[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 14:52:28 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 [2] 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ  (อ่าน 49070 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 11 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 02 กันยายน 2553 10:12:10 »





พระสูตร วิมลเกียรตินิรเทศสูตร  
(๑๔ ปริเฉท)



โดย.. เสถียร โพธินันทะ
พระสูตรวิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท)

ขอขอบคุณ คุณพี่พีช ซึ่งเป็นผู้ที่พิมพ์พระสูตรนี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อผิดผลาดใดที่เกิดขึ้นต้องของอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย..

                                    พระสูตรนี้มี ๑๔ ปริเฉทดังนี้คือ...


ปริเฉทที่ ๑ พระพุทธเกษตรวรรค
ปริเฉทที่ ๒ อุปายโกศลวรรค
ปริเฉทที่ ๓ สาวกวรรค
ปริเฉทที่ ๔ โพธิสัตววรรค
ปริเฉทที่ ๕ คิลานปุจฉาวรรค

ปริเฉทที่ ๖ อจินไตยวรรค
ปริเฉทที่ ๗ สรรพสัตว์วิทรรศนะวรรค
ปริเฉทที่ ๘ พุทธภูมิวรรค
ปริเฉทที่ ๙ อไทฺวตธรรมทวาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๐ สุคันโธปจิตพุทธวรรค

ปริเฉทที่ ๑๑ โพธิสัตว์จริยาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๒ อักโษภยะพุทธเกษตรทรรศนะวรรค
ปริเฉทที่ ๑๓ ธรรมปฏิบัติบูชาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๔ ธรรมทายาทวรรค


            กถามุข
ในพระสุตตันตปิฎกของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน วิมลเกียรตินิทเทสสูตร (ยุ่ย ม่อ เคียก ซอ ส้วย เก็ง) นับว่าเป็นพระสูตรสำคัญยิ่งสูตรหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องด้วยพระสูตรนี้ได้รวบรวมสารัตถะของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไว้ ทั้งด้านปรมัตถธรรมและสมมติธรรม ทั้งยังแสดงถ่ายทอดออกมาด้วยรูปปุคคลาธิษฐาน มีลีลาชวนอ่านให้เกิดความเพลิดเพลิน พร้อมทั้งได้รับธรรมรสซึมซาบเข้าไปโดยมิรู้ตัว พระสูตรนี้ไม่ปรากฏมีในพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี แต่ความข้อนี้มิได้เป็นเหตุให้เราผู้เป็นนักศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทปฏิเสธคุณค่าของพระสูตรนี้แต่อย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากหลักธรรมที่ประกาศในพระสูตรนี้ ก็คงดำเนินไปตามแนวพระพุทธมติ คือในเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง แม้จะมีข้อแตกต่างบางประการก็เป็นเรื่องปลีกย่อยและเป็นสิ่งธรรมดาที่ต้องเป็นไปเช่นนั้น มิฉะนั้นก็คงไม่เกิดนิกายมหายานขึ้น ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างในนิกายนั้นจะเหมือนกับฝ่ายเถรวาท

พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีอุดมคติและประวัติวิวัฒนาการมาอย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับท่านผู้อ่านพระสูตรนี้จำต้องทราบไว้เป็นพื้นฐานเสียก่อน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสคัดข้อความบางตอนในปาฐกถาของข้าพเจ้า เรื่อง "ลัทธิมหายาน" ซึ่งแสดงแก่คณะนักศึกษาศิลปศาสตร์ ในหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ มาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อ เป็นนิทัศนะ

"ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลก จะต้องมีคณะนิกายแบ่งแยกออกมาภายหลังที่พระศาสดาของศาสนานั้นล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะเมื่อศาสนานั้นแผ่ขยายออกไปตามท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อถือไม่เหมือนกัน ก็มีการผสมผสานกับลัทธิธรรมเนียมเหล่านั้น อีกทั้งทัศนะการตีความในคำสอนของศาสดาของแต่ละบุคคล แต่ละคณะไม่ตรงกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดแบ่งแยกเป็นนิกายขึ้น ศาสนาที่มีลัทธินิกายจึงเป็นสัญญลักษณ์ของความเจริญแห่งศาสนานั้นในแง่หนึ่งเหมือนกัน ว่ากันเฉพาะในพระพุทธศาสนาได้เริ่มแบ่งแยกนิกายขึ้นครั้งแรกในสมัยพุทธศตวรรษที่๑ ต่อมาถึงพุทธศตวรรษที่๔ ปรากฏว่ามีนิกายในพระพุทธศาสนาที่เป็นนิกายใหญ่ๆอยู่๑๘นิกาย นิกายที่สำคัญ คือนิกายมหาสังฆิกะกับนิกายเถรวาท มูลเหตุของการแตกแยก มีสมุฏฐานจากความขัดแย้งในทางปฏิบัติพระวินัยและคำอธิบายในพระพุทธวจนะไม่ตรงกัน สงฆ์ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติวินัยบางข้อ โดยอ้างพระพุทธานุญาตที่มีไว้กับพระอานนท์ในสมัยจวนดับขันธปรินิพพานว่า

"ดูก่อนอานนท์ ถ้าสงฆ์ต้องการ ก็ให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้"

สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า คำว่าสิกขาบทเล็กน้อย ไม่อาจทราบพระพุทธประสงค์ได้ว่า หมายความถึงสิกขาบทข้อไหน พระอานนท์เองก็มิได้ทูลถามให้ชัดเจนว่า ได้แก่สิกขาบทหมวดไหน ฉะนั้น อย่าเพิกถอนสิกขาบททั้งหมดเลยแหละดี ควรจะรักษาเอาไว้ทุกข้ออย่างเคร่งครัด

อีกประการหนึ่ง การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะนั้น ย่อมอาศัยอาจารย์เป็นผู้สั่งสอนอธิบาย อาจารย์กับอาจารย์ด้วยกันเกิดมีทัศนะอรรถาธิบายพระพุทธมติไม่ตรงกัน ก็เป็นสาเหตุอีกข้อหนึ่งที่ทำให้เกิดแบ่งแยกกันออกไป สงฆ์ฝ่ายนิกายมหาสังฆิกะ เป็นพวกที่ต้องการแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติพระวินัย และถืออรรถาธิบายพระพุทธวจนะของพระอาจารย์เป็นใหญ่ สงฆ์ฝ่ายเถรวาทถือเคร่งครัดในการรักษาจารีตแบบแผนดังเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นหลักใหญ่

สรุปแล้วก็คือ

๑.เพราะการปฏิบัติพระวินัยไม่สม่ำเสมอเหมือนกัน เรียกว่าความวิบัติแห่งสีลสามัญญตา
๒.เพราะทัศนะในหลักธรรม อธิบายไม่ตรงกัน เรียกว่าความวิบัติแห่งทิฏฐิสามัญญตา
ทั้ง๒ประการนี้เป็นสมุฏฐานให้แบ่งเป็นนิกายขึ้น

จำเดิมแต่พระพุทธศาสนาในอินเดียได้แบ่งออกเป็นนิกายถึง๑๘นิกายใหญ่ จำเนียรกาลล่วงมาในรารวต้นพุทธศตวรรษที่๕ จึงได้เกิดมีขบวนการใหม่ขึ้นอีกขบวนการหนึ่งในพระพุทธศาสนา ขบวนการนี้เรียกตนเองว่า ลัทธิมหายาน ลัทธินี้ค่อยๆฟักตัวเองขึ้นมาจากนิกายมหาสังฆิกะ ผสมผสานกับปรัชญาของนิกายพระพุทธศาสนาอื่นๆ ทั้ง๑๘นิกาย รวมทั้งนิกายเถรวาทด้วย ก่อกำเนิดขึ้นเป็นลัทธิมหายาน

คำว่า มหายาน มาจากธาตุศัพท์ มหา+ยาน แปลว่าพาหนะที่กว้างขวางใหญ่โตซึ่งสามารถขน สัตว์โลก ให้ข้ามวัฏฏสงสารได้มาก หลักธรรมของนิกายนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนิกายเถรวาท คือสอนเรื่องอริยสัจ และมีข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือความหลุดพ้นทุกข์ แต่ส่วนที่แตกต่างกันนั้นอยู่ตรงที่นโยบายเผยแผ่กับทั้งวิธีการเผยแผ่เท่านั้น

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือคุณภาพของศาสนิกชนเป็นจุดสำคัญ แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือปริมาณเป็นจุดสำคัญ คือเขาถือว่า เมื่อมีปริมาณมากแล้ว คุณภาพก็ค่อยๆตามมาด้วยการอบรมบ่มนิสัยได้ ฉะนั้น ฝ่ายมหายานจึงบัญญัติพิธีกรรมและจารีตแบบแผนต่างๆชนิดที่ฝ่ายเถรวาทไม่มีขึ้น เพื่อให้เป็นอุปายโกศลชักจูงประชาชนให้มาเลื่อมใส และมีการลดหย่อนพระวินัยได้ตามกาลเทศะ

อุดมคติของฝ่ายมหายาน สอนให้ทุกคนบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะได้ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์โลกได้กว้างขวาง พระโพธิสัตว์หมายถึงผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในฝ่ายเถรวาทก็รับรอง แต่ฝ่ายมหายานหยิบยกเอาเรื่องพระโพธิสัตว์ขึ้นมาเน้นเป็นพิเศษ ฝ่ายเถรวาทประกาศเรื่องหลักอริยสัจ๔เป็นสำคัญ แต่ฝ่ายมหายานประกาศเรื่องทศบารมีเป็นสำคัญ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าฝ่ายเถรวาทจะไม่มีเรื่องทศบารมี หรือฝ่ายมหายานจะไม่มีหลักอริยสัจก็หาไม่ เป็นเพียงแต่ว่า ต่างฝ่ายต่างหยิบเอาหลักธรรมทั้ง๒มายกขึ้นเป็นจุดเด่นสำคัญเหมือนหลักธรรมข้ออื่นๆ ที่มีอยู่เท่านั้น


อนึ่ง หลักทศบารมีฝ่ายมหายานได้ย่อลงมาเหลือบารมี๖ คือ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ฌาน ปัญญา ทานกับศีลเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โลภะ ขันติกับวิริยะเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โทสะ ฌานกับปัญญาเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โมหะ พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญบารมี๖ให้สมบูรณ์ คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ ๓ ข้อใหญ่คือ

๑.มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
๒.มหากรุณา หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์
๓.มหาอุปาย หมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจจธรรม


คุณสมบัติทั้ง๓ข้อนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ส่วนข้อหลัง๒ข้อเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผุ้อื่น

อุดมคติของชาวพุทธบริษัทฝ่ายมหายานมี๔ประการดังนี้

๑.เราจะละกิเลสให้หมด
๒.เราจะศึกษาสัจจธรรมให้จบ
๓.เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
๔.เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด


คณาจารย์ผู้ทรงเกียรติคุณของลัทธิมหายานในอินเดีย มีอาทิเช่นท่านคุรุนาคารชุน ผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่๗ ร่วมรัชสมัยพระเจ้ายัชญศีรเคาตมีบุตร คณาจารย์องค์นี้เป็นผู้สร้างปรัชญามหายานนิกายสุญญวาท โดยใช้ระบบวิภาษวิธี (Dialectic Method) ในการอรรถาธิบายทฤษฎีความสัมพันธ์หรือกฎปฏิจจสมุปบาท (Relativity Theory)

ระบบวิภาษวิธีของนิกายสุญญวาท จึงเป็นศิลปะ ในการอภิปรายที่อุดมด้วยหลักตรรกวิทยาทุกกระเบียดทีเดียว ต่อมาในพุทธศตวรรษที่๙ คณาจารย์มหายานที่สำคัญมีอีก๒ท่าน เป็นพี่น้องร่วมกันคือท่านคุรุอสังคะและคุรุวสุพันธุ ผู้ให้กำเนิดปรัชญามหายาน นิกายวิชญาณวาท ซึ่งถือว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นภาพมายาซึ่งสะท้อนเงาออกไปจากจิตภายใน นับเป็นปรัชญามหายานฝ่ายมโนภาพนิยม(Idealism) มหายานอีกนิกายหนึ่งซึ่งสอนลัทธิสมบูรณนิยม สอนว่ามีภาวะสมบูรณ์จริงแท้เป็นรากฐานของสากลจักรวาล ภาวะนี้เรียกว่า ภูตตถตา ซึ่งตรงกับจิตสากล (Universal Mind) นั้นเอง

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ปรัชญาของลัทธิมหายานมี๓สาขาใหญ่คือ
๑.ปรัชญานิกายสุญญวาท
๒.ปรัชญานิกายวิชญาณวาท
๓.ปรัชญานิกายภูตตถตาวาท หรือจิตสากล


นี่เป็นเรื่องของลัทธิปรัชญา ส่วนในเรื่องการปฏิบัติคงปฏิบัติเหมือนกันคือ การบำเพ็ญบารมี๖ มีคุณสมบัติ๓ และมุ่งในอุดมคติ๔ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว"
(หมดข้อความที่ยกมา)

                        

อนึ่ง ยังมีข้อสำคัญในความแตกต่างทางทัศนะระหว่างเถรวาทกับมหายาน คือทัศนะต่อองค์พระพุทธเจ้า ทั้ง๒ฝ่ายหาได้เห็นตรงกันไม่ พระพุทธองค์ในทัศนะของฝ่ายเถรวาท คือมนุษย์ผู้ซึ่งได้เพียรบำเพ็ญความดีจนได้ตรัสรู้หลุดพ้นจากมวลทุกข์มวลกิเลส แต่พระสรีระของพระองค์ยังคงเหมือนชนธรรมดา คือยังเป็นวิบากขันธ์ มีความรู้สึกเย็นร้อนและทรุดโทรมแตกสลายไปได้ ส่วนเมื่อพระสรีระแตกสลายไปแล้ว อะไรที่เหลืออยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หลังพระพุทธปรินิพพานแล้ว ภาวะของพระองค์เป็นฉันใด ฝ่ายเถรวาทไม่กล่าวถึงเพราะถือว่าพ้นจากบัญญัติเสียแล้ว เหมือนกองไฟที่สิ้นเชื้อแล้วดับไป ไม่อาจพยากรณ์ว่าไฟที่ดับไปแล้วไปอยู่ ณ ทิศใด แต่ฝ่ายมหายานมีทัศนะว่า พระพุทธองค์นั้น โดยแท้จริงมีสภาวะเป็นอกาละ อนันตะ แต่โดยมหากรุณาจึงทรงสำแดงพระองค์ในภาวะต่างๆ ปรากฏให้เห็นในโลกทั้งปวงเพื่อโปรดสัตว์ ส่วนคำว่าสุญญตาซึ่งพบมากในพระสูตรนี้เป็นคำที่ฝ่ายมหายานนิยมใช้แพร่หลายมากที่สุด สุญญตากับอนัตตาความจริงก็มีความหมายใกล้เคียงกัน กล่าวคือเป็นคำปฏิเสธสภาวะซึ่งมีอยู่เป็นอยู่ด้วยตัวมันเอง เพราะในทัศนะของมหายาน สรรพสิ่งซึ่งปรากฏแก่เราล้วนเป็นปฏิจจสมุปบาทธรรมทั้งสิ้น สุญญตามิได้หมายว่าว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยเหมือนอากาศ แต่หมายเพียงว่ามีสภาวะดำรงอยู่ได้โดยตัวของมันเอง ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัย แต่ปัจจัยธรรมซึ่งอาศัยกันเป็นภาพมายา มีอยู่ปรากฏอยู่ มิใช่ว่าจะไม่มีอะไรๆไปเสียทั้งหมด ฝ่ายมหายานอธิบายว่า โลกกับพระนิพพาน ความจริงไม่ใช่อันเดียวกันหรือแตกต่างกัน

กล่าวคือโลกเป็นปฏิจจสมุปบาท ความดับปฏิจจสมุปบาทนั้นเสียได้ ก็คือพระนิพพาน ฉะนั้น ทั้งโลกและพระนิพพานจึงเป็นสุญญตาคือไม่ใช่เป็นสภาวะ และเมื่อสภาวะไม่มีเสียแล้ว อภาวะก็พลอยไม่มีไปด้วย เพราะมีสภาวะจึงมีอภาวะเป็นของคู่กัน ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นสภาวะ ผู้นั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นอภาวะเล่า ผู้นั้นก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ ผู้ใดเห็นว่าโดยสมมติสัจจะ ธรรมทั้งปวงเป็นปฏิจจสมุปบาท และโดยปรมัตถสัจจะ ธรรมทั้งปวงเป็นสุญญตาไซร้ ผู้นั้นแลได้ชื่อว่าผู้มีสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ที่ว่ามานี้เป็นมติของพระนาคารชุนผู้เป็นต้นนิกายสุญญวาท มหายานนิกายอื่นยังเห็นแตกต่างกันไปอีก อย่างไรก็ดี ขอท่านผู้ศึกษาพระสูตรนี้ ในข้อที่ว่าด้วยสุญญตา โปรดเข้าใจถือเอาอรรถาธิบายของพระนาคารชุนเป็นปทัสถาน และโปรดได้พิจารณาข้อความอื่นๆในพระสูตรนี้ให้ละเอียด จะเห็นได้ว่า เมื่อท่านวิมลเกียรติแสดงเรื่องสุญญตาอันเป็นปรมัตถธรรมแล้ว ท่านจะต้องแสดงสมมติธรรมหรือโลกิยสัจจะด้วย มิใช่ว่าท่านปฏิเสธสมมติสัจจะอย่างเช่นพวกอุจเฉททิฏฐิ อกิริยทิฏฐิและนัตถิกทิฏฐิ ซึ่งเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกพระพุทธศาสนา

ข้อที่ควรสังเกตข้อหนึ่งเกี่ยวกับบุคคลิกลักษณะและปฏิปทาของท่านวิมลเกียรติ มีส่วนคล้ายคลึงกับท่านจิตตคฤหบดี ในปกรณ์ฝ่ายบาลีมาก ท่านจิตตคฤหบดีเป็นชาวมัจฉิกาสัณฑนคร ได้บรรลุอนาคามิผล มีปัญญาปฏิภาณแตกฉานในอรรถธรรม ได้รับยกย่องเป็นอุบาสกผู้เลิศในทางแสดงธรรม ท่านชอบสนทนาปัญหาธรรมที่สุขุมลุ่มลึกกับพระเถรานุเถรเสมอ ในบาลีสังยุตตนิกายรวบรวมเรื่องราวข้อสนทนาธรรมของท่านไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่าจิตตคฤหบดีปุจฉาสังยุต จะเป็นไปได้หรือไม่ที่วรรณิกฝ่ายมหายานได้ความคิดจากปฏิปทาของท่านจิตตคฤหบดีไปขยายเป็นบุคคลใหม่ขึ้นอีกท่านหนึ่ง คือท่านวิมลเกียรติ

สำหรับประวัติความเป็นมาของพระสูตรนี้ พอจะกล่าวได้ว่าพระสูตรนี้มีกำเนิดราวปลายพุทธศตวรรษที่๕ เมื่อพระนาคารชุนรจนาอรรถกถามหาปรัชญาปารมิตาสูตร ก็ได้อ้างข้อความในวิมลเกียรตินิทเทสสูตรนี้หลายตอน เป็นที่น่าเสียดายว่า ต้นฉบับสันสกฤตของพระสูตรนี้ ปัจจุบันหายสาบสูญค้นหาไม่พบ แม้ในคัมภีร์ศึกษาสมุจจัยของ พระสันติเทวะ (รจนาในราวพุทธศตวรรษที่๑๓) ได้ยกข้อความในพระสูตรนี้มาอ้างไว้มากแห่ง ทำให้เราสามารถเห็นเค้าโครงพระสูตรนี้ในรูปภาษาสันสกฤต แต่ก็มิใช่พระสูตรนี้ทั้งสูตร

อย่างไรก็ดี เป็นโชคดีของวรรณคดีพระพุทธศาสนามหายานที่ได้มีผู้แปลถ่ายทอดรักษาไว้ในพากย์จีนพากย์ธิเบตครั้งบุราณกาล เฉพาะวิมลเกียรตินิทเทสสูตรในพากย์จีนแปลกันไว้ถึง ๗ สำนวนด้วยกัน แต่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันเพียง๓สำนวนเท่านั้น คือ
๑.ฉบับแปลของอุบาสกจีเหลียน ในพุทธศตวรรษที่๗
๒.ฉบับแปลของพระกุมารชีพ ในพุทธศตวรรษที่๙
๓.ฉบับแปลของพระสมณะเฮี่ยงจัง ในพุทธศตวรรษที่๑๑


ข้าพเจ้าได้ถือเอาฉบับแปลของพระกุมารชีพเป็นปทัสถาน เพราะท่านแปลด้วยสำนวนโวหารไพเราะ จนถือกันว่าเป็นวรรณคดีจีนชั้นสูง ในการแปลออกมาในพากย์ไทยนี้ เฉพาะปริเฉทที่๑ และที่๒ แปลเอาแต่ใจความสำคัญ ปริจเฉทที่สำคัญเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ได้แปลครบถ้วนตามต้นฉบับ บางปริจเฉทเช่นสาวกปริจเฉทเป็นต้น บางตอนได้ย่นย่อลงบ้าง แต่ก็มิได้ทำให้เสียความอย่างไร ที่ใดย่นย่อตัดรัด ข้าพเจ้าได้ทำเครื่องหมายฯลฯ นี้ไว้ให้เป็นที่สังเกต และวิธีการแปลได้ถือเอาอรรถรสเป็นสำคัญ ข้าพเจ้าจึงใช้คำแปลเรียบเรียง ข้าพเจ้าได้แปลลงพิมพ์ในนิตยสารธรรมจักษุเป็นตอนๆ เริ่มลงพิมพ์ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๔ มาจนบัดนี้เป็นเวลาร่วม๒ปี


เสถียร โพธินันทะ
๑๐มิถุนายน๒๕๐๖


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กรกฎาคม 2554 12:27:10 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
 
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #21 เมื่อ: 06 กันยายน 2553 12:45:03 »


           

พระคัมภีร์ปัญญาโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่๒ (๒. คำว่าคู่นี้อย่าพึงนึกว่าต้องจำนวนเลขคู่เสมอ เพราะความจริงหมายถึงสภาพที่คิดแบ่งจำแนกว่านั่นว่านี่ ด้วยอำนาจอุปาทาน ฉะนั้น ในที่นี้แม้จะมี ๓ ก็ไม่แปลก.)เนื้อแท้สุญญตวิโมกข์ก็คือนิมิตร นิมิตรนั้นก็คืออัปปณิหิตะ ผู้ที่เข้าถึงสุญญตะ อนิมิตตะ อัปปณิหิตะ ย่อมปราศจากจิต มโนวิญญาณ ในวิโมกขธรรมอันหนึ่ง ย่อมเป็นได้ทั้ง ๓ วิโมกข์ ชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระสันติอินทรียโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้สภาวะแห่งพระพุทธะก็คือพระธรรม สภาวะแห่งธรรมะนั่นเองที่ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์ สภาพแห่งคุณพระไตรรัตน์เป็นอสังขตะมีคุณอนันต์ดุจอากาศ สิ่งทั้งปวงก็มีสภาพอย่างเดียวกัน ผู้ใดปฏิบัติตามคุณดังกล่าวได้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระจิตนิราวรณโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“กายกับกายนิโรธ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้กายกับกายนิโรธเป็นสภาพเดียวกัน ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าผู้ที่เห็นแจ้งในสภาวธรรมตามเป็นจริงแห่งกายนี้ ย่อมไม่เห็นว่ามีกาย หรือความดับไปของกาย กายกับกายนิโรธไม่เป็นสอง ไม่มีวิกัลปะ เขาผู้นั้นไม่บังเกิดความหวั่นหวาด จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระอนุตตรกุศลโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้สุจริตกรรมทั้ง ๓ ล้วนปราศจากลักษณะปรุงแต่งกระทำใด ๆ เลย เมื่อกายปราศจากลักษณะปรุงแต่ง นั่นก็คือมโนทั้ง ๓ ปราศจากลักษณะปรุงแต่ง เมื่อกรรมทั้ง ๓ ปราศจากลักษณะปรุงแต่ง สิ่งทั้งปวงก็ปราศจากลักษณะปรุงแต่ง ผู้ใดสามารถปฏิบัติตามปัญญาอันปราศจากลักษณะปรุงแต่งนี้ได้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระบุญเขตโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้สังขารทั้ง ๓ เป็นสุญญตา เมื่อเป็นสุญญตาแล้ว ที่ไหนจักมีปัญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ผู้ที่ไม่ก่อสังขารทั้ง ๓ ให้มีขึ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระอวตังสกโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“ความมีเรามีเขา ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดเห็นแจ้งว่า เรานั้นไม่มีตามเป็นจริง ย่อมไม่เกิดความยึดถือเรา เมื่อไม่ยึดถือในธรรมคู่นี้ ก็ไม่เกิดอหังการและปรังการขึ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระคุณครรภธิสัตว์ กล่าวว่า

“ผู้บรรลุกับธรรมที่บรรลุ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดรู้แจ้งว่า เนื้อแท้ปราศจากผู้บรรลุกับธรรมที่บรรลุ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมไม่มีสิ่งอันพึงยึดถือฤๅสิ่งอันพึงละใด ๆ เมื่อไม่มีการยึดและไม่มีการละ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระจันทรอุตตรโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“ความมืดกับความสว่าง ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้ไม่มีสภาพมือฤๅสภาพสว่าง อันเป็นอไทฺวตะ เช่นอะไร ? เช่นผู้ที่เข้าสัญญาเวทยิตนโรธสมาบัติ ย่อมไม่มีสภาพมือฤๅสภาพสว่าง ลักษณะแห่งธรรมทั้งปวงก็ดุจเดียวกัน ผู้ใดเข้าถึงโดยสมธรรมอันสม่ำเสมอดั่งกล่าว จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระรัตนมุทรหัตถโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“ความยินดีในพระนิพพาน ความนิพพิทาในสังสารวัฏ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดหากไม่เกิดความยินดีในพระนิพพาน ไม่เกิดความหน่ายในสังสารวัฏ ชื่อว่าพ้นจากธรรมคู่ ข้อนั้นเหตุเพราะดังฤๅ ? ก็เพราะว่าเมื่อมีการถูกผูกพันถึงมีการหลุดพ้น แต่โดยปรมัตถ์เนื้อแท้ไม่มีผู้ใดที่ถูกพันเลย ก็แล้วจักมีใครเล่าที่จะหลุดพ้นออกไป ฉะนั้น เมื่อไม่มีสภาพผูกพัน ก็ย่อมไม่มีสภาพหลุดพ้น ย่อมไม่มีความยินดี และไม่มีความนิพพิทา ทำได้เช่นนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระมณีเสขรโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“สัมมามรรค มิจฉามรรค ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ที่ตั้งอยู่ในสัมมาภูมิย่อมไม่เกิดกัลปะว่า นี้เป็นสัมมามรรค นั่นเป็นมิจฉามรรค ผู้ใดพ้นจากธรรมคู่นี้ไปได้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระอานันทสัตย์โพธิสัตว์ กล่าวว่า

“สัตย์กับอสัตย์ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริง ย่อมไม่เกิดทิฏฐิว่านี้มีสภาวะจริง จักป่วยกล่าวไปไยกับที่จักเกิดทิฐิว่า นี้เป็นสภาวะเท็จเล่า ข้อนั้นเพราะเหตุดัง ฤๅ ? ก็เพราะว่าอันความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น ย่อมมิได้เห็นด้วยมังสจักษุ แต่เห็นได้ด้วยปัญญาจักษุเท่านั้น แลปัญญาจักษุนี้เล่า ย่อมไม่มีการเห็นหรือไม่เห็น๑ (๑. หมายความว่า สรรพธรรมเป็นสุญญตา จึงไม่มีการเห็นหรือไม่เห็นใด ๆ เพราะเห็นก็สุญญตา ไม่เห็นก็สุญญตา ปัญญาจักษุเห็นแจ้งในพระนิพพานซึ่งเป็นสุญญตาอีกเหมือนกัน )จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”

พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ต่างก็ได้เชลงทัศนะของแต่ละท่านออกมาด้วยประการฉะนี้ และแล้วที่ประชุมนั้นจึงพากันปุจฉาพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ขึ้นว่า
“ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ก็พระโพธิสัตว์ผู้เข้าสู่อไทฺวตธรรมทวารวิถีนั้น เป็นประการฉันใดหนอ ?”


พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ วิสัชนาว่า

“ตามมติของกระผม ในธรรมทั้งหลาย เมื่อปราศจากคำพูด ปราศจากโวหาร ปราศจากการแสดง ปราศจากความคิดรู้คำนึง พ้นจากการปุจฉาวิสัชนา นั่นคือการเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวารวิถี.”


ลำดับนั้นแล พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ถามท่านวิมลเกียรติคฤหบดีว่า

“ดูก่อนท่านคฤหบดี พวกอาตมะทั้งปวงต่างก็ได้เฉลยพจน์ของตนแล้ว บัดนี้เป็นวาระของท่านจักพึงเฉลยบ้าง โดยประการฉันใดหนา พระโพธิสัตว์จึงเข้าสูอไทฺวตธรรมทวารวิถี.”
ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้สงบนิ่งปราศจากด้วยวจนะใด ๆ.
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงเปล่งสาธุการขึ้นว่า

“สาธุ ! สาธุ ! เมื่อปราศจากอักขรโวหารวจนบัญญัติใด ๆ จึงนับว่าเป็นการเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวารวิถีโดยแท้จริงทีเดียว.”
เมื่อที่ประชุมแสดงอไทฺวตธรรมทวารกถานี้จบลง มีพระโพธิสัตว์ ๕๐๐ รูปในธรรมสภานั้น ต่างก็บรรลุเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร ได้สำเร็จอนุตปาทธรรมกษนติ ด้วยประการฉะนี้แล.

ปริเฉทที่ ๙ อไทฺวตธรรมทวารวรรค จบ.



http://i697.photobucket.com/albums/vv331/winnejiro/thebird.gif
วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ
บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #22 เมื่อ: 16 กันยายน 2553 16:57:11 »



ปริเฉทที่ ๑๐

สุคันโธปจิตพุทธวรรค


ลำดับนั้นแล พระสารีบุตรเถรเจ้า ได้บังเกิดความปริวิตกขึ้นในใจว่าบัดนี้เป็นกาลใกล้เพลแล้ว ก็บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลายนี้ จักแสวงอาหารบริโภคได้ ณ ที่ใดหนอ ? ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้ทราบความปริวิตกของพระสารีบุตรแล้ว จึงกล่าวกับพระสารีบุตรว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระพุทธองค์ตรัสวิโมกขธรรม ๘ ซึ่งพระคุณรับปฏิบัติตาม ไฉนพระคุณจึงมาจำนงหวังต่อการขบฉันในการสดับพระสัทธรรมกระนี้เล่า ? หากพระคุณปรารถนาจักขบฉันอาหารไซร้ ก็ขอนิมนต์รอสักครู่หนึ่ง กระผมจักนำภัตอันไม่เคยมีมาก่อนถวายแด่พระคุณ.”

ครั้นแล้ว วิมลเกียรติอุบาสกจึงเข้าสู่ฌานสมาบัติ บันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร สำแดงโลกธาตุเบื้องบน ให้ชนทั้งหลาย ณ ที่นั่นเห็นกล่าวคือ ณ ทิสาภาคเบื้องบนผ่านพุทธเกษตรอันมีจำนวนเท่าเมล็ดทรายในคงคานที ๔๒ นทีรวมกัน มีโลกธาตุแห่งหนึ่งนามว่า พหุสุคันธพุทธเกษตร ในโลกธาตุนั้น มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สุคันโธปจิตตถาคต ยังดำรงพระชนม์ประทับแสดงพระธรรมบรรยายอยู่ ณ บัดนี้ อันว่าสุคันธะแห่งพุทธเกษตรนั้น นับว่าเป็นยอดเยี่ยมยิ่งกว่าบรรดากลิ่นหอมในพุทธเกษตรอื่นทั่วทศทิศ ยิ่งกว่ากลิ่นหอมทั้งในมนุษยโลกแลเทวโลกอีกด้วย อนึ่งในพหุสุคันธโลกธาตุนั้น แม้แต่นามว่าพระอรหันตสาวกก็ดี ฤๅนามพระปัจเจกโพธิเจ้าก็ดี จักมีอยู่ก็หามิได้ คงมีแต่บริษัทแห่งพระมหาโพธิสัตว์อันบริสุทธิ์หมดจด แลพระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น ย่อมตรัสพระสัทธรรมในหมู่พระโพธิสัตว์เหล่านี้

อนึ่ง สรรพสิ่ง ณ พุทธเกษตรนั้น แต่ละล้วนสำเร็จด้วยกลิ่นหอมอบอวลมณฑิราลัยสถานทิพย์ ก็ปรุงด้วยกลิ่นหอมระรวยรื่น แลพสุธาดลที่เดินจงกรมชังฆวิหารเล่าก็เป็นสุคันปฐพี อนึ่ง มีทิพยวโนทยานอันประดับด้วยสุคันธชาติหอมเฟื้องฟุ้ง แลทิพยสุทธิโภชน์ แห่งนิกรชนในพุทธเกษตรนั้น ก็มีสุคันธรสอันขจรขจายไปในโลกานุโลกไม่มีประมาณทั่วทศทิศกาลบัดนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พร้อมด้วยพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย กำลังประทับเสวยภัตตาหาร มีเหล่าเทพนิกรล้วนนามว่า สุคันธาลงกตเทพทุกองค์มีจิตปณิฌานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นผู้กระทำการน้อมถวายภัตตาหารแด่พระตถาคตเจ้ากับทั้งพระโพธิสัตว์เหล่านั้น ก็ทิพยประภาพเป็นไปดังกล่าวนี้ ย่อมปรากฏแก่บริษัททั้งปวงบรรดาที่อยู่ ณ คฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติโดยต่างได้ทัศนาเห็นกันทั่วทุกรูปนามแล.

ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้กล่าวกับพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในคฤหาสน์ของท่านว่า

“ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย จักมีท่านผู้ใดฤๅไม่ ที่อาสาไปทูลขอทิพยสุทธาโภชน์จากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ?”
แต่ด้วยอานุภาพของ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ บันดาลให้ทุกผู้ในที่ประชุมนั้น พากันนิ่งเงียบ วิมลเกียรติอุบาสกจึงกล่าวว่า

“น่าละอายยิ่งนัก ที่บริษัทหมู่ใหญ่เห็นปานนี้ ปราศจากผู้ที่สามารถอาจรับอาสาไปนำทิพยสุทธาโภชน์ ณ พุทธเกษตรนั้นมาได้.”
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงท้วงขึ้นว่า

“ดูก่อนคฤหบดี พระพุทธองค์ตรัสไว้แล้วมิใช่หรือว่า อย่าพึงดูแคลนบุคคลผู้เริ่มศึกษา ?”

ลำดับนั้นแล ท่านวิมลเกียรติมิได้ลุกขึ้นจากอาสนะ เฉพาะหน้าชนทั้งหลายนั้น ท่านได้นิรมิตรูปพระโพธิสัตว์ขึ้นองค์หนึ่ง ประกอบด้วยศุภลักษณ์ผุดผ่องอลังการ พร้อมด้วยเตชพละอันพิเศษอุดมปรากฏขึ้นมาในท่ามกลางธรรมสภานั้น และแล้วคฤหบดีผู้นั้นจึงสั่งพับพระโพธิสัตว์นิรมิตนั้นว่า

“ท่านจะไปสู่โลกธาตุ ณ ทิศาภาคเบื้องบน ผ่านโลกธาตุจำนวนเท่าเมล็ดทรายใน ๔๒ สายคงคานทีรวมกัน มีโลกธาตุหนึ่งนามว่า พหุสุคันธพุทธเกษตร มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สุคันโธปจิตพุทธะ พระองค์พร้อมทั้งหมู่พระโพธิสัตว์ กำลังเสวยภัตตาหารอยู่ ณ บัดนี้ท่านจงไปเฝ้าพระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น จงกราบทูลตามคำของเราว่า ข้าพระองค์วิมลเกียรติ ขอถวายอภิวาทน์แด่พระบาทบงกชของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า มีพระอิริยาบถเป็นไปด้วยความผาสุกอยู่ฤๅ ? ทรงมีพระโรคน้อย มีความถูกเบียดเบียนเพราะสังขารทุกข์น้อยอยู่ฤๅ ? ทรงมีพระอนามัยแข็งแรงกระปรี้กระเปร่าดีฤๅ ? ข้าพระองค์มีความปรารถนามาทูลขอทิพยสุทธาโภชน์ อันเหลือจากเสวยของพระองค์ เพื่อประสงค์นำไปบำเพ็ญพุทธกรณียกิจยังสหโลชกธาตุกระทำให้บุคคลผู้ยินดีในหินธรรมได้บริโภคอาหารนี้แล้ว บังเกิดจิตปณิธานมุ่งต่อพระโพธิญาณ ยังมหาปฏิปทา (สู่พุทธภูมิ) ให้แพร่หลายไพบูลย์ อนึ่ง เพื่อยังพระเกียรติคุณแห่งพระสุคตเจ้าให้ระลือลือเลื่อง ณ สหโลกธาตุนั้นอีกโสดหนึ่งด้วย.”
บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #23 เมื่อ: 16 กันยายน 2553 17:02:35 »





ครั้งนั้นแล พระโพธิสัตว์นิรมิต ณ ที่ประชุมนั้น ได้สำแดงปาฏิหาริย์เหาะลอยขึ้นไปสู่ทิศาภาคเบื้องบน เป็นที่แลเห็นกันตลอด เมื่อเหาะมาถึงพหุสุคันธพุทธเกษตร ได้ถวายอภิวาทน์พระบาทของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้าแล้ว ก็กราบทูลตามคำของท่านวิมลเกียรติว่า ฯลฯ.

ก็โดยสมัยนั้นแล บรรดาพระมหาบุรุษ ซึ่งสถิตอยู่ในพหุสุคันธโลกธาตุ ครั้นได้ยลเห็นพระโพธิสัตว์นิรมิตพระองค์นี้แล้ว ต่างก็พากันอัศจรรย์ จึงพากันกราบทูลถามพระสุคตเจ้าขึ้นว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านผู้นิรทุกข์นี้มาแต่อาคตสถานหนใดหนอ อนึ่ง สหโลกธาตุนั้นเล่า อยู่ใกล้ไกลจากแดนนี้ไปอีกเท่าไร และด้วยเหตุดังฤๅจึงชี่อว่าบุคคลผู้ยินดีในหินธรรม พระพุทธเจ้าข้า ?”
พระทศพล พระองค์นั้น จึงตรัสว่า

“จากที่นี้ไป ณ ทิศาภาคเบื้องต่ำ ผ่านโลกธาตุอันมีจำนวนดุจเมล็ดทรายในคงคานที ๔๒ นทีรวมกัน ยังมีโลกธาตุหนึ่งชื่อว่า สหโลกธาตุ มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศากยมุนีพุทธะ ประทับแสดงพระสัทธรรมในท่ามกลางโลกซึ่งมีความเสื่อม ๕ ประการนั้น ทรงแสดงปฏิปทาให้แก่สัตว์ทั้งหลายผู้ยินดีในหินธรรม พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งชื่อว่า วิมลเกียรติ เขาผู้นี้ดำรงอยู่ในอจินไตยวิมุตติธรรม เป็นผู้กำลังกล่าวธรรมบรรยายแก่ชนทั้งหลายอยู่ ณ กาลบัดนี้ เขาเป็นผู้นิรมิตรูปพระโพธิสัตว์ดังกล่าวมายังโลกธาตุแห่งนี้ เขาได้กล่าวสดุดีเราผู้ตถาคต อีกทั้งสรรเสริญความอุดมวิเศษแห่งโลกธาตุนี้ด้วย เพื่อยังกุศลของพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในธรรมสมาคมนั้นให้ทวีสมบูรณ์ขึ้น.”

เหล่าพระโพธิสัตว์ จึงพากันทูลถามอีกว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านวิมลเกียรติเป็นบุคคลชนิดใด จึงสามารถนิรมิตรูปเห็นปานนี้ กอปรทั้งมีกำลังแห่งคุณ ปราศจากความหวั่นหวาด มีอิทธิบาทถึงกระนี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า ?”
พระสุคันโธปจิตพุทธเจ้า ตรัสว่า

“อันคุณธรรมแลอิทธานุภาพของอุบาสกนั้น ยิ่งใหญ่มโหฬารนักหนาแม้แต่ในโลกธาตุทั้งหลายทั่วทศทิศ เขาก็ได้ส่งรูปนิรมิตไปบำเพ็ญพุทธกรณียกิจต่าง ๆ เป็นอเนกประการ เพื่อหิตประโยชน์ของสรรพสัตว์.”
เมื่อ มีพระพุทธฎีกาดั่งนั้นแล้ว พระสุคันโธปจิตพุทธเจ้า จึงทรงประทานทิพยสุทธาโภชน์ ซึ่งบรรจุบาตรอยู่ในจำนวนมากอยู่เต็มให้แก่พระโพธิสัตว์นิรมิต (อาหารทั้งหมดก็รวมอยู่ในบาตรเพียงใบเดียว).
ครั้งนั้นแล พระโพธิสัตว์จำนวน ๙ ล้านองค์ที่อยู่ ณ ที่นั้น ก็พากันเปล่งเสียงขึ้นว่า

“พวกข้าพระองค์ ปรารถนาจักไปสู่สหโลกธาตุ เพื่อถวายสักการบูชาพระศากยมุนีพุทธเจ้า แลเยี่ยมเยือนท่านวิมลเกียรติกับทั้งหมู่พระโพธิสัตว์ในแดนนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”
พระสุคันโธปจิตพุทธเจ้า จึงมีพุทธบรรหารว่า

“จงไปเถิด ! แต่จงรวมกลิ่นหอมในสรีรกายของพวกเธออย่าให้ขจรเฟื่องฟุ้ง จักเป็นเหตุให้สรรพสัตว์ในสหโลกธาตุผู้ได้สูดสุคันธารมณ์นี้แล้ว บังเกิดฉันทราคะต่อกลิ่นนั้นได้ อนึ่ง พึงสละทิพยกายของเธอไว้ก่อน อย่าให้บุคคลผู้แสวงพระโพธิญาณในแดนนั้น ทัศนาเข้าแล้วเกิดการเปรียบเทียบกับกายของตนเอง แล้วแลบังเกิดความละอายในกายของตนได้๑ (๑. คือพระโพธิสัตว์ในพหุสุคันธโลก ล้วนเป็นทิพยกายผิดกับพระโพธิสัตว์ บุคคลในโลกของเรานี้เป็นแต่มนุษยกาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ อันจะเป็นเหตุให้ผู้เพิ่งมุ่งพระโพธิญาณเกิดความขวยอายในภาวะของตน จึงตรัสให้มาโดยการสำแดงกายเป็นมนุษย์) อนึ่ง เธอทั้งหลายอย่าได้เกิดอวรณสัญญาดูแคลนต่อพระโพธิสัตว์เหล่านั้นว่า มีสรีระด้อยกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าโลกธาตุในทศทิศ ย่อมเปรียบด้วยความว่างเปล่า อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจักแสดงพระสัทธรรมโปรดปรานบรรดาผู้ยินดีต่อหินธรรม พระองค์ย่อมไม่สำแดงพุทธเกษตรของพระองค์ให้ให้บริสุทธิ์หมดจดวิเศษไปเสียเลยทีเดียว.”

เมื่อจบ พระดำรัสลง พระโพธิสัตว์นิรมิต ซึ่งถือเอาบาตรรทิพยสุทธาโภชน์พร้อมด้วยพระโพธิสัตว์ ๙ ล้านองค์ อาศัยพระพุทธาภินิหารกับทั้งอานุภาพของท่านวิมลเกียรติประกอบกัน ได้อันตรธานจากพหุสุคันธโลกธาตุ เพียงชั่วขณะเดียวก็มาปรากฏในคฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติคฤหบดี.”

ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้บันดาลให้เกิดสิงหาสนบัลลังก์ขึ้น ๙ ล้านที่ ด้วยอานุภาพแห่งฤทธิ์ แต่ละล้วนวิจิตรอลงกตดุจสิงหาสนบัลลังก์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ขจรมาใหม่ จึงได้ขึ้นประทับบนอาสนะเหล่านั้น ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นิรมิตได้นำบาตรอันเต็มเปี่ยมด้วยสุคันธโภชน์เข้าไปมอบให้แก่ท่านคฤหบดี แต่กลิ่นแห่งทิพยาหารนั้นได้กำจายไปทั่วเขตนครเวสาลี ตลอดจนอบอวลครอบงำไปทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุอีกด้วย บรรดาประชาชน มีสมณพราหมณ์ คฤหบดีทั้งหลายเป็นอาทิในกรุงเวสาลี ต่างได้สูดกลิ่นหอมอันเป็นทิพย์นี้แล้ว ทุก ๆ คนก็มีกายแลใจอันผมสุกสำราญยิ่ง ต่างสดุดีว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2553 15:18:57 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #24 เมื่อ: 16 กันยายน 2553 17:15:01 »



ครั้งนั้น ประธานเจ้าลิจฉวี ผู้ชื่อว่าจันทรฉัตร พร้อมด้วยบริวาน ๘๔,๐๐๐ คน ได้ยุรยาตรมาสู่คฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติ แลเมื่อยลหมู่แห่งพระโพธิสัตว์จำนวนมากในคฤหาสน์นั้น พร้อมทั้งสิงหาสนบัลลังก์อันอลังการไพจิตรสูงตระหง่าน ก็บังเกิดความโสมนัสปรีดาพากันถวายภิวาทน์แต่พระโพธิสัตว์ กับทั้งพระอรหันตสาวกเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง อนึ่ง ปวงภุมมเทพเจ้า อากาสเทพเจ้ากับทั้งเทพเจ้าในกามาพจรสวรรค์ก็ดี เทพเจ้าในรูปาพจรพรหมโลกก็ดี เมื่อได้สูดกลิ่นหอมดังกล่าวแล้ว ต่างก็มาสู่คฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติทั่วหน้ากันทุกองค์แล.

ลำดับนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี จึงกล่าวกับบรรดาพระอรหันตสาวก มีพระสารีบุตรเป็นต้นว่า

“ขอนิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายขบฉันจังหันนี้ ซึ่งเป็นอมฤตวิสุทธิสุคันธโภชน์แห่งองค์พระสุคตเจ้า เป็นกระยาหารอันอบรมสำเร็จมาจากพระมหากรุณาของพระพุทธองค์ แต่ขออาราธนาอย่าได้ขบฉันด้วยจิตที่มีภูมิขีดคั่นจำกัด๒ ( ๒. จิตที่ภูมิขีดคั่นจำกัด หมายถึงจิตที่ตั้งอยู่ในภูมิพระอรหันตสาวก ซึ่งในทัศนะของฝ่ายมหายานเห็นว่ายังแคบ ควรตั้งอยู่ในภูมิแห่งมหากรุณาบำเพ็ญโพธิจริยามุ่งพระพุทธภูมิดีกว่า. ) มิฉะนั้นแล้ว ก็มิอาจย่อยอาหารนี้ได้เลย.”

ครั้งนั้น มีพระสาวกบางรูปเกิดความปริวิตกว่า อาหารมีปริมาณเท่านี้ไหนเลยจักเพียงพอกับทุก ๆ คนในบริษัทหมู่ใหญ่เห็นปานนี้จักบริโภคโดนทั่วถึงกันได้ พระโพธิสัตว์นิรมิตทราบความปริวิตกนั้นแล้ว จึงกล่าวขึ้นว่า
“ขอท่านผู้เจริญ อย่าได้ทำคุณธรรมเพียงเล็กน้อย ปัญญาเพียงเล็กน้อยของภูมิพระสาวกมาหยั่งประมาณพระคุณาภินิหารบุญสัมภาราดิเรกอีกทั้งพระมหาปัญญาของพระตถาคตเจ้าเลย ถึงมาตรแม้นว่ากระแสชโลทกในห้วงมหาสมุทรทั้ง ๔ จักเหือดแห้งแล้วอันตรธานไป อันทิพยวิสุทธาหารนี้ก็บ่ได้กำจัดหมดสิ้น อนึ่ง ถ้งต่อให้สรรพนิกรชนบริโภคอาหารครุวนาดุจจอมไศลสุเมรุมาศ แลบริโภคอยู่ตลอดกัลป์หนึ่งก็ตาม กระนั้นก็ยังมิอาจยังปริมาณแห่งสุคันธโภชน์นี้ให้หมดสิ้นไปได้ ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่า ทิพยกระยาหารนี้เป็นอาหารส่วนเหลือของพระผู้บริบูรณ์ด้วยคุณมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันปราศจากขอบเขตอันเป็นอนันตะนั่นเอง.”

โดยประการฉะนี้ อาหารเพียงบาตรเดียว จึงสามารถยังมหาชนที่มาสันนิบาตอิ่มหนำสำราญโดยทั่วถ้วนอย่างมหัศจรรย์ยิ่ง แต่ก็ยังม่อาหารปรากฏอยู่มิรู้หมด แลบรรดาพระโพธิสัตว์ก็ดี พระอรหันตสาวกก็ดี ทวยเทพก็ดี มนุษย์ทั้งหลายก็ดี ประดาที่ได้บริโภคสุคันธโภชน์นี้แล้วต่างก็มีสรีระอันผาสุกยิ่ง มีครุวนาดุจเดียวกับสรีระแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในสรรพโลกธาตุ อันประดับด้วยสุขารมณ์ฉะนั้น อนึ่ง ตามขุมขนแห่งชนผู้บริโภคภัตนั้น ก็มีกลิ่นขอมอบอวลออกมา ดุจกลิ่นหอมแห่งบรรดาพฤกษชาติลดาวัลย์ในพหุสุคันธโลกธาตุอันเดียวกัน.

ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้ตั้งปุจฉาหมู่พระโพธิสัตว์แห่งพหุสุคันธเกษตรขึ้นว่า

“ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ผู้มีพระนามว่าพระสุคันโธปจิตตถาคตเจ้านั้น พระองค์แสดงพระธรรมบรรยายอย่างไรหนอแล ?”
พระโพธิสัตว์ทั้งนั้น จึงตอบเชลงพจน์ว่า

“อันพระสุคตเจ้าในโลกธาตุของเราทั้งหลายนั้น พระองค์มิได้อาศัยอักขรโวหารบัญญัติใด ๆ มาแสดงพระสัทธรรม แต่ทรงอาศัยสรรพสุคันธชาติเป็นปัจจัย ชักนำเทวาและมนุษย์ให้ตั้งอยู่ในสีลสมาจารวัตรนและพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ก็ประทับนั่งอยู่ภายใต้ร่มฉายาของสุคันธพฤกษ์ลดาวัลย์ ครั้นได้สูดสุรภีจากพฤกษชาติเหล่านั้น พลันก็บรรลุภูมิสรวคุณครรภ์สมาบัติ อันผสู้ที่เข้าสู่สมาบัติดังกล่าวนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติทั้งปวงแห่งพระโพธิสัตว์ทีเดียว.”

ครั้นแล้ว หมู่พระโพธิสัตว์แห่งพหุสุคันธโลกธาตุ จึงมีปฏิปุจฉาท่านวิมลเกียรติว่า

“ดูก่อนท่านคฤหบดี อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธผู้มีพระนามว่า พระศากยมุนีตถาคตเจ้าในโลกธาตุนี้ พระองค์แสดงพระธรรมบรรยายอย่างไรหนอแล ?”


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 สิงหาคม 2554 15:26:57 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: ภาพค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #25 เมื่อ: 16 กันยายน 2553 17:47:14 »


 
            

ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี จึงวิสัชนาว่า “สรรพสัตว์ในโลกธาตุแห่งนี้ มีอัชฌาสัยหยาบกระด้างขัดแข็งยากแก่การอบรมสั่งนอนนัก เหตุดังนั้น พระสุคตเจ้าพระองค์นั้น (หมายถึงพระศากยมุนีพระพุทธเจ้า) จึงต้องตรัสแสดงพจนารถซึ่งกล้าแข็ง เพื่อฝึกข่มสัตว์เหล่านั้นให้ราบคาบ จัดเป็นยถาปราธสาสนธรรม อาทิเช่น ตรัสเรื่องนิรยคติ ดิรัจฉานคติ เปรตคติ กับทั้งคติอันยากระกำลำบาก ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งบรรดาพาลชน ตรัสแสดงว่า นี้ชื่อว่ากายทุจริต นี้เป็นผลแห่งกายทุจริต นี้ชื่อว่าวจีทุจริต นี้เป็นผลแห่งวจีทุจริต นี้ชื่อว่ามโนทุจริตนี้เป็นผลแห่งมโนทุจริต นี้ชื่อว่าปาณาติบาต นี้เป็นผลแห่งปาณาติบาตนั้น นี้ชื่อว่าอทินนาทาน นี้เป็นผลแห่งอทินนาทานนั้น นี้ชื่อว่ากาเมสุมิจฉาจาร นี้เป็นผลแห่งกาเมสุมิจฉาจารนั้น นี้ชื่อว่ามุสาวาท นี้เป็นผลแห่งมุสาวาทนั้น นี้ชื่อว่าปิสุณาวาจา นี้เป็นผลแห่งปิสุณาวาจานั้น นี้ชื่อว่าผรุสวาจา นี้เป็นผลแห่งสัมผัปปลาปะ นี้เป็นผลแห่งสัมผัปปลาปะนั้น นี้ชื่อว่ามัจฉริยะ นี้เป็นผลแห่งมัจฉริยะนั้น

นี้ชื่อว่าทุศีล นี้เป็นผลแห่งทุศีลนั้น นี้ชื่อว่าความกริ้วโกรธ นี้เป็นผลแห่งจิตวิกเขปะนั้น นี้ชื่อว่าความหลงนี้เป็นผลแห่งความหลงนั้น ฯลฯ นี้ชื่อว่าควรทำ นี้ชื่อว่าไม่ควรทำ นี้ชื่อว่าอันตราย นี้ชื่อว่าไม่อันตราย นี้ชื่อว่าอาบัติ นี้ชื่อว่าอนาบัติ นี้ชื่อว่าสุทธิ นี้ชื่อว่าอสุทธิ นี้ชื่อว่าอาสวะ นี้ชื่อว่าอนาสวะ นี้ชื่อว่ามิจฉาปฏิปทา นี้ชื่อว่าสัมมาปฏิปทา นี้ชื่อว่าสังขตธรรม นี้ชื่อว่าอสังขตธรรม นี้ชื่อว่าโลกิยะ นี่ชื่อว่านิรวาณะ ที่พระองค์แสดงดั่งนี้ ก็เนื่องมาแต่ว่าบุคคลผู้ยากแก่การฝึกสอนเหล่านั้นมีจิตอุปมาดุจวานรป่าหลุกหลิกไม่คงที่ ฉะนั้น จึงจำต้องมีอุบายโกศลวิธีนานัปการเพื่อข่มจิตนั้น จึงสามารถฝึกหัดให้สงบได้ ครุวนาดังนาเคนทรดุรงคชาติที่คึกคะนองดุร้ายมิยอมอยู่ในอำนาจก็จำต้องฝึกหัดบังคับด้วยวิธีลงขอ เฆี่ยนจนตีให้เจ็บปวดถึงกระดูก ภายหลังจึงเข็ดหลาบยอมเชื่องได้ฉันใด ในการที่จักฝึกตนขัดเหล่าสรรพสัตว์ที่มีอัชฌาสัยกล้าแข็งหยาบกระด้าง ก็จำต้องใช้พจนารถซึ่งเป็นยถาปราธสาสนะอบรมสั่งสอนให้สำเร็จตั้งอยู่ในกุศลธรรมฉันนั้น.”

บรรดาพระโพธิสัตว์แห่งพหุสุคันธโลกธาตุ ได้สดับถ้อยแถลงของอุบาสกวิมลเกียรติดั่งนี้แล้ว ต่างก็พากันเปล่งเสียงขึ้นว่า

“น่าอัศจรรย์นัก ในการที่พระศากยมุนีนราศภทศพลเจ้า ไม่ทรงสำแดงอิสรพละอันปราศจากของเขตของพระองค์ให้ปรากฏ กลับมาปรากฏพระองค์ในโลกธาตุอันยากเข็ญนี้ เพื่อโปรดสรรพสัตว์ อนึ่งแม้เหล่าเทพโพธิสัตว์ ณ แดนนี้ ก็ยอมตรากตรำเหนื่อยยาก ด้วยอาศัยมหากรุณาจิตอันไม่มีประมาณ มาถือสมภพ ณ พุทธเกษตรเหล่านี้ได้.”

ท่านวิมลเกียรติจึงกล่าวว่า 

“ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ พระโพธิสัตว์ในโลกธาตุนี้ ย่อมมีพระมหากรุณาจิตอันมั่นคงไม่หวั่นไหวในปวงสัตว์ ดุจวจีสรรเสริญของท่านทั้งหลายแม่นแล้ว อนึ่ง ขอท่านผู้นิรทุกข์ทั้งปวง พึงทราบไว้ด้วยว่า พระโพธิสัตว์ในโลกธาตุนี้ แม้จักบำเพ็ญหิตานุหิตจริยาต่อสัตว์ทั้งหลายเพียงชาติเดียวก็ยังประเสริฐกว่าพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญโพธิจริยาในโลกธาตุอื่น นับด้วยร้อยด้วยพันกัลป์ทีเดียวหนา ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ ? ก็เพราะว่าในสหโลกธาตุนี้ มีความดีอยู่ ๑๐ ประการ ซึ่งหามิได้ในโลกธาตุอื่นใด ก็ความดี ๑๐ ประการนั้นเป็นไฉน ? คือ

ได้อาศัยทานสงเคราะห์ผู้ทุคตะเข็ญใจ ๑
ได้อาศัยศีลบารมีสงเคราะห์ผู้ทุศีล ๑
ได้อาศัยขันติบารมีสงเคราะห์ผู้มักกริ้ว ๑
ได้อาศัยวิริยะบารมีสงเคราะห์ผู้เกียจคร้านท้อแท้ ๑
ได้อาศัยฌานบารมีสงเคราะห์ผู้มีวิกเขปจิต ๑

ได้อาศัยปัญญาบารมีสงเคราะห์ผู้โง่หลง ๑
ได้แสดงธรรมิกอุบาย พาบุคคลให้ข้ามอัฏฐอันตรายธรรม ๑
ได้แสดงมหายานธรรมโปรดบุคคลผู้ยินดีในหินธรรม ๑
ได้อาศัยกุศลินทรีย์ประการต่าง ๆ โปรดบุคคลผู้ไร้กุศลธรรม ๑
ได้อาศัยสังคหวัตถุ ๔ สงเคราะห์สรรพสัตว์ให้สำเร็จ ๑


รวม ๑๐ ประการอย่างนี้แล.”


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 สิงหาคม 2554 15:33:18 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #26 เมื่อ: 16 กันยายน 2553 18:22:49 »



พระโพธิสัตว์เหล่านั้น จึงถามต่อไปว่า

“ดูก่อนคฤหบดี พระโพธิสัตว์จักต้องสำเร็จในธรรมมีประการฉันใดหนา จึงจักดำเนินจริยาโปรดสัตว์ในสหโลกธาตุนี้ได้ โดยมิแปดเปื้อนด้วยมลทินโทษ แล้วแลได้อุบัติในวิสุทธิภูมิ.”
ท่านวิมลเกียรติเฉลยว่า

“ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ พระโพธิสัตว์จักต้องสำเร็จให้ธรรมอันเป็นคุณสมบัติ ๘ ประการ จึงสามารถดำเนินจริยาโปรดสัตว์ในสหโลกธาตุนี้ได้โดยมิแปดเปื้อนด้วยมลทินโทษ ก็คุณสมบัติ ๘ ประการนั้นเป็นไฉน ?คือ

๑. พระโพธิสัตว์จักต้องบำเพ็ญตนให้เป็นคุณประโยชน์ต่อปวงสัตว์โดยไม่ปรารถนารับผลตอบแทนจากสัตว์ทั้งหลายใด ๆ.

๒. พระโพธิสัตว์สามารถเสวยสรรพทุกข์แทนสรรพสัตว์ได้โดยมิย่นย่อท้อถอย.

๓. พระโพธิสัตว์สร้างคุณความดีไว้มีประมาณเท่าไรก็สามารถอุทิศให้แก่สัตว์ทั้งหลายได้ ไม่หวงแหนตระหนี่ไว้.

๔. พระโพธิสัตว์ตั้งจิตอยู่ในสมธรรมดันสม่ำเสมอในปวงสัตว์ ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ถ่อมตนไว้ไม่ลำพองโดยปราศจากความข้องขัดใด ๆ.

๕. พระโพธิสัตว์เห็นพระโพธิสัตว์ทุก ๆ องค์ ปานประหนึ่งเห็นพระพุทธองค์ อนึ่ง พระสูตรใดที่ยังมิเคยได้สดับตรับฟัง ครั้นได้มีโอกาสสดับตรับฟังแล้ว ก็ไม่บังเกิดความคลางแคลงกังขาอย่างไรในพระสูตรนั้น ๆ๑ (๑. คุณสมบัติข้อนี้เท่ากับตอบปัญหาของฝ่ายหินยาน ที่มีความสงสัยในพระสูตรคัมภีร์ต่าง ๆ ของมหายานว่า ไม่มีในพระปิฎกฉบับภาษาบาลี จะเป็นของแต่งขึ้นภายหลังกระมัง ถ้าเราเป็นพระโพธิสัตว์ไซร้ ก็ต้องไม่บังเกิดความสงสัยขึ้น เพราะฝ่ายมหายานถือว่าพระสูตรจะเป็นของใหม่ของเก่าก็ตาม แต่ให้ถือเอาธรรมในคัมภีร์เป็นสำคัญ. )

๖. พระโพธิสัตว์ไม่หันปฤษฎางค์ให้กับธรรมของพระอรหันตสาวก๒ (๒. ฝ่ายมหายานถือว่า ธรรมฝ่ายหินยานนั้น เป็นบุพพภาคที่จักพาบุคคลให้เข้าถึงฝ่ายมหายาน ) แต่สมัครสมานเข้ากันได้กับธาตุดังกล่าวนั้น

๗. พระโพธิสัตว์ ไม่เกิดความริษยาในลาภสักการะอันบังเกิดแก่ผู้อื่น แลไม่เกิดความหยิ่งทะนงในลาภสักการะอันบังเกิดแก่ตนเองสามารถควบคุมจิตของตนไว้ได้.

๘. พระโพธิสัตว์จักต้องหมั่นพิจารณาโทษของตนอยู่เป็นนิตย์ไม่เที่ยวเพ่งโทษ โพนทะนาโทษของผู้อื่น ตั้งจิตมั่นคงเด็ดเดี่ยวในการสร้างบารมี.

นี้แล ชื่อว่าธรรมอันเป็นคุณสมบัติ ๘ ประการของพระโพธิสัตว์

เมื่อ ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ได้กล่าวธรรมีกถาในท่ามกลางมหาสันนิบาตนี้จบลง ก็มีเทพยดาจำนวนร้อยเป็นอเนกจำนวนพันเป็นอเนก ตั้งจิตมั่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แลมีพระโพธิสัตว์หนึ่งหมื่นองค์ ได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติแล.

ปริเฉทที่ ๑๐ สุคันโธปจิตพุทธวรรค จบ.


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2553 13:21:17 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #27 เมื่อ: 21 กันยายน 2553 18:25:19 »



ปริเฉทที่ ๑๑

โพธิสัตว์จริยาวรรค

ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับแสดงพระสัทธรรม ณ อัมพปาลีวันอันเป็นรมณียสถาน บัดดลถนาสณฑ์นั้นก็บังเกิดมหัสจรรย์แปรเปลี่ยนเป็นภูมิภาพอันแล้วด้วยวิจิตราลงกตพิศาลลักษณ์เลิศเลอพสุธามณฑลอีกทั้งชนทั้งมวล ล้วนรุ่งเรืองด้วยกนกวรรณ ครั้งนั้นแล พระอานนทเถรเจ้าจึงกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ด้วยเหตุปัจจัยใดหนอ จึงมีศุภนิมิตเป็นปานนี้ปรากฏ สรรพสิ่งในไพรพนาสณฑ์นี้ จึงได้พิบูลย์อลงกรณ์ไพจิตรล้ำในฉับพลัน อีกทั้งสรรพชนเหล่านี้เล่า แต่ละล้วนวิโลวรรณโอภาสพระพุทธเจ้าข้า.” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ศุภนิมิตที่สำแดงอยู่ ณ กาลบัดนี้ มีเหตุปัจจัยเนื่องมาจากวิมลเกียรติอุบาสกแลมัญชุศรีโพธิสัตว์พร้อมด้วยมหาชนซึ่งยกย่องนิยมเธอทั้ง ๒ แวดวงห้อมล้อม ต่างผูกจิตหมายจักมา ณ อุทยานนี้แล.”

ลำดับนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีก็กล่าวกับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ว่า “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ เราทั้งหลายจงไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน พร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ผู้มาจากพหุสุคันธโลกธาตุเหล่านี้ จักได้มีโอกาสกระทำสักการบูชาในพระสุคตเจ้าพระองค์นั้น.”

พระมัญชุศรี ตอบว่า “สาธุ จงไปด้วยกันเถอะ บัดนี้เป็นการสมควรดีทีเดียว.”

ครั้นแล้ว วิมลเกียรติคฤหบดีจึงบันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร นำมหาชนทั้งนั้น พร้อมด้วยสิงหาสนบัลลังก์ทั้งหมด ประดิษฐานบนฝ่าหัตถ์ขวาของท่านเอง แล้วไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า ครั้นถึงที่ประทับแล้วจึงว่างมหาชนกับสิงหาสนบัลลังก์ลงยังแผ่นดิน เข้าไปอภิวาทน์พระบาทบงกชของพระสุคตเจ้าด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ ๗ รอบ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แม้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายต่างก็ละจากอาสนะของตนเข้าไปอภิวาทน์ พระบาทบงกชของพระสุคตเจ้าด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ ๗ รอบ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่งดุจกัน แม้บรรดาพระอรหันตสาวก ท้าวมหาพรหม ท้าวโกสีย์ ท้าวจตุโลกบาล ทวยเทพนิกรเป็นต้น นอกนี้ต่างก็ละจากอาสนะกระทำอภิวาทน์พระบาทบงกชของพระสุคตเจ้าด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ ๗ รอบ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสัมโมทนียกถากับมหาชนผู้มาเฝ้าพอสมควร แล้วจึงมีพุทธานุญาตให้ชนทั้งหลายนั่งยังอาสนบัลลังก์ของตน ๆ แล้วมีพุทธดำรัสกับพระสารีบุตรว่า
“ดูก่อนสารีบุตร เธอเห็นอภินิหารอันอิสระ ซึ่งบันดาลโดยพระโพธิสัตว์ ผุ้มหาบุรุษรัตน์ฤๅหนอแล.”

พระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ได้ประจักษ์แล้ว พระพุทธเจ้าข้า.”

“เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ?” ทรงตรัสถาม

พระสารีบุตร “ข้าแต่พระองค์ผู้ควรบูชา ข้าพระองค์เห็นว่าสิ่งทั้งนี้เป็นอจินไตย สุดที่ความคิดอ่านคาดประมาณของข้าพระองค์จักหยั่งทราบไปถึงได้ พระพุทธเจ้าข้า.”
ครั้งนั้น พระอานนท์จึงทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ได้กลิ่นสุคนธ์อันหอมหวนซึ่งมิเคยได้กลิ่นชนิดนี้มาก่อน กลิ่นสุคนธ์นั้นเป็นกลิ่นอะไรหนอแล ?”
ตรัสว่า “เป็นสุคันธชาติซึ่งเฟื่องฟุ้งออกมาจากขุมโลมาชาติ ณ สรีรกายแห่งพระโพธิสัตว์เหล่านี้.”

พระสารีบุตรจึงพูดกับพระอานนท์ว่า “อาวุโสอานนท์ ขุมโลมาชาติของผมก็พลอยมีสุคันธชาตินี้เหมือนกัน.”
พระอานนท์ถามว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตรผู้เจริญ อันสุคนธชาติดังกล่าวนี้มาแต่หนใดเล่า ?”

พระสารีบุตร “ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี เป็นผู้ไปนำภัตตาหารซึ่งเหลือจากพุทธบริโภค ณ พหุสุคันธโลกธาตุ มาให้พวกผมขบฉันที่คฤหาสน์ของท่าน ผู้ใดได้บริโภคทิพยกระยาหารนี้ ก็จักมีกลิ่นสุรภีออกจากขุมโลมาชาติทุกรูปนาม.”

พระอานนท์จึงหันมาถามท่านวิมลเกียรติว่า “ดูก่อนท่านคฤหบดีสุคันธชาตินี้ ยังจักตั้งมั่นอยู่โดยกาลเพียงใดหนอ ?”
ท่านวิมลเกียรติตอบว่า “จักตั้งอยู่ตราบถึงอาหารนี้ย่อยไปหมดแล้ว.”

ถาม “ก็ทิพยโภชน์ดั่งกล่าวนี้จักย่อยไปโดยกาลเพียงใดเล่า ?”

ตอบ “พลังโอชะแห่งทิพยาหารนี้ ตั้งอยู่ถึง ๗ ทิวาวาร ภายหลังจึงย่อยสลายไป อนึ่ง พระคุณเจ้าอานนท์ หากพระสาวกรูปใดผู้ยังมิได้เข้าถึงภูมิทัศนมรรค เมื่อบริโภคกระยาหารนี้ โอชฃะแห่งอาหารนั้นจักยังดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่พระสาวกรูปนั้นบรรลุทัศนมรรคภูมิ จึงย่อยละลายไป อนึ่ง พระสาวกรูปใดสำเร็จทัศนมรรคภูมิแล้ว เมื่อได้รับบริโภคกระยาหารทิพย์นี้โอชะแห่งอาหารนั้นจำดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่พระสาวกรูปนั้นได้บรรลุเจโตวิมุตติ อาหารนั้นจึงย่อยละลายไป ก็หรือว่าในบุคคลผู้ยังมิได้เกิดจิตปณิธานต่อมหายานธรรม หากได้บริโภคกระยาหารทิพย์นี้ โอชะแห่งอาหารนั้นก็จักยังดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่บุคคลนั้นได้บังเกิดจิตปณิธานในพุทธภูมิ อาหารนั้นจึงย่อยละลายไป

อีกประการหนึ่งบุคคลใดที่มีจิตปณิธานในพุทธภูมิอยู่แล้ว แลได้มาบริโภคทิพยโภชน์นี้ โอชะแห่งอาหารนั้นก็จักยังดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่บุคคลนั้นได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ อาหารนั้นจึงย่อยละลายไป อนึ่ง บุคคลที่ได้สำเร็จอนุตปาทธรรมกานติแล้วแลมาบริโภคสุคันธโภชน์นี้ โอชะแห่งอาหารนั้นก็จักดำรงอยู่ตราบถึงสมัยที่บุคคลนั้นได้บรรลุเอกชาติปฏิพัทธภูมินั่นแล อาหารดังกล่าวจึงย่อยละลายไป พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ อุปมาด้วยทิพยโอสถ ซึ่งมีนามว่าอุตตรรส บุคคลใดได้บริโภคเข้าไปแล้ว อานุภาพแห่งโอสถนั้นจักดำรงอยู่ตราบเท่าที่พิษโรคยังเหลือมีอยู่ในสรีระ เมื่อพิษสรรพโรคดับสูญสิ้นแล้ว โอสถดังกล่าวจึงย่อยละลายไปฉันใด อันว่าทิพยสุคันธาหารนี้ ก็มีอานุภาพระงับดับพิษอันเกิดแต่สรรพกิเลส เมื่อกิเลสดับสูญสิ้นแล้ว ทิพยโภชน์นี้ก็ย่อมละลายไป มีอุปไมยฉันนั้นแล.”
บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #28 เมื่อ: 21 กันยายน 2553 18:41:57 »





พระอานนท์ จึงกราบทูลพระบรมศาสดาว่า “อัศจรรย์ยิ่งนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อันทิพยสุคันธาหารนี้ สามารถทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจได้อย่างดียิ่ง.”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “อย่างนั้น ๆ อานนท์ ยังมีพุทธเกษตรลางแห่งได้อาศัยรังสิโยภาสแห่งพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจลางแห่งอาศัยหมู่พระโพธิสัตว์ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ ลางแห่งอาศัยบุรุษนิรมิตซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนิรมิตขึ้น ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณีรยกิจก็มี ลางแห่งอาศัยต้นพระศรีมหาโพธิพฤกษ์ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยกาสาวพัสตร์นิสีทนะสันถัตเครื่องอุปโภคของพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยพุทธภัตตาหาร ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรรียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยวโนทยานทิพยมณฑิราลัยสถาน ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ แลอนพยัญชนะ ๘๐ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี ลางแห่งอาศัยพระพุทธสรีรกาย ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี

ลางแห่งอาศัยอากาศ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจก็มี สุดแต่ว่าอธิมุตติของสรรพสัตว์จะสมควรแก่เหตุปัจจัยเครื่องชักจูงอย่างไรอันจักเป็นเหตุให้เข้าถึงภูมิแห่งสีลสมาจาร ก็ย่อมปรากฏโดยสภาวธรรมนั้น ๆ ลางแห่งอาศัยความฝัน มายา เงา เสียง ภาพในกระจก ดวงจันทร์ ในท้องน้ำ พยับแดด อุปไมยธรรมต่าง ๆ โดยอเนกหลายหลากอย่างนี้ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ ลางแห่งอาศัยสำเนียงจำนรรจาโวหารอักขรบัญญัติ ทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ ฤๅอาศัยความสงัดเงียบปราศจากศัพท์สำเนียงใด ๆ ไม่มีการพูด ไม่มีการแสดง ไม่มีวิญญาณ ทางอายตนะ ไม่มีการกระทำ ไม่มีการปรุงแต่งทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ ด้วยประการฉะนี้แล อานนท์ สรรพพุทธอิริยาบถทั้งหลาย อีกทั้งการกระทำของพระพุทธะทั้งปวง ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยที่จักไม่เป็นการทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ.”

“ดูก่อนอานนท์ แม้มารทั้ง ๔ ประเภท แลกิเลส ๘๔,๐๐๐ ประการ อันยังปวงสัตว์ให้เหนื่อยล้าซบเซา แต่สำหรับกับพระพุทธะทั้งหลายไซร้ กิเลสเหล่านี้กลับเป็นเครื่องมืออาศัยทำหน้าที่บำเพ็ญพุทธกรณียกิจ นี้แลชื่อว่าการเข้าสู่ประตูธรรมแห่งสรรพพุทธะทั้งปวง อันพระโพธิสัตว์ใดเข้าสู่ประตูธรรมดั่งกล่าวมานี้ มาตรจักได้ทัศนาเห็นความวิสุทธิไพบูลย์แห่งพุทธเกษตร ก็ย่อมไม่ก่อเกิดความปรีดา ไม่บังเกิดความละโมบ ไม่มีความรู้สึกอติมานะทรนงภาคภูมิ ฤๅโดยประการตรงกันข้าม หากจักได้ทัศนาเห็นพุทธเกษตรที่เศร้าหมองไม่ผ่องแผ้วสะอาดหมดจด ก็ย่อมไม่เกิดความโทมนัส ไม่บังเกิดความขัดข้องแห่งจิต ไม่มีความรู้สึกเอือมระอาหน่ายแหนง แต่พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมตั้งจิตอันสะอาดผ่องใส ประกอบด้วยความปสาทะ เคารพนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงโดยเสมอกัน มีความรู้สึกว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีพระคุณเสมอกัน แต่ด้วยกุศโลบายในการโปรดสัตว์ จึงทรงสำแดงพุทธเกษตรให้แตกต่างออกไปเท่านั้น.”

อานนท์! เธอเห็นจำนวนปริมาณแห่งพุทธเกษตรทั้งหลายได้อยู่แต่จักเห็นจำนวนปริมาณของอากาศความว่างเปล่าย่อมไม่ได้ เช่นเดียวกับที่เธอเห็นจำนวนปริมาณแห่งพระสรีรรูปของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ แต่จักเห็นจำนวนปริมาณของพระคุณมีพระปัญญาคุณ อันปราศจากขอบเขตของพระพุทธเจ้าทั้งปวงย่อมมิได้ ดูก่อนอานนท์ อันพระพุทธกายทั้งหลายอานุภาพ พุทธวงศ์ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พละอภยะ อเวณิกธรรม มหาเมตตา มหากรุณา วัตตสมาจาร กับทั้งพระชนม์ชีพ การแสดงพระสัทธรรมวิสุทธิอลังการพุทธเกษตร ความสมบูรณ์ในธรรมแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าย่อมมีฐานะเสมอเท่ากันทั้งหมด เพราะเหตุนั้นแลจึ่งได้พระนามว่า สัมมาสัมพุทธะ พระนามว่า ตถาคต พระนามว่า พุทธะ

อานนท์! หากเราจักอธิบายความหมายแห่งพระนามทั้ง ๓ นี้โดยพิสดารไซร้ แม้อายุของเธอจักยืนอยู่เป็นกัลป์ ๆ ก็ยังไม่สามารถจักสดับฟังได้จบสิ้นถึงมาตรว่าสรรพสัตว์ในมหาตรีสหัสสโลกธาตุ มีคุณธรรมเช่นเดียวกับเธอคือเป็นเอตทัคคะทางพหูสูต มีสติจำทรงอย่างเยี่ยมยอด แลสัตว์ทั้งหลายนี้ล้วนมีอายุยืนเป็นกัลป์ ๆ ก็ยังมิสามารถจักสดับฟังได้จบสิ้น ด้วยประการฉะนี้แล อานนท์!
พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึ่งไม่มีประมาณไม่มีขอบเขต พระปัญญาปฏิภาณของพระพุทธเจ้าจึ่งเป็นอจินไตย.”



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2553 15:20:55 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #29 เมื่อ: 21 กันยายน 2553 18:50:45 »





พระอานนทเถรเจ้ากราบทูลพระบรมศาสดาว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นับตั้งแต่กาลบัดนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์มิอาจสำคัญตนเองว่า เป็นบุคคลผู้พหูสูตอีกแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.”

พระพุทธองค์จึงมีพระดำรัสว่า “สำแดงอานนท์ เธออย่าได้มีจิตท้อถอยอย่างไรเกิดขึ้นเลย อันตัวเธอนั้นเป็นเอตทัคคะพหูสูตบุคคลในหมู่แห่งพระสาวกทั้งหลาย มิได้หมายถึงในหมู่แห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายด้วยเลย เธอจงระงับมนสิการนั้นเสียเถิด ดูก่อนอานนท์ บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมไม่คิดประมาณหยั่งภูมิแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายเลย อันห้วงมหาสมุทรที่ล้ำลึกทั้งปวง ยังเป็นฐานะที่จักประมาณหยั่งเอาได้ แต่ภูมิของพระโพธิสัตว์มีฌานสมาบัติ ปรัชญา ธารณี ปฏิภาณ พร้อมด้วยคุณสมบัติหลากหลาย ย่อมไม่เป็นฐานะที่จักประมาณหยั่งเอาได้เลย อานนท์! พวกเธอทั้งหลายเป็นผู้สละคืนซึ่งโพธิสัตว์จริยาเสียหนอ โดยประการดังนี้วิมลเกียรติอุบาสกจึงได้สำแดงอานุภาพแห่งคุณาภินิหารให้เป็นไปปรากฏอยู่ซึ่งพระอรหันตสาวกทั้งหลาย พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้าทั้งหลายในกัลป์นับด้วยร้อยเป็นอเนก นับด้วยพันเป็นอเนก ต่างพยายามสำแดงอภินิหารอย่างถึงขีดสุด ก็ยังมิอาจกระทำสำแดงให้เป็นนั้นได้.”

ครั้งนั้นแล บรรดาพระโพธิสัตว์ที่มาจากพหุสุคันธพุทธเกษตรต่างพากันกระทำอัญชลีศิราภิวาทพระบาทพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลขึ้นว่า

“ข้าแต่พระสุคต กษณะแรกเมื่อข้าพระองค์ทั้ง ๒ ได้มาทัศนาโลกธาตุนี้ ก็บังเกิดความรู้สึกนึกหมิ่นแคลนในภูมิสถานดังกล่าว แต่ครั้นมาบัดนี้สิ ข้าพระองค์ทั้งหลายต่างสำนึกว่า จินตนาการเห็นปานนั้นเป็นความผิดไม่บังควรอย่างยิ่ง จึงได้สละมนสิการนั้นเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีอุปายโกศลอันเป็นอจินไตย แต่เพื่อโปรดสรรพสัตว์และเพื่อให้เหมาะกับอธิมุตติอัชฌาสัยของส่ำสัตว์นั้นจึงทรงสำแดงให้สำเร็จเป็นพุทธเกษตร ผิดแปลกแตกต่างกันออกไป โอ้ข้าแต่พระองค์ผู้ควรบูชา ขอพระองค์ทรงพระกรุณาประสาธน์ธรรมานุศาสน์แม้เพียงส่วนน้อยให้แก่ข้าพระองค์ทั้งปวง เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายนิวัตคืนสู่โลกาธาตุที่อาศัยแล้ว จักได้เป็นพุทธานุสสติอนุสรณ์รำพึงถึงพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า.”

พระผู้มีพระภาค จึงมีพุทธบรรหารว่า

“มีวิมุตติธรรมทวารบท ว่าด้วยอันตธรรมแลอนันตธรรม อันพวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกศึกษาไว้ ก็อันตธรรมนั้นเป็นไฉนเล่า ? บรรดาสังขตธรรมทั้งปวง ชื่อว่าอันตธรรม อนันตธรรมนั้นเป็นฉันใด ? กล่าวคืออสังขตธรรมนั่นเอง ชื่อว่าอนันตธรรม.”

“บุคคลผู้เป็นโพธิสัตว์ ย่อมไม่สละสังขตธรรมจนหมดสิ้น ในขณะเดียวกันก็ย่อมไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม คำใดซึ่งตถาคตกล่าวว่าไม่สละสังขตธรรมจนหมดสิ้นนั้นเป็นไฉน ? อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ย่อมมีจิตไม่ห่างจากมหาเมตตา ไม่เว้นจากมหากรุณา มีจิตปณิธานมุ่งต่อสรรเพชุดาญาณอย่างลึกซึ้งเสถียรภาพ บ่ห่อนจักได้หลงลืมคืนคลาย อนึ่งพระโพธิสัตว์ย่อมมุ่งแสดงธรรมสั่งสอนสรรพสัตว์ โดยบังเกิดความเหนื่อยหน่ายเอือมระอาใด ๆ ย่อมปฏิบัติตนในสังคหวัตถุธรรมเป็นนิรันดร์ย่อมอภิบาลรักษาพระสัทธรรมให้โรจนาภาสโดยจิรายุกาล มิเสียดายแม้กระทั่งชีวิตของตน อนึ่งเล่า ย่อมมีพิริยะอาจหาญบำเพ็ญสร้างสมสรรพกุศลินทรีย์โดยมิท้อแท้ ตั้งหฤทัยธำรงมั่นในอุดมคติไม่วิจละคลอนแคลนใด ๆ พระโพธิสัตว์นั้นย่อมอุทิศมุ่งต่อพระโพธิญาณด้วยปัญญาโกศล

หมั่นศึกษาเรียนเล่าในพระสัทธรรมโดยมิเกียจคร้าน แสดงธรรมแก่ผู้อื่นโดยปราศจากธรรมมัจฉริยะ แลย่อมเพียรถวายสักการบูชาในพระพุทธเจ้าทั้งหลายมิเชือนแช เมื่อพระโพธิสัตว์ใดปฏิบัติได้ พระโพธิสัตว์นั้นย่อมไม่บังเกิดความเกรงขามต่อชาติแลมรณะ ไม่บังเกิดโสมนัสฤๅโทมนัสในยามเสวยอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ และไม่บังเกิดความดูแคลนต่อบุคคลผู้ยังมิได้ศึกษา แต่จักให้ความเคารพ ประหนึ่งว่าเขาเป็นพระพุทธพระองค์หนึ่งฉะนั้น สัตว์เหล่าใดตกเป็นกิเลสทาส พระโพธิสัตว์ย่อมชักนำให้สัตว์เหล่านั้นได้วิโมกข์สถิตอยู่ในสัมมาทัศนะ
ผู้ใดประพฤติตนเป็นผู้ห่างไกลจากโลกิยสุข พระโพธิสัตว์ย่อมไม่สำคัญกว่านั่นเป็นจรรยาอันวิเศษ* พระโพธิสัตว์ย่อมไม่ถือประโยชน์สุขแห่งตนเป็นสำคัญ แต่จักมีมุทิตาจิตในความสุขของสรรพสัตว์เป็นสำคัญ.

อนึ่งเล่า พระโพธิสัตว์นั้นย่อมมนสิการว่า การเข้าสู่ฌานสมาบัติมีอุปมาฉันเดียวกันกับเข้าสู่ภูมินรก

* หมายความว่าผู้ที่สละโลกิยสุขเอาตัวรอดแต่ผู้เดียว ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จะต้องทำหน้าที่ช่วยสัตว์ต่อไป ไม่ยอมมุ่งความพ้นทุกข์ส่วนตน.


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2553 10:24:09 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้า เพิ่มภาพค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #30 เมื่อ: 21 กันยายน 2553 20:15:34 »




แลความว่ายเวียนเกิดตายในสงสารสาครมีความสุขครุวนาเช่นการคมนาการสู่อุทยานอันแสนจะรื่นรมย์๑  (๑. หมายความว่า พระโพธิสัตว์ไม่ติดในฌานสุข เห็นฌานสุขดุจทุกข์ในนรก และย่อมไม่กลัวต่อชาติภพ เพราะหากกลัวชาติภพเสียแล้ว ก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่ช่วยสัตว์ได้ พระโพธิสัตว์จึงยินดีในการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์.) ทัศนาเห็นบุคคลผู้มาขอศึกษาธรรม ประหนึ่งเขาผู้นั้นมีฐานะเป็นครูบาที่ดีของเรา๒ (๒. เพราะเป็นเหตุให้พระโพธิสัตว์มีโอกาสบำเพ็ญบารมีสั่งสอนธรรมแก่เขา จึงเท่ากับเขาเป็นครูทำให้พระโพธิสัตว์ได้เพิ่มพูนบารมี.) พระโพธิสัตว์ย่อมสามารถสละสรรพสมบัติ ด้วยตั้งอยู่ในสรรเพชุดาญาณสัญญาโดยสมบูรณ์มิบกพร่อง ทัศนาเห็นบุคคลผู้ทุศีลอลัชชี พระโพธิสัตว์ย่อมเกิดความมุ่งมาด ที่จักอนุเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลนั้นให้กลับตนตั้งอยู่ในกุศลภูมิ.

อนึ่ง พระโพธิสัตว์ย่อมสำคัญสรรพบารมีธรรมเป็นประดุจชนกชนนีแลย่อมสำคัญว่า โพธิปักขิยธรรมทั้งหลายเป็นประดุจบริวารแวดล้อม มุ่งบำเพ็ญกุศลินทรีย์โดยไม่มีเขตสุด เอาสรรพไพจิตราลังการแห่งปวงวิสุทธิโลกธาตุ มาปรุงสำเร็จเป็นพุทธเกษตรแห่งตน บำเพ็ญอนันตบริจาคธรรม ยังศุภลักษณะให้ไพบูลย์ พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมกำจัดอกุศลธรรมทั้งหลาย ยังกายทวาร วจีทวาร มโนทวาร ให้สะอาดหมดจด มีความแกล้วกล้าอาจหาญย่นย่อต่อการเวียนเกิดเวียนตายในกัลป์ อันเป็นปรไมยเพื่อโปรดสรรพสัตว์ อนึ่ง ครั้นได้สดับสรรพคุณาลังการอันประมาณมิได้ของพระพุทธเจ้า มนัสแห่งพระโพธิสัตว์ก็ไม่บังเกิดความเหนื่อยหน่ายท้อถอยใด ๆ พระโพธิสัตว์นั้นย่อมเอาปัญญาญาณเป็นพระขรรค์เข้าพิฆาตเข่นฆ่าโจร กล่าวคือกิเลส มีตนวิโมกข์หลุดรอดจากความผูกมัด กล่าวคืออุปาทานในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ประกอบกิจโดยการประคับประคองสรรพสัตว์ให้ถึงวิมุตติธรรมโดยอนันตกาล พระโพธิสัตว์ย่อมบำเพ็ญมหาพิริยธรรมบำราบข่มขี่โยธีมารให้พ่ายแพ้ ย่อมมุ่งต่อปัญญาญาณในพระนิพพาน อันเป็นอนารัมมณธรรม พระโพธิสัตว์นั้นย่อมมีอัปปิจฉตากอปรทั้งสันตุฏฐิธรรมเป็นปกติจริยา แต่ก็มิได้ปลดปลงประดาโลกิยธรรมเสียเลยทีเดียว พระโพธิสัตว์ย่อมไม่ทำลายสมาจารวัตร แต่ก็สามารถอนุโลมตามโลกจรรยาได้ มิขัดข้องกีดขวางกันเลย ย่อมอาจสามารถใช้อภิญญาโกศล ชักจูงสั่งสอนนิกรสัตว์ พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ย่อมได้บรรลุสมฤติธารณธรรม ได้สดับฟังเรื่องราวใด ๆ ย่อมอาจจดจำมิเลือนรางเคลื่อนคล้อยไป.

                             

อนึ่ง พระโพธิสัตว์ย่อมมีอินทรีย์ปโรปริยัตติญาณ สามารถตัดวิมุตติกังขาแห่งปวงสัตว์ได้ ย่อมเป็นผู้ยินดีในการเทศนาอบรมสั่งสอนจำแนกธรรมได้ โดยปราศจากอุปสรรคข้องขัดแต่อย่างใด บำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ อันยังผลให้เสวยเทวสมบัติ บำเพ็ญอัปปมัญญาภาวนา ๔ เบิกวิถีพรหมโลก อนึ่ง เพราะพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญกุศลจรรยา ด้วยการอาราธนาพระพุทธองค์แสดงพระสัทธรรม และได้มีจิตสัมปสาทนียอนุโมทนาในการแสดงพระสัทธรรมนั้น จึงได้วิบากคือ สุรเสียงสำเนียงของพระพุทธะไว้กับตน แลเอาความที่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของพระโพธิสัตว์นั้นสุจริต จึ่งได้วิบากคืออิริยาบถอากัปจรรยาของพระพุทธะไว้กับตน แลเนื่องด้วยพระโพธิสัตว์ได้ศึกษาบำเพ็ญในกุศลธรรมดันสุขุมคัมภีรภาพล้ำลึก จริยาวัตรแห่งพระโพธิสัตว์นั้นจึงยิ่งวิเศษอุดมเลิศ ย่อมอาศัยมหายานศาสน์เป็นหลักปฏิบัติสำเร็จเป็นโพธิสัตว์สงฆ์จิตตั้งอยู่ในอัปปมาทธรรม มีกุศลธรรมทั้งหลายไม่เสื่อมหาย ผู้ใดปฏิบัติตามวิถีธรรมดังพรรณนามานี้ ย่อมชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ไม่สละสังเขตธรรมจนหมดสิ้น.


อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม อสังขตธรรมนั้นเป็นไฉน ? กล่าวคือพระโพธิสัตว์บำเพ็ญสุญญตวิโมกขธรรม ย่อมเป็นผู้ไม่ถือเอาสุญญตาเป็นธรรมอันตนจักบรรลุบำเพ็ญอนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ ก็ย่อมไม่สำคัญถือเอาอนิมิตตธรรมอัปณิหิธรรมนั้นเป็นธรรมอันตนจักบรรลุ ฤๅเมื่อบำเพ็ญอนุตปาทธรรมก็ย่อมไม่สำคัญถือเอาอนุตปาทธรรม เป็นธรรมอันตนจักบรรลุ พระโพธิสัตว์มีอนิจจานุปัสสนา แต่ก็ไม่บังเกิดความเบื่อหน่ายต่อการบำเพ็ญสร้างสมกุศลสมภาร พระโพธิสัตว์ย่อมพิจารณาโลก โดยทุกขานุปัสสนาแต่ก็ไม่บังเกิดความอางขนางหน่ายแหนงใจชาติมรณะ พระโพธิสัตว์ย่อมมีอนัตตานุปัสสนา แต่ก็ทำหน้าที่โปรดสัตว์โดยไม่เอือมระอาเหน็ดเหนื่อย

พระโพธิสัตว์ย่อมมีนิโรธานุปัสสนา แต่ก็ไม่ยังตนให้ถึงความดับเองโดยอนันตกาล พระโพธิสัตว์ย่อมถึงพร้อมด้วยวิราคานุปัสสนา แต่ตั้งกายใจของตนบำเพ็ญกุศลธรรม พระโพธิสัตว์ย่อมพิจารณาความปราศจากที่ไป๑ (๑. คือสภาวธรรม ย่อมปราศจากที่มาที่ไป หรือการมาการไปโดยปรมัตถ์.) แต่ก็มีกุศลธรรมเป็นที่ไป พระโพธิสัตว์ย่อมบำเพ็ญอนุตปาทานุปัสสนา แต่ก็อาศัยอุปปาทธรรมเพื่อเกื้อกูลสรรพสัตว์ พระโพธิสัตว์ย่อมบำเพ็ญนาสวานุปัสสนา แต่ก็ไม่สละถอนปวงอาสวธรรมเสียจนสิ้น ฯลฯ พระโพธิสัตว์เมื่อยังมีปณิธานไม่เต็มเปี่ยมสำเร็จสมไพบูลย์ ย่อมไม่ละเลยต่อการสร้างสมบารมีธรรมเข้าไว้ มีอาทิ เช่น ฌาน สมาธิ ปรัชญา เป็นต้น พระโพธิสัตว์ใดบำเพ็ญธรรมปฏิบัติดั่งพรรณนามานี้ ย่อมชื่อว่าเป็นสัตว์ผู้ไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม แลเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์มีบารมีธรรมอันไพบูลย์พร้อมพรั่ง ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่ยึดถือตั้งอยู่ในสังขตธรรม อนึ่งเพราะเหตุที่โพธิสัตว์มีปรัชญาสมบูรณ์ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมเสียจนหมดสิ้น

แลเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์ดำรงอยู่ในภูมิธรรมแห่งมหาเมตตามหากรุณา ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม อนึ่งเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์ยังปณิธานให้เต็มรอบ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมเสียจนหมดสิ้น และเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์พึงสร้างสมสุขในสรรพสัตว์ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่ยึดถือในอสังขตธรรม อนึ่งเพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์จักต้องจ่ายแจกธรรมโอสถให้แก่ประชาสัตว์ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมเสียจนหมดสิ้น เพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์จักต้องรู้ชัดในพยาธิภัยแห่งปวงสัตว์ ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่ยึดถือตั้งอยู่ในอสังขตธรรม อนึ่ง เพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์จักมีภารกิจดับพยาธิทุกข์ (หมายถึงกิเลส) ของสรรพชีพนั้น ดั่งนั้นจึงเป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมเสียจนหมดสิ้น ดูก่อนปวงสัมมาจารีชน พระโพธิสัตว์ใดหากได้บำเพ็ญธรรมานุธรรมปฏิบัติดั่งตถาคตพรรณนามา เป็นผู้ไม่สละสังขตธรรมจนหมดสิ้น ในขณะเดียวกันก็ย่อมไม่ยึดถือตั้งอยู่ในสังขตธรรม พระโพธิสัตว์นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงวิมุตติธรรมทวารบท ว่าด้วยอันตธรรม อนันตธรรม อันพวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกศึกษาไว้ด้วยประการฉะนี้.”

ครั้งนั้นแล บรรดาพระโพธิสัตว์เหล่านั้น ได้สดับพระธรรมบรรยายนี้แล้ว ต่างก็บังเกิดความโสมนัสปรีดายิ่งนัก ต่างก็ได้นำบุปผาชาตินานาพรรณอันมีสุคันธชาติหอมหวนผิดแผกแตกต่างกัน เกลี่ยโปรยกระจายไปทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุ เป็นพุทธครุสักการบูชา กับทั้งเป็นการบูชาพระธรรมเทศนานั้น แลพระโพธิสัตว์บริษัทอื่น ๆ อีกด้วย ครั้นแล้วเหล่าพระโพธิสัตว์ผู้มาแต่พหุสุคันธพุทธเกษตรนั้น ก็ได้อภิวาทน์พระบาทบงกชของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กล่าวสดุดีในพระธรรมเทศนาว่าเป็นอัศจรรย์ ต่างกราบทูลขึ้นว่า

“อัศจรรย์ยิ่งนักพระพุทธเจ้าข้า ในการที่พระผู้มีพระภาคศากยมุนีพุทธเจ้า ทรงสำแดงกุศโลบายจริยาในสหโลกธาตุได้เห็นปานเช่นนี้.”

เมื่อกล่าวจบแล้ว ก็อันตรธานหายไปในบัดดล พากันกลับคืนสู่พหุสุคันธพุทธเกษตรด้วยประมาณฉะนี้.


ปริเฉทที่ ๑๑ โพธิสัตว์จริยาวรรค จบ.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2553 14:09:36 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7866


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 6.0.472.62 Chrome 6.0.472.62


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #31 เมื่อ: 21 กันยายน 2553 20:28:15 »

อนุโมทนาสาธุธรรมครับ




(รูปจารย์บางครั้งตอนสาว ๆ ๕๕๕๕๕๕)


บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #32 เมื่อ: 21 กันยายน 2553 22:20:27 »



ปริเฉทที่ ๑๒

อักโษภยะพุทธเกษตรทรรศนะวรรค


ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระดำรัสถามวิมลเกียรติอุบาสกว่า

“ดูก่อนคฤหบดี ความปรารถนาของเธอในอันจักยลตถาคตนั้น เธอจักทัศนาได้ด้วยธรรมประการฉันใดหนอ ?”
ท่านวิมลเกียรติทูลว่า

“ข้าแต่พระสุคต อุปมาการพิจารญาดูตัตตวลักษณะในสรีรกายของตนเองด้วยประการฉันใด ข้าพระองค์ย่อมพิจารณาดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีอุปไมยด้วยประการฉันนั้น กล่าวคือ ข้าพระองค์มาพิจารณาเห็นแจ้งว่าอันสภาวธรรมแห่งพระตถาคตเจ้านั้น ย่อมปราศจากการมาในอดีต ฤๅการไปในอนาคต แลในปรัตยุบันกาลเล่า ก็ปราศจากการตั้งอยู่๑ (๑. ทางฝ่ายมหายาน ย่อมไม่ถือว่าพระธรรมกายของพระพุทธเจ้าอันเป็นตัตตวลักษณะย่อมไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เป็นอกาล.) ข้าพระองค์ย่อมไม่พิจารณาเห็นพระองค์ในรูป หรือในรูปตถตาหรือในรูปสภาวะ ย่อมไม่พิจารณาเห็นพระองค์แม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่พิจารณาเห็นพระองค์ในวิญญาณตถตา หรือในวิญญาณสภาวะด้วยพระกายของพระองค์ (หมายพึงพระธรรมกาย) มิได้อุบัติก่อกำเนิดขึ้นด้วยอาศัยจตุรมหาภูตทั้ง ๔ แต่เป็นสภาวะอันปราศจากขอบเขตที่ตั้งครุวนาดุจเดียวกับสุญญากาศ พ้นจากความพอกพูนปรากฏแห่งสฬายตนะ มีนักขฺวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ

มิได้อยู่ในภพ ๓ พ้นแล้วจากมลทิน เครื่องเศร้าหมองแห่งภพนั้น อนุโลมตามวิโมกขธรรม ๓ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ด้วยเตวิชชธรรม เสมอด้วยอวิชชาทีเดียว๒ (๒. สภาวะของอวิชชานั้น โดยปรมัตถ์เป็นสุญญตา ปราศจากแก่นสาร ดังนั้นผู้รู้แจ้งดังนี้จึงไม่เกิดความเห็นแตกต่างระหว่างวิชชากับอวิชชา เพราะต่างก็เป็นสุญญตา นี้เป็นไปโดยปรมัตถนัย.) ไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นอเนกภาพ ไม่ใช่สวลักษณะ ฤๅปรลักษณะจะว่าปราศจากนิมิตลักษณะเสียเลยก็มิใช่ แต่ก็ไม่มีอุปาทิลักษณะ ไม่ใช่ฝั่งนี้ฤๅฝั่งโน้น แลไม่ติดในท่ามกลาง แต่บำเพ็ญพุทธกิจโปรดสรรพสัตว์...ฯลฯ ไม่มีความเกิดขึ้น ไม่มีความดับไป ไม่มีภัย ไม่มีโศก ไม่มีความยินดี ไม่มีความเบื่อหน่าย มิได้มีแล้ว มิได้จักมีแลมิได้มีอยู่ ไม่สามารถจักนำพจนโวหาร ถ้ายคำสำนวนใด มากล่าวแสดงจำแนกได้เลยนั่นแล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระวรกายของพระตถาคตเจ้ามีสภาพดังข้าพระองค์กราบทูลมานี้ ฉะนั้น จึงควรเพ่งทัศนาดูพระองค์ด้วยอาการดั่งกล่าวมา ผู้ใดทัศนาพระองค์ด้วยธรรมเช่นที่พรรณนานี้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเป็นสัมมาทัศนา ผู้ใดทัศนาพระตถาคตเจ้าโดยธรรมประการอื่นไซร้ ชื่อว่าเป็นมิจฉาทัศนาโดยแท้เทียว.”

ลำดับนั้น พระสารีบุตรเถรเจ้าถามขึ้นว่า

“ดูก่อนคฤหบดี อันตัวของท่านนี้ จุติมาจากนิวาสโลกธาตุแดนใด จึงมาปฏิสนธิ ณ โลกธาตุด้วยแดนนี้ ?”
ท่านวิมลเกียรติปฏิปุจฉาว่า “ข้าแต่พระเจ้าสารรีบุตร ก็ธรรมอันพระคุณบรรลุสำเร็จนั้น จักมีจุติปฏิสนธิอีกฤๅไม่เล่า ?”

ตอบ “หามิได้ ธรรมที่อาตมภาพบรรลุ ย่อมพ้นจากจุติปฏิสนธิ.”

ถาม “ก็ถ้าหากว่า ธรรมทั้งหลายปราศจากอาการจุติปฏิสนธิ เหตุดังฤๅพระคุณจึงมาถามว่า “อันตัวของท่านนี้จุติมาจากนิวาสโลกธาตุแดนใดจึงมาปฏิสนธิ ณ โลกธาตุด้าวแดนนี้” พระคุณจักมีความคิดเป็นไฉนเปรียบเหมือนมายากรนิรมิตรูปชายหญิงมายาขึ้น ก็รูปมายานั้นจักมีจุติปฏิสนธิกระนั้นหรือ ?”



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2553 14:12:12 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #33 เมื่อ: 21 กันยายน 2553 22:27:11 »





ตอบ “หามิได้ จักหาจุติปฏิสนธิในรูปมายานั้นแต่ไหนได้.* ”  (* รูปมายาเป็นสิ่งไม่มีสภาวะจริง อุปมาดังเปลวแดดในทะเลทรายทำให้สำคัญผิดว่ามีลำธารน้ำ อันที่จริงลำธารน้ำไม่เคยมีเลย ณ ที่ตรงนั้น ฉะนั้น จะกล่าวลำธารนั้นเกิดขึ้นหรือดับไปย่อมไม่ได้ มีแต่ความสำคัญผิดของเราผู้เห็นเปลวแดดเป็นสายน้ำไป.)
ถาม “พระคุณมิได้สดับพระพุทธพจน์บ้างหรอกหรือ ที่ว่าธรรมทั้งปวงนั้นมีอุปมาดุจมายา ?”
ตอบ “อาตมภาพได้สดับซึ่งพระพุทธพจน์นั้น.”
ถาม “ก็เมื่อธรรมทั้งปวงมีสภาพดุจมายาไซร้ ไฉนพระคุณจึงมาตั้งปัญหาถามกระผมว่า “อันตัวของท่านนี้จุติมาจากนิวาสโลกธาตุแดนใด จึงมาปฏิสนธิ ณ โลกธาตุด้าวแดนนี้ “ พระคุณเจ้าสารีบุตรผู้เจริญ อัน “จุติ” นั้นเป็นธรรมมายาหลอกลวง จัดเป็นพินาศธรรมอัน “ปฏิสนธิ” เล่า ก็เป็นธรรมมายามาหลอกลวง จัดเป็นสันตติธรรม พระโพธิสัตว์ถึงมาตรยังต้องจุติแต่ก็มิได้ยังกุศลธรรมให้จุติไปด้วย แลมาตรยังต้องปฎิสนธิ ก็มิได้ยังอกุศลธรรมให้บังเกิดเจริญขึ้นมาตาม.”

ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค มีพุทธบรรหารกับพระสารีบุตรว่า


“ดูก่อนสารีบุตร ยังมีโลกธาตุแห่งหนึ่งนามว่า อภิรติโลกธาตุ พระพุทธเจ้า ณ โลกธาตุนามว่า อักโษภยะพุทธะ แลวิมลเกียรติอุบาสกนี้จุติจากพุทธเกษตรนั้นมาปฏิสนธิ ณ โลกธาตุนี้.”
พระสารีบุตรทูลว่า

“ข้าแต่พระสุคต อัศจรรย์ยิ่งนักแล้ว พระเจ้าข้า ดันบุคคลเห็นปานนี้ สามารถสละวิสุทธิภูมิมายินดีในอันอาเกียรณ์ด้วยโทษภัยหลากหลายกระนี้ได้.”
ท่านวิมลเกียรติจึงว่า

“พระคุณเจ้ามีความคิดเห็นเป็นไฉน ? ในกาลใด ดวงทิวากรประภาสจำรัสฉาย จักสมานสามัคคีร่วมด้วยอันธการได้อยู่แลหรือ ?”
พระสารีบุตร “หามิได้ คฤหบดี ! สมัยใดที่แสงภาณุมาศปรากฏสรรพอันธการย่อมปลาตดับสูญไป.”

ถาม “พระคุณรู้ฤๅไม่ว่า ไฉนดวงสหัสสรังสีจึงโคจรสู่ชมพูทวีป ?”

ตอบ “เหตุก็เพื่อประเทืองโรจนาภาสกำจัดอันธการนั่นเอง.”

ท่านวิมลเกียรติ “พระโพธิสัตว์ก็ดุจเดียวกัน ถึงมาตรแม้ว่าอุบัติมาในพุทธเกษตรที่มิใช่วิสุทธิภูมิ แต่ก็โดยประสงค์โปรดสรรพสัตว์เป็นที่ตั้งพระโพธิสัตว์นั้น ย่อมไม่สมานสามัคคีกลมกลืนกับโมหันธตมธรรม แต่บำเพ็ญหน้าที่ดับสรรพกิเลสของปวงสัตว์เท่านั้น.”

สมัยนั้น บรรดาประชุมชนบริษัท ณ ธรรมสภานั้น ต่างก็มีความปรารถนา จักได้ทัศนาพระพุทธอักโษภยะตถาคตเจ้าแห่งอภิรติโลกธาตุพร้อมด้วยพระโพธิสัตว์บริษัท พระสาวกบริษัทในพุทธเกษตรนั้นแล้วอย่างยิ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทราบความประสงค์ของประชุมชนทั้งนั้นแล้ว มีพุทธดำรัสกับวิมลเกียรติคฤหบดีว่า

“ดูก่อนคฤหบดี เพื่อประชุมชนบริษัทนี้ เธอจงสำแดงพุทธอักโษภยะแห่งอภิรติพุทธเกษตร พร้อมทั้งปวงพระโพธิสัตว์แลพระสาวกให้ปรากฏตามความปรารถนาจักยลของประชุมชนนี้เทอญ.”

ลำดับนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีมีความตรึกในใจว่า

“เราจักไม่ลุกขึ้นจากอาสนะ แต่จักถือเอาซึ่งอภิรติพุทธเกษตรพร้อมด้วยภูเขาจักรวาล สาครนทีธาร มหาสมุทร ขุนเขาพระสุเมรุกับทั้งดวงสุริยา จันทรา ดาคาเคราะห์ทั้งหลาย พร้อมกับวิมานแมนแห่งพรหมเทพาอารักษ์น้อยใหญ่ นาคอสูรมณเฑียรเป็นต้น กับทั้งปวงพระโพธิสัตว์ พระสาวกบริษัท ตจามนิคมชนบท ราชธานี ชายหญิงใหญ่น้อย ไม่จนกระทั่งถึงองค์สมเด็จพระอักโษภยะพุทธเจ้า พระโพธิรุกข์สรรพโกมุทชาติ อีกทั้งบรรดาผู้ที่อาจบำเพ็ญพุทธกรณียกิจในทศทิศ ฯลฯ โดยใช้หัตถ์เบื้องขวาถือเอามา.”

เมื่อดำริเช่นนั้นแล้ว วิมลเกียรติคฤหบดีจึงเข้าฌานสมาบัติบันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร ใช้หัตถ์เบื้องขวาถือเอาซึ่งอภิรติโลกธาตุมาวางประดิษฐาน ณ สหโลกธาตุนี้.



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2553 14:19:27 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #34 เมื่อ: 21 กันยายน 2553 23:14:02 »




ครั้งนั้นแล พระโพธิสัตว์และสาวก อีกทั้งทวยเทพที่มีฤทธิ์ ณ อภิรติพุทธเกษตรนั้น ต่างก็ร้องทูลถามพระสุคตเจ้าพระองค์นั้นว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้ใดหนอที่เป็นผู้ถือเอาข้าพระองค์ให้เคลื่อนจากที่ไป ขอพระบารมีของพระองค์ได้คุ้มครองปกป้องข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า.”
พระอักโษภยะพุทธเจ้าตรัสว่า “มิใช่การกระทำของพระตถาคตหรอก แต่เป็นอานุภาพแห่งฤทธิ์ของวิมลเกียรติอุบาสกกระทำให้เป็นไปแล.”

ส่วนบุคคลอื่น ๆ ในโลกธาตุนั้น ที่ยังมิได้สำเร็จฤทธิ์ ต่างจักสำนึกรู้ว่าตนไปสู่แห่งหนใดก็หาไม่ อนึ่ง ถ้ามาตรแม้ว่าอภิรติพุทธเกษตรจักเข้ามาประดิษฐานอยู่ในสหโลกธาตุนี้ สหโลกธาตุก็ไม่เกิดอาการเต็มฤๅหย่อนพร่องลงไป ทั้งเกิดความคับแคบคั่งคับใด ๆ ทั้งสิ้น คงมีสถานภาพเป็นปกติดุจเดิมแล.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคศากยมุนีพุทธเจ้า จึงมีพุทธดำรัสกับบริษัททั้งปวงว่า

“เธอทั้งหลาย พึงทอดทัศนาชมพระอักโษภยะพุทธเจ้าแห่งอภิรติโลกธาตุเถิด อันว่าโลกธาตุนั้นมีอลังการประดับแล้ว พระโพธิสัตว์และพระสาวกก็ล้วนมีปฏิปทาอันวิสุทธิสะอาดสมบูรณ์.”

บริษัททั้งหลายกราบทูลขึ้นว่า “อย่างนั้นข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ได้ทอดทัศนาแล้วแล.”

พระบรมศาสดาตรัสว่า “หากมีพระโพธิสัตว์องค์ใด (ในบริษัทนี้) ปรารถนาจักได้สำเร็จซึ่งวิสุทธิพุทธเกษตรเห็นปานนั้น ก็ถึงศึกษาปฏิบัติตามรอยจริยาแห่งพระอักโษภยะตถาคตเจ้าเทอญ.”

ในระหว่างกาลที่ อภิรติพุทธเกษตรมาสำแดงปรากฏอยู่นั้น ปรากฏว่าชนจำนวน ๑๔ นหุอสงไขย ในสหโลกธาตุนี้ ต่างก้ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ต่างตั้งปณิธานขอให้ได้อุบัติ ณ อภิรติพุทธเกษตรนั้น แลพระผู้มีภาคศากยมุนีพุทธเจ้าประทานลัทธาเทสพยากรณ์ว่า

“เธอทั้งปวงจักได้อุบัติ ณ โลกธาตุนั้น.”

ครั้งนั้น เมื่อความเป็นไปปรากฏแห่งอภิรติพุทธเกษตรได้สำเร็จ หิตานุหิตประโยชน์แก่สหโลกธาตุนี้เสร็จสิ้น ก็คืนสู่สถานที่มาเดิมเป็นที่ประจักษ์แก่สรรพชน ณ ที่นั้นแล.
พระบรมศาสดาจึงตรัสกับพระสารีบุตรว่า “พระสารีบุตร ! เธอได้ยลเห็นอภิรติโลกธาตุ พร้อมด้วยพระอักโษภยะพุทธเจ้าแล้วฤๅหนอ ?”

ทูลว่า “อย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ขอให้สรรพสัตว์บรรลุวิสุทธิภูมิดุจเดียวกับพระอักโษภยะพุทธเจ้า ได้สำเร็จอิทธาภิสังขารอำนาจฤทธิ์ ดุจเดียวกับวิมลเกียรติอุบาสก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้รับประโยชน์อย่างดียิ่ง ที่ได้มีโอกาสเห็นแลใกล้ชิดบูชาบุคคล (คือท่านวิมลเกียรติ) อย่างนี้ อนึ่ง สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ดี หรือที่เป็นอยู่ภายหลังพระผู้มีพระภาคดับขันธปรินิพพานแล้วก็ดี หากได้สดับฟังซึ่งพระสูตรนี้ ก็จักได้เสวยประโยชน์อานิสงส์อันยิ่ง จักป่วยการกล่าวไปไยกับผู้ที่มีโอกาสสดับฟังแล้ว ยังมีความเข้าใจเชื่อมั่นนำไปประพฤติปฏิบัติ ฤๅสวนสาธยายเล่าบ่น ฤๅอรรถาธิบายให้ผู้อื่นทราบ แลปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมนั้นเล่า

ผู้ใดในมือถือไว้ซึ่งคัมภีร์สูตรนี้ไซร้ ผู้นั้นชื่อว่าได้ทรงไว้ซึ่งธรรมรัตครรภ์ ผู้ใดสวดสาธยายเล่าบ่นอรรถาธิบายให้ผู้อื่นฟังซึ่งพระสูตรนี้ ผู้นั้นเป็นอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายคุ้มครองอภิบาลแล้ว ใครก็ตามที่ได้สักการะบุคคลดังกล่าวมานั้น พึงรู้ได้ว่า เขาได้สักการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดุจกัน ผู้ใดคัดลอกจารึกซึ่งพระสูตรนี้ พึงรู้ได้ว่าใจเคหสถานของเขานั้น มีพระตถาคตเจ้าเสด็จประทับอยู่ ผู้ใดสดับพระสูตรนี้แล้ว แลบังเกิดสัมปสาทนียจิตานุโมทนา ผู้นั้นชื่อว่ามุ่งไปสู่สรรเพชุดาญาณ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นเข้าใจอรรถรสในพระสูตรนี้ แม้ที่สุดเพียงคาถา ๔ บาท แลสามารถแสดงแก่ผู้อื่น พึงรู้ได้ว่าผู้นั้นได้รับลัทธยาเทสพยากรณ์ ที่จักสำเร็จพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล.”

ปริเฉทที่ ๑๒ อักโษภยะพุทธเกษตรทรรศนะวรรค จบ.



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2553 15:48:47 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #35 เมื่อ: 22 กันยายน 2553 13:31:01 »


http://img148.imageshack.us/img148/1333/coverax8.gif
วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ


ปริเฉทที่ ๑๓

ธรรมปฏิบัติบูชาวรรค

ก็โดยสมัยนั้นแล ท้าวศักรินทรเทวราช ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ในท่ามกลางบริษัทว่า

“ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์มาตรว่าจักได้เคยสดับฟังพระสูตรนับด้วยร้อยเป็นอเนก นับด้วยพันเป็นอเนก จากพระผู้มีพระภาค แลจากพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ก็จริง แต่ก็บ่ห่อนจักได้เคยสดับพระสูตรอันเป็นอจินไตย มีอิสรมหิทธิฤทธานุภาพ เป็นตัตตวธรรมที่มิผันเปลี่ยนสุขุมคัมภีรภาพเห็นปานดั่งพระสูตรนี้เลย พระพุทธเจ้าข้า อาศัยความเข้าใจในธรรมอรรถ ซึ่งพระองค์ทรงแสดงแล้ว หากมีสรรพสัตว์ใด ๆ สดับซึ่งพระสูตรนี้ มีศรัทธาแลความเข้าใจน้อมรับธำรงไว้ฤๅได้สวดสาธยาย เป็นต้น

บุคคลผู้นั้นย่อมจักบรรลุซึ่งธรรมในพระสูตรนั้น โดยมิต้องวิมติกังขาใด ๆปฏิบัติตามได้เล่า บุคคลผู้เช่นนั้น ชื่อว่าได้ปิดทวารแห่งทุคติภูมิ เปิดทวารแห่งสรรพกุศลธรรมออก แลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมตามอภิบาลระลึกถึงเขา บุคคลดังกล่าวย่อมอาจหาญในอันกำราบประดาพาหิรลัทธิ กำจัดข่มขี่มารภัยให้พ่ายแพ้ ชื่อว่าได้บำเพ็ญอบรมพระโพธิญาณสถิตด้วยดีในภูมิตรัสรู้ เจริญตามรอยพระบาทยุคลของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากมีบุคคลใดน้อมรับธำรงไว้ซึ่งพระสูตรนี้ก็ดี เจริญสวดสาธยายพระสูตรนี้ก็ดี หรือว่าปฏิบัติตามธรรมคติในพระสูตรนี้ก็ดี

ข้าพระองค์พร้อมด้วยเทพบริวารจักไปสักการบูชา แลรับใช้อุปัฏฐากบุคคลนั้น ๆ ในสถานคามนิคมชนบทราชธานี ฤๅบรรพตวนสณฑ์ ป่าชัฏใด หากมีพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่ไซร้ ข้าพระองค์พร้อมด้วยเทพบริวารก็จักไปรักษาดูแลยังสถานที่นั้น ชนเหล่าใดที่ยังไม่มีจิตเลื่อมใส สักยังความเลื่อมใสของเขาเหล่านั้นให้บังเกิด ชนเหล่าใดซึ่งมีความเลื่อมใสแล้ว ก็จักตามอภิบาลคุ้มครองชนเหล่านั้น.”

พระบรมศาสดาตรัสว่า

“สาธุ ! สาธุ ! เทวราช ! เป็นตามดังที่พระองค์ตรัส ตถาคตขออนุโมทนาในสัมปสาทนียจิตของพระองค์ เป็นความจริงทีเดียวที่พระสูตรนี้เป็นสูตรประกาศแสดงถึงพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันเป็นอจินไตยแห่งพระพุทธะทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เพราะเหตุฉะนั้นแล เทวราช ! หากมีกุลบุตรกุลธิดาใด น้อมรับธำรงไว้ ซึ่งพระสูตรนี้ หรือสวดสาธยายก็ดี บูชาสักการะพระสูตรนี้ก็ดี ชื่อว่าย่อมเป็นการบูชาสักการะในพระพุทธะทั้งปวง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ฯลฯ

ดูก่อนเทวราช ณ เบื้องอดีตภาคอสงไขยกัลป์ป์อันประมาณมิได้ ในสมัยพุทธุปบาทกาลแห่งพระผู้มีพระภาคผู้ทรงพระนาม ไภษัชยราชาตถาคต พระองค์เป็นผู้ควรบูชา เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แลยังผู้อื่นให้รู้ตามได้ สมบูรณ์ด้วยวิชชาแลจรณะเป็นพระสุคต รู้แจ้งโลก เป็นบุรุษผู้เยี่ยมยอดไม่มีผู้ใดเปรียบ ทรงแสดงธรรมฝึกสอนสัตว์ดุจนายสารถีฝึกดุรงคชาติ พระองค์เป็นศาสดาแห่งเทพยดาแลมนุษย์ เป็นผู้ตื่นแล้วจากกิเลสนิทรา เป็นภควา โลกธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีนามว่า มหาวยูหอลังการ กัลป์นั้นมีชื่อว่า อลังการกัลป์ พระชนมายุของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๒๐ จุลกัลป์ ทรงมีพระสาวกสงฆ์ ๓๖โกฏินหุตพระโพธิสัตว์สงฆ์อีก ๑๒ โกฏิ

ดูก่อนเทวราช ครั้งนั้น มีพระเจ้าจักรพรรดิราชทรงพระนามว่า รัตนฉัตร ทรงบริบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการมีอานุภาพแผ่ไปในแผ่นดินทั้งจาตุรทิศ พระเจ้าจักรพรรดิราชนั้นมีพระโอรส ๑,๐๐๐ องค์ ล้วนสมบูรณ์ศิริลักษณ์สง่างามแลมีวีรยภาพแกล้วกล้า อาจสามารถข่มขี่ศัตรูได้ สมัยนั้นพระเจ้ารัตนฉัตรพร้อมด้วยบริวารได้ถวายสักการบูชา ไนพระไภษัชยราชาตถาคตเจ้า บริจาคสรรพเครื่องอุปโภคน้อมถวายแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นระยะเวลาตลอดกาลนับได้ ๕ กัลป์ เมื่อด้น ๕ กัลป์แล้ว พระเจ้ารัตนฉัตรจึงมีพระดำรัสแก่พระราชโอรสทั้ง ๑,๐๐๐ องค์ว่า

“แม้พวกสู ก็พึงบำเพ็ญจริยาเช่นเดียวกับตูได้บำเพ็ญเถิด สูทั้งปวงพึงยังจิตศรัทธาปสาทะทันลึกซึ้งให้ตั้งมั่น ถวายสักการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเทอญ.”

“ลำดับนั้น พระโอรสทั้ง ๑,๐๐๐ องค์ รับพระราชบรรหารของพระราชบิดาแล้ว ต่างก็ถวายสักการบูชาพระโภษัชยราชาตถาคตตลอดกาล ๕ กัลป์ เมื่อบำเพ็ญทานบริจาคเสร็จสิ้นแล้ว จึงมีพระราชโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า จันทรฉัตร เมื่อประทับอยู่พระองค์เดียว บังเกิดความปริวิตกขึ้นว่า

“ยังจักมีสักการบูชาใดที่ยิ่งกว่าสักการบูชา อันพระราชบิดาแลเราทั้งหลายได้บำเพ็ญอยู่อีกฤๅไม่หนอ ?”

“ครั้งนั้น ด้วยพุทธานุภาพ บันดาลให้มีสุรเสียงตอบของเทพองค์หนึ่งเบื้องอัมพรสถานว่า

“ดูก่อนราชบุตร การสักการบูชาด้วยธรรมปฏิบัติ ประเสริฐยิ่งกว่าสักการบูชาใด ๆ.”
ราชบุตรนั้นจึงถามว่า “อะไรชื่อว่าเป็นธรรมปฏิบัติบูชาเล่า ?”

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงตรัสว่า

“ดูก่อนราชบุตร อันธรรมปฏิบัติบูชานั้นคือ ในบรรดาพระสูตรอันสุขุมคัมภีรภาพ ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสแสดงไว้แล้ว อันโลกกล่าวคือชนทั้งปวง ยากที่จักบังเกิดศรัทธา ยากที่จักน้อมรับ เป็นธรรมอันประณีตละเอียดยากที่จักเห็นได้โดยง่าย เป็นธรรมอันบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเศร้าหมองมลทินใด ๆ มิใช่จักบรรลุถึงได้โดยอาศัยความตรึกนึกวิกัลป์ปะคะเนเอา เป็นธรรมอันสงเคราะห์เข้าอยู่ในโพธิสัตวธรรมปิฎกอันธารณีมุทระ

* ธารณีมุทระ มี ๔ อย่าง คือ

๑. ธรรมธารณี ได้แก่การสดับจำทรงพระสัทธรรมไม่หลงลืม
๒. อรรถธารณี ได้แก่การทรงเอาไว้ในอรรถรสแห่งพระสัทธรรม.
๓. มนตรธารณี ได้แก่อาศัยอำนาจสมาธิจิตปรุงแต่งมนต์ อันประกอบดัวยอานุภาพขึ้น.
๔. กษานติธารณี ได้แก่ความที่สามารถอดทนตั้งมั่นอยู่ในตัตตวธรรมโดยไม่บังเกิดความเบื่อหน่าย.


ตรากำหนดแน่นอนลงไปแล้ว เป็นธรรมอันนำไปสู่อนิวรรตนิยภูมิ ยังปารมิตา ๖ ประการให้สำเร็จ เป็นปรมัตถวิภัชชธรรมอนุโลมสู่พระโพธิญาณธรรม เป็นพระสูตรซึ่งอยู่เหนือบรรดาสูตรทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ย่อมเข้าสู่ภูมิแห่งมหาเมตตา มหากรุณา



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2553 16:20:42 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #36 เมื่อ: 22 กันยายน 2553 14:32:10 »




เว้นจากสรรพกิจของมาร กับทั้งปราศจากมิจฉาทิฐิทั้งปวงอีกด้วย เป็นธรรมอนุโลมนับเนื่องในเหตุในปัจจัย ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคล ไม่มีสัตว์ ไม่มีชีวะเป็นสุญญตา อนิมิตตะ อัปปณิหิตะ อนุตปาทะ สามารถยังสรรพสัตว์ให้ได้นั่งเหนือปรมาภิเษกสัมโพธิบัลลังก์ แล้วแลยังธรรมจักรให้หมุน อันปวงเทพ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ เป็นต้น ถวายสดุดีสรรเสริญ อนึ่ง เป็นธรรมยังสรรพสัตว์ให้เข้าสู่พุทธธรรมปิฎก เป็นธรรมซึ่งรวบรวมเอาไว้ซึ่งปรัชญาญาณของสรรพบัณฑิตอารยชนไว้ เป็นธรรมซึ่งแสดงมรรคจรรยาแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย อาศัยอรรถแห่งตัตตวธรรมเป็นที่ตั้ง ประกาศแจกแจงในเรื่อง อนิจจตา ทุกขตา สุญญตา อนัตตตา แลธรรมอันเป็นที่ดับสนิทของปวงทุกข์เป็นธรรมอันสามารถช่วยกอบกู้สัตว์ผู้สีลวิบัติให้พ้นความวิบัตินั้นได้ สามารถยังพวกพาหิรลัทธิ แลผุ้ที่หนาด้วยอภิชฌาวิสมโลภะให้ครั่นคร้ามเป็นธรรมซึ่งพระพุทธเจ้า แลพระอริยชฃนทั้งหลายอนุโมทนาสดุดี เป็นธรรมหันหลังให้แก่ชาติทุกข์ มรณทุกข์ ประกาศซึ่งความสุขของพระนิพพาน.”

อนึ่ง เป็นธรรมอันพระพุทธเจ้าในตรีกาลทั่วทศทิศทรงแสดงประกาศแล้ว ผู้ใดได้สดับซึ่งพระสูตร
อันมีนัยดั่งพรรณนามานี้ บังเกิดจิตศรัทธาและเข้าใจ น้อมรับธำรงไว้แลสวดสาธยาย

ตลอดทั้งยังใช้กำลังแห่งอุบายโกศล อธิบายแสดงจำแนกแจกแจงธรรมนั้นแก่ส่ำสัตว์
เมื่อเป็นผู้พิทักษ์ธรรมด้วยประการฉะนี้ ย่อมชื่อว่าได้ปฏิบัติธรรมสักการบูชา”

“อนึ่ง ผู้ใดสามารถปฏิบัติธรรมตามธรรมซึ่งกล่าวแล้ว อนุโลมเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท
เว้นจากปวงมิจฉาทิฐิเสีย ได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ กำหนดแน่ชัดลงไปได้ว่า ธรรมทั้งปวงนั้นไม่มีอาตมัน ไม่มีสัตว์

แต่ก็ไม่บังเกิดความกีดข้องโต้แย้งในเรื่องของเหตุปัจจัย ผลวิบากของกรรม เช่นนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้พ้นแล้วจากความยึดถือในเรื่องตนแลของ ๆ ตน ผู้นั้นย่อมมีอรรถนเป็นปฏิสรณะ ไม่ถือเอาวจนโวหารเป็นปฏิสรณะ ย่อมมีปัญญาเป็นปฏิสรณะ ไม่ถือเอาวิญญาณทางอายตนะเป็นปฏิสรณะ ย่อมมีพระสูตรประเภทนิปปริยายธรรมเป็นปฏิสรณะ ไม่ถือเอาพระสูตรประเภทปริยายธรรมเป็นปฏิสรณะ ย่อมมีธรรมเป็นปฏิสรณะ ไม่ถือเอาบุคคลเป็นปฏิสรณะ*

(๑. หลักปฏิสรณะนี้ เป็นหลังสำคัญของฝ่ายมหายาน จัดเป็นแว่นธรรมสำหรับส่องตรวจดูพระสัทธรรมที่แท้จริงด้วย ข้อแรกหมายความว่า เรื่องภาษาโวหารเป็นเรื่องของบัญญัติไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงร้องเรียกอย่างไรก็ได้ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่เนื้อความ เช่น คำว่า “นิโรธ” ก็เป็นภาษาชาวบ้านธรรมดา แปลว่าดับแต่เมื่อใช้ในทางธรรม นอกจากจะหมายถึงความดับเช่นดับไปดับธรรมดาแล้ว ยังหมายถึงสภาพพ้นทุกข์พ้นกิเลสอีกด้วย เราจึงต้องถือเนื้อความเป็นใหญ่กว่าโวหารบัญญัติ.

๒. เนื่องด้วยความรู้ทางอายตนะอาจหลอกเราได้ เช่นคนเดินไปในที่มืดเหยียบเชือกสำคัญคิดว่างู เลยตกใจกลัวถึงนอนป่วยก็มี อารมณ์โลกเป็นเรื่องของมายาที่แสดงหลอกเรา ฉะนั้น จะถือความจริงทางความรู้อายตนะย่อมไม่แน่แท้ สู้สติปัญญากล่าวคือวิปัสสนาปัญญาซึ่งสามารถเพิกมายาออกเสียไม่ได้.

๓. ฝ่ายมหายานถือว่า บรรดาพระสัทธรรม ซึ่งพระบรมศาสดาแสดงประทานไว้แก่เวไนยสัตว์นั้น ย่อมแสดงให้เหมาะแก่อินทรีย์ อุปนิสัยชั้นภูมิแห่งสัตว์จึงมีประเภทปริยายธรรม กล่าวคือ ธรรมซึ่งยังต้องขยายความหรือยังมีนัยที่เหลืออีก เช่นหลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่องการประพฤติธรรม เพื่อบรรลุสุขเยี่ยงโลกียชนเป็นต้น ทรงแสดงแก่สัตว์ยังมีภูมิอินทรีย์อ่อน ส่วนสัตว์ซึ่งมีอินทรีย์สูงกล้าแล้ว ทรงแสดงปรมัตถธรรมชี้ให้เห็นความเป็นมายาของโลก นี้ชื่อว่านิปปริยายธรรม คือธรรมที่ไม่มีนัยที่ต้องไขความกันอีก เป็นการแสดงถึงแก่นสูงสุดของพระพุทธศาสนา.

๔. ทางมหายานนับถือความถูกต้องเหตุผลสำคัญ หลักธรรมจะเปน็ ใครกล่าวก็ตาม ถ้าชอบด้วยเหตุผล เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์แล้ว ก็ให้ถือเป็นหลักปฏิบัติได้ อันที่จริงทั้ง ๔ ข้อนี้ ก็มีนัยอยู่ในหลักพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือจะพูดให้ถูกก็ต้องว่า เป็นหลักการของพระพุทธศาสนานั่นเอง ไม่ใช่ของฝ่ายเถรวาทฝ่ายมหายาน.)


                               

เป็นผู้รู้แจ้งชัด อนุโลมเป็นไปในยถาภูตธรรมลักษณะ ปราศจากการเข้ามา ปราศจากคติมุ่งไป อวิชชาย่อมดับสนิทไปในที่สุด เพราะเหตุนั้น สังขารทั้งปวงก็ย่อมดับสนิทไปในที่สุด แม้จนชาติความเกิดก็ย่อมดับสนิทไปในที่สุด ชรามรณะก็ย่อมดับสนิทไปในที่สุด (กล่าวคือทั้งหมดเป็นสุญญตา ปราศจากสภาวะเกิดขึ้นหรือดับไป) ผู้ใดมาเพ่งพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็ย่อมรู้ชัดว่า อันปฏิจจสมุปบาท ๑๒ นั้นปราศจากอันตลักษณะไม่เกิดอุปาทลักษณะขึ้นอีกผู้ซึ่งกระทำเช่นนี้แลชื่อว่าเป็นผู้บูชาพระตถาคต ด้วยธรรมปฏิบัติบูชาอันสูงสุด.”

พระบรมศาสดาทรงแสดงความอนุสนธิกับท้าววาสวะต่อไป

“เมื่อพระราชบุตรจันทรฉัตร ได้สดับพระสัทธรรมจากพระไภษัชยราชาพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้บรรลุมุทุตากษานติธรรม
ครั้นแล้วพระราชบุตรจึงเปลื้องรัตนอลังการซึ่งประดับสรีราภรณ์ออก ถ้อมถวายบูชาแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พร้อมทั้งกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในกาลเมื่อพระองค์ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ข้าพระองค์จักบำเพ็ญธรรม
ปฏิบัติบูชา อภิบาลรักษาพระสัทธรรม ขออานุภาพของพระองค์โปรดได้คุ้มครองให้ธรรมปฏิบัติบูชานั้น
ได้สถาปนาขึ้นสำเร็จ ให้ข้าพระองค์สามารถบำราบมารภัย แลบำเพ็ญโพธิสัตวจริยาได้ลุล่วง พระเจ้าข้า.”

“พระไภษัชยราชาพุทธเจ้า ทรงกำหนดรู้วาระจิตอันลึกซึ้งตั้งมั่นของพระราชบุตรนั้นแล้ว
จึงตรัสพยากรณ์เพื่อเป็นสักขีว่า “ในอนาคตกาล เธอจักได้อภิบาลรักษาสัทธรรมนครเป็นแท้.”

“ดูก่อนเทวราช ครั้งนั้น พระราชบุตรจันทรฉัตรได้มีดวงธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ ทั้งยังได้รับลัทธยาเทสพุทธพยากรณ์เช่นนี้ เธอเป็นผู้มีศรัทธาออกบรรพชาแล้ว ได้เพียรอบรมกุศลธรรมอยู่โดยกาลไม่นานเลย ก็ได้บรรลุอภิญญาทั้ง ๕ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยโพธิสัตวธรรมวิถี บรรลุธารณีมีปฏิภาณโกศลไม่ข้องขัด ครั้นเมื่อพระไภษัชยราชาพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว เธอก็ได้อาศัยกำลังแห่งอภิญญาธารณี และปฏิภาณโกศลนั้น ยังพระธรรมจักรของพระไภษัชยราชาตถาคตให้แพร่หลายออกไปตลอดกาลนานเต็ม ๑๐ จุลกัลป์ ภิกษุจันทรฉัตรได้อภิบาลรักษาพระสัทธรรมด้วยความพากเพียร ในชาตินั้นเธอได้โปรดชนนับจำนวนแสนโกฏิให้ตั้งอยู่ในภูมิที่ไม่เสื่อมจากพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และยังมีชนอีก ๑๕ นหุต มีจิตมุ่งต่อพระอรหันตภูมิ พระปัจเจกโพธิภูมิ ยังสรรพสัตว์ไม่มีประมาณได้อุบัติในโลกสวรรค์.”

“ดูก่อนเทวราช พระเจ้ารัตนฉัตรในสมัยนั้น มิใช่ผู้ใดอื่นไกลหรอก ที่แท้ก็คือท่านผู้ได้บรรลุพระโพธิญาณในปัจจุบัน ทรงพระนามว่า พระรัตนโชติประภาตถาคตเจ้า นั่นเอง และพระราชโอรส ๑,๐๐๐ องค์ นั้นก็คือพระพุทธเจ้า ๑,๐๐๐ องค์ในภัทรกัลป์นี้ นับตั้งต้นแต่ พระกกุสันธะพระพุทธเจ้า เป็นปฐม จวบถึงพระตถาคตเจ้าองค์ลำดับสุดทรงพระนามว่า รุจิ ส่วนภิกษุจันทรฉัตรนั้น ก็คือเราตถาคตนั่นเอง ด้วยประการฉะนี้แลเทวราช !พระองค์พึงกำหนดสาระสำคัญในเรื่องนี้ว่า ในบรรดาสักการบูชาทั้งหลายนั้น ธรรมปฏิบัติบูชาเป็นสักการบูชาอันเยี่ยมยอดประเสริฐที่สุดไม่มีสิ่งได้เปรียบ เพราะเหตุนั้น เทวราช ! พระองค์พึงบูชาพระพุทธเจ้าด้วยธรรมปฏิบัติบูชาเถิด.”


ปริเฉทที่ ๑๓ ธรรมปฏิบัติบูชาวรรค จบ.


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กันยายน 2553 14:38:25 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #37 เมื่อ: 22 กันยายน 2553 18:26:35 »




ปริเฉทที่ ๑๔

ธรรมทายาทวรรค

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์ว่า

“ดูก่อนเมตไตรยะ ตถาคตมอบหมายพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิธรรมซึ่งสร้างสมมาตลอดอสงไขยกัลป์
อันบ่อาจประมาณได้ให้ไว้แก่เธอ ณ กาลบัดนี้ อันพระสูตรมีนัยเภทดังกล่าวมาแล้วนี้
ในสมัยเมื่อตถาคตดับขันธปรินิพพานแล้ว เธอทั้งหลาย (ตรัสรวมผู้เข้าประชุมด้วย) พึงสำแดงอานุภาพ

ประกาศแพร่หลายซึ่งธรรมนั้น ทั่วชมพูทวีปสืบไป อย่าให้ขาดถึงวิบัติเป็นอันขาด ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ?
ก็เพราะว่าถ้าในกาลอนาคตภายภาคหน้า จักมีกุลบุตรกุลธิดา กับทั้งทวยเทพ
นาคา อสูร ยักษ์ คนธรรพ์ รากษส เป็นอาทิ ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
มีความยินดีในธรรมอันกว้างใหญ่นี้ สัตว์เหล่านั้น ถ้ามิได้สดับพระสูตรเห็นปานนี้
ก็เสื่อมจากประโยชน์อันพึงได้โดยแท้ ก็แลหารสัตว์เหล่านั้น ได้สดับพระสูตรดังกล่าวนี้แล้ว

จักมีศรัทธาปสาทะมาก จักบังเกิดจิตที่หาได้ยาก น้อมเทิดทูนพระสูตรดังกล่าวด้วยเศียรเกล้าของเขา
เพราะเหตุนั้นเธอทั้งหลายพึงประกาศให้แพร่หลาย ให้สมควรแก่ประโยชน์อันสรรพสัตว์จักพึงได้เกิด.”



“ดูก่อนเมตไตรยะ เธอพึงรู้ไว้ด้วยว่า อันพระโพธิสัตว์นั้น มี ๒ ลักษณะ ก็ ๒ ลักษณะนั้นเป็นไฉน ?

๑. คือ พระโพธิสัตว์ที่ยินดีเพลิดเพลิน ในเรื่องสำนวนอักขรโวหารบัญญัติ.
๒. คือ พระโพธิสัตว์ที่มิได้ครั่นคร้ามหวาดกลัวต่ออรรถธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพ สามารถจักเข้าถึงซึมซาบได้.

ก็พระโพธิสัตว์ใด ที่ยินดีเพลิดเพลินในเรื่องสำนวนอักขรโวหารบัญญัติ พึงรู้ได้ว่า เป็นพระโพธิสัตว์นวกะ
พระโพธิสัตว์ใดปราศจากความเพลิดเพลินยินดี ปราศจากความยึดถือ
ปราศจากความครั่นคร้ามในพระสูตรอันล้ำลึก สามารถเข้าถึงแก่นสารในพระสูตรนั้น
ครั้นได้สดับซึ่งพระธรรมนั้นแล้ว ก็มีจิตสะอาดผ่องแผ้ว ธำรงรักษาไว้ได้

แลสาธยายเล่าบ่นกับทั้งอาจปฏิบัติตามธรรมดั่งกล่าว พึงรู้ได้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์รัตตัญญู อบรมปฏิบัติโพธิสติ
ยามานานกาล อนึ่งเมตไตรยะ ! ยังมีธรรมอยู่ ๒ ประการ
ซึ่งนวกโพธิสัตว์มิสามารถตัดสินเด็ดขาดในอรรถธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพได้ ก็ ๒ ประการนั้นเป็นไฉน !

๑. พระสูตรอันมีนัยล้ำลึกใด ซึ่งนวกโพธิสัตว์ได้สดับแล้วบังเกิดความครั่นคร้ามกังขา
ไม่สามารถอนุโลมตาม แลกล่าวจ้วงจาบโดยไร้ศรัทธาว่า
ธรรมเหล่านี้เราบ่เคยได้ฟังมาก่อนเลย ได้มาจากผู้ใดกัน ? ประการหนึ่ง.

๒. บุคคลที่เขาอภิบาลซึ่งพระสูตรอันมีนัยล้ำลึก แลเขาแสดงประกาศซึ่งพระสูตรนั้น นวกโพธิสัตว์ก็ไม่ยอมเข้าใกล้
สักการบูชาบุคคลผู้นั้น อนึ่ง ยังกล่าวโทษตำหนิติเตียนบุคคลผู้นั้นอีกด้วยอีกประการหนึ่ง.
ก็ทั้ง ๒ ประการนี้ เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า เป็นการกระทำซึ่งทำลายตนเองของนวกโพธิสัตว์

ผู้ไม่สามารถควบคุมจิตของเขาในท่ามกลางธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพได้
อนึ่ง เมตไตรยะ ! ยังมีโทษอยู่อีก ๒ ประการ ซึ่งพระโพธิสัตว์ผู้รัตตัญญูผู้มีศรัทธาเข้าใจในธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพ
แต่เป็นการทำลายตนเอง มิสามารถบรรลุอนุตปาทธรรมกษานติได้ ๒ ประการนั้นเป็นไฉน ? คือ

๑. รัตตัญญูโพธิสัตว์ใด ดูหมิ่นนวกโพธิสัตว์ ไม่ว่ากล่าวอบรมสั่งสอนตักเตือนนวกโพธิสัตว์นั้น.
๒. แม้ว่าจะมีความเชื่อความเข้าใจในธรรมอรรถอันลึกซึ้ง แต่ยึดถือในวิกัลปลักษณะ นี้แลธรรม๒ ประการ



บันทึกการเข้า
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7866


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 6.0.472.62 Chrome 6.0.472.62


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #38 เมื่อ: 22 กันยายน 2553 19:08:32 »




สาาาา... ธุ



บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #39 เมื่อ: 22 กันยายน 2553 19:32:25 »




พระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์ ครั้นได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้วจึงกราบทูลว่า


ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อัศจรรย์ยิ่งนักแล้ว พระพุทธเจ้าข้า เป็นไปตามพระพุทธบรรหารโดยแท้
ข้าพระองค์จักเว้นจากโทษดังที่กล่าวมาแล้วจักเป็นผู้ธำรงรักษาพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิธรรม ซึ่งพระสุคตเจ้าสร้างสมไว้
นับอสงไขยกัลป์ประมาณมิได้ ในอนาคตกาลภายหน้าหากมีกุลบุตรกุลธิดาใด ผุ้ปรารถนาศึกษามหายานธรรม

ข้าพระองค์จักยังเข้าให้ได้ถือเอาพระสูตรดังกล่าวนี้ไว้ในหัตถ์* แลด้วยกำลังแห่งอานุภาพจักยังเขาให้สามารถธำรงไว้
สวดสาธยาย กับทั้งแสดงประกาศแก่ผู้อื่น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลอนาคตผู้ใดซึ่งสามารถธำรงไว้ซึ่งพระสูตร
เป็นต้นดังกล่าวนี้ สามารถสวดสาธยายและประกาศแก่ผู้อื่น
เขาพึงสำเหนียกว่า นี้เป็นอานุภาพบันดาลให้เป็นไปของข้าพระองค์ ผู้มีนามว่าเมตไตรยะพระพุทธเจ้าข้า.”

พระบรมศาสดา ตรัสว่า

“สาธุ ! สาธุ ! เมตไตรยะ ! เป็นดั่งที่เธอกล่าว ตถาคตอนุโมทนาสาธุการแก่เธอด้วย.”
ลำดับนั้นแล บรรดาโพธิสัตว์ทั้งปวง ต่างก็อัญชลีกรกราบทูลขึ้นว่า

“แม้พวกข้าพระองค์ก็เหมือนกัน พระเจ้าข้า เมื่อพระสุคตเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว
จักประกาศพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิธรรม
ให้แผ่ไพศาลทั่วสรรพโลกธาตุในทศทิศ อนึ่ง จักเป็นผู้นำแก่ผู้ประกาศธรรมให้พระสูตรนี้ด้วย.”





สมัยนั้น ท้าวจาตุมมหาราช ก็กราบทูลขึ้นว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในสถานที่ใด จักเป็นคามนิคมชนบทราชธานี บรรพต วนาสณฑ์ ป่าชัฏใด ๆ
หากจะมีซึ่งพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่ก็ดี มีผู้สาธยายประกาศซึ่งพระสูตรนี้ก็ดี ข้าพระองค์จักนำบริวารมาสดับ
พระธรรมเทศนา ณ สถานที่นั้น ๆ พิทักษ์คุ้มครองบุคคลนั้น
ภายในบริเวณภูมิดลโดยรอบร้อยโยชน์ จักป้องกันมิให้ภัยพาลมาก่อกวนได้ พระพุทธเจ้าข้า.”

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า

“ดูก่อนอานนท์ เธอจงธำรงไว้ซึ่งพระสูตรนี้ แลประกาศแสดงให้แผ่ไพศาลเถิด.”

พระอานนท์กราบทูลว่า “อย่างนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ธำรงพระสูตรสำคัญไว้แล้ว
พระพุทธเจ้าข้า ก็พระสูตรนี้จักมีนามว่าอย่างไร ?”

ตรัสว่า “อานนท์ !

พระสูตรนี้มีนามว่า วิมลเกียรตินิทเทสสูตร หรือ อจินไตยวิมุตติธรรมทวารสูตร

เธอพึงทราบเอาไว้อย่างนี้แล

เมื่อพระผู้มีพระภาคแสดงพระธรรมบรรยายนี้อวสานลง ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระสารีบุตรเถรเจ้า พระอานนทเถรเจ้าเป็นอาทิ กับทั้งบรรดาทวยเทพ
อสูรประชุมชนทั้งนั้น บรรดาที่ได้สดับพระพุทธภาษิต
ต่างก็มีโสมนัสปรีดาร่าเริงในธรรม มีศรัทธาปสาทะ น้อมรับปฏิบัติตามด้วยประการฉะนี้แล.

ปริเฉทที่ ๑๔ ธรรมทายาทวรรค
จบ.
วิมลเกียรตินิทเทสสูตร อวสาน.






www mahayana in.th/tmayana/
www bloggang com/viewblog.php?id=khunz&date=22-07-2009&group=18&gblog=21
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,1380.0.html
http://www.sookjai.com/index.php?topic=7016.0
Pics by : Google





กราบขอบพระคุณ คุณมดเอ๊กซ์ ผู้นำมาแบ่งปัน..
อนุโมทนาสาธุ.. ที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ..

พุทธะบูชา ธรรมะบูชา สังฆะบูชา สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ถวายอานิสงส์ใดๆที่พึงมี กราบบูชาพระคุณผู้มีพระคุณทุกๆท่านค่ะ...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 ตุลาคม 2553 10:09:47 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7866


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 6.0.472.62 Chrome 6.0.472.62


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #40 เมื่อ: 22 กันยายน 2553 20:21:25 »

โอ...

จบอีกหนึ่งซีรี่ย์ยาว ที่อ่านจนตาแฉะ

เหมือนอ่านหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มนึงเลย
บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
คำค้น: พระสูตร วิมลเกียรตินิรเทศสูตร  (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ  
หน้า:  1 [2] 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.003 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 20 ธันวาคม 2567 03:37:18