.ตำนานการหล่อพระพุทธชินราชวัดตาปะขาวหาย อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๘ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก รัชกาลที่ ๔ ในราชวงศ์พระร่วง เจ้ากรุงสุโขทัย ได้โปรดให้ช่างฝีมือดี กรุงศรีสัชนาลัย ร่วมกับช่างสวรรคโลก เชียงแสนและช่างหริภุญไชย ช่วยกันสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ๓ องค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา
ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ พ.ศ.๑๘๙๘ ได้มงคลฤกษ์ทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ และเมื่อแกะพิมพ์ออก ปรากฏว่าพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ทองแล่นติดตลอด องค์พระสวยงาม ส่วนพระพุทธชินราช ทองแล่นติดไม่เต็มองค์ พระองค์จึงรับสั่งให้นายช่าง ร่วมกันทำหุ่นและเททองอีกถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ พระองค์จึงตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง ทั้งทวยราษฎร์พร้อมกันรักษาศีล
กาลครั้งนั้น องค์อินทราธิราชเจ้า ประสงค์จะบำเพ็ญกุศลด้วยพระองค์เอง จึงได้จำแลงพระองค์เป็น “ตาปะขาว” รับเป็นนายช่างใหญ่ และได้เริ่มปั้นหุ่นขึ้นใหม่
ครั้นได้มหามงคลฤกษ์ วันพฤหัสบดีขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๑๙๐๐ ได้ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธชินราช โดยมีองค์ตาปะขาวเป็นเจ้าพิธี ด้วยเทวานุภาพ การเททองครั้งนี้ทองแล่นเต็มองค์บริบูรณ์ตลอดองค์พระ สวยงามมิมีที่ติ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ทรงปีติโสมนัสเป็นล้นพ้น จึงตรัสหานายช่างตาปะขาวเข้าเฝ้าเพื่อพระราชทานรางวัล ปรากฏว่าองค์ตาปะขาวได้เดินเลียบริมแม่น้ำน่านขึ้นเหนือ และได้หายตัวกลับวิมาน ณ บริเวณนี้ พระองค์ได้โปรดให้สร้างวัดขึ้น และพระราชทานตั้งชื่อว่า “วัดตาปะขาวหาย” ในปี พ.ศ. ๑๙๐๐ ไว้เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ จนถึงทุกวันนี้ คัดจาก ... แผ่นป้ายจารึกในศาลเทพตาปะขาว วัดตาปะขาวหายพระอุโบสถ วัดตาปะขาวหาย
วิหารเก่า ของวัดตาปะขาวหาย
วัดตาปะขาวหายฟื้นตำนานการหล่อพระพุทธชินราช วัดตาปะขาวหาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สันสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นสมัยสุโขทัยตอนต้น แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดเตาไห” เพราะเป็นวัดที่อยู่ในละแวกหมู่บ้านที่ปั้นเตาและไห มีหลักฐานสำคัญได้แก่เตาทุเรียงโบราณ ซึ่งกรมศิลปากรบูรณะซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่ยังไม่มีป้ายบอกเส้นทางไปแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว
วัดตาปะขาวหาย ตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันออก ริมแม่น้ำน่าน ในอดีตถูกกระแสน้ำเชี่ยวกรากไหลกัดเซาะตลิ่ง จนวัดจมลงในแม่น้ำน่านสองครั้งมาแล้ว หลักฐานคือใบเสมาและใบอุโบสถซึ่งยังจมอยู่กลางแม่น้ำน่าน สมัยก่อนยังไม่ได้ก่อสร้างเขื่อน เมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำลดระดับ จะแลเห็นใบเสมาและอุโบสถ นอกเหนือจากนั้นยังพบฐานเจดีย์ซึ่งก่อด้วยอิฐเป็นจำนวนมากที่ริมตลิ่งแม่น้ำน่าน ศาสนสถาน ศาสนวัตถุของวัดตาปะขาวหายที่เราเห็นในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ก่อสร้างขึ้นใหม่และนับเป็นการก่อสร้างครั้งที่สาม ศาลาช่องฟ้า จุดที่ชีปะขาวหายตัวไป
สร้างก่ออิฐถือปูน ทาสีชมพูอมส้ม
ประตูหน้าและหลัง มีรูปปั้นยักษ์ด้านละ ๒ ตน
เข้าไปเที่ยวชมในวัดเข้าใจว่าคือศาลาสีชมพูอมส้มคือวิหารเก่าแก่
แต่คุณป้าที่ช่วยกิจกรรมในวัด เล่าว่าสถานนี้ เรียกว่าศาลาช่องฟ้า
เมื่อหล่อพระพุทธชินราชเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตาปะขาวเดินเลาะเรียบ
ริมแม่น้ำน่านขึ้นไปทางเหนือ เมื่อมาถึงจุดที่ก่อสร้างศาลาช่องฟ้าแห่งนี้
เทพตาปะขาวได้หายตัวไป ซึ่งขณะหายตัวนั้น มีควันขาวหนาแน่น
จากพื้นดินเป็นช่องกลวงขึ้นไปบนท้องฟ้า เมื่อหมอกควันจางหายไป
ก็ไม่ปรากฏมีใครพบเห็นเทพตาปะขาวนั้นอีก
ราหูอมจันทร์ ข้างศาลาช่องฟ้า
ศาลเทพตาปะขาว ภายในบริเวณวัดตาปะขาวหาย
ศาลาสวดมนต์ วัดตาปะขาวหาย
เป็นศาลาเก่า อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม
ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้ว