พระครูเกษมธรรมทัต หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี - ตรงทางตรงธรรม
จิต เจตสิก รูป ที่เรียกว่ารูป นาม จิตกับเจตสิกนี่เป็นนามธรรม รูปก็เป็นรูปธรรม ฉะนั้นธรรมชาติจริงๆ ก็คือ รูปกับธรรม ชีวิตนี้ก็คือรูปกับนามเท่านั้นเองที่เป็นของจริง ความเป็นคนเป็นสัตว์เป็นเรื่องสมมุติ สิ่งที่เป็นความจริง คือรูปนาม ขยายออกมาเป็นขันธ์ ๕ รูปคงเป็นรูปขันธ์ นามได้ ๔ ขันธ์ ได้เวทนาขันธ์ ได้สัญญาขันธ์ ได้สังขารขันธ์ ได้วิญญานขันธ์ เรียกว่านามขันธ์ ๔ จิตนั้นเป็นวิญญานขันธ์ เจตสิกได้ ๓ ขันธ์ เรียกว่า เจตสิก ขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ นี่เป็นเจตสิก ฉะนั้นเราจะเรียกเข้าไปรู้ขันธ์ก็ได้ หรือเข้าไปรู้รูป นาม หรือเข้าไปรู้จิต เจตสิก รูป หรือเข้าไปรู้ปรมัตถ์ ถ้าจะใช้คำเดียวก็เรียกว่าเข้าไปรู้ปรมัตถ์ สองคำก็คือเรียกว่าไปรู้รูป นาม
ปรมัตถ์น่ะแยกออกมาเป็นรูปกับนาม ส่วนหนึ่งเรียกว่าเป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งเป็นนามธรรม ถ้าพูดขึ้นมาเป็น ๕ ก็กลายเป็นขันธ์ ๕ ถ้าไม่เรียกว่าขันธ์จะเรียกว่าอายตนะก็ได้ จะเรียกว่าธาตุก็ได้ ถ้าจัดเป็นธาตุก็ได้ ๑๘ ธาตุ จัดเป็นอายตนะได้ ๑๒ จัดเป็นขันธ์ได้ ๕ คือ ธรรมชาติอย่างเดียวกันหมด เหมือนกับเรามีวัตถุดิบแล้วแต่ว่าเราจะไปทำเป็นอะไร เรามีหิน มีทราย มีปูน มีน้ำเป็นวัตถุดิบอยู่ เราจะสร้างไปเป็นบ้านไปเป็นตึก เป็นเสา เป็นอะไรก็แล้วแต่ จากนั้นจะไปเป็นศาลาเป็นกุฏิเป็นโบสถ์ ตัวเนื้อแท้แล้วก็คือหินปูนทรายนั่นแหละ ฉันใดก็ดี ปรมัตถธรรมก็มีแค่นี้ จิต เจตสิก รูป เป็นฐาน ตัวเนื้อแท้แล้วก็คือ หิน ปูน ทราย นั่นแหละ ฉันใดก็ดี ปรมัตถธรรมก็มีแค่นี้ จิต เจตสิก รูปเป็นฐาน เรียกว่าเฉพาะที่จะประกอบเป็นชีวิตนี้ก็มี จิต เจตสิก รูป แล้วแต่ว่าจะเอาไปเรียกเป็นอะไร
สิ่งๆ เดียวกันนี่เรียกได้หลายอย่าง อย่างจิตก็เห็นนี่ ถ้าว่าโดยขันธ์ก็เรียกว่าวิญญานขันธ์ คือจัดเป็นกลุ่มเป็นกองเรียกว่าขันธ์ เป็นวิญญานขันธ์ ถ้าจัดเป็นประเภทที่เชื่อมต่อหรือบ่อเกิดที่เรียกว่า อายตนะ ก็จัดเป็นมนายตนะ การเห็นนี่จัดเป็นมนายตนะ ถ้าจัดเป็นธาตุก็เรียกว่า จักขุวิญญานธาตุ ถ้าจัดเป็นอริยสัจจะ อริยสัจจะมี ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การเห็นจะเป็นอะไร ก็เป็นทุกขสัจจะ เห็นนี่เป็นทุกขสัจจะ เป็นองค์ธรรมของทุกขสัจจะ เป็นความจริงคือทุกข์ เห็นนี่เป็นทุกข์ เพราะว่ามันเกิดดับ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ การเข้าไปกำหนดรู้สภาพเห็นเรียกว่าไปกำหนดรู้ทุกข์ เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือพบว่า เห็นแล้วก็ดับไป กำหนดสภาพเห็น จึงเรียกว่าไปกำหนด มนายตนะ กำหนดวิญญานขันธ์ กำหนดจักขุวิญญานธาตุ กำหนดทุกขสัจจะ ก็เรียกได้หลายอย่าง สิ่งเดียวกัน
สิ่งที่ประกอบเป็นระบบประสาท เป็นความใส เขาเรียกว่าประสาท ประสาท ก็คือความใส อย่างประสาทตาก็เป็นความใสในการรับรูป รูปารมณ์ได้เหมือนกับเลนส์กล้องเป็นความใสรับภาพรับสีที่มากระทบ เรียกว่าจักขุประสาท จักขุประสาทนี้ ถ้าจัดโดยทวารก็เรียกว่าจักขุทวาร เป็นที่ผ่านเข้าออกของจิต โดยเฉพาะการเห็นก็ต้องมาเกิดที่ประสาทตา คือประสาทตาเรียกว่าจักขุทวาร ประตูตา เป็นที่อาศัยเกิดของจิตในการเห็นภาพเห็นรูปารมณ์ ก็เรียกว่าจักขุวัตถุ ถ้าพูดโดยที่อาศัยเกิดของจิต ประสาทตานี่ก็จัดเป็นจักขุวัตถุ ถ้าเอาไปจัดเป็นขันธ์ ๕ เป็นอะไรขันธ์
ประสาทตานี่ก็เป็นรูปขันธ์ ถ้าเอาไปจัดเป็นอายตนะ เป็นที่เชื่อมต่อ เป็นที่บ่อเกิดก็กลายเป็นจักขายตนะ เป็นที่เชื่อมต่อทางตาเกิดการเห็น ถ้าไปจัดเป็นสัจจะเป็นอะไรสัจจะ เป็นทุกขสัจจะ ประสาทตานี่เป็นทุกข์ จัดเป็นขันธ์นี่เป็นรูปขันธ์ ประสาทตานี่เป็นรูปขันธ์ จะเห็นว่าเป็นคนละธรรมชาติกัน การเห็นกับประสาทตาคนละอย่างกันนะ ประสาทตาไม่ได้ทำหน้าที่เห็น ประสาทตาเป็นที่อาศัยเกิดของการเห็น แต่ตัวมันเองไม่เห็น ตัวที่ทำหน้าที่เห็นคืออะไร คือวิญญาน วิญญานขันธ์ หรือว่าวิญญานธาตุ หรือ มนายตนะ ถ้าเป็นสัจจะละก็เป็นทุกข์ทั้งคู่ การเห็นก็เป็นทุกข์ ที่อาศัยเกิดของการเห็นก็เป็นทุกข์
อย่างเสียงดังมา ได้ยินเกิดขึ้นก็เป็นทุกขสัจจะ เสียงเป็นทุกขสัจจะ ได้ยินก็เป็นทุกขสัจจะ จัดเป็นรูปเป็นนาม อะไรเป็นรูปเป็นนาม เสียงเป็นรูปได้ยินเป็นนาม แสดงว่าเสียงกับได้ยินนี่เป็นคนละธรรมชาติกัน ไม่ใช่อันเดียวกัน ได้ยินเกิดขึ้นมาก็ต้องมีเหตุปัจจัยประกอบ ต้องมีประสาทหู มีช่องหู มีเสียงมากระทบประชุมผัสสะกัน จึงเกิดการได้ยิน เสียงจัดเป็นขันธ์ก็เป็นรูปขันธ์ ได้ยิน ถ้าเป็นขันธ์เรียกว่าวิญญานขันธ์ ประสาทหูเป็นความใสในการรับเสียง จัดเป็นขันธ์เป็นรูปขันธ์ จัดเป็นอายตนะ เรียกว่า โสตายตนะ คือเป็นที่เครื่องเชื่อมต่อเสียง จัดเป็นธาตุก็เรียกว่า โสตธาตุ จัดเป็นอริยสัจจะก็กลายเป็นทุกขสัจจะ ประสาทหูนี่เป็นทุกขสัจจะ มีความเกิดดับเหมือนกันเป็นทุกข์ จัดเป็นรูปธรรม เสียงก็เป็นรูป ประสาทหูก็เป็นรูป ได้ยินนี้เป็นนาม
ชอบใจไม่ชอบใจในเสียงก็เป็นจิตคนละอย่างกันแล้ว ได้ยินขณะที่ได้ยินไม่มีความชอบไม่ชอบ ขณะได้ยินทีแรกมันเฉยๆ เกิดอุเบกขาเวทนาเป็นวิบาก เป็นจิตวิบาก ส่วนความไม่พอใจหรือพอใจอันนี้คนละอันกันแล้ว คนละอันกับได้ยิน อันนี้มันเป็นมโนวิญญานเกิดขึ้นที่หทัยวัตถุ หทัยวัตถุมันก็จะอยู่ที่ทรวงอก ทรวงอกราวนมด้านซ้าย บางคนมีอยู่ข้างขวา บางคนหัวใจอยู่ข้างขวาก็มีแต่น้อยคน ปรกติอยู่ข้างซ้าย หทัยวัตถุก็เป็นรูปธรรมที่เป็นที่อ่ศัยเกิดของมโนวิญญาน ความคิดนึกนี่จะเกิดที่หทัยวัตถุ ความชอบใจไม่ชอบใจก็เกิดที่หทัยวัตถุ ส่วนได้ยินนี่มันเกิดที่หูก็เป็นจิตเหมือนกัน ได้ยินก็เป็นจิต คิดนึกก็เป็นจิต ชอบใจไม่ชอบใจก็เป็นเรื่องที่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายอกุศล เกิดที่หทัยวัตถุ คนละอันกัน คนละอย่างกัน จิตเหมือนกันแต่คนละจิต
เวลา ปฏิบัติเจริญสติเขาให้กำหนดดูจิต ดูเจตสิก ดูรูปใช่ไหม ก็ทำสติไปในขณะที่รูปอัดใดเกิด นามอันใดเกิด ก็ใส่ใจระลึกรู้ไป เช่นได้ยินเสียงเกิดขึ้นระลึกการได้ยิน ได้ยิน ซึ่งก็มีเสียงมากระทบ มีการได้ยินเกิดขึ้น รู้ว่าเสียงหมาไม่ใช่ได้ยิน รู้ว่าหมานี่ไม่ใช่ได้ยิน แต่เป็นความนึกคิดเกิดที่หทัยวัตถุ สติระลึกความนึกคิด โกรธ ทำเสียงหนวกหู โกรธรำคาญก็เป็นธรรมชาติที่เกิดต่อๆ กันมาจากความนึกคิด จากความปรุงแต่งเป็นจิตประเภท โทสะ อาการของความโกรธ ร้อนใจ แค้นใจ คับใจ ประทุษร้ายในอารมณ์ เป็นธรรมชาติ สติจะเกิดก็ระลึกรู้ไป ทีแรกได้ยินเสียงระลึกไม่ทัน จิตคิดปรุงแต่งจดจำตีความหมาย จึงบอกได้ว่านั่นคือเสียงหมา ขณะนั้นสติระลึกทัน มันก็ตัดกระแสของความปรุงแต่งต่อ
ถ้าระลึกไม่ทัน ความไม่ชอบไม่พอใจก็เกิดขึ้น เป็นกิเลสแล้ว กิเลสเกิดขึ้นแล้วกิเลสเกิดขึ้นที่หทัยวัตถุ ความโกรธ ความเกลียด ความไม่พอใจเกิดขึ้นในใจ สติเกิดขึ้นได้ไหมขณะนั้น ถ้าผู้ไม่ได้ปฏิบัติจะไม่เกิดสติ เมื่อไม่มีสติมันก็จะปรุงแต่งเรื่อยๆ ไป จิตมันจะเกิดมา ต่อๆ กันมาด้วยความรู้สึกโกรธเกลียด ไม่ชอบ ซ้อนขึ้นมามากมาย โกรธขึ้นมาต่อๆ กันมาด้วยความรู้สึกโกรธ เกลียด ไม่ชอบ ซ้อนขึ้นมามากมาย โกรธขึ้นมาต่อๆ ๆ กันมากมาย ความทุกข์ใจก็เกิดขึ้น แล้วก็บันทึกเอากิเลสลงไปสะสมหมักดองไว้ในขันธสันดาน เป็นอาสวะ เป็นอนุสัย ให้เป็นคนขี้โกรธ เป็นคนมีกิเลสหนาแน่นต่อไปอีก จึงเรียกว่าปุถุชน คนที่หนาแน่นด้วยกิเลส คำว่าปุถุชนนี่ เพราะอะไร เพราะว่าเกิดตาย ตายเกิดมามากมาย สะสมกเลสไว้ชาติหนึ่งเท่าไร วันๆ หนึ่งนี่หรือสะสมกิเลสลงไปเท่าไร
เกิดมาชาติหนึ่งโกรธกี่ครั้ง โลภกี่ครั้ง โกรธแต่ละเรื่องก็มีจิตโกรธหลายดวง มันก็สะสมลงไป หมักดองลงไป มันจะไม่หนาแน่นได้อย่างไร มันหนาแน่นฉะนั้นมันไม่แปลงเลยที่เมื่อชีวิตของปุถุชนพอมาประสบอารมณ์อันใด นิดหนึ่ง กิเลสเขาก็จะฟูขึ้นมาทันที ไปเจออารมณ์ที่เคยชินต่อการเกิดโทสะ เขาก็จะเกิดโทสะขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย เพราะมันหนาแน่นอยู่แล้วในขันธสันดาน ไปเจออารมณ์อันใดที่จะก่อให้เกิดโลภะมันก็เกิดทันที ก่อให้เกิดความหลงมันก็หลง เกิดอิจฉา ริษยา มานะ ทิฐิ ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ สงสัย เบื่อหน่าย ท้อถอย เหล่านี้หมักหมมอยู่ในขันธสันดาน
ขันธสันดาน คือ ความสืบต่อกัน ความสืบต่อกันของจิต ความจริงจิตมันก็เกิดดับ หมดไป เกิดดับหมดไป เกิดดับหมดไป ถึงจะเปลี่ยนภพชาติไปมันก็ต่อกันไปได้ ส่งต่อกันเหมือนต้นไม้ เมล็ดพืชของมัน หน่อของมัน พืชอันใดหน่อของมันต้นไม้อันใด เราจะไปปลูกจังหวัดไหนมันก็ขึ้นมาเป็นต้นอันนั้น
ที่สะสมมาคล้ายๆ กัน ก็มามีนิสัยคล้าย ๆ กัน แต่ก็ไม่มีใครเหมือนกันทีเดียว แม้แต่หน้าตาของเรานี่ก็ไม่ซ้ำแบบกัน ถึงเราจะดูเผินๆ เหมือนกัน เช่น ฝาแฝด แต่เมื่อดูนานๆ จริงๆ แล้วก็จะเห็นว่าต่างกัน แบบแปลนนี่ไม่ซ้ำนะ ทั้งๆ ที่ตา ๒ ข้าง หู ๒ ข้าง จมูก ปาก แขน ขา ก็มีเท่านี้ เหมือนกับสถาปนิกที่ออกแบบเก่งไม่ซ้ำแบบกันเลย คนแต่ละคนไม่ซ้ำกันเลย เสียงก็เหมือนกันไม่ซ้ำกัน ไม่ซ้ำหรอกแบบ ไม่หมดแบบ ไม่ยอมหมดแบบ เพราะอะไร เพราะกรรมที่ทำไว้นั้นแหละมันจัดแจง ทำกรรมไม่เหมือนกัน ยากที่ใครจะทำเหมือนได้ทุกอย่าง เราดูภายนอกเหมือนกับทำเหมือนกัน ทำบุญดู เอ้าทำบุญเท่ากัน แต่ว่าจิตใจไม่เหมือนกันขณะทำ เจตนาก็ดี ความศรัทธาอะไรต่างๆ หรือทำไปแล้วความรู้สึกก็ต่างกันไป ทำบาปก็เหมือนกัน บางคนยินดีในการทำบาป บางคนก็คำเพราะความจำใจ บางคนก็บันดาลโทสะ บางคนก็ทำด้วยความอาฆาตมาดร้าย มันก็ไม่เหมือนกัน
นี่แหละมันทำให้แบบไม่ซ้ำกัน กรรมที่ปรุงแต่งขึ้น ยิ่งไปดูรูปร่างของสัตว์เดรัจฉานยิ่งไปกันใหญ่ แบบมีมาก เพราะว่ามันไม่ใช่มีขาเท่ากัน สี่ขาก็มี สองขาก็มี ไม่มีขาก็มี ขามากก็มี อยู่ในน้ำได้ก็มี บนบกก็มี ครึ่งบกครึ่งน้ำก็มี บนอากาศก็มี อยู่ในดินก็ได้ แปลกไปต่างๆ มากมาย ก็ไปจากกรรม รูปร่างวิจิตรพิศดารเหล่านั้นก็เพราะกำเนิดวิจิตร คือ การเกิดวิจิตร สัตว์บางชนิดเกิดในไข่ บางชนิดเกิดในมดลูก บางชนิดเกิดในยางเหยียว บางชนิดเกิดผุดโตทีเดียวไม่ต้องมีพ่อมีแม่ เกิดก็เกิดโผล่ขึ้นมาเฉยๆ ได้ กำเนิดมันวิจิตร กำเนินดวิจิตรก็เพราะว่ากรรมวิจิตร การกระทำที่ทำไว้วิจิตรพิศดาร กรรมวิจิตรเพราะตัณหาวิจิตร ความอยากไม่เหมือนกัน ความอยากจะได้มีกำลังวังชาดีก็ไปกินอุ้งตีนหมี ได้กินอะไรต่ออะไรสารพัด ของเป็นๆ บ้าง อะไรบ้าง ตัณหามันวิจิตรทำให้ทำกรรมวิจิตร ตัณหาวิจิตร เพราะสัญญาวิจิตร คือจำไว้อย่างนั้น แน่ะ