หลวงปู่ชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
ชาติภูมิ
พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) หรือ หลวงพ่อชา หรือ อาจารย์ชา เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 ตรงกับ วันศุกร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ 9 ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อนายมา ช่วงโชติ มารดาชื่อ นางพิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 10 คน
การศึกษา
หลวงพ่อชาได้รับการศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนบ้านก่อ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี จนจบชั้นประถมปีที่ 1 แล้วได้ลาออกจากโรงเรียนเพราะมีจิตใจใฝ่ทางบวชเรียน ภายหลังเมื่อบวชเรียนแล้วได้เรียนหนังสือธรรมเรียนบาลีไวยากรณ์ เรียนมูลกัจจายน์ จนสามารถอ่านแปลภาษาบาลีได้ และได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ชั้นสูงสุดสายนักธรรม คือ สอบได้นักธรรมชั้น เอก
ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์
เมื่ออายุ 13 ปี หลังจากลาออกจากโรงเรียนประถมศึกษาแล้ว โยมบิดาได้นำไปฝากกับเจ้าอาวาสเพื่อเรียนรู้บุพกิจเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรพชาวิธี จึงได้รับอนุญาตให้บรรพชาเป็น สามเณรชา โชติช่วง เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2474 โดยมีท่านพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) อดีตเจ้าอาวาส วัดมณีวนาราม อุบลราชธานี เป็นอุปัชฌาย์สามเณรชา โชติช่วง ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนอยู่ปฏิบัติครูอาจารย์ เป็นเวลา 3 ปี ได้เอาใจใส่ต่อภารกิจของสามเณรท่องสวดมนต์ ทำวัตร ศึกษาหลักสูตรนักธรรมปฏิบัติพระเถระ แล้วจึงได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นของครอบครัวแบบชาวไร่ชาวนาอีสานทั่วไป
ด้วยจิตใจที่ใฝ่ในการบวชเรียน จึงสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องอุปสมทบเป็นพระให้ได้ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ภายหลังเมื่อตกลงกับบิดามารดาและท่านทั้ง 2 ก็อนุญาติแล้วจึงได้ฝากตัวที่วัดก่อในที่ใกล้บ้าน แล้วได้รับอนุญาติให้อุปสมบทได้เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 เวลา 13.55 น. ณ พัทธสีมา วัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี โดยมีพระเถระสำคัญที่ให้การอุปสมบทดังนนี้
พระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชาฌาย์
พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการสอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
พระชา สุภทฺโท
ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดก่อนอก 2 พรรษา ตั้งใจศึกษาปริยัติธรรม ทั้งจากตำรับตำราและจากครูอาจารย์ จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในสำนักวัดก่อนอกนี้
ศึกษาปริยัติธรรมต่างถิ่น
เมื่อพระชา สุภทฺโท สอบนักธรรมตรีได้แล้ว ก็อยากเรียนให้สูงขึ้นเพราะมีจิตใจรักชอบทางธรรมอยู่แล้ว แต่ขาดครูอาจารย์ในการสอนระดับสูงต่อไป นึกถึงภาษิตอีสานที่ว่า
"บ่ออกจากบ้านบ่ฮู้ฮ่อมทางเทียว บ่เฮียนวิชาห่อนสิมีความฮู้"
ชีวิตช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่า พระชา สุภทฺโท มุ่งเรียนปริยัติธรรมให้สูงสุด จึงทุ่มเทให้การศึกษษทั้งนักธรรมและบาลี และผ่านสำนักต่างๆ มากมายจนในที่สุดก็สอบนักธรรมได้ครบตามหลักสูตร คือ สอบนักธรรมชั้นโทได้ ในสำนักของ พระครูอรรคธรรมวิจารณ์ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักวัดบ้านก่อนอกถิ่นเกิด
สู่การปฏิบัติธรรม
เสร็จภารกิจการศึกษา ประกอบกับเกิดธรรมสังเวชคราวโยมบิดาเสียชีวิต จึงหันมาสู่การปฏิบัติธรรม โดยออกธุดงค์และศึกษาหาแนวทางปฏิบัติในสำนักต่างๆ ผ่านอาจารย์ก็มากมาย เช่น
หลวงปู่กินรี หลวงปู่เถระชาวเขมร อาจารย์คำดี พระอาจารย์มั่น
พออินทรีย์แก่กล้าแล้วก็ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมต่อไปเรื่อยๆ โดยยังดำรงสมณเพศเป็นพระมหานิกายอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดได้รับอาราธนาจากโยมมารดาและพี่ชาย เพื่อกลับไปโปรดสัตว์ที่บ้านเกิด เมื่อ พ.ศ. 2497 ก็ได้ดำเนินการสร้างวัดป่าขึ้น ซึ่งเรารู้จักในปัจจุบัน คือ "วัดหนองป่าพง" และท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้มาโดยตลอด และถึงแก่มรณภาพเมื่อ 16 มกราคม 2535 เวลา 05.30 น. อย่างสงบท่ามกลางธรรมสังเวชของศิษยานุศิษย์จากทุกสารทิศ
ปัจฉิมบท
ท่านอาจารย์ชา สุภทฺโท ขณะมีชีวิตอยู่ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรม และเผยแพร่พุทธศาสนา ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งบังเกิดผลทำให้ผลงานที่เป็นประโยชน์อเนกอนันต์แก่พระศาสนา ทั้งที่เป็นพระธรรมเทศนา และสำนักปฏิบัติธรรม ดังนี้
1. ธรรมเทศนา
สำหรับบรรพชิต สำหรับคฤหัสถ์ เสียสละเพื่อธรรม การเข้าสู่หลักธรรม ธรรมะที่หยั่งรู้ยาก ธรรมะธรรมชาติ
ปฏิบัติกันเถิด ธรรมปฏิสันถาร สองหน้าของสัจธรรม ปัจฉิมกถา การฝึกใจ มรรคสามัคคี
ดวงตาเห็นธรรม อยู่เพื่ออะไร เรื่องจิตนี้ น้ำไหลนิ่ง ธรรมในวินัย บ้านที่แท้จริง สัมมาสมาธิ ขึ้นตรงต่อพระพุทธเจ้า ความสงบบ่อเกิดปัญญา พระองค์เดียว นอกเหตุเหนือผล สมมตติและวิมุตติ
การทำจิตให้สงบ ตุจโฉโปฎฐิละ ดวงตาเห็นธรรม ทำใจให้เป็นบุญ ทรงไว้ซึ่งข้อวัตร เหนือเวทนา เพียรละกามฉันทะ ทางพ้นทุกข์ ไม่แน่คืออนิจจัง โอวาทบางตอน อ่านใจธรรมชาติ อยู่กับงูเห่า
สัมมาทิฐิที่เยือกเย็น มรรคผลไม้พ้นสมัย นักบวชนักรบ ธุดงค์ทุกข์ดง สัมมาปฏิปทา พึงต่อสู้ความกลัว
กว่าจะเป็นสมณะ เครื่องอยู่ของบรรพชิต กุญแจภาวนา วิมุตติ
2. สำนักปฏิบัติธรรม
มีสำนักปฏิบัติธรรม ในประเทศไทยซึ่งอยู่ทุกภาคของประเทศจำนวนทั้งสิ้น 82 สาขา และในต่างประเทศอีก 7 สาขา และเฉพาะศิษย์ที่เป็นพระชาวต่างประเทศซึ่งอยู่เป็นประธานสงฆ์ผู้มีพรรษาต่ำสุดคือ 16 พรรษา รายนามสาขาในต่างประเทศ มีดังนี้.-
England Australia
Chithurst Forest Monastery Bodhiyana Monastery Lot
Ammaravati Buddhist Centre
Harnham Mihara
Devon Vihara
Newzealand Switzerland
Bodhiyanarama Dhammapala
ที่วัดหนองป่าพงยังมีสถานที่พอจะเป็นที่เตือนใจของผู้ประสงฆ์จะนมัสการและรำลึกถึงท่านคือ พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมประวัติและผลงานของท่านมารวมไว้ ตลอดจนรูปั้นขี้ผึ้งของท่าน ที่ผนังพิพิธภัณฑ์ก็ยังมีภาพชีวิตของท่าน ที่ทำจากกระเบื้องดินเผา เมื่อเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แล้วจะให้ทั้งความร่มเย็นศักดิ์สิทธิ์ และปรากฏการณ์เสมือนหนึ่งท่านยังไม่ถึงมรณภาพเลย
คำสอนของหลวงปู่ชาทั้งหมด สามารถสรุปลงได้ดังนี้
1. จุดหมาย : มรรค ผล นิพพาน พ้นทุกข์
2. เนื้อหา : ศีล สมาธิ ปัญญา
3. วิธีการ : สมถ วิปัสสนา
4. กลวิธี : มองเข้าหาตัว ดูธรรมชาติ เปรียบเทียบ กับธรรมชาติ ทำให้ดู แล้วรู้ตาม
ที่มา : ฟังธรรม ดอท คอม