะหล่ออิกท่อนหนึ่งต่อภายหลัง...” (พระราชหัตเลขา ฉบับที่ ๑๖ ลง ๒๒ ต.ค. ร.ศ.๑๒๐)
การหล่อพระพุทธชินราชจำลองเสร็จเรียบร้อย ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จโดยเรือกลไฟจูงล่องจากเมืองพิไชย*ถึงเมืองพิษณุโลก ได้ลงเรือเล็กข้ามไปดูพระพุทธชินราชซึ่งหล่อใหม่อันได้เชิญลงมาบรรทุกเรือไว้แล้ว ทรงพระราชปรารภเมื่อทอดพระเนตรองค์พระ ว่า “...ช่างได้ลงมือแต่งพระภักตร์แลพระองค์บ้าง ดินเมืองพิศณุโลกผิดกันกับกรุงเทพ ฯ เวลาสุมพิมพ์ข้างในกะเทาะได้บ้าง จึงมีทองเปนกาบติดรุงรังหลายแห่ง ทำให้งานที่จะตกแต่งนั้นมากขึ้น...” (พระราชหัตเลขา ฉบับที่ ๒๐ ลง ๒๘ ต.ค. ร.ศ.๑๒๐)
เมื่อเรือล่องมาถึงกรุงเทพมหานคร ได้เชิญลงเรือมณฑปแห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ปีเดียวกัน ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ.๒๔๕๒ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จ้าง นายซึรุฮารา (Mr.Tsuruhara) ครูช่างในโรงเรียนวิชาช่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาทำการปิดทองจนแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภช ในวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๓พระพุทธชินราช ในสมัยรัชกาลที่ ๕
พระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก สมัยรัชกาลที่ ๕
ถ่ายเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในการเททองหล่อพระพุทธชินราชจำลอง
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔
(ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)ทรงหล่อพระพุทธชินราช
เตาหล่อพระพุทธชินราช
เตาหล่อพระพุทธชินราช
รูปการแห่พระพุทธชินราชจำลอง จากเมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ
(ซ้าย) การเตรียมตกแต่งเรือที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช หน้ากรมทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔
(ขวา) กระบวนเรือที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชขณะอัญเชิญมาที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔
(ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)ขณะอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลอง เข้าประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔
(ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)ขณะอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลอง ขึ้นบนฝั่งภายในวัดเบญจมบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔
(ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)กระบวนเรือที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ขณะอัญเชิญมาที่วัดเบญจมบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔
(ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)(บน) บรรยากาศงานไหว้พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตร
จะแลเห็นพระอุโบสถกำลังก่อสร้างอยู่
(ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)(ล่าง) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร
อ้างอิง : พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝายเหนือ ในรัชกาลที่ ๕
(พิมพ์ในงานบำเพ็ญพระกุศลฉลองอายุ เจ้าจอมมารดาโหมด ป.จ.รัชกาลที่ ๕, โรงพิมพ์ไทย พ.ศ.๒๔๖๕)