พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล

(1/9) > >>

Kimleng:
Tweet

.


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ
รวบรวมจาก คอลัมน์
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
และ หนังสือพิมพ์ข่าวสด


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
โมกพวงดอกชมพู หอมสวยความเชื่อดี

โมกชนิดนี้ เกิดจากการผสมเกสรโดยธรรมชาติจากแมลง ระหว่างโมกพวงดอกขาวกับโมกแดงชนิดดอกใหญ่ที่ปลูกติดกัน แล้วนำเอาเมล็ดที่ได้จากทั้ง ๒ ต้น ไปเพาะขยายพันธุ์จนแตกต้นขึ้นมา ปรากฏว่า ลักษณะต้นและใบเหมือนกับโมกพวงดอกขาวทุกอย่าง จะมีข้อแตกต่างกันเพียงสีของดอกจะเป็นสีชมพูอ่อนสวยงามแปลกตามาก ดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกับโมกพวงดอกขาวอีกด้วย จึงเชื่อว่าเป็นโมกพวงกลายพันธุ์อย่างแน่นอน จึงปลูกทดสอบสายพันธุ์ทั้งด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง ปรากฏว่าทุกอย่างยังคงที่เป็นไม้กลายพันธุ์ถาวรแล้ว จึงตั้งชื่อว่า “โมกพวงดอกชมพู” พร้อมตอนกิ่งขยายพันธุ์ออกจำหน่ายได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

โมกพวงดอกชมพู อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๒.๕ เมตร ลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีประเป็นจุดกระจายทั่วทั้งต้น ทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลม ขนาดใบจะใหญ่และหนากว่าใบของโมกพวงดอกขาวอย่างชัดเจน

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อดอกห้อยลง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก ลักษณะดอกเหมือนกับดอกโมกพวงดอกขาวคือ มีกลีบดอก ๕ กลีบ เป็นสีชมพูอ่อนๆ ดอกมีกลิ่นหอม เวลามีดอกดกช่อดอกห้อยลงและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมกระจายเป็นที่ชื่นใจมาก “ผล” เป็นฝัก มีหลายเมล็ดดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง นอกจากดอกสวยงามและหอมแล้ว โบราณเชื่อว่าโมกทุกชนิดปลูกในบ้านจะช่วยให้เกิดความสุข เพราะคำว่า “โมก” หรือ “โมกข์” หมายถึงผู้พ้นทุกข์ทั้งปวง    นสพ.ไทยรัฐ



 บุนนาคสีชมพู สวยหอมแรง

ปกติ ดอกบุนนาคที่นิยมปลูกและคนรู้จักมาแต่โบราณ สีของดอกจะเป็นสีขาวหรือเหลืองและดอกมีกลิ่นหอมประทับใจ ชนิดดังกล่าวพบขึ้นตามป่าดิบทางภาคเหนือและภาคใต้ของไทย ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐-๗๐๐ตร ดอกออกช่วงเดือนมีนาคม– กรกฎาคม ทุกปี มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ MESUA FERREA LINN. อยู่ในวงศ์ GUTTIFERAE เป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๐ เมตร มีต้นขายทั่วไป มีสรรพคุณสมุนไพร คือ รากแก้ลมในลำไส้ เปลือกต้นใช้กระจายหนอง กระพี้แก้เสมหะในลำคอ เนื้อไม้เป็นยาแก้ลักปิดลักเปิด ใบใช้พอกแผลสดให้แห้ง ดอก บำรุงโลหิต ระงับกลิ่นตัวดี และใช้ผสมสีให้ติดทนนานน้ำมันกลั่นจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง ทำเครื่องสำอาง

ส่วน “บุนนาคสีชมพู” เพิ่งพบมีต้นขาย ผู้ขายบอกว่า เป็นพันธุ์ที่พบขึ้นในป่าดิบติดกับน้ำตกทีลอซู ในพื้นที่ จ.ตาก และผู้พบเห็นได้เอาเมล็ดจากผลแก่จัดไปเพาะขยายพันธุ์จนต้นเติบโตมีดอก ปรากฏว่าดอกดกมาก สีสันของดอกเป็นสีชมพูเข้มแตกต่างจากสีสันของดอกบุนนาคชนิดแรกอย่างชัดเจน ดูสวยงามแปลกตายิ่ง ที่สำคัญดอกมีกลิ่นหอมแรงเป็นที่ชื่นใจมาก ผู้นำเมล็ดมาขยายพันธุ์จึงตั้งชื่อว่า “บุนนาคสีชมพู” พร้อมขยายพันธุ์ออกวางขายได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอยู่ในเวลานี้

บุนนาคสีชมพู มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับบุนนาคชนิดดอกสีขาวเกือบทุกอย่าง จะแตกต่างกันเพียงต้นของ “บุนนาคสีชมพู” จะสูงแค่ ๕-๑๐ เมตร เท่านั้น และสีของดอกเป็นสีชมพูสวยงามและมีกลิ่นหอมเหมือนกัน “ผล” รูปไข่ มี ๑-๒ เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ปัจจุบันมีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการเก่า ราคาสอบถามกันเองครับ...    นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
ระฆังทอง มีกิ่งตอนขายแล้ว

ในประเทศไทย พบไม้ต้นนี้เฉพาะถิ่นแถบภาคเหนือตอนล่าง และมีเขตกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะขึ้นตามชายป่าดงดิบ หรือบริเวณลำห้วยที่ระดับความสูง ๔๐๐-๘๐๐ เมตร เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้วว่า เป็นไม้ดอกสวยงามหายากชนิดหนึ่ง ไม่มีกิ่งตอนขายที่ไหน จะมีปลูกประดับบ้าง ตามบ้านในชนบท ไม่แพร่หลายสู่ภายนอก

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แนะนำในคอลัมน์  ไปไม่นานนัก ปัจจุบันพบว่า มีผู้ขยายพันธุ์ตอนกิ่ง “ระฆังทอง” ออกวางขายแล้ว จึงรีบแจ้ง ให้ผู้อ่านไทยรัฐที่ชื่นชอบปลูกไม้ดอกสวยงาม ประเภทหายากได้ทราบอีกตามระเบียบ

ระฆังทอง หรือ PAULDOPIA GHORTA (G.DON) STEENIS อยู่ในวงศ์  BIGNONIA-CEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๓-๗ เมตร แตกกิ่งก้านกว้าง ใบเป็นใบประกอบขนนก มีใบย่อย ๓-๔ คู่ ก้านใบย่อยมีปีกแคบๆ เนื้อใบค่อนข้างบางเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายแหลมเป็นติ่ง โคนใบสอบกว้าง บางครั้งเบี้ยว ขอบใบและเส้นใบมีขน โดยเฉพาะด้านท้องใบ ใบเป็นสีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อ ๓-๕ ดอก ห้อยลง กลีบรองดอกเชื่อมติดกัน เป็นรูปถ้วย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๓-๔.๕ ซม. เป็นสีเหลืองเข้มหรือสีเหลือง ทอง ปลายกลีบบานเป็น ๕ แฉก สีแดงเข้ม มีเกสรตัวผู้ ๒ คู่ ติดกับหลอดดอกด้านใน ยาวไม่เท่ากัน เวลามีดอกดก และดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูเหมือนระฆังสีทอง ห้อยเป็นระย้าสวยงามน่าชมยิ่งนัก ดอกบานได้นานหลายวัน “ผล” เป็นฝัก เมล็ดแบน แข็ง ดอกออกเรื่อยเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “ระฆังทอง” มีกิ่งตอนขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๓    นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
ระฆังทอง ดอกสวยหายาก

ไม้ต้นนี้ มีเขตการกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยาทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่ พม่า ลาว เวียดนาม และในแถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่จะพบขึ้นตามชายป่าดิบเขาที่ร่มเย็นชุ่มชื้นที่ระดับความสูงตั้งแต่ ๔๐๐-๘๐๐ เมตร มีชื่อ วิทยาศาสตร์ว่า PAULDOPIA GHORTA (G.DON) STEENIS อยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูง ๔-๘ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาระเกะระกะไม่เป็นระเบียบ

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสามถึงสี่ชั้น ใบย่อยเรียงตรงกันข้าม มีใบย่อยจำนวนมากเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายแหลมยาว โคนใบเบี้ยวมน ขอบเรียบ หน้าใบสีเขียวสด หลังใบสีหม่น

ดอก ออกเป็นช่อแบบแตกแขนงตามซอกใบและกิ่งก้าน แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกห้อยลงเป็นระย้า มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดทรงกระบอกยาว ปลายบนเป็นรูปปากแตรแยกเป็น ๕ กลีบ กลีบที่บานออกเป็นสีแดงเข้ม หรือ แดงอมชมพู หลอดดอกเป็นสีเหลืองทอง ดอกยาว ๓-๔.๕ ซม.ภายในหลอดดอกมีเกสรตัวผู้ ๒ อันติดกับหลอดดอกยาวไม่เท่ากัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามเหมือนกับระฆังสีทองห้อยเป็นระย้าน่าชมมาก จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า “ระย้าทอง”

ผล เป็นฝัก รูปรียาว ปลายฝักแหลม มีรอยคอดเล็กๆ เป็นช่วงๆ ภายในมีหลายเมล็ด เมื่อฝักแก่จะแตกอ้า เมล็ดค่อนข้างแบนและแข็ง ไม่มีปีก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ระฆังทอง จัดเป็นไม้ดอกสวยงามหายากที่ยังไม่พบว่ามีผู้ใดขยายพันธุ์หรือตอนกิ่งออกวางขายที่ไหน...ภาพประกอบคอลัมน์ถ่ายในป่าธรรมชาติทางภาคเหนือ    นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
 พุดจีบ ดอกหอมดกทั้งปี

ในบันทึกพรรณไม้ ระบุว่า “พุดจีบ” มีถิ่นกำเนิดจาก ประเทศอินเดีย แต่ก็ระบุด้วยว่าพบขึ้นในป่าดิบ  ทางภาคเหนือของประเทศ ไทยเช่นกัน ซึ่ง “พุดจีบ” นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านมาช้านานแล้ว เนื่องจาก  “พุดจีบ” มีดอกดกและมีดอกตลอดทั้งปีไม่ขาดต้น ทำให้เวลามีดอกดูสวยงามสว่างไสวน่าชมเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญ ดอกยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใช้จมูกสูดดมจะรู้สึกได้ถึงกลิ่นหอมชวนให้สดชื่นและประทับใจมาก

พุดจีบ หรือ TABEMAEMONTANA DIVARICATA (LINN.) R.BR. ชื่อสามัญ CLAVEL DE LA INDIA, EAST INDIA ROSEBAY, CRAPE JASMINE อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้พุ่มสูง ๑.๕-๓ เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปใบหอกปลายและโคนใบแหลม สีเขียวสดและเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบใกล้

ปลายกิ่ง 2–3 ดอกต่อช่อ ดอกโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕-๑๐ กลีบ เรียงซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น กลีบดอกเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๕-๕ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๕ อัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามสดใสมาก “ผล” เป็นฝัก ยาว ๒.๕-๕ ซม. มีเมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ประโยชน์  เนื้อไม้ต้มน้ำดื่มเป็นยา  ลดอาการไข้  น้ำจากกิ่งก้านและใบต้มดื่ม เป็นยาขับพยาธิได้ สารสำคัญจากเปลือกต้นและรากมีอัลคาลอยด์ CORONARINE ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่น้อยคนนักจะรู้จัก “พุดจีบ” เนื่องจากค่านิยมในการปลูกประดับได้ลดลงไปตามกาลเวลา ซึ่ง “พุดจีบ” เป็นไม้ปลูกง่ายและปลูกได้ทั้งที่รำไรและกลางแจ้ง ชอบดินร่วนปนทราย ปลูกได้ทั้งลงดินและลงกระถางขนาดใหญ่ มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ    นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
 รักซ้อน ทำเสน่ห์ นางกวักรักยม

ผู้อ่านจำนวนมากอยากทราบว่า “รักซ้อน” มีต้นขายที่ไหนและมีประโยชน์อย่างไร ทำไมหาซื้อต้นไปปลูกได้ยากมาก ซึ่ง ความจริงแล้ว “รักซ้อน” ไม่ได้หายากอย่างที่คิดเพียงแต่ผู้จำหน่ายต้นไม้ทำต้นออกขาย เนื่องจากขายไม่ได้ คนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับชื่อ “รักซ้อน” และคิดว่าถ้าปลูกแล้วจะทำให้เกิดมีความรักซ้อนกันหลายคน ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกัน

รักซ้อน หรือ CALOTROPIS GIGANTEA LINN.R.BR.EX.AIT. ชื่อสามัญ CROWN FLOWER, GIANT INDIAN MILKWEED, GIGANTIC SWALLOW-WORT อยู่ในวงศ์ ASCLEPIADACEAE มีถิ่นกำเนินเอเชียกลาง อินเดีย เป็นไม้พุ่ม สูง ๑.๕-๓ เมตร ดอกเป็นสีเขียว ลักษณะดอกเหมือนกับดอกรักสีขาวและสีม่วงทุกอย่าง เพียงแต่จะมีกลีบดอกซ้อนกันจนทำให้ดอกบานไม่ออก จึงถูกเรียกชื่อว่า “รักซ้อน” ผล เป็นฝักคู่ มีเมล็ดจำนวนมาก รูปแบน สีนํ้าตาล มีปีกเป็นปุยสีขาวติดที่ปลายเมล็ดด้านหนึ่ง ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง มีชื่อ เรียกอีกคือ รัก, รักดอก  (ไทยภาคกลาง) ปอเถื่อน, ป่านเถื่อน (พายัพ) และ รักเขา (เพชรบูรณ์)

ประโยชน์ของ “รักซ้อน” นิยมเอารากที่มีขนาดใหญ่ไปแกะสลักทำ เป็นรูปนางกวัก พร้อมให้เกจิอาจารย์ดังทำพิธีเพื่อบูชา ให้มีเสน่ห์ทางด้านค้าขายดี บางคนเอารากไปแกะสลักเป็น “รักยม” ใส่ขวดปลุกเสกบูชาทำ ให้คนอื่นเกิดรักและนิยมในตัวผู้เป็นเจ้าของ ได้รับความนิยมมาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นสาเหตุ ทำให้ต้น “รักซ้อน” หายาก เนื่องจากถูกขุดเอารากไปใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้ต้นตายเกลี้ยงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันพบว่ามีผู้ขยายพันธุ์ต้น “รักซ้อน” ออกวางขายบ้าง ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แต่ไม่มากนัก บริเวณโครงการ ๑๙  ปลูกได้ในดินทั่วไป ทนแล้งดี...    นสพ.ไทยรัฐ


 รักซ้อนดอกม่วง สวยน่าปลูก

คนทั่วไปจะรู้จักและคุ้นเคยเฉพาะดอกรักที่มีดอกเป็นสีขาว มีกลีบดอกเพียงชั้นเดียว นิยมปลูกมาแต่โบราณ มีสรรพคุณยาคือ ใบแก้ริดสีดวงทวาร คุดทะราด ยางแก้ริดสีดวงลำไส้ ใช้ยางทาเนื้อปลาช่อนย่างไฟให้สุกให้เด็กจิ้มน้ำปลากินจนหมดตัวขับไส้เดือนดีมาก ดอกฆ่าเชื้อโรคกลากเกลื้อน ผลแก้รังแค บำรุงทวารทั้ง ๙ ให้บริบูรณ์ รากแก้มูกเลือด ไข้เหนือ กับต้นรักชนิดที่มีดอกสีเขียวอ่อน กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น นิยมเอา ราก ไปแกะสลักทำ เป็นรูปนางกวักตั้งประดับหน้าร้านเพื่อให้ขายของดี และ สลักทำรักยมใส่ขวดทำให้คนอื่นเกิดความรักนิยมชมชอบในตัวเอง เคยแนะนำไปแล้ว

ส่วน “รักซ้อนดอกม่วง” เพิ่งพบมีต้นวางขาย ซึ่งรักซ้อนชนิดนี้แพทย์แผนไทยโบราณไม่เรียกว่ารักซ้อน แต่จะเรียกว่า “ต้นธุดงค์” CALOTROPIS GIGANTER R. BROWN อยู่ในวงศ์ ASCLEPIA-DACEAE เป็นไม้พุ่มสูง ๑.๕-๓ เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางขาวเหมือนน้ำนม ใบออกตรงกันข้าม ปลายแหลม โคนเว้า เนื้อใบหนา ใต้ใบมีขนนุ่ม

ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายยอด มีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเทาเงินหรือสีม่วง กลีบดอก ๕ กลีบ เรียงซ้อนกันหลายชั้น กลีบดอกเป็นสีม่วงเข้ม เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ ซม. มีระยางเป็นสันคล้ายรูปมงกุฎ ๕ สัน มีเกสรตัวผู้ ๕ อัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักคู่ เมื่อแก่แตกได้ เมล็ดแบนสีน้ำตาลจำนวนมาก มีขนสีขาวเป็นกระจุกที่ปลายด้านหนึ่ง มีถิ่นกำเนิด เอเชียกลาง อินเดีย ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และปักชำกิ่ง ต้น ดอก มี “เรซิน” รสขม ใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับเสมหะ ใช้มากทำให้อาเจียนจึงควรระวังในการใช้ มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๙     นสพ.ไทยรัฐ


 บุหงาแต่งงาน หรือ บุหงาเซิง

ผมเคยเขียนถึงไม้ต้นนี้ไปนานแล้วในชื่อที่เรียกตามบันทึกพรรณไม้ว่า บุหงาเซิง ส่วนชื่อ “บุหงาแต่งงาน” เป็นชื่อเรียกเฉพาะกรุงเทพฯ และยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอีกคือ เครือติดต่อ, ส่าเหล้า (สุราษฎร์ธานี) สายหยุด และ สาวสะดุ้ง (ชุมพร) พบขึ้นที่ระดับความสูง ๑๐๐-๒๐๐ เมตร ตามป่าดิบเขาทางภาคใต้ของประเทศไทย มีชื่อ วิทยาศาสตร์ว่า FRIESODIELSIA DESMOIDES (CRAIB) STEENS อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยต้นสูงหรือเลื้อยได้ไกล ๓-๕ เมตร

กิ่งอ่อน มีขนสั้นนุ่มปกคลุม เปลือกต้นเรียบ เป็นสีน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้เหนียว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเว้า ใบมีขนาดใหญ่ หน้าใบเป็นสีเขียวสด หลังใบเป็นสีเขียวด้านเหมือนมีนวล

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก ๑-๒ ดอก ตามซอกใบ ดอกอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่หรือบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลีบดอกแบ่งเป็น ๒ ชั้น กลีบดอกชั้นนอกเป็นรูปขอบขนานหรือรูปรี ปลายแหลมหรือมน มีจำนวน ๓ กลีบ กลีบดอกชั้นในเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบกลีบบรรจบเข้าหากันเป็นรูปเหลี่ยมคล้าย พีระมิด ซึ่งกลีบดอกชั้นในมีเมื่อแก่ จะเป็นสีส้มมองเห็นอย่างชัดเจน

ดอกมีกลิ่นหอมแรง โดยกลิ่นจะเริ่มโชยในช่วงบ่ายและจะส่งกลิ่นหอมแรงที่สุดในช่วงพลบค่ำเรื่อยไปจนถึงรุ่งเช้า กลิ่นหอมจึงจะค่อยๆจางลง แต่ยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ อยู่ และจะเริ่มส่งกลิ่นแรงขึ้นอีกตามธรรมชาติจนกว่าดอกจะร่วง “ผล” เป็นกลุ่ม ๘-๑๒ ผล รูปกลมรี เมื่อสุกเป็นสีแดงมี ๑ เมล็ด ดอกออกระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคมทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒    นสพ.ไทยรัฐ


 กูดผา สวยน่าปลูก

กูด เป็นพืชจำพวก เฟิร์น มีมากกว่าร้อยสายพันธุ์ทั่วโลก บางชนิดยอดอ่อนกินเป็นอาหารได้เรียกว่ากูดกิน ส่วนใหญ่พบขึ้นในป่าดิบบนเขาสูง ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีความแตกต่างกันที่ใบอย่างชัดเจน ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้มีเหง้าทอดยาวไปตามพื้นดินและแตกต้นขึ้นเป็นกลุ่มหลายๆต้นคล้ายแตกต้นจากไหล บางครั้งพบว่าเหง้าเกือบตั้งตรงก็มี

ส่วน “กูดผา” หรือที่ผู้นำต้นมาวางขายเรียกอีกชื่อว่า “กูดเวียน” มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น โดยจะขึ้นปะปนอยู่กับกลุ่มมอสบนต้นไม้ใหญ่หรือตามซอกผาหินในป่าดิบเขาสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๑๐๐-๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป ในต่างประเทศพบที่พม่าตอนบน ประเทศจีนพบทางตะวันตกเฉียงใต้

กูดผา หรือ กูดเวียน มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะคือ POLYPODIUM MANMEIENSE CHRIST อยู่ในวงศ์ POLYPO-DIACEAE เป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดขนานแตกตาขา มีเกล็ดสีน้ำตาลเทาหนาแน่นทั่วไป เกล็ดเป็นรูปแถบหรือกิ่งสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 3 มม. ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบ ใบเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบเว้าลึกแบบขนนก บางตอนเว้าลึกถึงเส้นแกนใบ ทำให้มีลักษณะเป็นแฉกจำนวน ๓๐-๕๐ คู่ แฉกเป็นรูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลม แฉกที่ปลายใบจะเล็กกว่าแฉกอื่นๆแผ่นใบค่อนข้างบางกว่าใบกูดทั่วไป เส้นกลางแฉกเป็นสีน้ำตาลเข้ม เส้นแขนงแยกเป็นคู่มองเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ปลายสุดของเส้นแขนงมีรูหยาดน้ำ รูปรีใต้ขอบใบ ก้านใบสีน้ำตาลอ่อน โคนมีเกล็ด กลุ่มสปอร์รูปทรงกลม มีขนาดเล็กมากติดอยู่ที่ปลายเส้นแขนงที่ระดับผิวใบ หรือ บริเวณส่วนที่นุ่มของแผ่นใบ ขยายพันธุ์ด้วย สปอร์ หรือ เหง้า

ปัจจุบัน “กูดผา” หรือ “กูดเวียน” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ โครงการ ๒๔    นสพ.ไทยรัฐ


 จำปาลูกผสมใหม่ ต้นเตี้ย ดอกดก หอมแรง

จำปาลูกผสมใหม่ เพิ่งพบมีต้นวางขายมีภาพถ่ายจากต้นจริงมีดอกดกเต็มต้นสวยงามมาก ผู้ขายบอกว่า เป็นลูกผสมใหม่ด้วยเกสรระหว่าง จำปาแคระ กับ รัศมีจำปา เมื่อนำต้นที่เพาะได้จากเมล็ดไปปลูกเลี้ยง ปรากฏว่าต้นเตี้ยแจ้สูงเพียง ๑-๑.๕ เมตร คล้ายกับลำต้นของจำปาแคระ มีทรงพุ่มสวยงาม ออกดอกง่ายและดอกดกมาก ดอกเป็นสีเหลืองทองเหมือนสีของดอกรัศมีจำปา และที่สำคัญรูปทรงของกลีบดอกจะเรียวยาวกว่าสายพันธุ์พ่อและแม่อย่างชัดเจน ดอกมีกลิ่นหอมแรง เจ้าของ จึงขยายพันธุ์ไปทดลองปลูกอีกทอดหนึ่ง ปรากฏว่าทุกอย่างยังคงที่และเชื่อได้ว่ากลายพันธุ์แบบถาวรแน่นอนแล้ว เลยตั้งชื่อว่า “จำปาลูกผสมใหม่” และขยายพันธุ์ตอนกิ่งออกวางขายดังกล่าว

จำปาลูกผสมใหม่ อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE เป็นไม้พุ่มสูง ๑-๑.๕ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่แคบ ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบมน เนื้อใบหนา สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ มีกลีบดอก ๓ ชั้น กลีบดอกเป็นรูปใบหอกค่อนข้างยาว เป็นสีเหลืองอมส้ม หรือ สีเหลืองทอง มีเกสรตัวผู้และตัวเมียจำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอมแรงมากในช่วงเช้า พอสายกลิ่นหอมจะจางลงตามธรรมชาติ ซึ่ง “จำปาลูกผสมใหม่” มีดอกดกมาก ทำให้เวลา มีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นดูงดงามอร่ามตาและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจยิ่ง “ผล” เป็นผลกลุ่ม ทรงผลค่อนข้างกลม มีหลายเมล็ด ดอกออกเกือบตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง   ปัจจุบันมีต้นขาย ที่ตลาด นัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ     นสพ.ไทยรัฐ


 รัศมีจำปาแคระหอมแรงทั้งปี

รัศมีจำปาแคระ เป็นไม้กลายพันธุ์ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดของต้น จำปาทอง หรือ รัศมีจำปา เมื่อได้ลูกไม้ใหม่ขึ้นมา ปรากฏว่าขนาดของต้นเตี้ยแคระ สูงเต็มที่ไม่เกิน ๓ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบมีขนาดใหญ่กว่าใบของจำปาทอง หรือรัศมีจำปา อย่างชัดเจน เนื้อใบหนา ใบดกและหนาทึบมาก

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือ เป็นช่อ ๑-๓ ออกตามซอกใบ กลีบดอกแยกเป็นอิสระกัน มีกลีบดอก ๑๒-๑๕ กลีบ เป็นรูปหอกยาว ปลายกลีบแหลม เนื้อกลีบค่อนข้างหนาและแข็ง เป็นสีเหลืองเข้ม หรือ สีเหลืองอมส้ม เหมือนสีของกลีบดอก รัศมีจำปา จึงถูกตั้งชื่อว่า “รัศมีจำปาแคระ” ดอกมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมแรง หรือหอมจัดช่วงเช้าตรู่ เหมือนกลิ่นหอมของ จำปาทอง และ รัศมีจำปา พอสายหน่อยกลิ่นหอมจะจางหายไป ทำให้เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจตามเวลาที่กล่าวข้างต้นชื่นใจมาก ดอกออกเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง เสียบยอด และตอนกิ่ง

ปัจจุบันมีต้นและกิ่งพันธุ์ขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ     นสพ.ไทยรัฐ


  โบตั๋นอเมริกา ดอกดกหอมทั้งปี

โบตั๋นชนิดนี้  พบมีต้นวางขาย มีภาพถ่ายของดอกและชื่อเขียนไว้ว่า “โบตั๋นอเมริกา” โดยผู้ขายบอกว่า นำเข้ามาขยายพันธุ์ปลูกในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว มีลักษณะเด่นคือ ออกดอกตลอดทั้งปี ดอกดกมากและ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวเป็นที่ชื่นใจยิ่ง

อย่างไรก็ตาม โบตั๋นมีประมาณ ๓๐ ชนิด แต่ละชนิดจะมีลักษณะต้นดอกและใบไม่เหมือนกัน มีทั้งชนิดเป็นไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม ดอกมีหลายสี ตั้งแต่สีแดง สีบานเย็น สีเหลือง และสีขาว เป็นต้น บางสายพันธุ์ดอกมีกลิ่นหอม และบางพันธุ์ดอกจะบานเฉพาะตอนกลางคืน ซึ่งโบตั๋นเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในอเมริกาเขตร้อน แล้วกระจายปลูกตามเขตร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีน ถูกนำไปขยายพันธุ์ปลูกตั้งแต่โบราณได้รับความนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นไม้ของจีนไปโดยปริยาย

โบตั๋นอเมริกา มีลักษณะเป็นไม้ในสกุลกระบอกเพชร ลำต้นแบนเป็นข้อ ขอบลำต้นเป็นหยักๆ ลำต้นอวบน้ำ หนาและแข็ง ลำต้นมักโค้งงอ ต้นโตเต็มที่ยาว ๑-๑.๕ ฟุต ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวๆ  บริเวณซอกของหยักลำต้น ดอกเป็นสีขาว มีกลีบดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้น ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๓.๕ นิ้วฟุต ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามพร้อมส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจมาก ดอกออกตลอดปีและจะมีดอกดกไม่ขาดต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำต้น

ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีน มีความเชื่อว่า โบตั๋น ทุกสายพันธุ์เป็นไม้มงคล ปลูกเพื่อประดับบารมี เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและมีความสุข และยังเชื่อด้วยว่ารากของโบตั๋นทุกสายพันธุ์ตัดแล้วพกติดตัว จะเป็นเสน่ห์ทำให้คนชื่นชอบ

ปัจจุบัน “โบตั๋นอเมริกา” มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ    นสพ.ไทยรัฐ


  ปริศนา  หอมแรง รากอดบุหรี่ฟันทน  

ไม้ต้นนี้ มีต้นวางขายใน ชื่อ “ปริศนา” ซึ่งผู้ขายบอกว่าเป็นต้นเดียวกันกับอวบดำที่เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้ว จัดเป็นไม้ดอกหอมชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมปลูกประดับมาแต่โบราณ และนอกจากดอกจะมีกลิ่นหอมเป็นเสน่ห์แล้ว บางส่วนของต้น “ปริศนา” หรืออวบดำ ยังมีสรรพคุณดีอีกด้วย คือ รากสด กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดแล้วอมกลั้วในปากขณะอุ่น ๒-๓ นาทีแล้วบ้วนทิ้ง จะช่วยให้ฟันทนและแข็งแรงได้ ที่สำคัญ รากสด ของต้น “ปริศนา” หรืออวบดำ ยังนำไปเคี้ยวเวลาเกิดอาการอยากสูบบุหรี่ จะทำให้อดบุหรี่ได้อีกด้วย

ปริศนา หรือ อวบดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะคือ LINOCIERA MACROPHYLLA WALL อยู่ในวงศ์ OLEACEAE เป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง ๒-๔ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปขอบขนานแกม รูปรี ปลายแหลม โคนป้าน สีเขียวสด  ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบและตามกิ่งก้าน แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก มีกลีบเลี้ยงสีเขียวรูปกรวยตื้น กลีบดอกแยกเป็นอิสระกันจำนวน ๕ กลีบ เป็นรูปรี ปลายกลีบมน สีขาวสดใส ดอกมีกลิ่นหอมแรง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจมาก “ผล” รูปไข่ ภายในมีเมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีชื่อเรียกอีกคือ เกลื่อน (สุราษฎร์ธานี) และ ตาไชใบใหญ่ (ตราด)

ปัจจุบันมีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงหน้าตึกกองอำนวยการ     นสพ.ไทยรัฐ


หญ้าปักกิ่ง หลากสรรพคุณตำรายาจีน

หญ้าปักกิ่งหรือเล่งจือเฉ้า เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ประเภทไม้ล้มลุก สูงประมาณ ๗-๑๐ ซม. และอาจสูงได้ถึง ๒๐ ซม. ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอดรวมกันเป็นกระจุกแน่น กลีบดอกมีสีฟ้าปนม่วง ใบประดับกลม ยาวประมาณ ๔ มม. ร่วงง่าย เป็นพืชที่ชอบดินร่วนหรือดินปนทราย งอกงามในที่มีแดดรำไร ไม่ต้องการน้ำมาก เพาะปลูกโดยการเพาะชำหรือเพาะเมล็ด ปลูกได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องมีเนื้อที่มาก ตามสรรพคุณของตำรายาจีน จะใช้หญ้าปักกิ่งรักษาโรคในระบบทางเดินหายใจและกำจัดพิษ โดยจะใช้ทั้งต้นหรือส่วนเหนือดิน คือลำต้นหรือใบที่มีอายุ ๓-๔ เดือน
 
ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม ได้นำเอาหญ้าปักกิ่งมาพัฒนาเป็นยาเม็ด โดยยาทุก ๒ เม็ด มีคุณค่าเท่ากับต้นหญ้าปักกิ่ง ๓ ต้น ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากรังสีบำบัดหรือยาเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็ง จะรับประทาน ๗ วัน หยุด ๔ วัน ใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายและการกลับเป็นซ้ำอีก หลังจากการรักษาแล้ว โดยรับประทาน ๗ วัน หยุด ๔ วัน เช่นนี้ติดต่อกันประมาณ ๑ ปี และตรวจมะเร็งปีละ ๒ ครั้ง ใช้เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง รับประทาน ๗ วัน หยุด ๔ วัน เช่นนี้ติดต่อกัน เป็นเวลานานไม่เกิน ๖-๘ สัปดาห์ โดยใช้เฉพาะช่วงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ขณะติดเชื้อไวรัส เป็นต้น.    นสพ.ไทยรัฐ


  หูเสือ กับสรรพคุณยาตำราไทย  

หูเสือเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง ๐.๓-๑ เมตร  ลำต้นอวบน้ำ มีขนหนาแน่น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ค่อนข้างกลม กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๕-๗ ซม. โคนใบมนตัดมีครีบยาว ปลายใบมน ขอบใบจักมน แผ่นใบสีเขียว มีขนหนาแน่นทั้งสองด้าน เนื้อใบหนา มีกลิ่นเฉพาะ ก้านใบยาว ๒-๔.๕ ซม. ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีใบประดับรูปไข่ ดอกสีฟ้า กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ด้านนอกมีขน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น ๒ ปาก ปากบนตั้งตรง กลีบล่างยาวเว้า ออกดอกยาก ผล รูปทรงกลมแป้น กว้าง ๐.๕ มม. ยาว ๐.๗ มม. ผิวเรียบ สีน้ำตาลอ่อน
 
ในตำราแพทย์แผนไทยระบุว่าในใบหูเสือมีสรรพคุณในการแก้ปวดหูแก้ฝีในหูแก้หูน้ำหนวกได้ดี สามารถนำมารับประทานเป็นผักเป็นเครื่องจิ้มได้ และเป็นที่นิยมของคนไทยเมื่อครั้งอดีต. นสพ.เดลินิวส์

Kimleng:
.

พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
 สาหร่ายฉัตร สวยแปลก

สาหร่ายฉัตร เป็นไม้น้ำชนิดหนึ่งที่นำเข้าจากต่างประเทศและขยายพันธุ์ปลูกในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว แต่ผู้ขายระบุไม่ได้ว่ามาจากประเทศไหน มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้จำพวกมีเหง้าฝังดินใต้น้ำ ลำต้นทรงกลมสีแดงแทงขึ้นมาทอดเลื้อยเหนือผิวน้ำหนาแน่น โดยยอดจะชูตั้งขึ้นและแผ่กระจายกว้าง และ ยอดที่ชูตั้งขึ้นเหนือน้ำ จะยาวประมาณ ๖-๗ นิ้วฟุต ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบลำต้น เป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมและมีขนาดใบเล็กเป็นฝอยๆ โคนใบติดกับลำต้น เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด ใบดกตลอดแนวลำต้นที่ชูตั้งขึ้นเหนือน้ำน่าชมมาก

ดอก ออกเป็นช่อกระจุกเล็กๆตามซอกใบและปลายยอด ลักษณะดอกโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็นกลีบดอกทรงมน สีขาวปนสีชมพูอ่อน ทำให้เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามแปลกตายิ่งนัก ซึ่งผู้ขายบอกว่า ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า

ปัจจุบัน “สาหร่ายฉัตร” กำลังเป็นที่นิยมของผู้ปลูกไม้น้ำอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ จะปลูกลงกระถางบัวหรือกระถางก้นปิดขนาดเล็กหรือใหญ่ตามแต่ผู้ปลูกต้องการ จากนั้นนำดินปลูกบัวใส่กระถางที่เตรียมไว้ ๒ ใน ๓ ของความสูงของขอบกระถาง แล้วเอาต้น “สาหร่ายฉัตร” ลงปลูก ค่อยๆเทน้ำใส่ลงไปจน เต็ม นำกระถางปลูกไปตั้งประดับในที่มีแสงแดดส่องตลอดวันตามบริเวณที่ต้องการ บำรุงปุ๋ยห่อด้วยกระดาษทิชชู ๓-๕ เม็ด ยัดลงดินก้นกระถางเดือนละครั้ง จะทำให้ “สาหร่ายฉัตร” มีต้นทอดเลื้อยและมียอดชูตั้งขึ้นเหนือน้ำ มีลำต้นเป็นสีแดง ใบเป็นสีเขียว และดอกเป็นสีชมพูอ่อน สวยงามมากตามภาพประกอบคอลัมน์ ผู้ขายบอกว่า ถ้าปล่อยให้น้ำแห้งต้นจะตาย จึงต้องใส่น้ำประจำ ๒-๓ วันครั้ง

ปัจจุบัน “สาหร่ายฉัตร” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒   นสพ.ไทยรัฐ


 ทารากอน ยอดเครื่องเทศฝรั่งเศส

ไม้ต้นนี้ เพิ่งพบมีต้นขาย มีป้ายชื่อเขียนติดไว้ว่า “ทาร์รากอน” ซึ่งพืชชนิดนี้มีบทบาทมากในประเทศฝรั่งเศส จัดอยู่ในเครื่องเทศอย่างหนึ่งที่ใช้ปรุงอาหารได้หลายอย่าง โดยก้านและใบสดจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีรสเผ็ดร้อน นิยมนำไปคลุกปลา ไก่ เนื้อ และอื่นๆ นึ่งเพิ่มกลิ่นหอมรับประทานอร่อยมาก หรือนำไปใช้ทำน้ำสลัด ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

ในประเทศฝรั่งเศส จะให้ความสำคัญกับ “ทาร์รากอน” อย่างมาก ขนาดจัดให้เป็น ๑ ใน ๔ ของสุดยอด สมุนไพรที่ให้คุณค่าทางอาหารต่อร่างกายสูง โดยยกย่อง “ทาร์รากอน”  ว่าเป็น “ราชาแห่งสมุนไพร” ซึ่งเครื่องเทศทั้ง ๔ อย่างที่กล่าวถึงได้แก่ “ทาร์รากอน” เป็นอันดับแรก ต่อด้วย พาร์สลีย์  ไชฟว์ และ เชอร์วิล ทั้ง ๔ ชนิด จะมีกลิ่นหอมและความเผ็ดร้อนเฉพาะตัวคล้ายๆ กับผักชี และยี่หร่า ในบ้านเรา

การใช้ประโยชน์จาก “ทาร์รากอน” ส่วนใหญ่นิยมเอา ก้านและใบสด ไม่นิยมใช้ก้านและใบแห้ง ดังนั้น การที่จะทำให้ก้านและใบของ “ทาร์รากอน” คงสภาพความสด มีกลิ่นหอมและเผ็ดร้อนเหมือนเดิม แม้จะเก็บไว้นานๆ  ได้ด้วยวิธีแปรรูปคือ เอาก้านและใบสดของ “ทาร์รา-กอน” ล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำไปดองกับน้ำส้มสายชู  ในภาชนะที่เตรียมไว้ ปิดฝาให้แน่น เก็บไว้ในครัว เวลาต้องการจะใช้ก็เปิดฝาเอาเฉพาะน้ำส้มสายชูที่ดองก้านและใบสดของ “ทาร์รากอน” ไปปรุงเป็นน้ำสลัด จะยังคงคุณภาพความหอมและเผ็ดร้อนเหมือนกับใช้ก้านและใบสด “ทาร์รากอน” ทุกอย่าง

ทาร์รากอน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า TAR-RAGON, ARTEMISIA DRACUNCULUS มีถิ่นกำเนิดขึ้นอยู่ตามป่าบนเขาทั่วไปของประเทศฝรั่งเศส มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กกึ่งล้มลุกคล้ายๆกับต้น “โกฐจุฬาลำพา” ทางภาค เหนือของไทย ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๒-๒.๕ ฟุต แตกกิ่งก้านแบบโปร่งๆ ไม่หนาแน่นเหมือนกับ “โกฐ-จุฬาลำพา” ของไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปแถบแคบ หรือรูปเรียว ปลายแหลม โคนใบติดกับกิ่งก้าน  ผิวใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด เวลาใบดกจะดูเป็นฝอยๆ น่าชมยิ่ง  ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีรสเผ็ดร้อนหรือรสขมเล็กน้อย ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์ได้ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ในประเทศฝรั่งเศสยังนิยมนำเอาก้านและใบ “ทาร์รากอน” หมักทำซอสอีกด้วย  ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง  มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒.   นสพ.ไทยรัฐ


สาวสันทราย สวยทั้งดอกและใบ

หลายคน ที่นิยมปลูกไม้ดอกไม้ประดับ มักจะเข้าใจผิดคิดว่า “สาวสันทราย” เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เนื่องจากชื่ออ่านหรือฟังแล้วน่าจะเป็นอย่างที่คิด แต่ความจริงแล้ว “สาวสันทราย” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศฟิลิปปินส์ ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานมากแล้ว โดยมีชื่อเรียกทั่วไปว่า “สาวสันทราย” ดังกล่าว และมีชื่อเรียกเฉพาะถิ่นทางภาคเหนืออีกด้วยว่า “จรกา”

สาวสันทราย หรือ “จรกา” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ CLERODENDRUM QUADRILOCULARE MERR. ชื่อสามัญ QUEZONIA อยู่ในวงศ์ VERBENACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๕ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนมน ขอบใบเป็นคลื่น ด้านบนเป็นสีเขียว ด้านล่างสีม่วงคล้ายสีเปลือกมังคุด เวลามีใบดกสีของใบจะเป็น ๒ สี สวยงามมาก

ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีม่วงแดง กลีบดอกเป็นหลอดยาว ๕-๘ ซม. ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ และม้วนงอ เป็นสีขาวอมม่วง ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๔ อัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น สีของดอกและสีของใบจะดูแปลกตาสวยงามมาก “ผล” ค่อนข้างกลม เป็นสีม่วง มีเมล็ด ดอกออกช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคมปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง และหน่อ

ปัจจุบัน “สาวสันทราย” หรือ “จรกา” มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แต่ละแผงราคาไม่เท่ากัน จึงควรเดินสอบถามราคาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อไปปลูก  นิยมปลูกประดับเป็นกลุ่มหรือปลูกลงกระถางตั้งในที่แจ้ง เป็นไม้เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายและชอบแดดจัด รดนํ้าบำรุงปุ๋ยสม่ำเสมอจะมีดอกสวยงาม.   นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
 ทรงบาดาลแคระ งามอร่ามทั้งปี

คนส่วนใหญ่จะรู้จักต้นทรงบาดาลและนิยมปลูกประดับเฉพาะชนิดที่เป็นไม้ต้นสูง ๓-๕ เมตร มีดอกดกเป็นสีเหลืองอร่ามสวยงามตลอดทั้งปี ซึ่งทรงบาดาลสายพันธุ์ดังกล่าวจัดเป็น ๑ ใน ๙ ของไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ทั่วไป มีความหมายถึงความมั่นคง หรือ ทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า CASSIA SURATTENSIS BURM.F. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE ชื่อสามัญ KALAMONA, SCRAMBLED EGGS มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อนและ จาเมกา เป็นไม้ยืนต้นตามที่กล่าวข้างต้น ดอกสีเหลืองตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง ประโยชน์ทางสมุนไพร รากต้มน้ำดื่มเป็นยาถอนพิษไข้

ส่วนต้น “ทรงบาดาลแคระ” ที่มีวางขายมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับต้นทรงบาดาลชนิดแรกทุกอย่าง จะแตกต่างกันเพียงขนาดของต้นเท่านั้นคือ “ทรงบาดาลแคระ” ต้นจะ สูงประมาณ ๑-๑.๕ เมตร เป็นไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านต่ำหนาแน่นเป็นทรงกลมกว้าง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๔-๑๐ คู่ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายและโคนใบมน สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยเป็นกระจุกจำนวนมาก ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลืองจำนวน ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ เป็นสีเหลืองสดใส เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕-๓ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๑๐ อัน เป็นหมัน ๓ อัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามอร่ามตามาก “ผล” เป็นฝักแบน เมื่อแก่แตกได้ มีเมล็ด ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๙  ปลูกประดับลงกระถางมีดอกงดงามมาก.   นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
 มาร์กาเร็ตบอเนียว ดอกทั้งปีสวย

ปกติแล้ว ไม้ในสกุล มาร์กาเร็ต ที่อยู่ในวงศ์ COMPOSITAE มีด้วยกันกว่า ๑,๓๐๐ สกุล และ ๒,๑๐๐ ชนิด ส่วนใหญ่จะมีถิ่นกำเนิดในแถบ อเมริกาเหนือหรือยุโรป มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ASTER NOVI–BELGII L., MICHAELMAS DAISY มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็กอายุหลายปี ใบเป็นใบเดี่ยว หรือใบประกอบแล้วแต่สายพันธุ์ เป็นรูปหอกกลับหรือรูปแถบปลายแหลม โคนเป็นรูปติ่งหู หรือรูปมน สีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอดและซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อดอกยาว มีทั้งชนิดดอกเดี่ยวๆ และชนิดหลายๆดอกต่อช่อ มีกลีบดอกชั้นเดียว เป็นรูปแถบ ปลายกลีบมน มีกลีบดอกจำนวนมาก เป็นสีม่วง ใจกลางดอกเป็นสีเหลือง ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. เวลามีดอกจะสวยงามมาก ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด นิยมปลูกประดับทั่วโลก

ส่วน “มาร์กาเร็ตบอเนียว” ที่เพิ่งพบวางขาย ผู้ขายบอกว่ามีถิ่นกำเนิดจากบอเนียว มีข้อแตกต่างกับมาร์กาเร็ตชนิดแรกคือ เป็นไม้พุ่มต้น สูง ๑-๑.๕ เมตร แตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเกือบมน หรือป้าน สีเขียวสด ใบดกและหนาแน่นมาก

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอดและซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านช่อยาว ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวรูปกรวย ปลายเป็นแฉกหลายแฉก กลีบดอกมีชั้นเดียว แยกเป็นอิสระกัน เป็นรูปแถบ ปลายกลีบมน มีมากกว่า ๑๕ กลีบ กลีบดอกเป็นสีชมพูอ่อน ใจกลางดอกเป็นสีเขียวอ่อน  ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒-๒.๕ ซม. เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามมาก  ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ปัจจุบัน “มาร์กาเร็ตบอเนียว” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวน จตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑   นสพ.ไทยรัฐ


 ไลอ่อน สโตน ใบสีสวยตระการตา

ไม้ต้นนี้ พบมีวางขายปลูกในกระถางขนาดใหญ่ ต้นสูงประมาณ ๒ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง สีสันของใบสวยงามแปลกตามาก ผู้ขายบอกได้เพียงว่า เป็นไม้นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่จำไม่ได้ว่าประเทศอะไร มีชื่อเรียกเฉพาะเป็นภาษาอังกฤษว่า “ไลอ่อน สโตน” รายละเอียดอย่างอื่นไม่รู้ เมื่อดูด้วยสายตาแล้วลักษณะใบและผลจะเหมือนกับต้น ลูกใต้ใบ ของไทยมาก ต่างกันที่สีของใบกับขนาดของต้น “ไลอ่อน สโตน” สูงกว่า เนื้อไม้แข็งกว่า ส่วนต้น ลูกใต้ใบ สูงแค่ ๓๐-๖๐ ซม. เท่านั้น

ต้น “ไลอ่อน สโตน” มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์พอจะบรรยายตามสายตาที่เห็นประกอบกับผู้ขายบอกได้ คือ เป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ เมตร แตกกิ่งก้านสาขากว้างและหนาแน่นมาก ใบเป็นใบประกอบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อย ๑๐-๑๒ คู่ ออกเหลื่อมกันเล็กน้อย ใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายและโคนมนเกือบแหลม เนื้อใบหนา ผิวเรียบ เป็นสีแดงอมม่วงคล้ำ ยอดอ่อนเป็นสีม่วงแดงชัดเจน  เวลามีใบดกหนาแน่นจะดูสวยงามตระการตามาก

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุกเล็กๆ ตามซอกใบ ดอกเป็นสีเขียวอ่อน ลักษณะเป็นดอกแยกเพศ “ผล” รูปกลมรี ขนาดเล็ก สีเขียวอ่อน ติดตามซอกใบทุกซอกคล้ายลูกใต้ใบของไทย ผลแห้งแตกได้ มีเมล็ด เวลามีดอกและติดผลจะห้อยเป็นระย้า สีของดอกและสีของผลจะตัดกับสีของใบดูสวยงามมาก ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบน้ำท่วมขัง เหมาะจะปลูกเป็นไม้ประดับลงดินเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวยาวริมทางเดิน หรือปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งประดับในที่แจ้ง เวลาแตกกิ่งก้านหนาแน่นสีของใบจะดูสวยงามตระการตามาก

ปัจจุบัน ต้น “ไลอ่อน สโตน” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒   นสพ.ไทยรัฐ


 สี่ทิศฮอลแลนด์ ดอกใหญ่หลายสีสวย

ผู้อ่านจำนวนมากอยากทราบว่า “สี่ทิศฮอลแลนด์” มีกี่สายพันธุ์และกี่สี หาซื้อได้ที่ไหน ซึ่งก็เคยแนะนำไปนานหลายปีแล้ว โดยในช่วงนั้นมีผู้นำเข้ามาขยายพันธุ์ขายเพียงสีขาวกับสีชมพูเท่านั้น ดอกมีเพียงรูปแบบเดียวคือ มีกลีบดอกหลายชั้น ดอกมีขนาดใหญ่สวยงามมาก ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อไปปลูกประดับอย่างแพร่หลาย

ปัจจุบัน พบว่ามีผู้นำเอาหัวสดของ “สี่ทิศฮอลแลนด์” ออกมาวางขาย พร้อมมีต้นที่กำลังติดดอกสีสันสดใสโชว์ให้ชมด้วย มีทั้งชนิดที่มีกลีบดอกชั้นเดียวและกลีบดอกหลายชั้น สวยงามน่าชมมาก ผู้ขายบอกว่า หัวสดที่วางขายยังมีสีอื่นให้เลือกซื้อไปปลูกอีกด้วย ราคาต่อหัวอยู่ระหว่าง ๒๐-๓๐ บาท ไม่แพงนัก จึงแจ้งให้ทราบอีกตามระเบียบ

สี่ทิศฮอลแลนด์ มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกับสี่ทิศสีส้มหรือสีโอลด์โรสที่คนไทยรู้จักและนิยมปลูกประดับมาแต่โบราณ คือ HIPPEASTRUM PUNICEUM (LAM) URBAN อยู่ในวงศ์ AMARYLLIDACEAE เป็นไม้มีหัวใต้ดิน คล้ายหัวหอมใหญ่ ใบเป็นรูปลิ้น หรือรูปขอบขนาน ปลายป้านกิ่งแหลมหรือแหลม ขอบเรียบ ยาวประมาณ ๓๐-๑๐๐ ซม.สีเขียว หนาและเป็นมัน

ดอก ออกเป็นช่อชูตั้งขึ้นสูง แต่ละชนิดจะมีกลีบดอกแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ มีทั้งชนิดกลีบดอกชั้นเดียวและหลายชั้น มีสีสันหลากหลายตั้งแต่ สีขาว สีชมพู สีแดงเข้ม และสีส้ม เป็นต้น ชนิดดอกชั้นเดียว เมื่อบานดอกจะหันไปในทิศตรงกันข้ามเป็นสี่ทิศทางอย่างชัดเจน จึงถูกเรียกว่า ส่ีทิศ ชนิดกลีบดอกหลายชั้นจะบานหนาแน่น ดูสวยงามมาก ขยายพันธุ์ด้วยหัว ปลูกได้ทั้งกลางแจ้งและที่รำไร แต่จะชอบแดดจัดมากกว่า ชอบดินร่วนปนทราย ไม่ชอบน้ำท่วมขังจะทำให้หัวเน่าตาย

ปัจจุบัน มีหัวสดขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ตรงกันข้ามโครงการ ๑   นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
  ว่านขันหมาก  

“ว่านขันหมาก” มีสรรพคุณลำต้นต้มน้ำดื่มแก้เกาต์หายขาดได้จริงหรือไม่ ซึ่งความจริงแล้ว ตำรายาแผนไทยโบราณระบุสรรพคุณของ “ว่านขันหมาก” เพียงอย่างเดียวคือ ผลสุก กินเป็นประจำทุกวัน วันละ ๔ ผล ก่อนนอน เป็นยาอายุวัฒนะทำให้คงความเป็นหนุ่มเป็นสาวไม่รู้จักแก่ อายุยืน เนื้อหนังเต่งตึง ไม่เหี่ยวย่น ฟันทนไม่หักไม่หลุด ผมไม่หงอก ทำให้เกิดเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น มีพละกำลังเดินเหินคล่องแคล่วไม่รู้จักเหนื่อย สรรพคุณอย่างอื่นตำรายาแผนไทยโบราณไม่ได้ระบุไว้

ส่วนวิธีกินผลสุกของ “ว่านขันหมาก” ไม่ควรเคี้ยวผลเพราะจะทำให้ระคายเคืองลำคอเกิดอาการคัน จึงควรใช้วิธีกลืนทั้งผลหรือใช้วิธียัดผลใส่กล้วยน้ำหว้ากลืนลงกระเพาะไปเลย และในตำรายาแผนไทยโบราณยังระบุไว้ตามความเชื่ออีกว่า ก่อนจะกินให้กล่าวคาถากำกับ “นะโมพุทธายะ” จำนวน ๗ จบ ด้วย จะวิเศษยิ่งนัก

ว่านขันหมาก อยู่ในสกุลเดียวกันกับว่านสาวน้อยประแป้ง ลำต้นแทงจากเหง้าได้สูง ๑-๒ เมตร อวบน้ำเล็กน้อย มีแกนกลาง เปลือกหนามีเส้นตามยาว ใบเป็นใบเดี่ยวออก เรียงสลับ มีใบดกในช่วงปลายต้น ปลาย ใบแหลม โคนใบเกือบมน สีเขียวสด ดอกสีขาว ออกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายยอด ดอกเป็นรูปแท่งทรงกลมคล้ายดอกเดหลี แต่จะเล็กกว่า มีดอกจำนวนมากตามแกนช่อดอก ฐานดอกสีขาวโอบตัวช่อดอกไว้ ผล รูปกลมรี ติดผลเป็นช่อ ๘-๑๐ ผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเป็นสีเหลืองแกมส้ม ผลสุกกินเป็นยาอายุวัฒนะตามที่กล่าวข้างต้น ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น  ปัจจุบัน “ว่านขันหมาก” มีขาย ที่โครงการ ๓   นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
  หมักม่อ  สวยเป็นยา
ไม้ต้นนี้ พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ทุกภาคของประเทศไทย มีเขตกระจายพันธุ์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ที่มีดอกดกเต็มต้นเมื่อถึงฤดูกาลสวยงามมาก เคยแนะนำในคอลัมน์ไปนานแล้ว โดยในยุคนั้นได้รับความนิยมจากผู้ซื้อไปปลูกประดับอย่างแพร่หลาย จนทำให้ต้น หมักม่อ ขาดตลาดหายหน้าหายตาไปจากวงการไม้ดอกไม้ประดับระยะหนึ่ง ปัจจุบันเพิ่งพบว่ามีผู้ขยายพันธุ์ตอนกิ่ง “หมักม่อ” ออกวางขายอีกครั้งพร้อมมีภาพถ่ายต้นจริงที่กำลังมีดอกเต็มต้นแขวนโชว์ให้ชมด้วย จึงแจ้งให้ผู้ที่ชอบปลูกไม้ดอกสวยงามทราบอีกทันที

อย่างไรก็ตาม หมักม่อ นอกจากจะมีดอกสวยงามตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว บางส่วนของต้นยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรใช้รักษาโรคได้อีกด้วย กล่าวคือ ตำรายาพื้นบ้าน ใช้แก่นของต้น “หมักม่อ” หรือ ราก ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ทุกชนิดได้ ลำต้นรวมเปลือกผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่มเป็นยารักษากามโรคดีมาก ในยุคสมัยก่อนคนเป็นกามโรคนิยมใช้ยานี้อย่างแพร่หลาย

หมักม่อ หรือ ROTHMANNIA WITTII (CRAIB) BREMEK-RANDIA WITTII CRAIB อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้น สูง ๔-๑๐ เมตร แตกกิ่งก้านสาขากว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลม หูใบอยู่ระหว่างก้านใบ สีเขียวสด เวลามีดอกจะทิ้งใบน่าชมยิ่งนัก

ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๕-๗ ดอก ห้อยลงดอกโคนเชื่อมกันเป็นรูประฆังสีขาว ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ มี แต้มสีเขียวและแถบประดับสีม่วงชัดเจน เวลามีดอกดกทั้งต้นและดอกบานพร้อมกันจะสวยงามมาก ผลกลมสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๓ ราคาสอบถามกันเองครับ.   นสพ.ไทยรัฐ


  ค้างคาวดำ

ต้น ค้างคาวดำ ก็คือต้น เนระพูสี พบมีขึ้นตามป่าบนเขาสูงเกือบทุกภาคของประเทศไทย จัดเป็นไม้ที่มีความทนทานต่อทุกสภาพอากาศได้ดีมาก มีชื่อ วิทยาศาสตร์คือ BATFLOWER–TACCA CHANTRIERI ANDRE อยู่ในวงศ์ TACCACEAE เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าใต้ดินเป็นรูปทรงกระบอก ต้นสูง ๓๐-๕๐ ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนเป็นรัศมี รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเกือบมน ก้านใบยาว ใบเป็นสีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๔-๖ ดอก ก้านช่อดอกชูตั้งขึ้นและยาว ดอกออกตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีม่วงเข้ม หรือ เกือบดำ บางครั้งอาจจะมีสีเขียวเจือปนบ้าง รูปทรงของดอกดูคล้ายตัวค้างคาวกำลังกระพือปีกบิน จึงถูกตั้งชื่อตามลักษณะว่า “ค้างคาวดำ” แต่เป็นชื่อทางการคือ “เนระพูสี” และมีชื่อตามท้องถิ่นอีกคือ ดีงูเหา (ภาคเหนือ) คลุ้มเลีย, ว่านหัวเลีย, ว่านหัวลา (จันทบุรี) ดีปลาช่อน, นิลพูสี (ตราด) มังกรดำ (กทม.) ม้าถอนหลัก (ชุมพร) และ ว่านพังพอน (ยะลา)

ผล เป็นรูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม มีสันเป็นคลื่นตามยาวของผล เมล็ดเป็นรูปไต ดอกออกได้เรื่อยๆ อยู่ที่ความสมบูรณ์ของต้น เวลามีดอกจะสวยงามมาก ขยายพันธุ์ด้วยการแยกเหง้าหรือเมล็ด

สรรพคุณทางยา ชาวเขาเผ่าแม้ว มูเซอ ใช้ ราก ต้น เหง้า และใบสดต้มน้ำดื่มหรือเคี้ยวสดๆ เป็นยาแก้ปวดต่างๆ เช่น ปวดตามร่างกายปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร และ บำรุงร่างกายดีมาก มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ โครงการ ๒๔  ราคาสอบถามกันเอง ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับอย่างกว้างขวาง เวลามีดอกจะสวยงามมากครับ.   นสพ.ไทยรัฐ


  ห่อข้าวสีดา

ห่อข้าวสีดา เป็นเฟิร์น ไม่แตกหน่อ มีขนาดกลาง เหง้าเป็นแท่งเลื้อยสั้น ปกคลุมแน่นด้วยเกล็ดแข็ง เกล็ดเป็นเส้นยาว สีน้ำตาลเข้ม บริเวณกลางเกล็ดสีอ่อน ทั่วทั้งต้นมีขนนุ่มสั้นทั่วไป ขนสีขาวนวล ใบหนานุ่มมือ เส้นใบปูดนูน ใบกาบ ชูตั้งขึ้นเป็นตะกร้า หรือมงกุฎ แตกแฉกเป็นคู่ ปลายแฉกมนกลมถึงแหลม มองเห็นเส้นใบปูดนูนทั้งสองด้านของใบ ในต้นที่โตเต็มที่เส้นใบหลักแตกสาขาเป็นกิ่งคู่ ส่วนเส้นใบรองเป็นร่างแห ใบส่วนบนเนื้อใบบาง ใบส่วนล่างหนาได้มากกว่า ๑ ซ.ม. ใบกาบจะงอกออกมาทีละคู่ ใบชายผ้า ห้อยลง ยาวได้ถึง ๔๐-๘๐ ซ.ม.
 
ห่อข้าวสีดาในป่าธรรมชาติ ขนาดความสูงของใบกาบ มักจะเท่ากับขนาดความยาวของใบชายผ้า คนไทยเมื่อครั้งอดีต จะใช้ใบห่อข้าวสีดา และใบกล้วยม้วนนำมาต้นน้ำอาบเพื่อแก้บวม พื้นที่ทางภาคเหนือจะใช้ ใบเปล้าใหญ่ กับใบห่อข้าวสีดามา ต้นน้ำอาบเพื่อ ลดไข้ ส่วนชาวเขาบนพื้นที่สูงจะใช้ใบชายผ้าของห่อข้าวสีดา มาต้นน้ำดื่มเพื่อ ลดไข้และแก้อ่อนเพลียของสตรีอยู่ไฟหลังคลอดบุตร


  เฟิร์นข้าหลวงหลังลาย

เฟิร์นข้าหลวงหลังลาย เป็นเฟิร์นที่นิยมปลูก ชื่อข้าหลวงหลังลายนั้น มาจากกลุ่มอับสปอร์ที่อยู่ด้านหลังของใบ เป็นเฟิร์นเกาะอาศัยอยู่ตามคาคบไม้ในป่าดงดิบ ป่าที่มีความชื้นสูง ลักษณะทรงพุ่มเป็นใบเดี่ยวออกเวียนรอบเหง้า ทำให้เหมือนเป็นตะกร้าสำหรับรองรับเศษใบไม้หรืออินทรียวัตถุมาเก็บไว้เพื่อเป็นอาหาร ใบแก่ที่อยู่รอบนอก เมื่อเหี่ยวแห้งจะห้อยลงมาปิดระบบราก เพื่อเก็บรักษาความชื้นเอาไว้ในช่วงฤดูแล้ง ทางการแพทยแผนไทยจะนำทั้งต้นซึ่งมีรสขมมาใช้ประโยชน์เพื่อขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้บิดมูกเลือด

Kimleng:
.

พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
  มะลิพิกุล คือ "มะลิถอด"

มะลิชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศ  ในเอเชียกลางและประเทศอินเดีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในบ้านเรานานมากแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ไม่มีการระบุว่าในยุคสมัยไหนจนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยายเหมือนกับไม้อีกหลายๆ ชนิด มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการว่า JASMINUM SAMBAC อยู่ในวงศ์ OLEACEAE เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยสูง ๑-๒ เมตร ลำต้นมักโค้งและทอดไปตามหน้าดิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปไข่ ปลายแหลม โคนมน ก้านใบสั้น

ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมแรง ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ ๓-๕ ดอก โดยดอกออกที่ปลายกิ่ง ลักษณะดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๗-๘ กลีบ เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ๗-๘ ชั้น ดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกมะลิทั่วไป เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกัน จะดูคล้ายดอกพิกุล จึงถูกตั้งชื่อว่า “มะลิพิกุล”

ที่เป็น จุดเด่นอีกอย่างคือ กลีบดอกแต่ละชั้นของ “มะลิพิกุล” สามารถเด็ด จากช่อ แล้วนำมาถอดกลีบแต่ละชั้นออกจากกันได้ ซึ่งคนในยุคสมัยก่อนนิยมถอดเอากลีบลอยในขันน้ำดื่มทำให้ดูสวยงามและมีกลิ่นหอมเคล้ากับน้ำเป็นกลิ่นธรรมชาติ เมื่อยกดื่มจะรู้สึกชื่นใจมาก คนในยุคนั้นจึงเรียก “มะลิพิกุล” อีกชื่อว่า “มะลิถอด” ดอกออกทั้งปี จะดกมากในฤดูร้อนหรือฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง หรือทับกิ่ง

ประโยชน์ ของมะลิทุกชนิด ดอกสดบดละเอียดสุมศีรษะเด็กเป็นยาแก้หวัด ดอกแห้งปรุงเป็นยาแต่งเพื่อทำยาหอมบำรุงหัวใจ ใบสดตำผสมกับกะลามะพร้าวหรือกับน้ำมันพืชแต้มหรือทารักษาแผลพุพองหรือแผลฝีดาษให้แห้ง รากฝนกินแก้ร้อนแก้เสียดท้องดีมาก

ปัจจุบัน “มะลิพิกุล” หรือ “มะลิถอด” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงเยื้องๆ กับโครงการ ๙    นสพ.ไทยรัฐ


  มะลิวัลย์ "ดอกหอมสรรพคุณดี"

มะลิวัลย์ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน พบขึ้นตามป่าทุกภาคของประเทศไทย นิยมปลูกประดับตามบ้านในแถบชนบทมาแต่โบราณ เนื่องจากดอกสวย มีกลิ่นหอมแรง ทำให้รู้สึกสดชื่นเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้สูดดมกลิ่นหอม ปัจจุบัน “มะลิวัลย์” แม้จะมีผู้ขยายพันธุ์วางขาย แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีใครทราบว่า “มะลิวัลย์” มีสรรพคุณทางสมุนไพรด้วย คือ รากสด จำนวนพอประมาณต้มน้ำเดือดดื่มเป็นยาแก้ไข้ได้ดีมาก

เถา ของ “มะลิวัลย์” ผสมกับลำต้น “เถางูเห่า” และลำต้น “ว่านเพชรหึง” จำนวนเท่ากันต้มกับน้ำจนเดือดหรือห่อผ้าขาวดองกับเหล้าขาว ๔๐ ดีกรี ๒ ขวด จนยาออกฤทธิ์กิน เป็นยาแก้ประดงข้อ บำรุงกำลังทางเพศ เถา “มะลิวัลย์” ผสมกับต้น “เถางูเห่า” และต้น “มะม่วงเลือดน้อย” จำนวนเท่ากันต้มกับน้ำจนเดือดหรือดองกับเหล้าขาว ๔๐ ดีกรีเช่นกันจนตัวยาออกฤทธิ์กิน เป็นยาแก้ปวดเมื่อยเด็ดขาดมาก แพทย์ตำบลใช้ ราก ต้มน้ำดื่มถอนพิษทั้งปวง

มะลิวัลย์ หรือ JASMINUM LANCEOLARIA ROXB.SUBXB. LANCEOLARIA อยู่ในวงศ์ OLEA-CEAE   เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งสามารถพาดพันได้ยาวกว่า ๘-๑๐ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายแหลม โคนมน แผ่นใบค่อนข้างบาง สีเขียวเข้มและเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๒-๕ ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดเล็กยาว ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ รูปกลีบแหลม สีขาว ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕-๓ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมแรง “ผล” กลมเล็ก มีเมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วย เมล็ด ปักชำต้น และตอนกิ่ง มีชื่อเรียกอีกอย่างคือ “มะลิป่า”

ปัจจุบัน “มะลิวัลย์” มีต้นขาย ทั่วไปที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวน จตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาแต่ละแห่งไม่เท่ากัน จึงควรเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อไปปลูกครับ.   นสพ.ไทยรัฐ


  มะลิซาไก "คุมกำเนิดสตรีได้"

มะลิ มีหลากหลายสายพันธุ์เกินกว่า ๒๐ ชนิด มีทั้งชนิดที่ดอกมีกลิ่นหอมและไม่หอม ส่วนใหญ่สีของดอกจะเป็นสีขาว ซึ่ง “มะลิซาไก” เป็นสายพันธุ์ที่พบขึ้นตามป่าเกือบทุกภาคของประเทศไทย นิยมปลูกประดับตามบ้านในแถบชนบทมาแต่โบราณแล้ว เนื่องจากดอกมีสีสันสดใส มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และ ที่สำคัญบางส่วนของต้น “มะลิซาไก” ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรชั้นยอดอีกด้วย

โดยในยุคสมัยก่อนแพทย์แผนไทยนิยมใช้ ราก ของต้น “มะลิซาไก” ทั้งแบบสดหรือแห้งจำนวน ๒ ราก ขนาดใหญ่หรือเล็กตามแต่จะหาได้ สั้นหรือยาวไม่สำคัญ ให้สตรีที่มีเพศสัมพันธ์กับชายหรือมีสามีแล้วแต่ไม่ต้องการมีลูก กินวันละ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑ ราก ตอนไหน ก็ได้ เป็นยาคุมกำเนิดในสตรีได้ สามารถกินได้เรื่อยๆไม่มีอันตรายอะไร อยากมีลูกเมื่อไหร่เลิกกิน สมัยก่อนนิยมกันอย่างแพร่หลาย ได้ผลดีระดับหนึ่ง

มะลิซาไก หรือ JASMINUM ROTTLERIANUM WALL.EX DC. อยู่ในวงศ์ OLEACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ต้นสูง ๑.๕-๒ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม รูปรีหรือรูปใบหอกกว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ท้องใบมีต่อมขนสีน้ำตาลบริเวณซอกเส้นใบ ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๗-๑๓ ดอก หรือมากน้อยตามความสมบูรณ์ของต้น ดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๖-๘ กลีบ รูปรี เป็นสีขาวสดใส ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจยิ่ง ซึ่ง “มะลิซาไก” ที่เป็นสายพันธุ์ไทยยังไม่พบว่ามีผล ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ดอกออกได้เรื่อยๆ เกือบทั้งปี

เมื่อ ประมาณสิบปีที่ผ่านมา “มะลิซาไก” มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ปัจจุบันหายหน้าหายตาไปจนกลายเป็นไม้หายากชนิดหนึ่งครับ.   นสพ.ไทยรัฐ


  "มะลิลา"
มะลิลา ต้นเป็นไม้รอเลื้อย กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดียวออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อมี 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน กลีบดอกชั้นเดียวปลายกลีบมน สีดอกขาว กลิ่นหอม เกษตรกรนิยมปลูกเป็นการค้าอยู่ ๓ พันธุ์คือ พันธุ์แม่กลอง พันธุ์ราษฎร์บูรณะ และพันธุ์ชุมพร

  "มะลิลาซ้อน"
มะลิลาซ้อน ลักษณะต้นใบและอื่น ๆ คล้ายมะลิลา แต่ใบใหญ่กว่า ดอกออกเป็นช่อ มี ๓ ดอก และดอกกลางบานก่อนเช่นกัน แต่มีดอกซ้อน ๓-๔ ชั้น ปลายกลีบมน ขนาดดอก ๓-๓.๕ ซม.

  มะลิซ้อน"
มะลิซ้อน ลักษณะทั่วไปคล้ายมะลิถอดและมะลิลาซ้อน แต่ใบมีลักษณะแคบกว่าดอกออกเป็นช่อมี ๓ ดอก เช่นกัน กลีบดอกซ้อน แต่ซ้อนมากชั้นกว่าคือ มากกว่า ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบดอก ๑๐ กลีบขึ้นไป ขนาดดอก ๓-๔ ซม. มีสีขาว กลิ่นหอมมาก

  "มะลิพิกุลหรือมะลิฉัตร"
มะลิพิกุลหรือมะลิฉัตร ลักษณะต่างๆ เช่นเดียวกันกับ ๔ ชนิดที่ผ่านมา ใบคล้ายมะลิซ้อนและมีคลื่นเล็กน้อย ดอกเป็นช่อ ๓ ดอก ดอกซ้อนเป็นชั้นๆ เห็นได้ชัด(คล้ายฉัตร) และดอกมีขนาดเล็กพอ ๆ กับดอกพิกุล ขนาดดอก ๑-๑.๔ ซม. ดอกมีสีขาวกลิ่นหอม

  "มะลิทะเล"
มะลิทะเล เป็นต้นแกมเถาคล้ายเฟื่องฟ้า ออกดอกเป็นกระจุกๆ หนึ่งๆ มี ๕-๖ ดอก น่าดูมาก กลิ่นหอมฉุน

  "มะลิพวง"
มะลิพวง ลำต้นเป็นไม้พุ่ม กิ่งอ่อน และกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขนเห็นเด่นชัดเช่นกัน ใบและรูปแบบตลอดจนการจัดเรียงคล้ายมะลิอื่นๆ แต่ใบมีขนเห็นได้ชัดดอกออกเป็นช่อแน่นสีขาว กลีบดอกชั้นเดียว กลีบเล็กยาว ปลายแหลมขนาด ๓-๔.๕ ซม. มีกลิ่นหอมมาก

  "มะลิเลื้อย"
มะลิเลื้อย ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดินยาวประมาณ ๑ ฟุต ใบเล็กกว่าพันธุ์อื่นมาก

"มะลิวัลย์"
มะลิวัลย์ เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น หรือขึ้นร้าน ใบเล็กว่าและยาวกว่ามะลิอื่น กลีบดอกเล็กยาว สีขาว กลิ่นหอมเย็นชืด ชื่ออื่นเรียกว่า “มะลิป่า”

  "มะลิเขี้ยวงู"
มะลิเขี้ยวงู (มะลิก้านยาว) เป็นไม้เลื้อยแตกกิ่งก้านมาก ลำเถาเกลี้ยงไม่ใหญ่โต ใบออกเป็นช่อคล้ายใบแก้ว แต่บางกว่า ดอกออกเป็นช่อมี ๓ ดอก ก้านดอกเป็นหลอดสีแดงอมม่วง กลีบขาว กลิ่นดอกหอมจัด
 
นอกจากนี้ยังมีมะลิอื่น ๆ อีกเช่น มะลิไส้ไก่ มะลิฝรั้ง มะลิย่าน มะลิเถื่อน ฯลฯ

การขยายพันธุ์
นิยมใช้การปักชำ มากที่สุดเนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด โดยนำกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปตัดยาวประมาณ ๔ นิ้ว หรือมีข้ออย่างน้อย ๓ ข้อ การตัดกิ่งควรจะตัดให้ชิดข้อ เหลือใบคู่บนสุด ๑ คู่ โดยตัดใบเหลือครึ่งใบ ถ้าต้องการเร่งการออกราก ควรใช้ฮอร์โมน ไอบีเอ (IBA=indold butyric acid) และเอ็นเอเอ (NAA=naphthalene acetic acid) ในอัตราส่วน ๑:๑ ความเข้มข้น ๔,๕๐๐ พีพีเอ็ม (ppm)
 
การปลูก
เกษตรกรมักจะปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน กรกฎาคม เพราะว่ามะลิสามารถตั้งตังได้ดีและเร็วกว่า เนื่องจากได้รับน้ำเพียงพอ
 
วัสดุที่ใช้ชำ ควรเป็นทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน ๑:๑ แล้วปักชำเรียงเป็นแถวแต่ละแถวห่างกัน ๒ นิ้ว ระยะระหว่างกิ่ง ๒ นิ้ว แล้วหมั่นรดน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้มีความชื้นตลอดเวลา แปลงชำนี้ควรอยู่ในที่ร่ม ควรฉีดพ่นยากันรา เช่น แคปแทน ลงในกระบะขณะปักชำ หลังจากชำแล้วประมาณ ๓ อาทิตย์ กิ่งมะลิจะออกรากประมาณ ๙๐% ควรจะเลือกเฉพาะกิ่งที่สมบูรณ์ มีระบบรากดี ไม่มีโรคติดมา ย้ายลงถุงพลาสติกเพื่อรอการปลูกหรือจำหน่ายต่อไป
 
มะลิชอบดินร่วนซุยระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารพอเพียง การปลูกมะลิให้ได้ผลดีมีอายุยืนยาว ควรจะขุดหลุมลึกกว้างและยาวด้านละ ๕๐ ซม. ใส่ปุ๋ยคอก ใบไม้ผุ หรือปุ๋ยหมัก อัตราส่วน ๑:๑:๑ รองก้นหลุม พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต(๐-๔๖-๐) ๑ กำมือและปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๖ ๑ กำมือคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ ๗-๑๐ วัน จึงนำเอาต้นมะลิมาปลูก และควรจะปลูกในที่ได้รับแสงจัดเต็มที่ ระยะปลูกที่เหมาะสมควรใช้ระยะ ๑x๑ เมตร
 
การรดน้ำ
มะลิต้องการน้ำพอสมควร หากดินยังแฉะอยู่ไม่ควรรดน้ำควรรอจนกว่าดินจะแห้งหมาด ๆ เสียก่อนทั้งนี้อาจจะรดน้ำวันละครั้งหรือสองวันครั้ง ถึงอาทิตย์ละครั้งก็ได้ แล้วแต่สภาพอากาศ แต่ในระยะเริ่มปลูกใหม่ควรรดน้ำทุกวัน โดยรดในตอนเช้า แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วมหรือขังอยู่ในแปลงมะลินานๆ เพราะจะทำให้ต้นมะลิไม่สมบูรณ์ ใบเหลือง ต้นแคระแกร็น และตายได้
 
การใส่ปุ๋ย
ปกติเกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ หรือ ๑๖-๑๖-๑๖ โดยใส่เดือนละครั้งด้วยวิธีการหว่านและรดน้ำตาม ทั้งนี้ก่อนใส่ปุ๋ยเกษตรกรมักมีการงดน้ำจนดินแห้งเต็มที่ก่อน นอกจากนี้เกษตรกรยังนิยมใช้ปุ๋ยน้ำเช่น ไบโฟลาน ผสมฉีดไปพร้อมกับยา แต่ไม่นิยมใช้ในฤดูหนาว แต่ในปัจจุบันนี้มีปุ๋ยน้ำมากมายหลายชนิด เกษตรกรมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นฮอร์โมน มีการนำมาฉีดเพื่อเพิ่มผลผลิตในช่วงฤดูหนาว
 
การตัดแต่ง
มะลิที่มีอายุมากกว่า ๑ ปีขึ้นไปจะแตกกิ่งก้านสาขามากมาย ควรที่จะตัดแต่งพุ่มต้นให้โปร่งและกระทัดรัด จะช่วยให้มะลิมีทรงพุ่มสวยงาม โรคแมลงน้อยลง ให้ดอกมากขึ้นพร้อมทั้ง ช่วยให้เกษตรกรสะดวกในการปฏิบัติงานด้วย  ทั้งนี้ควรจะทำการตัดแต่งกิ่งทุกปี
 
ลักษณะกิ่งที่ควรตัดคือ
๑. กิ่งที่แห้งตาย
๒.  กิ่งที่เป็นโรคหรือถูกแมลงทำลาย
๓.  กิ่งไขว้ล้มเอนไม่เป็นระเบียบ
๔.  กิ่งเลื้อย
 
วิธีตัดแต่งกิ่ง
๑. แบบให้เหลือกิ่งไว้ กับต้นยาว (light pruning)
    -  ตัดแต่งกิ่งเพียงเล็กน้อย โดยให้เหลือกิ่งสมบูรณ์ไว้มาก
    -  เพื่อให้อาหารเหลือเลี้ยงต้นมาก เหมาะกับต้นที่อายุน้อย
๒. แบบให้เหลือกิ่งไว้อย่างสั้น (Hard pruning)
    -  ตัดแต่งกิ่งให้เหลือ ๓-๔ กิ่ง สูงประมาณ ๑-๑๕ ฟุต
    -  เหมาะสำหรับต้นมะลิ ที่มีอายุตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป

* ขอขอบคุณข้อมูล "มะลิ:การปลูกและการขยายพันธุ์ " เว็บไซต์ ไทยเกษตรศาสตร์

  มะลิเวียดนาม
มะลิชนิดนี้ มีต้นวางขาย ผู้ขายบอกว่า มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเวียดนาม ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๒ ปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตได้ดีและมีดอกดกแบบไม่ขาดต้นตลอดทั้งปี ที่สำคัญ ผู้ขายยืนยันว่า ดอก มีกลิ่นหอมแรงมากอีกด้วย ผู้นำเข้าจึงตั้งชื่อ เป็นภาษาไทยว่า “มะลิเวียดนาม” พร้อมขยายพันธุ์ตอนกิ่งออกวางขายดังกล่าว

มะลิเวียดนาม เป็นไม้อยู่ในวงศ์เดียวกับมะลิทั่วไปคือ OLEACEAE ซึ่งผู้ขายบอกลักษณะทางพฤกษศาสตร์ว่า เป็นไม้พุ่มเตี้ย ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๐.๕-๑ เมตร เท่านั้น เป็นสายพันธุ์ที่แตกกิ่งก้านสาขาหนาแน่นมากกว่ามะลิพันธุ์อื่นๆ อย่างชัดเจน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปรีกว้าง ปลายและโคนใบแหลมหรือเกือบมน เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสดเป็นมัน เวลาใบดกจะน่าชมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ขายบอกว่าถ้าผู้ปลูกขยันตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอจะยิ่งทำให้แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มหนาแน่นสวยงามยิ่งขึ้น    

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ ๓-๕ ดอกต่อช่อ โดยดอกจะออกที่ปลายยอด ลักษณะดอกที่ผู้ขายบอกคือโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอกรูปเกือบมน ๗-๘ กลีบ กลีบดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ หลายชั้น ดอกเป็นสีขาวสดใส มีกลิ่นหอมแรง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามพร้อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ประทับใจยิ่งนัก ที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ขายยืนยันได้แก่ กลีบดอกแต่ละชั้นเมื่อเด็ดจากต้นแล้วสามารถถอดกลีบดอกเป็นชั้นๆ ได้ เหมือนกับมะลิถอดของไทยทุกอย่าง ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง และทาบกิ่ง  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการเก่า ราคาสอบถามกันเองครับ.  นสพ.ไทยรัฐ  


ชำมะนาด "กลิ่นข้าวใหม่"

หลายคน เข้าใจผิดคิดว่า “ชำมะนาด” เป็นไม้ไทย ซึ่งความจริงแล้วเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศ อินโดนีเซีย ถูกนำเข้ามาปลูก ประดับและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานแล้ว จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยายและ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในบันทึกพรรณไม้ว่า “ชำมะนาด”, ชำมะนาดกลาง (ภาคกลาง) ชำมะนาดฝรั่ง, ดอกข้าวใหม่ (กรุงเทพฯ) และ อ้มส้าย (ภาคเหนือ)

ส่วนชื่อ ชมมะนาด เป็นอีกชื่อหนึ่งที่เรียกคู่กันมากับชื่อที่กล่าวข้างต้นและเป็นชื่อที่คนทั่วไปได้ยินจนคุ้นหู พอเห็นดอกจะรู้ทันทีว่าเป็นดอก ชมมะนาด ไม่ค่อยมีใครรู้จักชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ชำมะนาด” ที่เป็นต้นเดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ VALLARIS GLABRA KTZE อยู่ในวงศ์ APOCY NA-CEAE เป็นไม้เถาเลื้อยได้ยาวกว่า ๕ เมตร ทุกส่วนของต้นมียางขาว ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปไข่ ปลายและโคนใบแหลม สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๑๐-๑๕ ดอก ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นรูปถ้วยตื้นๆ ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ แฉก ปลายกลีบแหลม ดอกเป็นสีขาวอมเขียว มีกลิ่นหอมแรงคล้ายกลิ่นข้าวใหม่ ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๕ อัน ติดกันเหมือนลูกศรอยู่กลางดอก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายคล้ายกลิ่นข้าวใหม่ทำให้รู้สึกสดชื่นยิ่งนัก ดอกออกเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง

ประโยชน์ ดอกใช้อบแป้งร่ำ เครื่องหอม บางพื้นที่เด็ดเอาดอกสด วางบนสำรับกับข้าว หรืออบข้าวสุกใหม่ๆ ทำให้มีกลิ่นหอมดีมาก มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวน จตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ   นสพ.ไทยรัฐ


  พุดไต้หวัน "ใบแปลก ดอกสวย หอม"

พุดชนิดนี้ เพิ่งมีต้นวางขาย แต่ละต้นมีดอกบานสวยงามมาก ซึ่งทีแรกคิดว่าเป็นพุดทั่วๆไป เพราะลักษณะดอกเหมือนกับดอกพุดที่พบเห็นจนชินตา แต่ผู้ขายบอกว่าเป็น “พุดไต้หวัน” ถูก นำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในบ้านเรานานเกือบ ๒ ปีแล้ว มีข้อแตกต่างจากพุดทั่วไปและเป็นจุดชี้ชัดว่าเป็น “พุดไต้หวัน” คือ ใบจะเป็นรูปรียาว ทรงใบดูคล้ายใบของโสมไทยแต่จะใหญ่กว่า ไม่เหมือนกับใบของพุดทั่วไปที่จะเป็นรูปรีป้อมเปรียบเทียบกันเห็นชัดเจน
 
พุดไต้หวัน มีข้อดีหลายอย่างคือ เวลามีดอกตูมจะไม่เป็นโรคคอดอกทำให้ดอกร่วงก่อนจะบาน ซึ่งถือเป็นโรคประจำของดอกพุดทั่วไปที่ดอกตูมจะร่วงง่ายยังไม่ทันจะบาน ส่วนคอดอกของ “พุดไต้หวัน” จะมีความเหนียวกว่า จึงทำให้ดอกตูมไม่ร่วงและสามารถบานได้ทุกดอก
 
ลักษณะดอก มีทั้งชนิดที่มีกลีบดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้นและกลีบดอกเรียงซ้อนกันน้อยชั้น ๒ รูปแบบในต้นเดียวกัน ดอกเมื่อบาน ตอนแรกจะเป็นสีขาวอยู่เพียง ๑ วัน จากนั้นสีของกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองดูสวยงามมาก และ จะบาน ติดต้นอยู่นานหลายวัน ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๓.๕ นิ้วฟุต ดอกมีกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามพร้อมส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจมาก ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
 
ปัจจุบัน “พุดไต้หวัน” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักรทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผง “คุณตุ๊ก” หน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบน้ำท่วมขัง เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้านทั้งแบบลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งในที่มีแสงแดดส่องถึงทั้งวัน รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยขี้วัว ขี้ควายแห้งโรยตามหน้าดินรอบโคนต้นพอประมาณเดือนละครั้ง สลับกับใส่ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ สิบวันครั้ง จะทำให้ “พุดไต้หวัน” มีดอกสวยงามไม่ขาดต้น   นสพ.ไทยรัฐ



พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
ยี่สุ่น "พันธุ์แท้ มีสรรพคุณสวยหอม"

ผู้อ่านจำนวนมากอยากทราบว่า “ยี่สุ่น” ชนิดที่เป็นสายพันธุ์แท้ๆ เป็นอย่างไร ซึ่ง “ยี่สุ่น” ก็คือ “กุหลาบแดงจีน” มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะว่า [9pt]ROSACEAE[/size] มีชื่อภาษาไทยอีกชื่อ ได้แก่ “ยี่สุ่นหนู” แต่ไม่ใช่กุหลาบหนู ที่คนมักจะเหมาว่าเป็นต้นเดียวกัน

ยี่สุ่น หรือ “กุหลาบแดงจีน” หรือ “ยี่สุ่นหนู” มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับกุหลาบทั่วไป แต่จะมีหนามน้อยมาก ใบเป็นใบประกอบขนนกปลายคี่ ใบย่อยออกตรงกันข้ามสองคู่ ปลายคี่เป็นรูปรีขอบหยัก ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ มีกลีบดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้น ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ นิ้ว กลีบดอกเป็นสีแดง หรือ ชมพูเข้ม บางครั้งก็เป็นสีแดงกำมะหยี่–มีดอกดกตลอดทั้งปี ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจมาก ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง

ตำรายาจีน ระบุว่า “ยี่สุ่น” พันธุ์แท้ ที่ภาษาจีนเรียกว่า เหม่ยกุยฮัว และ เหม่ย-กุยฟา เอาดอกตากแห้งอบแห้งแล้วหยิบชงเป็นน้ำชาดื่มบ่อยๆ  ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ช่วยขับเซลล์ผิวหนังที่ตายออกจากร่างกาย ทำให้ผิวพรรณ เปล่งปลั่งสดใส ฟื้นฟูสภาพผิวให้มีน้ำมีนวล ช่วยลดความอ่อนล้า ลดความเครียด สตรีมีประจำเดือน มาไม่ปกติดื่มน้ำชา “ยี่สุ่น” แล้วจะช่วยให้ดีขึ้น ทำให้เลือดเดินสะดวก ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ถือว่า “ยี่สุ่น” เป็นยาอายุวัฒนะสำหรับสตรี ปริมาณชงดื่ม ๕ ดอก ต่อครั้ง   นสพ.ไทยรัฐ


  ว่านหางช้าง กับ "สรรพคุณน่ารู้"

ว่านหางช้าง นอกจากมีดอกสวยงามแล้ว มีประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งในตำรายาไทยระบุว่า ใบ ของ “ว่านหางช้าง” ใช้เป็นยาระบาย แก้ระดูสตรีพิการ โดยใช้ ๑-๒ ใบ ต้มกับน้ำ ดื่มวันละครั้ง ครั้งละ ๑ แก้ว ติดต่อกัน ๑-๒ วันแล้วเว้นระยะ ๒-๓ วันต้มดื่มอีก ๒-๓ ครั้ง เมื่ออาการที่เป็นดีขึ้นจึงหยุดรับประทาน

ตำรายาจีน ใช้เหง้าเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ ยาถ่าย แก้ไข้ บำรุงธาตุ ด้วยวิธีเอาไปต้มน้ำดื่มวันละแก้ว หรือเอาเหง้าสดจำนวน ๑๐-๑๕ กรัม ต้มน้ำดื่มเช้าเย็นครั้งละครึ่งแก้วสามารถแก้คนเป็น “คางทูม” ได้ แต่อย่างไรก็ตามพบว่า มีสารบางชนิดที่เป็นพิษ จึงควรระวังในการใช้กิน และการทดลองกับผู้ป่วยพบว่าน้ำต้มของเหง้าดังกล่าว ใช้ชะล้างแก้อาการผื่นคันได้ผลดี

ว่านหางช้าง หรือ BLACK BERRY LILY–LEOPARD FLO-WER BELAMCANDA CHI-NENSIS (L.) DC. อยู่ในวงศ์ IRIDACEAE เป็นไม้ล้มลุก สูง ๐.๖-๒ เมตร มีเหง้าเลื้อยตามแนว ขนานกับพื้นดิน ใบเป็นใบเดี่ยวแทงขึ้นจากเหง้าเรียงซ้อนสลับกันแผ่คล้ายรูปฟัน เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก มีกลีบดอก ๖ กลีบ เป็นสีส้ม มีจุดประสีแดงกระจายทั่วทั้งกลีบดอก ดอกมีขนาดใหญ่ เวลามีดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามมาก “ผล” เป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกอ้าและกระดกไปด้านหลัง มีเมล็ด ดอกออกเมื่อต้นเจริญเต็มที่ ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า

ปัจจุบัน “ว่านหางช้าง” มีต้นขาย ทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักรทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาแต่ละแผงจะไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรเดินสอบถามราคาเพื่อเปรียบเทียบก่อนที่จะตัดสินใจซื้อแผงที่มีราคาถูกที่สุด ปลูกได้ในดินทั่วไป.   นสพ.ไทยรัฐ

Kimleng:
  กวนอิมเงิน

กวนอิมเงิน เป็นพรรณไม้มงคลที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงต้อนรับปีใหม่ ใครที่กำลังหาของขวัญของฝากให้คนที่รัก แนะนำพรรณกวนอิมเงินหรือเรียกกันว่า หวายด่าง หรือ อ้อลาย

กวนอิมเงินมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Ribbon Plant ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Dracaena sonderiana "Silver" อยู่ในตระกูล LILIACEAE มีถิ่นกำเนิดในประเทศแคเมอรูนและคองโก

จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นคล้ายสกุลหวาย ลำต้นโตประมาณ ๑-๒ ซ.ม. สูงประมาณ ๑-๓ เมตร ลำต้นกลมตรงเล็กเป็นข้อๆ สีเขียว ไม่มีกิ่งก้านสาขา เจริญด้วยการยืดตัวของข้อ ใบเดี่ยวแตกออกจากส่วนยอดของลำต้น มีกาบใบหุ้มห่อลำต้นสลับ กันเป็นชั้นๆ ตามข้อลำต้น ใบแคบเรียวยาว ปลายใบแหลม โคนใบสอบลงมาถึงกาบ พื้นใบมีสีเขียวหรือสีขาวพาดตามยาวของใบ ขนาดความกว้างของใบประมาณ ๒-๓ ซ.ม. ยาว ๖-๘ ซ.ม.

คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นกวนอิมเงินไว้ประจำบ้านจะทำให้คนในบ้านมีฐานะดีร่ำรวย เพราะต้นกวนอิมเป็นไม้นำเงินเข้ามาหมุนเวียนให้คนในบ้าน และยังเชื่ออีกว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะคนโบราณใช้ต้นกวนอิมประกอบในพิธีบูชาพระเจ้าและพิธีมงคลทางศาสนา หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
ทองหลางลาย

ต้นทองหลางลาย เป็นพรรณไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดปทุมธานี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Erythrina variegate L. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE ชื่อสามัญที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักคือ Indian Coral Tree, Variegated Tiger" Claw ชื่อภาษาไทยที่คนไทยรู้จักคือ ปาริชาติ ปาริฉัตร ทองบ้าน ทองเผือก ทองหลางด่าง มังการา (ชื่อนี้ชาวฮินดูจะเรียกกัน)

เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูงประมาณ ๕-๑๐ เมตร ตามกิ่งต้นอ่อนมีหนาม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง ลักษณะใบคล้ายขนนก เรียงเวียนสลับ มีใบย่อย ๓ ใบ ใบกลางจะโตกว่า ๒ ใบด้านข้าง ดอกคล้ายดอกถั่วสีแดงเข้ม ออกรวมกันเป็นช่อยาวประมาณ ๓๐-๔๐ ซ.ม. ผลเป็นฝัก ยาว ๑๕-๓๐ ซ.ม.

พรรณไม้ชนิดนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะเอเชียเขตร้อนและเขตอบอุ่น ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดและปักชำ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากใบนั้นมีลวดลายสวยงาม นั่นคือสีเขียวตัดกับลวดลายสีเหลือง...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


  อย่าลืมฉัน

พรรณไม้ที่มีดอกสีม่วงสดอย่างดอกไม้ที่มีชื่อเก๋ไก๋ ว่า "ฟอร์เก็ตมีน็อต" (Forget me not) หรือ "อย่าลืมฉัน" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Angelonia goyazensis จัดเป็นไม้ล้มลุก เนื่องจากเดิมพรรณไม้ชนิดนี้ไม่มีชื่อภาษาไทย หลวงบุเรศบำรุงการจึงตั้งชื่อให้ว่าต้นแวววิเชียร เป็นชื่อที่เรียกคู่มากับชื่อเดิมที่แปลตรงตัวคืออย่าลืมฉัน

ฟอร์เก็ตมีน็อต เป็นพืชที่ปลูกง่ายขึ้นได้ดีในดินทั่ว ไปแทบทุกชนิด ชอบความชุ่มชื้นและอยู่ในร่มเงาได้ ทนทานโรคแมลง โตเร็ว ขยายพันธุ์ง่ายโดยการแยกกอหรือปักชำกิ่ง แหล่งกำเนิดดั้งเดิมยังค้นไม่พบ แต่มีหลักฐานว่านำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกจากเมืองมัณฑะเลย์ สหภาพพม่า ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยแหม่มคอลลินส์ นับถึงตอนนี้ก็มีอายุ ๙๖ ปีแล้ว  พรรณไม้นี้มีลักษณะใบเรียวยาว ใบและดอกมีกลิ่นเฉพาะตัวเมื่อใช้มือสัมผัส ออกดอกเดี่ยว แต่ออกติดๆ กันตามข้อต้นหรือง่ามใบ มักออกดอกพร้อมกันตลอดต้นไปจนถึงส่วนยอด ออกดอกตลอดทั้งปี ดอกเป็นรูปกรวยเล็ก โค้งเล็กน้อย ส่วนปลายดอกแยกออกเป็น ๕ กลีบ กลีบดอกมีสีม่วงแก่ ม่วงอ่อน และสีขาว...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


  สนสามใบ

สนสามใบ เป็นพรรณไม้พระราชทานเพื่อปลูก เป็นมงคลของจังหวัดเลย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศพม่า ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kesiya pine อยู่ในวงศ์ PINACEAE ชื่อภาษาไทยอื่นๆ เช่น เกี๊ยะเปลือกแดง เกี๊ยะเปลือกบาง จ๋วง เชี้ยงบั้ง แปก สนเขา

เป็นไม้ยืนต้นสูง ๑๐-๓๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกสีน้ำตาลอมชมพูอ่อนล่อนเป็นสะเก็ด มียางสีเหลืองซึมออกมาตามรอยแตก ใบเป็นใบเดี่ยว ติดกันเป็นกลุ่มละ ๓ ใบ ออกเป็นกระจุกเวียนสลับถี่ตามปลายกิ่ง ออกดอกเป็นช่อ แยกเพศ ช่อดอกเพศผู้สีเหลือง ติดกันเป็นกลุ่มใกล้ปลายกิ่ง ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ผลออกรวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า Cone (โคน) รูปไข่ สีน้ำตาล มีเมล็ดจำนวนมาก...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


  กาฬพฤกษ์

กาฬพฤกษ์ พรรณไม้พระราชทานปลูกเป็นสิริมงคลในจังหวัดบุรีรัมย์ ถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตอเมริกาเขตร้อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia gran dis L.f. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE ชื่อสามัญ คือ Pink Shower จัดเป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง ๒๐ เมตร โคนมีพูพอน เปลือกสีดำ แตกเป็นร่องลึก กิ่งอ่อนหรือช่อดอกมีขนสีน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ใบย่อยมี ๑๐-๒๐ คู่ ใบอ่อนสีแดง แผ่นใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ เซนติเมตร ยาว ๓-๕ เซนติเมตร ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีขน ดอกเริ่มบานสีแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูตามลำดับ ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


 ทรงบาดาล

ทรงบาดาลเป็นไม้พุ่ม สูง ๓-๕ เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Senna surattensis (Burm.f) Irwin&Barneby อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE ชื่อสามัญคือ Kalamona ,Scrambled Eggs ชื่ออื่นๆ คือขี้เหล็กหวาน  เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อนและแถบจาเมกา ลักษณะลำต้นเป็นไม้พุ่ม มีใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับใบย่อย ๔-๖ คู่ รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ ซ.ม. ปลายแหลม โคนมน ดอกเหลือง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ออกดอกตลอดทั้งปี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


 กันเกรา

พรรณไม้ประจำจังหวัดนครพนม อย่างต้นกันเกรา เป็นพรรณไม้ดอกหอม พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fagraea fragrans Roxb. ชื่อสามัญคือ Anan ชื่อภาษาไทยอื่นๆ รู้จักในชื่อ มันปลา ตำเสา ทำเสา

กันเกราเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๑๕-๒๕ เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึก ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซ.ม. ยาว ๘-๑๑ ซ.ม. ปลายแหลมโคนมน ดอกสีขาวครีมจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผลกลมเล็ก สีส้มแก่ สีแดงเลือดนก เมล็ดมีจำนวนมาก ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด  ประโยชน์ของพรรณไม้ชนิดนี้เริ่มจากเนื้อไม้สีเหลืองอ่อนเสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทานใช้ในการก่อสร้าง แก่นมีรสฝาดใช้ผสมยาบำรุงธาตุแน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง และยังนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


 ประดู่

ประดู่เป็นพรรณไม้ยืนต้น และเป็นพรรณไม้ประจำจังหวัดชลบุรี ร้อยเอ็ด ระยอง อุตรดิตถ์ ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์  มีชื่อสามัญว่า Angsana, Padauk ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pterocarpus indicus Willd ชื่ออื่นๆ ที่รู้จักโดยเฉพาะภาคใต้เรียกกันว่า สะโน เป็นพรรณไม้สูง ลำต้นสูงประมาณ ๑๐-๒๐ เมตร ผลัดใบ เรือนยอดกลมหรือรูปเจดีย์เตี้ย แผ่กว้าง หนาทึบ ใบประกอบขนนกรูปไข่ เรียบหนา ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มี ๕ กลีบ สีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานแล้วร่วงพร้อมกัน ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม ...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
 วิสเทอเรีย

วิสเทอเรีย เป็นพรรณไม้ที่สวยงามอีกชนิดหนึ่ง แถมยังดัดแปลงเป็นซุ้มได้อย่างสวยงามและแปลกตายิ่งนัก นอกจากจะชื่อ วิสเทอเรีย แล้วยังมีชื่อว่าฟูจิ เป็นไม้เลื้อยตระกูลถั่วที่ผู้คนนิยมปลูกและขยายออกไปหลายสายพันธุ์  ด้วยความสวยงามและกลิ่นที่เย้ายวนสุดแสนโรแมนติก ทุกวันนี้มีการศึกษาเพื่อผสมให้พรรณไม้ชนิดนี้มีสีสัน รูปร่าง กลิ่นที่ดีขึ้น แข็งแรง ทนทาน และปรับตัวในทุกสภาพอากาศ  ช่วงเวลาปกติที่วิสเทอเรียออกดอกคือเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ช่วงเมษายน พฤษภาคม บานยาวไปถึงมิถุนายน กรกฎาคม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ออกดอกได้เมื่ออายุต้นได้เวลา ยิ่งแก่ยิ่งดก แต่ละสายพันธุ์มีข้อแตกต่างในเรื่องอายุ สำหรับสายพันธุ์ลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ อายุเพียง ๓ ปีขึ้นไปก็เริ่มออกดอก ส่วนสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมอาจต้องรอกันถึง ๑๐-๑๕  ปี

นิยมปลูกทำเป็นซุ้มและเมื่อดอกผลิออกมาจะกลายเป็นซุ้มขนาดใหญ่ ห้อยระย้าโชว์ดอกสีสัน ที่เห็นบ่อยคือสีขาว ม่วงเข้ม ม่วงอ่อน ...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


 เกด

เกด พรรณไม้ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือต้นเกด ชื่อสามัญว่า Milkey Tree ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Manikara hexandra มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปและพบเห็นตามเกาะต่างๆ  เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ ๘-๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน รูปทรงคล้ายรูปหัวใจ ออกดอกเป็นกลุ่มตามง่ามใบ ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม แต่ละดอกมี ๑๘ กลีบ มีกลีบรองดอก ๖ กลีบ เรียงซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น  ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม พบบริเวณป่าดงดิบแล้งและป่าชายหาดทางใต้ ต้องการแสงแดดจัด ต้องการน้ำน้อย...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
 พวงโกเมน

พรรณไม้สีสันสดใสอย่างพวงโกเมน ใครเห็นก็สะดุดตา ด้วยสีส้มแดงสดใสมองเห็นแต่ไกล ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mucuna bennettii F. Muell. อยู่ในตระกูล LEGUMINOSAE ชื่อสามัญ Newguinea Creeper, Red Jade Vine.

เป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก เนื้อไม้แข็ง เจริญเติบโตได้เร็วและอายุยืน เถาอาจจะเลื้อยไปได้ไกล ๒๐-๒๕ เมตร เป็นไม้ใบประกอบออกสลับกัน ใบเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเข้าหาก้านใบ ใบมีสีเขียวเข้ม และจะแตกออกเป็นพุ่มแน่น ออกดอกเป็นช่อตามลำต้น หรือซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกมีขนาดใหญ่เป็นพวงห้อยลง  ลักษณะของดอกจะคล้ายกับดอกแคหรือดอกถั่ว ดอกมีสีแสดหรือสีแดงเพลิง คล้ายกับดอกทองกวาว ดอกมีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนปลายจะแยกออกเป็น ๕ แฉก และมีกลีบดอกอีก ๕ กลีบขนาดไม่เท่ากัน ไม่คลี่บาน กลีบดอกที่อยู่นอกสุดมีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกอื่นๆ ออกดอกในช่วงฤดูฝน หรือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน เป็นพรรณไม้ที่ชอบแดดมาก...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
 กระทิง

กระทิงเป็นพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Calphyllum inophyllum L. อยู่ในวงศ์ GUTTIFERAE ชื่อสามัญ Alexandrian Laurel, Indian Laurel มีลักษณะไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๖-๒๐ เมตร เรือนยอดแผ่กว้างเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ ลำต้นมักคดงอ เปลือกสีน้ำตาลปนเทาค่อนข้างเรียบ ทุกส่วนมียางสีเหลืองอมเขียว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายใบกลมหรือเว้าเล็กน้อย  จุดเด่นของดอกอยู่ที่ช่อดอกสีขาว ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมี ๖-๑๐ ดอก ก้านดอกสีขาวยาว ๒-๒.๕ ซ.ม. มีกลีบดอก ๕-๖ กลีบ รูปไข่ปลายแหลม กลีบดอกงองุ้มโค้งเข้าหากัน ดอกบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ ซ.ม. เนิยมปลูกเป็นไม้ประดับโชว์ทรงพุ่ม ไม้ให้ร่มเงาตามริมถนนและในแปลงกลางแจ้ง...หน้า ๒๔ นสพ.ข่าวสด


 คริสต์มาส

ใบ “คริสต์มาส” จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงระหว่างปลายเดือนตุลาคม ไปจนถึงปลายเดือนมีนาคม ปีถัดไป จากนั้นใบจะกลับเป็นสีเขียวเหมือนเดิม ซึ่งในช่วงที่ใบเป็นสีแดงนี่เอง เป็นช่วงที่ผู้ซื้อนิยมซื้อเอาต้นไปตั้งประดับในเทศกาลคริสต์มาสและช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างแพร่หลาย เมื่อผ่านพ้นไปแล้ว ต้น “คริสต์มาส” จะถูกทิ้ง เนื่องจากใบกลับไปเป็นสีเขียวตามธรรมชาติ และหมดความสวยงามนั่นเอง

ความจริงแล้ว ต้น “คริสต์มาส” ที่ใบเปลี่ยนเป็นสีเขียวตามธรรมชาตินั้น ยังมีประโยชน์สามารถนำไปปลูกเลี้ยงให้ต้นเจริญเติบโตด้วยการดูแลรดน้ำบำรุงปุ๋ยสม่ำเสมอ เมื่อถึงเดือนกันยายนหรือเข้าสู่ฤดูฝน ให้ตัดเอากิ่งแก่จัดเป็นท่อน ๑.๕-๒ ฟุต ปักชำลงดินบรรจุถุงดำเรียงเป็นระเบียบกลางแจ้ง รดน้ำบำรุงปุ๋ยประจำ จะมีรากและแตกยอดใหม่เป็นพุ่มแน่น เมื่อถึงปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน ใบจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงเข้มสวยงามมากสามารถนำไปตั้งประดับหรือวางขายได้ราคาดีเป็นวงจรของต้น “คริสต์มาส”

คริสต์มาส หรือ EUPHORBIA  PULCHERRIMA WILL EX KLOTZSCH  ชื่อสามัญ POINSETTIA CHRISTMAS FLOWER อยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE ต้นสูง ๑-๓ เมตร ทุกส่วนมียางขาว ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งสีเหลืองปนแดง “ผล” ค่อนข้างกลม ดอกออกช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง มีชื่ออีกคือ สองฤดู, โพฝัน (กทม.) และ บานใบ (ภาคเหนือ) มีถิ่นกำเนิดอเมริกากลางและเม็กซิโก

ใบอ่อน ใช้พอกแก้โรคผิวหนังบางชนิด เช่น ไฟลามทุ่ง สารให้สีมีกรด TARTARIC มีสารฝาดสมาน และน้ำตาล GLUCOSE,  SUCROSE ยางเป็นพิษเข้าตาถูกผิวหนังระคายเคืองครับ..หน้า ๗ นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
 "มังกรคาบแก้ว" ความงามที่ถูกลืม

ไม้ประดับที่มีดอกสีสันสวยงามหลายชนิดมักถูกผู้ปลูกประดับลืมและไม่นึกถึง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นไม้เก่าแก่ที่นิยมปลูกกันมาช้านานแล้ว ประกอบกับปัจจุบันจะมีไม้ดอกสวยงามใหม่ๆ และแปลกๆ วางขายไม่ขาดระยะ  จึงทำให้ไม้ดอกสวยงามเหล่านั้นถูกผู้ปลูกลืมนึกถึงโดยปริยาย ซึ่งต้น  “มังกรคาบแก้ว”  ก็จัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วย  นานๆ จึงจะมีผู้ขยายพันธุ์นำต้นวางขายแต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะไม่รู้จัก “มังกรคาบแก้ว” เลย

มังกรคาบแก้ว หรือ CLERODENDRUM THOMSONEA  BALF.F. ชื่อสามัญ BLEEDING HEART, BROKEN HEART, BAG FLOWER  อยู่ในวงศ์ VERBENACEAE เป็นไม้เถาเลื้อย เถาอ่อนสี่เหลี่ยม ใบออกตรงกันข้าม รูปไข่หรือขอบขนาน ปลายแหลม โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก กลีบเลี้ยงสีขาว ๕ กลีบ โคนกลีบจะโค้งออก ส่วนปลายสอบเข้าหากัน ซึ่งกลีบเลี้ยงดังกล่าวจะหุ้มหลอดดอกอยู่ด้านใน  กลีบดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ สีแดงเข้ม มีเกสรตัวผู้ ๔ อัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูเหมือนปากมังกรสีขาวกำลังคาบกลีบดอกสีแดงเข้มเอาไว้สวยงามมาก  จึงถูกตั้งชื่อว่า “มังกรคาบแก้ว” ดังกล่าว “ผล” กลมสีดำ มีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและปักชำกิ่ง มีชื่อเรียกอีกคือ พวงแก้ว และพวงเงิน ถิ่นกำเนิดแอฟริกาตะวันตก

ปัจจุบัน  ต้น  “มังกรคาบแก้ว” มีขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แต่มีไม่มากนัก ราคาสอบถามกันเอง  ปลูกได้ในดินทั่วไป  นิยมปลูกประดับตามบ้าน  สำนักงานสวนสาธารณะและรีสอร์ตทั่วไป เวลามีดอกจะงดงามมากครับ...หน้า ๗ นสพ.ไทยรัฐ


Kimleng:
.

 กล้วยไม้
คำว่า กล้วยไม้ เป็นคำที่เกิดจากการนำคำ ๒ คำ มาประสมกันแล้วเกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ขึ้น แต่ยังมีเค้าของความหมายเดิมอยู่ หม่อมเจ้า ลักษณากร เกษมสันต์ อธิบายความหมายของกล้วยไม้ไว้ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่าหมายถึง หมู่พฤกษชาติพวกใบเลี้ยงเดี่ยว มีขึ้นอยู่ตามป่าชื้นที่มีฝนอุดมสมบุรณ์ ที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน เป็นพืชล้มลุกก็มี ที่เกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้อื่นหรือตามหินผาเป็นพืชถาวรก็มี ถ้าเป็นพวกล้มลุก ลำต้นจะมีหัวอยู่ใต้ดิน มีรากออกจากหัวนั้นๆ แล้วแตกหน่อขึ้นมาผลิดอกออกใบบนพื้นดิน ถ้าเป็นพวกพืชถาวร มีหลายลักษณะ เป็นเหง้า เป็นหน่อ เป็นลำ ซึ่งมักเรียกว่า ลำลูกกล้วย เป็นเส้นตรงๆ กลมหรือแบนก็มี คล้ายกับกิ่งอ่อนๆ ของต้นไม้ก็มี แล้วมีรากออกจากเหง้าและจากลำต้น ใบก็เช่นเดียวกันมีหลายแบบ ยากที่จะกำหนดให้ตายตัวลงไปได้ ทางภาคเหนือของประเทศไทยมักเรียกกล้วยไม้ว่า "เอื้อง" แต่คำว่าเอื้อง ไม่ได้จำกัดว่าเป็นชื่อเรียกกล้วยไม้อย่างเดียว หากยังเรียกพันธุ์ไม้อื่นๆ ที่มีส่วนคล้ายคลึงกับกล้วยไม้ด้วยเช่นเดียวกัน

ทำไมจึงเรียกพรรณไม้ชนิดนี้ว่า "กล้วยไม้" ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีกล้วยเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อบฉันท์ ไทยทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้ ซึ่งเป็นกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืช ของราชบัณฑิตยสถาน ให้คำตอบว่า น่าจะมาจากลักษณะปรากฏของกล้วยไม้บางชนิด เช่น กล้วยไม้ในสกุลเอื้องต่างๆ ที่มีลำต้นอวบสั้น ขึ้นเป็นกระจุกตามกิ่งไม้และต้นไม้ ที่เรียกว่า ลำลูกกล้วย ซึ่งดูแล้วคล้ายกล้วย จึงเรียกเป็นกล้วยไม้

กล้วยไม้นี้มีมากมายหลายชนิด ส่วนมากมีดอกสวยงาม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ บ้างก็ทำการผสมเป็นพันธุ์ใหม่ๆ เป็นที่นิยมกันทั่วไป และซื้อขายกันด้วยราคาแพงๆ เช่น กล้วยไม้สกุลคัทลียา ที่มีดอกงดงามมาก จนได้ชื่อว่าเป็น "ราชินีแห่งกล้วยไม้"

  "เอื้องเมี่ยง"  สวยอลังการ

“เอื้องเมี่ยง” ก็คือ เอื้องกิ่งดำ หรือ เอื้องสายม่วง หรือที่ผู้ขายชอบเรียกว่า เอื้องสายสามสี เป็นต้นเดียวกัน พบขึ้นตามป่าดงดิบเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีเขตการ กระจายพันธุ์ถึงประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ DENDROBIUM GRATIOSISSIMUM REHB.F. มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยจำพวกที่มีการเจริญทางยอด ได้แก่ ชนิดที่มีลำต้นชัดเจนแล้วเจริญขยายทางปลายยอดด้านเดียว มีหลายสกุล ลำต้นของ “เอื้องเมี่ยง” เป็นรูปแท่งดินสอกลม สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นประมาณ ๐.๗-๑ ซม. หรืออาจจะใหญ่กว่าตามความ สมบูรณ์ของต้น ลำต้นยาว ๕๐-๗๐ ซม. ห้อยลง ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน และจะทิ้งใบเมื่อฤดูกาลมีดอก

ดอก ออกเป็นช่อตามบริเวณข้อของลำต้นตั้งแต่โคนเรื่อยขึ้นไปจนถึงปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๒-๓ ดอก ลักษณะดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นสีขาว ปลายกลีบเป็นสีชมพูเข้ม กลีบปากมีแต้มสีเหลืองสดบริเวณกลางกลีบ ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ ๕ ซม. เวลามีดอกดก และดอกบานพร้อมกันจะสวยงามเป็นระย้าดูอลังการมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีตัดยอดปล่อยให้บริเวณที่เป็นแผลที่ตัดงอกรากมาใหม่ก่อนนำไปปลูกและแยกต้น

ปัจจุบัน “เอื้องเมี่ยง” หรือ เอื้องกิ่งดำ เอื้องสายม่วง และ เอื้องสายสามสี มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงหน้าธนาคารออมสินนสพ.ไทยรัฐ


  เอื้องตะขาบใหญ่ "แก้ปวดหัว ตับแข็ง"

กล้วยไม้ชนิดนี้ พบทั่วไปตามป่าดิบเขาทุกภาคของประเทศไทย มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ จะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยที่สีของดอก และช่วงเวลามีดอก บางชนิดดอกมีกลิ่นหอมเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว แต่ที่เหมือนกันเกือบทุกสายพันธุ์ได้แก่ ใบของกล้วยไม้ในตระกูลนี้จะดูคล้ายเกล็ดปลา หรือตัวตะขาบ ส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับจำพวกหายาก ไม่ค่อยมีใครทราบว่า "เอื้องตะขาบใหญ่" มีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย

โดยตำรายาพื้นบ้านอีสาน ใช้ทั้งต้นของ "เอื้องตะขาบใหญ่" ตำพอกศีรษะแก้ปวดหัวดีนัก นำไปผสมกับต้นต้างใหญ่ เอาทุกส่วนอย่างละนิดหน่อย กับเอื้องงูเขียวปากม่วง ทั้งต้นต้มน้ำดื่มขณะอุ่น เป็นยารักษาโรคตับโตและตับแข็งได้

เอื้องตะขาบใหญ่ หรือ DENDROBIUM LEONIS (LINDL.) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นยาวได้ ๒๕ ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียกสลับแบนสองด้านคล้ายตะขาบ จึงถูกเรียกชื่อว่า "เอื้องตะขาบใหญ่" ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองหรือสีชมพูอมม่วง ดอกมีกลิ่นหอมแรง ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ ๑ ซม. ดอกออกได้เรื่อยๆ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น หรือเหง้า มีชื่อเรียกอีกคือ ก้างปลา และ เกล็ดนิ่ม มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ หน้าธนาคารออมสิน ราคาสอบถามกันเองนสพ.ไทยรัฐ


  "กุหลาบกระเป๋าปิดใต้" หอมแรงชื่นใจ

โดยปกติแล้ว กล้วยไม้สายพันธุ์กุหลาบกระเป๋าปิด จะมีแหล่งที่พบเกือบทุกภาคของประเทศไทย เช่น ในแถบ จ.เชียงใหม่ ตาก เลย สกลนคร มุกดาหาร ชัยภูมิ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และมีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศลาว พม่า ส่วน “กุหลาบกระเป๋าปิดใต้” พบเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เท่านั้น

กุหลาบกระเป๋าปิดใต้ หรือ AERIDES ODORATA LOUR. มีลักษณะพฤกษศาสตร์เหมือนกับเอื้องกระเป๋าปิดทั่วไป คือเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่มีลำต้นเจริญทางปลายยอด ได้แก่ชนิดที่มีลำต้นชัดเจนแล้วเจริญขยายทางปลายยอดด้านเดียว มีด้วยกันหลายสกุล รวมทั้ง “กุหลาบกระเป๋าปิดใต้” ด้วย ลำต้นกลมยาว ใบออกเรียงสลับ เป็นรูปเข็มขัดหรือแถบยาว ปลายใบตัดและเว้า  สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ช่อดอก ยาว แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๒๐-๓๕ ดอก ลักษณะดอกกลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านบนเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงคู่ด้านข้างเป็นรูปรีกว้างเกือบกลม กลางกลีบปากเป็นรูปแถบ มีเดือยรูปคล้ายตะขอชี้ออกด้านหน้าและมีฝาปิดอยู่ สีของดอกเป็นสีขาว มีแต้มสีชมพูอมม่วง ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมแรงมากเท่ากับกลิ่นหอมของเอื้องไอยเรศ แต่กลิ่นจะนุ่มนวลกว่า ยืนห่าง ๑-๒ เมตรสามารถได้กลิ่นหอมโชยเข้าจมูกทำให้รู้สึกชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง เวลามีดอกหลายๆช่อและดอกบานพร้อมกัน จะดูสวยงามมาก ดอกออกระหว่างเดือน เมษายนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีตัดยอดแล้วฉีดยาเร่งรากบริเวณแผลที่ตัดแขวนในที่มีลมโกรกตลอดเวลาพร้อมฉีดพ่นน้ำวันละครั้ง ๑-๒ อาทิตย์จะมีรากงอกออกมาให้เห็น

ปัจจุบัน “กุหลาบกระเป๋าปิดใต้” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงหน้าธนาคารออมสินนสพ.ไทยรัฐ


"เพชรหึงใหม่" ดอกพื้นขาวประม่วง

เพชรหึง เป็นกล้วยไม้ที่ลำต้นใหญ่ที่สุดในโลก มีแหล่งที่พบในแถบ จ.พิษณุโลก, เลย, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ตรัง และนราธิวาส จัดอยู่ในกลุ่มของกล้วยไม้ที่มีการเจริญทางด้านข้าง มีเหง้า ส่วนทอดเลื้อยหรือไหล เมื่อต้นเจริญเต็มที่สามารถแตกต้นใหม่หรือหน่อใหม่จากโคนกอหรือตามลำข้อได้ มีหลากหลายชนิด รวมทั้งเพชรหึงด้วย ซึ่งเพชรหึงพันธุ์ดั้งเดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า GRAMMATOPHYLLUM  SPECIOSUM ช่อดอกและดอกจะมีขนาดใหญ่มาก สีพื้นของกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีลายประเป็นสีน้ำตาลอย่างชัดเจนสวยงามมาก มีต้นขายทั่วไป ดอกออกช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมทุกปี ได้รับความนิยมปลูกอย่างแพร่หลาย มีชื่อเรียกอีกคือ “ว่านงูเหลือม” เนื่องจากต้นดูเหมือนงูเหลือมนั่นเอง

ส่วน “เพชรหึงใหม่” ที่พบมีขาย มีต้นขนาดเล็กบรรจุอยู่ในขวดที่เกิดจากการเพาะเนื้อเยื่อด้วยวิธีปั่นขวดพร้อมมีภาพถ่ายรูปดอกโชว์ให้ชมด้วย สีสันของดอกแปลกและแตกต่างจากสีของดอกเพชรหึงพันธุ์ดั้งเดิมที่กล่าวข้างต้นอย่างชัดเจนน่าชมมาก ผู้ขายบอกว่าเป็น “เพชรหึงใหม่” มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับเพชรหึงชนิดแรกทุกอย่าง จะมีข้อแตกต่างกันเฉพาะสีของกลีบดอกเท่านั้นคือ สีพื้นของกลีบดอก “เพชรหึงใหม่” จะเป็นสีขาว และมีลายประเป็นสีม่วงอมแดงดูเหมือนลายของเสือดาวสวยงามมากตามภาพประกอบคอลัมน์ กำลังเป็นที่นิยมของผู้ปลูกอย่างกว้างขวางอยู่ในปัจจุบัน

ใคร ต้องการต้นพันธุ์ไปปลูก มีต้นขนาดเล็กที่เพาะด้วยเนื้อเยื่อบรรจุอยู่ในขวดขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ- พฤหัสฯ บริเวณแผงตรงกันข้ามโครงการ ๑๕ นสพ.ไทยรัฐ


  "เอื้องเสือแผ้ว"  สวยหายาก  

ผู้ที่นิยมปลูกกล้วยไม้ ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดอยู่เสมอว่า “เอื้องเสือแผ้ว” เป็นต้นเดียวกับ เอื้องเสือโคร่ง เนื่องจากลายของกลีบเลี้ยงและกลีบดอกจะเหมือนกันมาก แต่ถ้าหากเป็นคนช่างสังเกตจะพบว่าทั้ง ๒ ชนิดมีข้อแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ กลีบปากสีจะไม่เหมือนกัน โดยกลีบปากของ “เอื้องเสือแผ้ว” เป็นสีเหลืองเข้ม ส่วนกลีบปากของ เอื้องเสือโคร่งเป็นสีขาว และลักษณะของกลีบปากก็ต่างกันด้วย คือ กลีบปากของ “เอื้องเสือแผ้ว” แผ่เป็นเดือยมีขน ส่วนกลีบปากของเอื้องเสือโคร่ง ยื่นยาวกว่ามีขนเช่นเดียวกัน

เอื้องเสือแผ้ว หรือ STAUROCHILUS DAWSONIANUS  (RCHB.F) SCHLTR. ชื่อพ้อง CLEISOSTOMA DAWSONIANUM RCHB.F. เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นสูง ๓๐-๕๐ ซม. ใบเป็นรูปเข็มขัด กว้างประมาณ ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒๐ ซม. ดอก ออกเป็นช่อตามข้อลำต้น ก้านช่อยาวประมาณ ๓๐-๔๐ ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๖-๗ ดอก ลักษณะดอกมี กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีแต้มตามขวางเป็นแถบเล็กๆ สีม่วงคล้ำคล้ายลายเสือโคร่ง กลีบปากแผ่เป็นเดือยสีเหลืองเข้มมีขน ตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. เวลามีดอกจะสวยงามมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนธันวาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนของปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น พบขึ้นตามป่าดิบทางภาคเหนือของประเทศไทย มีเขตกระจายพันธุ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกอีกคือ เอื้องเสือน้อย และเอื้องตุ๊กแก จัดอยู่ในกลุ่มหายากชนิดหนึ่ง นิยมปลูกลงกระถางแขวนในจุดที่มีลมพัดโกรกดีตลอดทั้งวัน รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยกล้วยไม้ฉีดพ่น ๑๕ วันครั้ง จะทำให้ต้นแข็งแรงและมีดอกสวยงามเมื่อถึงฤดูกาลครับ

ปัจจุบัน “เอื้องเสือแผ้ว” มีต้นขาย จำนวนไม่มากนัก ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงหน้าธนาคารออมสิน นสพ.ไทยรัฐ


  "เอื้องตาควาย"  

ผู้อ่านจำนวนมากอยากทราบว่า ดอก “เอื้องตาควาย” มีกลิ่นหอมหรือไม่ เนื่องจากมีผู้ขายบางคนบอกว่ามีกลิ่นหอม พอซื้อต้นไปปลูกแล้วมีดอกใช้จมูกดมไม่ได้กลิ่นเลย ซึ่งความจริงแล้วดอกของ “เอื้องตาควาย” ไม่มีกลิ่น แต่ดอกใหญ่สีสันสวยงามน่าชมเท่านั้น ผู้ขายบางคนอาจจำผิดก็ได้ ในช่วงนี้ “เอื้องตาควาย” อยู่ระหว่างผลิดอก จึงถ่ายภาพเสนอในคอลัมน์พร้อมตอบข้อข้องใจให้ทราบอีกตามระเบียบ

เอื้องตาควาย หรือ DENDROBIUM PULCHELLUM ROXB. EXLINDL พบขึ้นตามป่าผลัดใบหรือป่าดิบแล้งทุกภาคของประเทศไทย โดยจะขึ้นที่ระดับความสูง ๒๐๐-๑,๕๐๐ เมตร เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นเป็นรูปแท่งดินสอกลม ยาว ใบรูปรีแกมขอบขนาน กาบใบมีขีดตามยาวสีม่วงแดง จะทิ้งใบเมื่อมีดอก

ดอก ออกเป็นช่อตามข้อใกล้ปลายยอด ก้านช่อยาว ๒๐-๒๕ ซม. ในหนึ่งช่อจะมีดอกย่อย ๗-๑๐ ดอก ลักษณะดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นสีครีม ขอบกลีบเป็นสีชมพู กลีบปากมีแต้มสีเลือดหมูขนาดใหญ่บริเวณโคนด้านในทั้ง ๒ ข้าง ทำให้เวลาดอกบานดูคล้ายกับดวงตาของควายจริงๆจึงถูกตั้งชื่อว่า “เอื้องตาควาย” ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ ๗ ซม. เวลามีดอกจะสวยงามมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือน กุม- ภาพันธ์–เมษายน ของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น มีชื่อเรียกอีกคือ เอื้องช้างน้าว บะเหน่มีเพ้ย และ พอมียอเอ๊ะ เหมาะสมจะปลูกลงกระถางแขวนในที่แจ้ง รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยกล้วยไม้ฉีดพ่นอาทิตย์ละครั้ง จะมีดอกสวยงามเมื่อถึงฤดูกาลครับ.
 
นอกจาก พบในประเทศไทยแล้ว ยังพบที่ อินเดีย เนปาล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกด้วย ปัจจุบัน มีต้นกำลังติดดอกวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าธนาคารออมสิน กับบริเวณโครงการ ๑ ปากทางออกประตู ๑นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
  "เอื้องเงินหลวง"  สวยซึ่งหอม

กล้วยไม้ชนิดนี้ เป็นสายพันธุ์ไทยแท้ๆที่พบขึ้นตามป่าธรรมชาติบนเขาสูงในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เลย กาญจบุรี และระนอง โดยส่วนใหญ่จะขึ้นเป็นกอบนคบไม้สูง มีลักษณะเด่นคือ ดอกมีขนาดใหญ่ สีสันของดอกแม้จะไม่ฉูดฉาด สะดุดตาสะดุดใจนัก แต่จะดูสวยซึ้งตรึงใจ และ ที่สำคัญดอกจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อได้สูดดมจะรู้สึกชื่นใจยิ่งนัก จึงทำให้ “เอื้องเงินหลวง” เป็นที่ต้องการของผู้ปลูกอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

เอื้องเงินหลวง หรือ DENDROBIUM FOMOSUM ROXB.EX LINDL. เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยจำพวกที่มีการเจริญทางด้านข้าง ได้แก่กล้วยไม้ที่มีเหง้า ส่วนทอดเลื้อยหรือไหล เมื่อต้นเจริญเต็มที่แล้วสามารถแตกต้นใหม่หรือหน่อใหม่จากโคนกอหรือตามลำข้อต้นได้ มีด้วยกันหลากหลายสกุล รวมทั้ง “เอื้องเงินหลวง” ด้วย โดยลำต้นหรือลำลูกกล้วยของ “เอื้องเงินหลวง” ค่อนข้างจะอวบใหญ่ ใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกเรียงสลับตามข้อลำต้น

ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจะที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๒-๕ ดอก ลักษณะดอก กลีบเลี้ยงเป็นรูปหอก ปลายกลีบแหลม กลีบดอกเป็นรูปไข่กว้าง ปลายกลีบมน กลีบปากเป็นรูปไต สีขาวสดใส โคนกลีบปากถึงกลาง กลีบมีแต้มสีเหลืองอย่างชัดเจน ปลายกลีบหยักเว้า ดอกมีกลิ่นหอมตามที่กล่าวข้างต้น ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ ๕-๖ ซม. เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามส่งกลิ่นหอมถูกลมพัดโชยเข้าจมูกเป็นที่ชื่นใจมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคมทุกปี ขยายพันธุ์ ด้วยการแยกต้นหรือเหง้า

ปัจจุบัน “เอื้องเงินหลวง” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณ แผงหน้าธนาคารออมสิน กับ แผงบริเวณโครงการ ๒๔ นสพ.ไทยรัฐ


  "กุหลาบเหลืองโคราช" " ดอกหอมสวย

กล้วยไม้ชนิดนี้ พบขึ้นตามป่าผลัดใบหรือป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบมากที่สุดในพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา แต่ปัจจุบันในป่าธรรมชาติเหลือน้อยมากแล้ว และมีเขตกระจายพันธุ์ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่พบวางขายส่วนใหญ่จะนำมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า เป็นต้น กล้วยไม้ชนิดนี้จะมีความโดดเด่นคือ ดอกมีกลิ่นหอม ดอกเป็นช่อใหญ่และสีสันของดอกสวยงามมาก จึงเป็นที่ต้องการของผู้นิยมปลูกเลี้ยงกล้วยไม้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

กุหลาบเหลืองโคราช หรือ AERIDES HOULLETIANA RCHB.F เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยจำพวกมีการเจริญทางยอด ได้แก่ กล้วยไม้ชนิดที่มีลำต้นชัดเจนแล้วเจริญขยายทางปลายยอดด้านเดียว มีด้วยกันหลายสกุล รวมทั้ง “กุหลาบเหลืองโคราช” ด้วย ซึ่งลำต้นของ “กุหลาบเหลืองโคราช” จะเรียวยาว หรือสูง ๓๐-๕๐ ซม. ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ เป็นรูปเข็มขัด กว้างประมาณ ๒-๔ ซม. ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ปลายใบตัดมีเว้าตื้นๆ

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ลักษณะเป็นพวงห้อยลง ยาว ๑๒-๑๘ ซม.แต่ละช่อมีดอกย่อยเรียงกันเป็นระเบียบหนาแน่น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีแต้มสีชมพูเข้ม กลีบปากเป็นสีขาวหรือสีครีม แต้มสีชมพูเข้มอมม่วง ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ ๒.๕-๓ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวเข้าไปยืนใกล้ๆจะได้กลิ่นโชยเข้าจมูกรู้สึกได้ทันที เวลามีดอกหลายๆช่อ หรือหลายๆต้น และดอกบานพร้อมกันจะมีสีสันสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือน เมษายน ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน พฤษภาคม ของทุกปี

  เอื้องพร้าวใหม่"  สีสันดอกสวยสดใส

เอื้องพร้าวใหม่ เพิ่งพบมีต้นวางขาย แต่ละต้นปลูกในกระถางดำขนาดกว้าง ๖ นิ้วฟุต มีดอกบานสะพรั่งอวดสีสันสวยงามและแปลกตามาก เมื่อสอบถามผู้ขายได้รับคำตอบว่า เป็น “เอื้องพร้าวใหม่” แต่บอกไม่ได้ว่าเกิดจากการผสมพันธุ์ด้วยวิธีใดและผสมกันระหว่างกล้วยไม้ชนิดไหน บอกได้เพียงว่า “เอื้องพร้าวใหม่” มีลักษณะเด่นคือ เป็นพันธุ์ที่มีดอกไม้ง่ายแบบไม่ขาดระยะ ที่สำคัญสีสันของดอกจะเข้มข้นสวยงามมาก ส่วนลักษณะทางพฤกษศาสตร์ทั่วไปเหมือนกับเอื้องพร้าวสายพันธุ์ดั้งเดิมเกือบทุกอย่าง แตกต่างกันที่สีสันของดอกและขนาดของดอกเพียงเท่านั้น

เอื้องพร้าวใหม่ เป็นกล้วยไม้ดิน ต้นสูงระหว่าง ๕๐-๖๐ ซม. โคนเป็นลำลูกกล้วยรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๕ ซม. มีกาบใบหุ้ม ใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ใบมีขนาดใหญ่ แต่จะกว้างและยาวน้อยกว่าใบของเอื้องพร้าวพันธุ์ดั้งเดิมอย่างชัดเจน แผ่นใบเป็นจีบ ในหนึ่งต้นจะมีใบเพียง ๔-๕ ใบเท่านั้น

ดอก ออกเป็นช่อตั้งขึ้นจากโคนกอ ช่อยาวได้ถึง ๑๕๐ ซม. แต่ละช่อมีดอกย่อยได้ ๑๕-๒๐ ดอก กลีบดอกด้านบนเป็นสีชมพูเข้ม หรือ เป็นสีโอลด์โรสปนสีม่วงเล็กน้อย หลังกลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเทา ดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกของเอื้องพร้าวพันธุ์ดั้งเดิมอย่างชัดเจน ลักษณะของกลีบปากจะห่อ ปลายแผ่นเป็นสีชมพูเข้ม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งช่อจะดูสวยงามสดใสมาก ซึ่งปกติ เอื้องพร้าว พันธุ์ดั้งเดิมจะมีดอกช่วงเดือน มีนาคม–เมษายน ทุกปี แต่ “เอื้องพร้าวใหม่” สามารถมีดอกได้เรื่อยๆ อยู่ที่ความสมบูรณ์ของต้น ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น

ปัจจุบัน “เอื้องพร้าวใหม่” มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๔ นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
  "กะเรกะร่อนปากนกแก้ว"  สวยสุดยอด

กล้วยไม้ในสกุลกะเรกะร่อน มีหลายชนิด รวมทั้ง “กะเรกะร่อนปากนกแก้ว” ด้วย ซึ่งเป็นชนิดที่มีช่อดอกใหญ่ยาวและสีสันของดอกสวยงามมากกว่ากะเรกะร่อนชนิดอื่นอย่างชัดเจน โดย “กะเรกะร่อนปากนกแก้ว” มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการคือ CYMBIDIUM LOWIA-NUM RCHB.F. เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยในกลุ่มที่มีการเจริญทางด้านข้าง ได้แก่ กล้วยไม้ที่มีเหง้า สวนทอดเลื้อยหรือไหล เมื่อต้นเจริญเต็มที่แล้วสามารถแตกต้นใหม่หรือหน่อใหม่จากโคนกอหรือตามลำข้อได้ ลำต้นหรือลำลูกกล้วยเป็นรูปไข่มีกาบใบหุ้ม ใบเป็นรูปเข็มขัด กว้าง ๓-๔ ยาว ๔๐-๗๐ ซม. ผิวใบเรียบ สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อจากโคนกอ ช่อยาว ๑-๑.๕ เมตร แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยมากกว่า ๑๐-๑๕ ดอก ลักษณะดอกกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เป็นสีเหลืองอมเขียว ปลายกลีบปากเป็นสีแดงเข้มแต้มดูคล้ายรูปของปากนกแก้ว จึงถูกตั้งชื่อตามลักษณะดังกล่าวว่า “กะเรกะร่อนปาก นกแก้ว” ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ ๘ ซม. ถือว่ามีขนาดใหญ่มาก เวลามีดอกเป็นช่อยาวและดอกบานพร้อมกันทั้งช่อจะดูงดงามยิ่งนัก

ดอก  ออกช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น นอกจากชื่อ “กะเรกะร่อน ปากนกแก้ว” แล้ว ยังมีชื่อเรียกอีกคือ “กะเรกะร่อนดอย” พบขึ้นตามป่าดิบที่ระดับความสูง ๑,๓๐๐-๒,๓๐๐ เมตร มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในประเทศ จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย และ เวียดนาม

ปัจจุบัน “กะเรกะร่อนปากนกแก้ว” ที่เป็นพันธุ์แท้ของประเทศไทย มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๔ กับแผงหน้าธนาคารออมสิน ราคาสอบถามกันเอง สามารถปลูกในพื้นที่ราบต่ำให้มีดอกได้ เหมาะจะปลูกประดับและปลูกอนุรักษ์ เวลามีดอกจะสวยงามมากครับ.นสพ.ไทยรัฐ


  "กะเรกะร่อนเขาพนม"  พันธุ์ใหม่สวยแปลก
  
ปกติ กล้วยไม้ในสกุลกะเรกะร่อนจะมีหลายสายพันธุ์ เช่น กะเรกะร่อนดอย หรือกะเรกะร่อนปากนกแก้ว พบขึ้นตามป่าสูงทางภาคเหนือของประเทศไทย จีนตอนใต้ พม่า และเวียดนาม กะเรกะร่อนปากเป็ด กะเรกะร่อนลาว กะเรกะร่อนสองสี และ กะเรกะร่อนอินทนนท์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะตัวและมีลักษณะดอกสวยงามต่างกันอย่างชัดเจน

ส่วน “กะเรกะร่อนเขาพนม” ที่เพิ่งพบวางขาย ผู้ขายบอกว่าเป็นพันธุ์ใหม่ไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์ พบขึ้นตามป่าบนเขาพนม จังหวัดกระบี่ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ต่างจาก

กะเรกะร่อนสายพันธุ์ที่กล่าวข้างต้นหลายจุดและดูโดดเด่นมาก เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่มีการเจริญทางด้านข้าง มีเหง้าหรือส่วนทอดเลื้อยและไหล เมื่อต้นเจริญเต็มที่สามารถแตกต้นใหม่หรือหน่อใหม่จากโคนกอหรือตามลำข้อได้ ลำต้นรูปกระเปาะค่อนข้างกลม มีกาบใบหุ้ม ใบออกเรียงสลับ เนื้อใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง รูปรางน้ำแคบ ปลายใบมน

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบบริเวณโคนต้น ช่อดอกห้อยลง ยาว ๕๐-๗๐ ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยระหว่าง ๑๔-๓๐ ดอก อยู่ที่ความสมบูรณ์ของต้น ลักษณะดอกแตกต่างจากดอกของกะเรกะร่อนทุกสายพันธุ์ที่กล่าวข้างต้นอย่างชัดเจน มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นสีม่วงคล้ำหรือม่วงอมแดง หลังกลีบม่วงปนเขียว มีกลีบบน ๓ กลีบ กลีบข้าง ๒ กลีบ รูปรียาว กลีบปากเป็นสี ขาวหรือสีครีมขนาดใหญ่ มีแต้มสีแดงเข้ม ดอกมีขนาดใหญ่มาก เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งช่อจะดูสวยงามมาก ผู้ขายบอกว่า ดอกออกช่วงเดือนตุลาคม-มกราคมปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า หรือแยกต้น

ปัจจุบัน “กะเรกะร่อนเขาพนม” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าธนาคารออมสิน ราคาสอบถามกันเองครับ.นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
  "เอื้องพร้าว"  สวยสุดกล้วยไม้ดิน

กล้วยไม้ดิน มีหลายชนิด มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ต่างกันไป ส่วนใหญ่รูปทรงของดอกจะงดงามมาก ซึ่ง “เอื้องพร้าว” จัดเป็นกล้วยไม้ ดินระดับแถวหน้าที่เวลามีดอก ดอกมีขนาดใหญ่อวดสีสันเป็นเสน่ห์น่าชมกว่ากล้วยไม้ดินชนิดใดๆ ทำให้ “เอื้องพร้าว” เป็นที่นิยมปลูกประดับอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน

เอื้องพร้าวหรือ PHAIUS TANKERVIL-LEAE (BANKS EX i’ HERTIER) BLUME มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นกล้วยไม้ดิน ต้นสูง ๕๐-๗๐ ซม. โคนเป็นลำลูกกล้วย รูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓-๕ ซม. มีกาบใบหุ้ม ใบรูปรี แกมรูปขอบขนาน แผ่นใบเป็นจีบ ปลายใบสอบ จำนวน ๔-๕ ใบต่อต้น

ดอก ออกเป็นช่อตั้งจากโคนกอ สูงได้ถึง ๑๕๐ ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก ลักษณะดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอก เป็นสีน้ำตาลอมเหลือง หลังกลีบเป็นสีขาว กลีบปากเป็นรูประฆัง ปลายแผ่ออกเป็นสีชมพูเข้ม ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ ๙-๑๐ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ต้องใช้จมูกดมใกล้ๆ จึงจะได้กลิ่นหอมดังกล่าว เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งช่อจะดูสวยงาม มากตามภาพเสนอประกอบคอลัมน์ ดอก ออกช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น มีชื่อเรียกอีกคือ “ฮ่องฟู” พบขึ้นทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ และภาคใต้ ของประเทศไทย ต่างประเทศพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก และออสเตรเลีย

มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ แผงหน้าธนาคารออมสิน และบริเวณโครงการ ๒๔  ราคาสอบถามกันเอง นิยมปลูกประดับเป็นกลุ่มหลายๆ ต้น หลายๆ กระถาง เวลามีดอกจะงดงามมากครับ.นสพ.ไทยรัฐ


พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล
  "เอื้องข้าวสาร"  ดอกเป็นช่อยาวและสวย

กล้วยไม้ชนิดนี้ มีด้วยกันหลายชนิดส่วนใหญ่พบเกือบทุกภาคของประเทศไทย และมีเขตกระจายพันธุ์ที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ละแหล่งที่พบจะมีความแตกต่างกันไม่มากนัก จะคงเอกลักษณ์ความเป็นกล้วยไม้ในสกุลดังกล่าวให้เหล่าเซียนกล้วยไม้ที่พบเห็นรู้ได้ทันทีว่าเป็นสกุล “ไลพาริส” ซึ่งบางสายพันธุ์จะมีดอกเฉพาะช่วงตามฤดูกาล บางพันธุ์มีดอกตลอดปี จึงเป็นที่นิยมปลูกอย่างแพร่หลายอยู่ในเวลานี้

เอื้องข้าวสาร หรือ LIPARIS VIRIDI- FLORA (BLUME) LINDL. เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยในกลุ่มที่มีการเจริญทางด้านข้าง ได้แก่ กล้วยไม้ที่มีเหง้า ส่วนทอดเลื้อยหรือไหล เมื่อต้นเจริญเต็มที่สามารถแตกต้นใหม่หรือหน่อใหม่จากโคน กอ หรือตามลำข้อได้ มีมากมายหลายสกุล ลำต้นของ “เอื้องข้าวสาร” เป็นแท่งปลายแหลมโคนโต สูง ๓-๙ ซม. แต่ละลำต้นจะมีใบเพียง ๒ ใบเท่านั้น ใบเป็นรูปหอกกลับแกมรูปขอบขนาน ปลายใบสอบ โคนใบติดกับปลายลำต้น สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกยาว ๑๒-๑๗ ซม. แต่ละช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมากเรียงแน่นตลอดก้านช่อดอก ลักษณะดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกพับลง เป็นสีเขียวอ่อน ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ ๐.๕ ซม. เวลามีดอกหลายๆ ช่อ จะห้อยลงเป็นสายยาวและดอกบานพร้อมกันดูสวยงามมาก ปกติดอกจะออกช่วงระหว่างเดือน ตุลาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี แต่ “เอื้องข้าวสาร” ที่แนะนำในคอลัมน์วันนี้ ผู้ขายบอกว่าเป็นสายพันธุ์ที่พบทางภาคใต้ของประเทศไทย มีความเป็นพิเศษคือสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีแยกต้น  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ โครงการ ๒๔  กับแผงหน้าธนาคารออมสิน ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ


 เอื้องมือชะนี
กล้วยไม้ชนิดนี้ มีขึ้นตามป่าดิบเขาทุกภาคของประเทศไทย ต่างประเทศพบแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมากที่สุดในไทย พม่า เขมร ลาว แต่ในป่าธรรมชาติของไทยแทบไม่พบเห็นแล้ว ส่วนใหญ่ที่พบมีต้นวางขาย ผู้ขายจะซื้อแบบเหมาเป็นกระสอบจากพ่อค้ากล้วยไม้ป่าที่นำมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นก็เอาไปคัดปลูกเลี้ยงเป็นสกุลๆไป จนต้นติดรากดีและมีดอกสวยงามตามฤดูกาล ก่อนนำออกจำหน่ายให้ผู้ซื้อไปปลูกเลี้ยงอีกทอดหนึ่ง

เอื้องมือชะนี หรือDENDROBIUM SENICE C.S.P. PARISH-RCHB.F. เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยจำพวกมีการเจริญทางด้านข้าง ได้แก่ กล้วยไม้ที่มีเหง้า ส่วนทอดเลื้อยหรือไหล เมื่อต้นเจริญเต็มที่สามารถแตกต้นใหม่หรือหน่อใหม่จากโคนกอหรือตามลำข้อได้ รวมทั้ง “เอื้องมือชะนี” ด้วย ลำต้นรูปทรงกลมคล้ายแท่งดินสอ สูง ๑๐-๑๕ ซม. ทุกส่วนของลำต้นจะมีขนยาวสีขาวทั่ว ทำ ให้ดูเหมือนกับมือของตัวชะนีจริงๆ จึงถูกตั้งชื่อตามลักษณะดังกล่าวว่า “เอื้องมือชะนี” ใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน เนื้อใบหนา เวลามีดอกจะทิ้งใบหมด เหลือเพียงดอกอย่างเดียว ทำให้น่าชมยิ่งนัก  ดอก ออกเป็นช่อตามข้อและ ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๒-๔ ดอก ก้านช่อดอกเป็นสีเขียวและยาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นสีเหลืองเข้ม ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมี ๕ กลีบ บริเวณโคนกลีบปากจะมีแต้มสีเขียวอ่อนขึ้นไปจนถึงกลางกลีบ ดอกมีกลิ่นเฉพาะตัว ใช้จมูกสูดดมจะได้กลิ่นและรู้สึกได้ทันที ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ ๕ ซม. เวลามีดอกจะสวยงามมาก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนมกราคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อหรือต้น  มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าธนาคารออมสินกับโครงการ ๒๔ ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ


  เหลืองจันทบูร
กล้วยไม้ชนิดนี้ เป็นกล้วยไม้ไทยแท้ๆ ที่มีแหล่งพบเฉพาะถิ่นในแถบ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดจันทบุรี และ จังหวัดตราด

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป