กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถช่วงฝนตกมากกว่าปกติ หากต้องขับรถผ่านแอ่งน้ำให้ชะลอความเร็ว เพื่อป้องกันรถเกิดอาการเหินน้ำ กรณีต้องขับรถผ่านเส้นทางเสี่ยงดินถล่ม ควรศึกษาสภาพเส้นทางและหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หากรถติดหล่มให้นำอิฐหรือท่อนไม้วางไว้ด้านหน้ายางล้อหลัง จะช่วยเพิ่มแรงเสียดทานทำให้รถเคลื่อนตัวออกจากหล่มโคลนง่ายขึ้น
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า การขับรถในช่วงฤดูฝนผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในช่วงฝนตกใหม่ ๆ น้ำฝนจะผสมกับขี้ฝุ่นกลายเป็นดินโคลนบาง ๆ ฉาบผิวถนน ทำให้ถนนลื่นกว่าปกติ โดยเฉพาะถนนลูกรังและทางดินเมื่อเกิดฝนตกหนักจะกลายสภาพเป็นแอ่งน้ำ หรือบ่อโคลนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะเทคนิคการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในการขับรถช่วงฝนตก ดังนี้
กรณีรถเหินน้ำ ซึ่งเกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง หรือแอ่งน้ำ เพื่อความปลอดภัยผู้ขับขี่ควรจับพวงมาลัยให้มั่น ลดความเร็วรถก่อนถึงแอ่งน้ำจะช่วยลดแรงกระแทก ห้ามเหยียบเบรกในขณะที่ขับผ่านแอ่งน้ำ เพราะจะทำให้ล้อล็อคและรถเสียการทรงตัว จนเกิดอาการหมุนหรือปัดอย่างรวดเร็ว ให้แก้ไขโดยค่อย ๆ ถอนคันเร่งรอจนรถสามารถทรงตัวได้ดี จึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ
การขับผ่านเส้นทางเสี่ยงดินถล่ม เช่น บริเวณหุบเขา เชิงเขา ก่อนเดินทางควรตรวจสอบข้อมูลประกาศแจ้งเตือนภัย และศึกษาสภาพเส้นทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมหาเส้นทางสำรองกรณีเส้นทางเดิมไม่ปลอดภัย หากเส้นทางที่ขับผ่านมีฝนตกหนัก ให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นที่ปลอดภัยมากกว่า
กรณีต้องขับผ่านเส้นทางเสี่ยงดินถล่ม ให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ขับรถเร็ว หมั่นสังเกตสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หากน้ำในร่องน้ำข้างถนนเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดินบนภูเขา หรือได้ยินเสียงคล้ายดินถล่มให้ค่อย ๆ ขับรถออกจากบริเวณดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
หากมีดินถล่มปิดทับเส้นทาง ควรหยุดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่ฝืนนำรถออกจากจุดเกิดเหตุ เพราะสภาพถนนที่แคบและโค้งชัน อาจทำให้รถเสียหลักหลุดออกนอกเส้นทาง
การขับรถลุยโคลน ให้หยุดรถเพื่อประเมินเส้นทางและเลือกใช้เส้นทางที่ตื้นที่สุด หรือทางที่มีรอยล้อรถเดิม จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดหล่ม โดยต้องขับรถในระดับความเร็วที่สม่ำเสมอ หากรู้สึกล้อหนืดหรือเหยียบคันเร่งไม่ไป ให้ค่อยๆขยับพวงมาลัยไป-มาช้า ๆ เพื่อให้ล้อเกาะพื้นดินใหม่ แต่ห้ามหมุนล้อเร็วเกินไป เพราะจะทำให้ล้อรถจมดินมากขึ้น
หากรถจมโคลนหรือติดหล่ม ห้ามเร่งเครื่องหรือหักพวงมาลัยด้วยความเร็วสูง จะทำให้ล้อจมโคลนลึกขึ้น ให้แก้ไขโดยวางก้อนอิฐหรือท่อนไม้ไว้ด้านหน้ายางรถยนต์ล้อหลัง ค่อย ๆ เร่งเครื่องเพื่อเพิ่มแรงเสียดทาน หรือใช้สายเคเบิลลากจูงแบบตรง และพยายามเร่งเครื่องโดยใช้เกียร์ต่ำ จะทำให้รถสามารถเคลื่อนตัวออกจากหล่มโคลนง่ายขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย