.ชินกาลมาลีนี หรือ ชินกาลมาลีปกรณ์
ชินกาลมาลีนี หรือ ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นเอกสารหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ที่กล่าวถึงประวัติที่มาของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกฎ (สะกดตามต้นฉบับหนังสือชินกาลมาลีนี) เป็นวรรณกรรมภาษาบาลี ซึ่งแต่งขึ้นในช่วงยุคทองของพุทธศาสนาเถรวาทในอาณาจักรล้านนา เอกสารดังกล่าวแต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๗๑ โดย พระรัตนปัญญา ปราชญ์ชาวล้านนา ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศาสนาเถรวาทในอาณาจักรล้านนากำลังแผ่อิทธิพลรุ่งเรือง (ราว พ.ศ. ๑๙๘๕ – ๒๐๖๘) ในช่วงสมัยพระเจ้าติโลกราช พระยอดเชียงราย และพระเมืองแก้ว สืบเนื่องกันสามรัชกาล พระรัตนปัญญาเป็นพระเถระร่วมสมัยกับพระสิริมังคลาจารย์ และเป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์มังราย และเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอดหรือวัดมหาโพธารามในสมัยพระเมืองแก้ว
ชินกาลมาลินี ได้รับการแปลไปหลายภาษาเพื่อเป็นที่ศึกษาของนานาชาติเกี่ยวกับตำนานสมัยประวัติศาสตร์โบราณ สำหรับภาษาไทยระบุชื่อผู้แปลว่าคือ พระยาพจนาพิมล นอกจากชินกาลมาลีนีแล้ว พระรัตนปัญญายังมีผลงานสำคัญคือ วัชรสารัตถสังคหะ เป็นคัมภีร์ประมวลศัพท์ อรรถาธิบายขยายใจความของธรรมะ และ มาติกัตถสรูปธัมมสังคณี เป็นคัมภีร์อธิบายความพระอภิธรรม
การคัดลอกตำนานของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) จากหนังสือชินกาลมาลีนี ตามภาพสแกนตัวหนังสือนั้น เป็นการสะกดหนังสือตามต้นฉบับเดิม คำบางคำเป็นภาษามคธ ที่มีอักขระคล้ายตัวการันต์ (แต่ไม่ใช่ตัวการันต์) ได้ใช้วิธีการวาดเส้นแล้วย่อขนาด แล้วยกไปวางเหนือตัวพยัญชนะ ซึ่งค่อนข้างยุ่งนิดหน่อย แต่อยากให้ผู้สนใจได้ทราบภาษาโบราณ
พยัญชนะบางคำหรือบางตัวได้ถูกยกเลิกใช้ไปแล้ว เช่น พยัญชนะคอคน ดังฤา (ต้นฉบับตัวสระอา ลากยาวลงมาเท่ากับตัว ฤ) หรือ ภามีฤทธิ์ "ภ" ลากหางยาวลงมาเท่ากับ "ฤ" ซึ่งต้องใช้เทคนิคกันนิดหน่อยเพื่อให้ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด แล้วจึงนำมาสแกน