[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
23 พฤศจิกายน 2567 12:21:08 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เที่ยวดอยปุย จ.เชียงใหม่ และเรื่องน่ารู้ ประเพณี วัฒนธรรม ของชาวเขาเผ่าม้ง  (อ่าน 4592 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5764


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 มกราคม 2556 14:47:01 »

.


เที่ยว ดอยปุย
อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ดอยปุย มีพื้นที่ประมาณ ๑๖๓,๑๖๒.๕๐ ไร่ ครอบคลุมท้องที่อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  สภาพพื้นที่ประกอบด้วยป่าสมบูรณ์  ภูเขาสูงสลับซับซ้อนอยู่ในแนวเทือกเขาถนนธงชัยที่สืบเนื่องต่อจากเทือกเขาหิมาลัย จึงเป็นแหล่งต้นน้ำแม่ปิง แม่น้ำสำคัญของเมืองเชียงใหม่  ความสูงของพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่าง  ๓๓๐ - ๑,๖๘๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมียอดดอยปุยเป็นจุดที่สูงที่สุด

ภูมิอากาศในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยปุย มีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง ๒–๒๓ องศาเซลเซียส  จำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ย ๑๓๙ วันต่อปี อากาศหนาวเย็นและชุ่มชื้น เนื่องจากได้รับไอน้ำจากเมฆหมอกที่ปกคลุมอยู่เกือบตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในพื้นที่อยู่ระหว่าง ๑๐–๑๒ องศาเซลเซียส  และในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในวันที่มีอากาศหนาวจัด ค่าอุณหภูมิที่ดอยปุยจะอยู่ที่ ๔–๕ องศาเซลเซียส

สภาพทั่วไปของดอยปุย มีพื้นที่เป็นลานกว้างลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ  เป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อย ได้แก่ชาวเขาเผ่าม้ง  ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายของพื้นเมือง เช่น ของที่ระลึก เสื้อผ้า ผัก ผลไม้ ให้แก่นักท่องเที่ยว บริเวณรอบๆ หมู่บ้านมีทิวทัศน์จากป่าไม้ธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์  สวยงาม ประกอบกับอากาศที่เย็นสบายและอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่  จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมจำนวนมาก

ลักษณะบ้านเรือนตามประเพณี ชาวแม้วปลูกบ้านคร่อมดินโดยการปรับพื้นดินให้ราบเรียบเป็นพื้นเรือน แล้วจึงปลูกตัวบ้านคร่อมทับลงไป โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ฝาบ้านอาจใช้ไม้ไผ่สับฟากหรือไม้แผ่นที่ใช้ขวานถากหลังคา อาจใช้ตับหลังคาหรือแป้นเกล็ดไม้ ซึ่งชนิดหลังจะมีความทนทานกว่ามาก  สามารถอยู่ได้เป็นสิบปีโดยไม่ต้องเปลี่ยนหลังคาใหม่บ่อยๆ เหมือนหญ้าคา  ปัจจุบันมีการใช้วัสดุสมัยใหม่กันมากขึ้น  รวมทั้งการสร้างบ้านในรูปทรงแบบพื้นราบ





แม้ว

• ประวัติความเป็นมา
ชาวเขาเผ่าแม้ว เรียกตนเองว่า “ฮม้ง” หรือ “ม้ง” มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมไม่แน่ชัด มีข้อสันนิษฐานแตกต่างกันเป็นหลายทาง บ้างมีความเห็นว่าชาวแม้วเป็นเผ่าพันธุ์อิสระหรือไม่ก็เป็นเผ่าพันธุ์ผสม  

มีข้อสันนิษฐานหนึ่งกล่าวว่าถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวแม้วอยู่ทางแถบเหนือของมองโกล อันมีลักษณะกึ่งคอเคเซียนกึ่งมองโกล เมื่ออพยพลงใต้ได้ผสมกับเผ่าพันธุ์อื่นๆ บ้างในช่วงของการอพยพ

มีตำนานเล่าขานกันในหมู่ชาวแม้วประเทศจีนว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเคยอยู่ในพื้นที่ที่หนาวเย็นมาก ต่อมาจึงได้อพยพเข้าสู่อาณาเขตที่เป็นประเทศจีนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หลักฐานจากเอกสารเก่าแก่ที่สุดของจีนที่กล่าวถึงชื่อแม้วประมาณ ๔,๗๐๐ ปีก่อน  ระบุว่ามีชาวแม้วอยู่ในลุ่มน้ำเหลืองแล้ว  แต่การใช้ชื่อแม้วในเอกสารจีนอาจมีความสับสนอยู่บ้าง เนื่องจากในบางช่วงของประวัติศาสตร์ชื่อแม้วได้ขาดหายไปจากเอกสารโดยมีคำว่า “หมาน” (คนป่าเถื่อน หรืออนารยชน) มาใช้เรียกชนชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เชื้อสายจีน  

คำว่า แม้ว หรือ เหมียว หรือเมี่ยวในสำเนียงจีน มีผู้ลงความเห็นกันไปหลายทาง บ้างก็ว่าหมายถึงคนป่าเถื่อน บ้างก็ว่าหมายถึงคนพื้นเมือง  

สำหรับคำเรียกชื่อกลุ่มของตนเองว่า ฮม้ง หรือ ม้ง ตามสำเนียงกลุ่มย่อยนั้น โดยทั่วไปพวกเขาไม่สามารถบอกความหมายได้ แต่มีผู้ให้ความหมายว่าหมายถึงอิสระชน

ในสมัยที่ยังมีการปลูกฝิ่นกันโดยแพร่หลาย ชาวแม้วมักจะตั้งบ้านเรือนอยู่ในระดับประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ขึ้นไป จากระดับน้ำทะเล ต่อมาเมื่อหมู่บ้านส่วนใหญ่เลิกปลูกฝิ่นโดยหันมาปลูกพืชชนิดอื่นๆ ความจำเป็นที่จะต้องตั้งถิ่นฐานบนภูเขาสูงๆ ก็หมดไป  อย่างไรก็ตามการเลือกทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านและตัวบ้าน จำเป็นต้องพิจารณาดูทำเลที่เหมาะสมตามหลักความเชื่อ เพราะหากเลือกทำเลผิดพลาดอาจทำให้ผู้อยู่อาศัยเจ็บป่วยได้

แม้ว หรือที่ปัจจุบันเรียกตามชื่อของชนผ่าว่า ม้ง เป็นชนชาวเขาเผ่าหนึ่งที่มีรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายตลอดจนขนบธรรมเนียมคล้ายกับชาวจีนฮ่อ อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่บนยอดเขาต่างๆ ในเขตมณฑลทิเบต ยูนนานของจีน  รัฐฉานของพม่า อินโดจีน และประเทศไทยตอนเหนือ  เหตุที่ชนกลุ่มนี้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทย เนื่องจากชาวแม้วมีอาชีพทางปลูกฝิ่น  พื้นที่บนเขาต่างๆ ในมณฑลทิเบตและยูนนานตอนเหนือซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมทุรกันดาร  พื้นที่บนภูเขาโล่งเตียน รัฐบาลจีนห้ามตัดฟันต้นไม้ ห้ามปลูกฝิ่นและสูบฝิ่น ชาวแม้วถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่และบรรดาโจรฮ่อ จึงพากันอพยพมาอยู่ตามชายแดนยูนนานใต้ตอนแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งมีภูเขาสูงต่ำเรียงรายหลายพันยอด บางพวกก็เข้าไปอยู่ในเขตพม่า อินโดนจีนเหนือตามภูเขาชายแดน ครั้นอยู่ไม่ปกติสุข เพราะเกิดความยุ่งยากทางการเมือง ชาวแม้วจึงพากันอพยพเข้ามาอยู่ตามภูเขาต่างๆ ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย


• ความเชื่อเรื่องการจัดที่อยู่อาศัยของชาวม้ง
ชาวแม้วอาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่ๆ ท่ามกลางอากาศเย็นและเวิ้งว้างบนภูเขาสูงไม่ห่างจากลำห้วย  ซึ่งสามารถนำเอาน้ำมาใช้ภายในบ้านได้  หมู่หนึ่งมีประมาณ ๑๐ – ๔๐ หลังคาเรือน  ก่อนถึงหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร จะมีเฉลวอันใหญ่ขวางทางในเวลามีงานพิธี เป็นเครื่องหมายห้ามเข้า  ทั้งนี้ ไม่มีรั้วบ้านล้อมรอบเป็นขอบเขต  บางหมู่บ้านใช้ไม้ไผ่หรือไม้ซางเจาะทะลุปล้องกลางต่อกันไปต่อเอาน้ำมาใช้ภายในบ้านเรือน  บ้านที่ปลูกนั้นสร้างอย่างหยาบๆ  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  โดยมากทำด้วยไม้ไผ่ปลูกติดอยู่กับพื้นดิน  ทำร้านสูงประมาณ ๑ ศอก เพื่อเป็นที่นอนและกั้นเป็นห้องๆ ไป  

บ้านผู้มีฐานะดีใช้ไม้กระดานซึ่งทำขึ้นโดยวิธีตอกลิ่มจากท่อนซุงให้เป็นแผ่นบางๆ แล้วนำมาตั้งเป็นฝาเรือน ใช้ไม้ไผ่ขนาบทั้งข้างนอกและข้างใน เอาหวายมัดยึดไว้อีกชั้นหนึ่ง หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบก้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ใบหวาย ใบไผ่  ไม้ไผ่ผ่าคว่ำหงาย ฯลฯ มีประตูอยู่ตรงกลาง  

เมื่อเข้าไปจะพบเตาไฟตั้งอยู่บนพื้นดินทางขวามือ ถัดไปเป็นหิ้งผีเรือน มีที่นั่งรับประทานอาหารกับเตาไฟสำหรับทำอาหารให้สัตว์อยู่ทางซ้ายมือ ยกร้านเป็นที่เก็บข้าวเปลือก หลังคาบ้านเตี้ย ไม่มีเพดาน ด้านในมองขึ้นไปบนขื่อจะเห็นสีดำของควันไฟจับลำไม้ไผ่เป็นเงา ตามเสาบางบ้านประดับด้วยเขากวาง  บริเวณนอกบ้านมีเล้าไก่ คอกหมู โรงม้า และทำเป็นทางเดินรอบๆ  ไม่มีรั้วบ้าน น้ำที่ใช้ไม่มีโอ่งหรือถังสำหรับบรรจุน้ำ มีแต่กระบอกไม่ไผ่ขนาดใหญ่ ๒ ปล้อง ทะลุปล้องกลางยาว ๑ วาเศษ ใช้ตักน้ำและเก็บน้ำ ผู้หญิงจะตื่นแต่เช้ามืดแบกกระบอกน้ำลงไปตักยังห้วยแล้วแบกทาบหลังขึ้นมา

ชาวแม้ว มีอาชีพในการทำไร่ ปลูกข้าวโพด ข้าวเจ้า พริก ฝิ่น ยาสูบฯลฯ  

สัตว์เลี้ยงมีม้า ลา ไก่ หมู วัว สุนัข อาหารประเภทเนื้อของชาวแม้วจะเป็นเนื้อหมู หรือเนื้อวัวทำเป็นเนื้อเค็มตากแห้งไว้รับประทานเวลาไปทำงานในไร่ โดยใช้ต้มกับผักกาด ฟัก แตง ถั่วฯลฯ  บางครั้งใช้ผัดน้ำมันหรือปิ้งรับประทาน

เวลารับประทานอาหารใช้ตะเกียบแบบชาวจีน และยังต้องมีน้ำชาแก่ๆ แบบจีนดื่มตามไปด้วย

แม้การจัดภายในบ้านจะมีความแตกต่างกันตามแซ่สกุลก็ตาม องค์ประกอบหลักภายในบ้านก็คงเหมือนๆ กัน เริ่มตั้งแต่ประตูบ้านด้านที่หันเข้าสู่ลาดเขา ส่วนที่ลาดลงซึ่งจัดเป็นประตูด้านหน้าหรือประตูสำคัญเรียกว่า ขอจ้งต่า (หรือขอจ้งตั่ง ในสำเนียงม้งจั๊ว)  

การประกอบพิธีสำคัญๆ เช่นการเรียกขวัญ การส่งวิญญาณผู้ตายออกจากบ้าน การแต่งงานจะต้องผ่านประตูนี้เท่านั้น   อีกประตูหนึ่ง (ซึ่งอาจมี) อยู่ด้านข้างของตัวบ้าน จัดว่าเป็นประตูธรรมดา เรียกว่า ขอจ้งสั่ว  ถัดจากประตูสำคัญ (ขอจ้งต่า)  จะเป็นห้องนอนของสมาชิกในครัวเรือน  และห้องของหัวหน้าครัวเรือนมักจะเป็นห้องที่อยู่ติดประตู ลูกสาวและลูกชายที่โตแล้วจะนอนแยกห้องกัน ลักษณะเด่นของบ้านชาวแม้วอีกประการหนึ่งคือไม่มีบานหน้าต่าง ดังนั้นภายในบ้านจึงค่อนข้างมืด ระยะหลังเริ่มมีผู้นิยมเจาะช่องหน้าต่างเพิ่มทำให้ภายในบ้านดูสว่างขึ้น

เตาไฟในครัวเรือนจะมี ๒ แห่ง คือเตาไฟใหญ่เรียกว่าขอส่อ ก่อด้วยดินใช้เป็นเตาวางกระทะใบบัวหุงข้าว ต้มอาหารสัตว์ ทำอาหารเลี้ยงแขกในพิธี ต้มกลั่นเหล้าและต้มย้อมผ้า ส่วนเตาไฟเล็กเรียกว่าขอจุ๊ ใช้เป็นที่ทำอาหารประจำวันและต้มน้ำ  

สมาชิกในครัวเรือนมักจะนั่งพักผ่อนรอบเตาไฟในยามว่าง  

หิ้งผี เรียกว่า ท่าเน้ง อยู่ตรงข้ามกับประตูสำคัญ เสากลางบ้านนับเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเทียบได้กับเสาเอกของบ้าน และถือเป็นเสาผีฟ้า เรียกว่า เย่ด๊า  บริเวณใกล้ๆ กับหิ้งผีจะมีกระดาษแผ่นสีขาวปิดข้างฝาเรียกว่าสีก๊ะ เป็นผีที่คอยดูแลทุกข์สุขของคนในบ้าน




• ประเพณี
สังคมของชาวแม้ว ตั้งอยู่บนพื้นฐานแบบแซ่สกุล คนในแซ่สกุลเดียวกันถือว่าเป็นญาติพี่น้องกันแม้จะไม่สามารถสืบบรรพบุรุษร่วมกันได้ก็ตาม ดังนั้น ชายและหญิงจากสกุลแซ่เดียวกันจึงแต่งงานกันไม่ได้ รวมทั้งไม่อาจมีความสัมพันธ์ทางเพศกันได้ด้วย เนื่องจากชาวแม้วสืบเชื้อสายทางฝ่ายชาย เมื่อหญิงชายแต่งงานกัน ผู้หญิงจะต้องออกจากสกุลของพ่อแม่ตนเองมาอยู่ฝ่ายผู้ชาย ภายใต้ผีฝ่ายผู้ชายด้วย  แม้ประเพณีชาวแม้วจะอนุญาตให้หนุ่มสาวสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังมิให้เป็นการลบหลู่ผู้ใหญ่หรือผีเรือน  การแต่งงานกันมีได้หลายวิธี ทั้งการหมั้นหมายกันตั้งแต่ยังเล็กระหว่างพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย การส่งเถ้าแก่ไปสู่ขอโดยตรง จนถึงการลักพาหรือพาหนีโดยฝ่ายชายเป็นผู้กระทำ จากนั้นจึงส่งผู้ใหญ่มาติดต่อแจ้งแก่ฝ่ายหญิง   การแต่งงานนั้นฝ่ายชายจะเป็นผู้จ่ายค่าสินสอดทั้งหมดให้แก่พ่อแม่ของเจ้าสาว  ซึ่งในพิธีแต่งงานจะต้องมีถ้าแก่ของทั้งสองฝ่ายเข้านั่งเจรจาต่อรองค่าตัวเจ้าสาวกันจนเป็นที่ตกลงกัน  

โดยทั่วไป ชาวแม้วนิยมครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว แต่ก็อนุญาตให้ชายมีภรรยาหลายคนได้ ด้วยเหตุผลสำคัญคือต้องการบุตรชายไว้สืบสกุลและความต้องการแรงงานทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวแม้ว คือ ประเพณีฉลองปีใหม่ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงขึ้น ๑–๓ ค่ำ ของเดือนแรกในรอบ ๑๒ เดือน ตามระบบจันทรคติ การนับระบบจันทรคติของชาวแม้ว เป็นการนับต่อเนื่องถึง ๓๐ ค่ำ  จึงเรียกพิธีปีใหม่ว่า น่อเป๊โจ่ว หรืออาจแปลว่า กินสามสิบ   ซึ่งถือว่าเมื่อครบ ๓๐ ค่ำ ของเดือนสุดท้ายของปี เป็นอันสิ้นสุดปีเก่าย่างเข้าสู่ปีใหม่  ดังนั้น ในช่วงขึ้น ๑-๓ ค่ำ  ทุกคนจะไม่ไปไร่ แต่จะแต่งตัวด้วยชุดใหม่ หนุ่มสาวจะเล่นเกมโยนลูกบอลผ้าสีดำกัน ในขณะที่พวกผู้ชายจะนิยมเล่นลูกข่าง  มีการทำขนมแป้งข้าวเหนียวแจกจ่ายกัน มีการเชิญเพื่อนบ้านญาติพี่น้องมารับประทานอาหารร่วมกัน  โดยทั่วไป วันฉลองปีใหม่มักจะตกในราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมของทุกปี ซึ่งมักเป็นเวลาที่ชาวบ้านเสร็จกิจจากการเกี่ยวข้าวกันแล้ว

นอกจากประเพณีฉลองปีใหม่  ชาวแม้วยังมีประเพณีการเกิด การแต่งงาน และการตาย ที่ยังคงยึดถือกันอยู่อย่างกว้างขวาง


• ความเชื่อและพิธีกรรม
ชาวแม้วมีความเชื่อถือผี วิญญาณ และการบูชาบรรพบุรุษ สำหรับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น จัดแบ่งได้ดังนี้
๑. เหย่อโช้ว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ระดับเทพหรือเทวดา ถือเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งต่างๆ  หย่งเหล่า เป็นผู้ดูแลให้มนุษย์ปฏิบัติตามกฎระเบียบ  ยุว้าตัวะเต่ง เปรียบเหมือนพระยม ผู้มีหน้าที่ตัดสินให้วิญญาณผู้ตายมาเกิดใหม่  
    ถือเซ้งถือตี่ หรือ เซ้งเต๊เซ้งเชอ  เป็นผีเจ้าที่เจ้าทาง ก๊ะยิ้ง เป็นผีผู้ให้ลูกแก่มนุษย์ที่ต้องการและร้องขอ
๒. เน้ง  เป็นผีฝ่ายคอยต่อสู้กับผีร้าย  นับว่ามีบทบาทมากในการบำบัดรักษาผู้ป่วย  ที่เชื่อกันว่าเกิดจากการที่ขวัญออกจากร่างไป  ผีเน้งจะช่วยรักษาผู้ป่วยโดยผ่านร่างทรงของหมอผีทรง หรือโดยคำเชื้อเชิญของหมอผีคาถาให้มาช่วย  
๓. ด๊า จัดเป็นผีทั่วๆ ไปซึ่งมีทั้งที่ให้คุณและให้โทษ  ผีเรือนเรียกว่า ด๊าโหวเจ๋  ซึ่งประกอบด้วยผีประตู  ผีเสาเรือน ผีก๊ะ  ผีหิ้งผี ผีเตาไฟใหญ่ ผีเตาไฟเล็กและผีบรรพบุรุษ  
    นอกจากนั้นจะเป็นผีทั่วๆ ไป เช่น ผีน้ำ ผีป่า ผีถ้ำ เป็นต้น ส่วนผีซึ่งจัดว่ามีหน้าที่คร่าชีวิตมนุษย์เรียกว่า ด๊าซื่อ หย่ง

ชาวแม้วเชื่อว่ามนุษย์มีทั้งส่วนของร่างกายและขวัญวิญญาณ หากขวัญออกจากร่างกายไปด้วยสาเหตุใดก็ตามจะทำให้คนผู้นั้นล้มเจ็บลง  จึงจำเป็นต้องหาวิธีนำขวัญกลับมายังร่างของผู้ป่วยนั้น เพื่อจะได้หายเป็นปรกติ  นอกจากนี้พวกเขายังเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดด้วย   ดังนั้น พิธีกรรมที่สำคัญๆ จึงมักจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของคนโดยตรง เช่น

การเรียกขวัญ เรียกว่า ฮูปลี่  เป็นการเรียกให้ขวัญผู้ป่วยกลับมาเข้าร่างเดิม

การเลี้ยงผีวัว  เรียกว่า อัวยุ่ด๊า  โดยเชื่อกันว่าพ่อหรือแม่ที่ตายไปต้องการให้ลูกหลานที่ยังอยู่ประกอบพิธีส่งไปให้

การทำผี เรียกว่า อัวเน้ง  เป็นการบำบัดรักษาผู้ป่วย  เป็น ๒ ลักษณะ คือ การทำผีเข้าทรง เรียกว่า อัวเน้งเท่อ  กับการทำผีเรียน  เรียกว่า อัวเน้งเก่อ  โดยประเภทแรกเป็นการเชิญผีมาเข้าทรงร่างหมอผี  ส่วนประเภทหลังเป็นการเชิญผีมาช่วยทำให้คาถาได้ผลยิ่งขึ้นในการรักษาผู้ป่วย


• อุปนิสัยและชีวิตความเป็นอยู่
ชาวแม้วเป็นคนที่ค่อนข้างใจคับแคบ ตระหนี่ถี่เหนียวแต่ไม่โหดร้าย  มีความสามัคคีกันระหว่างชาวบ้าน  ขี้เกียจกว่าชาวเย้ามาก ไม่มีตัวหนังสือ เขาบอกว่าเดิมชาวแม้วมีตัวหนังสือเหมือนกัน แต่โดยเหตุที่บรรพบุรุษของเขาแต่โบราณกาลต้องอพยพหลบลี้หนีภัยอยู่เสมอ  วันหนึ่งขณะที่นำหนังสือภาษาแม้วบรรทุกม้าเดินทางมาถึงริมลำธารแห่งหนึ่ง ก็ได้ปลดตะกร้าหนังสือลงจากหลังม้าแล้วพากันหลับอยู่ใต้ต้นไม้ และลืมปล่อยม้าไปกินหญ้า ม้าจึงกินหนังสือเป็นอาหารแทน นับแต่นั้นมาชาวแม้วจึงไม่มีหนังสือใช้

ชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของชาวแม้วคล้ายคลึงกับชาวเขาพวกอื่นๆ คือผู้หญิงตื่นนอนก่อนผู้ชายเวลาเช้ามืด หุงข้าวทำอาหารไว้ให้สามีและสมาชิกในครอบครัว หาอาหารให้สัตว์เลี้ยง ตำข้าว กลางวันไปทำไร่  ผู้ชายเจ้าของบ้านตื่นสาย ค่อนข้างจะขี้เกียจ เพราะเห็นแต่สูบบ้องยา นั่งสนทนาและสูบฝิ่น  ส่วนผู้หญิงเมื่อกลับจากไร่มาแล้วก็ต้องตำข้าว ทำอาหารการกินอยู่ง่ายๆ เพียงฟักต้มก็ใช้ประทานได้ ไม่ชอบรสเผ็ด ไม่ใช้น้ำปลา กะปิ หอม กระเทียม คงใช้เกลือเม็ดอย่างเดียว ความเป็นอยู่ค่อนข้างสกปรกกว่าชาวเขาพวกอื่นๆ ทั้งหมด  นานๆ ครั้งจึงจะอาบน้ำ  ปกติก็เอาผ้าซับน้ำเช็ดตัวเท่านั้น ปล่อยให้ฝุ่นและขี้เขม่าจับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ วางไม่เป็นระเบียบ ปล่อยเกะกะไปตามเรื่อง

ผู้ชายแม้วนิยมมีภรรยาสองคน และปล่อยให้ภรรยาทำงานหนัก ถือเป็นเสมือนทาสที่ซื้อมาเพื่อใช้งาน ถ้าชายใดมีภรรยา ๑ คนแล้ว ยังหากินไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องหรือยังไม่มีเงินพอใช้จ่าย ก็ต้องหาภรรยาเพิ่มขึ้นอีก เวลาที่เขามีความสุขที่สุดคือขณะที่ตนนั่งจิบน้ำชาอยู่บนบ้านมองออกไปทางประตู  เห็นม้าหลายตัวกำลังร้องร่าเริง และภรรยาทั้งสองกำลังให้หญ้าม้า


ข้อมูล สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๐ หน้า ๕๔๑๙-๕๔๒๖ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์







ไม่ธรรมดา  มีจานดาวเทียมเกือบทุกบ้าน


จำหน่ายผลสตอเบอรี่สด




เด็กนักเรียน โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ๑
มีถึงชั้นมัธยม ๓ : เด็กนักเรียน ๑๐๐ คนเศษ ครูจำนวน ๑๔ คน


คนขายของที่ระลึกและเสื้อผ้า กับความสามารถพิเศษ
เล่นดนตรีพื้นเมืองได้ไพเราะมาก







ชาวบ้านดอยปุย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายของพื้นเมืองให้แก่นักท่องเที่ยว
เช่น เสื้อผ้า-กระเป๋าผ้าพื้นเมือง เครื่องประดับทำด้วยเงินและหินสี ของที่ระลึก
ผัก-ผลไม้สดเมืองหนาว ผลไม้แช่อิ่ม ชา กาแฟ ลำใยอบแห้ง สมุนไพรต่างๆ
โดยมีร้านค้าถาวรสร้างติดต่อกันเป็นแนวยาวสองฟากถนนสายเล็กๆ
และตามซอยลดหลั่นกันตามสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขา

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 ธันวาคม 2560 19:36:01 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ราชบุรี แหล่่งนำเสนอศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีไทยพุทธ
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 3927 กระทู้ล่าสุด 26 กรกฎาคม 2555 20:10:33
โดย Kimleng
วัดควรค่าม้า จ.เชียงใหม่ และเรื่องน่ารู้ "ตำนานม้าในประวัติศาสตร์และวรรณกรรม"
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 6093 กระทู้ล่าสุด 02 กุมภาพันธ์ 2556 15:57:41
โดย Kimleng
วัฒนธรรม “คำด่า” (ในไทย)!?
สุขใจ ห้องสมุด
ใบบุญ 0 1167 กระทู้ล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2561 08:56:42
โดย ใบบุญ
[ข่าวเด่น] - ทะลุวัง บุก! ก.วัฒนธรรม ร้องถอด สว.เนาวรัตน์ พ้นศิลปินแห่งชาติ ไม่เคารพฉันทามติ ปช
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 261 กระทู้ล่าสุด 06 สิงหาคม 2566 18:01:05
โดย สุขใจ ข่าวสด
[ข่าวเด่น] - เปิดประวัติ “อิทธิพล คุณปลื้ม” อดีต รมต.วัฒนธรรม ลูกชายกำนันเป๊าะ
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 302 กระทู้ล่าสุด 05 กันยายน 2566 23:51:07
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.644 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 14 พฤศจิกายน 2567 12:39:22