ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นมรรค อันเอกอุกฤษฏ์เดินทางนี้ตรงไปสู่ความดับทุกข์ได้แน่
อันพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ได้ดำเนินมาสำเร็จตามปรารถนามาแล้วทุกๆ พระองค์ มรรค ๘ เป็นทางดำเนินด้วยใจ
ถึงแม้จะแสดงออกมาให้เป็นศีล ก็แสดงศีลในองค์มรรคนั่นเอง มรรคแท้มีอันเดียว คือ สัมมาทิฏฐิ อีก ๗ ข้อเบื้องปลายเป็นบริวารบริขารของสัมมาทิฏฐิทั้งนั้น
หากขาดสัมมาทิฏฐิตัวเดียวเสียแล้ว สัมมาสังกัปปะเป็นต้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เช่น ปัญญาพิจารณาเห็นความทุกข์ตามเป็นจริงว่า
มนุษย์สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ย่อมถูกทุกข์คุกคามอยู่ตลอดเวลา โลกนี้จึงเป็นที่น่าเบื่อหน่ายเห็นเป็นภัย
แล้วก็ดำริตริตรองหาช่องทางที่จะหนีให้พ้นจากกองทุกข์ในโลกนี้
การดำริเช่นนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจาก สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบนั่นเอง
การดำริที่ชอบที่ถูกนั้นก็เป็นสัมมาวาจาอยู่แล้ว เพราะวาจาจะพูดออกมาก็ต้องมีการตริตรองก่อน
การตริตรองเป็นศีลของอริยมรรค การพูดออกมาด้วยวาจาชอบเป็นศีลทั่วไป
การงานของใจ คือ ดำริชอบ วาจาชอบ อยู่ภายในใจ
เป็นการงานของอริยมรรคผู้ไม่ประมาท ดำเนินชีวิตเป็นไปในอริยมรรคดังกล่าวมาแล้วนั้น ได้ชื่อว่าความเป็นอยู่ชอบของผู้นั้น
ผู้พยายามดำเนินตามอริยมรรคดังกล่าวมาแล้ว โดยติดต่อกันตามลำดับไม่ขาดสายได้ชื่อว่ามีความเพียรชอบในมรรคทั้งแปด๖ ข้อเบื้องต้นมีความเห็นชอบเป็นต้น
มีความพยายามชอบเป็นที่สุด หากขาดสัมมาสติ ตั้งสติชอบเสียแล้ว จะเดินไปให้ถึงสัมมาสมาธิไม่ได้เลย
เหมือนทางที่ไม่ติดต่อเชื่อมกัน จะนำยานพาหนะไปตลอดทางได้อย่างไร
องค์สุดท้ายคือสัมมาสมาธิ
ยิ่งเป็นกำลังใหญ่สนับสนุนให้องค์มรรคนั้นๆ มีกำลังกล้าหาญที่จะไม่ท้อถอยในหน้าที่ของตนๆ พึงสังเกตดูเถิดว่า นักปฏิบัติโดยมาก
หากสมาธิไม่มั่นคงแล้วมักไปไม่รอด ปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นผู้ส่องทางให้เห็นทางเดินก็จริง
แต่เมื่อสติกับสมาธิอ่อนกำลังลงแล้ว ปัญญาอาจกลายเป็นสัญญาเป็นสังขารไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้
พระธรรมเทศนาโดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี