ทรงเป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของไทย
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่พระสงฆ์มีบทบาททางการศึกษาของชาติมากที่สุดและผู้ที่ มี บทบาทโดดเด่นเป็นผู้นำทางการศึกษาอยู่ในขณะนั้น ก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เริ่มแต่ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยสำหรับเป็นสถานศึกษาวิทยาการทั้งทาง คดีโลกและคดีธรรม สำหรับภิกษุสามเณรและกุลบุตร ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และจากความสำเร็จในการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินพระราชฤทัยมอบหมายให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับภาระอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองทั่วราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ซึ่งเป็นการมอบหมายภาระในการวางรากฐานการศึกษาขั้นประถมศึกษาของชาติให้ พระองค์ทรงดำเนินการ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ได้ทรงจัดการศึกษาขั้นประถมศึกษาอันเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติได้ เป็นผลสำเร็จภายในเวลา ๕ ปี แม้ว่าจะเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็กล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ให้กำเนิดการศึกษาขั้นประถมศึกษา ของไทย
นอกจากจะทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาแล้ว ยังทรงพระดำริที่จะพัฒนาการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยทรงพระดำริที่จะพัฒนาโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฏราชวิทยาลัยที่วัดบวร นิเวศวิหารให้เป็นโรงเรียนราษฎร์แบบอยู่ประจำ เพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นการช่วยรัฐบาล แต่พระดำรินี้ไม่สามารถดำเนินไปได้ตลอด เพราะขาดงบประมาณดำเนินการ
ในด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ที่เรียกว่า การศึกษาปริยัติธรรมนั้น ก็ทรงมีแนวพระดำริว่าภิกษุสามเณรควรจะมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะ “รู้ทางโลกก็เป็นสำคัญอุดหนุนรู้ทางธรรมให้มั่นให้กว้าง พระศาสดาของเราก็ได้ความรู้ทางโลกเป็นกำลังช่วย จึงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยดี การที่ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นในครั้งนั้น ก็เพื่อจัดการศึกษาแก่ภิกษุสามเณรในแนวนี้ ซึ้งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การจัดการศึกษาแบบใหม่ของมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น “ก็เพื่อจะลองหาทางแก้ไขการเรียนพระปริยัติธรรมให้ดีขึ้น คือ ให้ผู้เรียนรู้ได้เร็วไม่เปลืองเวลา ไม่พักลำบาก รู้ได้ดี” กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทรงหาวิธีการที่จะทำให้ภิกษุสามเณรใช้เวลาเรียนแต่น้อย แต่ได้ความรู้ดีตามต้องการ แม้ว่าการจัดการศึกษาแบบมหามกุฏราชวิทยาลัยจำต้องเลิกไปในเวลาต่อมา แต่แนวพระดำริของพระองค์ดังกล่าว ก็ได้เป็นรากฐานให้แก่การจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ในเวลาต่อมา
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีวิสัยทรรศน์ทางด้านการศึกษาที่แหลมคมและกว้างไกลทรงมีแนวพระราชดำริที่ ล้ำยุคและล้ำหน้ากว่าใครๆ ในยุคเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทย
พระกรณียกิจพิเศษ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ของพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ เดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ นอกจากนี้ ก็ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ อีกหลายพระองค์
สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงประชวรวัณโรค มีพระอาการเรื้อรังมาเป็นเวลานาน กระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๔ อันเป็นปีที่ทรงเจริญมายุครบ ๖๐ พรรษา อาการประชวรกำเริบมากขึ้น จึงเสด็จโดยทางเรือไปรักษาพระองค์ทางชายทะเลจนถึงจังหวัดสงขลา พระอาการยิ่งทรุดหนักลง ประจักษ์แก่พระหฤทัยว่ากาลที่สุดใกล้จะถึง จึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๖๔ ครั้งถึงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๖๔ เวลา ๔ นาฬิกา ๓๕ นาทีก่อนเที่ยง (๑๐.๓๕ น.) ก็สิ้นพระชนม์ สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ๓ เดือนเศษ ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ๓๐ ปี ทรงดำรงตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช ๑๐ ปีกับ ๗ เดือนเศษ ถึงเดือนเมษายน ๒๔๖๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายพระเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงอ้างอิง : มูล นิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ย่อความจาก "ธรรมจักษุ" นิตยสารทางพระพุทธศาสนารายเดือน
จัดทำโดย มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.watnachuak.org/index.php/สาระน่ารู้/บทความต่างๆ/พระประวัติ-สมเด็จพระมหาสมณเจ้า-กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.html
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ