เมื่อชอบกินเค็ม ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มนั้น ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวเป็นอย่างมาก รวมถึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอีกด้วย เนื่องจากจะทำให้ยาลดความดันโลหิตมีประสิทธิภาพด้อยลง หรือผู้ป่วยมีอาการดื้อต่อการรักษานั่นเอง ทำให้ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต ทำให้ไตต้องทำงานมากขึ้นและเสื่อมเร็วขึ้น
ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้แต่ละประเทศดำเนินการเพื่อลดการรับประทานเค็มในประชากรของตนเอง โดยการให้คำแนะนำว่าคนทั่วไปไม่ควรบริโภคเกลือเกิน 6 กรัมต่อวัน เนื่องจากเกลือหรือที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า “โซเดียมคลอไรด์” นั้นมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ร้อยละ 40
ดังนั้น จึงไม่ควรกินโซเดียมเกิน 2.4 กรัม หรือ 2,400 มิลลิกรัมต่อวันนั่นเอง ทั้งนี้เราสามารถสังเกตปริมาณโซเดียมที่เราได้รับจากอาหารต่างๆ ได้จากฉลากโภชนาการ ยกตัวอย่างเช่น น้ำปลายี่ห้อหนี่งระบุว่ามีปริมาณโซเดียม 1,600 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค หรือ 15 มิลลิลิตร (1 ช้อนโต๊ะ) หมายความว่า เราไม่ควรกินน้ำปลายี่ห้อดังกล่าวมากกว่า 22.5 มิลลิลิตร (1.5 ช้อนโต๊ะ) ต่อวัน จึงจะได้รับเกลือโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน
อย่างไรก็ตามปริมาณโซเดียมที่เราได้รับมิได้มาจากน้ำปลาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงอาหารต่างๆที่เรารับประทานระหว่างวันด้วย ดังนั้นเราจึงควรบริโภคน้ำปลาในปริมาณที่น้อยกว่า 1.5 ช้อนโต๊ะต่อวัน เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมเกินจากคำแนะนำ
จากการสำรวจการรับประทานเกลือในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มารับบริการที่ รพ. ศิริราช โดยการเก็บปัสสาวะของผู้ป่วยเป็นเวลา 1 วัน เพื่อนำไปวัดปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ ซึ่งถือเป็นวิธีมาตรฐานในการประเมินการกินเกลือในประชากร ผู้เขียนได้ทำการสำรวจครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 ในผู้ป่วยจำนวน 214 ราย พบปริมาณโซเดียมที่ขับออกทางปัสสาวะเฉลี่ยมากถึง 9 กรัมต่อวัน และมีเพียงร้อยละ 29 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่รับประทานเกลือน้อยกว่า 6 กรัมต่อวันตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
ศ.นพ. พีระ บูรณะกิจเจริญ ได้ทำการสำรวจครั้งที่ 2 ด้วยวิธีเดียวกันในปี พ.ศ. 2553 ในผู้ป่วยจำนวน 320 ราย ก็พบว่าผู้ป่วยรับประทานเกลือเฉลี่ยประมาณ 9 กรัมต่อวันเช่นเดียวกัน บ่งชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว และได้รับคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาลให้ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ก็ยังคงรับประทานเค็มเกินถึงหนึ่งเท่าครึ่งของปริมาณที่ควรจะรับประทาน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เค็มน้อยลงไม่ยากอย่างที่คิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเราเองเป็นสำคัญ การปรับเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่รสชาดจืดลงในช่วงแรกอาจลำบาก แต่เมื่อลิ้นเกิดความเคยชินแล้วเราก็จะไม่ค่อยรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ลองเลี่ยงอาหารที่มีรสชาดเค็มจัด เช่น กะปิ ไข่เค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น และที่สำคัญคือ พวกขนมขบเคี้ยวต่างๆ ที่มีส่วนผสมของเกลือค่อนข้างมาก เช่น มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ นั่นคือ การหันไปเลือกผลิตภัณฑ์และเครื่องปรุงรสที่มีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าเดิมที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรักสุขภาพโดยเฉพาะนั่นเอง
รศ.พญ. วีรนุช รอบสันติสุข สาขาวิชาความดันโลหิตสูงภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและสมาชิกราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย