[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
21 ธันวาคม 2567 21:28:43 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สัทธรรมปุณฑริกสูตร บทที่ 5 โอษธีปริวรรต ว่าด้วยต้นไม้นานาพันธุ์  (อ่าน 2891 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 21 ตุลาคม 2553 11:11:31 »



http://i80.photobucket.com/albums/j199/grippini/walking/DSC05124.jpg
สัทธรรมปุณฑริกสูตร บทที่ 5 โอษธีปริวรรต ว่าด้วยต้นไม้นานาพันธุ์


พระสูตรสัทธรรมปุณฑรีกะ
วัดโพธิ์แมนคุณาราม
นายชะเอม แก้วคล้าย แปลจากต้นฉบับสันสกฤต
บทที่ 5
โอษธีปริวรรต
ว่าด้วยต้นไม้นานาพันธุ์


       ในกาลครั้ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสเรียกพระมหากาศยปะ ผู้มีอายุ และพระมหาสาวกเถระรูปอื่นๆ มาแล้ว (ตรัสว่า) ดูก่อนมหากาศยปะ ดีละ ดีละ เป็นความดีของพวกเธอที่ได้กล่าวพรรณนาคุณอันแท้จริงของพระตถาคต ดูก่อนกาศยปะ เหล่านี้ คือคุณอันแท้จริงของพระตถาคต แต่พระตถาคต มีคุณอีกมากมาย จนนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แม้จะกล่าวอยู่เป็นเวลาหลายกัลป์ติดต่อกันไป ก็ยากที่จะพรรณนาให้หมดได้ ดูก่อนกาศยปะ พระตถาคต เป็นธรรมสวามี เป็นพระราชาแห่งธรรมทั้งปวง ดูก่อนกาศยปะ พระตถาคตแสดงธรรมใด ณ ที่ใด ธรรมนั้น ย่อมเป็นเช่นนั้น ดูก่อนกาศยปะ ก็แลพระตถาคต ได้แสดงธรรมทั้งปวงอย่างเหมาะสม พระตถาคต ย่อมเห็นแจ้งอรรถแห่งธรรมทั้งปวง ดูก่อนกาศยปะ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เข้าถึงอรรถแห่งธรรมทั้งปวง เป็นผู้มีอัธยาศัยในธรรมทั้งปวง เป็นผู้มีปรมัตถบารมีในญาณ อันเป็นกุศโลบาย ในการวินิจฉัยธรรมทั้งปวง เป็นผู้ชี้สัพพัญญุตญาณ เป็นผู้หยั่งลงในสัพพัญญุตญาณ และเป็นผู้แสดงสัพพัญญุตญาณ

       ดูก่อน กาศยปะ เปรียบเหมือนเมฆฝนที่แผ่ขยายไปเหนือสามพันโลกธาตุน้อยใหญ่ตลอดทั้งต้นหญ้า ไม้เล็ก ไม้ใหญ่นานาพรรณ นานาประการ และไม้บ้าน ที่มีชื่อต่างๆ กัน ทั้งที่เกิดบนพื้นที่ราบ ขนภูเขา อยู่ที่ซอกเขา เมฆนั้น ครั้นขยายกว้างออกไป ก็คลุมพื้นที่โลกธาตุสามพันน้อยใหญ่ทั้งหมด แล้วหลั่งเป็นฝนลงมาในพื้นที่ทั้งปวงในเวลาพร้อมกัน ดูก่อนกาศยปะ ณ ที่นั้นในโลกธาตุสามพันน้อยใหญ่นั้น ต้นหญ้า ไม้เลื้อย ไม้ใหญ่ รวมทั้งไม้อ่อนก็จะแตกหน่อ กิ่งก้านและใบ ไม้เล็ก ไม้ใหญ่ ทั้งหมดเหล่านั้น จะดูดน้ำ ที่ตกมาจากเมฆตามกำลังและความจำเป็น และด้วยน้ำที่มีสภาพเช่นเดียวกัน ซึ่งตกมาจากเมฆนั้น ไม้ก็จะเจริญเติบโตขึ้น ตามกำลังความสามารถของแต่ละชนิดพันธุ์ แล้วก็ผลิดอกออกผล และได้ชื่อต่างๆกัน แต่ละอย่าง แต่ละชนิด พันธุ์ไม้ต่างๆทั้งหมดเหล่านั้น หยั่งรากลงสู่พื้นดิน เดียวกันได้ รับความชุ่มชื้นด้วยน้ำที่มีสภาพเช่นเดียวกัน

        ดูก่อนกาศยปะ ในทำนองเดียวกัน พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในโลกซึ่งก็เหมือนมหาเมฆบังเกิดขึ้น พระตถาคตอุบัติขึ้นมาแล้ว ได้เตือนชาวโลก พร้อมกับเทวดา มนุษย์และอสูรให้สำนึก ดูก่อนกาศยปะ ข้อนั้นก็เหมือนกับเมฆใหญ่ปกคลุมโลกธาตุสามพันน้อยใหญ่ทั้งปวงไว้ ดูก่อนกาศยปะ ทำนองเดียวกัน พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศก็อง ต่อหน้าชาวโลก เทวดา มนุษย์และอสูรว่า ดูก่อนเทวดา และมนุษย์ผู้เจริญทั้งหลาย เราเป็นพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราข้าม (สงสารสาคร) ได้แล้ว ปรารถนาให้ผู้อื่นข้ามด้วย เราพ้นแล้ว ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นด้วย เราสงบแล้ว ปรารถนาให้ผู้อื่นสงบด้วย เราเป็นผู้ดับสนิทแล้ว ปรารถนาให้ผู้อื่นดับสนิทด้วย ก็แล เราเป็นสัพพัญญู(ผู้รู้ทุกอย่าง) เป็นสัพพวิปัสสี (ผู้เห็นทุกอย่าง) ย่อมรู้โลกนี้และโลกอื่น ตามความเป็นจริงด้วย ปัญญา อันชอบ

ดูก่อนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงเข้ามาใกล้เรา เพื่อฟังธรรมเราเป็นผู้บอกทางแห่งความหลุดพ้น เป็นผู้ชี้ทาง เป็นผู้รู้ทางและชำนาญทาง ดูก่อน กาศยปะ ณ ที่ นั้นสรรพสัตว์หลายหมื่นแสนโกฏิ เข้ามาใกล้ๆ เพื่อฟังธรรมของพระตถาคต ครั้งนั้น แม้พระตถาคต จะทราบประมาณมากน้อยแห่งพลังอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย จึงแสดงธรรมบรรยายทั้งหลายเหล่านั้น ได้แสดงธรรมกถาเหล่านั้นมากมาย แตกต่างกันออกไป มีทั้งเรื่องชวนหรรษา น่ารื่นเริงบันเทิงใจ และเรื่องที่ก่อเกิดประโยชน์และความสุข สัตว์ทั้งหลายผู้ยินดีแล้วย่อมมีความสุขในธรรม และครั้นตายไป ก็จะได้ไปบังเกิดในสุคติ อันเป็นถิ่นที่เขาทั้งหลายจะได้บริโภคกาม (ความสุข) มากมาย และจะได้ฟังธรรม ก็แลเมื่อฟังธรรมนั้นแล้ว ก็จะหลุดพ้นจากนิวรณธรรม และจะตั้งมั่นอยู่ในธรรมของพระสัพพัญญู โดยลำดับไป ตามสมควรแก่กำลัง วิสัย และสถานที่

       ดูก่อนกาศยปะ เมื่อมหาเมฆปกคลุมโลกธาตุสามพันน้อยใหญ่ทั้งปวงแล้ว ได้หลั่งน้ำฝน พรมต้นหญ้า ไม้เล็ก ไม้ใหญ่ ต้นหญ้า ไม้เล็ก ไม้ใหญ่เหล่านั้น ได้ดูดซับน้ำตามสมควรแก่กำลัง วิสัยและสถานที่ ย่อมแพร่พันธุ์ ไปตามชนิดของตน ฉันใด ดูก่อนกาศยปะ ฉันนั้นเหมือนกัน พระตถาคตอรหันตสัมมาสัพพุทธเจ้า แสดงธรรมใด ธรรมนั้นทั้งหมด มีรสเดียวกันคือ วิมุกติรส วิราครส และนิโรธรส ที่มีสัพพัญญุตญาณเป็นที่สุด

        ดูก่อนกาศยปะ ณ ที่นั้น เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอยู่ สัตว์ทั้งหลาย ฟัง ทรงจำและปฏิบัติอยู่ (แต่) พวกเขาไม่รู้ ไม่เข้าใจ กำหนดไม่ได้ ซึ่งตนเอง ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร ดูก่อนกาศยปะ เพราะเหตุว่า พระตถาคตเท่านั้น ย่อมรู้ว่า สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เป็นอย่างไร เป็นเช่นไร คิดสิ่งใด อย่างไร และเพราะเหตุอะไร จึงคิด เจริญอะไร อย่างไร และเพราะเหตุไรจึงเจริญ ได้รับอะไร ได้รับอย่างไร และเพราะเหตุไร จึงได้รับ ดูก่อนกาศยปะ พระตถาคตเท่านั้น ณ ที่นั้น เป็นผู้เห็นประจักษ์ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ทั้งผู้ที่ต่ำทราม ผู้สูงส่ง และผู้ระดับกลาง เหมือนเห็นไม้เล็ก ไม้ใหญ่ ไม้เจ้าป่า ซึ่งยืนต้นอยู่บนพื้นดินถิ่นต่างๆ

        ดูก่อนกาศยปะ เรารู้ว่า ธรรมมีรสเดียวคือ วิมุกติรส นิรวฤติรส ซึ่งมีนิพพานเป็นที่สุด เป็นธรรมที่ดับนิรันดร์ มีฐานะเดียวคือน้อมไปสู่ความเป็นศูนยตา เมื่อรักษาสัตว์ทั้งหลายอยู่ จึ่งไม่ประกาศสัพพัญญุตญาณ โดยเร็ว ดูก่อนกาศยปะ ท่านทั้งหลาย ย่อมอัศจรรย์ใจ ประหลายใจ ที่ไม่สามารถ หยั่งลงสู่ธรรมที่เราแสดงแล้ว ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร ดูก่อนกาศยปะ เพราะว่า ธรรมที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแล้วนั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจยากยิ่ง

       เวลานั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแสดงข้อความนั้นให้พิสดารยิ่งขึ้น จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

1      เราเป็นธรรมราชา อุบัติขึ้นมาในโลก เพื่อทำลายภพ เราตรวจอุปนิสัยของสัตว์ทั้งหลายแล้ว จึงแสดงธรรม

2      นักปราชญ์ ผู้มีความรู้และกล้าหาญ ย่อมรักษาธรรมที่เรากล่าวแล้ว ให้คงอยู่ ตลอดไป ย่อมรักษาความลึกล้ำ (ของธรรมไว้) ไม่แสดงแก่ชนทั่วไป

3      ญาณ (ธรรม) นั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก สามัญชนหากได้ฟังโดยฉับพลัน ก็จะงุนงง เพราะความไม่เข้าใจนั้น พวกเขาผู้มีปัญญาน้อย ก็จะเกิดผิดทาง (ปฏิบัติผิด)

4      เรากล่าวตามความเหมาะสม (วิสัย) และตามพละกำลังของเขา เราแสดงธรรมที่เหมาะสมด้วยอรรถ (ความหมาย)ต่างๆ

5      ดูก่อน กาศยปะ เปรียบเหมือนเมฆที่เกิดขึ้นเหนือโลกธาตุ ห่อหุ้มวัตถุทั้งปวงและปกคลุมโลกธาตุไว้


6      มหาเมฆนั้นชุ่ม (สมบูรณ์) ด้วยน้ำ ประกอบกับสายฟ้ากำลังคำรามอยู่ พึงทำให้สัตว์ทั้งปวง ยินดี ด้วยเสียงคำรามนั้น

7      เมฆนั้น กั้นแสงพระอาทิตย์ ทำพื้นที่ให้เย็นลง ลอยลงมาแทบจะเอามือเอื้อมถึงพึงปล่อยน้ำ (ฝน) ลงมาโดยรอบ

8      ก็แล เมฆนั้นนั่นเอง ที่ทำให้ฟ้าแลบ แล้วหลั่งฝนลงมา เป็นจำนวนมากจนทำให้ภาคพื้นเมทินีชุ่มฉ่ำโดยทั่วไป

9      ไม้ล้มลุกทั้งหลายก็ผุดขึ้นบนพื้นดิน รวมทั้งหญ้า พุ่มไม้ ป่าไม้ และต้นไม้ใหญ่ ทั้งหลาย

10     พืชชนิดต่างๆ ก็จะกลายเป็นเขียวชอุ่มขึ้น แม้ที่เนินเขา ท้องทุ่ง และหมู่บ้าน

11     เมฆนั้น ทำให้หญ้า พุ่มไม้ และต้นไม้ทั้งปวง สดชื่น ทำให้แผ่นดินที่แตกระแหงชุ่มชื่น จึงให้(อาหาร)แก่พืช

12    หญ้าและพุ่มไม้ ต่างก็ซึมซับน้ำที่มีคุณสมบัติอย่างเดียวกัน ที่ตกจากเมฆ และขังอยู่ในที่นี้ ตามกำลังความสามารถของตน

13     ต้นไม้น้อยใหญ่ทั้งปวง เมื่อดูดซึมน้ำตามความสามารถแล้ว ย่อมเจริญขึ้นเร็ว บ้าง ปานกลางบ้าน ข้าบ้าง ตามธรรมชาติ

14     ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งมีลำต้น แก่น เปลือก กิ่ง ก้าน ใบ ที่ได้รับน้ำจากเมฆ ย่อมผลิดอกออกผล

15    แม้น้ำที่ตกจากเมฆจะมีรสเป็นเช่นเดียวกัน ต้นไม้เหล่านั้น ก็ย่อมผลิผลแต่ละชนิด ตามกำลัง ตามธรรมชาติ ความเหมาะสม และลักษณะของพันธุ์


16    ดูก่อนกาศยปะ ในทำนองเดียวกัน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาในโลก เหมือนกับเมฆฝนที่เกิดขึ้นในโลก ครั้นอุบัติขึ้นแล้ว พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของโลก ก็ได้แสดง(ธรรม) และชี้แนวทางการปฏิบัติที่เป็นจริงแก่สัตว์ทั้งหลาย

17    มหาฤษี ผู้ที่ได้รับการยกย่องในโลกนี้ พ้อมทั้งเทวโลก ประกาศก็องอย่างนี้ว่า เราเป็นพระตถาคต เป็นผู้สูงสุดในหมู่มนุษย์ เป็นพระชินเจ้า อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เหมือนกับเมฆฝน

18     เราจะทำสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ผู้ระโหยโรยรา และหมกมุ่นอยู่ในโลกทั้งสาม ให้สดชื่น เราจะต้องให้ผู้ตรากตรำด้วยความทุกข์ ตั้งอยู่ในความสุข เราจะให้สิ่งที่น่าปรารถนา และพระนิพพาน (แก่พวกเรา)

19     ดูก่อนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังคำของเรา จงเข้ามาใกล้เราเถิด เราคือพระผู้มีพระภาคตถาคต ที่ไม่มีใครยิ่งไปกว่า อุบัติขึ้นมาในโลก เพื่อคุ้มครองภัย

20     เราประกาศธรรมอันบริสุทธิ์และงดงามยิ่ง ที่มีลักษณะบ่งบอกความจริงสิ่งเดียวกันคือ ความหลุดพ้นและนิพพาน แก่สัตว์หลายพันโกฏิ

21     เราประกาศธรรมด้วยเสียงอย่างเดียวกัน เพื่อทำพระโพธิญาณให้เป็นหลักที่เสมอกันเป็นนิจ ไม่มีความลำเอียง ความเกลียดชังและความรัก

22     เราไม่มีความยึดมั่น ไม่มีความรัก ไม่มีความชังในผู้ใดผู้หนึ่ง เราประกาศธรรมเสมอกัน แก่สัตว์ทั้งหลาย คือ (ประกาศ) แก่คนหนึ่งอย่างไร คนอื่นก็อย่างนั้น

23     ไม่ว่าจะเป็นเวลาเดิน ยืน หรือนั่งอยู่ เรามีแต่ประกาศธรรมเท่านั้น ไม่ได้กระทำงานอื่น ตถาคตไม่เยเหน็ดเหนื่อยเพราะการนั่งแสดงธรรมเลย

24     เรา (ตถาคต) เป็นผู้ทำให้โลกทั้งปวงเอิบอิ่มชุ่มชื่นเหมือนเมฆ หลั่งฝนลงมาอย่างเสมอภาคกัน เรามีความรู้สึกเสมอกันในชนผู้ประเสริฐ ผู้ต่ำทราม ผู้ทุศีล และผู้มีศีล

25    ชนเหล่าใด มีความประพฤติไม่ดี มีความประพฤติดี มีทิฏฐิมั่งคง มีทิฏฐิไม่มั่งคง มีความเห็นถูกต้อง มีความเห็นผิด เราประกาศธรรมแก่ชนเหล่านั้นทุกคน


26     เราประกาศธรรมในหมู่ชนทั้งหลาย ผู้มีอินทรีย์หยาบ มีอินทรีย์แก่กล้า และมีอินทรีย์อ่อน เราไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยทั้งปวง หลั่งฝนคือธรรมเป็นอันดี

27     ชนทั้งหลายผู้ได้ฟังธรรมของเราแล้ว ตามกำลังของตน ย่อมตั้งอยู่ในภูมิต่างกัน คือเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นพระอินทร์ เป็นพระพรหม เป็นจักรพรรดิ

28     ท่านทั้งหลายจงฟัง เราจักอธิบายพันธุ์ไม้นานาชนิด น้อยใหญ่ทั้งปวงในโลกบางชนิดเตี้ย บางชนิดปานกลาง และบางชนิดใหญ่โต

29     พันธุ์ไม้ชนิดเตี้ย ได้แก่ชนทั้งหลายผู้รู้ธรรม ไม่มีอาสวะเจือปน บรรลุพระนิพพาน และผู้บรรลุอภิญญาหก และวิชชาสาม

30     พันธุ์ไม้ชนิดปานกลาง ได้แก่ชนทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในถ้ำ ผู้ปรารถนาจะบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ และมีปัญญาบริสุทธิ์พอสมควร

31     พันธุ์ไม้ชนิดสูง ได้แก่ชนผู้ปรารถนาจะเป็นผู้นำของมนุษย์ โดยคิดว่า ข้าพเจ้าจะเป็นพระพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของมนุษย์และเทวดาและชนที่มีความเพียรและทำสมาธิ

32     ส่วนต้นไม้ทั่วไปนั้น ได้แก่บุตรของพระตถาคต ผู้มีเมตตา ตั้งอยู่ในความประพฤติอันสงบสุข ผู้ตั้งใจแน่วแน่ในความเป็นบุรุษผู้นำ

33     ต้นไม้ใหญ่ ได้แก่ผู้เป็นปราชญ์ที่หมุนวงล้อแห่งธรรมไปโดยมิให้หวนกลับ ตั้งมั่นอยู่ในพลังแห่งฤทธิ์ และเป็นผู้ปลดเปลื้องสัตว์จำนวนหลายโกฏิ

34     ธรรมที่พระชินเจ้าแสดงเป็นสิ่งเสมอกัน เหมือนกับน้ำฝนที่ตกลงมาจากเมฆ เป็นสิ่งเสมอกัน จะต่างกันก็เพียงปัญญา (ของมนุษย์) เท่านั้น ซึ่งเหมือนกับไม้นานาพันธุ์ ที่เกิดขึ้นบนพื้นปฐพีนี้

35     ด้วยอุทาหรณ์ที่แสดงให้เห็นแล้วนี้ ท่านจงทราบอุบายของตถาคตเถิด ตถาคตแสดงธรรมอย่างเดียวกัน


36     ตถาคตหลั่งฝนคือธรรม โลกทั้งปวงได้รับความชุ่มชื่น ชนทั้งหลายย่อมพิจารณา ธรรมภาษิต ที่มีรสอย่างเดียวกันตามกำลังของตนๆ

37     ต้นหญ้า ต้นไม้เล็ก ต้นไม้ขนาดกลาง ต้นไม้ขนาดใหญ่ และต้นไม้ใหญ่มากทั้งหมด เมื่อฝนตกอยู่ ย่อมงดงามทั้งสิบทิศ ฉันใด

38     สภาวธรรม ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทุกเมื่อ และทำให้โลกทั้งปวงชุ่มชื่น โลกทั้งปวง ครั้นเอิบอิ่มชุ่มชื่นด้วยธรรมแล้ว ก็จะเจริญขึ้นเหมือนหมู่ไม้เผล็ดดอกออกผลต่างๆนั้แล

39     ส่วนไม้ที่เจริญขึ้นมามีขนาดปานกลาง คือพระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวะ พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้อาศัยอยู่ในป่าทึบ เป็นผู้บรรลุธรรมอันประเสริฐนั้นแล

40     (แต่) พระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้มีสติ มีปัญญา เที่ยวไปตามทางแห่งตน  ในทุกแห่งในโลกทั้งสาม แสวงหาพระโพธิญาณอันประเสริฐนี้ ย่อมเจริญตลอดกาลเป็นนิตย์เหมือนต้นไม้ใหญ่

41    ผู้ที่มีฤทธิ์ บรรลุฌานสี่ ฟังเรื่องศูนยตาแล้ว เกิดความปีติยินดี เปล่งรัศมี ออกมาจำนวนพันดวง บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าเป็นต้นไม้ใหญ่ในโลกนี้

42     ดูก่อนกาศยปะ พระธรรมเทศนาเป็นเช่นนี้เหมือนกับน้ำที่ตกมาจากเมฆ เสมอเหมือนกันหมด ต้นไม้จำนวนมาก มนุษย์ ดอกไม้ ซึ่งนับไม่ก็วน  ย่อมเจริญงอกงามขึ้น

43     เรา ย่อมประกาศธรรมอันมีเหตุปัจจัยในตัวมันเอง และตถาคตก็แสดงพุทธโพธิญาณตามกาลอันสมควร นี้คือกุศโลบาย อันประเสริฐของเรา และของพระผู้นำแห่งโลกทั้งปวง


44     สิ่งที่เราได้กล่าวแล้วนั้นเป็นเรื่องจริง สาวกทั้งหลายทั้งปวง ย่อมบรรลุพระนิพพาน สาวกเหล่านั้นทั้งหมด ประพฤติธรรมอันประเสริฐยิ่ง ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าแล


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 มิถุนายน 2554 07:55:11 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 21 ตุลาคม 2553 11:25:27 »


ดูก่อนกาศยปะ อีกประการหนึ่ง ตถาคตสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายเสมอเหมือนกัน หาได้สอนต่างกันไม่ ดูก่อนกาศยปะ เหมือนแสงจันทร์และแสงอาทิตย์ ส่องสาดมายังโลก ส่องทั่วทั้งคนชั่วและคนดี ที่สูงและต่ำ กลิ่นเหม็นและกลิ่นหอม แสงนั้นสาดส่องไปทั่วทุกหนทุกแห่งเสมอกัน ไม่ได้แตกต่างกันเลย ในทำนองเดียวกัน ดูก่อนกาศยปะ แสงสว่างของดวงจิตที่เป็นสัพพัญญุตญาณของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  และการแสดงธรรมย่อมเป็นไปเสมอกันในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ผู้เกิดในภูมิทั้งห้า ผู้อุทิศตนเพื่อ มหายาน เพื่อปัจเจกพุทธยานและเพื่อสาวกยาน ตามอุปนิสัย ความหย่อนหรือความยิ่งแห่งแสงญาณของตถาคต ย่อมไม่มีเพื่อการเข้าถึงญาณอันประเสริฐนั้นแต่อย่างใด ดูก่อนศากยปะ ไม่มีสามยาน แต่สัตว์ทั้งหลายประพฤติต่าง กัน ดังนั้น จึงกล่าวกันว่ามีสามยาน

        เมื่อพระผู้มีภาค ตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระมหากาศยปะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าไม่มียานทั้งสามแล้ว เพราะเหตุไร ในปัจจุบันนี้จึงกล่าวแยกเป็น สาวกยาน ปัจเจกพุทธยาน และโพธิสัตวยาน เล่า

        ครั้นเมื่อ ท่านพระมหากาศยปะทูล(ถาม)อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่านพระมหากาศยปะว่า "ดูก่อนกาศยปะ เหมือนายช่างหม้อ ปั้นภาชนะทั้งหลาย ด้วยดินเหนียวเหมือนกัน ในบรรดาภาชนะเหล่านั้น ภาชนะชนิดหนึ่ง ใช้ใส่น้ำตาล ชนิดหนึ่งใช้ใส่น้ำมันเนย ชนิดหนึ่งใช้ใส่นมเปรี้ยวและนมสด ส่วนบางชนิด ที่มีคุณภาพเลว ก็ใช้ใส่ของที่ไม่สะอาด ไม่มีความต่างกันของดินเหนียว แต่ความต่างกันของภาชนะทั้งหลายปรากฏขึ้น ด้วยมาตรฐานการใช้บรรจุสมบัติ ดูก่อนกาศยปะ ในทำนองเดียวกันนั่นแล ยานมีเพียงหนึ่งเท่านั้น คือ พุทธยาน ยานที่สองและยานที่สามไม่มี

        ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหากาศยปะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ถ้าสัตว์ทั้งหลายผู้มีความประพฤติต่างกัน พ้นจากโลกทั้งสามแล้ว เขาทั้งหลายจะมีหนึ่งนิพพาน สองนิพพาน หรือสามนิพพาน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนกาศยปะ นิพพานคือความเสมอภาคแห่งธรรมทั้งปวง ในพระโพธิญาณ ฉะนั้นนิพพานจึงมีเพียงหนึ่งเท่านั้น ไม่มีสอง สามนิพพาน ดูก่อนกาศยปะ ถ้าเช่นนั้น เราจะเปรียบเทียบให้เธอฟัง เพราะว่าผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมรู้ เนื้อความของคำสอน ด้วยรูปแบบของการเปรียบเทียบ

        ดูก่อนกาศยปะ ข้อนั้นก็เหมือนกับชายตาบอดแต่กำเนิดนั่นเอง ชายตาบอดกล่าวอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายที่สวยงามและน่าเกลียดไม่มี คนที่เห็นรูปที่สวยงามและน่าเกลียดไม่มี พระอาทิตย์ไม่มี พระจันทร์ไม่มี ดาวฤกษ์ทั้งหลายไม่มี ดาวพระเคราะห์ทั้งหลายไม่มี คนเห็นดาวพระเคราะห์ไม่มี แต่คนพวกอื่น พึงพูดข้างหน้าคนตาบอดแต่กำเนิดนั้นอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายที่สวยงามและน่าเกลียดมี คนที่เห็นรูปที่สวยงามและน่าเกลียดมี พระอาทิตย์มีและพระจันทร์มี ดาวฤกษ์ทั้งหลายมี ดาวเคราะห์ทั้งหลายมี คนที่เห็นดาวเคราะห์ก็มี แต่ชายตาบอดแต่กำเนิดนั้นไม่เชื่อคนเหล่านั้น ไม่ยอมรับความจริงที่คนอื่นกล่าว ต่อมามีแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รู้โรคทุกอย่าง แพทย์ผู้นั้นมองชายตาบอดแต่กำเนิดนั้น เกิดความคิดขึ้นว่า โรคนี้เกิดขึ้น เพราะกรรมชั่วในชาติปางก่อนของชายผู้นั้น โรคเหล่านั้นคืออะไรบ้าง โรคที่เกิดขึ้นนั้น มีสี่ชนิดด้วยกันคือ โรคไขข้อ โรคอหิวาต์ โรคเฉื่อยชามึนซึม และโรคที่เกิดจากความสับสนของอารมณ์

        ครั้งนั้น แพทย์ผู้นั้น คิดแล้วคิดอีก ถึงอุบายที่จะรักษาโรคให้หาย เขามีความคิดอย่างนี้ว่าโรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ ด้วยยาชนิดธรรมดา แต่ที่ขุนเขาหิมพานต์มียาอยู่สี่ชนิด ยาสี่ชนิดคืออะไรบ้าง ยาสี่ชนิดคือ ชนิดหนึ่งชื่อว่า "สรววรณรสสถานานุคตา" (ยาเพิ่มสีและรสทั้งปวง) ชนิดที่สองชื่อว่า "สรววยาธิปรโมจนี" (ยาแก้โรคทั้งปวง) ชนิดที่สามมีชื่อว่า "สรววิษวินาศนี" (ยาปราบพิษทั้งปวง) ชนิดที่สี่ชื่อว่า "ยถาสถานสถิตสุขปรทา" (ยาที่ส่งเสริมความสุขให้ดำรงอยู่ตามสถานะ) นี่คือยาสี่ชนิดที่แพทย์เกิดความสงสารในชายตาบอดแต่กำเนิดนั้น จึงคิดอุบายที่ตนอาจไปถึงขุนเขาหิมพานต์ พอไปถึงแล้ว แพทย์ผู้นั้น ก็เดินขึ้นเดินลงและไปตามขวางของภูเขา แสวงหายา เขาแสวงหาอยู่อย่างนี้ก็พบยาสี่ชนิดนั้น

ครั้นพบแล้ว จากยาสี่ชนิดนั้น ส่วนหนึ่งเขาเคี้ยวเสียก่อนแล้วจึงให้ ส่วนหนึ่งตำเสียก่อนแล้วจึงให้ ส่วนหนึ่งผสมกับยาอื่นต้มให้เดือดเสียก่อนแล้วจึงให้ ส่วนหนึ่งผสมกับยาดิบเสียก่อนแล้วจึงให้ ส่วนหนึ่งให้ด้วยการฉีดเข้าไปในร่างกาย ส่วนหนึ่งเผาไฟเสียก่อนแล้วจึงให้ ส่วนหนึ่งผสมกับวัตถุอื่นใส่ลงไปในน้ำและอาหารแล้วจึงให้ โดยวิธีนี้ชายตาบอดแต่กำเนิดนั้นได้จักษุกลับคืนมา เขาได้จักษุกลับคือมาแล้ว มองเห็นทั้งภายนอกภายใน ไกลและใกล้ มองเห็นแสงสว่างของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และรูปทั้งปวง  เขากล่าวอย่างนี้ว่า

   "โอ้ ข้าพเจ้าเป็นคนโง่เขลา เมื่อชนทั้งหลายกล่าวอยู่ในคราวก่อนๆ ข้าพเจ้าไม่เชื่อและไม่ยอมรับสิ่งที่เขากล่าวแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพเจ้าพ้นแล้วจากความเป็นผู้บอด ข้าพเจ้าได้จักษุคืนมา และไม่มีใครวิเศษไปกว่าข้าพเจ้า ก็ในสมัยนั้น ฤาษีทั้งหลายผู้ได้อภิญญาห้า ได้ทิพยจักษุ ทิพยโสต รู้จิต ของผู้อื่น ได้ปุพเพนิวาสาสุสสติญาณ มีฤทธิ์ เป็นผู้หลุดพ้นและมีกุศลสาม ได้กล่าวกับชายผู้นั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านได้จักษุคืนมา แต่ท่านไม่รู้อะไร อภิมานะของท่านเกิดจากไหน ปัญญาของท่านไม่มี ท่านยังไม่เป็นบัณฑิต  ฤาษีเหล่านั้นพึงกล่าวกับเขาอย่างนี้อีกว่า

ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านนั่งอยู่ภายในเรือน ย่อมไม่เห็น ไม่รู้อะไรที่อยู่ภายนอก ย่อมไม่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีจิตเมตตาหรือโหดร้าย ท่านย่อมไม่เข้าใจเสียงของมนุษย์ ซึ่งยืนพูดอยู่ภายในห้าโยชน์และจะไม่รู้ ไม่ได้ยินเสียงกลองและสังข์ เป็นต้น ท่านไม่ยกเท้าทั้งสองแล้ว ก็ไม่อาจเดินได้เป็นระยะทางหนึ่งโกรศะ (สองไมล์) ท่านเกิดและเจริญเติบโตในท้องมารดา ท่านจำการกระทำนั้นไม่ได้ ฉะนั้น ท่านจะเป็นผู้ฉลาด(บัณฑิต) ได้อย่างไร  ท่านจะพูดได้อย่างไรว่า ข้าพเจ้าเห็นทุกอย่าง ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เพราะท่านเข้าใจความมืดว่า เป็นความสว่าง เข้าใจความสว่างว่าเป็นความมืด

        ครั้นนั้น ชายผู้นั้น ได้พูดกะฤาษีทั้งหลายว่า อุบายอะไร หรือกรรมที่งามอันใด ที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว จะพึงได้ปัญญาเช่นนั้น และจะพึงได้คุณทั้งหลายเหล่านั้น เพราะความเลื่อมใส ท่านทั้งหลาย ครั้งนั้น ฤาษีทั้งหลายกล่าวกะชายนั้นว่า ถ้าท่านปรารถนา ท่านจงไปอยู่ป่า หรือไม่ก็นั่งในถ้ำที่ภูเขาทั้งหลาย พิจารณาธรรม ท่านสละละทิ้งกิเลสทั้งหลายเสีย ท่านก็จะเป็นผู้ประกอบด้วยคุณงามความดีและบรรลุอภิญญา แล้วชายผู้นั้น ก็รับเอาคำนั้น และได้บวชเป็นฤาษี เขาอาศัยอยู่ในป่า มีจิตอันเลิศตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ละตัณหาอันเป็นโลกายัต พึงบรรลุอภิญญาห้า หลังจากบรรลุอภิญญาแล้ว เขาพึงคิดว่า ในกาลก่อน ข้าพเจ้า ได้กระทำกรรมอื่น (อันต่ำทราม) ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ประสบคุณความดี บัดนี้  ข้าพเจ้าได้สิ่งที่ข้าพเจ้าคิดแล้ว ในกาลก่อนข้าพเจ้ามีปัญญาน้อย มีความเข้าใจเล็กน้อยเป็นคนบอด

        ดูก่อนกาศยปะ นี้คืออุปมาที่เรา (ตถาคต) แต่งขึ้น เพื่อให้เข้าใจความหมายนี้ เธอฟังเห็นความหมายดังนี้ ดูก่อนกาศยปะ คำว่า "ตาบอดแต่กำเนิด" ก็คือบรรดาสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดในภูมิทั้งหก ที่ไม่รู้พระสัทธรรม เพิ่มพูนความมืดคือกิเลส เป็นผู้บอดเพราะอวิชชา และผู้บอดเพราะอวิชชานั้น สร้างความคิดต่างๆ ขึ้นมา และเมื่อมีความคิด ก็ยึดติดในนามรูป ผลก็คือ ย่อมเกิดกองทุกข์ อันยิ่งใหญ่แต่อย่างเดียวเท่านั้น

        สัตว์ทั้งหลาย ผู้บอดเพราะอวิชชา ดำรงตนอยู่ในโลก (สังสารวัฏ) อย่างนี้ ส่วนพระตถาคตพ้นแล้วจากโลกธาตุทั้งสาม เพราะมีความกรุณา เหมือนกับบิดาเกิดความกรุณาในบุตรคนเดียวซึ่งเป็นที่รัก (เรา) จึงมาบังเกิดในสามโลก ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้ท่องเที่ยวไปอยู่ในวัฏฏสงสาร และสัตว์เหล่านั้น ไม่รู้วิถีทางที่จะออกจากวัฏฏสงสาร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมองดูสัตว์ทั้งหลายด้วยปัญญาจักษุ และครั้นเห็นแล้วก็ทราบว่า ในกาลก่อนสัตว์เหล่านี้กระทำกุศลไว้แล้ว บ้างก็มีโทละเบาบางมีราคะกล้า บ้างก็มีราคะเบาบางมีโทสะกล้า บ้างก็มีปัญญาน้อย บ้างก็เป็นบัณฑิต บ้างก็มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และบ้างก็มีมิจฉาทิฏฐิ พระตถาคตจึงเสนอยานสามชนิดแก่สัตว์เหล่านั้น ด้วยกุศโลบาย

        ณ ที่นั้น ฤาษีทั้งหลาย ผู้มีอภิญญาห้ามีจักษุหมดจดนั้นแล คือพระโพธิสัตว์ ยังโพธิจิตให้บังเกิดขึ้น จนสำเร็จขันติธรรม ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วจึงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ

        นายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ในเรื่องนี้ พึงเทียบได้กับพระตถาคตนั่นเอง ชายตาบอดแต่กำเนิดก็คือสัตว์ทั้งหลายที่มืดบอดเพราะโมหะ โรคลมน้ำดี และเสลด ก็เหมือนกับราคะ โทสะ และโมหะ ทิฏฐิหกสิบสอง พึงเห็นว่าเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ยาสี่ชนิด พึงเทียบได้กับ ศูนยตา (ความว่างเปล่า) อนิมิตตา (ความไม่ยึดถือ) อัปปณิหิตา (ความไม่ปรารถนา) และพระนิพพาน (ความดับ) การใช้ยาทั้งหลาย จนสามารถระงังโรคได้ เหมือนกับสัตว์ทั้งหลาย เจริญวิโมกข์สาม คือสุญญตวิโมกข์ (หลุดพ้นด้วยเห็นความว่างเปลา) อนิมิตตวิโมกข์ (หลุดพ้นด้วยการไม่ยึดติดนิมิต) อัปปณิหิตวิโมกข์ (หลุดพ้นด้วยไม่ทำความปรารถนา) ก็จะดับอวิชชา (ความไม่รู้)  ได้ เมื่อดับอวิชชาได้ สังขาร (การปรุงแต่ง) ก็ดับ และในที่สุดก็จะดับกองทุกข์อันยิ่งใหญ่ลงได้ แล้ว จิตก็จะไม่ตั้งอยู่ทั้งในความดีและในความชั่ว (เป็นพระอริยบุคคล)

        ผู้มีจักษุบอด แล้วได้สายตาดีคืนมา เปรียบได้กับผู้ควรแก่ สาวกยาน และ ปัจเจกพุทธยาน เขาย่อมตัดกิเลสเครื่องผูกพันของสังสารวัฏเสียได้ พ้นจากกิเลสเครื่องผูกพัน พ้นจากภูมิทั้งหก และโลกทั้งสาม ฉะนั้นผู้สมควรแก่สาวกยาน ย่อมรู้อย่างนี้  และกล่าวถ้อยคำอย่างนี้ว่า ธรรมอื่นที่ทำให้ตรัสรู้นั้นไม่มี ข้าพเจ้าถึงพระนิพพานแล้ว ที่นั้น พระตถาคตจะตรัสธรรมแก่เขาว่า บุคคลใด ไม่บรรลุธรรมทั้งปวงแล้ว เขาจะบรรลุพระนิพพานได้อย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงให้เขาเข้าถึงพระโพธิญาณ เขา ครั้นจิตที่น้อมไปสู่พระโพธิญาณเกิดขึ้นแล้วก็จะไม่สถิตในโลก แต่ยังไม่บรรลุพระนิพพาน เขาครั้นรู้แล้ว จะเห็นโลกทั้งสามในทั้งสิบทิศว่าเป็นสิ่งว่างเปล่า เป็นสิ่งที่ต้องสลายไป เป็นมายา เป็นความฝัน เป็นพยับแดด และเป็นเหมือนเสียงสะท้อน เขาย่อมมองเห็นว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่เกิดขึ้น ไม่ดับไป ไม่ถูกผูกพัน ไม่หลุดพ้น ไม่มืดบอด และไม่สว่าง บุคคลที่เห็นธรรมทั้งหลายลึกซึ้งอย่างนี้ ย่อมเห็นโลกธาตุทั้งปวง เต็มไปด้วยสัตว์ ที่มีความนึกคิดและอุปนิสัยต่างกัน เหมือนกับว่า มองไม่เห็น

        ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแสดงอรรถให้ยิ่งขึ้น ไป จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า

45     แสงจันทร์และแสงอาทิตย์ ย่อมสาดส่องไปยังโลกมนุษย์ ทั้งที่มีคุณความดีและชั่วช้าเสมอกัน ทั่วทุกแห่งหน ไม่น้อยและไม่มากไปกว่ากันเลย ฉันใด

46     แสงแห่งปัญญาของพระตถาคต ย่อมแนะนำสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่หย่อนไม่ยิ่งกว่ากัน เหมือนแสงอาทิตย์และแสงจันทร์ ฉันนั้น

47     ช่างหม้อ ปั้นหม้อด้วยดินเหนียวอย่างเดียวกัน หม้อที่ปั้นนั้น ย่อมเป็นหม้อใส่น้ำตาล หม้อใส่นม หม้อใส่น้ำมันเนย และหม้อใส่น้ำ

48     ภาชนะบางอย่าง ก็ใส่ของไม่สะอาด บางอย่างก็ใส่นมเปรี้ยว เขาปั้นหม้อทั้งกลายด้วยดินเหนียวอย่างเดียวกัน

49     วัตถุที่นำมาบรรจุ ทำให้ภาชนะนั้น ถูกกำหนดแตกต่างกันไป ฉันใด พระตถาคตก็ฉันนั้น ย่อมพิจารณาเห็นความพิเศษของสัตว์และอัธยาศัยที่แตกต่างกัน

50     จึงตรัสยานต่างกันไป แต่พุทธยานเป็นสัจจะที่แน่นอน เพราะไม่รู้สังสารจักรมนุษย์จึงไม่บรรลุพระนิพพาน

51     ส่วนผู้ใด เข้าใจถ่องแท้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นศูนยตา และไม่เป็นอัตตา ผู้นั้นย่อมเข้าใจพระโพธิญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย

52     เพราะเข้าถึงปัญญาระดับกลาง บุคคลนั้น จึงชื่อว่า พระปัจเจกชินะ และเพราะไม่มีความรู้เรื่องศูนยตา บุคคลนั้นจึงถูกเรียกว่า สาวก

53     เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวง บุคคลนั้นจึงชื่อว่า สัมมาสัมพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมแสดงธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเป็นนิตย์ ด้วยอุบายหลายร้อยวิธี

54     เหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด มองไม่เห็นพระอาทิตย์ (พระจันทร์) ดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ทั้งหลาย ย่อมกล่าวว่า รูปทั้งหลายย่อมไม่มีโดยประการทั้งปวง

55     ส่วนนายแพทย์ใหญ่ ผู้มีความกรุณาต่อชายตาบอดนั้น เขาได้ไปยังเขาหิมาลัยเดินขึ้นเดินลง (ภูเขา) อยู่ เพื่อแสวงหายา

56     นายแพทย์นั้น ได้ยาทั้งสี่ชนิดครบถ้วน คือ ต้น (นค) ราก(สถาน) เปลือก(วรณ) และใบ (รส=รับรู้อารมณ์) จากภูเขานั้น แล้วนำมาปรุง

57     นายแพทย์ได้ประกอบยา ให้แก่ชายตาบอดแต่กำเนิดนั้น ดังนี้ คือส่วนหนึ่งเคี้ยวเสียก่อนแล้วจึงให้ ส่วนหนึ่งบดหรือตำเสียก่อนแล้วจึงให้ และอีกส่วนหนึ่งใช้ฉีดเข้าไปในร่างกาย

58     ชายผู้นั้นกลายเป็นผู้มีตาดี ได้เห็นพระอาทิตย์ และดาวเคราะห์ทั้งหลาย เขาจึงเข้าว่า ตอนแรกนั้น เขาพูดไปเพราะความไม่รู้

59     ในทำนองเดียวกัน สัตว์ทั้งหลายที่มีอวิชชามาก เหมือนผู้บอดแต่กำเนิด ย่อมท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ เพราะไม่รู้วัฏฏจักรแห่งความทุกข์

60     ในโลก ที่มีความลุ่มหลงเพราะอวิชชาอย่างนี้ พระตถาคตผู้รู้ทุกอย่างเหมือนกับ นายแพทย์ใหญ่ ผู้มีความกรุณา จึงได้อุบัติขึ้น

61     พระตถาคตนั้น เป็นครูที่ฉลาดในอุบาย ได้แสดงพระสัทธรรม และอนุตตรพุทธโพธิญาณ แก่สัตว์ผู้มียานอันประเสริฐ

62     ส่วนผู้มีปัญญาปานกลาง พระผู้นำ ก็แสดงธรรมปานกลาง ส่วนผู้มีความกลัวต่อสังสารวัฏ พระตถาคตก็แสดงพระโพธิญาณอย่างอื่น

63     พระสาวก ผู้พ้นแล้วจากโลกทั้งสาม ผู้มีความรู้ ก็จะคิดอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุนิพพาน ที่ไร้มลทินและที่เป็นสิริมงคลแล้ว

64     ในเรื่องนี้ เรา ได้กล่าวไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า นั่นไม่เรียกว่านิพพาน แต่เพราะการตรัสรู้ธรรมทั้งปวงต่างหาก จึงบรรลุพระนิพพาน ที่เป็นอมตะ

65     มหาฤาษี (พระสุคต) เพราะความกรุณาต่อเขา จึงได้กล่าวกับเขาว่า เธอเป็นผู้โง่เขลา เรา(ตถาคต) รู้ว่า ภาวะเช่นนั้น แม้น้อยนิดก็ยังไม่มีแก่เธอ

66     เมื่อเธออยู่แต่ภายในห้อง อะไรที่เกิดขึ้นภายนอก เธอไม่รู้ จึงนับว่า เธอมีความรู้ น้อยมาก

67     ก็แลบุคคลที่อยู่ภายในนั้น ย่อมจะไม่รู้ว่า เขาทำอะไร หรือไม่ทำอะไรกันในภายนอก แม้บัดนี้ เขาก็ยังไม่รู้ แล้วเธอ ผู้มีปัญญาน้อย จะรู้ได้อย่างไรเล่า

68     เธอไม่สามารถจะได้ยินเสียง ที่ไกลออกไปจากที่นี้ประมาณ 5 โยชน์ได้ จะป่วยกล่าวไปไย ถึงเสียงที่ไกลเกินไปกว่านั้น

69     ชนเหล่าใด มีจิตใจเลวร้ายต่อเธอหรือกรุณาต่อเธอ เธอไม่อาจรู้จักชนเหล่านั้นได้ เหตุไฉนเธอจึงมีอภิมานะนักเล่า

70     ถ้าเธอ จะต้องเดินทางเป็นระยะ 2 ไมล์ เมื่อไม่มีทางให้เดิน เธอก็จะเดินไปไม่ได้ เรื่องราวที่เธออยู่ในครรภ์ของมารดา เธอก็ลืมหมดแล้ว

71     บุคคลที่ได้อภิญญา 5 เรียกว่า สัพพัญญู ในโลกนี้ เฮยังไม่รู้อะไรเลย ยังจะพูดว่า ข้าพเจ้าเป็น สัพพัญญู เพราะความหลงผิด(ของเธอ)

72     ถ้าเธอปรารถนาจะเป็น สัพพัญญู เธอต้องพยายามบรรลุอภิญญาให้ได้ เธอต้องอยู่ป่า คิดถึงธรรมอันบริสุทธิ์ที่นำไปสู่การบรรลุอภิญญานั้น แล้วเธอก็จะบรรลุอภิญญาด้วยธรรมนั้น

73     ชายผู้นั้น ทราบเนื้อความนั้นได้แล้ว ได้ไปสู่ป่า ตั้งใจมั่นเจริญสมาธิ เนื่องจากเขาเป็นผู้มีคุณงามความดีอยู่แล้ว จึงได้บรรลุอภิญญา 5 โดยไม่นานนัก

74     เช่นเดียวกันนั้น พระสาวกทั้งหลายทั้งปวงสำคัญว่า ตนได้บรรลุพระนิพพานแล้ว แต่พระชินพุทธเจ้าได้ตรัสกะสาวกเหล่านั้นว่า นี้เป็นความสงบระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่พระนิพพาน (ความดับสนิท)

75     นี้เป็นอุบายนัยหนึ่งแห่งการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ว่า เว้นจากความเป็นสัพพัญญุตญาณเสียแล้ว พระนิพพานย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงพยายาม

76     ความรู้อันไม่สิ้นสุดแห่งมรรคทั้งสาม บารมีอันประเสริฐหก ศูนยตา การไม่ยึดติดนิมิต และการไม่ตั้งความปรารถนา

77     โพธิจิต และธรรมทั้งหลายเหล่าใด ที่เป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพาน ทั้งที่เป็นอาสวะและอนาสวะ เป็นธรรมที่สงบ ธรรมเหล่านั้นทั้งปวงเป็น (สิ่งว่างเปล่า) เหมือนท้องฟ้า

78     พรหมวิหารสี่ สังคหวัตถุสี่ และธรรมทั้งหลาย ที่พระมุนีผู้ประเสริฐแสดง เพื่อประโยชน์แก่การแนะนำเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

79     ก็แลผู้ใดรู้ธรรมทั้งหลายว่า มีสภาพเป็นมายาและความฝัน ไร้สาระเหมือนต้นกล้วย เป็นเสมือนเสียงที่สะท้อน

80     แลรู้โลกทั้งสามอย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งสภาวะของโลกเหล่านั้น เขาผู้นั้นได้ชื่อว่ารู้แจ้งสิ่งที่ไม่ผูกมัด สิ่งที่ยังไม่ได้หลุดพ้นและพระนิพพาน

81     ผู้ที่ไม่เห็นธรรมทั้งปวงที่เสมอกัน ซึ่งเป็นศูนยตา ปราศจากความแตกต่างกัน ชื่อว่าย่อมไม่เห็นธรรมใดๆ

82     ส่วนบุคคลผู้มีปัญญามากนั้น ย่อมเห็นหมวดธรรมทั้งหมด อย่างแจ้งชัดว่า ไม่มีสามยาน มีเพียงยานเดียวเท่านั้นในโลก

83     พระธรรมทั้งปวง ทัดเทียมกัน เสมอเหมือนกันทุกเมื่อ บุคคลผู้รู้อย่างนี้ ชื่อว่า ย่อมรู้พระนิพพาน ที่เป็นอมตะและสูงสุด

บทที่ 5 โอษธีปริวรรต ว่าด้วยต้นไม้นานาพันธุ์
ในธรรมบรรยาย สัทธรรมปุณฑรีกสูตร อันประเสริฐ
มีเพียงเท่านี้


http://www.mahayana.in.th/tmayana/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81/สัทธรรมปุณทรีกะบท4-5-6.htm

http://www.tairomdham.net/index.php/topic,3157.0.html
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
บันทึกการเข้า
คำค้น: พระสูตร  ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์   ตรวจสอบ   นายชะเอม แก้วคล้าย   แปล  
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.983 วินาที กับ 30 คำสั่ง

Google visited last this page 16 พฤศจิกายน 2567 10:07:29