คนที่เคยถูก “ผีอำ “จะเจอเหตุการณ์นี้ตอนหลับ นั้นแสดงว่าผีอำเกี่ยวข้องกับการนอน ดังนั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงสาเหตุ ของการเกิดภาวะผีอำ เรามาทำความเข้าใจกับเรื่องการนอนหลับ ตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์กันก่อน
โดยปกติการหลับของคนเราแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑. ลักษณะแบบตาไม่กระตุก ( non – rapid eye movement sleep หรือ non – REM หรือ synchronized sleep )
๒. ลักษณะแบบตากระตุก ( rapid eye movement sleep หรือ desynchronized sleep หรือ fast wave sleep )
เมื่อคนเราเริ่มหลับ การหลับจะเริ่มด้วยแบบตาไม่กระตุกก่อน ประมาณ ๖๐ – ๙๐ นาที แล้วเปลี่ยนเป็นแบบตากระตุกประมาณ ๕ – ๑๐ นาที แล้วจะเปลี่ยนเป็นแบบตาไม่กระตุกใหม่ สลับกันไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ โดยช่วงที่หลับแบบตาไม่กระตุกจะสั้นลง ๆ และช่วงที่หลับแบบตากระตุกจะยาวขึ้น ๆ เมื่อใกล้ตื่น
โดยเฉลี่ยช่วงที่หลับแบบตาไม่กระตุก รวมทั้งหมดจะประมาณ ร้อยละ ๗๕ – ๘๐ ของเวลาหลับทั้งหมด ส่วนช่วงที่หลับแบบตากระตุก รวมทั้งหมดจะประมาณร้อยละ ๒๐- ๒๕ และการหลับช่วงสุดท้ายก่อนที่จะตื่นขึ้นตามธรรมชาตินั้นจะเป็นการหลับแบบตากระตุก
การหลับแบบตาไม่กระตุก
การหลับแบบตาไม่กระตุก แบ่งออกได้เป็น ๔ ลักษณะ ตามลักษณะของคลื่นไฟฟ้าสมอง คือ
ระยะที่ ๑ เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองเริ่มช้าลง เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ง่าย แม้เพียงแค่เรียกชื่อเบา ๆ แตะตัวเบา ๆ หรือปิดประตูเบา ๆ
ระยะที่ ๒ เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองช้าลงอีก และเป็นลักษณะคลื่นหลับ เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ยากขึ้น
คนที่อยู่ในระยะที่ ๑- ๒ คือคนที่กำลังจะหลับ หรือ หลับ ๆ ตื่น ๆ ซึ่งตาจะกลอกไปมาช้า ๆ ในขณะที่หลับอยู่ซึ่งการหายใจในช่วงนี้จะไม่สม่ำเสมอและอาจจะมีการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
ระยะที่ ๓ เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองช้าและใหญ่ขึ้นอย่างมาก และพบคลื่นไฟฟ้าสมองแบบนี้อย่างน้อยร้อยละ ๒๐ แต่ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของคลื่นไฟฟ้าสมองที่บันทึกได้ ระยะนี้กินเวลาเพียงไม่กี่นาที ก็จะเข้าระยะที่ ๔
ระยะที่ ๔ เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองที่ช้าลงและใหญ่มากนี้จะพบได้เกินร้อยละ ๕๐ และระยะนี้จะกินเวลา ประมาณ ๒๐- ๔๐ นาที
ระยะที่ ๓ -๔ นี้ เป็นระยะที่คนหลับลึก หลับสนิท ตาทั้ง ๒ ข้างหยุดการเคลื่อนไหว การหายใจจะเปลี่ยนเป็นแบบสม่ำเสมอและหายใจช้าลง ๆ หัวใจ ( ชีพจร ) จะเต้นช้าลง ๆ ความดันเลือดจะลดลง ๆ กล้ามเนื้อจะอ่อนตัวลง แต่ไม่ถึงขั้นอัมพาต
การหลับที่เข้าสู่ระยะที่ ๓ -๔ นี้ เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ยาก คนที่หลับอยู่ในระยะนี้ ถ้าถูกปลุกอย่างรุนแรงจนตื่นจะมีอาการสับสนเลอะเลือน ละเมอเพ้อพก หรือจำในสิ่งที่ตนเองทำไปไม่ได้เลยอย่างเช่น การเดินละเมอ ปัสสาวะรดที่นอน หรือขบเขี้ยวเคี้ยวฟันขณะหลับ
ประมาณกันว่าในคืนหนึ่ง ๆ คนเราจะมีการพลิกตัว ขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าทางการนอนอย่างน้อย ๘ – ๙ ครั้ง เมื่อลักษณะการหลับเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง ( จากแบบตาไม่กระตุกเป็นแบบตากระตุก )