ตำนานลอยกระทง กับพระเจ้าห้าพระองค์ตามคติพุทธศาสนาเถรวาทหรือหินยานจะเชื่อว่า ในอดีตกาลมีพระพุทธเจ้าลงมาบังเกิดช่วยเหลือสัตว์โลกตามกัปกัลป์ต่างๆ รวมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์พระโคตมะนับได้ 28 องค์ ส่วนทางคติอาจริยวาทหรือมหายาน เชื่อว่ามีอดีตพุทธเจ้ามากมายนับพันองค์ทีเดียว
ในสยามประเทศที่ถือคติเถรวาทเชื่อว่า กาลเวลาทางศาสนาจะแบ่งออกเป็น กัป หรือ กัลป์ ต่างๆ นับโดยนำผ้าอันเบาบางประดุจหมอกควันมาเช็ดถูขุนเขาที่มีขนาดกว้างหนึ่งโยชน์ สูงหนึ่งโยชน์ ยาวหนึ่งโยชน์ ปีละหนึ่งครั้ง เมื่อขุนเขาราบเรียบจนเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นพสุธาเท่ากับเวลา 1 กัป
กาลเวลาในปัจจุบันเชื่อว่า ศาสนาจะอยู่ในยุคภัทรกัป ซึ่งจะมีพระพุทธเจ้าลงมาบังเกิดถึง 5 พระองค์ ปรากฏการผูกเรื่องเป็นตำนานกล่าวถึง พญากาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่ บนต้นมะเดื่อริมฝั่งคงคามหานที จนบังเกิดพระโพธิสัตว์ปฏิสนธิในครรโภทรของนาง พญากาเผือก ซึ่งตกไข่ออกมาถึง 5 ฟอง
เมื่อถึงคราวจะบังเกิดองค์พระพุทธเจ้า กิ่งมะเดื่ออันเป็นรังกาหักโค่นลงตามแรงพายุ ขณะที่พญากาเผือกออกไปหาอาหาร ครั้นกลับมา ให้ทุกขเวทนาตามหาฟองไข่ไม่เจอจนสิ้นใจ ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ทำให้นางพญากาเผือกไปบังเกิดยังสวรรค์ได้พระนามว่า "ฆติกามหาพรหม" ส่วนไข่กาเผือกทั้ง 5 ได้ไหลไปตามน้ำและมีผู้เก็บได้คือ แม่ไก่เก็บได้ฟองหนึ่ง, แม่นาคราชเก็บได้ฟองหนึ่ง, แม่เต่าเก็บได้ฟองหนึ่ง, แม่โคเก็บได้ฟองหนึ่ง และแม่ราชสีห์เก็บได้ฟองหนึ่ง
ต่อมาปรากฏฟักเป็นมนุษย์มีรูปร่างงดงามและเสด็จออกผนวชจนตรัสรู้พระสัมโพธิ ญาณ จึงขนานพุทธนาม เพื่อเป็นบุญและอนุสรณ์แก่นางผู้เก็บไข่รักษาไว้จนกำเนิดว่า ด้วยความกตัญญู ทั้ง 5 พระองค์ ได้อธิษฐานจิตให้ได้พบนางพญากาเผือกผู้เป็นแม่อันแท้จริงก่อนการตรัสรู้ บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งห้าพากันทอเส้นฝ้ายปั่นเป็นด้ายแผ่เป็นรอยตีนกา เพื่อรำลึกถึงคุณของบิดา-มารดาที่เคยเสวยชาติเป็นกาเผือก จุดเป็นประทีปลอยลงเพื่อบูชาพระแม่คงคาที่ช่วยปกปักรักษาให้รอดแต่ครั้งยัง เป็นไข่กา และบูชาคุณพญากาเผือก โคมประทีปที่จุดจากด้าย
ซึ่งแผ่เป็นตีนกานั้นส่องขึ้นไปถึงฆติกา มหาพรหม หรือนางพญากาเผือก จนมองลงมาเห็นลูกรักที่ตั้งสัตย์อธิษฐานบูชาคุณจนโลกนาถหวาดไหว มหาพรหมจึงเหาะลงมาพบกับลูกทั้งห้าตามแสงโคมประทีปและถวายเครื่องทรงผนวช จนทุกพระองค์สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ
ต่อมาสาธุชนจึงสืบทอดเป็นประเพณี "จุดโคมประทีปลอยกระทง"ทุกวันเพ็ญเดือนสิบสอง และให้ผู้เป็นมารดาทำหน้าที่ถวายผ้าไตรกับบุตรผู้จะถือบวชสืบมาตั้งแต่บัดนั้น ด้วยเหตุตามกล่าวนี้ โบราณาจารย์และศาสนิกชน จึงเปล่งคำบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" และจัดสร้างพระพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ อันนับว่าเป็นของดีอย่างหนึ่งที่จะช่วยคุ้มครองป้องกันภัย
เช่น พระพิมพ์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ของ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย, หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมและหายากทั้งสิ้น เวลากราบพระหากเอ่ยคาถา "นะ โม พุท ธา ยะ" พร้อมกันไปด้วย คนโบราณถือว่าได้บูชาพระพุทธเจ้าคราวเดียวถึง 5 พระองค์ ซึ่งจะคุ้มครองป้องกันและปัดเป่าเภทภัย
นี่ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานให้อ่านไว้ประดับความรู้