ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๓.สัมมาวาจา ๔.สัมมากัมมันตะ ๕.สัมมาอาชีวะ) ๕.
องค์มรรคขั้นศีลสอนว่า ความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานที่สุดของบุคคลแต่ละคน ก็คือ ความรับผิดชอบต่อตนเอง ในการที่จะไม่ให้มีความคิดที่จะทำความชั่วด้วยการเบียดเบียนหรือล่วงละเมิดต่อผู้อื่น อยู่ในจิตใจของตนเลย เมื่อมีความบริสุทธิ์นี้รองรับอยู่เป็นเบื้องต้นแล้ว ความรับผิดชอบนั้น จึงขยายกว้างออกไปถึงขั้นเป็นการธำรงรักษาและเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้า แห่งคุณธรรมของตน ด้วยการขวนขวายทำความดี บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่คนอื่นๆ พูดสั้นๆ ว่า มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ในการที่จะละเว้นความชั่ว และรับผิดชอบต่อผู้อื่น ในการที่จะทำความดีแก่เขา ๖. การกำหนดความหมายของศีลในแง่ละเว้นความชั่ว เป็นการกำหนดข้อปฏิบัติอย่างกว้างขวางที่สุด คือเพ่งเล็งไปที่ความชั่ว ย้ำถึงเจตจำนง
ที่ไม่มีเชื้อแห่งความชั่วเหลืออยู่เลย ส่วนในฝ่ายความดี เป็นเรื่องที่จะพึงขยายออกไปได้อย่างไม่มีเขตจำกัด จึงไม่ระบุไว้
ตามความเป็นจริง ความดีเป็นเรื่องกว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด มีรายละเอียด แนวทาง และวิธีการ ยักเยื้องไปได้มากมาย
ตามฐานะและโอกาสต่างๆ ส่วนความชั่วที่จะต้องเว้น เป็นเรื่องแน่นอนตายตัว เช่น ทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ ควรละเว้นการพูดเท็จด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่โอกาสและวิธีการที่จะทำความดีที่ตรงข้ามกับการพูดเท็จนั้นต่างกัน
การวางหลักกลาง จึงระบุแต่ฝ่ายเว้นชั่วไว้เป็นเกณฑ์ ส่วนรายละเอียด และวิธีการกระทำในขั้นบำเพ็ญความดี เป็นเรื่องในขั้นประยุกต์ให้เหมาะสมกับฐานะ โอกาส และสภาพชีวิตของบุคคลต่อไป
๗. การปฏิบัติตาม
องค์มรรคทุกข้อ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนในการที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ดังนั้น องค์มรรคแต่ละข้อ
จะต้องเป็นหลักกลางๆ ที่ทุกคนปฏิบัติตามได้ ไม่จำกัดด้วยฐานะ กาลสมัย ท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อมจำเพาะอย่าง เช่น การเว้น
อทินนาทาน เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ แต่การให้
ทานต้องอาศัย
ปัจจัยอื่นประกอบ เช่น
ตนมีสิ่งที่จะให้ มีผู้ที่จะรับ และเขาควรได้รับ เป็นต้น
ในกรณีที่ไม่อยู่ในฐานะและโอกาส เป็นต้น ที่จะให้
เจตนาที่ปราศจากอทินนาทาน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ เป็นพื้นฐานแก่สมาธิได้แล้ว แต่ในกรณีที่อยู่ในฐานะและโอกาส เป็นต้น ที่จะให้ การไม่ใส่ใจหรือหวงแหน จึงจะเกิดเป็นความเศร้าหมองขุ่นมัวแก่จิตใจ และการให้จึงจะเป็นเครื่องส่งเสริมคุณธรรมของตนให้มากยิ่งขึ้น โดยนัยนี้ ความหมายหลัก จึงอยู่ในรูปเป็นคำปฏิเสธ คือ การละเว้นหรือปราศจากความชั่ว ส่วนความหมายที่ขยายออกไปในฝ่ายทำความดีจึงเป็นเรื่องของการประยุกต์ดังกล่าวแล้ว
๘.
ในทางปฏิบัติ เมื่อพิจารณาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมกำลังบำเพ็ญคุณธรรมความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือประเภทใดประเภทหนึ่งอยู่เป็นพิเศษ ในเวลาเช่นนั้นเขาย่อมจะต้องพุ่งความคิดความสนใจจำเพาะเจาะจงลงในสิ่งที่ปฏิบัตินั้น ในกรณีเช่นนี้ ความรับผิดชอบของเขาต่อความประพฤติด้านอื่นๆ ย่อมมีเพียงเป็นส่วนประกอบ
คือเพียงไม่ให้เกิดความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งหรือความเสียหายด้านอื่นขึ้นมา เป็นสำคัญ ประโยชน์ที่ต้องการจากศีล ในกรณีเช่นนี้ จึงได้แก่การช่วยควบคุมรักษาความประพฤติในด้านอื่นๆ ของเขาไว้
ป้องกันไม่ให้เสียหลักพลาดลงไปในความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้มีพื้นฐานที่มั่นคง สามารถบำเพ็ญความดีที่เป็นเรื่องจำเพาะในขณะนั้นๆ ได้โดยสมบูรณ์ความแตกต่างระหว่างศีล ในพระพุทธศาสนา
กับศาสนาเทวนิยม
อนึ่ง มีข้อสังเกตบางอย่างที่ควรทราบ เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศีลในพระพุทธศาสนา กับศีลในศาสนาเทวนิยม (
รวมถึงเรื่องกรรม ความดี ความชั่ว) ดังนี้
๑. ในพุทธธรรม ศีลเป็นหลักความประพฤติ
ที่กำหนดขึ้นตามหลักเหตุผลของกฎธรรมชาติ ส่วนในศาสนาเทวนิยม ศีลเป็น
เทวโองการ ที่กำหนดขึ้นโดย
เทวประสงค์ ๒. ในแง่ปฏิเสธ ศีลในความหมายของพุทธธรรม เป็นหลักการฝึกตนในการเว้นจากความชั่ว จึงเรียกศีลที่กำหนดเป็นข้อๆ ว่า
สิกขาบท (ข้อฝึก-training rule) ส่วนศีลในศาสนาเทวนิยม เป็นข้อห้าม หรือคำสั่งห้ามจากเบื้องบน(divine commandment)
๓. แรงจูงใจที่ต้องการในการปฏิบัติตามศีลแบบพุทธธรรม ได้แก่
อาการวตีศรัทธา คือ ความมั่นใจ (confidence) ในกฎแห่งกรรม โดยมีความเข้าใจพื้นฐาน มองเห็นเหตุผลว่าพฤติกรรมและผลของมันจะต้องเป็นไป
ตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัย ส่วนแรงจูงใจที่ต้องการในการปฏิบัติตามศีลของศาสนาเทวนิยม ได้แก่
ศรัทธาแบบภักดี (faith) คือ เชื่อ ยอมรับ และทำตามสิ่งใดๆ ก็ตามที่
กำหนดว่าเป็นเทวประสงค์ มอบความไว้วางใจให้โดยสิ้นเชิง ไม่ต้องถามหาเหตุผล
๔. ในพุทธธรรม การรักษาศีลตามความหมายที่ถูกต้อง ก็คือ
การฝึกตน ในทางความประพฤติ เริ่มแต่เจตนาที่จะละเว้นความชั่วอย่างนั้นๆ จนถึงประพฤติความดีงามต่างๆ ที่ตรงข้ามกับความชั่วนั้นๆ ส่วนในศาสนา
เทวนิยม การรักษาศีล ก็คือ การเชื่อฟัง และปฏิบัติตาม
เทวโองการโดยเคร่งครัด
๕. ในพุทธธรรม การประพฤติปฏิบัติในขั้นศีล นอกจากให้เกิดการอยู่ร่วมสังคมที่เกื้อกูลไม่เบียดเบียนกันแล้ว มี
วัตถุประสงค์เฉพาะ คือ เพื่อเป็น
บาทฐานของสมาธิ กล่าวคือ เป็นระบบการฝึกอบรมบุคคลให้มีความพร้อมและความสามารถที่จะใช้
กำลังงานของจิตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ในทางที่จะก่อให้
เกิดปัญญาและนำไปสู่ความหลุดพ้น หรืออิสรภาพสมบูรณ์ในที่สุด ส่วนการไปสวรรค์เป็นต้น เป็นเพียงผลพลอยได้ของ
วิถีแห่งความประพฤติโดยทั่วไป
แต่ในศาสนาเทวนิยม การประพฤติศีลตามเทวโองการ
เป็นเหตุให้ได้รับความโปรดปรานจากเบื้องบน เป็นการประพฤติถูกต้อง
ตามเทวประสงค์ และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงประทานรางวัลด้วยการส่งไปเกิดในสวรรค์
๖. ในพุทธธรรม ผลดีหรือผลร้ายของการประพฤติหรือไม่ประพฤติศีล
เป็นสิ่งที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ คือ เป็นเรื่องการทำงานอย่างเที่ยงธรรมเป็นกลางของกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า
กฎแห่งกรรม การให้
ผลนี้
แสดงออกตั้งต้น ตั้งแต่จิตใจ กว้างออกไปจนถึงบุคลิกภาพ และวิถีชีวิตทั่วไปของบุคคลผู้นั้น ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า ส่วนในศาสนาเทวนิยม ผลดีผลร้ายของการประพฤติตามหรือการละเมิดศีล (
เทวโองการ) เป็นเรื่องของการ
ให้ผลตอบแทน (retribution) ผลดีคือการได้ไปเกิด
ในสวรรค์ เป็นฝ่ายรางวัล (reward) ส่วนผลร้ายคือไป
เกิดใน
นรก เป็นฝ่าย
การลงโทษ (punishment) การจะได้ผลดีหรือผลร้ายนั้นย่อมสุดแต่การพิพากษา หรือ
วินิจฉัยโทษ (judgment) ของเบื้องบน
๗. ในแง่ความเข้าใจเกี่ยวกับความดีความชั่ว ทางฝ่าย
พุทธธรรมสอนว่า ความดี เป็นคุณค่าที่รักษาและส่งเสริม
คุณภาพของจิต ทำให้จิตใจสะอาดผ่องใสบริสุทธิ์ หรือยกระดับให้สูงขึ้น จึงเรียกว่าบุญ (good, moral หรือ meritorious) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่จิตใจ เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นหรืออิสรภาพทั้งทางจิตใจและทางปัญญา เป็นการกระทำที่ฉลาด ดำเนินตามวิถีแห่งปัญญา เอื้อแก่สุขภาพจิต จึงเรียกว่า กุศล (skilful หรือ wholesome) ส่วนความชั่ว เป็นสภาพที่ทำให้คุณภาพของจิตเสื่อมเสีย หรือทำให้ตกต่ำลง จึงเรียกว่า
บาป (evil) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่ชีวิตจิตใจ ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น เป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด ไม่เอื้อแก่สุขภาพจิต จึงเรียกว่า
อกุศล (unskilful หรือ unwholesome) ส่วนในศาสนา
เทวนิยม ความดีความชั่ว
กำหนดด้วยศรัทธาแบบภักดีต่อองค์เทวะเป็น
มูลฐาน คือเอาการเชื่อฟังยอมรับและปฏิบัติตามเทวประสงค์และเทวบัญชาหรือไม่
เป็นหลัก โดยเฉพาะ
ความชั่ว/บาป หมายถึงการผิดหรือล่วงละเมิดต่อองค์เทวะ (
sin) ในรูปใดรูปหนึ่ง
๘. จาก
พื้นฐานที่แตกต่างกันนี้ ทำให้เกิดความแตกต่างกันต่อไปอีกอย่างน้อย ๒ ประการ คือ
ก) ศีลใน
พุทธธรรม จึงต้องเป็นคำสอนที่ต่อเนื่องกันตามเหตุผลเป็นระบบจริยธรรม เพราะผู้ปฏิบัติจะประพฤติได้ถูกต้องต่อเมื่อมีความเข้าใจในระบบและเหตุผลที่เกี่ยวข้องเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย
ส่วนศีลหรือจริยธรรมทั่วไปในศาสนา
เทวนิยม ย่อมเป็นประกาศเทวโองการ หรือคำแถลงเทวประสงค์เป็นเรื่องๆ ข้อๆ ต่างๆ กันไป แม้นำมารวบรวมไว้ก็ย่อมเรียกว่า “
ประมวล” ไม่ใช่
ระบบ เพราะผู้ปฏิบัติต้องการความเข้าใจอย่างมากก็
เฉพาะในความหมายของสิ่งที่จะต้องปฏิบัติเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเข้าใจในระบบและเหตุผลที่เกี่ยวข้อง
เพราะถือว่าระบบและเหตุผลต่างๆ ทั้งปวงอยู่ในพระปรีชาขององค์เทวะหมดสิ้นแล้ว อันผู้ปฏิบัติไม่พึงสงสัย เพียงแต่เชื่อฟัง มอบความไว้วางใจ และปฏิบัติตามเทวโองการเท่านั้นเป็นพอ ข)
ศีลหรือระบบจริยธรรมแบบ
พุทธ เป็น
หลักกลางๆ และเป็นสากล กำหนดโดยข้อเท็จจริงตาม
กฎธรรมชาติ (
หมายถึงสารัตถะของศีลในฝ่ายธรรมอันเกี่ยวด้วยบุญบาป ไม่ใช่ในความหมายฝ่ายวินัย อันเกี่ยวด้วยการลงโทษ) เช่น พิจารณาผลหรือปฏิกิริยา
ที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของจิต ผลต่อพฤติกรรม นิสัย และบุคลิกภาพ เป็นต้น จึงไม่อาจวางข้อจำกัดที่เป็นการแบ่งแยกเพื่อผลประโยชน์เฉพาะพวก เฉพาะกลุ่ม หรือเอาความพอใจของตนเป็นเครื่องวัดได้ ไม่จำกัดว่า คนศาสนานี้เท่านั้นมีกรุณาจึงเป็นคนดี คนศาสนาอื่นมีกรุณาก็เป็นคนดีไม่ได้ ฆ่าคนศาสนานี้เท่านั้นเป็นบาป ฆ่าคนศาสนาอื่นไม่บาป คนศาสนานี้เท่านั้นให้ทานไปสวรรค์ได้ คนศาสนาอื่นประพฤติอย่างไรไม่เชื่อฉันเสียอย่างเดียวตกนรกหมด ฆ่าสัตว์ไม่บาปเพราะสัตว์ (รวมทั้งที่ไม่เป็นอาหาร-) เป็นอาหารของคน (เพราะคนไม่เป็นอาหารของเสือและสิงโต-) ดังนี้เป็นต้น
จะมีการจำกัดแบ่งแยกได้ เช่นว่าบาปมากบาปน้อยเป็นต้นอย่างไร
ก็เป็นไปโดยข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติ เช่น พิจารณาผลและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของจิต เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว ส่วนในศาสนา
เทวนิยม หลักเหล่านี้ย่อม
กำหนดให้
จำกัดหรือ
ขยายตามเทวประสงค์อย่างไรก็ได้
ดุจเป็นวินัยบัญญัติ หรือ
นิติบัญญัติ เพราะองค์เทวะทรงเป็นทั้งผู้ตรากฎหมาย
และผู้พิพากษาเอง
๙. เนื่องจากศีลเป็นหลักกลางๆ กำหนดด้วยข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติ
ตามแนวพุทธธรรม จึงต้องเป็นผู้กล้ายอมรับและกล้าเผชิญหน้าความจริง ความดี ชั่ว ถูก ผิด มีอยู่ เป็นข้อเท็จจริงอย่างไร ก็ต้องกล้ายอมรับความจริงตามที่เป็นเช่นนั้น ส่วนตนจะปฏิบัติหรือไม่แค่ไหนเพียงไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และต้องกล้ายอมรับการที่ตนปฏิบัติดีไม่ดีตามข้อเท็จจริงนั้น มิใช่ถือว่าไม่ชั่ว เพราะตัวอยากทำสิ่งนั้น ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ มิได้ขึ้นต่อการวัดด้วยการอยากทำหรือไม่ของตน ถ้ามีอันถึงกับจะทำกรรมที่ให้ตกนรกสักอย่างหนึ่ง การที่ยอมรับพูดกับตนเองว่า กรรมนั้นไม่ดี แต่ตนยอมเสียสละตกนรก ยังดีกว่าหลอกตัวเองว่ากรรมนั้นไม่เป็น
กรรมชั่ว มีสิ่งที่อาจถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ ของ
ศีลแบบเทวโองการ คือ
๑.
ตัดการพิจารณาเรื่องถูก-ผิด จริง-ไม่จริง ออกเสีย กล่าวได้ว่า เมื่อเชื่อเสียแล้ว ศรัทธาล้วนแบบภักดี ย่อมได้ผลในทางปฏิบัติ
ที่รวดเร็วเร่งเร้าและเข้มแข็งหรือรุนแรงกว่า แต่จะเกิดปัญหาขึ้นต่อไป โดยเฉพาะในยุคแห่งเหตุผลว่า ทำอย่างไรจึงจะให้เชื่อได้ และปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่ไม่ศรัทธาเหมือนตน ปัญหาเรื่อง
ความมั่นคงของศรัทธานั้น และการไม่มี
โอกาสเข้าถึงอิสรภาพทางปัญญา (บางข้ออาจไม่ต้องพิจารณา ถ้ามนุษย์ต้องการมีชีวิตอยู่เพียงเป็น
สัตว์สังคมที่แยกกันอยู่เป็นกลุ่มๆ)
๒. สำหรับ
สามัญชนทั่วไป
ย่อมเข้าถึงความหมายของศีลตามแบบศรัทธาล้วนได้ง่ายกว่า และศีลแบบนี้ก็ควบคุมความประพฤติของคนสามัญได้เป็นอย่างดี ดังนั้น แม้ในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อย ความเข้าใจในเรื่องบุญบาปจึงยังคงมีส่วนที่คล้ายกับ
ศาสนาเทวนิยมแฝงอยู่ด้วย เช่น เห็นศีล เป็นข้อห้าม (
แต่ลางเลือนว่าใครเป็นผู้ห้าม) เห็น
ผลของบุญบาปเป็นอย่าง
ผลตอบแทน เป็นรางวัลหรือการลงโทษ เป็นต้น แต่ปัญหาก็คงเป็นอย่างเดียวกับข้อ ๑ คือ
ทำอย่างไรจะให้เชื่อกันอยู่ได้ตลอดไป ๓. การ
บัญญัติกรรมไม่ดีบางอย่าง
ที่เห็นว่ายังจำเป็นต้องทำ เพื่อผลประโยชน์บางอย่างของตน ให้เป็นกรรมที่ไม่ผิดไปเสีย จัดเป็นวิธีจูงใจตัวเองได้อย่างหนึ่ง พุทธธรรมยอมรับว่า วิธีจูงใจตนเองนั้น เป็นสิ่งที่
ได้ผลมากอย่างหนึ่ง เพราะเป็น
เหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในเรื่องนั้นๆ เช่น
บัญญัติว่าฆ่าสัตว์ไม่บาป ก็ทำให้เบาใจและไม่รู้สึกสะกิดใจในการฆ่าสัตว์ แต่การจูงใจแบบนี้ทำให้
เกิดผลร้ายในด้านอื่น และไม่เป็น
วิถีทางแห่งปัญญา พุทธธรรมนิยมให้
เป็นอยู่ด้วยการรับรู้ความเป็นจริงจะแจ้งในทุกขั้นทุกตอน ให้รู้จักเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง พุทธธรรมสอนให้ใช้วิธีจูงใจตนเองบ้างเหมือนกัน แต่สอนโดยให้ผู้นั้นรู้เข้าใจในเรื่องที่จะใช้จูงใจนั้นตามข้อเท็จจริงแล้วให้นำไปใช้ด้วยตนเอง เรื่องที่ใช้จูงใจนั้นต้องไม่มีแง่ที่เสียหาย และให้ใช้เฉพาะในกรณีที่ช่วยเป็น
พลังในการทำความดีอย่างอื่นให้ได้
ผลยิ่งขึ้น