ความหมายและลักษณะของสังฆทาน การถวายสังฆทาน หมายถึงการ ถวายสิ่งของจตุปัจจัยวัตถุแก่หมู่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกระบุถวายเฉพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง กล่าวคือ ถวายเข้าเป็นสิทธิกองกลางแก่คณะสงฆ์ภายในวัด เพื่อคณะสงฆ์จะจัดแบ่งปันแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ต้องการหรือเพียงแค่ถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง (โดย "ไม่เลือก" ว่าจำเพาะถวายรูปนั้นรูปนี้ เช่น เป็นพระผู้ทรงพรรษา พระรูปที่เรารู้จัก หรือพระรูปที่ตนศรัทธา) ที่เป็นตัวแทนแห่งสงฆ์ (ได้รับเผดียงสงฆ์) หรือถวายโดยมีเจตนาเพื่อบำรุงพระสงฆ์สามเณรโดยไม่เลือกผู้รับ ก็นับเป็นสังฆทานเช่นกัน (ตัวอย่าง: เช่นการใส่บาตรโดยไม่เลือกพระผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือสามเณรก็ตาม)
เมื่อพิจารณาจากมูลอันจะเป็นสังฆทานดังกล่าว การที่จะเป็นสังฆทานหรือไม่นั้น มีหลักสำคัญอยู่ที่การถวายสิ่งของเพื่อบำรุงสังฆบริษัท หรือตัวแทนแห่งสังฆบริษัท เพื่อประโยชน์ในด้านการไม่เลือกปฏิบัติและความเท่าเทียมด้านปัจจัยสี่ของพระสงฆ์นั่นเอง
มีข้อควรพิจารณาประการหนึ่งว่า ในพระวินัยถือว่า ภิกษุสงฆ์ 4 รูปขึ้นไปนับเป็นองค์สงฆ์ แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาของพระพุทธเจ้าในทักขิณาวิภังคสูตรแล้ว
หากแม้จะเป็นพระภิกษุถึง 4 รูป แต่เป็นพระที่ผู้ถวายเจาะจงระบุตัวมา ก็หานับว่าเป็นสังฆทานไม่ (คงนับเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ระบุตัวพระภิกษุผู้รับถวายทาน)มูลเหตุของสังฆทานมูลเหตุที่ทำให้พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน มาจาก ทักขิณาวิภังคสูตร ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังฆทานว่า (โดยย่อ)
"ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชมน์อยู่ ครั้งนั้นทรงประทับอยู่ ณ วัดนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระพุทธเจ้า ได้เกิดศรัทธาแรงกล้า ทรงทอจีวรด้วยพระองค์เองเพื่อนำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงได้ปฏิเสธที่จะรับถวายผ้าจีวรดังกล่าว โดยได้ตรัสให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีนำผ้าดังกล่าวไปถวายแก่กองกลางคณะสงฆ์ เพราะทรงเห็นว่าการถวายผ้าเป็นสังฆทานจักได้อานิสงส์มากกว่า แม้จะถวายแก่พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาก็ตาม (การถวายหรือให้ทานแก่พระพุทธเจ้า พระภิกษุหรือบุคคลทั่วไป ทรงจัดเป็นปาฏิปุคลิกทาน) อีกทั้งการถวายเป็นสังฆทานนั้นย่อมถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งพระสงฆ์ทั้งปวงด้วย"
จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถึงปาฏิปุคลิกทาน 14 ประเภท (มีการถวายทักษิณาแก่พระพุทธเจ้าเป็นอาทิ) และตรัสถึง
ทักษิณาทานที่ถวายแก่สงฆ์ (สังฆทาน) ว่ามี 7 ประการ คือ
• ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย (ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
• ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
• ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
• ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
• เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้วให้ทาน (ให้ทานโดยให้คณะสงฆ์เป็นผู้เลือกพระภิกษุและพระภิกษุณีที่จะรับถวายทานเอง)
• เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน
• เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน
โดยได้ตรัสว่า "แม้ในอนาคตกาล การถวายสังฆทานแม้แก่พระสงฆ์ผู้ทุศีล ก็ยังนับว่ามีผลนับประมาณมิได้ และปาฏิปุคลิกทานทั้งปวงในบุคคลใด ๆ มีพระพุทธเจ้าเป็นอาทิ ก็ไม่สามารถมีผลสู้สังฆทาน 1 ใน 7 ประการดังกล่าวได้เลย"จากพระพุทธดำรัสดังกล่าว ทำให้พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธานิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทานเพราะมีอานิสงส์มาก อีกประการหนึ่งการที่สังฆทานมีอานิสงส์มากกว่าปาฏิปุคลิกทานธรรมดาเพราะการที่จัดถวายทานแก่ส่วนรวม (คณะสงฆ์) ย่อมมีประโยชน์แก่พระศาสนามากกว่า เพราะการถวายสังฆทานเป็นการกระจายปัจจัยวัตถุอันจะพึงได้แก่คณะสงฆ์ทั้งปวงโดยไม่จำกัดหรือเลือกปฏิบัติแก่รูปใดรูปหนึ่ง
ดังนั้นการที่พระพุทธองค์ทรงตรัสยกย่องสังฆทานจึงนับได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการไม่เลือกปฏิบัติทางด้านบุคคล ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เพื่อเป็นประโยชน์ผาสุกโดยเท่าเทียมกันทางด้านปัจจัย 4 แก่พระสงฆ์ทั้งปวงผู้เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน