[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 17:00:01 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การฝึกอภิญญา ตอนที่ ๑ - ๓ (รวมตอนให้แล้ว) โดย หลวงพ่อ ฤๅษีลิงดำ  (อ่าน 4331 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7866


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 5.0.375.99 Chrome 5.0.375.99


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2553 14:02:49 »

[ รวมมาจากบทความของ อ.มดเอ็กซ์ ในบอร์ดเก่า ]


การฝึกอภิญญา ตอนที่ ๑
 
 
( ๑๘ ก.พ. ๒๕๒๘ )
 

 
การที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ตั้งใจจะมาฝึกพระกรรมฐาน พระกรรมฐานที่บรรดาท่านฝึกอยู่นี่ เป็นการเตรียมตัวเพื่อ " อภิญญาหก " คือ มันสูงกว่าวิชชาสาม กรรมฐานนี่ความจริงถ้าเราจะฝึกกันจริง ๆ ตามแบบ มันก็มีหลายพันแบบด้วยกัน แต่ว่าทุกแบบต้องมาลงใน ๔๐ แบบ ที่เรียกว่า " กรรมฐาน ๔๐ "
 
กรรมฐาน ๔๐ นี่เป็นต้นแบบใหญ่ อย่าลืมว่ากรรมฐานไม่ได้มีแบบเดียวนะ แล้วแต่ละ ๔๐ แบบ แยกเอาการฝึกออกไปเป็นข้อปลีกย่อยได้เป็นพัน ๆ จะเป็นการฝึกข้อปลีกย่อยกี่พันแบบ หรือต้นฐาน ๔๐ แบบก็ตาม ก็ย่อเป็นกรรมฐาน ๔ หมวด ต้องเข้าหมวดใดหมวดหนึ่งให้ได้ ถ้าเข้าหมวดใดหมวดหนึ่งไม่ได้ นั่นคือ ไม่ใช่กรรมฐานของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้
 
 
หมวดที่ ๑ เรียกว่า " สุกขวิปัสสโก " บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายฝึกกันเป็นปกติ หมวดนี้ไม่มีความเป็นทิพย์ของจิต ไม่สามารถเห็นสวรรค์ เห็นเทวดา เห็นพรหมโลกได้ ไม่สามารถจะไปได้ แต่ว่ามีฌานสมาบัติได้ เป็นพระอริยเจ้าได้ ไปนิพพานได้
 
หมวดที่ ๒ เรียกว่า " เตวิชโช " หมวดนี้พอจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิแล้ว แล้วก็ฝึก ทิพจักขุญาณ เมื่อฝึกทิพจักขุญาณได้แล้ว ต้องเข้าไปฝึก ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติได้ เมื่อได้ทั้ง ๒ ประการแล้ว ใช้กำลังญาณทั้ง ๒ ประการเข้าช่วยวิปัสสนาญาณเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ เรียกว่า " พระวิชชาสาม " หมวดนี้สามารถเห็นสวรรค์ นรก เห็นพรหมโลก หรืออะไรก็ได้ทั้งหมด แต่ไปไม่ได้ ได้แต่เห็นอย่างเดียว นั่งตรงนี้คุยกับเทวดาหรือพรหมก็ได้ นั่งตรงนี้คุยกับสัตว์นรกก็ได้ อย่างนี้เรียกว่า " วิชชาสาม "
 
หมวดที่ ๓ ที่บรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติกันอยู่นี่ เป็นหมวด" อภิญญาหก " อภิญญาหกนี่เราไปไหนไปได้ตามใจชอบ จะไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ไปนิพพาน ไปนรก เปรต อสุรกาย ไปได้หมด ประเทศต่าง ๆ ไกลแสนไกลแค่ไหน ประเทศในมนุษยโลกนี่มันไม่ไกลหรอก เราสามารถไปได้ ดวงดาวต่าง ๆ ที่ฝรั่งจะไปเราก็ไปได้ไม่ต้องลงทุน อย่างนี้เป็น " อภิญญาหก "
 
สำหรับ หมวดที่ ๔ " ปฏิสัมภิทาญาณ " นี่มีความรู้ฉลาดมาก ปฏิสัมภิทาญาณมีความสามารถคลุมหมด คลุมสุกขวิปัสสโกด้วยเอาไว้ในตัว เอาวิชชาสามเข้าไว้ด้วย แล้วเอาอภิญญาหกเข้าไว้ด้วย แล้วก็ฉลาดมาก คือว่า ฉลาดในธรรมะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง เรียกว่า " ปฏิสัมภิทาญาณ "
 
สำหรับในตอนนี้ขอนำเรื่องของ " อภิญญาหก " มาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท คือว่า ทุกคนเวลานี้เป็นการเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก " มโนมยิทธิ " นี่เขาถือว่าเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก เหมือนกับนักเรียนเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย เตรียมตัวไว้ก่อนซ้อมไว้
 
อภิญญาหกจริง ๆ บรรดาท่านพุทธบริษัท อาจจะทำได้จนเป็นสาธารณะ ต่อเมื่อถึง " พ.ศ. ๒๕๔๓ "
 
ตอนนั้นถ้าคนไม่ขี้เกียจ จะสามารถทำอภิญญาหกได้ เวลานี้จะได้เป็นบุคคลบางคน อย่างนักเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เวลานี้เธอสามารถใช้กำลังอภิญญาหกได้บางส่วน คือ ไปไหนก็ไปทั้งตัว จะไปนรก ไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ก็ยกตัวร่างกายไปเลย แต่ว่ากำลังของอภิญญาหกจริง ๆ ยังใช้หมดไม่ได้ ใช้ได้เฉพาะไปแค่รู้
 
เพราะกำลังจริง ๆ จะเข้ามาถึง " พ.ศ. ๒๕๔๓ " ถ้าถึง " พ.ศ. ๒๕๔๕ อันนี้เป็นสาธารณะจริง ๆ
 
สำหรับอภิญญาหก บรรดาท่านพุทธบริษัท ก็เราก็ไปกันอย่างที่เราฝึกนี่แหละ! เราสามารถแสดงฤทธิ์แสดงเดชได้ ต้องการจะทำอะไร แค่นึกมันก็เกิดขึ้นทันที ถ้าเราเป็นคนแก่ อยากจะให้คนอื่นเห็นเป็นคนหนุ่มสาว นึกว่าให้เห็นอย่างคนขนาดนั้น อายุแบบนั้น รูปร่างแบบนี้มันก็เป็นทันที เอากันแค่นึก ...
 
อภิญญาหกนี่เขาใช้แค่นึกเท่านั้นนะ ไม่ใช่ไปนั่งเข้าสมาธิเสียเวลา ๑ นาที อันนี้ใช้ไม่ได้ แค่นึกปั๊บมันจะเป็นทันที นึกอยากจะไปไหนร่างกายถึงทันทีทันใด มันเร็วกว่าลัดนิ้วมือหนึ่ง จะไปสวรรค์ จะไปนรก จะไปประเทศไหนก็ตาม พอนึกปั๊บมันจะไปถึงเลย นี่เป็นกำลังของอภิญญาหกส่วนหนึ่ง
 
วันนี้ก็ขอแนะนำบรรดาท่านพุทธบริษัท ในด้านการเตรียมตัวก่อน การเตรียมตัวเวลานี้เราใช้กำลังของมโนมยิทธิยังไม่เต็มกำลัง ที่ใช้เวลานี้เป็นกำลังส่วนหน้า ส่วนหน้าที่ขึ้นเป็นกำลังของวิชชาสาม ถ้าใช้กำลังของอภิญญาจริง ๆ เราไปกันไม่ได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ลดกำลังส่วนหน้าลง คือ ใช้กันแค่ " อุปจารสมาธิ "
 
ถ้าเป็นกำลังของอภิญญาจริง ๆ ต้องใช้กำลังของ " ฌาน ๔ " เป็นพื้นฐาน
 
แต่ว่าถึงแม้จะได้ครึ่งกำลังก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัวเหมือนนักเรียนเตรียมปีแรก ต่อไประหว่างพรรษานี้จะเริ่มฝึกเต็มกำลัง ใครทำได้ก็ได้ ไม่ได้ก็แล้วไป ครูมีหน้าที่สอนเป็นเรื่องความฉลาดของคน ใครโง่มากก็ไม่ได้เลย โง่น้อยก็ได้บ้าง ถ้าไม่โง่เลยได้ทั้งหมด ถ้าหากว่าฝึกเต็มกำลังได้ นี่ถือว่ากำลังจิตของเราได้ครึ่งหนึ่งของอภิญญาหก พอหลังจากนั้นก็ไปฝึกฝนอภิญญาหกต่อไป ค่อย ๆ ฝึก
 
สำหรับเบื้องต้น บรรดาท่านพุทธบริษัทที่ได้แล้วก็ดี เพิ่งจะฝึกก็ดี หรือตั้งใจจะมาฝึกก็ดี ให้ใช้กำลังใจตามนี้ไว้ก่อน รักษาความดีไว้ คือ :-
 
๑. พยายามไม่สนใจในจริยาของบุคคลอื่น ใครเขาจะดีใครเขาจะเลวแบบไหน มันเรื่องของเขา เราสนใจเฉพาะกำลังใจของเราเอง กำลังใจของเรามันดีหรือมันเลว ถ้าเรายังสนใจในจริยาของบุคคลอื่น แสดงว่าเรายังเลวมาก เพราะเราไมได้ห่วงตัวเอง เราไปห่วงคนอื่นเขาประโยชน์อะไรจะเกิดกับเรา คนอื่นเขาเลวก็เป็นเรื่องของเขา คนอื่นเขาดีก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเราไปสนใจเขา เราก็ทิ้งความดีไปหาความเลว
 
อันดับแรก ให้ห่วงใจตัวเอง ว่าเวลานี้กิจที่เราจะพึงทำน่ะมันพร้อมแล้วหรือยังที่จะรักษาความดี คือ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา คำว่ามีศรัทธาในพระพุทธศาสนานี่ ความเชื่อในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ของเราพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าวันไหนมีความสงสัยขึ้นมาให้ชื่อว่าเราเลวเสียแล้ว...
 
การกำจัดความชั่วด้านความโลภ คือ การคิดอยากได้ในทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นเขามาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม และจิตไม่คิดในการเผื่อแผ่มันเกิดขึ้นกับใจของเรา ถ้ามีก็เตือนใจบอกเราเลวไปแล้ว คือ กำลังใจของเรามี ให้คิดว่า ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สมบัติของใครก็ตามที เราไม่สามารถจะได้มาโดยชอบธรรมเราไม่เอา แล้วกำลังใจเป็น " จาคานุสสติ " คิดว่าถ้าใครเขามีทุกข์ ถ้าไม่เกินวิสัยที่เราจะช่วย เราจะช่วย ถ้ากำลังใจทั้ง ๒ ประการนี้ยังอยู่ประจำใจเสียแล้ว แสดงว่าความดีด้านโลภะ การกำจัดโลภะของเรามีในใจ โลภะ ความโลภมันก็ออกจากใจ นี่ดีมาก ทั้งหมดนี้เป็นข้อที่ ๑
 
๒.การคิดประทุษร้ายบุคคลอื่นมีไหม อยากจะคิดให้คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ อยากจะคิดเข่นฆ่า อยากจะคิดทรมานเขามีไหม ถ้ามันมีถือว่าใช้ไม่ได้ เลว! ต้องคิดว่า คนเกิดมา คนก็ดี สัตว์ก็ดี เกิดมามันต้องตายกันหมด ถ้าเราจะทรมานเขาให้ลำบากก็ไม่ต้องไปทรมาน มันลำบากอยู่แล้ว ทุกคนมีความหิว ทุกคนมีความร้อน มีความกระหาย มีการป่วยไข้ไม่สบาย ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ มีการงานที่จะต้องทำ มีความแก่ลงไปทุกวัน มีความตายในที่สุด เขาถูกทรมานอยู่แล้ว ไม่ต้องไปช่วยเขา ถ้าไปช่วยเขาเราจะเลวมากขึ้น คิดอย่างเดียวว่าเราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั้งโลก แต่ก็เผลอบ้างอะไรบ้างเป็นของธรรมดา ถ้าจิตยังไม่ถึงที่สุด คิดไว้อย่างนี้ชื่อว่าความดีเข้าถึงใจเรา เป็นการทำลายความโกรธ
 
๓. ทำลายความหลง เราเมาในร่างกายเกินไปไหม เมาในทรัพย์สินเกินไปไหม ชีวิตที่เกิดมานี่มันต้องตาย จิตเราเคยคิดถึงความตายไหม ถ้ายังไม่คิดถึงความตายนี่มันเลวที่สุด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว สมบัติที่จะพึงได้คือ แก่ทุกวัน ไอ้กำลังความแก่มีอยู่ ไอ้ความแก่ของเรานี่มันจะแก่ถึงไหนก็ไม่แน่ จะไปคิดว่าอายุ ๖๐ - ๗๐ - ๘๐ ตายน่ะไม่แน่! ให้คิดว่าความตายจะมาถึงเราในวันนี้ไว้ก่อน มันแก่มาแค่นี้ถือว่าแก่นานแล้ว แต่วันนี้อาจจะตายก็ได้ ให้กำลังใจพร้อมไว้ คือ ไม่เมาในชีวิต
 
อย่างนี้องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรกล่าวว่า " เป็นผู้ทำลายความหลงในจิต " เอากันอย่างย่อนะ
 
ถ้าเราคิดว่าความตาย ตื่นขึ้นมาตอนเช้าคิดว่าความตายอาจจะมีกับเราในวันนี้ เราทำอย่างไร เราอยากจะสวรรค์ หรือ เราอยากจะไปพรหมโลกเวลาตาย หรืออยากจะไปนิพพาน
 
แต่ว่าสมาคมนี้ไม่ต้องการสวรรค์ ไม่ต้องการพรหมโลก ต้องการ " นิพพาน "
 
 
ถ้าเราต้องการนิพพานก็ทบทวนความดีของเรา ที่เราฝึกกรรมฐานน่ะ วิมานของเราที่นิพพานมีหรือเปล่า .. ถ้าวิมานของเรามีที่นิพพานน่ะ! บารมีเราเต็มแล้ว เราก็ไม่ควรจะสละสิทธิ์ เพราะว่าคนที่มีบารมีเต็ม มีวิมานที่นิพพานน่ะ คนนั้นมีสิทธิ์จะไปนิพพานในชาตินี้ แต่ว่าที่ไม่ไปกันก็มีเยอะ มัวเมาในชีวิตเกินไป สละสิทธิ์นิพพานไปชาติต่อไป อันนี้โง่มาก...
 
 
ถ้าเราคิดว่าวิมานที่นิพพานของเรามี เวลาเช้ามืดตื่นขึ้นมา ร่างกายเรามันเพลียไม่อยากนั่งก็ไม่ต้องนั่ง นอนแบบนั้นแหละ รวบรวมกำลังใจ ตัดสินใจว่าร่างกายอย่างนี้ไม่ต้องการมันอีก ความเป็นมนุษย์มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ ไม่ต้องการมันอีก เราต้องการจุดเดียวคือ " นิพพาน " เพียงเท่านี้พุ่งใจไปนิพพานทันที ไปนั่งอยู่ข้างหน้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยก็ดี เข้าวิมานของเราก็ได้ ถ้าเข้าในวิมานของเราถ้าเราไม่เห็นพระพุทธเจ้า พอนึกถึงท่านปั๊บท่านจะมาทันที เราก็ตัดสินใจว่า ถ้าร่างกายมันตายวันนี้หรือเมื่อไรก็ตาม ขอมาที่นี่จุดเดียว แค่นี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ก่อนจะตายวันนั้นท่านต้องเป็นพระอรหันต์ก่อน เป็นยังไง มันเป็นเอง ไม่ต้องห่วงหรอก ทำจิตอย่างนี้กันทุกวันเป็นอรหันต์เอง แค่นี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ต้องทำให้ได้!
 
 
ต่อนี้ไปก็จะพูดถึงการปฏิบัติที่บรรดาพุทธบริษัทเข้ามาใหม่ ๆ อันดับแรก ทุกคนต้องมี " ศรัทธา " ไว้ก่อน เรื่องของพระพุทธศาสนานี่ไม่มีศรัทธาความเชื่อนี่ ไม่มีผลเลย
ประการที่สอง ฝึกตัดกังวล ขณะที่มาอยู่ที่วัดนี่ไม่ห่วงอะไรเลยที่บ้าน ถ้าคนฉลาดนี่เขาไม่ห่วง ไอ้คนห่วงน่ะคนโง่ ใช้ปัญญาคิดนิดหนึ่งว่า เรานั่งอยู่ตรงนี้ทางบ้านมันมีอะไรเกิดขึ้น เราเห็นไหม เรารู้ไหม เรารู้ไม่ได้ เห็นไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราได้มโนมยิทธิ ถ้าเราห่วงเราย่องไปประเดี๋ยวหนึ่งก็ได้ และเวลานี้ต้องตัดความห่วงให้หมด ถ้าความกังวลคือ ความห่วงไม่มี จิตมันก็เริ่มเป็นสมาธิ หรือว่านิวรณ์ไม่กวนใจ
 
 
หลังจากนั้นทุกคนคุมศีลให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่าจะถึงวันตาย ไม่ใช่เฉพาะวันนี้และไม่ใช่อยู่ที่วัด ถ้าหากว่าคุมศีลไม่ได้วันไหน ฌานมันก็หล่น ปฏิบัติอย่างนี้คือ :-
 
๑. จะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง
๒. จะไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นทำลายศีล
๓. จะไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
 
หลังจากนั้น ถ้าเรายังไม่เป็นพระอนาคามี นิวรณ์มันยังตัดไม่ได้ เอาแค่ระงับชั่วคราวคือ :-
 
๑. กามฉันทะ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และในเพศตรงกันข้าม ยามปกติต้องมีและก็ต้องใช้ ก่อนจะทำกรรมฐานมันก็มีแล้วก็ใช้ เลิกกรรมฐานแล้วก็มีแล้วก็ใช้ อันนี้ไม่มีใครเขาว่า แต่ว่าเวลาที่เราจะเริ่มทำจิตเป็นสมาธิ ตัดกำลังนี้ออกจากใจไปชั่วคราว เราเวลานี้เราไม่ต้องการอะไรทั้งหมด
 
๒. ความไม่พอใจ อย่าให้มี
 
๓. ไอ้ความง่วงนี้ ถ้าเราโง่มันก็ง่วง ไม่โง่ก็ไม่ง่วง แล้วเวลาจะทำอย่าให้ดึกเกินไป ใช้เวลาหัวค่ำ กลางวันเวลาไหนก็ได้ เวลาทำต้องเป็นคนไม่มีเวลาแน่นอน เวลาไหนเราก็ทำได้ เวลาที่มันง่วงเพลียจัด เราก็อย่าไปทำมันซิ ไม่ให้มีความง่วง
 
๔. ควบคุมกำลังใจว่า เวลานี้ฉันจะภาวนา เวลานี้ฉันจะพิจารณา เวลานี้ฉันจะรู้ลมหายใจเข้าออก อย่างอื่นอย่าเข้ามายุ่งกับฉัน
๕. เราจะไม่สงสัยในผลของการปฏิบัติ
 
 
หลังจากนั้นสมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ ให้ฝึกตื่นขึ้นมาเช้าคิดไว้เสมอว่า วันนี้เราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั่วไป บุคคลใดมีความทุกข์ เราจะเกื้อกูลให้มีความสุข ถ้าหากว่าถ้ามีใครเพลี่ยงพล้ำเราจะไม่ซ้ำเติม
 
แค่นี้แหละ บรรดาท่านพุทธบริษัท กำลังใจทรงแค่นี้ เราถือว่าเป็น " ผู้ทรงฌาน " ถ้ารักษาอารมณ์อย่างนี้ไว้ได้ ฌานทุกอย่างจะไม่มีเสื่อม มีแต่ก้าวหน้า
 

 
 
ต่อไปเป็นการรักษากำลังใจ นี่เป็นเรื่องเบื้องต้นของมโนมยิทธิ จะไม่อธิบายถึงผล ผลต่าง ๆ ก็คือ ครูฝึกให้แล้ว ถ้าทรงกำลังได้อย่างนี้ คำว่าเสื่อม คำว่าถอยหลัง ไม่มี ต่อไปที่บอกไว้ในเบื้องต้นว่า การฝึกแบบนี้เป็นการเตรียมตัวเพื่ออภิญญาหก ทีนี้คำว่า " อภิญญาหก " นี่มันต้องมี อาสวักขยญาณ คือ ตัดกิเลส ถ้าตัดกิเลสไม่ได้ เขาเรียกว่า " อภิญญาห้า " อภิญญาห้านี่! เราจะฝึกกันทำไม ฝึกกันเท่าไรมันก็ยังคงลงนรกอยู่ อย่าง พระเทวทัต ได้อภิญญาห้าเหาะลงนรกไปเลย มันต้องเป็นอภิญญาหก คือ ตัดกิเลสให้ได้ ตัดกิเลสนี่มี ๓ ตอน คือ " สังโยชน์ ๑๐ " มีการตัดจริง ๆ ๓ ตอน ทีแรกตัดตอนต้นให้ได้
 
 
ตอนต้น คือ อารมณ์ของพระโสดาบันและสกิทาคามี ถ้าคนที่มีวิมานที่นิพพานแล้วถ้าทำไม่ได้อย่างนี้ ภาษาจะพูด ภาษาไม่หยาบก็จะไม่พูดแต่จะพูดให้ฟังที่ว่าอยากจะพูดว่า เลวกกว่าหมานี่ นี่ไม่ได้พูดหรอก บอกให้ฟัง คือว่า ถ้ามีวิมานอยู่ที่นิพพานนี่กำลังใจของเรา บารมีมันถึงนิพพานแล้ว สังโยชน์ ๓ ตัดไม่ได้ก็เลวเต็มที สังโยชน์ ๓ มีอะไรบ้าง กำลังของพระโสดาบันกับสกิทาคามีนี่ต้องได้ กำลังของพระโสดาบัน สกิทาคามี เขามีความรู้สึกอย่างไร เอาความรู้สึกที่มีอยู่ประจำตัว คือ :-
 
 
๑. มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้มันต้องตาย จะตายเมื่อไรก็ช่าง คิดว่าอาจจะต้องตายวันนี้ไว้เสมอ คุมความดีไว้ แค่นี้คิดไม่ได้ก็เลวเต็มที
 
๒. ใช้ปัญญาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ว่าเราควรเคารพนับถือไหม แค่นี้ถ้ายังสงสัยก็เลวอีกแล้ว
 
๓. ทรงศีลให้บริสุทธิ์ตามฐานะของตัว ฆราวาสนี่แค่ ศีล ๕ พอ พระก็ ๒๒๗ และก็มากกว่านั้นนะ คือ อภิสมาจารนี่มีอีกเยอะ ธรรมะนี่มีอีกเยอะ สามเณรนี่ศีล ๑๐ พร้อมกับเสขิยวัตร ๗๕ เฉพาะฆราวาสนี่แค่ศีล ๕ ทรงให้ได้ ถ้าทรงศีล ๘ ได้ก็ดี ถามว่าทรงตอนไหน ทรงตั้งแต่เวลานี้ไปจนกว่าจะหมดลมหายใจเข้าออก อารมณ์ของพระโสดาบัน สกิทาคามี มีแค่นี้เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ตัดกิเลสเบื้องต้นได้แล้ว ถ้าได้อภิญญาคือ เป็นอภิญญาหกอีก ๒ จุด จะไม่พูดถึง ไม่จำเป็น เอาแค่นี้ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นเป็นการซักซ้อมไว้เพื่ออภิญญา
 
 
ฉะนั้น การฝึกอภิญญานี่มันมี ๒ แบบ
 
 
คนที่ไม่เคยได้มาในชาติก่อน เราฝึกอีกแบบหนึ่ง
คนที่เคยได้แล้วในชาติก่อน เราก็ฝึกอีกแบบหนึ่ง
 
 
วันนี้จะพูดเฉพาะคนที่ได้แล้วในชาติก่อน และคนที่ได้มโนมยิทธิมาแล้ว ทุกคนมันเคยได้มาแล้วทั้งนั้น ถ้ากาลเวลามาถึงทำไม่ได้ แสดงว่าคบความโง่ไว้มากกว่าความฉลาด เพราะเคยได้มาแล้วนี่ก็ต้องเอาของเก่ามาใช้ให้ได้ เวลานี้ " มโนมยิทธิ " ที่ฝึกได้แล้วต้องทำให้เข้มข้น อย่าปล่อย เพราะมันเป็นก้าวแรกที่จะเข้าสู่ .. " อภิญญา "
 
วิธีปฏิบัติเบื้องต้น มีความสำคัญต้องทำ ให้ทรงกำลังใจตามนี้ คือ ไม่ต้องไปไล่หน้ากสิณ ทีแรกคิดว่าจะไล่กสิณเล่นโก้ ๆ พระท่านบอก
 
" ไม่จำเป็น! คนพวกนี้ไม่จำเป็นต้องไปไล่กสิณ เพียงแค่กำลังใจเข้าถึงฌานเท่านั้นแหละ คือ เข้าถึงเต็มกำลัง อภิญญาเก่าจะเข้าทันทีใช้ได้หมดเลย... "
แต่ว่าต้องเป็น " พ.ศ. ๒๕๔๓ " ขึ้นไป ให้เริ่มใช้ตั้งแต่เวลานี้ เริ่มใช้ตั้งแต่เวลานี้จิตจะได้ทรงตัว ถ้าคนก็จะเป็นคนดี ถ้าพระก็จะเป็นพระดี ไอ้พระเลว ๆ ที่มันเลวมันไม่ได้ทำ ถ้าพระวัดนี้พระองค์ไหนเลวไม่พลาด " อเวจี " หรือ " โลกันตนรก "
 
 
อย่าลืมนะ! นี่วิธีปฏิบัติกำลังใจเพื่ออภิญญา
 
เมื่อตอนที่ " องค์ปฐม " ท่านมา ท่านบอกใช้อย่างนี้ ให้จับภาพพระพุทธเจ้าเป็นปกติ ให้จิตทรงกำลังฌาน ๔ เป็นปกติ ไอ้ทรงฌาน ๔ เป็นปกติ ฌาน ๔ นี่เวลาเราออกจากร่างกายนี่เราเป็นฌาน ๔ แล้ว แต่นั้นเป็นฌาน ๔ เบื้องต้นที่มีกำลังอ่อน ต้องใช้ให้มีกำลังเข้มข้น นั่นก็คือ นึกถึงภาพพระพุทธเจ้าเมื่อไหร่ นึกปั๊บเห็นทันที นึกจับพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ชัดเจนแจ่มใส ตามกำลังให้ได้ทุกวัน ทุกวันและทุกเวลาที่เราต้องการ ไม่ใช่นั่งรอเวลาเงียบสงัด ไม่ใช่อย่างนั้น เดินไปเดินมา ทำงานอยู่นึกปั๊บให้เห็นเลย เห็นแล้วอธิษฐานพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงโตขึ้น ใหญ่ขึ้น สว่างกว่านี้ เล็กลง อยู่ข้างบน สูงมาก สูงน้อย เราทำอย่างนั้น อย่าคิดว่าเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ไม่ใช่ นี่อาตมาแนะนำเอง
ขอให้ทรงกำลังใจอย่างนี้ให้เป็นปกติ เพราะการเดินไปเดินมา พระก็ตาม เวลาเดินไปบิณฑบาต เดินไปทำงานทำอะไรอยู่ก็ตาม ให้เห็นภาพพระพุทธเจ้าเป็นปกติที่ต้องการจะเห็น ถ้าอย่างนี้ทุกคนจะอยู่ในเกณฑ์สำรวม ความวุ่นวายจะไม่มีอยู่ในจิต ความเลวของคนของพระจะไม่มี ญาติโยมสังเกตไว้นะ!
 
 
ถ้าพระองค์ไหนมันเลว มันไม่ทำแบบนี้หรอก ถ้าจับแบบนี้อารมณ์เลวไม่มี แล้วงานจะต้องเป็นไปตามปกติ นักเจริญกรรมฐานนี่เขาเคร่งครัดในการงาน เพราะต้องเป็นคนเคร่งครัดในกาลเวลา ถ้าไม่เคร่งครัดในกาลเวลามันทำไม่ได้ แม้แต่ในกรรมฐานเบื้องต้นเขาก็เคร่งครัดในกาลเวลาหรือการงาน
 
 
รวมความว่า ถ้าจับภาพพระให้เป็นปกติ สำหรับเรื่องกสิณไม่ใช่ของแปลก และจะลองเล่นกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งไว้เป็นอดิเรก อย่าใจร้อน..
 
อันดับแรก จับภาพพระพุทธเจ้าให้ชัดเจน ต้องฝึกตัวนี้ก่อน เดินไปเดินมานึกเมาอไรเห็นปั๊บทันที นอนหลับตื่นก็เห็นชัด ต้องอย่างนี้อภิญญา ไม่ใช่มานั่งทำ เขาเดินทำ เขาวิ่งทำกัน การทรงกำลังของสมาธิ เมื่อได้ทุกขณะแล้วอย่าใจร้อน เมื่อได้ตามความต้องการนึกเมื่อไรเห็นชัด ต่อจากนั้นไปก็เอากสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมาเล่นเป็นงานอดิเรก กสิณลมนี่มันเล่นยาก ความจริงอยากจะให้เล่นกสิณลม กสิณลมนี่มันเหาะได้นะ โก้ดี แต่มันเล่นยาก ถ้าไม่ฉลาดนี่มันเล่นยาก เอาง่าย ๆ ดีกว่า เอาปฐวีกสิณก็ได้ หรือ อาโปกสิณก็ได้ เอาง่าย ๆ ..
 
 
ถ้าปฐวีกสิณ ก็จับดินขึ้นมา เอาดินสีอรุณขึงไว้ทำวงกลมให้โตพอที่ตามองเห็น แล้วไม่เห็นขอบวงกลม จับภาพให้ทรงตัว แต่ก็ไม่สะดวกอีก ต้องอาโปกสิณดีกว่า
 
 
อาโปกสิณ เล่นง่าย ถ้ามันทำได้อย่างใดอย่างหนึ่งมันได้หมด ถ้าอาโปกสิณเอาน้ำมาใส่แก้วหรือใส่ขัน จับภาพพระพุทธเจ้า เดินไปเดินมาก็เห็นชัด นั่งก็เห็นชัด พอจับภาพพระพุทธเจ้าเห็นชัดเจนแจ่มใส แพรวพราวเป็นระยับเป็นฌาน ๔ ทรงตัว ขอพระองค์โตขึ้น เล็กลง อย่างนี้สะดวกมากได้แน่นอน จิตไม่วอกแวกตามกำลัง ตั้งเวลาไว้ ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ให้ทรงตัวให้ได้ ถ้า ๓๐ นาทีมันไหลไป อย่างนี้จิตใช้ไม่ได้แล้ว ยังเล่นกสิณไม่ได้ ถ้ามันทรงตัวได้จริง ๆ ภาพทรงตัว เวลานั้นก็เอาน้ำมาตั้ง จับภาพพระพุทธเจ้าให้ชัดเจนแจ่มใสเต็มกำลังของฌาน ๔ คือ แพรวพราวเป็นระยับของฌาน ๔
 
 
หลังจากนั้นถอยหลังมา ขอกำลังบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า น้ำในแก้วหรือในขันนี้ขอให้แข็ง จิ้มไปตรงไหนตรงนั้นแข็ง แล้วเข้าฌาน ๔ ใหม่ จับภาพพระพุทธเจ้าใหม่ทำใจเฉยไว้ ถอยหลังมาอีกทีทรงจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ อธิษฐานว่าน้ำนี้จงแข็ง แล้วจิ้มปั๊บมันแข็งหรือยัง ยังไม่แข็งก็แล้วไป เพราะเวลามันยังไม่ถึง ซ้อมไว้จนกว่าจะถึง " พ.ศ. ๒๕๔๓ " ทำไปทุกวัน ๆ เล่นแบบนี้ เล่นเป็นปกติ ไม่ช้าก็จะมีการทรงตัว พออธิษฐานไปอธิษฐานมา น้ำเกิดแข็งมาตามความชอบใจ เราต้องใช้เวลาอยู่ ยังเป็นกำลังของอภิญญาไม่ได้ ยังอ่อนมากไป
 
ถ้าจะเป็นกำลังของอภิญญาจริง ๆ ก็จับน้ำมา น้ำที่ไหนก็ตาม น้ำในแม่น้ำ น้ำในคลอง น้ำในบ่อก็ตาม นึกว่าน้ำที่จับไปจงแข็ง แหย่ปั๊บทันที แข็งทันที อย่างนี้เป็นตัวอภิญญาแน่ หลังจากนั้นก็ใช้กำลังของกสิณให้พอใจ กำลังของกสิณก็คือ :-
 
๑. ปฐวีกสิณ อธิษฐานของอ่อนให้เป็นของแข็ง อยากจะเดินบนน้ำก็อธิษฐานว่า เท้าที่เราก้าวไปตรงไหนให้น้ำแข็งเหมือนดิน เฉพาะที่เท้าก้าวนะ อย่าไปเสือกอธิษฐานให้หมดทั้งคลองนะ! มันไม่ถูก..การจราจรเขาเสีย อย่างนี้ก้าวไปได้สบาย อยากจะเดินไปในอากาศ อธิษฐานว่าเท้าที่ข้าพเจ้าก้าวไปในอากาศ เหยียบตรงไหนให้แข็งเหมือนดิน เดินได้สบาย...
 
๒. อาโปกสิณ ทำของแข็งให้เป็นของอ่อน หินมันแข็งทำให้เป็นของอ่อน เหล็กมันแข็งให้มันอ่อน แล้วฝนไม่ตกทำให้ฝนตกได้ทุกอย่าง
 
๓. เตโชกสิณ ไฟนี่! ถ้ามันหนาวเกินไป อธิษฐานเตโชกสิณ ให้มีความอุ่นแค่นั้นแค่นี้ ต้องการให้ไฟลุกล้อมใครเสียก็ได้ ใครพูดไม่ดีอธิษฐานให้ไฟล้อม มันเดินไม่ได้อยู่ตรงนั้นแหละ ถ้ามันไม่ขอขมาก็ไม่เลิกกัน อย่าไปเล่นแบบนี้นะ ถ้าไปเล่นแบบนี้กสิณเสื่อม หรือบางทีความมืดก็ใช้เตโชกสิณช่วยให้แสงเกิด
 
๔. วาโยกสิณ กสิณเหาะ! นึกอยากจะให้เราไปไหน นึกแป๊บเดียวมันจะไปถึงทันที นึกอยากจะให้ใครมาหาเรา ก็คิดถึงวาโยกสิณปั๊บหอบคนนั้นมา มันจะมานั่งปุ๊บนั่งข้างหน้าเลย เอาแค่นึกไม่ใช่ตั้งท่านะ ตั้งท่าใช้ไม่ได้
 
๕. ปีตกสิณ ถ้าของสีดำ สีแดงก็ตาม ต้องการคิดให้เป็นสีเหลือง สีทอง และแผ่นดินนี่ต้องการให้เป็นสีทองเมื่อไหร่ มันจะเป็นทองได้ทันที ไอ้บ้านหลังนี้ถ้าเป็นตึกเป็นไม้ เราคิดจะให้เป็นสีเหลือง สีทอง มันก็เป็น...
 
๖. โอทาตกสิณ โอทาตกสิณนี่ถ้าของมันขาว มันเขียว มันแดงนี่ ต้องการให้มันขาว นึกให้มันขาวมันจะขาวเลย
 
แต่ก็มีกสิณอีกเยอะ! รวมความว่ากำลังของกสิณทั้งหมดเป็นเรื่องเล็ก ๆ ถ้าเราทำเบื้องต้นได้
ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเตรียมฝึกเพื่ออภิญญา เวลานี้จะเตรียมใช้กำลังใหญ่ไว้ได้เลย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าทำอย่างนี้มโนมยิทธิของทุกคนจะไม่มีคำว่าเสื่อม จะมีความทรงตัวแล้วจะเข้มแข็งขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังที่จะตัด " สังโยชน์ ๓ " ต้องทำให้ได้ อันนี้ไม่ใช่คำขอร้อง เป็น " คำสั่ง " ว่าคนที่ต้องการความดีถึง " นิพพาน " หรือ " อภิญญา " ก็ตาม ต้องทำ " สังโยชน์ ๓ " ให้ได้ คือ :-
 
๑. มีความรู้สึกไว้ทุกวัน เวลาตื่นเช้าว่าชีวิตนี้มันต้องตาย ถ้าตายแล้วเราไม่ยอมไปอบายภูมิ
 
๒. เราจะยึดพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นกำลังใจของเราด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
 
๓. จะทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์
 
เท่านี้แหละ! แล้วหลังจากนั้นก็ใช้กำลังใจของพระอรหันต์ไว้ประจำใจ คือ ขึ้นชื่อว่ามนุษยโลกมันเป็นทุกข์เราไม่ต้องการมันอีก พรหมโลกกับเทวโลกสุขจริง แต่ไม่นาน ไม่ต้องการมันอีก เราต้องการจุดเดียวคือ .. " นิพพาน " อย่างนี้เป็นอารมณ์พระอรหันต์ รักษากำลังใจตามนี้ไว้ เมื่อถึงอายุขัยเมื่อไร ก่อนจะตายจะเป็นอรหันต์เมื่อนั้น เมื่อตายเมื่อไรก็ไปนิพพาน ...
 
 
ถ้ายังไม่ไปนิพพานเพียงใด ถ้าโอกาสมี ถ้าเราสามารถใช้อภิญญาได้ แต่ว่าการใช้อภิญญานี่ต้องใช้ให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านห้ามพระ ถ้าไม่มีคนเห็นใช้ได้ ถ้ามีคนเห็นใช้ไม่ได้ แล้วก็มีประโยชน์มาก
 
 
สำหรับคำแนะนำการฝึกอภิญญาหก ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ สวัสดี


http://palungjit.com/smati/apinya6/apinya1.htm

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7866


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 5.0.375.99 Chrome 5.0.375.99


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2553 14:03:12 »

การฝึกอภิญญา ตอนที่ ๒
 
 
ท่านพระโยคาวจรทั้งหลายและบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปขอท่านทั้งหลายได้ตั้งใจสดับกรรมฐานพิเศษ สำหรับวันนี้จะแนะนำในด้านพระกรรมฐานพิเศษ แต่ทว่าเวลานี้พวกเรากำลังมีความสนใจในด้าน " ทิพจักขุญาณ " และด้านของ " อภิญญา " แต่ทว่าก่อนที่จะแนะนำหรือจะสอนกัน จะบอกกันเรื่อง " อภิญญาสมาบัติ " และ " วิชชาสาม "

สำหรับในตอนนี้ก็จะขอให้ท่านทราบจริยาเบื้องต้นเสียก่อน คือว่า อาการของการเจริญพระกรรมฐานในด้าน สุกขวิปัสสโกก็ดี เตวิชโชก็ดี ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ดี ทั้งหมดนี้ถ้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า คือ เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ทั้งหมดนี้มีค่าเสมอกัน

คำว่า " มีค่าเสมอกัน " ก็เพราะว่าเป็นพระอริยเจ้าเท่ากันตัดกิเลสได้เสมอกัน ไปนิพพานได้เหมือนกัน แต่ทว่าคุณสมบัติพิเศษไม่เสมอกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่มุ่งเฉพาะสุกขวิปัสสโกก็เป็นอรหันต์ที่ไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งหมด หมายความว่า ไม่ได้ฝึกมาในสายทิพจักขุญาณหรือว่าอภิญญาหกหรือปฏิสัมภิทาญาณ

ฉะนั้น หากท่านที่เป็นสาย " สุกขวิปัสสโก " จึงไม่รู้ไม่เห็นไม่สามารถที่จะบังคับจิตให้เห็นสวรรค์ เห็นพรหมโลก เห็นเทวดา เห็นพรหมได้

สำหรับท่านที่เจริญในด้าน " วิชชาสาม " สามารถจะได้ทิพจักขุญาณ คือ เห็นเทวดา เห็นพรหม และก็เห็นนรก เห็นสัตว์นรก เห็นเปรต เห็นอะไรต่าง ๆ ถ้ามีอารมณ์เข้าถึงพระโสดาบันก็สามารถจะเห็นพระนิพพานได้

สำหรับท่านผู้ทรงอภิญญามีอานุภาพมากกว่าวิชชาสาม สามารถจะทำอทิสสมานกายยกกายภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นอภิญญาใหญ่ทรง " อภิญญาหก " ก็สามารถเอากายเนื้อไปในภพต่าง ๆ ได้ไม่เลือกสถานที่

สำหรับ " ปฏิสัมภิทาญาณ " มีความดีเป็นพิเศษ คือ มีความสามารถคลุมสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญทั้งหมด และก็ยังมีความรอบรู้ต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น สามารถจะรู้ได้ทุกภาษา เช่น ภาษาคน ภาษาสัตว์ มีความฉลาดในการขยายความสั้นให้ยาว ย่อเนื้อความยาวให้สั้นอย่างนี้เป็นต้น และก็มีอารมณ์ว่องไวมาก


อันนี้เป็นที่เปรียบเทียบเพื่อให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ ที่นำมาพูดนี้ทำไมจึงได้นำมาพูด เพราะผมทราบ ทราบว่าในสำนักของเรายังมีคนที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้องอีกเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนที่ผมสอนไว้ในปัจจุบันก็ดี ที่เป็นอดีตเป็นเทปบันทักไว้ก็ดี ที่เป็นหนังสือก็ดี และก็ปรากฏว่ายังมีหลายท่านฟังไม่รู้เรื่องบ้าง อ่านหนังสือไม่ออกบ้าง คำว่าฟังไม่รู้เรื่องอ่านหนังสือไม่ออกก็แสดงว่า หาความเข้าใจอะไรไม่ได้ ยังมีความเข้าใจผิดมีความเข้าใจพลาดอยู่มาก อันนี้ถือว่าเป็นโทษหนัก


คำว่า " เป็นโทษหนัก " ก็คือ จะเป็นคนมีมานะ มานะมันเป็นกิเลสหรือว่ากลายเป็นมิจฉาทิฏฐิมีความเข้าใจพลาด ถ้าเรามีความเข้าใจพลาด การปฏิบัติของเราก็พลาด ผลที่เราจะพึงได้ก็เป็นผลพลาด ถ้าพลาดหรือว่าตกมีความหมายยังไงก็เข้าใจดีอยู่แล้ว มันก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเดินทางพลาด ดีไม่ดีลงนรกไปเลย


นี่ความสำคัญตัวมีความสำคัญมากอย่าสำคัญผิด ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า " อัตตนา โจทยัตตานัง " จงเตือนตนเองไว้เสมอ นี่ต้องจำ! ฟังได้แล้วต้องจำ! จำแล้วใช้ปัญญาพิจารณาใน " อิทธิบาท ๔ " ท่านบอกว่า


ฉันทะ มีความพอใจ
วิริยะ พากเพียรทำลายอุปสรรค
จิตตะ สนใจในสิ่งนั้นไม่วางมือ
วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจ


ถ้าอารมณ์ของท่านทั้งหลายทรงอยู่ในอารมณ์นี้ทั้งหมดก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะทรงอารมณ์ให้ได้ดีจริง ๆ พระกรรมฐานทรงตัวจะเป็นด้านสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ตาม อารมณ์จะต้องทรงบารมี ๑๐ ครบถ้วน " บารมี ๑๐ " นี่จะต้องมีให้เต็มกำลังใจไว้เสมอ และก็ต้องมี " จรณะ ๑๕ " ครบถ้วน ถ้ามิฉะนั้นการปฏิบัติของพวกท่านหาผลได้ยาก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของเก่าทั้งหมด ที่ผมนำมาพูด





ต่อไปนี้ก็จะเปรียบถึงด้านอารมณ์ที่เข้าถึงให้ฟัง พวกที่ได้ทิพจักขุญาณอย่างหนึ่ง ที่ได้อภิญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราฝึกกันด้านมโนมยิทธิอย่างหนึ่ง กับอารมณ์ของบุคคลที่เข้าถึงอุปจารสมาธิอันนี้ไม่เหมือนกัน อารมณ์ที่เข้าถึงอุปจารสมาธิสามารถจะเห็นภาพต่าง ๆ ได้บ้างในบางขณะ ไม่มีอารมณ์สามารถจะบังคับให้รู้ให้เห็นได้โดยเฉพาะ อย่างสมมติว่าเวลานี้เราอยากจะเห็นพระอินทร์ แล้วก็นั่งภาวนาพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกหรือภาวนาจับนิมิต ดีไม่ดีจิตถ้ามันนึกอยากเห็นพระอินทร์ขึ้นมา อะไรมาก็ไม่รู้ ดีไม่ดีก็ถูกอสุรกายหลอก อุปจารสมาธินี่มีหลายท่าน
นี่ผมหมายถึงว่าเคยพบมามีหลายคน เมื่ออารมณ์จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิเข้าใจว่าสำเร็จเสียแล้ว ดูเหมือนว่าผมจะเคยเขียนไว้ในหนังสือหลวงพ่อปาน ว่ามีสำนักหนึ่งมีคนเขาไปปฏิบัติกันมา เมื่อเขาผ่านมาแล้วอยู่บ้าน ๒ - ๓ เดือน เขาก็มาหาผม ถามว่า " หลวงพ่อช่วยตรวจดูทีสิว่า กรรมฐานของฉันน่ะมันเสื่อมไปแล้วหรือยัง? " ผมก็แปลกใจว่าไอ้กรรมฐานเสื่อมไม่เสื่อมนี่ไม่มีใครเขาถามชาวบ้านกันหรอก ตัวเองน่ะรู้ตัวของตัวเอง จึงถามว่า " โยมไปศึกษาที่ไหนมา? " เขาก็บอกสำนัก ถามว่า " อาจารย์บอกว่ายังไง? " แกก็เลยบอกว่า " อาจารย์บอกว่าสำเร็จแล้ว " จึงได้ถามว่า " อาการที่อาจารย์บอกว่าสำเร็จน่ะ โยมมีความรู้สึกเกิดขึ้นกับจิตประการใดบ้าง? "

โยมคนนั้นก็บอกว่า เวลานั่งบางครั้งเห็นภาพเทวดาบ้าง เห็นภาพวิมานบ้าง เห็นภาพอะไรต่ออะไรมาบ้างในบางขณะ หรือ บางทีก็พบทุกวันก็ยังได้ แต่เห็นแว๊บเดียวแล้วก็หายไป บางทีก็ตั้งอยู่ครู่หนึ่งก็หายไป จึงได้ถามว่า โยมสามารถบังคับจิตได้ไหม ว่าเดี๋ยวนี้เราต้องการเห็นนรก ต้องการเห็นเปรต ต้องการเห็นอสุรกาย ต้องการเห็นสัมภเวสี ต้องการเห็นเทวดา ต้องการเห็นพรหม ต้องการเห็นนิพพาน หรือว่าต้องการเห็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ที่ท่านนิพพานไปแล้ว โยมบอก " ไม่ได้หรอกเจ้าค่ะ " ถ้าไม่ได้เป็นแต่เพียงนั่ง ๆ ไปพอจิตสบายก็เห็นภาพ บางทีก็เห็นได้ทุกวันอันนี้ผมไม่ขัดคอ


ถ้าหากว่าเห็นได้ทุกวันขณะที่นั่งอยู่ ถ้าจิตเป็นสมาธิหรือว่าจะเห็นได้ทั้งวันก็ได้ แต่ต้องใช้เวลาที่เราตั้งจิตสงบ และก็ใช้เวลาบ้าง หมายความว่าอาจจะต้องใช้เวลาสัก ๒ - ๓ นาที เห็นภาพแล้วก็คุยกันไม่ได้ แว๊บหนึ่งก็หายไป ตั้งอยู่ครู่หนึ่งก็หายไป อาการอย่างนี้ไม่ใช่อาการของทิพจักขุญาณ หรือไม่ใช่อาการของอภิญญา เป็นอาการของอุปจารสมาธิและก็เป็นอาการของคนที่จิตยังไม่เข้าถึงปฐมฌาน นี่ขอท่านทั้งหลายจงจำไว้นะ! จำให้มันดีและก็จงอย่าหลงว่าเราได้ทิพจักขุญาณเสียแล้ว การที่จะได้ทิพจักขุญาณจะต้องทรงถึงฌาน ๔ คือ ความจริงทิพจักขุญาณนี่เขาอาจจะเริ่มได้ตั้งแต่อุปจารสมาธิ แต่ว่าต้องฝึกตรง เฉพาะที่เราเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ได้แล้วก็เห็นนิมิตนั่น เขาเรียกว่า " อุปจารสมาธิ " หรือว่า " อุปจารฌาน "


เมื่อจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิหรืออุปจารฌาน ก็สามารถที่จะได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ สามารถที่จะเห็นภาพที่เป็นทิพย์ได้ แต่มันแว๊บเดียวคำสองคำก็หายไป และเราเองก็ไม่สามารถจะบังคับให้เจ้าของเสียงนั้นพูดต่อไปได้ เราไม่สามารถจะบังคับให้เจ้าของภาพนั้นทรงต่อไปได้ ในการเห็นใหม่มันก็ไม่ซ้ำกัน คุยกันก็ไม่ได้ เห็นกันนานก็ไม่ได้ อาการอย่างนี้เป็นการหลงผิดอย่างกับโยมที่มาถามนั่นแหละ เป็นอันว่าท่านศึกษายังไม่ขึ้นประถมปีที่ ๑ คือ " ปฐมฌาน " แต่ทว่าอาจารย์ก็บอกว่าสำเร็จเสียแล้ว


ฉะนั้น พวกเราก็เหมือนกัน คณะของพวกเรานี่ผมทราบว่ายังมีการหลงผิดกันอยู่มาก บางท่านไปประสบพบอารมณ์อย่างที่ผมว่ามานี้ แต่ก็จิตคิดไปว่าเราได้ดี คือ เราได้ทิพจักขุญาณ ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้รีบถอยหลังเสีย คำว่า ถอยหลัง หมายถึง ถอนความรู้สึกนั้นเสีย มันจะเกิดความเสียหายกับท่าน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านจะไม่ก้าวเข้าไปสู่ความดี อารมณ์อุปจารสมาธินี่นักเจริญพระกรรมฐานจริง ๆ เขาไม่ใช้ จะประสบพบภาพอะไรได้ยินเสียงอะไรก็ตารม เขาไม่ใช้กันหรอก ยังถือว่าไม่ใช่สาระไม่ใช่แก่นสาร แต่ทว่าคนที่มีความทะนง จุดนี้แหละเป็นจุดสำคัญ ที่มีความทะนงทำลายตัวเองให้มีความพินาศไปจากกำลังของความดีที่จะพึงได้ จำไว้นะวันนี้จะพูดเฉพาะอาการ


ทีนี้มาพูดถึงคนที่เขาได้ทิพจักขุญาณ ทิพจักขุญาณนี่ก็ต้องวัดระดับเป็นฌานโลกีย์ เป็นพระอริยเจ้า คือ พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสว่างไสวแจ่มใสชัดเจนมั่นคงไม่เสมอกัน แต่นั่นก็ช่างเถอะผมจะไม่อธิบาย จะอธิบายแต่เพียงว่าท่านที่ได้ทิพจักขุญาณนั้นต้องฝึกฝนโดยตรงเฉพาะ เพราะว่าวิชาเฉพาะทิพจักขุญาณเขามีอยู่ คือ จับพลัดจับผลูอึกอักก็ให้มันได้โดยไม่ใช้วิชาเฉพาะนั้นไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ใช่สัพพัญญูวิสัย เราเป็นสาวก มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่เมื่อถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วอะไร ๆ ก็ได้หมด สำหรับพระสาวกนี่จะต้องเรียนเฉพาะกิจ เว้นไว้แต่ว่าท่านผู้นั้นเคยได้ญาณนั้นมาแล้วในชาติก่อน แต่พอกำลังจิตเข้าถึงก็สามารถจะรู้ได้ แต่อย่างนั้นก็เป็นที่สังเกตไม่ยาก ผู้ที่เขาได้มาก่อนพอเจริญสมาธิจิตถึงฌานนิดเดียว ของเก่ากลับมาหมด อันนี้สังเกตไม่ยาก


เพียงได้ยินคำพูดคำเดียวก็รู้แล้ว่าท่านผู้นั้นมีทุนมาก่อนหรือว่าไม่มีทุนมาก่อน ถ้าเขามีทุนก่อนจะไม่มีวาจาที่เฝือออกมาแม้แต่คำเดียว นี่เรามาพูดกันถึงการฝึก อาการที่เขาได้ทิพจักขุญาณจริง ๆ นะเขารู้จริง ๆ แต่ว่าอาการรู้นี่จะต้องระวัง ถ้าเป็นพวกฌานโลกีย์นี่มีอารมณ์หลงมาก และ มีอุปาทานกินมาก ถ้าบุคคลผู้นั้นยังใช้กำลังใจของตนเองเป็นเครื่องได้ยิน เป็นเครื่องรับทราบจากเสียงและก็เป็นเครื่องเห็นภาพ ถึงแม้ว่าจะได้ทิพจักขุญาณก็ยังถือว่ายังใช้ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ากำลังใจของท่านที่ยังไม่ถึงอรหัตผล ยังไง ๆ กิเลสมันก็ขวางหน้าท่านได้ ถ้ายิ่งได้ฌานโลกีย์ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ของดีจริง ๆ จะไม่มีทางได้ บางทีก็รู้ถูกรู้ผิด ถ้ามีอารมณ์คิดกำหนดไว้ก่อนนิดเดียวภาพหลอนก็จะปรากฎ นี่ว่ากันถึงฌานโลกีย์ แม้แต่พวกพระอริยเจ้าก็ตาม


ถ้ายิ่งเป็นพระอริยเจ้าด้วยแล้ว เขายิ่งไม่ไว้ใจตัวเองอย่างยิ่ง เมื่อได้ทิพจักขุญาณแล้วนับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เขาก็ใช้กำลังใจติดต่อเฉพาะ คำว่า เฉพาะในที่นี้เฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


หากว่าท่านจะถามว่าเราจะติดต่อพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ตอนนี้ผมก็ขอตอบว่า ให้ท่านฝึกทิพจักขุญาณให้คล่องเสียก่อน แล้วก็ทำใจของท่านให้เข้าถึงพระโสดาบันเสีย แล้วเวลาที่เราต้องการจะพบจะเห็นอะไร เขาใช้อารมณ์แบบนี้ ต้องสร้างนิมิตคือ ทิพจักขุญาณนั้นให้มีอารมณ์แจ่มใน คือ ดูใจของเราเองให้มันแจ่มใส ต้องเห็นกระแสจิตของตนเอง เห็นกระแสจิตของตัวเองแจ่มใสจนกระทั่งไม่มีสีอื่นเจือปน มีสีเป็นแก้วใสเป็นประกายสวยสดงดงาม นี่แสดงว่าจิตว่างจากกิเลสแล้ว จิตตัวนี้ว่างจากกิเลส ๆ ไม่ยุ่ง ถ้าจิตมีกิเลสมันยุ่งนิดเดียวเดี๋ยวมันก็ถูกหลอก
เมื่อจิตว่างจากกิเลสมีกระแสใสผ่องใสเต็มที่ ตอนนี้เราจะพบองค์สมเด็จพระมหามุนีได้ไม่ยาก และเราเห็นท่านก็แจ่มใส เห็นท่านได้แจ่มใสเวลาจะพูดจะคุยจะทูลถามอะไรพระองค์จะทรงตรัสอะไรก็ชัดเจน จะนั่งอยู่นานแสนนานเท่าไหร่ก็ได้จะพูดกันมากเท่าไหร่ก็ได้ นั่งอยู่ตรงนี้จะคุยกับสัตว์นรก คุยกับเปรต คุยกับอสุรกาย คุยกับพระยายม คุยกับเทวดา คุยกับพรหม คุยกับพระอริยเจ้าก็ได้ เหมือนกับนั่งอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่อารมณ์ของทิพจักขุญาณนี่เขาใช้กันได้ทุกขณะ ไม่ใช่ต้องไปนั่งทำจิตให้เป็นสมาธิให้อารมณ์สบาย แล้วเห็นภาพว๊อบ ๆ แว๊บ ๆ ได้ยินเสียงบ้างอะไรบ้างนี่เป็นอารมณ์เฝือ


ผมมีความรู้สึกว่าในสำนักเรานี่อาการอย่างนี้ยังมีอยู่ทสั้ง ๆ ที่ฟังคำแนะนำกันอยู่ตลอด ผมเสียดายเวลาของพวกท่าน ว่ายังมีความไม่เข้าใจอะไรกันอยู่มาก มันเป็นเรื่องแปลกที่สุด ถ้าผมจะคิดว่าพวกท่านศึกษากันกับสมัยที่ผมศึกษาน่ะ ถ้าอากรอย่างนี้มันเป็นของแปลกมาก ที่ว่าแปลกก็เพราะว่าการรับคำสอนนี่ผมไม่เคยได้รับกันทุกวัน ๆ ละหลายครั้งอย่างนี้
คำสอนของครูบาอาจารย์นี่สอนครั้งเดียวผมจำตลอดชีวิต และก็ต้องทำให้ได้ ของเรายังเฝือกันอยู่มาก ฟังมากไปบางทีจะชินเกินไป ถ้าชินเกินไปมีการหลงใจหลงตัวของตัวเอง ก็เกิดความทะนงนึกว่าตัวเป็นผู้วิเศษ หรือว่าได้มรรคได้ผล ข้อนี้ต้องระวังให้มาก








และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่ได้ทิพจักขุญาณหรือวิชชาสาม นี่เขายังไม่กล้าไปแตะต้องกับพวกที่ได้มโนมยิทธิ พวกที่ได้มโนมยิทธินี่เขามีกำลังดีกว่ามาก ความสามารถเขาดีกว่ามาก เพราะว่าเขาเป็นอภิญญา ถ้าความสามารถเสมอกันพระพุทธเจ้าก็ไม่จัดไว้เป็นขั้น ๆ ไว้ในด้านความรู้พิเศษ ผู้ที่ได้มโนมยิทธิโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขาเป็นพระอริยเจ้า จุดนี้เขาจะไม่มีการหลงเลย และพวกนี้เขาจะไม่มีความประมาท เขาจะไม่ยอมใช้อารมณ์จิตของเขาโดยเด็ดขาด ถ้าต้องการจะรู้อะไรนี่เขาจะทูลถามพระพุทธเจ้าหรือว่าถามเทวดาหรือถามพรหมองค์ใดองค์หนึ่งที่เคยให้สัญญากับเขาไว้ว่า ถ้าต้องการจะรู้อะไรถามฉัน ฉันจะบอกทุกอย่าง



แต่ถ้าจะถามว่าพวกได้อภิญญานี่เขาจะใช้อารมณ์รู้เองได้ไหม ก็ต้องตอบว่าเขาใช้อารมณ์รู้ได้ แต่ไม่มีใครเขาโง่ที่จะต้องใช้อารมณ์ตัวของเขาเอง เพราะว่าขึ้นชื่อว่าความสามารถ แต่ว่าเทวดาหรือพรหมที่จะถามต้องเป็นเทวดาหรือพรหมที่เป็นพระอริยเจ้า ถ้าเป็นเทวดาหรือพรหมที่ไม่ใช่พระอริยเจ้าก็ไม่ควรถาม เพราะว่าเทวดาก็ดี พรหมก็ดี ความสามารถไม่เสมอกัน ถ้าเป็นเทวดาไปจากทาน ไปจากศีล ไปจากการฟังเทศน์ ความสามารถก็น้อยกว่าเทวดาหรือพรหมที่ไปจากฌาน เทวดาหรือพรหมที่ไปจากฌานก็มีความสามารถน้อยกว่าเทวดาหรือพรหมที่เป็นพระอริยเจ้า เทวดาหรือพรหมที่เป็นพระอริยเจ้าก็จะต้องมีความสามารถเป็นขั้น ๆ


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราไปถามท่านที่เป็นพระอรหันต์ อันนี้ก็ถือว่าถึงที่สุด แต่ว่าท่านที่ได้อภิญญาสมาบัติจริง ๆ หรือว่าได้ทิพจักขุญาณจริง ๆ ส่วนมากเขายึดจุดพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ


นี่สำหรับวันนี้ไม่มีอะไรหรอก ให้คติไว้แต่เพียงว่าข้อเปรียบเทียบเท่านั้น ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายที่ฝึกกรรมฐานไป จงอย่าหลงผิดคิดว่าเราดีเสียแล้ว ถ้าเราไปพบกับผู้ที่เขาได้มโนมยิทธิก็ดี ทิพจักขุญาณจริง ๆ ก็ดี แต่บังเอิญเราเข้าถึงอุปจารสมาธิ จงจำไว้ให้ดีนะว่าอุปจารสมาธิใช้กำลังจิตทันทีทันใดไม่ได้ จะต้องไปนั่งภาวนาพิจารณาจนกระทั่งอารมณ์จิตสบายจึงเข้าถึงอุปจารสมาธิ แต่ว่าภาพที่จะเห็นได้นั้นไม่ใช่ว่าตามใจตัวเอง เป็นภาพที่ลอยมาเฉย ๆ เป็นการบังเอิญ เหมือนกับเราเป็นง่อยหรือว่าเราเป็นคนสายตาสั้น เขาต้องมาให้เห็นหรือเขาต้องมาหาเรา จึงจะเห็นได้ หรือคุยกับเขาได้ ไม่เหมือนคนสายตายาว คือ ทิพจักขุญาณเหมือนคนสายตายาว สามารถจะมองไกลแสนไกลก็ได้ มองเมื่อไหร่ก็ได้ นี่เป็นจุดหนึ่งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ได้อภิญญาอย่าไปแตะต้องกับเขา นั่นเขายิ่งเก่งกว่า ดีกว่า แจ่มใสกว่าผู้ที่ได้ทิพจักขุญาณ


ฉะนั้น ขอบรรดาท่านทั้งหลาย ต่อจากนี้ไปจะแนะนำเรื่องการฝึกทิพจักขุญาณ และ มโนมยิทธิเป็นด้านของอภิญญา และก็ขอท่านทั้งหลายจงเข้าใจว่านับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เลิกการทะนงในจิตเสีย ถ้าเรายังดีไม่เท่าเขาหรือว่าเราดีเท่าเขาหรือว่าเราดีเกินกว่าเขา จงวางอารมณ์เสีย มันเป็นมานะ ถ้ามีความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าเรารู้ไม่จริงเห็นไม่จริง คนที่รู้ไม่จริงเห็นไม่จริงนี่สังเกตง่าย มักจะมีการทะนงตนถือความรู้สึกของตัวเองเป็นสำคัญ ใครเขาพูดอะไรมา ถามว่านั่นอุปาทานใช่ไหม การที่เห็นอาจจะเป็นภาพอุปาทาน เสียงที่ได้ยินเป็นอุปาทาน แต่ความจริง ถ้าจิตเข้าถึงทิพจักขุญาณแจ่มใสจริง ๆ ตามที่ผมพูดไม่มีสี หรือการถอดกายภายใจออกไปข้างนอก ที่เรียกกันว่า มโนมยิทธิประเภทนี้ ถ้าไปได้จริง ๆ คำว่าอุปาทานไม่มี แต่ว่ายังมีเหมือนกันบุคคลผู้หลงผิดมันไปไม่ได้ แต่เป็นจิตหลอน อย่างนี้มีอยู่


เอาละ ต่อไปนี้ขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู เวลาที่จะพูดมันก็หมดเสียแล้ว วันนี้ให้นัยไว้เท่านี้นะ จงอย่าลืม! อย่าทะนงตน เห็นคนอื่นเขาดีจงคิดว่าเขาทำอย่างไรจึงดี แล้วจึงทำตามเขา อย่าเอาอารมณ์แห่งโมหะเข้าไปผสมผสานทำตัวเป็นประธาน คือ ยึดยืดตัวคิดว่าเราเหนือเขาหรือดีกว่าเขา นั่นท่านจะจมปรก หมายความว่า จะไม่พบกับความดี วิชชาสามก็ดี อภิญญาก็ดี ทั้ง ๒ ประการนี้ หากว่าใครปฏิบัติได้ การบรรลุมรรคผลถึงขั้นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ จะทำได้รวดเร็วกว่าสุกขวิปัสสโกมาก ถือว่าเป็นกรรมฐานที่ไม่ใช่ประเภทนั่งหลับตาเดิน ขอโทษ ไม่ใช่นั่งหลับตา ไอ้นั่งน่ะมันเดินไม่ได้ ขั้นสุกขวิปัสสโกนี่ความจริงเขาเรียกกันว่า การบรรลุอรหันต์แบบง่าย ๆ แต่ทว่ากำลังใจของเราผู้ปฏิบัติเวลานี้ไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา


คำว่า " ไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา " ก็หมายความว่า พระวรกายขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะมานั่งพูดนั่งเทศน์ให้พวกเราฟังนั้นรู้สึกว่าไม่มีอยู่ แต่ว่าธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระบรมครูมี ยังมีครบถ้วนพอที่เราจะเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ได้ แต่ทว่าสุกขวิปัสสโกนี้เหมือนกับคนหลับตาแล้วเอาผ้าดำโพกตาเดิน มันไม่สามารถจะเปลื้องความสงสัยของตัวเองได้ ถ้าบังเอิญเราได้สองในวิชชาสาม คือ ทิพจักขุญาณ และ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้ญาณทั้ง ๒ ประการนี้ก็เหมือนคนลืมตาเดิน คนลืมตามองเห็นทาง ตอนนี้ผมยังไม่พูดว่าเดินนะขออภัย เหมือนคนลืมตามองเห็นทาง สามารถจะรู้ได้ว่าทางโน้นไปทางไหน ทางนี้ไปทางไหน จะเปลื้องความสงสัยในการตัดสังโยชน์ของเราได้แบบง่ายกว่าสุกขวิปัสสโก แต่ถ้าหากว่าเราได้อภิญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิญญาหกนี่รู้สึกว่าจะหนักไปเสียหน่อย ใช้เวลานาน เราใช้อภิญญาเล็กกัน คือ " มโนมยิทธิ " ถ้าเราสามารถทำมโนมยิทธิได้ สามารถถอด " อทิสสมานกาย " คือ กายจริง ๆ ของเราที่อยู่ข้างในนี้ไม่ใช่เปลือก ไอ้กายที่เห็นข้างนอกนี่มันเป็นกายเปลือก เอากายจริง ๆไปสู่สวรรค์ ไปสู่พรหมโลก ไปนรก ไปสู่แดนของเปรต สู่แดนของอสุรกาย หรือว่าถ้าจิตเข้าถึงโคตรภูญาณสามารถจะไปถึงพระนิพพานได้ แล้วก็ไปพบพระ พบเทวดา พบพรหม พบสัตว์นรก พบอะไรต่ออะไรก็ได้
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7866


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 5.0.375.99 Chrome 5.0.375.99


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2553 14:03:36 »

การฝึกอภิญญา ตอนที่ ๓


ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย และบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสมาทาน ขอให้ท่านตั้งใจสมาทานด้วยความจริงใจหรือว่าด้วยศรัทธาแท้ อย่าถือว่าเป็นประเพณี ถ้าขณะใดที่จิตของท่านทั้งหลายถือคำสมาทานเป็นประเพณี คำว่า สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีในท่าน หรือคำว่าสมณะย่อมไม่มีในท่าน




ทั้งนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าสักแต่ว่าพูด สักแต่ว่ากล่าว กล่าวตามประเพณี ถ้าเราถือกันจริง ๆ ถ้าเราถือกันจริง ๆ คำหนึ่งมีว่า " อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัจชามิ " ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอมอบกาย ถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้อยคำนี้จะเป็นจริงตามคำที่ท่านกล่าวหรือไม่ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายดู " อิทธิบาท ๔ " และ " บารมี ๑๐ " ทั้งสองประการนี้ประจำจิตของท่านอย่างมั่นคงหรือเปล่า


ถ้าว่าทั้งสองประการนี้ไม่มีอยู่ในใจของท่านหรือว่ามีแต่สักแต่ว่ามี มีอารมณ์บกพร่องอยู่บ้างหรืออยู่มาก ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทีนี้ขอให้ท่านทั้งหลายวัดใจของท่านแบบนี้ มรรคผลต่าง ๆ จะมีขึ้นมาได้ต้องอาศัย " อิทธิบาท ๔ " และ " บารมี ๑๐ " แต่ขาดเหตุทั้งสองประการทั้งหลายเหล่านี้แล้วท่านทั้งหลายจะไม่มีผลอะไรเลย

ฉะนั้น ขอทุกท่านจงตั้งใจรักษากำลังใจของท่านให้มั่นคงอยู่ใน " อิทธิบาท ๔ " และ " บารมี ๑๐ "


ถ้าหากว่าจิตของท่านมั่นคงจริง ๆ จะเป็นสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต ทั้ง ๔ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เกินวิสัยของท่าน แล้วก็จงอย่าถือเอาตนเองไปวัดกับใครว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา คิดว่าเราดีกว่าเขาก็เป็นการทะนงตัวเกินไป คิดว่าเราเสมอเขาก็รู้สึกว่าจะมีจิตหยาบเกินไป คิดว่าเราเลวกว่าเขาก็รู้สึกว่าจะทำลายความดีของตนมากเกินไป เป็นแต่เพียงคิดว่าถ้าเราสามารถทรงความดี ๒ ประการนี้ไว้ได้ เราก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถที่จะทำคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามาทำลายกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้ ข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ท่านทั้งหลายยังมีการลดหลั่นระหว่างการทรงกำลังใจเพราะด้วยเหตุนี้เป็นสำคัญ


วันนี้ก็จะขอพูดต่อเรื่อง " ทิพจักขุญาณ " ก็โปรดจำไว้ให้ดีนะว่าจะเป็นสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต ๔ อย่างนี้ใช้กำลังใจเสมอกัน ถ้าอารมณ์ใจของท่านอ่อนแอพลาดใน " อิทธิบาท ๔ " พลาดใน " บารมี ๑๐ " ผมขอพยากรณ์ไว้เลยว่าไม่มีทางได้อะไรเลย แม้แต่ฌานโลกีย์ก็จะไม่มีในจิตของท่าน เป็นอันว่า เมื่อคืนนี้มาพูดค้างไว้ในด้านทิพจักขุญาณ ว่ากำลังใจของเราเข้าถึงอุปจารสมาธิ สำหรับทิพจักขุญาณนี้อย่าลืมนะครับว่ามีแบบปฏิบัติอยู่มาก

สำหรับ" อาทิกัมมิกบุคคล " หมายความว่า คนไม่เคยได้มาในชาติก่อน เพิ่งเริ่มต้นในการกระทำ ตามแบบวิสุทธิมรรคท่านให้ใช้เตโชกสิณ อาโลกกสิณ หรือ โอทาตกสิณเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติให้เกิดทิพจักขุญาณ นี่ว่ากันตามแบบ ถ้าหากว่าตามแบบปฏิบัติก็ถือว่าเราจะใช้อะไรก็ได้มาเป็นกสิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเอาพระพุทธรูปมาเป็นกสิณเราก็ใช้ได้ ถ้าหากว่าเป็นคนที่เคยได้มาแล้วในชาติก่อน เพียงเป็นแต่สร้างอารมณ์จิตให้ถึงอุปจารสมาธิ ทิพจักขุญาณก็เกิด...

ทีนี้สำหรับแนวการปฏิบัติที่ผมแนะนำท่านว่าใช้คำภาวนาว่า


พุทธัง เมฆะนิมิต จิตตัง มะอะอุ
ธัมมัง เมฆะนิมิต จิตตัง อุอะมะ
สังฆัง เมฆะนิมิต จิตตัง อะมะอุ


ถ้าฟังอย่างนี้แล้วบางทีไปคุยกับใครเขา เขาก็จะคิดว่าผมสอนนอกลู่นอกทาง แต่ความจริง อันนี้เขาปฏิบัติกันได้ดีมามากและก็ปฏิบัติได้ผลมาแล้ว ก็เป็นอันว่า ถึงอนุสสติทั้ง ๓ ประการ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ แล้วเวลาที่ปฏิบัติต้องใช้อารมณ์เข้มแข็ง การใช้อารมณ์อ่อนแอนี่ไม่ได้ ต้องให้จิตจับภาพพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งไว้เป็นสำคัญ อย่างนี้เราผ่อนกันไม่ได้เลย กำลังใจจุดนี้จะต้องใช้เหมือนกันทั้งพวกฝึกวิชชาสาม อภิญญาหก และ ปฏิสัมภิทาญาณ ใช้กำลังเท่านกัน แม้แต่สายสุกขวิปัสสโกก็เช่นเดียวกัน ใจเสมอกัน แต่ว่าแยกวิธีปฏิบัติเพื่อความรู้พิเศษเท่านั้น


สมมติว่าท่านทั้งหลายสามารถทำใจเข้าถึงอุปจารสมาธิ คือ นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ทำอะไรก้๖ม จิตสามารถนึกถึงภาพพระที่ท่านกำหนดไว้ แต่ว่าภาพพระที่ท่านกำหนดไว้โปรดจำไว้ด้วยว่า บางทีเรากำหนดเป็นภาพพระนั่ง ดีไม่ดีนึกเห็นเป็นพระนอนไปเสียแล้ว ไม่ใช่วาดเอาเองนะ ต้องจิตนึกขึ้นมาแล้วเห็นภาพนั้นชัด ถ้าทางที่ดีก็น้อมเอาภาพพระนั้นมาไว้ในอกมันจะดีมาก บางทีเรานึกถึงภาพพระพุทธรูปไว้ พระพุทธรูปกลายเป็นพระสงฆ์ไปเสียแล้ว พระพุทธรูปนั่งกลายเป็นพระสงฆ์ยืน หรือพระสงฆ์นั่ง พระสงฆ์นอน อย่างนี้จงถือว่าใช้ไม่ได้ บางทีเรานึกถึงภาพพระสีเหลืองแต่กลายเป็นสีขาวไปเสียบ้าง เป็นสีคล้ำไปเสียบ้าง อะไรก็ตามใจท่าน ขอให้จิตมันจับไว้ได้ก็แล้วกัน







อันดับแรกนี่เราต้องการเรียกว่า วิปัสสนึก คือ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่นึกเห็นภาพได้ทันที อย่างนี้เขาเรียกว่าสร้างภาพขึ้นในอก ที่อย่างวัดปากน้ำภาษีเจริญที่บอกว่าให้สร้างดวงขึ้นในอกก็แบบเดียวกัน แต่ทีนี้ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสามารถจับเอาภาพพระเข้าไว้ในอกได้ นี่ต้องมีความเข้มแข็งนะ เพราะไอ้ตอนนี้เป็นเรื่องของอภิญญาแล้ว ผมจะไม่พูดแบบที่เรียนปฏิบัติกันมาตามก่อน ๆ ตามสายก่อน ๆ เอากันตรงไปตรงมาต้องให้ได้จริง ๆ เมื่อจิตของท่านสามารถจับภาพพระนี้ได้จริง ๆ จะนึกขึ้นมาเวลาไหนเห็นได้จริง ๆ ไม่ใช่ลอยมานะ อย่าลืม ภาพลอยนี่เขาไม่ใช้ นี่เราใช้กำลังใจของเราให้เป็นทิพย์

ทิพจักขุญาณ แปลว่า ผู้มีความรู้คล้ายตาทิพย์ ไม่ใช่เอาลูกตาไปเป็นทิพย์ มองภาพลอยไปลอยมาอันนี้ใช้ไม่ได้เลย อันนี้เมื่อเราจับภาพนี้ได้ ตอนนี้อารมณ์ทิพจักขุญาณก็เกิด อารมณ์จิตเริ่มเป็นทิพย์แต่ก็เกิดแบบมัว ๆ เพราะอะไร เพราะภาพพระที่เราเห็นน่ะมันชัดหรือไม่ชัด เพราะภาพพระที่เราจับน่ะมันเป็นเครื่องวัดกำลังใจของเราว่าจิตเราเป็นทิพย์แจ่มใสหรือไม่แจ่มใส
นี่แล้วเราอย่าเอาเข้าไปเทียบกับพวก " มโนมยิทธิ " เขานะ ทิพจักขุญาณนี่ใช้ได้ผลแต่จะให้คล่องแคล่วแจ่มใสเหมือน " มโนมยิทธิ " นี่ไม่ได้ กำลังยังอ่อนกว่ากันเป็น ๑๐๐ เท่า แต่ทว่ามีผล ผลที่จะพึงได้ คือ พิสูจน์คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทุกจุด ถ้าอารมณ์ของท่านเข้าถึงจุดนี้


อันดับแรกที่อารมณ์ของทิพจักขุญาณมันจะเกิด มันเกิดแบบนี้ก่อน คือว่า เราใช้อารมณ์จริง ๆ ยังไม่ได้ เพราะว่ากำลังจิตยังอ่อนอยู่ เมื่อเรานอนภาวนาไป สมมติว่ามีเรื่องอะไรที่มีการขัดข้องแล้วเราต้องการจะรู้ บันทึกไว้เขียนไว้ หรือนึกไว้ตอนกลางวันก็ได้ แต่อย่าให้เรื่องนั้นมันยุ่งยากนัก เอาเฉพาะจุด เวลาจะนอนเราก็ภาวนาเรื่อยไปจนหลับ ถ้าจับพระได้เป็นปกติ เวลาใกล้จะหลับเวลาครึ่งหลับครึ่งตื่นหรือว่าเวลาตื่น ๆ ไม่เต็มที่ ตอนนี้จะเกิดนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
คำว่า นิมิต นี่ผมไม่ได้หมายไม่เจาะจง อาจจะเห็นรูปวัว รูปควาย รูปม้า รูปช้าง สีขาว สีเขียว สีแดง คน อะไรก็ช่างเถอะ! ถ้าเกิดนิมิตอย่างนั้นเกิดขึ้น


แต่ว่าขอเตือนอีกนิดหนึ่งว่า ถ้าเราคิดว่าเราอยากจะรู้เรื่องอะไรก็ตั้งใจไว้เสียก่อนว่า เราต้องการรู้เรื่องนี้ เวลาที่ภาวนาต้องทิ้งอารมณ์นั้นทันที เอาจิตจับเฉพาะคำภาวนาหรือจับภาพพระ พร้อมกันนั้นก็จับลมหายใจเข้าออกไปด้วย ต้องทำให้ได้นะ อันนี้อย่าสักแต่ว่าไม่ได้ สักแต่ว่าทำได้บ้างไม่ได้บ้าง จับได้บ้างไม่ได้บ้าง อย่างโน้นพลาด อย่างนี้อยู่ไม่ได้แน่ นี่เป็นเรื่องจริงใจ


ในเมื่อภาพนิมิตเกิดขึ้นอารมณ์มันจะบอกทันที ว่านิมิตนี้บอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็บันทึกจดเอาไว้ มันจะตรงตามความเป็นจริง นี่หมายความว่าทิพจักขุญาณอย่างอ่อน แล้วถ้าเราไม่ทิ้งอารมณ์นั้น เราทรงอารมณ์ไว้เสมอ อารมณ์จิตเริ่มแจ่มใสขึ้น การจับพระทรงตัวคล่องขึ้น เห็นชัดขึ้น นึกเห็นน่ะไม่ใช่ว่าลอยมาเห็น พวกลอยมาเห็นนี่ใช้ไม่ได้นะ ผมไม่ให้คะแนนเลยเพราะว่าผมปฏิบัติมาแล้ว ผมรู้ว่าอะไรมันดีอะไรไม่ดี


คนที่จับภาพลอยนี่เป็นอารมณ์อุปาทาน ภาพลอยนั่นมันเป็นแต่เพียงจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ ไม่ได้เห็นสิ่งที่เป็นทิพย์ แต่ว่าถ้าไปจับคิดว่าเป็นทิพจักขุญาณก็เหลว ไม่ใช่น่ะ คนละเรื่อง นี่น่ะเฝือกันเสียมาก ไอ้เรื่องนี้


นี่หากว่าจิตมันจับอารมณ์มันดีขึ้น ทิพจักขุญาณสูงขึ้น ถ้าเราอยากจะรู้อะไรขึ้นมาเราก็นึกจับภาพพระนั้นก่อน อย่าลืมนะ อันนี้ทิ้งไม่ได้นะ! กำหนดจิตจับคำภาวนาจากภาพพระนั้นก่อน เมื่อเห็นภาพพระจะเป็นภาพพระอะไรก็ช่าง ให้เป็นภาพพระก็แล้วกัน แล้วก็สังเกตดูว่าเราเห็นแจ่มใสหรือไม่แจ่มใส การเห็นภาพพระชัดเจนแค่ใดเราก็เห็นภาพสิ่งที่เราต้องการชัดเจนเท่านั้น
สมมติว่าเราอยากจะรู้ว่านาย ก. คนนี้ตายแล้วไปอยู่ที่ไหน จงลืมความประพฤติเขาเสีย ความประพฤติในปัจจุบันหรือก่อนที่เขาจะตาย เขาทำอะไรทำดีทำชั่วอะไรอยู่ที่ไหน ทิ้งอารมณ์เสียให้หมด ถ้าไปเกาะอารมณ์นั้น นั่นแหละอุปาทานมันกิน


สมมติว่าเคยเห็นเขาลักเขาขโมยเขาปล้นเขายื้อแย่งฆ่าปลาฆ่าสัตว์ อารมณ์อย่างนี้นจะบอกตัวเอง อุปาทานบอกว่า นายคนี้จะต้องตกนรก นี่เป็นอุปาทานแน่ คิดว่านานย ก. ก็คือ นาย ก. และนาย ก. จะมีความประพฤติชั่วอะไรไม่สนใจ จับคำภาวนาให้จิตเป็นอุปจารสมาธิหรือเป็นฌาน ให้เป็นเอกัคคตารมณ์อารมณ์ทรงอยู่เสมอ อยู่อย่างเดียวคืออารมณ์ทรงไว้อย่างเดียว คำว่าอย่างเดียวในที่นี้หมายความว่าจับพระได้ จับภาพพระกับคำภาวนาและก็ลมหายใจเข้าออก เห็นภาพพระชัดเท่าไหร่ แล้วก็จงกำหนดไว้ว่า ข้าพเจ้าอยากจะรู้ว่านาย ก. ตอนนี้อยู่ที่ไหน เพียงเท่านี้แหละ ภาพนาย ก. ก็จะปรากฏชัดเจนเท่ากับภาพพระที่เราเห็น นี่เป็นวิธีฝึกใหม่ ๆ นะ


ถ้าหากว่าจิตเห็นเขา บังเอิญาเราเห็นเขาฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นคนเลว เมากินสุรายาเมา แต่ภาพนั้นกลายเป็นภาพนาย ก. เฉย ๆ เหมือนคนธรรมดาแก่หรือว่าเด็กหรือว่าหนุ่ม ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจงมีความรู้สึกว่า นั่นเป็นภาพเดิมที่นาย ก. แสดงให้เรารู้จัก ยังไม่ใช่ภาพแท้ในปัจจุบัน ต้องกำหนดจิตถามนาย ก. ว่า ( พูดกันด้วยใจนะ เอาใจพูดกัน ตอนนี้เริ่มเป็นทิพย์แล้ว )


ถามว่าปัจจุบันนี้นานย ก. อยู่ที่ไหน แล้วมีสภาพความจริงเป็นยังไง รูปร่างหน้าตา ภาพนาย ก. เดิมก็จะหายไป จะกลายเป็นภาพปัจจุบัน เขาอาจจะเป็นเทวดาก็ได้ เขาอาจจะเป็นพรหมก็ได้ ถ้าท่านจะถามว่าเป็นเทวดาหรือพรหมได้ยังไง ก็เพราะว่าเวลาก่อนที่เขาจะตายน่ะ ใจเขานึกอะไร ดูอย่าง ท่านสุปฏิฐิตเทพบุตร ท่านสร้างกรรมอันลามกทุกอย่างทุกประเภท แต่ว่าก่อนจะตายใจท่านนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชั่วขณะเดียว ท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก แล้วฟังพระพุทธเจ้าเทศน์อีกจบเดียวก็ได้พระโสดาบัน


ฉะนั้น ก่อนที่อยากจะรู้อะไร อย่าไปสืบประวัติเดิมเขา ไม่ต้องไปสืบ ถ้าขืนสืบอุปาทานมันกิน มันกินตรงไหน นึกถึงภาพเขาฆ่าสัตว์ เราก็นึกว่านาย ก. นี่ต้องลงนรกล่ะ ทีนี้ภาพสัตว์นรกมันก็เกิดน่ะซิ อย่างนี้เขาเรียก " อุปาทาน " จำไว้ให้ดีนะ ว่าคำว่าอุปาทานน่ะใช้กันเฟ้อมาก ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอุปาทาน ถ้าหากว่านาย ก. ลงนรก เราจะเห็นภาพนาย ก. อยู่ในนรก มีโทษประการใด ไฟเผา สรรพาวุธสับฟัน หรือตะกายต้นงิ้ว แย่ก ๆ ๆ หรือว่าตกอยู่ในกระทะทองแดง เราจะเห็นชัดเท่ากับที่เราเห็นภาพพระ นี่ผมถือว่าเป็นอันดับต้น


แต่ทว่าการเห็นอันดับแรกนี่ หากว่าจิตเราทรงฌานไม่ดี บางทีพอนึกจะถาม ภาพนั้นมันหายไปเสียแล้ว พอภาพนั้นหายไป เราก็ตั้งท่าใหม่นึกถึงอารมณ์นั้นจับอารมณ์เดิม พออารมณ์ทรงตัวภาพนั้นก็จะเกิด พอถามคำหนึ่งภาพหายไปเสียอีก นี่เป็นวิธีฝึก แต่ว่าการฝึกนี่ไม่แน่นะ บางคนก็ปรี้ดปร้าดได้ถึงจุดปลายทางเลย นี่ผมพูดตามลักษณะที่จะเกิด ทีนี้ทำยังไง เราจะพูดกันได้ล่ะ ต้องหัดตั้งเวลาที่ผมเคยบอกท่านไว้ว่าตั้งเวลานี่ทำยังไง เวลานี่ใช้แบบง่าย ๆ เอาลูกประคำมาชัก ๑๐๘ ลูก คือ ๑๐๘ จบที่ภาวนา ตอนนี้จับภาพพระไปด้วยใน ๑๐๘ จบนี่เราจะไม่ยอมให้จิตคิดถึงเรื่องอะไรทั้งหมด ถ้ายังไม่ครบ ๑๐๘ จบ ถ้ามันคิดขึ้นมาก่อนมีอารมณ์แทรก ก็เริ่มต้นมันใหม่ ใช้อิทธิบาทเข้าหั่นมันล่ะทีนี้ ใช้อิทธิบาทกับบารมี ๑๐ เข้าหั่น


โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิบาท " ฉันทะ " พอใจ " วิริยะ " เพียรต่อสู้กับอุปสรรค " จิตตะ " เอาจิตเข้าจดจ่อในเหตุนั้น " วิมังสา " ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญไปด้วย ว่าเราภาวนาถูก ภาวนาจบหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ต้องใช้อะไรมาก เราว่ากันถึงฌาน ให้ทรงอารมณ์ให้ ๑๐๘ ใช้อารมณ์เท่าไหร่ แสดงว่าเราทรงสมาธิได้เวลาเท่านั้น เราก็สามารถจะพูดกับผีเทวดา หรือ พรหมเท่าเวลาที่เราเคยทรงไว้ นี่เป็นอันดับต้น และก็ในอันดับต้นนี้จะมีลักษณะแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ เวลานั่งอยู่ คุยอยู่ ทำอะไรอยู่โดยไม่ได้คิดภาวนาเลย แต่จิตเวลานั้นมันจะตกไปอยู่ถึงอุปจารสมาธิพอดี จิตจะมีความรู้สึกว่าเหตุอย่างนั้นเหตุอย่างนี้จะปรากฏ เอ๊ะ! หรือว่าเป็นภาพปรากฏแต่จิต รู้ว่าภาพนี้เป็นเหตุอันนั้นอันนี้ อันนี้ต้องเชื่อทันทีและห้ามคิดห้ามไตร่ตรอง ห้ามใคร่ครวญเอามาแก้ไข หรือว่าถ้าจิตมันพลาดเลยไปจากนั้นแล้วอารมณ์มันไม่ใช่ทิพย์ ไปใคร่ครวญแก้ไขพิจารณามันก็ไม่ถูก


นี่อีกประการหนึ่ง บางทีกำลังคุยกับเพื่อน อ่านหนังสือหรือทำงานอยู่มันง่วงนอน ง่วงนอนทนไม่ไหว นั่นแสดงว่าเทวดาหรือพรหมหรือว่าพระท่านจะบอกอะไรแล้ว ก็มันทนไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องไปนอน พอล้มตัวนอนพั๊บ ภาพนิมิตเกิดจิตบอกทันทีว่าอะไรมันจะมีมา แล้วก็เท่านั้นแหละ อาการง่วงมันจะหายไป แล้วเราก็ต้องเชื่อทันทีว่านี่เหตุนั้นมันจะพึงบังเกิด นี่ว่ากันถึงตอนต้น ๆ นะ อันนี้เราพูดกันละเอียด ๆ หน่อย เพราะว่าจะพูดกันด้านอภิญญาเลยทีเดียวนี่ ผมก็ไม่จำเป็นต้องพูดเพราะใช้กำลังเท่ากัน ไอ้เราก็พูดไว้ทั้ง ๒ อย่างเพราะบางท่านก็มีกำลังใจถึงขั้นมโนมยิทธิเกือบอภิญญา บางท่านมีกำลังใจไม่ถึง แต่ทว่าถ้าใช้กำลังใจแบบนี้แล้วก็ไปฝึกมโนมยิทธิด้วยก็กล้วยเลย

นี่ผมพูดถึงว่าการภาวนาว่า " พุทธัง เมฆนิมิต จิตตัง " แต่บังเอิญท่านไม่เอาอย่างนั้น ท่านไปล่อ " นะมะ พะธะ " เข้ามีหวังใช้ได้เลย แต่ทว่าถ้าจิตเข้าถึงระดับนี้ กำลังจะเริ่มขยับ ๆ มันเรียกว่า " อภิญญา " ยังไม่บินนะ ทำเริ่มไหวตัวนิด ๆ เหมือนกับต้นไม้ที่ถูกลมหน่อย ๆ ทีนี้กำลังจิตของท่านเป็นกำลังจิตของฌาน คำว่า ฌานนี่ผมจะไม่อธิบาย ผมพูดมาจนเหนื่อยแล้ว จิตของฌานอารมณ์มันทรงตัว ผมไม่พูดถึงอุปจารสมาธิเบื้องสูง


พออารมณ์มันทรงตัวขึ้นมาหมดความรำคาญ ใจสบาย จับภาพพระได้นานภาพพระแจ่มใสขึ้น แบบนี้เราไม่ต้องไปฝึกแบบกสิณ และก็สามารถจับภาพพระได้สัก ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาที ใสชัดขึ้นกว่าเก่า ตอนนี้เราก็ต้องทำให้คล่อง ทางที่ดีเวลาเช้ามืดตื่นขึ้นมา ต้องพยายามเช้ามืดนี่มีเวลาที่มีความสำคัญมาก เพราะตอนหัวค่ำนี่เราเหนื่อยมาตลอดวัน มีภาระ ถึงแม้ว่าไม่มีภาระอะไรอยู่อย่างอื่นมากไม่แบกไม่หาม เราก็ต้องทำโน่นทำนี่ คุยกับคนนั้นคนนี้มีภารกิจ อ่านหนังสือหนังหาจิตใจมันก็เหนื่อยเหมือนกัน ประสาทมันเหนื่อย


ฌานนี่ต้องอาศัยกำลังกายเป็นสำคัญนะ อย่าลืม ถ้าหากว่าร่างกายของเรามันทรุดด้านประสาทมันทรุดไปนิดเดียว บางทีเราไม่รู้สึกตัวว่ามันทรุด เห็นมันยังดี ๆ อยู่ แต่อารมณ์มันมัวไปเสียแล้ว นี่ต้องรู้ไว้ด้วยนะ!


แล้วก็ประการที่สอง สำหรับพระ สามเณร พระเป็นอาบัติมันก็มัว ถ้าไม่มีอาบัติมันไม่มัว อันนี้เราจับตัวของเราได้ดี มันจะต้องระมัดระวังเรื่องอาบัติ ถ้าอาบัติใหญ่ล่ะก็พังไปเลย อย่างสังฆาทิเสสนี่ไม่มีหวัง สังฆาทิเสสหรือปาราชิกนี่หมดหวังไปเลย ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ไปถึงปาจิตตีย์นี่มันเริ่มมัว ถ้าเป็นการป้องกันไว้ละก็ เวลาก่อนที่จะสมาทานเรานั่งอยู่กับเพื่อนกัน เราก็บอกว่า วันนี้เราตรวจจิตดูซิ ตั้งแต่ตอนเช้าถึงตอนนี้จิตอารมณืเรามันเสียจุดไหนบ้างในด้านของอาบัติ


ถ้ามันเสียเราก็บอกเพื่อนพระ บอกวันนี้จิตผมมัวหมองไปเสียแล้ว ผมเลวไปเสียหน่อยไปละเมิดจุดนั้นจุดนี้เข้า ผมจะพยายามตั้งใจจะไม่ทำอย่างนี้อีก จะไม่พูดอย่างนี้อีก จะไม่คิดอย่างนี้อีก บอกเขาตรง ๆ เป็นภาษาไทย ๆ นั่นแหละ แม้ว่าใจของเราคิดว่าจะระมัดระวังไม่ยอมให้อาการอย่างนี้ที่มันเป็นอาบัติเกิดขึ้น จิตทรงตัวไว้แต่ถ้าเรายังไม่ได้ฌานสมาบัติจริง ๆ มันอดเผลอไม่ได้เป็นของธรรมดา อันนี้ผมไม่ตำหนิแต่ขอให้ท่านตำหนิตัวของท่านเองไว้ว่า เราไม่ยอมพลาดเรื่องอาบัติ






ถ้าวันไหนอาบัติไม่กินวันนั้นแจ่มใส วันไหนไม่เพลียวันนั้นแจ่มใส วันไหนร่างกายไม่ทุพพลภาพหมายความด้านประสาททรงตัว วันนั้นก็แจ่มใส

นี่เวลาเช้ามืดจับภาพพระด้วยคำภาวนาด้วยลมหายใจเข้าออกด้วย ยังไม่ต้องการรู้อะไรทั้งหมด ไอ้การจับภาพใช้คำภาวนากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกให้มันทรงให้ดี ให้ทรงตัวดีจริง ๆ เมื่อทรงตัวดีจริง ๆ บังเอิญมันสว่างเสียก่อนถึงเวลาบิณฑบาต เอ้า! ก็ไม่ต้องรู้อะไรมันถ้าจิตมันทรงตัวดีจริง ๆ ภาพพระแจ่มใสตามกำลังที่เราพึงได้ อย่างนี้จิตสบายเป็นเอกัคคตารมณ์มีอารมณ์แนบแน่น

พอใกล้เวลาที่ต้องออกบิณฑบาต ก็นึกน้อมจิตนึกไปว่า เอ๊ะ! วันนี้ตั้งแต่เช้ายันค่ำ จะมีอะไรมาผ่านเราบ้างหรือเปล่า อารมณ์ที่ถูกใจหรืออารมณ์ที่ไม่ถูกใจมีใครบ้างหนอ ผู้ชายกี่คนผู้หญิงกี่คนที่มาทำให้เราไม่สบายใจ หรือทำให้เราสบายใจ หรือว่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้น จิตมันก็จะบอกนี่เรียกว่าใช้จิตกันก่อนนะ


แต่เนื้อแท้จริง ๆ เขาไม่ใช้จิตนะ ใช้จิตน่ะซวย เขาเอาจิตนึกถึงภาพพระ ถามภาพพระว่าวันนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วอารมณ์ของจิตนั่นแหละมันจะบอกขึ้นมาเอง ถ้าพระท่านบอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้แล้วก็จดไว้ ถ้าจับภาพพระนิมิตแล้วอารมณ์จิตมันก็บอกเข้ามาเองแล้วก็จดไว้ ผมรับรองเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีอะไรผิด


เป็นอันว่า ขอบรรดาท่านทั้งหลายที่มีความประสงค์จะพึงให้ได้ทิพจักขุญาณ นั่นก็คือ ขอให้ท่านทั้งหลายจงใช้กำลังใจของท่านให้มั่นคง เรื่องความมั่นคงของจิตนี่มีความสำคัญมาก เพราะว่าการรักษากำลังใจึงแม้ว่าจะฝึกแบบไหนทั้งหมด ก็มีผลเสมอกัน ตามที่กล่าวมาแล้ว ก็หมายถึงว่ากำลังใจของท่านเข้าสู่อุปจารสมาธิหรือว่าอุปจารฌาน ความจริงทิพจักขุญาณนี่สามารถจะใช้กำลังจิตได้ตั้งแต่อุปจารสมาธิ แต่ทว่าไม่สามารถจะพูดกับเทวดาหรือพรหมหรือว่าใครต่อใครได้ตามอัธยาศัย
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
คำค้น: การฝึก อภิญญา ฝึกอภิญญา จิต อภิญญาจิต หลวงพ่อ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.611 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 20 ธันวาคม 2567 02:45:23